Home ธรรมเทศนา อุตริมนุสธรรม
อุตริมนุสธรรม PDF Print E-mail
Tuesday, 15 September 2009 05:34

อุตริมนุสธรรม

 

โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย 

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

 

แสดงธรรมที่กระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๑

           

            ณ   โอกาสนี้  จะได้อัญเชิญธรรมกถาอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านพุทธศาสนิกชนผู้สนใจในการฟังธรรม

 

            เราได้ยินพระท่านแสดงธรรมที่ไหน  ท่านก็บอกว่า  บัดนี้จะได้แสดงธรรมะคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ไม่มีพระองค์ไหนสักองค์หนึ่งที่บอกว่าอาตมาจะมาแสดงธรรมะของอาตมาเอง  ทำไมจึงต้องอ้างทำไมจึงเป็นอย่างนั้น  ก็เพราะเหตุว่า  ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอุตริมนุสธรรม  เรียกว่าธรรมอันสูงยิ่งของมนุษย์  เป็นธรรมที่มนุษย์จะพึงได้พึงถึงด้วยการพากเพียรหรือด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนาขวนขวายในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ซึ่งเป็นสุปฏิปันโน  ลำพังแต่เราจะเรียนเอาจำได้มันก็ไม่ยาก  และเราก็ต้องเรียนตามคัมภีร์ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอน  ดังนั้นเราเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง  คือรู้อริยสัจ  ๔  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  แล้วนำธรรมะนั้น ๆ มาสอนปวงชนให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ตลอดทั้งมรรค  ผล  นิพพาน  ธรรมะที่เราเรียนเราจำกันมาก็ดี  พระนำมาเทศน์ก็ดี เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนและเป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น  เราไปเลียนแบบอย่างท่านมา  ฉะนั้น  พระทุกองค์ที่แสดงธรรม ท่านไม่กล่าวว่าบัดนี้อาตมาจะแสดงธรรมะคำสอนของอาตมาให้โยมฟัง  ที่ไม่พูดอย่างนั้นก็เพราะกลัวว่าจะเป็นอาบัติปาราชิกเพราะอวดอุตริมนุสธรรม

 

            การที่ว่าจะแสดงธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า  อ้างถึงพระบรมศาสดา คือธรรมะนั้นไม่ใช่ของเรา  เราไม่ได้รู้เอง  เรารู้จากพระพุทธเจ้า  จึงหาหลักฐานอ้างอิง

            ๑.    เพื่อป้องกันมิให้ตัวเองเป็นอาบัติปาราชิก

            ๒.    เพื่อแสดงความเคารพคารวะในพระบรมศาสดา

 

            เราปฏิญาณตนถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะที่พึงที่ระลึก  ก็เพราะเราเลื่อมใส เราพอใจในธรรมะคำสอนของท่าน เรารับเอาคำสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติ เรารับเอาท่านเป็นพระบรมศาสดา  เรารับเอาท่านเป็นครูอาจารย์สั่งสอน ดังนั้น เราจะทำอะไรก็ต้องอ้างถึงพระพุทธเจ้าเป็นหลักฐานพยานเสมอ  เพื่อให้ปวงชนทั้งหลายมีความรู้ความเข้าใจ  ซาบซึ้งในธรรมะคำสอนนั้น ๆ

 

            ทีนี้มีปัญหาว่า  ธรรมะคำสอนนี้  ธรรมะที่เราเรียนเรารู้กันนี้  ที่พระนำมาเทศน์นี้ มีได้เฉพาะที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกเท่านั้นหรือ  หรือจะถามว่าพระพุทธเจ้ากับพระธรรมใครเกิดก่อนกัน  อันนี้มีพวกนักตลกเขาถามกันเล่น ๆ ทีเล่นทีจริง เขาถามว่า    พระพุทธเจ้ากับพระธรรมนี่  ใครเกิดก่อนกัน

 

            คำตอบก็คือ   พระธรรมเกิดก่อนพระพุทธเจ้า    เพราะว่าธรรมะคือกายกับใจของเรา  โลก  คือ  แผ่นดิน  ดิน ฟ้า  อากาศ  ต้นไม้  ภูเขา  รถ  เรือน  หรือสภาวะทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ สิ่งที่เป็นธรรมชาติ สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม  ดิน  ฟ้า  อากาศ  ภูเขา  รถ  เรือน  หรือสิ่งต่าง ๆ แร่ธาตุ วัตถุต่าง ๆที่มีอยู่ในโลกนี้  ทั้งบนดินและใต้ดิน  คน  สัตว์  สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นธรรมะเกิดก่อนพระพุทธเจ้า

 

            ในเมื่อเรายอมรับว่า  กายกับใจ หรือสภาวะต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นธรรมะทางฝ่ายสภาวธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมาแล้วแต่ดั้งเดิม  บิดามารดาของพระพุทธเจ้าเกิด ก่อนพระพุทธเจ้า  กายกับใจเป็นสภาวธรรมที่มีอยู่ก่อนแล้ว  พระพุทธเจ้าเกิดมาก็มีกายกับใจ ก็เป็นสภาวธรรม  ในเมื่อพระพุทธเจ้าก็มีสภาวธรรมคือกายกับใจ เกิดจากพระบิดาพระมารดา  ก็เกิดจากสภาวธรรม  ดังนั้น สภาวธรรมคือธรรมที่เป็นเองโดยธรรมชาตินั้นเกิดก่อนพระพุทธเจ้า 

 

            ทีนี้พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รู้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ  มรรค  ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ตามหลักของทุกขอริยสัจนั้น  หมายถึงทุกข์ที่เกิดขึ้นกับใจคน ทุกข์ในอริยสัจเป็นทุกข์ที่มีสิ่งที่รับรู้  หมายถึงผู้ที่มีกาย มีใจ มีร่างกายแล้วก็มีจิตใจ เมื่อผู้ที่มีร่างกายมีจิตใจก็ย่อมมีความทุกข์  ความทุกข์ที่ปรากฎขึ้นในจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น  โดนด่า  เจ็บใจ  แล้วก็เกิดทุกข์  ทุกข์ใจ  โดนตำหนิ  ไม่พอใจ  ก็เกิดทุกข์   ทุกข์อันนี้ที่เกิดเพราะความไม่พอใจ  ท่านเรียกว่า  ทุกขอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งแตกต่างจากทุกข์ในพระไตรลักษณ์  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  อันนั้นก็ใช้คำว่าทุกขังเหมือนกัน ทุกข์ในอริยสัจ  ๔ นี้ก็ทุกขังเหมือนกัน  

 

 

            แต่ ทุกข์ในอริยสัจ  ๔  เป็นทุกขังอยู่ในจิตในใจของคน  คนที่ถูกกระทบอารมณ์หรือถูกความวิปโยค  พลัดพรากถูกความกระทบกระเทือนต่าง ๆ แล้วทำให้จิตใจหวั่นไหวผิดปกติ  เกิดทุกข์ใจขึ้นมา  อันนี้เป็นทุกขอริยสัจ   แต่ทุกข์ในพระไตรลักษณ์เป็นกฎธรรมชาติ   กฎธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้  มีเกิดขึ้น  ทรงตัวอยู่  แล้วก็สลายตัว   ใครจะรู้ก็ตาม  ไม่รู้ก็ตาม  ฝนตก  แดดออก  ความเปลี่ยนแปลง  เดี๋ยวฝน  เดี๋ยวแดด เดี๋ยวมืด  เดี๋ยวสว่าง  เป็นกฎของพระไตรลักษณ์  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้  มวลสารที่เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่โต  กฎธรรมชาติของเขาก็มี  ปรากฎตัวขึ้น  แล้วก็ทรงตัวอยู่ ในที่สุดสลายตัว  นี่เป็นกฎธรรมชาติของ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  อาคารหลังนี้ใช้ไปนาน ๆ มันก็เก่าคร่ำคร่าทรุดโทรม  จนกระทั่งสุดวิสัยที่เราจะซ่อมแซมหรือรักษาเอาไว้ได้  มันก็พังสลายตัวไป อันนี้เป็นลักษณะของทุกข์ในพระไตรลักษณ์  ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา 

 

            เพราะฉะนั้น  สาธุชนพึงทำความเข้าใจในคำว่า ทุกข์  ทุกข์ในอริยสัจเป็นทุกข์ที่ผู้มีกาย  มีใจ  เป็นผู้รับรู้ทุกข์อันนั้น  แต่ทุกข์ในพระไตรลักษณ์เป็นกฎธรรมชาติของสภาวธรรม มีเกิดขึ้น  ทรงตัวอยู่  แล้วก็ดับไป  ภาษาพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา 

 

            อนิจจัง  ไม่เที่ยงเพราะเปลี่ยนอยู่เสมอ  ทุกขัง  เพราะทนอยู่ตลอดกาลไม่ได้  อนัตตา  ไม่เป็นตัวของตัวเอง  ใครจะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม  เขาย่อมเป็นไปอย่างนั้นตามกฎธรรมชาติของเขา  

 

            ทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ในกฎของพระไตรลักษณ์ คือกฎของธรรมชาติ  ถ้าหากว่าเรายึดสิ่งใดว่าสิ่งนี้คือของของเรา  ถือว่าเราเป็นเจ้าของซึ่งสภาวะทั้งหลาย  เขาเป็นไปตามกฎธรรมชาติ แต่เราเอาจิตใจของเราไปสอดแทรกเข้าไป ไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นเจ้าของ ในเมื่อสิ่งนั้นมีอันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราไม่ชอบ  มันก็เกิดขัดใจเรา  เมื่อเกิดขัดใจเรา ตัวเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นทุกข์เป็นทุกข์ในพระไตรลักษณ์   แต่ตัวที่เราเอาจิตใจเข้าไปสอดแทรกแล้วมันขัดความประสงค์ของเรา เกิดทุกข์ขึ้นมา ตัวนั้นเป็นทุกขอริยสัจ  นี่ก็อ่านทุกข์ ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ 

 

            ดังนั้น  เพื่อแก้ทุกข์ซึ่งเป็นทุกขอริยสัจ  พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณาว่า เรามีความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  เป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความแก่  ความเจ็บ  ความตายไปไม่ได้

 

            ทีนี้เมื่อพูดถึงความแก่  ความเจ็บ  ทุกข์  คนเราไม่ชอบ  แก่  เจ็บ  นั้นเป็นกฎของธรรมชาติ  ของพระไตรลักษณ์  เกิดมาแล้วต้องเจ็บ  ต้องแก่  แต่ถ้าเราเอาใจของเราไปขัดกับกฎของธรรมชาติ  แก่ ไม่อยากแก่  เกิดทุกข์ทันที เจ็บ  ไม่อยากเจ็บ  เกิดทุกข์ใจทันที   ถ้าหวั่นวิตกว่าเราอาจจะถึงแก่ความตายก็ยิ่งทุกข์หนัก  ทุกข์เกิดขึ้น  เพราะแก่  เจ็บ  ตาย เป็นเหตุ

 

            แก่  เจ็บ  ตาย เป็นกฎธรรมชาติที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้น  แต่เราไปแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกฎธรรมชาติเสีย  เราจึงเอาใจเข้าไปสอดแทรก  เข้าไปขัดจังหวะทั้ง ๆ ที่เราก็รู้แล้วว่ามันขัดไม่อยู่ พอถึงแก่แล้วมันจะแก่ไปตามธรรมชาติของมัน เวลาเจ็บก็เจ็บไปตามธรรมชาติของมัน เวลาจะตายก็ตายไปตามธรรมชาติของมัน  แต่เรายังไม่รู้ซึ้ง  เราจึงไม่รู้จักปล่อยวาง  เมื่อไม่รู้จักปล่อยวาง  ก็เอาจิต  หรือความรู้สึก  กิเลส  อุปาทานของเราเข้าไปขัดขวาง พอไปขัดขวางเข้าแล้วก็เปรียบเหมือนกับเครื่องจักรที่กำลังหมุนติ้ว ๆ ๆ อยู่ แล้วเราก็สอดมือเข้าไปลองคิดดูซิว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น อย่างน้อยก็นิ้วขาด ข้อนี้ฉันใด  กฎธรรมชาติ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ที่เขาหมุนไปตามธรรมชาติของเขานั้น  เราเอาจิตใจของเราเข้าไปสอดแทรก  เข้าไปขัดขวาง  เอาความรู้สึกของเราไปขัดขวางอย่างน้อยก็ต้องโดน  โดนอะไร  ความเศร้าใจ คือทุกขอริยสัจนั่นเอง  นี่กฎธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้

 

 

            เมื่อก่อนที่จะขึ้นธรรมาสน์นี่  มีท่านผู้หนึ่งแนะว่าอยากจะให้พูดถึงเรื่องความตาย เรื่องของความตายนี่ถ้าโดยธรรมชาติแล้วเราก็ตายกันมาเรื่อย ๆ ตายจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่  ตายจากผู้ใหญ่มาเป็นคนแก่ ตายจากแก่มาเป็นคนหง่อม  จากหง่อมแล้วก็เป็นคนเปลี้ย  ลุกเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ อยู่กับที่ ในที่สุดก็ต้องตาย ทีนี้ความตายของคนเรานี่ ตายจริงกับตายเล่น ตายจริงนี่หมายถึงวิญญาณออกจากร่างไปแล้วไม่ยอมกลับมาสู่ร่างอีกเลย อย่างที่ใคร ๆ เขาตายกันอยู่ดาษดื่น ทีนี้ลักษณะที่เปรียบเทียบด้วยกับการตายนี่ เอาละ อาตมาจะขอยกเรื่องของตนเองมาเล่าสู่กันฟัง  อันนี้ก็เล่าตามความฝันที่ฝันไป ขอใช้คำว่าฝัน ถ้าจะใช้คำว่านิมิตหรือเป็นสิ่งอื่น ๆ หากว่ามันผิดพลาดไปก็ล่อแหลมต่ออันตราย เพราะพระอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตัวต้องอาบัติปาราชิก  อาตมะก็กลัวปาราชิกเหมือนกันจึงใช้คำว่าสิ่งที่จะเล่านี้เป็นเรื่องความฝัน

 

            มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณปี  พ.ศ.  ๒๔๘๗–๒๔๘๘  อาตมภาพป่วยเป็นวัณโรค ในช่วงที่กำลังป่วยเป็นวัณโรคอยู่นั้น ครูบาอาจารย์ เช่น ท่านอาจารย์ฝั้น  เป็นต้น ท่านก็สอนให้ภาวนา ส่วนใหญ่จะภาวนาถึงความตาย อยู่มาวันหนึ่ง เกิดความอยากรู้อยากเห็นอะไรขึ้นมา ก็มานึกว่า ไหน ๆ  เราก็จะตายอยู่แล้ว  เพราะว่าเป็นวัณโรคนี่ไม่มีใครที่จะรักษาให้หายได้ เหมือนกับที่เราเป็นโรคมะเร็งกันในปัจจุบันนี้ พอใครเป็นเข้าแล้วก็นึกว่ามันไม่หาย มีแต่ตายลูกเดียว ในทำนองเดียวกับอาตมะป่วยในสมัยนั้น  ในความรู้สึกของจิตใจ   ก็รู้สึกว่าจะตายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่รอดพ้นจากความตาย 

 

            แต่ยังมีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาอีกอย่างว่า ก่อนที่เราจะตาย เราควรจะได้รู้ว่าความตายคืออะไร  พอตกลงใจอยากจะรู้ว่าความตายคืออะไร  วันนั้นตั้งใจนั่งสมาธิดูความตายอยู่ตั้งแต่เวลา  ๓ ทุ่ม  จนกระทั่งถึงตี  ๓  ในช่วงขณะที่นั่งพิจารณาดูความตายอยู่นั้น  บางทีก็พยายามนึกว่าความตายคือความขาดสิ้น สูญสิ้นชีวิตอินทรีย์ วิญญาณออกจากร่าง หยุดหายใจ อะไรก็ว่ากันไปตามที่เราคิดได้บางทีก็นั่งนึกบริกรรมภาวนา  มรณัง ๆๆ ความตาย ๆ ๆ อยากจะรู้จักความตาย ตั้งแต่ ๓ ทุ่ม จนกระทั่ง ตี ๓ จิตสงบแม้แต่นิดหนึ่งไม่มี เพราะตอนนั้นความอยากมันรุนแรง มันอยากรู้อยากเห็น พอภาวนาไปแล้ว เมื่อไรมันจะรู้มันจะเห็นสักที ความอยากมันเป็นกิเลสมาปิดบัง  แม้แต่จิตจะสงบก็ไม่มี 

 

            ลงผลสุดท้าย พอถึงตี ๓  แล้วมันรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเพลีย  ความคิดมันก็บอกว่า  เออ   วันนี้ไม่สำเร็จ นอนพักผ่อนก่อน พอนึกว่าจะนอนพักผ่อนเท่านั้น ในใจนี่ก็ฝันขึ้นมา บอกว่า มีอย่างที่ไหน เขานอนตายกันทั้งบ้าน  ทั้งเมือง  ท่านจะมานั่งตาย มันจะตายได้อย่างไร นี่ มันฝันขึ้นมาอย่างนี้ ทีนี้พอฝันขึ้นมาอย่างนี้ เอา ถ้างั้นก็นอนตายซิ เสร็จแล้วก็ต้องนอนตาย 

 

            พอนอนไป ๆ ก็กำหนดดูลมหายใจ เกิดหลับขึ้นมา พอเคลิ้ม ๆ วิญญาณที่มีอยู่ในร่างก็ทำท่าสว่างขึ้นมาในระหว่างทรวงอก พอเกิดสว่างแล้ว มันก็แสดงการออกมาจากร่าง มันออกมาพร้อมกับลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นแสงสว่าง เป็นเส้นเป็นสายรุ้ง  แล้ววิญญาณก็แสดงท่าทางว่าจะลอยออกไปวนเวียน ๆ ๆ ขึ้นไป พอขึ้นไปสูงได้สักเมตร  ๒ เมตร  มันก็ย้อนกลับลงมาอีก  คล้าย ๆ กับว่ายังเป็นห่วงหน้าห่วงหลัง จะไปแหล่มิไปแหล่ ผลสุดท้ายมันก็ถีบตัวขึ้นไปลอยเด่นอยู่เหนือโลก พอมันลอยเด่นอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างก็หายไปหมด แต่ในขณะนั้นความรู้สึกว่าตายนี่ไม่มี เพราะทุกสิ่งทุกอย่างว่างหมด โลก แผ่นดินนี้  ก็หายไปหมด แม้แต่ร่างกายตัวตนก็หายไปหมด วิญญาณไปลอยเด่นอยู่เหมือนอย่างดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์อย่างนั้นแหละ  แล้วมันมีแต่ความว่าง สักพักหนึ่งผืนแผ่นดินก็ปรากฎขึ้นมาทำให้วิญญาณนั้นมองเห็นผืนแผ่นดิน เหมือน ๆ กับที่เรามองเห็นกันอยู่เดี๋ยวนี้ 

 

 

            สักครู่หนึ่ง  ร่างกายที่เคยอยู่อาศัยนั้นก็ปรากฏเป็นรูปร่างขึ้นมานอนเหยียดยาว  แต่วิญญาณมันก็เพียงแต่รู้  รู้เฉย ๆ แล้วมันมองเห็นอะไรก็มีแต่เฉย เห็นอะไรก็มีแต่เฉย รู้อะไรก็มีแต่เฉย แต่ว่ามันมองเห็นอยู่เฉย ๆ ทีนี้ร่างกายที่มองเห็นนั้นก็ขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุผัง สลายตัวไปตามเรื่องตามราวของมัน  แล้วภายหลังมันสลายตัวไปหมดแล้ว มันก็ย้อนกลับคืนมาเป็นอีก  เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอีก  แล้วก็สลายตัวลงไปอีก  มันเป็นอยู่อย่างนี้ประมาณ  ๔-๕  ครั้งพอเสร็จแล้ว ในที่สุดก็รู้สึกตัวขึ้นมา  ก่อนที่จะรู้สึกตัว ดวงสว่างนั้นไหวตัวนิดหนึ่งแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็หายไป  ความรู้สึกในทางกายนี่ก็ค่อยรู้สึกตัวฟื้นๆ ขึ้นมา จนกระทั่งรู้สึกตัวเป็นปกติ  ในลักษณะอย่างที่เล่ามานี้ก็เป็นลักษณะแห่งความตาย 

 

            ถ้าหากท่านผู้ใดนั่งสมาธิหรือทำสมาธิ  จิตสงบเป็นอัปปนาสมาธิ หรือแม้แต่ว่าทำสมาธิแล้วจิตสว่าง  กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก  ไปมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รูปนิมิตต่าง ๆ มีลักษณะเหมือนกับฝัน  แล้วตัวเราเองก็เดินไปเที่ยวกับเขาทั้งหลายเหล่านั้น  บางทีก็ได้ไปพูดไปคุยไปถามไถ่ถึงคนโน้นคนนี้ บางทีก็ไปพบกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ท่านตายไปก่อนแล้ว  และบางทีก็ไปถามสุขทุกข์เขาว่าเป็นอย่างไร  บางทีก็ดันทุรังไปถามเขาว่าเมื่อไรฉันจึงจะได้มาอยู่กับพวกท่าน อะไรทำนองนี้ แล้วเขาก็จะบอกว่าเวลานั้น เวลานี้  วันเดือนปีเท่านั้น เท่านี้ ท่านจะต้องตาย ตายแล้วมาอยู่กับพวกเรา อะไรทำนองนี้ มันก็เป็นไปได้ 

 

            อย่างผู้ที่เป็นข่าวนั้นก็มีลักษณะทำนองเดียวกันอย่างคนที่ทำสมาธิภาวนาแล้วจิตสงบ  สว่าง  กระแสจิต  ส่งออกไปข้างนอก  เกิดนิมิตแล้วไปติดนิมิต เดินไปเที่ยวกับนิมิต  ไปโน่นไปนี่  ไปนรก  ไปสวรรค์  หรือบางทีไปเห็นจนกระทั่งเมืองนิพพาน ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าช่วงนั้นเราตายแล้ว  ตายจากความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ไปสู่ภาวะอย่างนั้น วิถีของเราท่องเที่ยวอยู่ในภูมิของ…..ถ้าไปเที่ยวนรกก็เรียกว่าไปเที่ยวภูมิของนรก หรือภูมิของผี  ถ้าไปเที่ยวสวรรค์ก็ไปอยู่ในภูมิของเทวดา  ถ้าไปเมืองพรหมไปเห็นเมืองนิพาน  ก็อยู่ในภูมิของพระพรหม ของพระนิพพาน อันนี้จิตมันเป็นไปได้ชั่วขณะหนึ่ง เรียกว่าตายชั่วขณะหนึ่ง

 

            ทีนี้ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำความเข้าใจไว้ว่า ถ้าหากว่าท่านทำสมาธิจิตจนกระทั่งรู้สึกว่าจิตของท่านปล่อยวางร่างกาย  ปล่อยวางความรู้สึกว่าอยู่ในโลกนี้แล้วไปผุดโผล่ขึ้นในอีกภพหนึ่ง โลกหนึ่งเช่น เมืองสวรรค์ เมืองนรก  อะไรทำนองนี้ นั่นแสดงว่าท่านตายแล้ว แม้แต่เพียงว่าทำจิตให้สงบ นิ่ง รู้ ตื่น เบิกบานอยู่ภายในจิตร่างกายหายไปหมด แล้วจิตนิ่งสว่างอยู่ อันนั้นก็เรียกว่าตายแล้ว 

 

 

            ทีนี้ทำไมพอตายแล้วจึงไม่ตายจริง ที่ว่าไม่ตายจริงก็เพราะว่าตายเล่น ๆ เป็นธรรมชาติของผู้ภาวนาจะต้องเป็นอย่างนั้น  แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ตายมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ถ้าจิตของท่านเข้าฌานสมาบัติ เข้าสมาธิ ปล่อยวางโลกนี้ ไปรู้อยู่ภายในจิตเมื่อไร  เมื่อนั้นก็แสดงว่าตายแล้ว

 

             ฉะนั้น มนุษย์เรานี้ การภาวนาในเมื่อยังเป็นอยู่นี่ ที่เราเป็น ๆ กันอยู่ ความเป็นของจิตจะเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งพอจิตสงบ  เคลิ้ม ๆ ลงไป สงบ  สว่าง มีปีติ มีความสุข  มีความเป็นหนึ่ง ทางหนึ่ง จิตสงบ นิ่ง ว่าง ๆ ๆ ไป  ความรู้ต่าง ๆ ไม่เกิดขึ้น แต่จิตของเราจะมีความรู้เฉพาะในจิตเท่านั้น บางที่ว่างจนกระทั่งร่างกายตัวตนหาย มีแต่จิตดวงเดียวที่สว่างไสวอยู่ อีกทางหนึ่ง เมื่อจิตสงบว่างลงไปแล้ว จิตจะปรุงขึ้นมาเป็นมโนภาพ บางทีมันไปเสียจนสุดช่วงของมันแล้ว  และมันก็ย้อนกลับคืนมาที่เก่า เข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ  มีความสงบละเอียดก็มี หรือบางทีไม่เป็นเช่นนั้น พอภาวนาพุทโธๆ เป็นต้น พอจิตหยุด พุทโธ แล้วสงบปั๊บลงไป นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น  เบิกบาน กายหายไปหมด นี่ในลักษณะอย่างนี้ตายเหมือนกัน

 

            แต่ถ้าหากว่าจิตไปนิ่งอยู่ในฌานเป็นเวลานาน ๆ ๗ วัน  ๑๕ วัน ก็ตายได้ ๗ วัน  ๑๕ วัน จะมีรูปร่างเดินออกไปจากร่างเดิม แล้วก็จะมีผู้ชักนำไป หรือบางทีก็มีคนมาควบคุมไปอย่างกับคุมนักโทษ อันนี้เรียกว่าตายอย่างธรรมดา ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ที่มีบุญ ได้ทำบุญ ทำกุศลไว้มาก ๆ เวลาตายเขาจะมียานยนต์ เทวดาเอายานยนต์พาหนะมารับไปอะไรทำนองนี้ มันเป็นกรรมนิมิต ทีนี้ถ้าคนตายในสมาธิ ในขณะที่จิตเป็นสมาธิ ก่อนตาย จิตเข้าสู่สมาธิ จะมีวิญญาณเป็นดวงใสสว่างลอยออกไปโดยไม่มีร่างกาย ไม่มีตัว ไม่มีตน ร่างกายก็จะหายไปหมด นี่จะมีลักษณะอย่างนี้

 

            เพราะฉะนั้น จึงขอยืนยันว่า ท่านผู้ใดทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ ตั้งแต่อุปจารสมาธิ จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิหรือว่าสามารถเข้าฌานที่ ๑-๒-๓-๔  หรือเข้าสมาบัติได้ ถ้าทำได้เมื่อไรแสดงว่าตายแล้วทุกครั้ง  แต่ไม่ใช่ตายจริงตายเพราะกำลังของฌาน  ของสมาธิ  ซึ่งในเมื่อจิตเข้าสู่สมาธิขั้นละเอียดแล้วยอมปล่อยวางความรู้สึกในโลกนี้หมดเรียกว่าทิ้งโลกนี้ไป ไปผุดโผล่ขึ้นที่โลกอื่น  ถ้าไปอยู่สวรรค์ก็ผุดขึ้นที่สวรรค์ ถ้าหากว่าจิตสงบนิ่ง  สว่างอยู่ในฌานก็ไปอยู่ในพรหมโลก อันนี้วิถีความเป็นไปของจิตจะเป็นอย่างนี้

 

            เพราะฉะนั้น บางทีบางท่านพอเกิดเจ็บป่วยหนักเกิดสลบลงไป แล้วจิตเข้าไปสู่สมาธิเองโดยอัตโนมัติ แล้วสามารถไปรู้เห็นอะไรต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องของร่างกาย เช่น  มีท่านผู้หนึ่งไปเจ็บป่วยอยู่ที่อเมริกา เขาเองก็ไม่เคยบวช ไม่เคยภาวนา ไปเป็นมะเร็งลำไส้ ให้เลือดเข้าไปเท่าไร ๆ ก็ไหลผ่าน ๆ จนหมอบอกว่า คุณหมดหนทาง หมอหมดหนทางที่จะช่วยคุณแล้ว พอเสร็จแล้วเขาก็มาสำนึกได้ว่า เออ หมอช่วยไม่ได้ เราเองเราก็ช่วยตนเองไม่ได้ ก็สุดแล้วแต่มันจะเป็นไปเถิด เขาก็มากำหนดรู้จิต พอกำหนดเข้ามารู้จิตแล้วตัวเองก็หายไป พอหายไปแล้วจิตไปลอยเด่นสว่างไสวอยู่ แล้วมันก็มองลงมาดูร่างกายเดิม เห็นร่างกายเดิมเน่าเปื่อย ผุพัง สลายตัวไปหมด พอฟื้นขึ้นมาแล้ว โรคภัยไข้เจ็บเขาก็หาย ทั้ง ๆ ที่หมอบอกว่าจะตาย แต่เขาก็หาย จนกระทั่งเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านที่ประเทศไทยได้ เหตุการณ์อย่างนี้ก็มี

 

            ฉะนั้น  ถ้าหากว่าเราทำสมาธิภาวนา ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ จิตเปลี่ยนสภาพจากปกติสามัญธรรมดา เข้าไปสู่ความเป็นสมาธิเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราตายแล้ว ใครจะพูดว่าถ้าทำจิตให้เป็นสมาธิถึงขั้นอัปปนา  จนกระทั่งตัวหายได้ จะคุยว่าฉันเคยตายเล่น ๆ มาแล้วก็พูดได้ แล้วถ้าหากว่าใครทำสมาธิผ่านขั้นนี้บ่อย ๆ เขาจะรู้สึกว่าความตายไม่ใช่ของแปลก จะเห็นว่าตายนี่สบายที่สุด พระพุทธเจ้าว่า  มรณัมปิ  ทุกขัง  ความตายเป็นทุกข์  ในเมื่อถึงจุดแห่งความตายกันจริง ๆ อันนี้เอาความจริงที่เคยผ่านมาแล้วมาพูดกัน ผู้ที่ทำจิตให้เป็นสมาธิ จิตสงบ ละเอียด แต่ละครั้งคือตายแล้ว จะมองเห็นว่าความตายไม่มีทุกข์แต่จะทุกข์ก่อนที่จะถึงความตาย

 

            ถ้ามีใครถามว่า  มรณัมปิ  ทุกขัง   ความตายเป็นทุกข์มันเป็นทุกข์อย่างไร อาตมะก็ค้นคัมภีร์ อ่านคัมภีร์ อ่านโวหารของครูบาอาจารย์มาตั้งเยอะแยะว่าท่านผู้ใดอธิบายไว้ว่าความตายเป็นทุกข์อย่างไร  ก็มีแต่ว่าทุกข์เพราะจะจากพ่อจากแม่ จากลูกจากเมีย  จากทรัพย์สมบัติ   ทุกข์เพราะจะต้องทิ้งร่างกาย  มันก็เลยทุกข์เพราะความตายทุกข์เพราะจะจากต่างหาก  เพราะฉะนั้น  จึงพูดได้ว่าความตายมันไม่มีทุกข์ แต่มันทุกข์ได้เพราะก่อนที่จะตาย คนที่จะไม่ตายก็เป็นทุกข์ คนที่กำลังจะตายก็เป็นทุกข์   แต่ว่าตายแล้วหมดทุกข์ทันที  เรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนี้

 

            พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ชราปิ  ทุกขัง แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายก็เป็นทุกข์ แต่เมื่อถามกันจริง ๆ แล้ว ตายมันทุกข์อย่างไร  ทุกท่านจะต้องบอกว่าทุกข์เพราะจะต้องพลัดพรากจากสิ่งโน้นสิ่งนี้อะไรทำนองนี้ คำว่าทุกข์เพราะความตายก็ไม่มี เพราะฉะนั้นความตายจึงไม่เป็นทุกข์ ถ้าตายจริง ๆ ตายแล้วมันไม่มีรูปมีร่าง จะเอาทุกข์มาจากไหน คนเรานี่มีทุกข์เพราะมีร่างกาย มีสุขเพราะมีร่างกาย มีทุกข์เพราะมีร่างกายอันนี้ขอพูดที่ตรงนี้ก่อน  ก่อนที่จะจบ

 

 

            ตราบใดที่กายกับใจยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ เช่น อย่างรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ตากฎของเบญจขันธ์ รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ ถ้ารูปคือร่างกายยังปรากฎอยู่  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ ก็ปรากฎอยู่ แต่ถ้าหากรูปหายไปจากความรู้สึก เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ก็หายไป เพราะจิตไม่มีที่จะปรุงแล้ว ร่างกายหายไปหมดแล้ว เครื่องมือไม่มี จิตดวงนี้มีแต่นิ่งอย่างเดียวถ้าไม่มีตัว นิ่งอยู่เหมือนกับดวงไฟที่เรามองเห็นอยู่นี่ แต่ถ้าหากไปสวมสอดเข้าในร่างกายเมื่อไรแล้วจะแสดงปฏิกิริยาออกมาทันทีตามอารมณ์ที่มันผ่านเข้ามา พอไปสอดแทรกเข้าในร่างกาย กายมีตาก็ใช้ตามองดู เมื่อใช้ตามองดูแล้วก็ปรุงไปตามความรู้สึก ถ้าสิ่งใดที่ชอบใจก็ปรุงว่าสวยว่างาม อะไรที่ไม่ชอบใจก็ปรุงว่าขี้ริ้วขี้เหร่  เพราะมีตาดู ถ้าตาหายไปแล้วไม่มีที่จะมองดูรูป  ถ้าหูไม่มีก็ไม่มีสิ่งที่จะฟังเสียง เพราะฉะนั้น เมื่อกายหายไปแล้วยังเหลือแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ  นี่จะไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ถ้าใครทำถึงที่จุดนี้แล้ว จะรู้ทันทีว่า เราสุข เราทุกข์ เราดิ้นรน เราวุ่นวี่วุ่นวาย เพราะร่างกายอันนี้ ในเมื่อสลัดกายนี้ทิ้งออกไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดทุกข์  ถ้าหากว่าจิตดวงนี้มันสลัดออกจากกายไป ถ้ากิเลสหมดมันก็ไม่ต้องย้อนกลับมาสู่กายนี้อีก ก็ไปสู่พระนิพพาน

 

 

            ในทำนองเดียวกัน ในขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนานี่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เราจะรู้สึกว่ามันมีได้ในขณะที่กายปรากฎ ในเมื่อเรามีร่างกายอยู่ เราก็ภาวนาพุทโธ พุทโธ ๆ ได้ แต่ถ้าภาวนาพุทโธ ๆ แล้วกายหายไปหมดคำว่าพุทโธก็หายไป ในขณะที่เราภาวนา พุทโธ ๆ ๆ อยู่กายก็ยังมีอยู่ จิตก็ยังภาวนาพุทโธอยู่ ถ้าจิตของเราซึ้งในคำว่า  พุทโธ มันก็เกิดปีติ เกิดความสุข ถ้าหากว่ากายละเอียดลงไป แล้วกายหายไปจากความรู้สึก  วิตก  วิจาร  ปีติ  สุข  หายไปหมดเพราะมันไม่มีที่เกิด เพราะฉะนั้น  สุขเกิดที่กาย ทุกข์ก็เกิดที่กาย ความเดือดร้อนวุ่นวายทั้งหลายเกิดที่กาย พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณากาย

 

 

            การปฏิบัติธรรมนี่ ถ้ามีใครถามท่านว่าเอาอะไรเป็นหลัก  เอากายกับใจเป็นหลัก   ท่านทั้งหลายอาจจะไม่ได้เรียนคัมภีร์มา ไม่ได้ท่องแบบมา ไม่ได้จำบทต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติมา  แล้วเราจะปฏิบัติได้ไหมเช่นอย่างอภิธรรมเราก็ไม่รู้ พระสูตรเราก็ไม่จำ  พระวินัยก็รู้แต่เพียงศีล ๕  ภาวนาก็รู้แต่เพียง  พุทโธ  ยุบหนอ  พองหนอ   สัมมาอรหัง รู้กันเพียงแค่นี้ แล้วเรามีทางที่จะปฏิบัติได้ไหม

 

            เอากันอย่างนี้ดีกว่า  ถ้าเราทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า  คัมภีร์ธรรมนี้คือกายกับใจของเรา  ทีนี้วิธีปฏิบัติกับคัมภีร์ธรรมของเรานี่ ฝึกจิตให้มีสติ  รู้อยู่ที่การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ  เอากันอย่างนี้ก่อน เรื่องอื่นยังไม่พูดถึง เอากันเพียงแค่ว่าให้ฝึกจิตให้มีสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต  ทุกลมหายใจ ไม่ต้องไปพูดถึง จิต เจตสิก รูป นิพพานอะไรอันนั้นยกเอาไว้ก่อน พระสูตร พระวินัย  พระปรมัตถ์  ยกเอาไว้ก่อน ฝึกจิตให้มีสติ ให้รู้ทันการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อันเรื่องชีวิตประจำวันของเรานี่ให้เก่งขึ้น ๆ ให้คล่องตัวขึ้น จนกระทั่งรู้สึกว่าเราไม่ได้ตั้งใจที่จะกำหนดรู้อะไร  แต่จิตของเรานี้มีการตามรู้ไปเองเป็นอัตโนมัติ เราสามารถที่จะรู้ ยืน เดิน นั่ง  นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ขอถามหน่อยเถอะว่า เมื่อท่านภาวนาไปเห็นเทวดา เทวดาทำอะไรให้ท่านบ้าง เมื่อท่านภาวนาแล้วไปเห็นนรก  นรกเขาช่วยเหลืออะไรเราบ้าง เขาให้เงินให้ทองเรามาไหม แต่ถ้าเราภาวนาแล้วเราสามารถตามรู้ทันการยืน เดิน นั่ง  นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เราจะได้สติปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน

 

            ทุกข์  สุข  ที่ท่านสัมผัสรู้อยู่ในปัจจุบันนี้ เกิดจากอะไร เกิดจากการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่ใช่เกิดที่อื่น ที่นี้ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิดนี้ มันเป็นเรื่องของอะไร เรื่องของกายกับใจของเราเอง เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาฝึกสติให้รู้ทันอยู่กับสิ่งเหล่านี้ในปัจจุบัน  เราสามารถที่จะสร้างพลังงานทางสติ ทางสมาธิ สติปัญญาของเราจะคล่องแคล่วว่องไว นี่เอากันอย่างนี้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ท่องคัมภีร์มา  หลวงพ่อขอยืนยันว่าเอากันอย่างนี้

 

            เรียนหนังสือก็จบกันเพียงแค่ประโยค  ๔  จำได้ไม่เท่าไร พอไปพูดถึงเรื่องคัมภีร์อะไรขึ้นมานี่ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน นักปราชญ์ในเมืองไทยเรานี่ยิ่งรู้มากเท่าไรก็ยิ่งขัดคอกันเก่งยิ่งรู้มากยิ่งเถียงกัน แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ภาษาที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ให้เราพูดกันรู้เรื่องคืออะไร คือศีลถ้าเราพูดกันตามภาษาของศีลรู้เรื่องก็แสดงว่าเราเข้าใจในธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่การปฏิบัติธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านี่ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอา แต่ปฏิบัติเพื่อเสียสละ เราปฏิบัติศีลไม่ใช่ว่าจะหอบศีลเอาไว้ ปฏิบัติสมาธิหอบสมาธิเอาไว้ เจริญปัญญาหอบปัญญาเอาไว้  ถ้าหากว่าเราปฏิบัติเพื่อเอา อะไรก็เอา ๆ ๆ เอามา สะสมไว้ในใจนี่ก็เกิดปัญหาขึ้นมา ประเดี๋ยวศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร  ประเดี๋ยวก็มิจฉาทิฎฐิคืออะไรสัมมาทิฏฐิคืออะไร วุ่นวี่วุ่นวายไปหมด ฉะนั้น เรามาดูกันที่กายที่ใจของเรานี่ให้มีปัญญาแก้ปัญหาชีวิตประจำวันที่กายที่ใจของเราให้ได้ไม่ดีหรือ

 

            การพิจารณาธรรม ตื่นเช้าขึ้นมา ท่านเป็นผู้ครองเรือน แม่บ้านเพียงแต่ตั้งปัญหาว่า วันนี้สามีจะได้รับประทานอะไรหนอ ลูกเต้าจะได้รับประทานอะไรหนอ สิ่งที่จะได้มารับประทานนั้นเราได้มาจากไหน ถ้าคนมีปัญญาเราก็ต้องไปซื้อไปหามา ถ้าเราไปลักไปขโมยก็ผิดศีล  ๕  มันก็เกิดเป็นศีลเป็นธรรมขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำด้วยความมีสติสัมปะชัญญะ เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น 

 

            ฉะนั้น ถ้าท่านจะเป็นนักปฏิบัติธรรม อย่าไปยึดมั่นในวิธีการให้มากเกินไป หนังสือที่ท่านกำลังจับปากกาเขียนอยู่นั้นแหละ ทำสติจี้ลงให้ดี ให้มีสติอยู่กันที่ตรงนี้ท่านทำอะไรให้มีสติอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ นั่นคือแผนการฝึกสมาธิ เพราะฉะนั้น ที่ในคัมภีร์ท่านนั้น สาธุไม่ได้ลบหลู่ดูหมิ่นท่านหรอก ท่านพูดไว้ถูกหมดนะ ในคัมภีร์ท่านเขียนไว้ถูกหมด บางท่านนี่จับหนังสือคัมภีร์วิสุทธิมรรค  หลวงพ่อเคยเห็นกับตา จับคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาโยนเป๊ะ ! ใช้ไม่ได้ นี่ !  ถ้าหากว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรคใช้การไม่ได้ ไฉนจะดำรงอยู่ได้ถึง  ๒,๕๐๐  ปี  ตกลงว่า  การเรียนธรรมะตามแนวทางของพระพุทธศาสนานี่พวกเรามีอยู่อย่างนี้

            ๑.   รู้ขาด 

            ๒.   รู้เกิน  รู้พอดีนี่หายาก ทีนี้พวกที่รู้พอดีนี่รู้แล้วต้องแก้ปัญหาจิตใจของตัวเองได้ จึงจะได้ชื่อว่าสามารถเอาธรรมะมาปรับปรุงจิตใจหรือดัดแปลงจิตใจของเราให้มีแนวโน้มไปในทางบุญทางกุศล  ทางความสุขได้

 

            อาตมามีโอกาสไปประเทศออสเตรเลียเพียง  ๗ วัน ฝรั่งผู้ที่พอจะพูดภาษาไทยได้รู้เรื่อง เขาจะบอกว่าธรรมะในทางปริยัติ พระคุณเจ้าไม่จำเป็นต้องมาสอนก็ได้ พวกข้าพเจ้าเรียนมามากพอสมควร แต่ยังข้องใจอยู่ตรงที่ว่าทำอย่างไรหนอจึงจะเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุขที่จิตใจ สามารถแก้ไขปัญหาจิตใจของตัวเองได้ สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ นี่! มันลงอยู่ที่ตรงนี้เท่านั้น ถ้าพูดถึงว่าคัมภีร์พระไตรปิฏกนี่อ่านมาพอสมควร เขาว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ความรู้ในหลักธรรมะ ในศาสนาพุทธก็ดี ในศาสนาอื่นก็ดี หรือในสายวิชาความรู้ใด ๆ ก็ดี ที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่นี่ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นวิชาความรู้ วิชาความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นก็คือธรรมะ   ธรรมะ  อันเป็นประเภทสภาวธรรมพระท่านไม่สอน ท่านว่าให้พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร  วิญญาณ  ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าสมมติว่าท่านผู้นี้เรียนจบวิทยาศาสตร์มา ท่านผู้นี้เรียนจบรัฐศาสตร์  ท่านผู้นี้เรียนจบเศรษฐศาสตร์ ท่านผู้นี้เรียนจบครุศาสตร์  ถ้าเราจะไม่เอา อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา ตามที่พระท่านสอน คือ รูป เวทนา สัญญา  สังขาร  วิญญาณมาพิจารณา เราจะเอาวิชาความรู้ที่เราเรียนมาตามสายต่าง ๆ นั้นมาเป็นอารมณ์  มันจะไม่สามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้หรือ

 

            อาตมะว่ามีทางพอที่จะทำได้ เพราะเท่าที่สังเกตดูและได้ข้อมูลจากผู้ที่เขาภาวนาเป็นจริง ๆ  เขาบอกว่า ได้พิจารณา ผม ขน  เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก พอจิตสงบปุ๊บลงไป เรียนทางวิทยาศาสตร์โน่น รั้งก็ไม่อยู่ไปรบกวนมันก็ฟุ้งใหญ่ เลยต้องปล่อยให้มันค้นวิทยาศาสตร์ของมันไป นี่อันหนึ่งละ ทีนี้บางท่านใครเรียนมาทางไหน พอจิตสงบเป็นสมาธิลงไปแล้ว ตอนนั้นทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเป็นไปเอง เช่นอย่างสมมติว่าใครอาจจะนั่งสมาธิอยู่เวลานี้ พอจิตสงบปั๊บลงไป ตอนแรกก็ตั้งใจฟังหลวงพ่อเทศน์พอจิตสงบปั๊บลงไปแล้วจิตก็เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ มันดิ่งกลับไปตรวจดูบ้านช่อง ลูกคนโน้นอยู่อย่างไร ประตูหน้าต่างปิดดีหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ มันไปตรวจค้นของมันอยู่โน้น แต่ว่าตัวสตินี้ก็วิ่งตาม ๆ ๆ ไปสะกดรอยรู้ทันหมด เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นนักปฏิบัติธรรมเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงกันจริง ๆ เรื่องชีวิตประจำวันนี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติกำกับรู้อยู่ตลอดเวลา

 

            ถ้าสมมติว่าท่านเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนต่าง ๆ ถ้าท่านคิดว่าท่านจะสอนสมาธิของนักเรียนนักศึกษาของท่านโดยที่ไม่ให้เขารู้สึกตัว เราก็มีวิธีการ พอเข้าไปยืนหน้าห้องปั๊บ เตือนนักเรียนทุกคน นักเรียนทุกคนทอดสายตามายังข้าพเจ้า ส่งความรู้สึกมาที่ข้าพเจ้า สนใจในตัวข้าพเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น อย่าไปสนใจที่อื่น แล้วเรามีอะไรก็สอนไป ๆ พอรู้สึกว่านักเรียนของเราจะเผลอส่งใจไปอื่น ส่งสายตาไปอื่น เราเตือนเป็นระยะ ๆ จนกว่าจะจบชั่วโมงสอน ในทำนองนี้ เข้าใจว่านักศึกษาของเราจะได้สมาธิสนับสนุนการศึกษาอย่างไม่รู้ตัว อันนี้เรียกว่าฝึกสมาธิกันอย่างที่ผู้รับการฝึกไม่รู้ตัว ถ้าเราทั้งหลายที่ได้ฝึกสมาธิ รับการฝึกสมาธิอย่างที่ไม่รู้ตัวมาแล้วนี่ ถ้าท่านไม่มีสมาธิเรียนจบปริญญามาได้อย่างไร  ท่านจะทำงานใหญ่โตได้อย่างไร ครองบ้านครองเรือนได้อย่างไร อันนั้นสมาธิธรรมชาติที่เราเรียนมา ถ้าหากสมมติว่าเราตั้งใจมาฝึกสติให้มันรู้อยู่กับเรื่องธรรมชาติของเรานี้ให้มากที่สุดแล้ว รับรองว่าเราจะได้สมาธิ

 

            ทีนี้เรื่องการละบาป ละความชั่ว อะไรต่าง ๆ ศีล ๕ ข้อนี่มีแล้ว ไม่ต้องไปกังวล โลภ โกรธ หลง เอาไว้บ้าง เมื่อเช้านี่ได้ยินท่านกิตติวุฑโฒท่านเทศน์ ท่านบอกว่าเอาตัณหาปราบตัณหา ตัณหาความทะเยอทะยานมันเป็นกิเลสชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในจิตใจคน ในเมื่อจะปราบตัณหาเราก็เอาตัณหามาปราบตัณหา นี่หมายความว่าอย่างไร ความทะเยอทะยาน อยากได้  อยากดี  อยากมี  อยากเป็นเราพยายามเอาตัณหาของเรานี่ให้มันมาทะเยอทะยานอยากปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้ศีล  สมาธิ  ปัญญา มีพลังแก่กล้าขึ้น มันก็เป็นพลังขจัดตัณหาฝ่ายชั่ว นี่ท่านหมายความว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เอากิเลสปราบกิเลส โลภ โกรธ หลง เรามีอยู่ในใจ เรามาฟังเทศน์เวลานี้เพราะความโลภ อยากได้ศีลได้ธรรม เรานั่งปฏิบัติเพราะความโลภ อยากได้สมาธิ เราใช้สติปัญญาค้นคิดพิจารณา เพราะความโลภอยากได้ปัญญา  เมื่อใช้พลังแห่งความโลภแสวงหาพลังของศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นที่จิตของเราพร้อม  มันก็มีประสิทธิภาพ สามารถที่จะขจัดความโลภฝ่ายชั่วออกไปจากจิตใจได้อย่างไม่มีปัญหา  เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับเรื่องสมาธิโดยตรง ถ้าเราจะละชั่ว ให้เคร่งในศีล ๕ ข้อ ถ้าเราจะปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดมีสมาธิ เกิดมีปัญญา ต้องมั่นใจ ทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้  ทำสติให้มีสิ่งระลึก อารมณ์สิ่งรู้ของจิต  คือ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติตามรู้กับสิ่งเหล่านี้ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจแล้วเมื่อเราฝึกจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ เราจะได้พลังทางสมาธิ สติปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันของเราได้เป็นอย่างดี

 

            ในท้ายที่สุดนี้  ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงดลบันดาลให้ทุกท่านประสบความสำเร็จใจสิ่งที่พึงปรารถนา ในที่ทุกสถาน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ.


 
        
Last Updated on Tuesday, 15 September 2009 06:51
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner