สะอาดแต่ไม่บริสุทธิ์ โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ณ โอกาสนี้ เป็นเวลาที่จะได้บรรยายธรรมและฟังธรรม การฟังธรรมก็ดี การบรรยายธรรมก็ดี เป็นการปฏิบัติสมาธิอีกประเภทหนึ่ง เพราะผู้บรรยายธรรมก็ต้องมีสติควบคุมจิตคอยรักษาคำพูด สำนวนคำพูดให้เหมาะกับจริตของผู้ฟัง ผู้ฟังก็ตั้งใจจดจ่อ มีสติกำหนดรู้จิต โดยเอาเสียงแห่งการแสดงธรรมเป็นอารมณ์ของจิต เป็นสิ่งรู้ของจิตสิ่งระลึกของสติ โสตทวาร ทวารคือหู ประตูคือหู เป็นช่องทางเข้าออกของอารมณ์ช่องหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าโสตทวาร สิ่งที่มาสัมผัสกับประสาททางหูคือเสียง เมื่อผู้ฟังมีสติกำหนดรู้จิตเสียงเข้ามามีสติรู้ ได้ชื่อว่าเอาเสียงเป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ ทางเข้า – ออก ของอารมณ์มีอยู่ ๕ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเครื่องมือเป็นเครื่องใช้ของจิต ซึ่งโดยธรรมชาติของจิตแล้ว เขาไม่มีร่างกายตัวตน เป็นแต่เพียงความรู้สึก รู้นึกรู้คิด ในขณะที่มีกายเป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้น เครื่องมือสื่อสารกับโลกภายนอกของจิต คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจนี่แหละ เป็นที่เกิดของอารมณ์และกิเลสทั้งหลาย
เมื่อตามองเห็นรูป ถ้าหากว่าจิตอ่อนสติ หรือสติอ่อนรู้ไม่ทัน เผลอเกิดความยินดีก็เป็นกามตัณหา เกิดความยินร้ายก็เป็นวิภวตัณหา ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นในความยินดียินร้ายก็เป็นภวตัณหา สิ่งที่ผ่านเข้ามาทาง หู จมูก กายและใจ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมาสัมผัสกับจมูก ลิ้น กายและใจ ถ้าเกิดความยินดียินร้ายก็เป็นกิเลส ยินดีก็กามตัณหา ยินร้ายก็วิภวตัณหา ยึดมั่นในสิ่งนั้นก็ภวตัณหา
เมื่อจิตมีความรู้สึกว่ามีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อยู่พร้อม เขาก็ย่อมมีความยินดียินร้าย ถ้าสิ่งที่พอใจยินดี ก็มีความทะเยอทะยานอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น แต่สิ่งใดที่ไม่พอใจ เกิดความยินร้าย ก็ทะเยอทะยานอยากจะให้พ้นไป หรือหนีให้พ้น ในเมื่อไม่สมหวังหรือหนีไม่พ้นก็เป็นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดเพราะตัณหาคือทุกขอริยสัจ ทุกขอริยสัจ นี่หมายถึงทุกข์ใจ ทุกข์ที่เกิดกับใจ เป็นทุกข์ที่มีใจเป็นผู้รับรู้ แต่ว่าทุกข์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ตามธรรมชาติของจิต ถ้าหากว่ามีแต่จิตดวงเดียวไม่มีกาย ไม่เห็นจะมีอะไรเป็นทุกข์ เช่นอย่างผู้ที่ทำสมาธิจิตสงบเป็นอัปปนาสมาธิ จนกระทั่งรู้สึกว่ากายหายไปยังเหลือแต่จิตดวงเดียวลอยเด่นอยู่ในท่ามกลางแห่งความว่าง สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี ความยินดีไม่มี ความยินร้ายไม่มี แม้แต่จะไปมีความคิดความอ่านก็ไม่มี เพราะไม่มีประสาททางกายช่วยให้เกิดความคิดอ่าน หรือไม่มีส่วนที่จะช่วยให้เกิดความดีความร้าย
ในเมื่อเรามาพิจารณากันดูให้ซึ้ง ความทุกข์ที่มีอยู่ในโลกนี้ ที่เราเสวยอยู่ เพราะเรามีกาย ถ้าหากเราไม่มีกาย มีแต่จิตวิญญาณดวงเดียว ความสุขก็ไม่มี ความทุกข์ก็ไม่มี ความยินดีไม่มี ความยินร้ายไม่มี มีแต่ความว่างเปล่า จะว่าสุขก็ไม่ใช่ จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ มันเป็นกลาง ๆ อันนี้คือความเป็นจริงของจิตแท้ จิตดั้งเดิม จิตที่ไปอยู่นิ่ง ๆ ว่าง ๆ
ปภัสสรมิทัง ภิกขเว จิตตัง โดยธรรมชาติของจิตดั้งเดิมเป็นธรรมชาติประภัสสร แต่อย่าไปเข้าใจว่าจิตประภัสสรคือจิตหมดกิเลสถึงพระนิพพาน ไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นจิตสะอาด เพียงแค่สะอาด ไม่ถึงความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง เหมือนกับผ้าสีขาว เรามองดูแล้วมันเป็นผ้าสะอาดเพราะมันเป็นสีขาว ไม่ถูกต้องด้วยฝุ่นละอองหรือสี มันก็ยังทรงเป็นผ้าสีขาวของมันอยู่อย่างนั้น จิตของคนเราก็เหมือนกัน ดั้งเดิมก็เป็นจิตที่เป็นสีขาว แต่ในบางครั้งจะมัวหมองขุ่นมัวเพราะอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปปรุงแต่งจิต ให้มีความยินดี ยินร้าย จึงเกิดความมัวหมอง เกิดความเศร้า เกิดความไม่สะอาด แล้วก็แสดงปฏิกิริยาออกไป ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง แล้วก็เป็นทุกข์ อันนี้ในขณะที่กายมาปรากฏ แต่ถ้าหากว่าจิตไม่มีกายก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้
เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่เรามีอุบายครูบาอาจารย์ หรือพระพุทธเจ้ามีอุบายวิธีให้เราปฏิบัติหลายแบบหลายอย่าง เฉพาะแต่สมถกรรมฐานอย่างเดียวมีถึง ๔๐ แบบทั้งนี้ก็เพื่อให้นักปฏิบัติทำจิตให้สงบนิ่งเป็นสมาธิ ถึงจุดที่ไม่มีอารมณ์จิต มีแต่จิตนิ่ง สว่างไสวอยู่ รู้ตื่น เบิกบาน ก็เพื่อที่จะให้เรารู้ว่า จิตแท้ จิตดั้งเดิมของเรานั้นเป็นอย่างไร ในเมื่อเราได้รู้ความเป็นจริงของจิตแท้ จิตดั้งเดิม เราก็จะได้ความรู้ว่าจิตเก่าแก่แท้ดั้งเดิมของเรานั้นเป็นจิตที่ประภัสสร เป็นจิตที่เป็นปกติ เป็นจิตที่ค่อนข้างจะสะอาด แต่ไม่ถึงบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง ที่ว่าไม่บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงนั้น ก็เพราะเหตุว่ามันไปสะอาดบริสุทธิ์เฉพาะในขณะที่อยู่ในสมาธิ ที่ไม่มีอารมณ์ ไม่มีร่างกายตัวตน แต่เมื่อออกมาจากสมาธิมาแล้ว มามีตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มันก็สร้างความยินดียินร้ายไปตามอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา จึงทำให้จิตเศร้าหมองบ้างผ่องแผ้วบ้าง สลับกันไปเป็นช่วงๆ
ในสมัยโบราณ พวกฤาษีชีไพรทั้งหลายเขาบำเพ็ญสมาธิภาวนาได้ฌานสมาบัติ ๘ จิตที่อยู่ในสมาบัติ ๘ ตั้งแต่ขั้นจตุตถฌานขึ้นไปจะรู้สึกว่าไม่มีร่างกายตนตัวปรากฏผู้ทำสมาธิภาวนาได้ฌาน ถ้าไปหลงติดความว่างในสมาธิในฌาน ก็ไปสำคัญว่าตัวได้สำเร็จพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วไปชะล่าใจว่า ในเมื่อเราใกล้จะตาย เรารีบกำหนดจิตเข้าสู่สมาธิ ทำจิตให้ดำเนินไปตามขั้นตอนของฌาน เมื่อตายไปแล้วก็สำเร็จพระนิพพาน ส่วนใหญ่พวกฤาษีเขาเข้าใจกันดังนี้ อันนั้นเป็นสมาธิตามแนวทางของพวกฤาษีที่บำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าบ้างเป็นพระอรหันต์บ้าง มุ่งแต่ความสงบ มุ่งแต่อิทธิฤทธิ์ มุ่งแต่ความเก่ง มุ่งแต่ความรู้ความเห็นในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งตามนุษย์ธรรมดาไม่สามารถที่จะมองเห็นได้
เมื่อพระพุทธเจ้าได้มาตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงจัดเจนในเรื่องของสมาธิ พระองค์จึงได้บัญญัติสมาธิที่เป็นไปตามแนวทางของฌานสมาบัติว่าอารัมมณูปนิชฌาน คือเมื่อจิตสงบแล้วไปรู้อยู่สิ่ง ๆ เดียว ความรู้ไม่ปรากฏ สบายดีเหมือนกัน แต่เสร็จแล้วสมาธิในระดับฌานสมาบัตินี้เป็นสมาธิแค่ขั้นโลกีย์เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นโลกุตตระ อย่างดีผู้สำเร็จในขั้นนี้ก็ไปเกิดเป็นพระพรหม ตั้งแต่ปฐมฌานจนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ถ้าฌานไม่เสื่อมสมาธิไม่เสื่อม ตายแล้วไปเกิดเป็นพระพรหม มีอายุยืน ตั้งหลายกัปหลายกัลป์ ถ่วงเวลาที่บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้อันนี้เป็นสมาธิที่ยังไม่เข้าทางแห่งอริยมรรคอริยผล
ส่วนสมาธิที่เข้าในทางแห่งอริยมรรค แห่งอริยผลหมายถึงลักขณูปนิชฌาน เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ความสงบของจิตก็มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เช่นเดียวกันกับสมาธิในฌานสมาบัติ แต่เมื่อจิตเป็นสมาธิในแนวทางอริยมรรคอริยผล เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว ในขั้นต้นก็อาจจะมีความสงบเข้าไปสู่ฌานที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ในแนวเดียวกันกับฌานสมาบัติ แต่ว่ามันมีทางแยก
สมาธิตามแนวทางอริยมรรคจะแยกไปแต่สมาธิเบื้องต้น ท่านผู้ปฏิบัติลองสังเกตดูให้ดี เช่นอย่างเราบริกรรมภาวนาพุทโธเป็นต้น เมื่อบริกรรมภาวนาไป พอรู้สึกว่าจิตมีอาการเคลิ้ม ๆ จิตหยุดบริกรรมภาวนา แล้วความคิดอื่นเกิดขึ้นนอกจากบริกรรมภาวนา ลักษณะอย่างนี้เรียกว่าจิตกำลังจะเดินเข้าสู่อารัมมณูปนิชฌาน
ในบางครั้งนักปฏิบัติทำสมาธิให้ได้ถึงอัปปนาสมาธิ ภาวนาพุทโธทีไรจิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิทุกที แล้วไปนิ่งอยู่ในอัปปนาสมาธิเป็นเวลานาน ๆ หลาย ๆ ชั่วโมง แต่ภายหลังเรามาภาวนาพุทโธ ๆ เพียง ๒ - ๓ คำ จิตก็วูบลงไปนิดหนึ่ง แล้วก็เกิดความรู้ขึ้นมา ฟุ้ง ๆ ขึ้นมายังกับน้ำพุ ถ้าจิตของท่านผู้ใดเป็นไปอย่างนี้ กำลังจะก้าวขึ้นสู่ลักขณูปนิชฌาน จิตสงบแล้วมีความคิดอ่านเกิดขึ้น
ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจผิด ปล่อยให้จิตคิดไปตามธรรมชาติของจิต และมีสติกำหนดตามรู้อารมณ์จิตไป บางทีเราอาจท้าทายว่า เธอจะคิดไปถึงไหน ฉันจะตามดูเธอแล้วก็ปล่อยให้คิดไปตามธรรมชาติ ความคิด ความเข้าใจ อันนี้อาจจะขัดกับความรู้สึกของท่านผู้ฟัง เพราะส่วนใหญ่เราจะได้รับคำแนะนำตักเตือนว่า เมื่อภาวนาพุทโธอยู่ ถ้าจิตนิ่งอยู่กับพุทโธก็ปล่อยให้อยู่ไป แต่ถ้าจิตทิ้งพุทโธไปคิดอย่างอื่น พอรู้ตัวให้ดึงกลับมาหาพุทโธอีก นี่เราจะได้ยินครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ แต่วันนี้ท่านมาได้ยินว่า เมื่อจิตของท่านอยู่กับพุทโธ ปล่อยให้มันอยู่ไป แต่จิตทิ้งพุทโธไปคิดอย่างอื่นปล่อยให้มันคิดไป เดี๋ยวท่านก็จะคิดว่าเอาอะไรมาพูด
เท่าที่นำเรื่องนี้มาพูดซ้ำอีกทีหนึ่งก็เพราะเหตุว่ายังมีหลาย ๆ ท่านที่ทำสมาธิภาวนาจิตสงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิแต่เมื่อภายหลังพอบริกรรมภาวนาหรือกำหนดจิตเพียงนิดหน่อย จิตจะสงบวูบลงเป็นสมาธิ แล้วความคิดจะฟุ้ง ๆ ๆ ขึ้นมา ไปพยายามห้ามไม่ให้มันคิด ไปดึงมันมาหาพุทโธอีก มันก็ไม่ยอมอยู่ หนัก ๆ เข้านอกจากจะไม่ยอมอยู่แล้วยังทำให้รู้สึกเกิดความตึงเครียด ทำให้ปวดศีรษะคล้าย ๆ กับจะเป็นโรคประสาท ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเราไปขัดขวางธรรมชาติของสมาธิ เพราะได้กล่าวแล้วว่าสมาธิมีอยู่ ๒ อย่าง อารัมมณูปนิชฌาน จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิ รู้ที่จิตเพียงอย่างเดียว ความรู้อื่นไม่ได้เกิดขึ้น อีกอย่างหนึ่ง ลักขณูปนิชฌาน เมื่อจิตสงบแล้ว ความรู้ ความคิดอ่านเกิดขึ้นอย่างกับน้ำพุ ทีนี้ถ้าหากว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาไม่เข้าใจผิด ปล่อยให้มันคิดไปตามธรรมชาติของมัน แต่เรามีสติกำหนดรู้ตามความคิดนั้นไป จิตคิดไปถึงไหน คิดเรื่องอะไร คิดเรื่องบุญ คิดเรื่องบาป คิดเรื่องกุศล เรื่องอกุศลปล่อยให้คิดไป บางท่านอาจจะคิดว่า ถ้าเกิดไปคิดถึงเรื่องบาป ทำบาปทำกรรม กลัวว่าจะเกิดเป็นบาปเป็นกรรมขึ้น ความจริงสิ่งที่สำเร็จเป็นมโนกรรมนั้น เราต้องมีเจตนาคือความตั้งใจจะคิด แต่ถ้าอยู่ ๆแล้วจิตไปคิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ตั้งใจมันไม่สำเร็จเป็นมโนกรรม ดังนั้น เมื่อจิตของท่านคิดอะไรขึ้นมา ปล่อยให้คิดไป เอาความคิดเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ
ทีนี้ถ้าหากว่าสติของเราไปกำหนดจดจ้องรู้อยู่ที่ความคิดที่เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป โดยไม่สนใจกับสิ่งอื่น รู้แต่ความคิดอย่างเดียว มันก็กลายเป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรียกว่าเจริญจิตตานุปัสสนา คือ จิตกำหนดเอาความคิดเป็นอารมณ์
ในบางครั้งที่เรากำหนดรู้อารมณ์จิตไปเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ความคิดนั้นอาจจะมายั่วให้เราเกิดความพอใจ ไม่พอใจ แล้วก็เกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นมาเมื่อจิตมีสติกำหนดรู้ รู้ที่เวทนา ก็เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ถ้าจิตไปกำหนดหมายรู้เรื่องแห่งความคิด ซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล ก็เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เรามีความคิดได้เพราะเรามีกาย อาศัยกายเป็นเครื่องมือ ความรู้ว่ามีกายก็เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
บางทีเราอาจจะได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ในขณะจิตเดียวพร้อมกันไป เพราะเมื่อจิตรู้ว่ามีกาย ก็คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้ว่ามีความคิด ก็จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้ว่าความคิดทำให้สุขหรือทุกข์ ก็เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้ว่าจิตคิดเรื่องบาปเรื่องบุญ เรื่องคุณเรื่องโทษ เรื่องประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การปฏิบัติที่ท่านแบ่งภาคเอาไว้ ท่านพูดถึงเรื่องกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก่อน แล้วก็มาเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยลำดับ เหมือนว่าทำให้คล่องตัวชำนิชำนาญแต่ละอย่าง ๆ แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพียงแต่เรามีสติกำหนดรู้จิตของเราเพียงอย่างเดียว แม้แต่ความรู้สึก ความคิดที่ยังหยาบๆ เราก็สามารถรู้ว่าเรามีกาย สามารถรู้ว่าเรามีความคิด สามารถรู้ว่าเรามีสุข มีทุกข์ สามารถรู้ว่าจิตของเราสงบหรือไม่สงบ ความสงบของจิตมีอยู่ ๒ ขั้นตอนเหมือนกัน อย่างหนึ่ง ผู้ปฏิบัติน้อมจิตให้เกิดความสงบหรือน้อมจิตให้ผูกอยู่กับอารมณ์เดียว เพียงแต่จิตหยุดคิด หยุดความวุ่นวาย ไปรู้ในสิ่ง ๆ เดียว แต่หากว่าความตั้งใจที่จะควบคุมจิตให้รู้อยู่ในสิ่ง ๆ เดียวยังไม่หมดไป แต่สามารถทำจิตให้สงบได้ อันนี้ก็เป็นเพียงความสงบ ยังไม่ใช่สมาธิ สมาธิจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อผ่านความสงบไปแล้ว เมื่อจิตเกิดมีความสงบ สมาธิดิ่งลงไป เกิดมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง มีความสว่างไสว จิตปฏิวัติตัวไปตามขั้นตอนของสมาธิ จิตจะอยู่ในฌานที่ ๑ จะเป็นไปเอง จะก้าวขึ้นสู่ฌานที่ ๒ ก็เป็นไปเอง จะก้าวขึ้นสู่ฌานที่ ๓ ที่ ๔ หรือไปถึงสมาบัติ ๘ ก็เป็นไปเอง
ในเมื่อสมาธิตามธรรมชาติเกิดขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติไม่มีสิทธิที่จะไปน้อมจิตให้มันเป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ ถ้ายังน้อมจิตน้อมใจ ยังตั้งใจได้อยู่ มันก็ไม่ใช่สมาธิโดยธรรมชาติ เป็นแต่เพียงว่าเราแต่งให้จิตสงบได้ แล้วก็น้อมไปนึกถึงขั้นของฌานนั้น ๆ ว่ามีลักษณะนั้น ๆ โดยเอาสัญญาความจำเข้าไปปรุงแต่งสมาธิและฌานของเราให้เป็นไปตามขั้นตอน แต่เป็นเพียงสมาธิหรือฌานที่เราตกแต่งเอา มันยังไม่ใช่ของจริง ในเมื่อเราภาวนาทำสมาธิที่ยังไม่ใช่ ไม่ถึงของจริง หรือไม่รู้ของจริง สมาธิยังไม่เป็นเองโดยธรรมชาติ เราจึงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาจิตของเราให้ตกไปได้ บางทียิ่งทำสมาธิเก่งเท่าไรยิ่งทำให้เกิดทิฐิมานะมากขึ้นเท่านั้น อันนั้นมันยังใช้การไม่ได้ เพราะฉะนั้น หลวงปู่เสาร์ท่านจึงเตือนลูกศิษย์ลูกหาเสมอว่า ให้รีบเร่งภาวนาเข้า ให้มันถึงความเป็นเอง คำว่า “ ถึงความเป็นเอง “ นี่ จิตจะสงบเป็นสมาธิก็เป็นไปเองโดยธรรมชาติ จิตจะเกิดภูมิความรู้ก็รู้ขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ จิตจะแยกตัวออกจากอารมณ์ก็เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจจะไปตกไปแต่งหรือไปแยกแยะเอาเอง ที่เราตั้งใจตกแต่งแยกแยะมันเป็นแต่เพียงภาคปฏิบัติเท่านั้น ปฏิบัติเพื่อนำจิตเข้าไปสู่ความเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายพึงสังเกตให้รู้ความเป็นไปของจิตของตนเอง
สมาธินี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในขณะที่เรานั่งหลับตาเท่านั้น มันสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ แม้ว่าเราปฏิบัติสมาธิวันนี้จิตไม่สงบเลย มีแต่ความเดือดร้อน ฟุ้งซ่าน รำคาญ แล้วเราก็เข้าใจว่าเราปฏิบัติไม่ได้ผลเพราะจิตไม่สงบ แต่เมื่อเราลงมือปฏิบัติแล้ว จิตจะสงบหรือไม่สงบก็ตาม จะไร้ผลหรือไม่มีผลซึ่งเกิดจากการปฏิบัตินั้นเป็นไปไม่ได้
เมื่อเราทำสมาธิภาวนาจิตไม่สงบ เราก็ได้ความรู้ว่าทำสมาธิวันนี้จิตไม่สงบ แม้ว่าจิตจะไม่สงบ แต่เราจะได้พลังทางสติเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่จิตไม่สงบนั่นแหละ มันจะสร้างพลังงานของมันไว้ทีละน้อย ๆ ในเมื่อมีพลังพร้อมขึ้นมาเมื่อไร เขาจะสงบเมื่อไร เขาก็จะเกิดความสงบขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น ท่านอาจารย์เสาร์ท่านจึงว่ารีบเร่งภาวนาให้มันถึงความเป็นเอง สมาธิที่เป็นเองนั้นเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ในบางครั้งได้ยินเสียงเขาด่ามา พอได้ยินปั๊บ แทนที่มันจะไปยุ่งอยู่กับเรื่องเขาด่า มันจะวิ่งเข้าที่สงบของมัน อันนั้นหมายถึงสมาธิที่เป็นเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายอย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าสมาธิเราต้องนั่งหลับตาแต่เพียงอย่างเดียว แม้แต่ว่าเราฝึกสติให้รู้พร้อมอยู่กับการ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ ก็ได้ชื่อว่าเป็นการฝึกสมาธิ ปฏิบัติสมาธิอยู่ตลอดเวลา
ถ้าหากเราจะไปถือเอาเพียงแค่ว่าเวลานั่งสมาธิหลับตาจึงจะได้ชื่อว่าปฏิบัติสมาธิ เมื่อออกจากที่นั่งหลับตาสมาธิมาแล้ว เราไม่มีสติสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มันก็ไม่คุ้มค่า เพราะวันหนึ่งเราอาจจะมีเวลานั่งสมาธิไม่ถึง ๔ ชั่วโมง นั่งกันเพียง ๓๐ นาที เพียงชั่วโมงเดียว ไปเอาความสงบแต่ในขณะนั่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อออกมาแล้วปล่อยจิตปล่อยใจให้เป็นไปตามบุญตามกรรม ไม่มีการสำรวมสติสัมปชัญญะ มันก็ไม่คุ้มค่า ดังนั้น การฝึกสมาธิ ปฏิบัติสมาธินี่ เราจะอยู่ในอิริยาบถใด เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเราอยู่ ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติสมาธิทั้งนั้น อย่าไปเข้าใจในเรื่องของสมาธิอยู่ในวงแคบจนเกินไป
ทีนี้บางทีบางครั้งเราก็อาจจะไปขัดกันเกี่ยวกับลัทธิวิธีการปฏิบัติสมาธิ ความจริงเรื่องของสมาธินี่ ใครจะปฏิบัติแบบไหนอย่างไรก็ตาม เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้วจะมีแนวโน้มเป็นอย่างเดียวกันหมด อย่าว่าแต่คนในพระพุทธศาสนา คนในศาสนาอื่นปฏิบัติสมาธิ เมื่อจิตสงบแล้วจะต้องมีแนวโน้มเป็นอย่างเดียวกันหมด
เช่นอย่างเมื่อไม่นานมานี้ อาตมะก็ได้ข้อมูลที่จะนำมาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟังเพื่อเป็นแนวทางพิจารณา โรงเรียนอัสสัมชัญเขานำเด็กนักเรียนมัธยม ระดับ ม. ๔ ม. ๕ ไปฝึกสมาธิที่วัดวะภูแก้ว อำเภอสูงเนิน เด็กที่ไปฝึกสมาธินั้นมีทั้งเด็กชาวคริสต์ เด็กชาวพุทธ หรือบางทีอาจจะมีเด็กอิสลามปนไปด้วย พอถึงเวลาจะปฏิบัติสมาธิก็มีการไหว้พระสวดมนต์กันตามขนบธรรมเนียม แล้วมีการกราบ มีการไหว้ แล้วก็มีการสวดมนต์ ก่อนอื่นก็ให้คำเตือนเด็ก ๆ ทั้งหลายว่า พระเจ้าของแต่ละบุคคลอยู่ที่ใจของตน ๆ ถ้าผู้ใดมีพระเจ้าอยู่ในใจ กราบลงที่ใดก็ถูกพระเจ้าของตัวเอง เด็กกราบหมดทุกคน ทีนี้พอถึงเวลาสวดมนต์ เอ้า ชาวพุทธสวด อิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน ชาวคริสต์สวดมนต์ตามแบบฉบับของศาสนาของตนเอง ทีนี้ชาวพุทธเราก็สวดอิติปิโส ของเขาก็สวดตามสูตรของเขา สวดไปที่ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้างตามที่เขาเรียนมา พอถึงเวลานั่งสมาธิภาวนา ชาวพุทธภาวนาพุทโธ ชาวคริสต์ภาวนานึกถึงพระเจ้าของตัวเอง แล้วเด็กทุกคนก็นั่งสมาธิร่วมกัน ทั้งเด็กชาวพุทธ ชาวคริสต์ พอปฏิบัติสมาธิผ่านไปประมาณชั่วโมงเศษ ๆ พอสั่งให้พัก เด็กชาวพุทธกับเด็กชาวคริสต์ก็หันหน้าเข้ามาคุยกัน แล้วมาถามกันว่า เธอภาวนาระลึกถึงพระเจ้าของเธอจิตของเธอเป็นอย่างไรบ้าง เด็กชาวพุทธถามเด็กชาวคริสต์เขาก็บอกว่าฉันภาวนานึกถึงผู้แทนพระเจ้าของเรา คือพระเยซู ฉันก็บริกรรมภาวนาเยซู ๆ ๆ พอบริกรรมภาวนาไปมันมีอาการเคลิ้ม ๆ เหมือนกับจะง่วงนอน เสร็จแล้วจิตก็วูบลงไปนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน มีความสุข ความสบาย มีปีติ กายเบาจิตเบา กายสงบ จิตสงบ มีปีติ มีความสุข อย่างบอกไม่ถูก ซึ่งในชีวิตไม่เคยพบกับความสงบและความสุขอย่างนี้เลยแล้วเธอล่ะ เธอเป็นชาวพุทธ เธอภาวนาอะไร ฉันก็ภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ของฉัน เพราะพระเจ้าของฉันก็คือพระพุทธเจ้า ฉันก็นึกถึงพระเจ้าของฉัน เมื่อเธอนึกถึงพระเจ้าของเธอแล้วจิตของเธอเป็นอย่างไร เด็กชาวพุทธก็บอกว่า ในเมื่อนึกถึงพระเจ้าของฉันคือพุทโธ ๆ จิตของฉันก็สงบลงไป พอสงบลงไปแล้ว ก็รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว
อ้าว ทำไมมันเป็นเหมือนกัน เด็กก็เลยเกิดความสงสัย พอเสร็จแล้วก็มาถาม แล้วต่างคนก็ต่างเล่าความเป็นไปของจิตของตนเองให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ท่านก็บอกว่า คำที่เรานึกบริกรรมภาวนาอยู่นั้น มันเป็นแต่เพียงคำพูด เป็นแต่เพียงอารมณ์จิต เราท่องบริกรรมภาวนาเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว สมาธิเป็นสัจจธรรมมีหนึ่งเดียว ใครจิตสงบเป็นสมาธิแล้วจะเป็นแตกต่างกันไม่ได้ ต้องเป็นอย่างเดียวกัน คือจิตสงบนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุขอย่างเดียวกันหมด ไม่มีแตกต่าง อันนั้นคือสัจจธรรมความจริง
ทีนี้เด็กชาวคริสต์ก็บอกว่า เอ้า ถ้าอย่างนั้นพระเจ้าของเธอกับพระเจ้าของฉันก็เป็นองค์เดียวกันซิ ถ้าว่าโดยคุณธรรมก็เป็นองค์เดียวกัน คือ จิตรู้ ตื่น เบิกบาน เหมือนกัน แต่ถ้าว่าโดยชื่อ โดยภาษาสมมติบัญญัติแล้วก็เป็นคนละองค์ นี่ข้อมูลที่ได้มาจากเด็กต่างศาสนาแต่ไปทำสมาธิภาวนาร่วมกัน ในขณะเดียวกัน สถานที่แห่งเดียวกัน อาจารย์เดียวกันสอนคือ อาจารย์จันทร์ เขมสิริ อดีตเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ ท่านไปควบคุมรายการอยู่นั้น
เพราะฉะนั้น ในเมื่อเรามาอาศัยข้อมูลดังที่กล่าวนี้ ถ้าพิจารณาให้ซึ้งแล้ว คำบริกรรมภาวนาแต่ละอย่างนั้นเป็นแต่เพียงอารมณ์จิต เป็นแต่เพียงสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ ใครจะบริกรรมภาวนาแบบไหนอย่างไรก็ได้ เพราะฉะนั้น อาตมะไปเทศน์ที่ไหน เพื่อแก้ข้อข้องใจบรรดานักปฏิบัติทั้งหลายมักจะไปข้องใจอยู่ว่าภาวนาพุทโธดีไหม สัมมาอรหังดีไหม หรือยุบหนอพองหนอดีไหม แล้วก็ข้องใจกัน ตัดสินใจไม่ลง ไม่ทราบว่าจะเอาแบบไหน ดังนั้น จึงได้เล่านิยายเกี่ยวกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าให้ฟังเทศน์ฟังธรรม นักปฏิบัติทั้งหลายฟัง ก็มาย้ำกันอยู่ตรงนี้
ผู้ที่จะปฏิบัติสมาธิให้ได้ผลเป็นที่พอใจต้องมีศีลบริสุทธิ์เพราะว่ากายกับวาจาเปรียบเหมือนเปลือกสำหรับหุ้มไข่ ใจเหมือนไข่แดงซึ่งอยู่ภายใน เราจะนำเอาไข่ของเราไปฟักให้มันเกิดเป็นตัว เราต้องรักษาเปลือกไข่ให้ปกติ อย่าให้มีรอยร้าวรอยบุบ เพราะฉะนั้น ผู้ตั้งใจจะปฏิบัติสมาธิภาวนาให้เจริญก้าวหน้าทางคุณธรรม อย่างต่ำต้องปฏิบัติศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เพราะเป็นสิ่งที่ปรับกาย วาจาให้มีความบริสุทธิ์สะอาดปราศจากโทษ ถ้าหากเรายังรักษาศีลไม่บริสุทธิ์สะอาด การปฏิบัติธรรมของเราก็เป็นไปไม่ได้ดีเท่าที่ควร ถึงเป็นไปได้ก็ไม่มีคุณธรรมอันเป็นหลักประกันความปลอดภัย ความรู้ความเข้าใจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาจิตใจของตนเองได้ นอกจากจะแก้ไขปัญหาของตัวเองไม่ได้ ยังก่อความยุ่งยากให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะฉะนั้น ศีลจึงเป็นคุณธรรมประกันความปลอดภัยของนักปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
เพราะฉะนั้น สาธุชนจงชำระศีลของตนเองให้บริสุทธิ์สะอาด ในเมื่อศีลของตนเองบริสุทธิ์สะอาดปราศจากโทษ ทางกาย ทางวาจา จิตใจก็มีแนวโน้มไปทางที่จะละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด อันนี้หลักของท่านก็อยู่ที่ตรงนี้ สีละปะริภาวิโต ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต ที่ท่านอาจารย์มหาบัวท่านบอกว่าปัญญาอบรมสมาธิ ก็หมายถึงปัญญาอบรมจิต ถ้าศีลบริสุทธิ์ ศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัย ผู้มาบำเพ็ญสมาธิ สมาธิเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่มีศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัยย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ ความรู้ความคิดอ่านที่เกิดขึ้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เรียกว่า ปัญญาสัมมาทิฏฐิ
ปัญญาสัมมาทิฏฐินี้อยู่กันตรงไหน เราจะสังเกตได้อย่างไร มันอยู่ตรงที่ว่า ในเมื่อจิตเกิดความรู้ เรามีสติกำหนดรู้เพียงสักแต่ว่ารู้ คือรู้แล้วก็ปล่อยวางไป ความรู้ความคิดอะไรเกิดขึ้นมารู้แล้วปล่อยวาง ไม่ยึดเอาไว้สร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน อันนี้เรียกว่า ปัญญาสัมมาทิฏฐิซึ่งเกิดจากสมาธิอันบริสุทธิ์ ซึ่งมีศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัย ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สีละปะริภาวิโต สมาธิมะหัปผะลา โหติ มหานิสังโส สมาธิ ปะริภาวิตา ปัญญา มะหัปผะลา โหติ มหานิสังสา ปัญญา ปะริภาวิตัง จิตตัง สัมมะเทวะ อาสะเวหิ วิมุจจะติ. ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต จิตที่ถูกปัญญาอบรมดีแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้.
|