เรื่องเกี่ยวกับอทินนาทาน คัดจากฐานิยปูชา ๒๕๔๑ โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
พระภิกษุเดินทางไป เห็นมะม่วงตกอยู่กลางทาง แต่ดูสภาพแล้วมันยังดีอยู่ใช้การได้ พระก็ให้ลูกศิษย์เอามาจัดการถวายให้ฉัน ในขณะที่ฉันอยู่ มีพระองค์หนึ่งพูดขึ้นมาว่า “มัวแต่คุยอยู่นั่นแหละ รีบฉันแล้วก็รีบเก็บเปลือกเก็บเม็ดเข้าไปซ่อน เดี๋ยวคนจะมาเห็น”
ในขณะนั้นเจ้าของสวนมะม่วงก็มาเห็นเข้า ว่าคนขโมยมะม่วงเขามาแล้วเอามาซ่อนไว้ เขาก็มาทักว่า
“พระคุณเจ้าขโมยมะม่วง ข้าพเจ้าไม่เลื่อมใส”
เขาก็พูดแค่นั้น ทีนี้พระก็เดือดร้อนใจขึ้นมา นำความไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าท่านรับสั่งถามว่า
“ในขณะที่เธอฉันมะม่วงนั้น พูดจากันอย่างไรบ้าง”
พระองค์ที่พูดก็กราบทูลว่า
“ข้าพระองค์พูดว่า ให้รีบฉันแล้วรีบเก็บเม็ดเก็บเปลือกเข้า เดี๋ยวจะมีคนมาเห็น”
พระพุทธเจ้าจึงตัดสินว่า
“พวกเธอมีเจตนาเป็นขโมย ศีลไม่บริสุทธิ์”
แล้วอีกพวกหนึ่งไปฉันมะม่วงตกอีกเหมือนกัน เธอไม่ได้พูดอะไร เป็นแต่เพียงว่า พระองค์หนึ่งพูดขึ้นมาว่า
“ของดี ๆ อุตส่าห์เอามาทิ้ง เราเอามาพิจารณาให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าของเขา มันก็น่าจะได้บุญอยู่บ้าง”
แล้วก็ให้ไวยาวัจกรจัดถวาย ในขณะที่กำลังฉันมะม่วง เจ้าของสวนเขามาเห็นเข้า เขามาถามว่า
“พระคุณเจ้าขโมยมะม่วง ข้าพเจ้าไม่เลื่อมใส”
พระก็เดือดร้อนใจ ก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ถามถึงเจตนา ทีนี้พระพวกนี้ไม่มีเจตนาที่จะเป็นขโมย พระองค์ก็ตัดสินว่า
“ศีลของพวกเธอบริสุทธิ์”
เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่เจตนา เช่นอย่างพระภิกษุสงฆ์ไปเห็นของเพื่อนสหธรรมิกก็ชอบใจ ท่านก็นึกว่า ของสิ่งนี้มันมีเยอะ ท่านเหลือใช้ เราจะแบ่งไปใช้บ้าง ถือโดยวิสาสะแล้วจะบอกให้ท่านทราบภายหลัง พอหยิบเอาของนั้นไปมันก็ไม่มีอาบัติตามพระวินัย แต่ถ้าหากว่ามีเจตนาจะขโมย พอหยิบของเคลื่อนที่ไปก็เป็นอาบัติ ถ้าของนั้นมีราคาตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป พระก็เป็นอาบัติปาราชิก ถ้าหย่อนกว่า ๑ บาทลงมา ก็เป็นอาบัติถุลลัจจัยแล้วก็อาบัติปาจิตตีย์ ถ้าหากว่าพระมีเจตนาจะไปขโมยของ พอหยิบของขึ้นเคลื่อนที่ออกมา มันเคลื่อนจากที่มันแล้วเอามาถือไว้ แล้วมานึกว่าเอาของคนอื่น ขโมยของคนอื่นมันบาป แล้วเอาไปวางไว้ตามเดิม ศีลของพระก็ไม่กลับคืนมาอีก มันบาปตั้งแต่หยิบของเคลื่อนที่
ทีนี้พระขโมยสัตว์พาหนะ ขโมยม้า วัว ควาย พอจูงสัตว์พาหนะมันเดินพ้นจากที่ยืนของมันไป รอยเท้าหลังเหยียบรอยเท้าหน้า ระยะต่อมารอยเท้าหน้าเหยียบรอยเท้าหลัง ก็เป็นอันว่ามันขาดตอน พระก็ต้องอาบัติปาราชิก
พระภิกษุนำของหนีภาษี ยกตัวอย่างว่าสิ่งนี้เป็นสินค้า สินค้านั้นเขามีขอบเขตว่าห้ามนำออกนอกเขต เช่น เขาห้ามนำข้าวสารออกจากเขตจังหวัด… อะไรทำนองนั้น ทีนี้พระภิกษุนำของสิ่งนี้ก้าวผ่านด่านภาษีไปเพียงก้าวเดียว พระต้องอาบัติปาราชิก
แต่ถ้าหากว่ามีอยู่ในครอบครองในสถานที่ที่อยู่ของเรา ไม่นำออกไป มีเท่าไรก็ไม่ผิดกฎหมายและไม่เป็นอาบัติ เพราะฉะนั้น เรื่องใดที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองนี่ พระไปทำแล้วมันผิด นี่หลวงพ่อยังนึกเป็นห่วงพระที่ไปสร้างวัดอยู่ตามป่าตามดง มูลเหตุบัญญัติพระวินัยข้ออทินนาทาน พระภิกษุไปตีสนิทกับพนักงานป่าไม้ แล้วไปเอาไม้หลวงมาสร้างวัด ชาวบ้านเขาก็ตำหนิ เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าก็ยกเห็นเหตุ แล้วก็บัญญัติสิกขาบทข้ออทินนาทาน
สมัยก่อน พ.ศ. ๒๔๘๕ กฎหมายเมืองไทยนี่ ไม้ป่าที่หวงห้ามมีไม้เบญจพรรณ พวกไม้เนื้อแข็ง ไม้เต็ง ไม้รัง ตะเคียน ประดู่ ชิงชัน พยุง ไม้แดง ไม้สัก อันนี้เขาเรียกว่าไม้เบญจพรรณ ใครจะตัดต้องขออนุญาตเสียภาษี ไม้อื่นพวกประเภทไม้เนื้ออ่อน ไม้ยาง ไม้พลวง ไม้สะแบง ไม้ตะบาก อะไรพวกนี้ ยังไม่มีภาษี พระไปตัดไปฟันเอาที่ไหนก็ได้ แต่พอหลัง พ.ศ. ๒๔๘๕ กฎหมายป่าไม้ออก แม้แต่ว่าจะไปเกี่ยวหญ้าคามาขายก็ต้องเสียภาษี ตัดไม้เผาถ่านก็ต้องเสียภาษี ในเมื่อกฎหมายออกมาอย่างนี้ ศีลของพระนี่ก็ตามกฎหมายบ้านเมือง เพราะว่าทรัพยากรในประเทศนี่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เมื่อเขาประกาศตัวเป็นเจ้าของ กฎหมายบังคับขึ้นมาพระจะไปเอาสมบัติในผืนแผ่นดินนี้ไม่ได้ เช่นอย่างวัตถุโบราณ มันมีวัตถุทรัพย์ในดินสินในน้ำอยู่ แร่ธาตุอะไรต่าง ๆ ที่เป็นของมีค่า ในเมื่อกฎหมายเขาประกาศออกมา ต้องขอสัมปทาน เสียภาษีอะไรต่าง ๆ ใครจะเอาไปทำอะไรก็ต้องเสียภาษี พระจะไปเอาของทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในเมื่อกฎหมายออกมาถี่ยิบเพียงใด วินัยของพระเดินตามวินัย ๒๒๗ ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ให้พระปฏิบัติ จะไปอยู่บ้านใด อาณาจักรใด ประเทศใด ประยุกต์เข้ากับกฎหมายบ้านเมืองเขาได้เสมอ ไม่มีขัดแย้ง
เพราะฉะนั้น เราจึงมาพิจารณาดูว่า ความจริงพระพุทธเจ้านี่พระองค์เก่งจริง ๆ บทบัญญัติอันใดที่พระองค์ทรงห้ามไว้ไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง จะไปอยู่ประเทศใดก็ตาม เพียงแต่ศีล ๕ ข้อเท่านั้นก็ยอดเยี่ยมแล้ว
|