Home หลวงพ่อพุธ การทำสติรู้ที่จิต
การทำสติรู้ที่จิต PDF Print E-mail
Thursday, 17 September 2009 07:53

  

การทำสติรู้ที่จิต


โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย  


           การฟังธรรม  หมายถึงการฟังจิตของเรา  เราพึงตั้งขั้อสังเกตลงที่จิตของเราว่าในปัจจุบันนี้จิตของเราเป็นอย่างไร  ความรู้สึกนึกคิดของเราเป็นอย่างไร   จิตของเราฟุ้งซ่านเรารู้    จิตของเราคิดกุศล อกุศล คิดถึงบาป ถึงบุญเรารู้ ทำสติรู้ตัวเดียว เราเรียนธรรม  ฟังธรรม เพื่อเป็นคู่มือในการปฏิบัติ   คำสอนของพระพุทธเจ้า  ศีล สมาธิ ปัญญา  เป็นแต่เพียงหลักทฤษฏีสำหรับชี้แนวทางให้ผู้ศึกษาปฎิบัติได้ดำเนินตามเพื่อทำจิตเข้าไปสู่ความรู้จริงเห็นจริง     ในสภาพความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง


          สถานที่อันเป็นที่ปฏิบัติธรรมย่อมประกอบด้วยลักษณะ ๔ อย่าง ซึ่งเรียกว่า สัปปายะ ๔ คือ


          ๑.  อาวาสสัปปายะ  สถานที่อยู่เป็นที่สบายพอที่จะเป็นที่กันแดด  กันฝน  กันลม  กันหนาว  กันร้อน  และอาศัยเป็นที่นั่ง ที่นอน  ที่ยืน ที่เดินได้สะดวกสบายพอสมควรอันนี้เรียกว่า  อาวาสสัปปายะ คือที่อยู่ที่อาศัยเป็นที่สบาย
 

          ๒.  อาหารสัปปายะ   หมายถึงอาหารสำหรับเลี้ยงชีวิตให้เป็นอยู่วันหนึ่ง ๆ พอมีพอฉัน พอมีพอรับประทาน   พอจุนเจือชีวิตให้เป็นอยู่ พอมีกำลังกายกำลังใจประพฤติปฏิบัติ ไม่ขัดข้อง นี้เรียกว่า อาหารสัปปายะ 


           ๓.  ธรรมสัปปายะ  หมายถึงในสถานที่นั้นมีผู้ซึ่งมีคุณวุฒิพอให้คำแนะนำพร่ำสอน  มีสหธรรมิกพอมีภูมิจิตภูมิใจ ให้ข้อแนะนำตักเตือนกันในข้อวัตรปฏิบัติอันถูกต้อง     สงสัยอะไรก็มีที่ไต่ที่ถามปรึกษาหารือ มีครูบาอาจารย์คอยให้การฝึกฝนอบรมอยู่เป็นประจำ อันนี้เรียกว่า ธรรมสัปปายะ ประการสุดท้าย


           ๔.  ปุคคลสัปปายะ  หมายถึงบุคคลเป็นที่สบายคือสหธรรมิก  นักบวช อุบาสก  อุบาสิกา  ประพฤติตน เคร่งครัด มัธยัสถ์อยู่ในสิกขาบทวินัย   สำรวมกาย  วาจา  และใจของตนเอง มีปกติเพ่งโทษของตนเอง ไม่เพ่งโทษคนอื่น คอยจับผิดตนเอง ไม่คอยจับผิดคนอื่น มุ่งหน้าแต่จะแก้ไขปัญหาหัวใจของตนเอง และปรับปรุงความเป็นของตัวเองให้เป็นจริงตามที่เราตั้งใจจะให้เป็น จะเป็นอะไรก็ได้แต่ในเฉพาะสถาบันของเรานี้ เราปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นแม่ขาวนางชี เพื่อความเป็นจริงตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อันนี้เรียกว่า ปุคคลสัปปายะ

 

          วิถีทางปรับบุคคลให้เป็นปุคคลสัปปายะ ท่านมีหลักการที่จะปฏิบัติคือ
          ๑.  สีลสามัญญตา  มีศีล ความสำรวมในสิกขาบทวินัย สำรวมในพระปาฎิโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธองค์ทรงห้าม ทำข้อที่ทรงอนุญาต พิจารณาปรับปรุงตัวอยู่เป็นนิจเป็นผู้ไม่ประมาทในสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่ สำรวมระวังรักษา อันนี้เรียกว่าสีลสามัญญตา ความเสมอกันโดยศีลในสังคมของพระภิกษุสงฆ์ ถ้ามีการประพฤติผิดศีล ย่อหย่อน ย่อมมีกรณีพิพาทกันเกิดขึ้น เพราะผู้ที่มุ่งที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในเมื่อเห็นความประพฤติเลวทรามของบางผู้บางคนก็อดที่จะว่ากล่าวตักเตือนกันไม่ได้   ในเมื่อเกิดมีการตักเตือนเข้า ผู้ที่รับฟังไม่ยอมรับ ถือว่าเป็นการอวดดิบอวดดีอยากดัง ก็ทำให้เกิดมีเรื่องขัดใจกันกระทบกระทั่งทะเลาะเบาะแว้งขึ้นในวงการของคณะสงฆ์    อันนี้เป็นลักษณะของผู้ที่มีศีลไม่เสมอกัน จึงเกิดความทะเลาะวิวาทกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่มุ่งหวังความงามในพระธรรมวินัย    ขอได้โปรดปรับปรุงศีลของตนเองให้มีความสม่ำเสมอกันกับท่านผู้ทรงศีลทรงธรรมอื่น ๆ เราจะได้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้ชื่อว่าเป็นพระสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างแท้จริง

 


           ๒.  ทิฐิสามัญญตา   ความเสมอกันโดยความเห็นว่าอะไรว่าตามกัน ทำวัตรสวดมนต์ด้วยกัน ฟังเทศน์ด้วยกัน ศึกษาธรรมด้วยกัน ฉันด้วยกัน กินด้วยกัน นอนคนละที่ เข้าห้องน้ำคนละที เข้าพร้อมกันไม่ได้ เพราะผิดขนบธรรมเนียม ถ้าเรามีความเสมอกันโดยความเห็น ไม่ขัดแย้งซึ่งกันและกัน มีอะไรเกิดขึ้นอาศัยอุปัชฌาย์ อาจารย์เป็นหลัก เป็นคนกลางที่คอยประสาน ปรึกษาหารือในข้อวัตรปฏิบัตินั้น ๆ เพื่อปรับความเห็นให้ตรงกัน อันนี้เรียกว่า  ทิฐิสามัญญตา   ความเสมอกันโดยความเห็น ผู้ที่มาสู่สังคมของพุทธบริษัทต้องถือตามหลักธรรมคุณที่ว่า  มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในเบื้องกลาง มีความงามในเบื้องปลาย


           อาทิกัลยาณัง   มีความงามในเบื้องต้น หมายถึงความงามด้วยการสังวรระวังในสิกขาบทวินัย คือมีศีลบริสุทธิ์


           มีความงามในท่ามกลางเรียกว่า  มัชเฌกัลยาณัง  หมายถึงทำใจให้มั่นคงมุ่งตรงต่อการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทำให้มีสมาธิเกิดขึ้น

 

           ปริโยสานกัลยาณัง  งามในเบื้องปลายอบรมสติปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นอุบายขจัดกิเลสอาสวะซึ่ง ดองอยู่ในสันดาน  ให้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์ – สะอาด สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน อันนี้ได้ชื่อว่างามในที่สุด เพราะฉะนั้นสำนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำเป็นจะต้องปรับปรุงความเข้าใจให้มีความเห็นถูกต้องตรงกัน ถ้าหากมีการประพฤติขัดกันเพียงนิด ๆ หน่อย ๆ การปฏิบัติธรรมจะไม่ก้าวหน้า เพราะฉะนั้น จึงขอเตือนซึ่งบางท่านอาจจะมีกิเลสและอารมณ์อันแสดงแบบไม่สวยไม่งามสำหรับเพื่อนฝูงหรือหมู่คณะ ทำให้หมู่เกิดตะขิดตะขวงใจ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม ก็ขอได้โปรดสังวรระวัง และอีกนัยหนึ่งในที่นี่ เรามีครูบาอาจารย์เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสงฆ์สามเณรในวัดนี้ ซึ่งล้วนแต่บวชจากอุปัชฌาย์นี้องค์เดียว ส่วนที่บวชจากที่อื่นเข้ามาสู่สังคมนี้มีจำนวนน้อย เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เลือกว่าใครมาจากไหนอย่างไร เราเข้ามาสู่พระธรรมวินัยด้วยกัน   เป็นสมณศากยบุตร เป็นโอรสของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน  เพราะฉะนั้น จึงควรจะปรับปรุงความเข้าใจซึ่งกันและกัน  ให้พิจารณาดูความดีของกันและกัน อย่าไปคอยจ้องดูแต่ความผิด ให้พยายามนึกหาความดีของกันและกันให้มาก ๆ การยกโทษติเตียนหมู่คณะ ถ้าหากว่าเพื่อหวังที่จะก่อความเจริญรุ่งเรื่อง คือติให้ได้สติเพื่อจะได้ปรับตัวให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบใหม่ อันนี้เป็นการติหรือตำหนิเพื่อก่อ ไม่ใช่เพื่อทำลาย ทีนี้การตำหนิมุ่งที่จะทำลายโดยไม่มีเจตนาที่จะมุ่งดีหวังดี เช่นอย่างมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไปเที่ยวโพนทนาถึงในบ้านในเมือง เป็นเหตุให้วิพากษ์วิจารณ์ ทีนี้การยกโทษตำหนิติเตียนกันนี่เป็นบาปมาก ถ้าไปตำหนิพระที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ    มีศีลบริสุทธิ์    มีจิตใจบริสุทธิ์ ถึงไม่หมดกิเลสแต่ก็มีความมุ่งดีหวังดี และปฏิบัติธรรมอย่างตรงไปตรงมา    ถ้าเราไปตำหนิติเตียนไปยกโทษในทางเสีย ๆ หาย ๆ บาปจะสะท้อนเข้ามาถึงตัวเองเพราะเป็นการทำลายท่านผู้มีคุณธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ขอให้ทุกคนทุกท่านสังวรระวังให้จงหนัก

 


          เรื่องของบาปนี่ถ้าเราดูกันเผิน ๆ ก็ไม่มีอะไรที่จะน่าเป็นบาป คำสอนของพระพุทธเจ้านี่บางทีเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นบาป มากก็เป็นบาป ความจริงมันก็บาปจริง ๆ ทำน้อยก็บาปน้อย ทำมากก็บาปมาก เช่นอย่างเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ อย่างในเรื่องสามาวดี มีพระเถรีท่านหนึ่งชื่อนางขุชุชตรา   เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระสมณโคดม เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก ในบรรดาสาวิกาทั้งหลายก็มีท่านผู้นี้แหละเก่งที่สุด   แต่ท่านผู้นี้มีบาปติดตัวเป็นคนหลังค่อมสาเหตุเนื่องจากท่านไปนึกตำหนิพระปัจเจกพุทธเจ้าในสมัยหนึ่งท่านเป็นนางสนมในพระราชวังเมืองหนึ่งที่ประเทศอินเดีย    ในสมัยของพระเจ้าพรหมทัตซึ่งนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าไปรับบิณฑบาตที่ในวังทุกวัน    ทีนี้อยู่มาวันหนึ่งนางสนมคนนั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหลังค่อมไปบิณฑบาต บางทีเวลาเล่นกันก็ลากเอาผ้ากำพลมาห่ม  เอาขันมาอุ้ม ทำทีเป็นพระบิณฑบาตแล้วก็ทำหลังค่อมเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า ทีนี้หลังจากนั้นพอนางตายแล้ว เกิดในชาติใดภพใดก็เกิดเป็นคนหลังค่อม จนกระทั่งมาถึงศาสนาของพระพุทธเจ้าเรานี้ก็ยังเป็นคนหลังค่อมอยู่ นอกจากนั้นก็ยังเป็นคนใช้เขาทุกภพทุกชาติ   เพราะสาเหตุที่ได้ไปใช้นางภิกษุณีซึ่งเป็นพระอรหันต์ หยิบของส่งให้นิดเดียวเท่านั้นแหละ  บาปกรรมอันนั้นทำให้นางต้องไปเป็นคนใช้เขาทุกภพทุกชาติ แต่อานิสงส์ที่ทำให้นางได้เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก    ก็พระปัจเจกพุทธเจ้าจำนวนนั้นอีกนั้นแหละไปบิณฑบาต   ชาวบ้านใส่ของให้เป็นของร้อน ท่านก็จับถือบาตรของท่านเดี๋ยวเปลี่ยนมือเปลี่ยนไม้อยู่บ่อย ๆ นางมีกำไลแขนงอยู่ ๘  อันก็เลยเอาเข้าไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าเพื่อให้ท่านได้รองมือกันร้อน   พระอานิสงส์อันนี้ทำให้นางเกิดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดแตกฉานในพระไตรปิฏกในเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ในเมื่อพูดถึงเรื่องบาปมันก็บาปมาก  พูดถึงเรื่องบุญ มันก็บุญมากเหมือนกันเพราะฉะนั้น บุญเล็ก ๆ น้อย ๆ บาปเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้ที่มุ่งที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจึงไม่ควรประมาท   ควรสังวรระวัง โอ่งซึ่งเขาตั้งเปิดปากไว้ในกลางแจ้ง ย่อมไม่เต็มด้วยน้ำฝนที่ตกลงมาทีละหยดทีละหยาดฉันใด บุญกุศลที่เราทำ หรือบาปที่เราทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ย่อมไม่เต็ม แต่เมื่อฝนตกลงมาบ่อย ๆ ตุ่มก็เต็มไปด้วยน้ำ บุญที่เราทำบาปที่เราทำบ่อย ๆ ก็ทำให้จิตใจของเราเต็มไปด้วยบุญด้วยบาปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้มีความฉลาดย่อมไม่ดูหมิ่นบาปบุญแม้เพียงเล็กน้อย    บาปนิดหน่อยก็ไม่ทำบุญนิดหน่อยก็ย่อมทำ…..ทำสะสมไว้ทีละน้อย ๆ คนเรานี้ทำดีได้กันทุกคน ถ้ารักดี แต่ถ้าเราไม่รักดี เราจะทำดีไม่ได้   คนชั่วทำความชั่วได้ง่าย แต่คนชั่วทำดีได้ยาก คนดีก็ทำดีได้ง่ายเหมือนกัน แต่คนดีทำชั่วได้ยาก นี่เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ อันนี้ขอฝากทุกท่านไว้พิจารณา    เวลานี้ก็จวนจะออกพรรษาอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านนวกะทั้งหลายก็ควรจะได้รีบเร่งสมาธิภาวนา อะไรที่พอจะหาติดตัวไปได้ เช่น อาราธนาศีล อาราธนาเทศน์ อาราธนาพระปริต นำไหว้พระสวดมนต์ที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ ก็ขอให้ขวนขวายเร่งท่องบ่นสาธยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นข้าราชการควรจะได้อะไรดี ๆ ติดตัวไปด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการปฏิบัติทำสมาธิ    ซึ่งมีจังหวะที่จะพึงปฏิบัติอย่างนี้คือ ในช่วงใดพอที่จะบริกรรมภาวนาพอให้จิตติดอยู่กับคำบริกรรมภาวนาได้ก็ว่ากันไป   ในช่วงใดระงับใจไม่อยู่   มันไม่อยู่กับคำบริกรรมภาวนา   มีแต่ความคิดฟุ้งซ่านก็กำหนดทำสติตามรู้ความคิดนั้นไป ในช่วงใดจิตขี้เกียจคิด มันไม่อยากคิดก็หาเรื่องมาให้มันคิด ทำสติกับความคิดนั้นให้แจ่มชัด คือให้รู้ชัด ๆ เข้า อันนี้คือหลักการปฏิบัติแบบสากล การปฏิบัติสมาธิแบบนี้ย่อมไม่มีอุปสรรค สมาธิไม่ขัดขวางต่องาน  งานก็ไม่ขัดขวางต่อการทำสมาธิ เพราะเราทำสติอยู่ตลอดทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เราทำสติเป็นสำคัญ แม้ว่าความรู้เห็นอย่างธรรมดา ก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เราทำสติกับสิ่งนั้นแม้ทำสมาธิจิตสงบลงไปแล้วเห็นนิมิตอะไรต่าง ๆ หรือรู้อะไรดี ๆ ขึ้นมา อันนั้นก็เป็นแต่เพียงเครื่องรู้ของจิตเครื่องระลึกของสติ  เราทำสติรู้เป็นตัวสำคัญ.



 

 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner