ปฏิบัติธรรมด้วยปัญญา…เพื่อปัญญา พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ปัญหาเกี่ยวกับศีล
- เมื่อรับศีลแล้ว กระทำผิดศีล ทั้งมีเจตนาบ้างไม่เจตนาบ้าง จะเป็นบาปหรือไม่ การรับศีลไปแล้วทำผิดบ้างถูกบ้าง แต่ว่าไม่ได้เจตนา เป็นแต่เพียงขาดการสำรวม ขาดสติ ทำให้ศีลเศร้าหมองนิดหน่อย ทีนี้การที่มารับศีลแล้วรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ได้ มีขาดตกบกพร่องบ้าง ถ้าข้อเปรียบเทียบก็เหมือนกันกับว่า ผู้ที่มีเสื้อใส่แต่เป็นเสื้อขาด ก็ยังดีกว่าผู้ที่ไม่มีเสื้อจะใส่เสียเลย การสมาทานศีลนี้ ถึงแม้ว่าจะขาดตกบกพร่องบ้างก็ยังดี อันนั้นเป็นเรื่องวิสัยธรรมดาของปุถุชนก็ย่อมมีการบกพร่องบ้าง ในเมื่อฝึกไปจนคล่องตัวแล้ว มันก็สมบูรณ์ไปเอง ดีกว่าไม่ทำเลย
- การรับประทานมังสวิรัติดีหรือไม่ การปฏิบัติงดเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์นี้เป็นข้อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ขอสนับสนุน แต่ปัญหาสำคัญว่าผู้ปฏิบัติแล้วอย่าเอาความดีที่เราปฏิบัติไปเที่ยวข่มขู่คนอื่น การปฏิบัติอันใดปฏิบัติแล้วถือว่าข้อวัตรปฏิบัติของตนดีวิเศษ แล้วเที่ยวไปข่มขู่คนอื่นนั้น มันกลายเป็นบาป เป็นฉายาแห่งมุสาวาท ไม่ควรทำ - คฤหัสถ์ที่มีความจำเป็นต้องดื่มสุราเพื่อเข้าสังคมควรทำอย่างไร ถ้าหากเรามุ่งรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เราก็หาทางหลีกเลี่ยงสังคมขี้เหล้าทั้งหลาย เพราะว่าในสังคมพวกขี้เหล้ามันไม่เกิดผลดี มีแต่ทำความเสียหาย แต่ในสังคมที่เป็นกิจลักษณะ เช่น งานเลี้ยงที่เกี่ยวกับการงานซึ่งเราจำเป็นต้องอนุโลมตามเพื่อไม่ให้ขัดสังคม เราก็นึกขอขมาพระรัตนตรัย แล้วก็ขอปลงศีล ๕ เอาไว้ก่อน เมื่อเสร็จธุระแล้ว ปกติถ้าไม่มีงานสังคมเราก็งดเว้นเด็ดขาด… เราก็ตั้งใจสมาทานศีลใหม่ แล้วก็เริ่มรักษาต่อไป ถ้าหากว่าเราจำเป็นต้องดื่มก็ให้มีสติ จิบ ๆ พอเป็นกิริยา อย่าให้มันมากเกินไปถึงกับหัวราน้ำ… เพราะเราเป็นผู้น้อยมีความเกรงอกเกรงใจผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่ท่านทำเราไม่เดินตามหลังท่าน ๆ ก็ตำหนิ แต่ถ้าเราเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เราจะไม่ดื่มเลย… ถ้าหากว่าในบรรดาเพื่อนฝูงที่รู้จัก เขาเคารพต่อพระธรรมวินัย พอเขารู้ว่าเราไม่ดื่มเขาก็ไม่รบกวนหรอก อย่างดีเขาก็พูดประชดประชันนิดหน่อย - คฤหัสถ์ต้องทำธุรกิจการค้า วิธีจะรักษาศีลข้อมุสาวาทให้บริสุทธิ์ทำได้อย่างไร ถ้าสมมติว่าเราไปซื้อของมาขาย เราขายของให้ลูกค้า ลูกค้าถามว่า "ทำไมขายแพง" "ต้นทุนมันสูง" คิดค่าเสียเวลา ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ค่าเสียภาษี ดอกเบี้ย บวกเข้าไป ค่าของที่มาตกค้างอยู่ในร้านค้า ทุนมันก็เพิ่มขึ้น ๆ ยิ่งค้างอยู่นานเท่าไร มันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ๆ ซื้อมาทุน ๑๐ บาท ก็ตีราคาทุน ๑๒ บาทก็ได้ไม่ใช่โกหก เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ …นักการค้าต้องเป็นคนฉลาด คนรักษาศีลก็ต้องเป็นคนฉลาด แต่ถ้าหากว่าเรามีเจตนาจะโกหกเขา มันก็ผิดศีลข้อมุสาวาท - ศีล ๕ หรือศีลข้ออื่น ๆ เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิหรือไม่อย่างไร ศีล ๕ หรือศีลอื่น ๆ มีความเกี่ยวพันต่อการปฏิบัติสมาธิอย่างมาก ศีลเป็นการปรับพื้นฐาน ปรับโทษทางกายวาจา ซึ่งเปรียบเสมือนเปลือกไข่ ส่วนใจเปรียบเหมือนไข่แดง การทำสมาธิเหมือนการนำไข่ไปฟัก จึงต้องรักษาเปลือกไม่ให้มีรอยร้าว รอยแตก เราจึงจำเป็นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงจะได้ผลในทางสมาธิ ทีนี้ถ้าหากจะถามว่าคนที่มีศีล ๕ จะสามารถปฏิบัติให้ถึงมรรค ผล นิพพานได้ไหม เป็นข้อที่ควรสงสัย อย่างพระเจ้าสุทโธทนะ นางวิสาขา ก็มีศีล ๕ แล้วก็ปฏิบัติ ก็บรรลุมรรค ผล นิพพานได้… เพราะฉะนั้นศีล ๕ นั้นก็เป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ เกิดสติปัญญา เกิดมรรคผล นิพพานได้
ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิและการเจริญปัญญา
- การสอนกรรมฐานในปัจจุบัน สำนักต่าง ๆ ยังมีการขัดแย้งในระเบียบวิธีเกี่ยวกับการปฏิบัติ จะเลือกแนวทางไหนดี ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้คนมีความรักกัน มีความสามัคคีกัน แต่พุทธบริษัทเรานี่ยังสอนธรรมะเพื่อความแตกสามัคคี จึงเห็นว่ายังไม่เหมาะสม… ขอให้ทัศนะว่า การขัดแย้ง ขัดแย้งกันเพียงวิธีการเท่านั้นเองแต่โดยสภาพความเป็นจริง การปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ ใครจะปฏิบัติแบบไหน อย่างไรก็ตาม ผลเกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างเดียวกันหมด ดังนั้น เพื่อไม่ให้สับสน หรือเพื่อความเข้าใจง่ายสำหรับผู้มุ่งปฏิบัติ อาตมาขอแนะแนวการปฏิบัติไว้ ๓ หลักการ
๑. หลักของการบริกรรมภาวนา ใครจะยกเอาอะไรมาบริกรรมภาวนาก็ได้ ในขั้นต้นเราหาอุบายที่จะผูกจิตให้ติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเหนียวแน่นเสียก่อน เมื่อจิตของเราไปติดกับสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น จดจ้องอยู่กับสิ่งนั้น ความสนใจสิ่งอื่นก็เป็นว่าเลิกละไป เมื่อจิตไปยึดอยู่เพียงสิ่งเดียว ถ้าหากว่าท่านสามารถทำได้ ลองพิจารณาดูซิว่า การที่ไปยึดกับสิ่ง ๆ เดียวนั้น ความเบาใจจะมีไหม แตกต่างกับการที่จะไปยึดอยู่กับหลาย ๆ สิ่งหรือไม่… ทีนี้เมื่อจิตสงบมาอยู่กับสิ่ง ๆ เดียว มันก็เป็นอุบายให้จิตสงบยิ่งขึ้นไปจนกระทั่งไม่นึกถึงสิ่งนั้น จนสภาพจิตกลายเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดกับสิ่งใด ทีนี้หากท่านจะถามว่า จะใช้คำไหนเป็นคำบริกรรมภาวนา ไม่มีจำกัด จะเป็นคำอะไรก็ได้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือหากว่าจิตใจไปติดอยู่กับหลานน้อย ๆ คนหนึ่ง นึกถึงชื่อไอ้หนูมันมาบริกรรมภาวนาก็ได้ อย่างเวลานี้มาทำงานแต่เป็นห่วงบ้าน ก็เอาเรื่องบ้านมาบริกรรมภาวนาก็ได้ เพราะอะไรที่เรารัก เราชอบ เราติดอยู่แล้ว มันเป็นอุบายให้จิตของเราติดเร็วยิ่งขึ้น จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทรงสอนเราเพื่อไม่ให้ยึดในสิ่งใด ๆ ทั้งนั้น แต่เพื่อเป็นอุบายที่จะสร้างพลังจิต เพื่อการปล่อยวางสิ่งทั้งปวง เราต้องฝึกหัดจิตของเราให้ติดอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างเหนียวแน่น ให้มีหลักเกาะ มีที่พึ่ง ให้มีวิหารธรรมเสียก่อน เมื่อจิตของเราติดกับสิ่งนั้น ๆ มันก็ติดเพื่อความปล่อยวาง สังเกตดูเมื่อเราบริกรรมภาวนาจนกระทั่งจิตสงบลงแล้ว มันหาได้นึกถึงคำบริกรรมภาวนาไม่ มันไปนิ่งสว่างอยู่เฉย ๆ อันนั้นคือมันปล่อยวางแล้ว ทีแรกมันติดก่อน พอติดแล้วมันมีอิสรภาพอย่างแท้จริง เป็นสมาธิอย่างแท้จริง ๒.หลักการพิจารณาค้นคว้าหาเหตุผล ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคก็ดี คัมภีร์พระอภิธรรมก็ดี และในคัมภีร์พระไตรปิฎกก็ดี ท่านได้วางหลักการแห่งการพิจารณาไว้ในรูปแบบต่าง ๆ ในขั้นต้นก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ สอนให้พิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สอนให้พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สอนให้พิจารณารูป นาม ทีนี้ถ้าต่างว่าเราไม่เอาสิ่งที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์มาเป็นเครื่องพิจารณา จะขัดกับแนวปฏิบัติไหม… เรามีกายกับใจ กายกับใจประกอบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรม… ดังนั้น วิชาความรู้ที่ท่านเรียนมา อะไรก็ได้ ท่านหยิบยกเอามาเป็นอารมณ์พิจารณา เช่น อย่างในขณะที่ท่านต้องใช้วิชาการที่ท่านเรียนมาให้เกิดประโยชน์แก่การทำงาน ท่านอาจจะวิตกเอาหัวข้อนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งมาตั้งเป็นหัวข้อไว้ในจิตของท่าน แล้วตั้งปัญหาถามตัวเองว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้คือสิ่งนั้น สิ่งนั้นคืออะไร ถามตอบดูตัวเองไปโดยความตั้งใจ ทำสติให้แน่วแน่ อย่าสักแต่ว่าคิด… การคิดแต่ละจังหวะนั้น ทำสติให้รู้ชัดเจนในความคิดของตัวเอง เอาความคิดนั้นเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ สิ่งที่เราเห็นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เราทำสติกับทุกสิ่งทุกอย่าง ทำสติตลอดเวลาโดยธรรมชาติของจิต ถ้าเราตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ หนัก ๆ เข้าจิตของเราจะเกิดมีความสงบ มีปีติ มีความสุขได้เช่นกันมีหลักฐานที่จะพึงกล่าวในพระไตรปิฎก คนถากไม้นั่งถากไม้อยู่ เอาการถากไม้เป็นอารมณ์พิจารณาพระกรรมฐาน พิจารณาได้สำเร็จแล้วเป็นพระอรหันต์ คนปั้นหม้อ เอาการปั้นหม้อเป็นอารมณ์พิจารณากรรมฐาน เสร็จแล้วปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ คนทอหูก นั่งทอหูกอยู่ พิจารณาการทอหูกเทียบกับชีวิตของเราที่หดสั้นเข้าไปทุกที ปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์เป็นพระอรหันต์ การถากไม้ การปั้นหม้อ การทอหูก เป็นอารมณ์กรรมฐานทำให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาได้สำเร็จพระอรหันต์ฉันใด แม้วิชาความรู้หากเราเรียนมาทุกสาขาวิชาการ เราเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ก็ย่อมสำเร็จมรรค ผล นิพพานได้เหมือนกัน เพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ๓. หลักการทำสติตามรู้สถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความคิดของตนเอง ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่าการค้นคิดพิจารณาไม่คล่องตัว แม้เราจะตั้งใจคิดพิจารณาแต่ความคิดอื่นเข้ามารบกวน เราไม่สามารถควบคุมจิตของเราให้ค้นคิดอยู่ในสิ่ง ๆ เดียวได้ เพราะวิสัยของเราย่อมคิดอยู่โดยปกติ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ให้ทำสติรู้ลงที่จิตคอยจ้องดูว่าความคิดอะไรจะเกิดขึ้น พอมีความคิดอะไรเกิดขึ้น เราทำสติตามรู้ รู้ตามไปเรื่อย ๆ จิตมันคิดเรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องสารพัดสารเพ อะไรก็แล้วแต่ปล่อยให้มันคิดไป แต่หน้าที่ของเราทำสติตามรู้อย่างเดียว… เมื่อสติตามรู้ความคิดทันแล้ว ความสงบจะเกิดขึ้น เมื่อความสงบเกิดขึ้นแล้ว ก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งเช่นเดียวกับการบริกรรมภาวนาได้
- จุดหมายปลายทางที่ถูกต้องของการปฏิบัติสมาธิคืออะไร ความประสงค์ของผู้ทำสมาธิว่าจะทำสมาธิเพื่ออะไรแยกตามกิเลสของคน - บางท่านทำสมาธิเพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ - บางท่านทำสมาธิเพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงในเรื่องราวต่าง ๆ - บางท่านทำสมาธิ ไม่ต้องการอะไร ขอให้จิตสงบ ให้รู้ความเป็นจริงของจิตเมื่อประสบกับอารมณ์อะไรเกิดขึ้น เพื่อจะอ่านจริตของเราให้รู้ว่าเราเป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต พุทธจริต ศรัทธาจริต อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะดูให้รู้แจ้ง เพื่อจะเป็นพื้นฐานที่เราจะแก้ไขดัดแปลงจิตของเรา เมื่อเรารู้ชัดลงไปแล้ว เรามีกิเลสตัวไหน เป็นจริตประเภทไหน เราจะได้แก้ไขดัดแปลงตัดทอนสิ่งที่เกิน แล้วเพิ่มสิ่งที่หย่อนให้อยู่ในระดับพอดีพองาม เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา
ในการปฏิบัติ ถ้าจะว่ากันโดยสรุปแล้ว เราต้องการสร้างสติให้เป็นมหาสติ เป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติวินโย ไม่ได้มุ่งถึงสิ่งที่เราจะรู้จะเห็นในสมาธิ การภาวนา แม้จะเห็นนิมิตต่าง ๆ ในสมาธิ หรือรู้ธรรมะซึ่งผุดขึ้นเป็นอุทานธรรม สิ่งนั้นไม่ใช่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่เราเก็บเอาเป็นผลงานที่เราปฏิบัติได้ เพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นในสมาธิ จะเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาที่เกิดขึ้นในสมาธิ ซึ่งเรียกว่า สมาธิปัญญา… พลังของสมาธิสามารถทำให้เกิดสติปัญญาเกิดความรู้ความเห็นอะไรต่าง ๆ แปลก ๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็เห็น แต่สิ่งนั้นพึงทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ของดีที่เราจะเก็บเอาไว้เป็นสมบัติ ให้กำหนดเป็นเพียงแต่ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เป็นอุบายสร้างสติให้เป็นมหาสติปัฏฐาน - การปฏิบัติที่ได้ชื่อว่าถูกต้องมีอะไรเป็นเครื่องวัด มีศีล ๕ เป็นเครื่องวัด ปฏิบัติอันใดไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง นั่นแหละเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทีนี้สำหรับความรู้ความเห็น ความรู้อันใดเกิดขึ้น ยึดมั่นถือมั่น มีอุปาทาน ทำให้เกิดปัญหาว่านี่คืออะไร นั่นคือตัวนิวรณ์ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความรู้ที่เกิดขึ้นแล้ว จิตไม่ยึดสร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อนเพราะรู้แจ้งเห็นจริง มีแต่ปล่อยวาง ความรู้นั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ …สิ่งหนึ่งซึ่งนักปฏิบัติควรจะสังเกตทำความเข้าใจ ถ้าเราฝึกปฏิบัติแล้ว เราเกิดศรัทธาอยากปฏิบัติ ถ้าวันใดไม่ได้ปฏิบัติวันนั้นนอนไม่หลับ แสดงว่าท่านได้ศรัทธาพละ ในเมื่อท่านได้ศรัทธาพละ ท่านอยากปฏิบัติ ท่านก็ได้ความเพียร ในเมื่อท่านมีความเพียร ท่านก็มีความตั้งใจคือสติ เมื่อมีสติก็มีความมั่นใจคือสมาธิ ในเมื่อมีความมั่นใจคือสมาธิ ท่านก็มีสติปัญญาพอที่จะคิดค้นหาลู่ทางในการปฏิบัติ นี่ให้ฝึกสังเกตอย่างนี้ อย่าไปกำหนดหมายเอาว่า ภาวนาต้องเห็นสวรรค์ ต้องเห็นนรก ต้องเห็นนิพพาน ภาวนาแล้วจะต้องเห็นภูตผีปีศาจ ผีสาง เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ สิ่งเหล่านี้แม้จะรู้เห็นก็เป็นแค่เพียงอารมณ์ของจิตเท่านั้น ไม่ใช่ของดีวิเศษ ทีนี้เราจะกำหนดหมายเอาที่ตรงไหน กำหนดหมายเอาตรงที่ว่า รู้ว่านี่คือจิตของเรา จิตของเรามีความเป็นธรรมไหม จิตของเราเที่ยงธรรมไหม จิตของเราดูดดื่มในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไหม เมื่อออกจากสมาธิไปแล้ว จิตของเรามีเจตนาที่จะงดเว้นจากความชั่วประพฤติความดีไหม มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองไหม ซื่อสัตย์สุจริตต่อหมู่คณะและครอบครัวไหม ดูกันที่ตรงนี้ ถ้าใครภาวนาแล้วเบื่อหน่ายต่อครอบครัว อยากหนีไปบวช มิจฉาทิฏฐิกำลังจะกินแล้ว ใครภาวนามีสมาธิดีแล้วเบื่อการเบื่องาน อยากทิ้งการทิ้งงานหนีออกไป อันนั้นความผิดกำลังจะเกิดขึ้น ถ้าใครภาวนาเก่งแล้ว สมมติว่าครูบาอาจารย์มีลูกศิษย์รักลูกศิษย์มากขึ้น ลูกศิษย์ภาวนาเก่งแล้วรักครูบาอาจารย์ เคารพครูบาอาจารย์มากขึ้น สามีภรรยาภาวนาเก่งแล้วรักกันยิ่งขึ้น รักลูกรักครอบครัว รู้จักประหยัด รู้จักสิ่งที่ควรไม่ควรดียิ่งขึ้น อันนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการภาวนาได้ผลดี - การทำสมาธิช่วยล้างบาปที่เคยทำไม่ดีได้หรือไม่ ในศาสนาพุทธไม่มีการทำดีเพื่อล้างบาป ขอให้ทำความเข้าใจว่าไม่มีการทำบุญเพื่อล้างบาป แต่การทำบุญหรือทำดีเพื่อหนีบาปนั้นเรามีหนทางที่จะทำได้ คือพยายามทำความดีให้มากขึ้น มากขึ้น ให้คุณความดีเป็นเครื่องอุ่นใจ เป็นวิหารธรรม เครื่องอยู่ของใจ ใจมันก็ปราโมทย์บันเทิงอยู่กับความดี เมื่อมันไปอยู่กับความดี มันก็ไม่คิดถึงบาปในอดีตที่ทำมาแล้ว ทีนี้เมื่ออารมณ์บาปไม่ไปรบกวน เราก็มีโอกาสได้ทำความดีเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากความดีนั้นมีอำนาจเหนือบาป มีผลแรงกว่าบาป จิตของเราหนีบาปไปไกล เมื่อเวลาตายไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติ ถ้าไม่ไปสู่สุคติแล้วเรามาเกิดใหม่ ถ้าหากว่าเราไม่ทำความดีเพิ่มเติม บาปมันก็มีโอกาสให้ผล บาปเล็ก ๆ น้อย ๆ มันไม่หายไปไหนหรอก ทีนี้ถ้าหากเรากลัวบาป จะตัดกรรมตัดเวร ถ้าหากพระองค์ใดไปแนะนำว่าทำบาปแล้วไปตัดเวรตัดกรรม อย่าไปเชื่อ มันตัดไม่ได้ เวรนี่อาจตัดได้ แต่กรรมคือการกระทำนั้นมันตัดไม่ได้ ที่ว่าเวรนี่ตัดได้ เช่นอย่างเราอยู่ด้วยกันทำผิดต่อกัน เมื่อปรับความเข้าใจกันได้แล้ว เราขอโทษซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างยกโทษให้กัน เวรที่จะตามคอยจองล้างจองผลาญกันมันก็หมดสิ้นไป แต่ผลกรรมที่ทำผิดต่อกันนั้นมันไม่หายไปไหนหรอก แต่ถ้าหากว่าเราพยายามทำดีให้มันมากขึ้น ๆ เรารู้สำนึกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันไม่ดี เราเลิก เราประพฤติแต่ความดี …บาปที่ทำแล้วมันแก้ไม่ได้ แต่นิสัยชั่วที่เราประพฤติอยู่นั้นมันแก้ได้ ท่านให้แก้กันที่ตรงนี้
- ภาวนาไปจิตเบื่อหน่าย จิตเศร้าหมอง จะทำอย่างไร ความเบื่อเป็นอาการของกิเลส ในเมื่อมันเกิดเบื่อพิจารณาความเบื่อ เอาความเบื่อเป็นอารมณ์ ถามตัวเองว่าทำไมมันจึงเบื่อ เมื่อได้คำตอบนี้แล้ว ถามต่อไปอีกว่า ทำไม ๆ เพราะอะไร ๆ ไล่มันไปจนมันจนมุม เอาความเบื่อเป็นอารมณ์ เอาความเบื่อเป็นเครื่องรู้ เราก็พิจารณาหาเหตุผลความเบื่อให้ได้ การพิจารณาเช่นนี้ก็คือการพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน จิตเศร้าหมองก็พยายามภาวนาให้มากขึ้น พิจารณาให้มากขึ้น ในเมื่อจิตรู้แจ้งเห็นจริงแล้วมันจะหายเบื่อและหายเศร้าหมอง - สภาวะของจิตที่เป็นสมาธิจะมีรูปร่างอย่างไร ภาวะที่จิตเป็นสมาธิ ไม่มีรูปร่าง มีแต่ความรู้สึกทางกาย ทางจิต จิตเป็นสมาธิ ทำให้กายเบา กายสงบ เรารู้สึกว่าเบาในเนื้อในกาย กายสงบ สงบจากทุกขเวทนา ความปวดเมื่อย จิตเบาหมายถึงจิตปลอดโปร่ง จิตสงบหมายถึงจิตไม่ดิ้นรน ไม่วุ่นวาย ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย มีแต่ความปีติ มีความสุขเกิดจากสมาธินั้น ถ้าจะนับสมาธิในขั้นนี้ยังเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าหากว่าจิตตั้งมั่นคงได้นาน จิตยังมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็เป็นสมาธิขั้นปฐมฌาน - สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนาทำอย่างไร คำว่าวิปัสสนานี้ มีอยู่ ๒ ขั้นตอน ขั้นต้น คือวิปัสสนาที่ใช้สติปัญญากำหนดพิจารณาเอาด้วยความตั้งใจ เช่น เราจะพิจารณาร่างกายให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช้ความรู้สึกนึกคิดที่เราเรียนรู้มานั้นมานึกเอา เรียกว่าการเจริญวิปัสสนาแบบใช้สติปัญญาธรรมดา ๆ… โดยความรู้สึกนึกคิดเอาเองนี่แหละ เป็นการตกแต่งปฏิปทาเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้วจะเกิดวิปัสสนาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ จะปฏิวัติไปสู่ภูมิรู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จงทำความเข้าใจว่า ถ้าสมาธิหรือสมถะไม่เกิดขึ้น ท่านจะเจริญวิปัสสนาอย่างไร ท่านจะไม่ได้วิปัสสนาเพราะวิปัสสนามีมูลฐานเกิดจากสมถะคือสมาธิ ถ้าสมถะคือสมาธิไม่เกิดขึ้น ท่านจะได้แค่วิปัสสนาแบบนึกคิดเอาเอง เป็นวิปัสสนาภาคปฏิบัติเท่านั้น ยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง - สมาธิส่งเสริมปัญญาจะปฏิบัติอย่างไร เมื่อจิตอยู่ในฌานขั้นที่ ๔ กายหายไปแล้ว ลมหายใจก็หายไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตซึ่งเป็นนามธรรมปรากฏเด่นชัดอยู่เพียงดวงเดียว จิตก็ได้แต่ความนิ่งสว่างอยู่อย่างเดียว อาการแห่งความคิดต่าง ๆ ไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วจิตก็รู้อยู่เพียงแค่รู้ รู้อยู่แค่เพียงความสงบ รู้อยู่แค่เพียงความเป็นกลางของจิตเท่านั้น ปัญญาความรู้ยังไม่เกิด แต่เป็นฐานที่สร้างพลังของจิต เมื่อจิตสงบอยู่ในสมาธิขั้นนี้นาน ๆ เข้าและบ่อยครั้งเข้า ทำให้จิตของเราเกิดมีพลังงานคือมีสมาธิความมั่นคง สติสัมปชัญญะค่อยดีขึ้นบ้าง ในเมื่อผู้ปฏิบัติทำจิตได้สงบขนาดนี้แล้ว เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้วอย่าไปยินดีและพอใจเพียงแต่ความสงบอย่างเดียว ส่วนมากนักปฏิบัติเมื่อทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ พอถอนจิตออกจากสมาธิมาเพราะความดีใจในความสงบของจิตในสมาธิ พอรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วกระโดดโลดเต้นลุกออกจากที่นั่ง อันนี้ปฏิบัติไม่ถูก ถ้าขืนทำอย่างนี้จิตมันก็ได้แต่ความสงบนิ่งเป็นสมาธิอย่างเดียว ปัญญาความรู้จะไม่เกิด วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรทำอย่างนี้ เมื่อจิตสงบดีจนกระทั่งตัวหาย เมื่อจิตถอนจากสมาธิมา พอสัมผัสรู้ว่ามีกายเท่านั้น จิตย่อมมีความคิดทันที ผู้ภาวนาอย่าเพิ่งรีบด่วนออกจากที่นั่งสมาธิเป็นอันขาด ให้ตั้งใจกำหนดทำสติตามรู้ความคิดนั้น ๆ ไป ถ้าหากปฏิบัติอย่างนี้ภูมิจิตของท่านจะก้าวสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็ว เพราะเมื่อจิตผ่านการสงบนิ่งมาแล้ว เมื่อเกิดความคิดอันใดขึ้นมา ความคิดมันจะแน่วแน่ คิดถึงสิ่งใดก็จะรู้ชัดเจน เพราะสติมันดีขึ้น เมื่อสติดีขึ้น ความคิดที่คิดขึ้นมา จิตก็จะมีสติตามรู้ความคิดไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้มาทำสติ ถ้ากำหนดตามรู้ความคิดที่เกิดดับ ๆ อยู่ ผลลัพธ์ก็คือว่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติรู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือรู้ว่าความคิดย่อมมีเกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไป ๆ นอกจากจะรู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ยังจะต้องรู้ทุกขสัจจ์ เพราะความคิดเท่านั้นที่จะมาแหย่ให้เราเกิดความสุขความทุกข์ เกิดความยินดียินร้าย เมื่อเรากำหนดสติตามรู้อย่างไม่ลดละ เราก็จะรู้พระไตรลักษณ์ รู้ทุกขอริยสัจจ์ที่จะพึงเกิดขึ้นกับจิต
|