คำสั่งของพระพุทธองค์ คือ ศีล |
Thursday, 23 April 2009 14:09 | |
เมื่อพูดถึงธรรมะคือ คำสอน หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง วันนี้พุทธบริษัททั้งหลายมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมในทางด้านจิต การปฏิบัติธรรมในทางด้านจิตนั้น เราจะต้องเริ่มต้นด้วยทำตนเป็นผู้มีศีล ศีลนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นคุณธรรมอันเป็นภาคพื้นเป็นการปรับกาย วาจา และใจ ให้อยู่ในสภาพปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลห้า อันเป็นศีลที่ฆราวาสทั่ว ๆ ไปพึงสมาทานปฏิบัติ ศีลห้าเป็นศีลหลักใหญ่ และเป็นศีลที่สำคัญ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็รวมลงอยู่ในศีลห้าข้อนี้ จะเป็นผู้ใดก็ตาม ในเมื่อมาตั้งใจสมาทานรักษาศีลห้าข้อ เมื่อทำศีลห้าให้บริสุทธิ์แล้ว และตั้งใจทำสมาธิภาวนา ก็สามารถจะทำจิตให้สงบรู้ซึ้งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง ไม่เฉพาะแต่เท่านั้น ยังสามารถให้บรรลุ มรรคผล นิพพานได้ ยกตัวอย่างเช่น อุบาสก อุบาสิกา ในอดีตสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็มีหลายท่าน เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา ท่านอนาถบิณฆิกะมหาเศรษฐี ท่านก็เป็นผู้ครองเหย้าครองเรือน แล้วก็มีศีลเพียงห้าข้อเท่านั้น แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติธรรม จนได้บรรลุโสดาบัน คนในสมัยปัจจุบันนี้ มีเพียงแค่ศีลห้า ก็ยังถือว่ายังน้อยหน้าต่ำตา ศีลของเราไม่มาก บางคนก็สงสัยว่ามีศีลห้าไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ อันนี้เป็นการเข้าใจผิด ความจริงศีลห้าข้อนี้ เป็นศีลที่กำจัดบาปกรรม หรือเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรม ที่เราจะพึงทำด้วย กาย วาจา เช่น ปาณาติบาต การเว้นจากการฆ่าสัตว์ อทินนาทาน เว้นจากการหยิบสิ่งของที่เขาไม่อนุญาต กาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากการประพฤติผิดในกาม มุสาวาท พูดเท็จ สุรา ดื่มของมึนเมา ถ้าใครสมาทานรักษาศีลห้าข้อนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ได้ชื่อว่า เป็นการตัดผลเพิ่มของบาป บาปกรรมที่เราทำ ที่จะต้องไปเสวยผลคือ ไปตกนรก หรือไปทรมานในสถานที่หาความเจริญมิได้นั้น มีแต่การละเมิดศีลห้าข้อเท่านั้น ส่วนอื่นซึ่งเราทำลงไปแม้จะเป็นบาปอยู่บ้าง ก็เป็นแต่เพียงความมัวหมองภายในจิตใจเท่านั้น แต่ถ้าใครมีศีลห้าบริสุทธิ์บริบูรณ์ มีหวังที่จะทำสมาธิ ปฏิบัติธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่สามารถจะมีศีลมาก ๆ ขึ้นไปกว่านั้น ก็อย่าพึงทำความน้อยอกน้อยใจว่า ศีลเราน้อยเหลือเกิน กลัวว่าจะไม่ถึงนิพพาน อันนั้นเป็นการเข้าใจผิด ก่อนที่เราจะเพิ่มศีลของตัวเองให้มากขึ้นไปนั้น เราจะต้องพิจารณาถึงสมรรถภาพของตัวเองว่า เราสามารถจะปฏิบัติและรักษาศีลให้มาก ๆ ได้หรือไม่ ถ้าเรายังไม่มีสมรรถภาพพอที่จะรักษาศีลมาก ๆ ได้ ก็ให้มั่นคงแต่เพียงในศีลห้าเท่านั้น ฆราวาสโดยทั่วไป มีแต่เพียงศีลห้า เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม มุสาวาท เว้นการเสพสุรา เรายังประดับตกแต่งด้วยเครื่องหอม เครื่องย้อม เครื่องทาได้ ดูหนัง ดูละคร หรือ ประโคมขับดนตรีก็ได้ นอนบนที่นอน ที่สูง ที่ใหญ่ ก็ได้ ไม่ผิดศีล แต่ถ้าเราไปเพิ่มข้อ วิกาลโภชนาเข้าไป แต่ว่าอดข้าวเย็นไม่ได้ เพิ่มข้อ มาลา เข้าไป แต่ว่าเว้นจากการประดับตกแต่งไม่ได้ เพิ่มข้อ นัจจคีตะ เข้าไป แต่ว่าเว้นดูละคร ดนตรีไม่ได้ เพิ่มข้อ อุจจาสยนะ เข้าไป แต่ก็พอใจในที่นอนที่สูงที่ใหญ่ เราก็รักษาไม่ได้ เป็นการหาเรื่องเพิ่มบาปให้ตนเองโดยไม่มีเหตุผล การที่ตั้งใจรักษาศีลให้มากๆ นั้น เราต้องดูสมรรถภาพของตนเอง เมื่อเรามีศีลห้าบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ตั้งใจทำสมาธิบำเพ็ญเพียรภาวนาไป เมื่อเราภาวนาเป็นแล้ว ศีลก็จะเพิ่มขึ้นเอง ไม่เฉพาะศีล ๘ ศีล ๑๐ เท่านั้น เมื่อมีศีลห้า มีสมาธิ มีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม สามารถทำจิตให้อยู่ในสภาพปกติได้นั่นแหละ จะเป็นอุบายเพิ่มศีลเข้าไป อย่าว่าแต่ศีล ๒๒๗ ข้อเลย ต่อให้เป็นหมื่น ๆ ข้อ แสนข้อ ก็เพิ่มได้ ถ้าพื้นฐานของจิตใจดีแล้ว
|