Home อย่างไร คือ การพัฒนาจิต
การปรับปรุงสภาวธรรมของตน PDF Print E-mail
Wednesday, 13 October 2010 11:11

การปรับปรุงสภาวธรรมของตน

โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


          เมื่อเราพูดถึงเรื่องของพุทธบริษัทเรื่องชาววัดและเรื่องชาวบ้าน  ก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากเรื่องของธรรมะ   ปัญหาธรรมะ   เราพอที่จะศึกษามีความรู้ให้เข้าใจตามแบบแผนตามตำรับตำรากันได้เพราะเป็นวิทยาการแขนงหนึ่ง  เฉพาะธรรมอย่างเดียวนี้  แยกออกไปสายพุทธศาสนาบ้าง  จิตวิทยาบ้าง  ปรัชญาบ้าง  สุดแท้แต่ใครจะบัญญัติสาขาวิชานั้นๆ   แต่จะด้วยประการใดก็ตาม เรื่องของธรรมะนี้ ถ้าจะว่ากันตามแบบแผนตามตำรากันจริงๆ แล้ว รู้สึกว่ามันจะเป็นเรื่องสับสน หากพูดถึงคัมภีร์พระไตรปิฎกก็มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวบรวมเป็นหนังสือเฉพาะตัวภาษาบาลีมีถึง ๔๕ เล่ม แต่ละเล่มยกแทบไม่ไหว ทุกเล่มนั้นบันทึกธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า

          เรามาทำความเข้าใจในการศึกษาธรรมะ เราพอที่จะย่นหัวข้อไว้ได้ ๒ ประเด็น
          ๑. การศึกษาธรรมะตามแบบหรือตำรับตำรา
          ๒. การศึกษาธรรมะตามสภาพความเป็นจริง
          การศึกษาธรรมะตามแบบหรือตามตำรับตำรานั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องพากเพียร พยายามท่องบ่น จดจำ รู้สึกว่าเป็นภาระมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งว่าเราจะตั้งใจศึกษาธรรมะนี้ จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ยังไม่จบ เพราะคำว่าธรรมะนี้มันมากมายกว้างขวางเหลือเกิน แต่ที่เราจะมาศึกษาธรรมะตามสภาพความเป็นจริง รู้สึกว่ามันจะย่นเข้ามาสั้นหน่อย จะใช้เวลาการศึกษาแบบที่เรียกว่าเอาชีวิตเป็นเดิมพันเหมือนกัน แม้ว่ามันจะสั้นก็ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ผลลัพธ์มันต่างกัน การศึกษาธรรมะตามสภาพความเป็นจริงมันทำให้เรารู้จักของจริง แต่ก่อนที่จะพูดถึงว่าของจริงคืออะไรนั้น ใคร่จะแยกธรรมะที่เกี่ยวเนื่องหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าออกเป็น ๒ ประเด็น

 

          ประเด็นแรก หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด
          ประเด็นที่สอง หมายถึงธรรมะคำสั่งสอน ได้แก่ กฎหรือระเบียบที่จะปรับปรุงหรือกล่อมเกลาให้มีสภาพดียิ่งขึ้น

          ธรรมะส่วนที่เป็นสภาวธรรม ถ้าจะถามว่าธรรมะอันเป็นสภาวธรรมนั้นคืออะไร เราก็จะได้คำตอบว่า ธรรมะอันเป็นสภาวธรรม คือ กายกับใจ และสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ประสบอยู่ทุกลมหายใจไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ซึ่งในหลักธรรมะตามคัมภีร์ ท่านก็กล่าวว่า "อันว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวง" สังขารทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นหัวข้อใหญ่ๆ ก็มีอยู่ ๒ ประเภท


          ประเภทที่หนึ่ง คือสังขารที่มีใจครอง ได้แก่ สิ่งที่มีจิตใจและร่างกาย จะเป็นอะไรก็ตาม
          ประเภทที่สอง คือสังขารที่ไม่มีใจครอง ได้แก่ สิ่งที่มีแต่รูปร่างแต่ไม่มีจิตมีใจ ได้แก่ ดินฟ้าอากาศ ภูเขา ต้นไม้ หรือแดด ลม ฝน หรืออะไรในทำนองนี้ เป็นสังขารไม่มีใจครอง ทั้งสองประเภทนี้อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าเป็นสภาวธรรม

  

www.thaniyo.com

          ธรรมะส่วนที่เป็นสภาวธรรมที่มีใจครอง จะพูดเฉพาะแต่มนุษย์เราฝ่ายเดียว มนุษย์เรานี้มีกายกับใจ มีกายกับใจเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าสอนว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ" ในเมื่อใจเศร้าหมอง การพูด การทำ การคิด ก็เป็นไปในทางทุจริต คือชั่วโดยกายและวาจา ในเมื่อจิตผ่องแผ้ว มันก็เป็นไปเพื่อความสุจริต ซึ่งเรียกว่า ดีด้วยกาย ดีด้วยใจ ดีด้วยวาจา เพราะฉะนั้น ในกายของเรามีใจเป็นใหญ่ ในโลกนี้เราสรุปความเห็นของคนทั่วๆ ไปได้ ๒ ทาง
         ๑. เห็นว่ากายอยู่ในใจ
         ๒. เห็นว่าใจอยู่ในกาย


         ผู้เห็นว่ากายอยู่ในใจ หมายถึงใจเป็นใหญ่ เป็นผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะทางความสุข เมื่อเราจะแสวงหาความสุขให้แก่ใจ แม้ว่าส่วนร่างกายจะทนทุกข์ทรมานบ้างก็ยอมเสียสละ เช่นอย่างนักบวชทั้งหลายต้องการความสุขให้แก่ใจ เมื่อเป็นคฤหัสถ์รับประทานอาหารวันหนึ่ง ๓ มื้อ แต่เมื่อบวชแล้วต้องรับประทานวันละ ๑-๒ มื้อ อีก ๑ มื้อหรือ ๒ มื้อนั้นตัดทิ้งไป เพราะเข้าใจว่าโดยวิธีนี้จะทำให้ใจมีความสุข ในบางครั้งก็ทนนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม โดยไม่คำนึงถึงความเจ็บป่วยที่จะมีขึ้นแก่ร่างกาย ขอให้แต่มีความสุขเกิดขึ้นกับใจเป็นพอ อันนี้สำหรับบุคคลผู้เห็นว่ากายอยู่ในใจ


          ส่วนบุคคลที่เห็นว่าใจอยู่ในกาย เขาย่อมประกอบกิจต่างๆ ที่เขาเห็นว่าจะทำให้ร่างกายมีความสุข แม้จะเป็นทางที่ผิดบ้างถูกบ้าง ผิดศีลธรรมบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง ขอแต่ให้กายเรามีความสุข นี่เป็นความเห็นของคนในโลกนี้ มี ๒ ประเภท


          แต่จะด้วยประการใดก็ตาม การจะแสวงหาความสุข เราก็ต้องพิจารณาดูความพอเหมาะพอดี คือกายก็ไม่ต้องทรมานกันมากนัก เพราะกายกับใจถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าใจเกิดทุกข์ก็จะผิดปกติ ซูบซีดมัวหมองลงไป แต่ถ้ากายมีทุกข์ จิตใจก็เศร้าสร้อยลงไป เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ อย่างนี้ เราจะต้องทำนุบำรุงหรือปรนนิบัติ โดยนโยบายเท่าๆ กัน ไม่มีอะไรจะยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ว่าเป็นไปด้วยความพอเหมาะพอดี ซึ่งเรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา"


          กฎแห่งความเป็นไปของสภาวธรรมตามที่เรารู้ๆ กันมา เคยได้ยินได้ฟังมา ในฐานะที่สภาวธรรมเป็นสังขาร สังขารที่มีใจครอง โดยกฎธรรมชาติของมันแล้ว ในเมื่อมีปรากฏการณ์ขึ้น จะทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่งและก็สลายไป นี่เป็นกฎธรรมชาติของสภาวธรรมที่จะต้องเป็นไป ซึ่งภาษาวัดเรียกว่า อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่แท้จริง เช่น อย่างคนเราเมื่อเกิดมาแล้ว เมื่อเจริญเติบโตถึงที่สุดแล้วก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เจ็บแล้วก็ตาย สิ่งที่จะพึงเป็นไปเช่นนั้น นั่นคืออนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้คือกฎธรรมชาติของสภาวธรรมส่วนที่มีกายกับใจเป็นส่วนประกอบ เราใช้โวหารว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย


          เมื่อเราทุกคนมีสภาวธรรมเป็นสมบัติของตน เราเกิดมาแล้วเราไม่แสวงหาประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่ จากสภาวธรรมอันได้แก่กายกับใจ พิจารณาดูแล้วมันเป็นสิ่งที่น่าสงสาร น่าเวทนายิ่งนัก ที่เกิดมาแล้วก็ปล่อยให้มันแก่-เจ็บ-ตาย แก่-เจ็บ-ตายไปอย่างนั้น โดยไม่สร้างสมความดีใดๆ ให้เกิดขึ้น ชีวิตคือกาย-ใจของเราที่เป็นสภาวธรรมก็จะเป็นสิ่งที่เป็นโมฆะ ไร้คุณประโยชน์ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้ความเป็นจริงของสภาวธรรมจะต้องมีอันเป็นไปเช่นนั้น ท่านก็ทรงพิจารณารู้แจ้งเห็นจริงว่า มวลมนุษย์ทั้งหลายเขาสามารถที่จะมีดวงตา มีจิตมีใจพอที่จะปรับปรุงให้มีความเจริญเติบโตขึ้นมาได้โดยทางใดทางหนึ่ง จึงได้วางหลักคำสอนอันเป็นกฎหรือระเบียบ เพื่อจะได้ปรับปรุงและกล่อมเกลาหล่อหลอมสภาวธรรมที่เรามีอยู่ให้มีสภาพดียิ่งขึ้น


          ท่านทั้งหลาย ท่านเคยได้ปรับปรุง ตกแต่ง หล่อหลอมสภาวธรรมของท่านให้ดียิ่งๆ ขึ้นแล้ว คืออะไรบ้าง บางท่านอาจจะยังไม่คิด ท่านได้ปรับปรุงหล่อหลอมสภาวธรรมของท่านให้มีสภาพดียิ่งขึ้นตั้งแต่ท่านได้เริ่มเรียนหนังสือ เรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ เรียนหนังสือให้มีวิชาความรู้ จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย นี่คืออุบายอันหนึ่ง เป็นการปรับปรุงหรือกล่อมเกลาสภาวธรรมให้ดียิ่งขึ้น เมื่อเกิดมาในตอนแรกท่านไม่มีอะไร ท่านได้ชื่อจากผู้ที่สมมตินามให้ท่านว่า เด็กหญิงนั่น เด็กชายนี่ เมื่อโตขึ้นท่านก็ไปสู่โรงเรียน ครูอาจารย์ก็แต่งตั้งให้ท่านเป็นนักเรียน พอขึ้นมาสู่ระดับมหาวิทยาลัย ท่านก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นนักศึกษา เมื่อท่านสำเร็จการศึกษา ท่านอาจจะไปเป็นครู หรือไปเป็นข้าราชการแผนกใดแผนกหนึ่ง ท่านก็จะถูกแต่งตั้งมาตามหน้าที่นั้นๆ เป็นเสมียน เป็นปลัดอำเภอ เป็นผู้ว่าราชการ เป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ความเจริญก้าวหน้าที่เป็นมาอย่างนี้เพราะอาศัยอะไรเป็นมูลเหตุ ก็เพราะอาศัยวิชาความรู้ ได้ปรับปรุง ตกแต่งสภาวธรรมของท่านก่อน ที่จะให้มีสมรรถภาพดีพอที่จะใช้การได้ ท่านจะมีความสามารถพอที่จะรับราชการ มีความเจริญก้าวหน้าตามหน้าที่ที่ท่านรับผิดชอบในปัจจุบัน อันนี้เป็นการปรับปรุงตกแต่งสภาวธรรมที่ท่านมีอยู่ให้ดียิ่งขึ้นตามลำดับของกระแสแห่งการครองโลก

  

www.thaniyo.com

          ท่านจะยอมรับไหมว่า การครองโลกนี้มันก็เป็นความจริงอันหนึ่ง และเป็นความจริงที่ท่านจะต้องศึกษาให้รู้ ผู้บรรยายลืมบอกกับท่านว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ความจริง เมื่อรู้ความจริงแล้วพระองค์สอนให้ยอมรับความจริง เมื่อยอมรับความจริงแล้วพระองค์ไม่ให้ปฏิเสธกฎแห่งความเป็นจริง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ครองเรือน ขอชี้ความจริงที่ท่านจะศึกษาให้รู้
          ๑. ความจริงของความเป็นพ่อคนแม่คน
          ๒. ความจริงของความเป็นลูกคน
          ๓. ความจริงของความเป็นสามีภรรยาคน
          อันนี้คือความจริงที่ชาวบ้านทั้งหลายต้องศึกษาให้รู้ รู้แล้วต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง


          ในเมื่อยอมรับสภาพความเป็นจริงแล้ว บางทีการครองเรือนนี่มันอาจจะมีเหตุการณ์ยุ่งๆ เกิดขึ้น มีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ ตามวิสัยของชาวโลก ในเมื่อท่านเป็นพ่อคนแม่คน ลูกเต้าเกิดจากท่าน หน้าที่ของท่าน ท่านจะต้องรับว่าท่านเป็นพ่อคนแม่คน ท่านจะต้องเลี้ยงดูบุตรของท่าน ท่านจะต้องให้ทุกอย่างเท่าที่ท่านจะให้ได้ ถ้าท่านปฏิเสธไม่เลี้ยงดู หรือไม่ให้สิ่งที่ควรให้ ก็แสดงว่าท่านไม่ยอมรับรู้ความเป็นจริง ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง มีแม่บางคนมีลูกแล้วไปคลอดทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลแล้วหนีไปเสีย อันนี้ก็แสดงว่าท่านไม่ยอมรับความเป็นจริงของความเป็นแม่คน ในเมื่อเราเป็นแม่คน เราจะต้องรับผิดชอบว่านี่ลูกของเรา มันออกมาจากท้องจากไส้เรา เราจะต้องเลี้ยงดู จะต้องอุปการะเขา ในเมื่อไม่รับผิดชอบไม่เลี้ยงดู ลองนึกดูว่าท่านผิดคุณธรรมข้อไหน คือขาดคุณธรรมของความเป็นแม่คน ขาดความเมตตา ขาดพรหมวิหาร ซึ่งเป็นคุณธรรมของความเป็นพ่อเป็นแม่ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาขึ้น

  

          ความจริง ในความเป็นสามีภรรยา แต่ละท่านแต่ละครอบครัวที่มีการแต่งงานกันกว่าจะตกลงปลงใจกันได้ บางรายเฝ้าดูกันอยู่เป็นสิบปี ก่อนที่จะแต่งงานกัน เราต้องมีคำปฏิญาณต่อกันว่าเราจะรักกันชั่วชีวิต เมื่อแต่งงานแล้ว เราจะต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงต่อความเป็นของตัวเอง คือความเป็นสามีภรรยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณผู้ชายทั้งหลาย เมื่อท่านยังหนุ่มๆ อยู่ ก่อนที่ท่านจะตกลงแต่งงานกับลูกสาวใครสักคน ท่านควรจะคิดให้ดีเสียก่อน ท่านพร้อมที่จะให้ภรรยาของท่านนั่งสบายเป็นคุณนายได้หรือยัง ถ้าหากท่านยังไม่พร้อมก็ขอให้เขารอไปก่อน อย่าเอาความรักมาเป็นนาย ถลำเข้ามาทั้งๆ ที่ท่านยังไม่พร้อม เพราะการครองเรือนนี่มันทุกข์ยากลำบากเหลือเกิน


          อาจจะสงสัยว่า หลวงพ่ออยู่ในวัดทำไมจึงรู้เรื่องของชาวบ้านดีนักหนา ซึ่งโดยปกติหลวงพ่อเป็นพระสงฆ์ และถือคติว่าพระสงฆ์มีหน้าที่กิน ถ้าใครให้กิน กินตลอดไปและมีหน้าที่เอา ใครให้เอาหมด ที่ไม่ผิดพระธรรม พระวินัย และมีหน้าที่ให้ในสิ่งที่ควรให้ อย่างเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ได้ตั้งปณิธานเอาไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ ๑-๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เราจะทำบุญเพื่อช่วยการศึกษาของประชาชนทุกวัน และอธิษฐานจิตใจให้มีเด็กมาขอรับบริจาคทุกวัน รุ่งขึ้นวันที่ 2 พฤษภาคม ก็มีเด็กมาขอ ๑ คน มีสตางค์อยู่ ๑,๐๐๐ บาทให้แกไป พอวันที่ ๒ มีมาอีก ๑ คน ในวันนั้นถ้ามี ๒,๐๐๐ ๓,๐๐๐ คนไหนมาขอถูกวันที่มีเงินมากๆ ก็ให้ไปหมด ตั้งแต่วันที่ ๑-๑๕ พฤษภาคม ปรากฏว่านักเรียนมาขอความช่วยเหลือติดต่อกันไม่ขาด จนครบ ๑๕ วัน และได้จ่ายไป ๑๘,๕๐๐ บาท แสดงว่าความทุกข์ ความกังวล หรือความหนักใจของผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่เกี่ยวกับบุตรหลานมี ความยุ่งยากวุ่นวายไม่มีอะไรเท่าหน้าโรงเรียนเปิดใหม่ๆ และหลังจากนั้นก็ได้ตั้งปณิธานเอาไว้ว่า ถ้าไปเทศน์ในวัด เขาถวายกัณฑ์เทศน์จะมอบให้วัด ถ้าไปเทศน์ในโรงเรียน เขาถวายกัณฑ์เทศน์จะมอบให้โรงเรียน และก็ได้ปฏิบัติอย่างนั้นเสมอมา และเวลานี้ก็ได้ช่วยเหลือโรงเรียนที่ยากจนอยู่หลายโรงเรียนๆ ละคนสองคน ทุกคนคงจะคิดว่าหลวงพ่อองค์นี้อาจจะร่ำรวย ความจริงไม่รวย หลวงพ่อเป็นพระที่ยากจน แต่เป็นพระที่มีน้ำใจ คือคิดว่าความสุขอันใดที่มีมาจากประชาชน ความสุขอันนั้นควรจะย้อนกลับไปสู่ประชาชน ที่คิดอย่างนี้ก็เพื่อเป็นอุบายที่จะอุดช่องว่างระหว่างชนชั้นได้อย่างหนึ่ง จึงพอใจที่จะทำอย่างนี้ ที่ทำอย่างนี้ ผู้ที่ทำมีคุณธรรมอะไร มีคุณธรรมคือความเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ทุกข์ยาก กรุณา คิดจะช่วยเกื้อกูลให้พ้นจากทุกข์ยากลำบาก นอกจากนั้น มีความพลอยยินดีในเมื่อได้ช่วยเหลือเขาไปแล้ว แล้วก็มีอุเบกขา ความวางเฉย คือเบาใจ ในเมื่อเราเห็นว่าเราช่วยเขาได้ในสิ่งที่พอจะเป็นประโยชน์ต่อเขา นี้คือการแสดงออกซึ่งคุณธรรมคือความเมตตา

  

          ชาวพุทธเราทั้งหลาย เราอบรมสั่งสอนกันว่าเป็นผู้ใหญ่ต้องมีพรหมวิหาร การแผ่เมตตานี้ท่านว่าจงแผ่เมตตาด้วยกาย ด้วยวาจา แผ่เมตตาด้วยใจ การแผ่เมตตาด้วยกาย คือ ช่วยขวนขวายเป็นกิจธุระเรื่องของกาย การแผ่เมตตาด้วยวาจาหมายถึงการพูด เช่น เป็นครูอาจารย์สั่งสอนนักเรียน ท่านผู้ใดก็ตามมีหน้าที่เป็นครูสอน เวลาที่ท่านสอนท่านคิดว่าท่านแผ่เมตตาให้เด็กๆ ท่านก็จะได้บุญเป็นเครื่องตอบแทน อันนี้เป็นหลักธรรม หลักธรรมอันนี้นอกจากจะเป็นหลักธรรมของผู้ใหญ่ ธรรมที่ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ของคนได้เป็นพระพรหมขึ้นมา ปกติแล้ว โดยสัญชาตญาณของพ่อแม่ ต้องมีพรหมวิหาร ๔ ประจำใจ เพราะฉะนั้น พ่อแม่จึงได้ชื่อว่าเป็นพระพรหมของบุตร

  

www.thaniyo.com

  

          พ่อแม่เป็นพระพรหมของบุตรแล้วยังเป็นพระอรหันต์ของลูกด้วย ทำไมจึงว่าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่มีความรัก ความเมตตา ปรารถนาดีต่อลูกๆ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ส่วนมากพ่อแม่ที่มีอันจะกินพอสมควรคงจะไม่คิดที่จะให้ลูกของตนขนข้าวของเงินทองมาให้มากมายก่ายกอง มีแต่หวังที่จะให้ลูกๆ มีความสุขเท่านั้น เข้าใจว่าผู้เป็นพ่อเป็นแม่ทั้งหลายจะมีความรู้สึกเช่นนั้น แต่ก็พอจะรู้ว่าความปรารถนาของพ่อแม่ทุกคนคือต้องการให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจ เพราะฉะนั้นใครจะทุกข์ยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม ถ้าไปอยู่ห่างพ่อและห่างแม่ คิดว่ายังไม่รวย จะไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ก็ไม่มีอะไรไปฝาก กลัวท่านจะว่า อย่าคิดอย่างนั้น พ่อแม่ของเราหวังความมีน้ำใจจากลูกเท่านั้น ไม่หวังในวัตถุสิ่งของ การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายต้องทำความเข้าใจ


          พูดกันถึงว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ละความชั่ว ประพฤติความดี การละความชั่ว จะละที่ไหน และถืออะไรเป็นหลักเกณฑ์ การละความชั่ว ถ้าตั้งใจจะละกันจริงๆ พระพุทธเจ้าให้ยึดศีล ๕ ข้อ อันนี้คือหลักแห่งการละความชั่ว คนโบราณมักจะเตือนเด็กๆ ว่า "อย่าคิดชั่ว อย่าคิดชั่ว" คำว่าอย่าคิดชั่วนี่ เมื่อฟังแล้วรู้สึกจะหนักใจ เพราะอารมณ์ความคิดออกจะเป็นเรื่องอัตโนมัติ ห้ามกันไม่ได้ เมื่อนำมาพิจารณาดูแล้วพบว่า คำว่า "อย่าคิดชั่ว" เดิมทีเดียวผู้ที่บัญญัติคำนี้ เข้าใจว่าจะบัญญัติไว้ว่า "อย่าคิดทำความชั่ว" เข้าใจว่าจะเป็นคำนี้ เรื่องจะไปห้ามความคิดไม่ให้คิดชั่วนี้ไม่มีทาง ผู้บรรยายบวชมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ปัจจุบันอายุ ๖๑ ปี จะพยายามห้ามใจไม่ให้คิดชั่ว พยายามเท่าใดก็ห้ามไม่ได้ เพราะความดีก็ดี ความชั่วก็ดี มันเป็นอารมณ์เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ความคิดนี้เป็นอัตโนมัติ เช่น ในบางครั้งบางคราวเกิดมีเรื่องกลุ้มอกกลุ้มใจ ความคิดมันสับสนวุ่นวาย เราเกลียดเหลือเกินความคิดที่สับสนวุ่นวาย ไม่อยากคิด แต่แล้วมันห้ามไม่ได้ ยิ่งคิดมันก็ยิ่งกลุ้ม ทำไมมันห้ามไม่ได้ เพราะความคิดเป็นอัตโนมัติเพราะฉะนั้น ขอทำความเข้าใจว่า คำว่า "อย่าคิดชั่ว" เปลี่ยนเป็นว่า "อย่าคิดทำความชั่ว" จะดีกว่า เช่น อยากจะฆ่าคนสักคนหนึ่ง ท่านห้ามความคิดนั้นไม่ได้ ท่านห้ามได้แต่การกระทำ คิดว่าจะด่าคนๆ นี้ ท่านห้ามความคิดไม่ได้ ท่านห้ามได้แต่การด่า อันนี้คือกิเลสที่จะพึงละได้ อย่างพระคุณเจ้าสอนไว้ว่า "พระคุณเจ้าอย่าไปสอนให้คนละกิเลส ถ้าท่านสอนคนให้ละกิเลสแล้ว ท่านสอนศาสนาผิด" เมื่อเรานำมาพิจารณาจะพบว่า ถ้าหากพระท่านมาสอนให้ละความโลภ ละความโกรธ ความหลง แล้วไม่ให้หลักการแก่เรา บอกให้เราละอย่างเดียว จะละได้อย่างไรเมื่อท่านไม่สอนให้มีหลักการที่ทำจิตให้มีพลังอานุภาพที่ผลักดันกิเลสออกไปจากเรา


          การละกิเลสโดยทั่วไป ถ้าใครจะสมัครใจละในเบื้องต้นนี้ จะละได้เฉพาะกิเลสทางกายและกิเลสทางวาจาเท่านั้น ในเบื้องต้นนี้ พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ให้มีศีล ๕ เป็นข้อปฏิบัติในการละกิเลส เว้นจากการฆ่า เว้นจากการเบียดเบียน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท เว้นจากการดื่มของมึนเมาหรือมัวเมาในสิ่งที่เราถือว่ามันเป็นของดีจนเกินไป นี่คือกิเลสที่เราพึงจะละได้ คือละด้วยการไม่ทำ ละด้วยการไม่พูด แต่ด้านจิตใจเอาไว้ก่อน

  


          เมื่อเป็นเช่นนั้นเราทำอย่างไร ในใจเราละไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ซึ้ง เราจะรู้ว่ากิเลสคืออะไร เราต้องทำสมาธิ การทำสมาธิหมายถึงการเอาอารมณ์อย่างหนึ่งเป็นอะไรก็ได้ ให้ใจมันนึกอยู่กับสิ่งนั้นๆ เพียงสิ่งเดียว จนสามารถติดอยู่กับสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น เมื่อให้จิตมันแยกออกจากสิ่งที่คิดวุ่นวายมากๆ นั้นไปพักหนึ่ง พอเข้าไปสู่ความสงบ พอจิตเข้าไปสู่สิ่งๆ เดียวอย่างแน่วแน่ เราจะรู้สึกว่าเมื่อจิตของเรายึดอยู่กับสิ่งๆ เดียวมันสบาย มันไม่วุ่นวาย เหมือนๆ กับคนเราถือของหลายสิ่งหลายอย่าง ไหนจะต้องหนัก จะต้องหอบหิ้วจะต้องถือ แต่ถ้าถือเพียงอย่างเดียวก็สะดวกและเบาด้วย ข้อเปรียบเทียบนี้ก็เปรียบได้กับว่า เมื่อเราสามารถแยกจิตออกจากสิ่งที่เราคิดวุ่นวายอยู่ได้แล้ว เอาไปอยู่กับสิ่งๆ เดียว เป็นอุบายที่เราสามารถทำจิตของเราให้เบาอยู่ได้พักหนึ่ง

  

www.thaniyo.com

          เมื่อจิตของเราไปยึดอยู่กับสิ่งๆ เดียว จะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆ ยุบหนอ พองหนอ สัมมาอรหัง หรืออัฐิ ตับ ไต ไส้ พุง แล้วแต่ใครจะนึก ในเมื่อมันไปอยู่กับสิ่งๆ เดียวเช่นนั้น มันเบา มันสบาย มันไม่วุ่นวาย เมื่อยึดมั่นอยู่กับสิ่งๆ เดียวนี้อย่างเหนียวแน่น เมื่อมีอารมณ์อะไรกระทบเข้ามาจะทำให้เราโกรธ แทนที่จะวุ่นวายกับสิ่งนั้น จิตจะวิ่งเข้าหาสิ่งที่มันยึดอยู่ก่อนเป็นบางครั้ง ท่านอาจจะเคยสอนให้เราภาวนาพุทโธๆๆ ภายหลังเรามาบอกว่า หนูภาวนาพุทโธๆๆ แล้วจิตไม่สว่างสงบเหมือนอย่างหลวงพ่อว่า แต่มันมีแปลกอยู่อย่างหนึ่ง พอกระทบอะไรแล้ว จิตมันจะไม่ไปยุ่งกับสิ่งนั้นจะวิ่งเข้าหาพุทโธ แล้วมันก็จ้องอยู่กับพุทโธอย่างนั้น แล้วมันก็ไม่เกิดโกรธเกิดอะไรขึ้นมา บางครั้งมีคนไข้มาหา พอจับหูฟังจิตมันก็จะวูบไปอยู่กับคนไข้ และเกิดภูมิรู้ขึ้นมาว่าเขาเป็นโรคอย่างนั้น ต้องให้ยาอย่างนั้น นี่คือผลของสมาธิที่ฝึกอยู่กับสิ่งๆ เดียว จะเป็นอะไรก็ได้ แม้ว่าจิตไม่สงบสว่างตามหลักวิชาการที่ท่านบอกไว้ก็ตาม ยังเห็นผลได้ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ใครต้องการความสุขเฉพาะทางด้านจิตใจ ควรจะหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นที่อยู่ในใจ จะเป็นอะไรก็ได้ แม้ว่าท่านจะเอาคนที่ท่านรักและเคารพมากที่สุดมานึกไว้ในใจ คือนึกถึงชื่อของเขา แล้วมันจะเป็นอุบายให้สงบจิตได้เหมือนกัน


          ในตอนแรกๆ จิตของเราจะมายึดอยู่กับสิ่งเดียวอย่างเหนียวแน่น หนักๆ เข้าจิตจะมีอาการสงบลงไป และจะเลิกนึกถึงสิ่งที่นึกอยู่นั้น สงบ นิ่ง สว่าง รู้อย่างเดียว ในจุดนี้จะสามารถทำให้ท่านรู้จักว่าภายในจิตของท่านเมื่อไม่รู้นั้นเป็นอย่างไร เมื่อท่านรู้สภาพเดิมของจิตว่ามันเป็นอย่างไร มันว่างจากอารมณ์ เมื่อมันไม่มีความคิด มันมีปีติ เมื่อมันมีสุขแล้วมันมีความรู้สึกอย่างไร ท่านก็จะรู้ได้ทันที อันนี้เป็นเหตุให้รู้จักสภาวะความเป็นจริงของจิตของเราว่ามันเป็นอย่างไร และเมื่อจิตของเราเปลี่ยนจากสภาวะความเป็นอย่างนั้นแล้วออกมารับรู้อารมณ์ จะมีความรู้สึกอย่างไร ในเมื่อเราจับจุด ๒ จุดนี้ได้ ภายหลังมาเราจะฝึกจิตของเราให้เป็นอย่างไรก็สามารถที่จะฝึกได้ เพราะเราจับได้แล้วว่าจิตคืออะไร ที่เราภาวนาไม่เป็นหรือจับจุดแห่งการภาวนาไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จักว่าจิตเดิมแท้จริงของเราคืออะไร และไม่รู้ว่าเมื่อจิตเดิมแท้ของเราปรากฏชัดขึ้นมาแล้วเรามีความรู้สึกอย่างไร เมื่อมันรับรู้อารมณ์มีความรู้สึกอย่างไร


          เพียงแต่ท่านหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดมานึกไว้ที่จิตของท่านเท่านั้น นอกจากความสงบ นอกจากความรู้จริงภายในจิตใจของท่านจะปรากฏขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ท่านจะพึงได้ก็คือตัวสติสัมปชัญญะ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดีแล้ว จิตจะไม่สงบถึงขนาดได้ฌานที่ ๑-๒-๓-๔ หรือถึงขนาดได้ฌานสมาบัติ ๘ ก็ตามที เอากันแต่เพียงความมีสติรู้เท่าทันความนึกคิดและกิริยาที่เราแสดง กิน ดื่ม นั่ง นอน ทำให้สติตัวนี้มันตามทันทุกขณะที่มีการเคลื่อนไหวทั้งกายและใจ คนเราที่หลงทำความชั่ว ท่านว่าเป็นคนประมาทเพราะขาดสติ คนที่ไม่ทำความชั่ว เป็นคนไม่ประมาทเพราะมีสติ การศึกษาปฏิบัติธรรม จุดมุ่งหมายก็เพื่อความมีสติ


          ฉะนั้น การภาวนา บางท่านภาวนาแล้วอาจจะรู้เรื่องภายนอก สามารถที่จะมองเห็นได้แม้กระทั่งจิตใจของคน ใครเป็นโรคอะไรอยู่ภายในก็รู้ได้ แล้วสามารถช่วยรักษาให้เขาหายโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย แต่บางท่านก็ช่วยได้แต่คนอื่น ส่วนปัญหาชีวิตประจำวันของเรานี่มันยังมีทุกข์มีความวุ่นวาย เราไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของเราได้ แม้ว่าเราจะสามารถรู้สิ่งภายนอกได้ดีวิเศษสักเท่าใดก็ตาม อย่างดีก็เป็นเพียงแต่อุปกรณ์การยังชีพ แต่หาแก้ปัญหาทุกข์ยากลำบากในจิตใจเราได้ไม่ ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเรานี้มีความมุ่งหมายเพื่อ
          ๑. ให้จิตปล่อยวางจากอารมณ์ที่วุ่นวายแล้วไปรวมอยู่ในจุดเดียว
          ๒. ให้จิตใจของเราตั้งมั่นต่อการกระทำความดี หมายถึง ความดีทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นความดีไม่เฉพาะแต่จะมานั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว อะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนแก่ท่าน อันนั้นได้ชื่อว่าความดีหมด
          ๓. ให้รู้จักสภาพความเป็นจริงของจิต เพื่อเราจะได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ในกาลต่อไป

 

          การศึกษาและการนั่งสมาธิภาวนานี่ ขอให้เราเอากันเพียงแค่ทำจิตให้มีสมรรถภาพในการที่จะแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันให้ลุล่วงไปได้สะดวกสบายเท่านั้นเป็นการเพียงพอแล้ว แต่ถ้าใครสามารถจะทำได้ดีกว่านั้น ก็สำเร็จ โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ เพราะฉะนั้น จะเป็นนักภาวนาอย่าไปมุ่งมาก อย่าไปหวังแต่มรรคผลนิพพาน คือว่าอย่าไปทำความอยากให้มันมาก ตั้งใจแต่ว่า ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท เราจะต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกอย่าง ท่านสอนให้มีศีล ๕ หากเรามีไม่ครบ ๕ เราเอาสักข้อใดข้อหนึ่ง และจะต้องปฏิบัติให้ได้ ก็ยังเป็นความดี ท่านสอนให้ทำสมาธิ แม้ว่าเราทำสมาธิเพื่อพระนิพพานไม่ได้ ก็ทำสมาธิขนาดพอมีสติปัญญา มีสติสัมปชัญญะพอที่จะต่อต้านกับเหตุการณ์ที่เราจะประสบอยู่ทุกวันๆ สามารถที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้ก็เป็นการเพียงพอ ในเมื่อเราปรับปรุงทุกอย่างเป็นการพอดีแล้ว มันก็เป็นพื้นฐานที่จะก้าวไปสู่ระดับสูงๆ ต่อไป

  


          อีกอย่างหนึ่ง บางท่านเมื่อปฏิบัติแล้วอยากจะให้จิตมันเป็นได้เร็ว รู้ได้เร็ว เห็นได้เร็ว บางทีก็อยากจะดูนรก ดูสวรรค์ รู้จิตใจคน อยากมีโทรจิตอะไรต่ออะไร ซึ่งมันเป็นเรื่องภายนอก สิ่งเหล่านั้นแม้แต่รู้ได้เห็นได้ สามารถเพียงใดแค่ไหน ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาภายในจิตใจของเรา ไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของเราได้ มันก็ไม่มีความหมายสำหรับเรา เราอาจจะช่วยคนอื่นได้ แต่ช่วยตัวเองไม่ได้ เข้าทำนองที่ว่า "ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" ขอฝากให้นักศึกษาธรรมะทั้งหลายเอาไว้พิจารณาด้วย

  www.thaniyo.com

          ขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า หากท่านจะเป็นนักภาวนาจริงๆ อย่าได้ไปสงสัยในคำภาวนาหรือในวิธีการปฏิบัติ ถ้าท่านไม่มีเวลาพอที่จะภาวนาหรือนั่งหลับตา อย่างน้อยท่านยกมือใส่หัวแล้วนึกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วนอนลงไป และนึก พุทโธๆๆ จนกว่าจะนอนหลับ ตื่นขึ้นมาเมื่อใด ท่านนึกพุทโธเอาไว้ จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เอาจิตไว้ที่พุทโธตลอด การที่เอาจิตมาอยู่กับพุทโธนี้เป็นการตั้งใจ การตั้งใจนี้เป็นการตั้งสติ ในเมื่อเราตั้งใจบ่อยๆ จดจ้องบ่อยๆ ไม่พรากจากความตั้งใจสติสัมปชัญญะตัวนี้มันจะมีสมรรถภาพดีขึ้น อันนี้คือวิถีทางสร้างพลังจิต ในเมื่อสติสัมปชัญญะดีขึ้น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มันก็ดีขึ้น เพราะสติที่มั่นคงแล้ว จะเป็นตัวปัญญา เมื่อมีสติมั่นคงกลายเป็นตัวปัญญาแล้ว ความคิดที่มันทำให้เราวุ่นวายอยู่แต่ก่อน เรื่องที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เข้ามาแล้วมันทำให้วุ่นวาย ทำให้เราทุกข์ร้อน แต่ถ้าเรามีสมาธิมีสติดีแล้ว เรื่องที่เคยทำให้เราวุ่นวายอยู่แต่ก่อนนั่นแหละมันจะกลายมาเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ความคิดอันนั้นจะกลายเป็นปัญญา เรามีสติรู้เท่าทันอาการเหล่านั้น ไม่หลง ไม่ยึด ไม่ถือ จิตที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว กระทบอะไรก็สักแต่ว่ากระทบ กระทบแล้วก็ปล่อยวางไป ถึงจะมีความหงุดหงิดใจก็มีสติยับยั้งชั่งใจ ไม่พรวดพราดทำความเสียหายขึ้นมาในทันทีทันใด นี่คือผลของการทำสติ


          สรุปลงไปอีกครั้งหนึ่งว่า การปฏิบัติธรรม จะด้วยวิธีใดก็ตาม จุดมุ่งหมายอยู่ที่ความมีสติสัมปชัญญะ ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะเข้มแข็งดีแล้ว จิตจะกลายเป็นมหาสติ มหาสติเป็นสติอันยิ่งใหญ่ เป็นพละ เป็นกำลัง เป็นอินทรีย์ สติตัวนี้จะทำจิตใจให้มีความประพฤติดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้องซึ่งเรียกว่า อริยมรรค


Last Updated on Saturday, 23 October 2010 01:24
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner