Home อย่างไร คือ การพัฒนาจิต
การบำเพ็ญศีล PDF Print E-mail
Thursday, 14 October 2010 10:24

การบำเพ็ญศีล
โดย
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

 


สิกขาบท ๕
          พระพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธภาษิตไว้ว่า “เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวเจตนาคือตั้งใจละเว้นจากความชั่วทางกาย ทางวาจานั่นแหละว่าเป็นศีล พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้ ก็ลองพิจารณาดู ดังนั้นจึงได้ความว่าเมื่อใดตั้งใจแน่วแน่ไว้ว่าเราจะไม่ทำชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยเจตนาล่วงสิกขาบทที่ได้สมาทานแล้ว ผู้เป็นคฤหัสถ์ก็ต้องมีศีล ๕ ประจำตัว คือตั้งใจละเว้นจากเวร ๕ ประการ คือ ปาณาติบาต เป็นต้น ผู้นุ่งขาวห่มขาวก็ต้องปฏิญาณมั่นในสิกขาบท ๘ ประการ ตั้งใจสังวรระวังไม่ให้ล่วงเกินสิกขาบท ๘ ประการนี้ บางสิกขาบทอาจจะยังไม่เข้าใจก็ได้ จึงจะแสดงให้เข้าใจเป็นข้อๆ ไป


๑. ตั้งเจตนาละเว้นไม่เบียดเบียนสัตว์ทุกชนิด นับตั้งแต่มีชีวิตมองเห็นด้วยตาคือสัตว์ใหญ่ที่สุดเท่าช้าง เราจะสังวรระวัง พยายามไม่คิด ไม่เบียดเบียนสัตว์เหล่านี้ให้ถึงซึ่งความตาย หรือเบียดเบียนให้เกิดความเจ็บปวดทุกขเวทนาต่างๆ


๒. เราจะตั้งใจละเว้นจากการเอาของของผู้อื่นมาเป็นของๆ ตนโดยอาการแห่งขโมย ของใครก็ตามที่มีเจ้าของหวงแหนอยู่แล้ว เราจะไม่หยิบไม่ฉวยเอาโดยที่เจ้าของเขาไม่อนุญาต โดยมิได้ขอหรือไม่ซื้อก่อน


๓. อพรหมจริยา นี้เราจะตั้งจิตเจตนาละเว้นจากการกระทำกรรมอันไม่ใช่วิสัยของผู้เป็นนักบวช เรียกว่าเป็นนิสัยของผู้ครองเรือน ผู้ครองเรือนนั้น เป็นผู้มีผัวมีเมีย ผู้ที่มาเป็นนักบวชแล้วก็ต้องละเว้นจากความเป็นคนคู่ดังกล่าวมาแล้ว เว้นทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จิตใจก็ไม่คิด ไม่ดำริไปในเรื่องอย่างนั้น วาจาก็ไม่กล่าวไปในเรื่องอย่างนั้น ทางกาย ผู้รักษาศีล ๘ ข้อสำคัญอย่างหนึ่งนั้น นอกจากจะละเว้นจากอกุศลกรรมอย่างว่านั้นแล้ว ระเบียบการรับของจากมือของเพศตรงกันข้าม เมื่อจะส่งข้าวของสิ่งใดให้แก่ใครก็ต้องวาง สำหรับเพศตรงกันข้ามนะ ถ้าเพศตรงกันข้ามเอาสิ่งของอะไรยื่นให้ก็ต้องให้เขาวางก่อนแล้วจึงหยิบเอา ไม่ควรจะไปจับเอาของจากมือเพศตรงกันข้าม อันนี้เป็นข้อปฏิบัติในสิกขาบทข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นส่วนละเอียดลงไป


๔. ต้องระมัดระวังตั้งเจตนาว่า เราจะไม่พูดเท็จ จะพูดแต่คำจริง เราจะไม่พูดส่อเสียดให้ใครแตกร้าวสามัคคีกัน เราจะไม่พูดคำหยาบโลนต่อใครๆ ทั้งหมด เราจะพูดแต่คำอ่อนหวาน เราจะพูดแต่คำอ่อนโยน และเราจะไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล พูดอย่างที่ไม่มีเหตุมีผลนั่นแหละท่านเรียกว่าพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์ พูดเล่นๆ บางคนชอบพูดอย่างนั้น คิดอะไรได้พูดไปทั้งวัน โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ การกล่าววาจาต้องรู้จักประหยัด พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักประหยัด ที่ว่าห้ามไม่ให้พูดเพ้อเจ้อ ให้ถือเอาใจความอย่างนี้ ให้รู้จักประหยัดคำพูด ก่อนจะพูดอะไรก็ต้องตริตรองเสียก่อน ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ก็พูด คิดว่าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่พูดให้เสียเวลาไปเปล่าๆ นิ่งเสียดีกว่า พูดไปแล้วมันไม่เห็นประโยชน์ ต้องพากันสำเหนียกไว้ให้ดี เรื่องคำพูดคำจานี้เกี่ยวเนื่องถึงจิตใจเหมือนกัน บุคคลผู้มีจิตใจเลื่อนลอยไปไม่มีสติย่อมแสดงออกทางกาย วาจา กิริยาก็ลุกลี้ลุกลนไม่เป็นระเบียบ ทางวาจาก็พูดจาปราศัยไม่มีเหตุผล คือไม่ได้คิดอะไร พูดเรื่อยเปื่อยไปอย่างนั้น นี่แหละเป็นเครื่องส่อแสดงว่าภายในจิตใจของผู้นั้นมันเลื่อนลอย ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิตั้งมั่นอยู่ภายใน ศีลข้อนี้มีความสำคัญมาก มันเกี่ยวเนื่องถึงจิตใจ วาจานี้ถ้าจิตไม่บงการแล้วพูดไม่ได้เลย


๕. ให้จิตเจตนาคิดละเว้นลงไปว่า เราจะไม่ยินดีพอใจของมึนเมาทุกชนิด เพราะของมึนเมาทุกชนิดมีแต่โทษอย่างเดียว ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พุทธบริษัทบริโภคของมึนเมาต่างๆ ถ้าหากว่ามันไม่มีโทษแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงบัญญัติห้ามไว้


www.thaniyo.com

สิกขาบท ๘
          พระพุทธเจ้าองค์ใดที่อุบัติมาในโลกนี้นับไม่ถ้วน ทรงบัญญัติสิกขาบท ๕ ประการนี้เหมือนกันทุกพระองค์ สำหรับผู้ครองเรือน ควรจะสมาทานอยู่ในสิกขาบท ๕ ประการนี้ ตั้งจิตเจตนาละเว้นความชั่ว ๕ ประการนี้ให้ได้ และเพิ่มอีก ๓ ข้อสำหรับผู้นุ่งขาวห่มขาวหรือจะเป็นนุ่งดำห่มดำก็ตาม หากว่ามีศรัทธาที่จะรักษาแล้วก็ย่อมมีสิทธิที่จะรักษาได้


๖. วิกาลโภชนา ท่านห้ามไม่ให้รับประทานอาหารในยามวิกาล คือตั้งแต่หลังเที่ยงไป สิกขาบทนี้เป็นเครื่องตัดกังวลการแสวงหาอาหารมาบำรุงบำเรออัตภาพร่างกายอย่างมากทีเดียว เพราะความกังวลใดๆ ในโลกนี้ มันก็กังวลในเรื่องของอาหารไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่าอย่างอื่น เรียกว่าเป็นความกังวลจำเจต่อชีวิต สำหรับผู้ที่ไม่ได้สมาทานสิกขาบท ๘ แล้ว ก็ต้องบริโภคอาหารไม่จำกัดเวลาเลย การแสวงหาอาหารมาบริโภคนั้น พระองค์ก็ตรัสไว้ว่าเป็นทุกข์กองหนึ่ง คือที่กล่าวไว้ว่า “อาหารปริเยสนทุกขัง” ทุกข์เพราะการแสงหาอาหารเพื่ออัตภาพร่างกายนี้ จัดเข้าอยู่ในกองทุกข์ ๑๑ กอง ดังนั้น ผู้ที่เห็นทุกข์เห็นโทษแห่งการแสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยงอัตภาพอย่างนี้แล้ว จึงได้สมาทานมั่นในสิกขาบท ๘ ประการ หรือเลื่อนขึ้นไปเป็นสิกขาบท ๑๐ ประการ ได้แก่สามเณร หรือเลื่อนขึ้นไปเป็นพระภิกษุเรียกว่า สมาทานในสิกขาบท ๒๒๗ ก็ยังมีเบ็ดเตล็ดปลีกย่อยออกไป


ในเมื่อได้สมาทานสิกขาบทต่างๆ ดังกล่าวแล้ว เราเคารพสำรวมระวังปฏิบัติ ก็ทำให้ตัณหานั้นน้อย เบาบางลงไป ทำให้ความหิวโหยอยากบริโภคอาหารต่างๆ เบาบางลง เมื่อเราเคารพในพระวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เรามีศรัทธาเต็มใจที่จะปฏิบัติตามอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้บรรเทาลงเสียได้ซึ่งตัณหาไม่ใช่น้อยเหมือนกัน นี่คือความมุ่งหมายของการสมาทานในวิกาลโภชนาสิกขาบท


๗. นัจจคีตวาฯ ท่านห้ามมิให้ฟ้อนรำ ขับร้อง ดีดสีตีเป่า อันเป็นข้าศึกแก่กุศลทัดดอกไม้ ลูบไล้ของหอมเครื่องย้อมเครื่องทาต่างๆ เหล่านี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นข้าศึกต่อกุศล ลองพิจารณาดูว่าทำไมจึงว่าเป็นข้าศึกต่อกุศล ที่ว่าเป็นข้าศึกนั้นหมายความว่า บุคคลใดชอบแต่งเนื้อแต่งตัว ชอบลูบทาของหอม ชอบประดับประดาเครื่องประดับต่างๆ ก็ถือว่าผู้นั้นมีความยินดีเพลิดเพลินอยู่กับกามคุณ จิตใจไม่ได้น้อมมาทางบุญทางกุศล เหินห่างจากการบุญกุศล มีแต่แสวงหา มีแต่เพลิดเพลินในกามคุณ ผู้ที่ไม่ได้สมาทานมั่นในสิกขาบทข้อนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นข้าศึกแก่กุศล ผู้ที่ชอบบุญชอบกุศลมาสมาทานมั่นในศีลข้อนี้แล้ว จิตใจก็น้อมไปในทางบุญทางกุศลเป็นส่วนมาก เพราะมันไม่เพลิดเพลิน ไม่ยินดีในการขับร้อง ดีดสีตีเป่า และดูการละเล่นต่างๆ การประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อมเครื่องทา ก็เป็นภาระอันหนึ่ง เมื่อสมาทานยึดมั่นในศีลข้อนี้แล้วก็ตัดกังวลข้อนี้ออกไปได้


๘. ท่านห้ามไม่ให้นั่งนอนบนที่นอนอันสูงอันใหญ่ วิจิตรงดงาม ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี สิกขาบทข้อนี้ทรงบัญญัติห้ามเพื่อป้องกันความพอใจในที่นอนที่นั่งอันสวยงาม ติดในสัมผัส เมื่อได้นั่งได้นอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่มนิ่ม โอ่อ่า มีแอร์ มีพัดลม แล้วก็มักจะนอนหลับอย่างสนิทสนม ไม่สนใจ ขี้เกียจที่จะลุกขึ้นมาสวดมนต์ภาวนาชำระจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส ผู้ที่ไม่ได้สมาทานสิกขาบทข้อนี้จึงติดในการหลับการนอน เพราะได้นอนบนที่นอนอันสวยสดงดงาม อันล่อตาล่อใจให้ใหลหลงอยู่ในสัมผัสเหล่านั้น ดังนั้นพระศาสดาจึงได้ทรงบัญญัติห้ามนั่งนอนบนที่นอนอันสูงอันใหญ่ อัดยัดด้วยนุ่น มีความวิจิตรงดงาม

  

          ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์แบบนุ่งขาวห่มขาว หรือจะเป็นนุ่งดำห่มดำ เมื่อได้สมาทานมั่นในสิกขาบท ๘ ข้อนี้แล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เช่นเดียวกันกับผู้ที่นุ่งเหลืองห่มเหลือง ต่างแต่ความสำรวมระวัง นึก ความละเว้นในข้อบัญญัติห้ามนั้นมากน้อยกว่ากันเท่านั้น

  

www.thaniyo.com

สิกขาบท ๑๐ และ ๒๒๗
          สำหรับเพศบรรพชิตแล้ว เป็นสามเณรต้องสำรวมในสิกขาบท ๑๐ ข้อ เพิ่มเข้าไปอีก ๒ ข้อ คือห้ามรับเงินรับทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ก็เป็นการบรรเทาเรื่องตัณหาอีกประการหนึ่ง เพราะถ้าหากว่ามีเงินมีทองอยู่กับตัวแล้ว มันก็เกิดตัณหาขึ้นได้เหมือนกัน เดี๋ยวก็อยากได้อันโน้น เดี๋ยวก็อยากได้อันนี้ ไม่หยุดหย่อน ถ้าสละออกไปเสีย ไม่ใช่ของเราเสีย แล้วพยายามฝึกหัดจิตใจไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับมัน ให้พิจารณาเห็นเงินทองเหล่านั้นเหมือนกับงูพิษเสมอ อย่างนี้แล้วมันก็เป็นเครื่องสกัดกั้นกิเลสตัณหาออกจากจิตใจได้ประเภทหนึ่ง สิกขาบทนี้สำหรับสามเณร เป็นข้อปฏิบัติกำจัดกิเลสตัณหา


          ศีล ๘ ก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี หรือศีล ๒๒๗ ลองพิจารณาดู ไม่ใช่ของยากลำบากเหลือวิสัยการจะสำรวมระวังปฏิบัติตามให้ได้ ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ พระองค์ได้คิดแล้วว่าบุคคลสามารถที่จะปฏิบัติตามได้ ถ้าหากบุคคลไม่สามารถปฏิบัติตามได้แล้ว พระศาสดาคงไม่บัญญัติไว้ เมื่อเราพิจารณาเหตุผลให้เกิดขึ้นในจิตใจอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ผู้อยู่ในฐานะเช่นไรก็ยินดีที่จะสมาทานมั่นอยู่ในสิกขาบทพุทธบัญญัติที่ตนได้สมาทานนั้นอย่างเต็มภาคภูมิ เรียกว่า พอใจที่จะปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าฝืนใจอุตส่าห์พยายามอดกลั้น ไม่พอใจอย่างไรก็อดกลั้นทำไป ถ้าหากเป็นเช่นว่านั้น การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นไปเพื่อความสุขความเย็นใจได้ จะเป็นไปเพื่อความทุกข์ ทำไปด้วยความไม่พอใจ เราต้องพิจารณาด้วยเหตุผลเหล่านี้ให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญา จึงจะเกิดศรัทธาความเลื่อมใส ความพอใจปฏิบัติตามพระวินัยคำสั่งสอน


          ตัวศีลนั้น โดยสรุปแล้วก็หมายเอาตัวเจตนาตั้งใจละเว้นไม่ล่วงเกินสิกขาบทที่ได้สมาทานแล้วนั้นเป็นเด็ดขาดเลยทีเดียว นี่แหละตัวศีล คือตัวเจตนานั่นเอง ก็คือจิตนั่นเอง พูดสั้นๆ เมื่อจิตตั้งมั่นว่าเราจะสำรวมระวังไม่ล่วงเกิน แม้ชีวิตจะแตกดับทำลายก็ช่าง ก็ยอม ตั้งใจบูชาพระธรรมวินัย เรียกว่าตัวศีลอยู่ตรงนี้ เมื่อไม่รู้จักศีลตัวนี้ อันนับว่าเป็นพ่อเป็นแม่ของศีลแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาศีลตัวอื่นๆ ได้ ให้พากันเข้าใจ

  

วิธีแก้ทุกข์
          เมื่อเราตั้งเจตนาที่จะละเว้นความชั่วทางกาย ทางวาจา อยู่ทุกวันทุกเวลาทุกนาที ทุกอิริยาบถทั้งสี่ดังกล่าวมาแล้ว จิตใจของเราก็ย่อมเบิกบานผ่องแผ้วทุกเวลา เพราะไม่มีอกุศลอันใดจะบังเกิดขึ้นในจิตใจ ทำใจให้เศร้าหมองได้ ธรรมดาจิตใจนี้ถ้าหากไม่มีอกุศลครอบงำหรือบังเกิดขึ้นแล้ว มันจะผ่องใสเบิกบานตามธรรมชาติของมัน เหมือนอย่างทองคำธรรมชาติ ถ้าหากไม่มีสิ่งอื่นมาหุ้มห่อ เมื่อไล่สนิมออกแล้ว มันจะมีสีสดใสแวววาวอยู่ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น ไม่ต้องไปย้อมไปทาไปตกแต่งอะไรอีก มันมีสีสันวรรณะของมันเองตามธรรมชาติ แต่ถ้าเอาไปทิ้งไว้ในที่ทั่วๆ ไปมันก็จะขึ้นสนิม สีสันวรรณะธรรมชาติของทองคำก็หายไป ก็ไม่ส่องแสงออกมา ไม่สดใส อุปมาเหมือนอย่างจิตใจของคนเรานี่แหละ เมื่อเราปล่อยให้ราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำย่ำยีแล้ว จิตใจก็จะเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส คนเรานี้เมื่อจิตใจเศร้าหมองแล้วย่อมเป็นทุกข์ อย่าไปเข้าใจว่ามีความสุข ไม่มีความสุขแน่นอน จะมีเงินแสนเงินล้านก็ตาม ถ้าหากจิตใจเศร้าหมองด้วยอุปกิเลสต่างๆ ดังกล่าว หามีความสุขไม่ เพราะฉะนั้น นักธุรกิจทั้งหลาย นักเงินล้านทั้งหลาย เกิดยุ่งๆ จิตใจมัวหมองขึ้นมาแล้ว แทนที่จะไปหาแสวงหาศีลธรรมใส่ใจของตน กลับไปหาความสุขในสถานเริงรมย์ต่างๆ ไปเต้นรำ ขับร้อง อาบอบนวด เพื่อแก้ทุกข์ บรรเทาความเศร้าหมองขุ่นมัวของจิตใจ มันก็เป็นไปได้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อออกจากสถานที่เหล่านั้นไปแล้วมันก็ของเก่านั้นเอง เมื่อตัวเก่ามัวหมองขุ่นมัวอยู่นั้น เรียกว่าแก้ไม่ตก บางรายก็ถึงกับถูกเขาทำร้ายร่างกายจนถึงกับเสียชีวิตไป เพราะไปหาแก้ทุกข์ไม่ถูกจุดมันดังว่านั่นเอง ฉะนั้น การที่เราหมุนตัวเข้ามาสู่พระพุทธศาสนานี้ ได้ชื่อว่าเราเข้ามาแก้ทุกข์ มาชำระชีวิตจิตใจให้ความเศร้าหมองคลายหาย เป็นจิตใจที่ผ่องใสสะอาด แล้วเราก็จะมีความสุขความเจริญ มนุษย์เราจึงต้องสำรวมกายใจปฏิบัติตั้งอยู่ในธรรม ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษใดๆ ก็มีอานิสงส์ติดตัวไปดังกล่าวมาแล้ว แล้วก็ยังเป็นนิสัยปัจจัยให้บรรลุถึงซึ่งพระนิพพานแน่นอน เพราะว่าผู้เข้ามาบวชแล้วตั้งใจปฏิบัติตามธรรมวินัยจริงๆ ทำให้กิเลสตัณหานั้นเบาบางลงไป ธรรมดาผู้ที่จะบรรลุถึงพระนิพพานก็ต้องละเว้นกิเลสตัณหาไปโดยลำดับ เมื่อละกิเลสหมดสิ้นเวลาใดก็ได้บรรลุถึงพระนิพพานเวลานั้น ดังนั้นการที่เราบวชนี้ก็เป็นผลดีต่อตัวเราเอง อย่าได้นึกว่ามาบวชให้พ่อให้แม่หรือบวชให้ญาติ คนส่วนมากก็มักจะเข้าใจไปอย่างว่านี่แหละ บางคนก็พ่อแม่อ้อนวอนให้มาบวชให้ ตนเองไม่มีศรัทธาเท่าใดหรอก แต่ทนต่อคำอ้อนวอนของพ่อแม่ไม่ได้ก็มาบวชเช่นพูดว่า “เอา ถ้าอย่างนั้นผมก็จะบวชให้สักพรรษาหนึ่ง” ผู้ที่ตั้งใจเพียงแค่นี้ บวชเข้ามาแล้วก็จะไม่ค่อยฝึกฝนอบรมตนอะไร มาอยู่เรื่อยๆ เปื่อยๆ ไปอย่างนั้นพอให้แล้ววันแล้วคืนไป คอยแต่เมื่อถึงออกพรรษาปวารณาแล้วก็จะสึกไป คือบวชให้พ่อแม่เฉยๆ ความรู้สึกบางคนเป็นอย่างนั้น ถ้าเห็นเพียงแค่นั้นแล้ว การบวชนี่ย่อมจะไม่มีอานิสงส์มากเลย มีก็นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ต้องแน่ใจว่าเรามาบวชนี่เพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อคนอื่นมาบวชเพื่อฝึกฝนอบรมตน เพราะรู้ตัวดีอยู่แล้วว่าตนของตนนั้นมีกิเลสตัณหาครอบงำจิตใจอยู่มากมาย กิเลสนี่แหละมันทำให้คนเราเสียคน ไม่ใช่ว่ากิเลสนี้จะทำให้คนดีได้เมื่อไรถ้าใครสะสมมันไว้ ให้นึกว่ากิเลสนี่เป็นศัตรู ที่ผ่านมานานแสนนานตั้งแต่ท่องเที่ยวมาในวัฏสงสารนี้ ก็มีกิเลสนี่เองแหละเป็นศัตรูชักจูงจิตใจให้ทำความชั่วต่างๆ ตายแล้วก็ไปตกนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง ไปเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานบ้าง อย่างนี้ก็มีอยู่ แต่ว่าเราไม่สามารถจะระลึกชาติหนหลังได้เหมือนอย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงดูเหมือนว่าเราไม่ได้ไปตกนรก ไม่ได้ไปทนทุกข์ทรมานอยู่ที่ไหน คนเราระลึกไม่ได้อย่างนี้แหละ แม้ว่าพระท่านจะแสดงให้ฟังว่านรกมีจริงก็ไม่ค่อยจะเชื่อ เพราะตนระลึกไม่ได้เลยว่าในชาติก่อนตนได้ไปตกนรกได้ทนทุกข์ทรมานอย่างไรบ้าง ดังนั้น คนส่วนมากจึงไม่ค่อยเชื่อ

  

          การที่ไม่เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้มีโทษอย่างร้ายแรงมากทีเดียว ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ก็คนที่ทำบาปหนาสาโทษต่างๆ อยู่นั้น สิ่งใดที่พระองค์ทรงแสดงว่าเป็นโทษ เมื่อทุกข์เมื่อโทษแล้วก็จะพยายามเว้นเลย เพราะว่าเชื่อนี่ พระองค์ทรงเห็นแจ้งแล้วเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ถ้าบุคคลทำกรรมชั่วอย่างนั้นๆ จะเป็นอย่างนั้น จะต้องไปตกนรกบ้าง จะไปเกิดเป็นเปรตบ้าง เกิดเป็นอสุรกายบ้าง เกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานบ้าง พระองค์รู้แจ้งแทงตลอดหมด ดังนั้นจึงได้นำมาแสดงให้พุทธบริษัททั้งหลายฟัง ส่วนว่าใครไม่เชื่อคำสอนของพระองค์ ก็ไม่มีทางที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ได้ เพราะไม่เชื่อจะปฏิบัติตามได้อย่างไร เพราะฉะนั้น คนที่ประกาศตนว่านับถือพระพุทธศาสนานี่ก็เกือบจะทั้งเมืองไทย แต่หาได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ไม่ ปฏิบัติตามนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น สิ่งใดที่คิดว่าตนเองชอบใจจึงปฏิบัติตามได้ สิ่งใดตนเองไม่ชอบก็ละเว้นไม่ปฏิบัติตาม ดังจะยกตัวอย่างให้ฟัง การบำเพ็ญตนเป็นนักเลงเจ้าชู้ การบำเพ็ญตนเป็นนักเลงดื่มของมึนเมาทุกชนิด บำเพ็ญตนให้เป็นนักเลงการพนัน การไปคบหาสมาคมคบคนชั่วเป็นมิตร เหล่านี้พระศาสดาตรัสว่าเป็นหนทางแห่งความเสื่อมในปัจจุบันนี่เอง ไม่ต้องถึงชาติหน้า แต่ถึงกระนั้นคนที่ยังไม่เชื่อ ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ก็มีเป็นจำนวนมาก ที่ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชนอยู่ในพุทธศาสนา แต่ยังบำเพ็ญตนเป็นนักเลง ๔ ประเภทนั้น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็มีอยู่ เป็นอย่างนี้

  

www.thaniyo.com

ธรรมะเป็นของยาก
          ดังนั้น การที่บุคคลจะได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจริง ๆ เป็นของหาได้ยาก มีเป็นจำนวนน้อย การที่พวกเราเข้ามาอบรมฝึกฝนตนเพื่อบวชเรียนในพระพุทธศาสนานี่ก็ให้พึงพากันศึกษาให้เข้าใจปากทางความเสื่อมแห่งชีวิตที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังกล่าวแล้ว พิจารณาให้เห็นด้วยตนเองจริงๆ การบำเพ็ญตนเป็นนักเลงดังว่านั้น มันให้โทษให้ทุกข์จริงๆ ให้ถึงความเสื่อมความฉิบหายในชาตินี้จริงๆ พิจารณาให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองให้ได้ เมื่อพิจารณาให้เห็นด้วยตนเองตามที่พระองค์แสดง ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ละเว้นความประพฤติเช่นนั้นได้ จะไม่บำเพ็ญตนเป็นคน ๔ ประเภทนั้น แม้ผู้ใดจะอยู่ในฐานะเช่นใด จะมีอาชีพเป็นข้าราชการ ชาวนา ชาวสวน พ่อค้าพาณิชย์ ก็ย่อมหาหนทางหรืออุบายหลีกเลี่ยงจากอบายมุขคือเหตุเครื่องฉิบหาย ๔ ประการนี้ให้ได้ จึงจะได้ชื่อว่าพุทธศาสนิกชน แปลว่าเป็นบุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง นี่แหละ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าฝืนความรู้สึกของคนเหล่านั้นส่วนมาก แต่ผู้ที่ไม่ยอมตนอยู่ภายใต้กิเลสตัณหาดังว่ามาแล้วนั้น มันฝืนจริงจังได้ ไม่ยอมล่วงเกิน ไม่ยอมปฏิบัติตาม เมื่อผู้มีปัญญาได้พิจารณาเห็นชอบตามคำสอนของพระองค์แล้ว แม้ว่าจะฝืนความรู้สึกที่ตนเคยชินมาแต่ก่อน ก็ทนฝืนไม่ไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาเหล่านั้น เรียกว่า “ทวนกระแสของกิเลส” ได้ เมื่อมีศรัทธาแรงกล้าแล้ว ทวนเลย หมายความว่าหากตนเคยบำเพ็ญตนเป็นนักเลง ๔ ประเภทนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ตัดสินใจละไม่บำเพ็ญตนเป็นนักเลงอีกต่อไป อย่างนี้แหละการที่เราเข้ามาบวช หากว่าผู้ที่บวชอยู่ใช้ได้ในพระศาสนา สึกออกไปก็เป็นผู้บำเพ็ญตนเป็นคนดี ไม่บำเพ็ญตนเป็นนักเลงใน ๔ ประเภทนั้น เป็นคนดี จะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น เมื่อได้ทราบความมุ่งหมายของการบวชว่ามีอานิสงส์มากดังแสดงมาแล้ว จงพากันผูกความศรัทธา ความเลื่อมใส ความเชื่อ ลงในการบวชนี้ให้แก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป


          การนั่งสมาธินี้ ให้พากันนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ทำกายให้เที่ยงตรง หลับตา นึกภาวนา พุทโธๆๆ รวมจิตใจเข้าไปภายใน การนึกถึงคุณพระพุทธเจ้านี้ นึกได้มากเท่าใด เจริญได้มากเท่าใด เป็นกำลังให้จิตใจของรเาสงบระงับตั้งมั่น เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้น ก่อนจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ได้บำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนามาก จึงได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเราระลึกถึงพระพุทธองค์ บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เราทุกคนก็ต้องตั้งใจให้มั่นคง อย่าได้หวั่นไหวไปตามเรื่องราวทั้งหมด การภาวนานี้ท่านไม่ให้อ้างกาล อ้างเวลา ไม่ต้องเลือกว่ากลางวันกลางคืน ฝนตกแดดออกก็ภาวนาได้ ภาวนาได้ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน แต่การนั่งสมาธิ เดินจงกรมนี้ เป็นระยะเป็นกาลเป็นเวลา ส่วนภายในจิตใจนั้นนึกเจริญได้ทุกเวลา นึกพุทโธได้ทุกเวลา พุทโธ ยึดใจผู้รู้ ผู้นึกพุทโธ พุทโธนี้เป็นพระนามของพระศาสดาพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ที่เราได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เดี๋ยวนี้ก็มาจากพุทโธ พระพุทธเจ้า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ก่อน สงฆ์สาวกทั้งหลายจะไม่มีความรู้ความเข้าใจอันใดที่จะมาสั่งสอนพุทธบริษัท นี่คือความเกี่ยวโยงถึงพระพุทธเจ้าคือพุทโธ จงพากันรำลึกถึงคุณของท่าน ธัมโม สังโฆ ก็อยู่ในจำพวกเดียวกัน ถ้านึกถึงพระพุทธเจ้า ก็ชื่อว่า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในนั้นแล้ว ให้พากันเจริญแล้วทำจิตใจให้ตั้งมั่น อย่าได้หวั่นไหวไปด้วยเหตุการณ์ใดๆ


          เมื่อเวลาเรานั่งสมาธิแล้ว ตั้งใจฟังธรรม อันการฟังธรรมนี้ไม่ต้องการให้จำเอาธรรม แต่ต้องการให้จำเอาอุบายข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกกับจริตจิตใจของเรา แม้อุบายเดียวก็สามารถที่จะยั้งจิตใจของเราให้สงบระงับเป็นสมาธิภาวนาได้ แต่ถ้าเพียงแต่ฟังแล้วจดจำธรรมไป ไม่ได้อุบายธรรมไป อันนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าใดนัก แต่ถ้าเราจดจำเอาข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกกับจิตใจของเรา จะเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไข้ ความพลัดพรากจากสังขารทั้งหลาย เมื่อเรานึกถึงสิ่งนั้นแล้วจิตใจของเราสงบระงับ สลดสังเวช มีความสงบ ตั้งมั่น เย็น สบาย จิตใจเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว หรือว่าเกิดศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสอันมั่นคงในการประพฤติปฏิบัติ ยังดวงจิตดวงใจของเราให้ดีขึ้น นั้นแหละได้ชื่อว่าเป็นอุบายธรรม ธรรมต่างๆ นี้มีอยู่ทั่วไป จะอะไรก็เป็นอุบายธรรมได้ทั้งนั้น ถ้ารู้จักกำหนด รู้จักพิจารณา ไม่ว่าเราจะเห็นสิ่งใด เห็นสัตว์ เห็นวัตถุธาตุทั้งหลายในโลกนี้ ก็ให้ระลึกถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายด้วย นับตั้งแต่ตัวของเราเอง คือ รูป นาม กาย ใจ ของคนเรานี้ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ยั่งยืนจะเป็นอยู่ดังใจหมายทุกอย่างทุกประการนั้นเป็นไปไม่ได้ ธรรมดารูปขันธ์นี้ เมื่อเกิดขึ้นมา มีเหตุมีปัจจัยเพียงพอแล้วก็เจริญขึ้น เจริญเพียงพอแล้วก็มีเหตุชำรุดทรุดโทรม ผลที่เกิดคือรูปขันธ์นี้ก็เข้าถึงซึ่งความแตกดับ เรียกว่า “ตาย” เมื่อตายแล้วมันก็ไม่ไปไหน มันก็อยู่ในโลกนี้แหละ ธาตุดินก็ไปเกิดธาตุดิน ธาตุน้ำก็ไปเกิดธาตุน้ำ ธาตุไฟก็ไปเกิดธาตุไฟ ธาตุลมก็ไปเกิดธาตุลม เรากลับคืนไปที่เก่าของเราเท่านั้น ส่วนดวงจิตดวงใจย่อมเห็นแจ้งในรูป นาม กาย ใจ เห็นตลอดไปในโลกนี้ว่า อนิจจังไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป ย่อมมีความเปลี่ยนแปลง ทุกขัง ใครก็ตามมีรูป มีนาม มีกาย มีจิตแล้ว มันก็เต็มไปด้วยกองทุกข์เหมือนๆ กันหมด อนัตตา สิ่งใดทั้งหมดในรูป นาม กาย ใจ นี่ ส่วนมากจิตใจเราก็คิดว่าตัวตนอันนี้เป็นของเรา เป็นตัวเรา แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ของเรา ของเราไม่มี ของเขาก็ไม่มี เป็นธาตุโลกอยู่อย่างนั้นเอง ถ้าจิตคนเรายึดเอาถือเอาแล้ว จะเอาให้เป็นไปตามใจหวัง มันก็เกิดความทุกข์โทมนัสขึ้นมาภายในจิตใจ

  

www.thaniyo.com

ภาวนาพุทโธ
          เวลาเรานั่งสมาธิภาวนาพุทโธอยู่ จงรวมจิตใจเข้าหาภายใน อย่าได้ไปตามสังขาร วิญญาณ กิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิ ไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นชื่อว่าตัณหาในจิตใจมนุษย์และสัตวโลกทั้งหลายแล้วไม่มีเมืองพอ ไม่มีเมืองเต็ม มีแต่บกพร่องอยู่เสมอ พระพุทธองค์ท่านว่า ใครทำไปตาม พูดไปตาม คิดไปตาม อยากไปตามอำนาจตัณหาแล้วจะไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ใดมาเลิก ละ ปล่อยวาง เอาใจดวงเดียวให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนา นั่งก็เอาใจดวงเดียวภาวนาอย่างนี้แหละ รักษาใจดวงเดียวภาวนาอย่างนี้แหละ รักษาใจดวงเดียวไม่ต้องมาก ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ไม่ต้องวุ่นวายอะไร เอาใจดวงเดียวของเราให้ได้ ในเวลาเดินไปก็ให้มีสติภาวนาในใจ ระมัดระวังทั้งภายในและภายนอก นั่งธรรมดาก็ให้ระลึกอยู่ภายในใจตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน ยังไม่หลับก็ให้ฝึกภาวนาอยู่ในอยู่ในดวงจิตดวงใจของตน เมื่อตื่นขึ้นมาก็ไม่ยุ่งกังวลอยู่กับฝันดีฝันร้าย เป็นธรรมดาของการนอนหลับก็ย่อมมีฝันเหมือนคนเราเมื่อยังไม่หลับก็มีความคิด ความฝันกับความคิดก็เหมือนๆ กัน ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ทั้งกลางวันกลางคืน ทุกอิริยาบถทุกเวลาเราภาวนาได้


          เมื่อภาวนาได้ย่อมมีเวลาสงบระงับ เย็นสบาย ตั้งมั่นลงไปได้ในหัวใจของแต่ละบุคคล เพราะว่าจิตใจของคนเรานี้อาศัยตัวเองเป็นเครื่องนำพา คือว่านำพาไปในทางใดก็ย่อมเป็นในทางนั้น เมื่อเรานำพาในการรักษาศีล บำเพ็ญทาน ภาวนา ไหว้พระ สดับรับฟังพระธรรมคำสั่งสอน รวมจิตใจของตนเข้ามาภายใน เมื่อพยายามทำอยู่อย่างนี้ไม่ว่าวันไหน คืนไหน เวลาไหน วิธีการใดที่จะยังจิตใจของเราให้มีความสงบแล้ว ก็ให้พยายามรวบรวมกำลังจิตใจของตนเข้ามาภายในนี้ เรื่องภายนอกนั้นให้ยุติไว้เสียก่อน เราไม่ต้องไปจัดแจงอะไรทั้งหมด จัดแจงดวงใจของเราให้รำลึก ให้มีสติภายในใจที่รู้อยู่นี้ ให้มีสติตั้งมั่นอยู่ที่นี้ ให้มีปัญญาความรู้ เมื่อรู้จักรวบรวมจิตใจเข้ามาตั้งภายในดวงจิตดวงใจอย่างนี้แล้ว เราจะเห็นได้ทีเดียวว่า แท้ที่จริงทางแห่งพระพุทธศาสนานี้อยู่ที่จิตใจสงบ ไม่มีอะไรที่จะดีกว่าความสงบ เมื่อจิตใจสงบแล้วอะไรๆ ก็พอหมด ถ้าจิตฟุ้งซ่านรำคาญจะไม่พอ ตาก็ไม่พอในการดูรูป หูก็ไม่พอในการฟังเสียง จมูกก็ไม่พอในการดมกลิ่น ลิ้นก็ไม่พอในการลิ้มรส กายก็ไม่พอในโผฏฐัพพะสัมผัส จิตก็ไม่พอในธรรมารมณ์ นั่นคือจิตไม่สงบ ดิ้นรนวุ่นวายกระสับกระส่ายไปตามอารมณ์ ผลที่สุดก็เป็นไปด้วยทุกข์ที่ไม่อิ่มไม่พอ

  


          จิตใจอยู่ในพุทโธ พุทโธอยู่ในจิต นึกพุทโธทุกลมหายใจเข้าออก คือจิตใจดวงนี้ให้ระมัดระวัง มีสติอยู่ตลอดเวลา จิตตั้งมั่นอยู่ทุกเวลา มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถแก้ไขสิ่งเฉพาะหน้าได้หมดทุกอย่างทุกประการ จิตใจก็ย่อมอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ทุกข์ร้อน วันไหน คืนไหน เวลาใดก็เหมือนอย่างเก่า นี่แหละ ให้ตั้งจิตใจอยู่ภายในดังนี้ ดวงจิตดวงใจที่เศร้าหมองดิ้นรนวุ่นวายก็จะหายไป ความสงบเยือกเย็นก็ย่อมบังเกิดภายในจิตใจของเราทุกคน เพราะว่าใจมีอยู่แล้วไม่ใช่ว่ามาสร้างใจใหม่ จิตใจจริงๆ ของเราทุกคนนั้นมีอยู่ภายในตัวภายในใจ เมื่อเราฟังธรรมได้ยินเสียงก็ใจเป็นผู้ได้ยิน หูนี้มันเป็นแต่รับเสียงเข้าไปให้รู้อยู่ในจิต เป็นผู้รู้อยู่ภายใน เป็นผู้ได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้โผฏฐัพพะ ได้ธรรมารมณ์ คือจิตนั่นเองเป็นผู้รับรู้ อย่างอื่นส่วนร่างกายสังขารเป็นธาตุธรรมดา โลกธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ นี่ประชุมกันเข้าแล้วก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไปอย่างที่เราเห็นอยู่นี้ ดวงจิตดวงใจที่เราน้อมนำมาทำความเพียรละกิเลสอยู่ในจิตใจดวงนี้ ให้พากันชำระแก้ไขจิตใจดวงนี้ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ให้จิตใจมีเล่ห์เหลี่ยมในใจของคนเราท่านว่ากิเลสมีตั้งพันห้า ตัณหามีตั้งร้อยแปด ได้ชื่อว่ามากมายถ้าแส่ส่ายออกไปแล้ว ถ้ารวมมาสรุปมาก็มีกายกับจิต มีรูปกับนาม มีดวงจิตดวงใจ ผู้รู้อยู่ภายในนี้ทุกเวลา เท่านั้น ไม่ต้องไปหาที่ไหน ภาวนาอยู่ในดวงจิตดวงใจ กลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ ก็เกิดความสงบระงับขึ้นมาภายในจิตใจนี้

  


          ถ้าหากว่าคนเรามีแต่ความอยาก อยากได้ อยากเด่น อยากมี แต่ไม่สังวรระวัง ไม่รวมจิตเข้าไปภายในก็เลยไม่ได้อะไร เพราะมีแต่ความอยาก ไม่ลงมือทำ ไม่ภาวนา ไม่รักษาศีล ไม่สดับรับฟังพระธรรม มันก็มีแต่หละหลวมไป ยึดไป ซึ่งลงท้ายก็ว่าเราเป็นคนบุญน้อยวาสนาน้อย ภาวนาไปก็ไม่ได้ประโยชน์อันใด ผลที่สุดความคิดอันนั้นก็ฆ่าตนเองไปในตัว สิ่งใดที่เราตั้งใจทำแล้วย่อมได้ผล ทำบุญก็ได้บุญ ทำบาปก็ได้บาป แล้วสิ่งที่เราประกอบกระทำนี่เองเป็นผลผลิตขึ้นมาภายในจิตใจนั้น เพราะสิ่งทั้งหลายนั้นมีดวงใจเป็นต้น เป็นประธานอยู่ภายในจิตใจนั่นเอง นี่คือวิธีการนั่งบริกรรมภาวนาทำใจให้สงบ ไม่สงบก็ไม่ตามมันไป เมื่อไม่ตามมันไปมันก็สงบ


Last Updated on Saturday, 23 October 2010 01:20
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner