Home อย่างไร คือ การพัฒนาจิต
จตุรารักขกัมมัฏฐาน PDF Print E-mail
Wednesday, 13 October 2010 10:24

จตุรารักขกัมมัฏฐาน

โดย

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

          โอกาสต่อไปนี้เป็นเวลาที่จะได้อบรมสมาธิ   เพื่อปฏิบัติบูชาพระพุทธ  พระธรรม   พระสงฆ์  เพื่อฝึกให้จิตของเราสงบแน่วแน่เป็นสมาธิ   มีสติปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในธรรมะตามความเป็นจริง


           วันนี้จะได้นำธรรมะซึ่งมีหัวข้อเรียกว่า  “จตุรารักขะ”  หรือ  “อารักขกัมมัฏฐาน 4 อย่าง”  นั้นคือ
           ๑. พุทธานุสติ   ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
           ๒. อสุภกรรมฐาน   การเจริญอสุภะ   พิจารณากายให้เห็นเป็นของ ปฏิกูล
           ๓. เมตตา     การเจริญเมตตา
           ๔. มรณานุสติ  การพิจารณาการตายของตนเองและของผู้อื่น

           กัมมัฏฐาน 4 ประการนี้เรียกว่า  อารักขกัมมัฏฐาน  เป็นปฏิปทาดำเนินข้อปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน

          พุทธานุสสติ  การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า   โดยที่เราทำวัตร  สวดมนต์  อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ  มี  อิติปิ  โส  ภะคะวา  เป็นต้นก็ดี   อันนี้ได้ชื่อว่าการระลึกถึงพระพุทธเจ้า   เป็นการสาธยาย  เป็นการสวดมนต์เพื่อเป็นแนวอบรมจิตของเราให้เกิดความเลื่อมใส   ให้มีความรู้ซึ้งในคุณของพระพุทธเจ้า     คุณของพระพุทธเจ้าส่วนใหญ่ๆ มีอยู่ 3 ประการ  คือ
          1.พระปัญญาคุณ   พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด   รอบรู้  คือรู้พระอริยสัจธรรมทั้ง 4  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ   มรรค   ซึ่งเรียกว่า  “สัจธรรม”  หรือเรียกว่า  “อริยสัจ”   สามารถรู้อุบาย   วิธีที่จะทำให้พระองค์ทำพระทัยให้บริสุทธิ์  สะอาด  ปราศจากกิเลส คือรู้อุบายวิธีกำจัดอาสวะ  ซึ่งเรียกว่า  “อาสวักขยญาณ”   คือความรู้ที่สามารถทำให้อาสวะสิ้นไป   อันนี้เป็นพระปัญญาคุณ
          2.การที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีกาย  วาจา  และใจสะอาด  ปราศจากโทษน้อยใหญ่ทั้งปวง   การทำร้าย   การเบียดเบียน   การฆ่า   การข่มเหงรังแก  ไม่มีในกาย  วาจา  ใจของพระพุทธเจ้า   กายของพระองค์ก็เป็นกายสุจริตคือกายที่สะอาด  วาจาของพระองค์ก็เป็นวจีสุจริตคือวาจาที่สะอาด   ใจของพระองค์ก็เป็นมโนสุจริตคือใจที่สะอาด   แม้แต่กิเลสน้อยหนึ่งเท่าธุลีก็ไม่มีเหลือติดอยู่ในพระทัยของพระองค์   พระองค์จึงเป็นผู้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์สะอาดโดยสิ้นเชิง  อันนี้เรียกว่า  “พระบริสุทธิคุณ”
          3.เมื่อพระองค์ถึงพร้อมด้วยพระคุณทั้ง 2 ประการดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้น  ก็มิได้ทรงนอนพระทัย   สู้สละรับความทุกข์ยากลำบากอื่นๆ  ด้วยพระองค์เอง   แสดงพระธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์   เมื่อพระองค์พิจารณารู้สัตว์ที่จะรับพระธรรมเทศนา    แม้จะอยู่ไกล   พระองค์ก็พยายามไปโปรด   ขอแต่ให้สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ฟังธรรมเทศนา   รู้บาปบุญคุณโทษ   รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์   บังเกิดมรรคผลนิพพาน   พระองค์ทรงมีพระมหากรุณา   สละกำลังพระวรกาย  กำลังพระหทัยคือน้ำใจ   บำเพ็ญพุทธกิจเพื่อเวไนยสัตว์ตลอดเวลา   แม้วาระสุดท้ายที่พระองค์จะเสด็จปรินิพพาน  ก็ยังทรงโปรดให้โอกาสพระสุภัททวุฒิกะภิกษุที่บวชเมื่อแก่เข้าเฝ้าฟังธรรมเทศนา   เป็นอันว่าพระองค์ทรงพระมหากรุณาจนกระทั่งลมอัสสาสะปัสสาสะสิ้นสุดท้าย  อันนี้เรียกว่า พระมหากรุณาคุณ

www.thaniyo.com

          ท่านที่สมบูรณ์ด้วยพระคุณดังกล่าวนี้  เรียกว่า  “พระพุทธเจ้า”   และพระพุทธเจ้าเป็นคุณธรรม  คือความตรัสรู้อริยสัจ 4  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  ทำให้ผู้ซึ่งทรงไว้ซึ่งพระคุณอันนี้ได้กลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาแก่เจ้าชายสิทธัตถะ  ที่ทรงตรัสรู้อริยสัจ 4 โดยไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอน   แต่พระองค์ทรงค้นคว้าสามารถรู้ด้วยพระองค์เอง  ผู้ที่ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองเรียกว่า  “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”  อันนี้เป็นการเจริญพระคุณส่วนใหญ่  ซึ่งเป็นพระคุณรวมๆ  มีอยู่ 3 ประการ  คือ  พระปัญญาคุณ  พระบริสุทธิคุณ  และพระมหากรุณาคุณ


          ส่วนพระคุณโดยพิสดารนั้นมีอยู่ 9 พระคุณ  ตามบทสวดอิติปิ โส  ที่เราได้สวดมาแล้วนั้น  คือ
          อิติปิ  โส    แม้เพราะเหตุนี้
          ภะคะวา     พระผู้มีพระภาคเจ้า
          อะระหัง   เป็นพระอรหันต์   ผู้ไกลจากกิเลส
          สัมมาสัมพุทโธ  ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง
          วิชชาจะระณะสัมปันโน   ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  ถึงพร้อมด้วยวิชาความรู้  จรณะ  คือความประพฤติดี  ประพฤติชอบ
          สุคโต    เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว   เสด็จไปที่ไหน   ก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่ที่นั่น    เมื่อเวลาเสด็จประทับอยู่   ทำให้ผู้ต้อนรับขับสู้มีความยินดี   เมื่อพระองค์เสด็จหนีไป   ก็มีผู้อาลัยคิดถึงพระองค์   อันนี้เรียกว่า  “สุคโต”
          โลกวิทู   เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลก   คือรู้แจ้งว่าเบญจขันธ์เป็นกองทุกข์   เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  และรู้มนุษยโลก  ยมโลก  เทวโลก   รู้ว่าคนทำกรรมอันใดที่เป็นเหตุให้มาเกิดเป็นมนุษย์   คนทำบาปทำกรรมอันใดที่ทำให้ไปตกในอบายคือยมโลกบ้าง  หรือคนทำกรรมอันใดจึงไปเกิดเป็นเทวดา  อินทร์  พรหม  เรียกว่าพระองค์รู้แจ้งซึ่งโลก  เรียกว่า  “โลกวิทู”
          อะนุตตะโร  ปุริสะทัมมะสาระถิ   พระองค์เป็นสารถี  ผู้ฝึกมนุษย์อันยอดเยี่ยม   ไม่มีผู้ฝึกอื่นจะยิ่งไปกว่า
          สัตถา  เทวะมนุสสานัง   พระองค์เป็นศาสดา   คือครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย   เมื่อพระองค์ได้ทรงเสร็จกรณียกิจโดยสมบูรณ์แล้ว
          พุทโธ  จึงเป็นผู้รู้   ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน  มีความแช่มชื่นเบิกบาน    ผู้ใดเข้าถึงพระพุทธธรรมก็คือคำว่า  “พุทโธ”   ย่อมเป็นผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน
          ภะคะวาติ   เป็นผู้แจกจำแนกคำสั่งสอนให้ผู้ที่ต้องการได้ยินได้ฟัง   แล้วประพฤติปฏิบัติตามได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน   อย่างน้อยก็ตั้งอยู่ในคุณงามความดี   ได้สรณะเป็นที่พึ่ง  คือ  พุทธสรณะ   ธัมมสรณะ   สังฆสรณะ

www.thaniyo.com  


          ทีนี้วิธีการเจริญพุทธคุณหรือพุทธานุสติโดยย่อๆ  เท่าที่พวกเราได้ปฏิบัติมาแล้วหลังจากที่ได้พรรณนาคุณอันยืดยาว   พากันสำรวมเอาไว้ในใจว่า  พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ใจ   พระธรรมก็อยู่ที่ใจ  พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ   แล้วก็สำรวมลงที่ใจ   กำหนดใจบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ  จนกว่าจิตจะมีความสงบเป็นสมาธิ   นิ่ง  สว่าง  ลงไป  ผ่านวิตก  วิจาร  ปีติ  สุขและเอกัคคตาไปโดยลำดับ   เมื่อผู้รำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า  คือ  พุทโธๆๆ  สามารถทำจิตให้สงบนิ่งสว่างลงไปแล้ว   จิตจะเข้าสู่ความสงบแน่วแน่   มีสภาวะรู้  ตื่น    พระพุทธเจ้ารู้อยู่ในจิตอย่างเดียว    มีความสว่างไสวเบิกบานอยู่เช่นนั้น    ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้า   โดยสามารถทำจิตให้ถึงผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน   จิตใจของเขาจึงกลายเป็นพระพุทธเจ้า   หลังจากที่จิต  สงบ  นิ่ง สว่างลงไปสู่สมาธิ   เริ่มต้นแต่ทำอุปจารสมาธิ   อัปปนาสมาธิเป็นที่สุด   เป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า   จิตจึงลงไปสู่พระพุทธเจ้า  ในขั้นต้น  การน้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต   เป็นการระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า  เรียกว่า  “พุทธานุสติ”  มีวิธีการอันย่นย่อดังกล่าวมา


          2.  ในอันดับต่อไป   การเจริญเมตตา  เป็นอารักขกัมมัฏฐานขั้นที่ 2   การเจริญเมตตานี้เป็นอุบายอันหนึ่ง   เป็นอุบายวิธีที่จะฝึกฝน  อบรมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ  คล้ายๆ กับการเจริญพุทธานุสติเหมือนกัน   กับอีกอย่างหนึ่ง   การเจริญเมตตาเป็นการประกาศความเป็นมิตรต่อทุกสิ่งทุกอย่าง    ทั้งสิ่งที่มีตัวตน  ที่มองเห็น  และสิ่งที่ไม่มีตัวตน  ซึ่งเรียกว่าพวกวิญญาณ   เป็นการประกาศว่า  ฉันมาดี  ฉันไม่ได้มาร้าย   เพราะฉะนั้น  การเจริญเมตตานี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น   การเจริญเมตตามีอยู่  2  ประเภท.


          ประเภทที่ 1  การเจริญเมตตาคือแผ่ไปโดยเฉพาะ  เช่น   เราปรารถนาจะให้ตัวของเรา  บิดา  มารดา   ปู่  ย่า  ตา   ยาย  คนที่เรารักเคารพนับถือ  มีความสุข   เราก็น้อมจิตน้อมใจแผ่เมตตาไปถึงท่าน   อธิษฐานจิตขอให้ท่านมีความสุขกายสุขใจ   อย่าได้มีภัยมีเวรใดๆ ทั้งสิ้น   เป็นการเจริญเมตตาเฉพาะเจาะจง   คือเลือกเฉพาะบุคคลที่เราจะแผ่เมตตาให้เรียกว่า  “โอทิสสผรณาเมตตา”  การเจริญเมตตาโดยเฉพาะเจาะจงนี้   โดยการน้อมนึกพิจารณาให้ผู้ที่เราต้องการให้มีความสุขความเจริญ    เพื่อจะให้การเจริญเมตตาของเรามีความแน่วแน่ขึ้น   ท่านก็มีบทบริกรรมภาวนาให้เหมือนกัน  บทภาวนานั้นว่า  “สุขี  อัตตานัง  ปริหะรันตุ”   หรือจะว่า  “สุขิโต   โหตุ  สุขิโต   โหตุ”  ก็ได้  หรือจะว่า  “เมตตาเจโตวิมุตติ  เมตตาเจโตวิมุตติ”  ก็ได้   แล้วก็บริกรรมภาวนาเหมือนกับการบริกรรมภาวนา “พุทโธๆๆ”   จนกว่าจิตจะสงบลงเป็นสมาธิอย่างที่กล่าวมาแล้ว    อันนี้เป็นวิธีการเจริญเมตตาโดยเฉพาะเจาะจง


          ประเภทที่  2   การเจริญเมตตาโดยไม่เฉพาะเจาะจง  ผู้เจริญเมตตาน้อมจิตใจกว้างๆ   โดยกำหนดเอาสัตว์ทั้งหลายในขอบเขตจักรวาลเป็นที่สุด  เบื้องต่ำตั้งแต่นรกอเวจีมหานรก   สูงสุดจนถึงพรหมโลกโดยรอบขอบเขตจักรวาล   เราอธิษฐานภายในจิตใจของเราว่า   “สัพเพ  สัตตา  อเวรา  โหนตุ   สัตว์ทั้งหลายโดยมิได้มีประมาณ   จงเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจ   อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน   จงมีสุขรักษาตนให้พ้นภัยทั้งสิ้นเทอญ”   อันนี้เป็นการเจริญเมตตาโดยวิธีการ


          ทีนี้เราจะเจริญเมตตาให้เกิดสมาธิจนเป็นเมตตาญาณ  เราก็มีบทภาวนาเช่นเดียวกัน  จะบริกรรมภาวนาว่า  “เมตตาเจโตวิมุตติ  เมตตาเจโตวิมุตติ”  ก็ได้  หรือ  “เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา  สหคเตนะ  เจตสา”   ก็ได้  ว่าซ้ำๆ   บริกรรมภาวนาอยู่เช่นนั้นเหมือนกับการบริกรรมภาวนาว่า   “พุทโธๆๆ”   อันนี้เป็นการบริกรรมภาวนาเจริญเมตตาอารักขกัมมัฏฐาน  ที่ควรจะรักษาไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ”


          3. ข้อต่อไปคือ  อสุภกัมมัฏฐาน  นี้เป็นหลักการสร้างสติให้เป็นมหาสติ  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “การเจริญกายคตาสติ”   จากบทที่เราสวดว่า  “อะยัง โข เม กาโย”   กายของเรานี้แล   เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา   เบื้องล่างตั้งแต่ปลายผมลงไป   มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ   เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ   คือหมายความถึงกายทั้งหมดนี้  ซึ่งเรียกว่า  “กายคตาสติ”   สติระลึกไปในกาย   ระลึกว่ากายทั้งสิ้นนี้เป็นของไม่สะอาด   เป็นของปฏิกูล   เป็นอสุภะ  ไม่สวยไม่งาม   เราจะกำหนดลงที่ใดที่หนึ่ง  เช่น  กำหนดลงว่าบริเวณรากผม  แล้วก็กำหนดลอกหนังและเนื้อออกจนถึงกระดูก  แล้วบริกรรมภาวนาจ้องลงไปที่หน้าอกว่า  อัฐิ ๆๆ   บริกรรมภาวนาอยู่อย่างนั้น  จนกระทั่งจิตสงบลง  มองเห็นอัฐิคือกระดูกปรากฏขึ้นในนิมิต  ก็เรียกว่าการภาวนาเจริญอสุภกัมมัฏฐาน  ได้อัฐิกัมมัฏฐานหรือเราจะพิจารณาตั้งแต่ขน  ผม  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  ม้าม   หัวใจ   ตับ  ปอด  ลำไส้น้อย   ลำไส้ใหญ่   อาหารใหม่   อาหารเก่า  ว่าเป็นของปฏิกูล  น่าเกลียด  โสโครก  ไม่สวยไม่งาม  เป็นของสกปรก   เราผู้มายึดว่าเป็นเจ้าต้องทำหน้าที่บริการรักษา   อาบน้ำฟอกด้วยสบู่   ประดับตกแต่งด้วยของหอม  เครื่องย้อมเครื่องทา   ประดับประดาด้วยผ้าผ่อนท่อนสไบที่สะอาด   ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น  ก็เพราะมันเป็นของปฏิกูล   น่าเกลียด  โสโครก  หรือจะกำหนดลงไปว่า  ร่างกายทั้งหมดนี้พอจะดูได้ก็อาศัยบารมีของหนังกำพร้าที่หุ้มห่ออยู่   ถ้าหากเราลอกเอาหนังออกไปแล้ว   ภายในก็มีก้อนเนื้อสีแดๆ  มีเลือดไหลสดๆ  เป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม  นึกเอา  คิดเอา  พิจารณาเอา  เป็นอุบายน้อมจิตน้อมใจให้เกิดความเชื่อว่า   กายทั้งสิ้นนี้ หรืออาการ 32 นี้  เรียกว่า  “กายคตาสติ”  เป็นของปฏิกูล  น่าเกลียด  โสโครก   น้อมนึกพิจารณาอยู่บ่อยๆ เช่นนี้  พิจารณากลับไปกลับมา   น้อมนึกพิจารณาโดยความเป็นของไม่สวยไม่งาม  นึกเอา  คิดเอา  พิจารณเอา  เป็นอุบายน้อมจิตน้อมใจให้เกิดความเชื่อว่า   กายทั้งสิ้นนี้  หรืออาการ 32 นี้  เรียกว่า “กายคตาสติ”  เป็นของปฏิกูล   น่าเกลียด   โสโครก  ไม่สวยไม่งาม   จนกระทั่งจิตสงบลงไปแล้ว   อาจจะมองเห็นส่วนหนึ่งส่วนใดในอาการ 32  ซึ่งเป็นนิมิตปรากฏขึ้นมาให้เรามองเห็น   ว่าเป็นของปฏิกูล  น่าเกลียด   บางครั้งอาจเห็นเป็นซากศพนอนตายอยู่ข้างหน้า   แล้วก็มีน้ำเหลืองไหลและมีเนื้อหนังเปื่อยผุพัง  มีกระดูกสลายตัว   ในที่สุดก็ย่อยยับไปไม่มีอะไรเหลือ   แล้วแต่อุปนิสัย   จิตของท่านผู้ใดก็บันดาลให้เห็นไปตามอุปนิสัย  ความสามารถของแต่ละท่านๆ  เป็นอุบายที่สร้างสติให้เป็นมหาสติ  นี้เรียกว่า  “การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน”  เป็นอารักขกัมมัฏฐานข้อที่ 3

www.thaniyo.com  


          4. มรณานุสติ  คือการระลึกถึงความตาย   การระลึกถึงความตายนี้  เราระลึกได้ 2 อย่าง  ความตายมี 2 อย่าง  คือ  ปฏิจฉันนมรณะ  คือ  ความตายโดยปกปิด  และ อัปปฏิจฉันนมรณะ  คือ  ความตายโดยเปิดเผย   ความตายโดยปกปิดนี่เราไม่ค่อยจะได้พิจารณาให้รู้เห็นกันได้


          พระพุทธเจ้าทรงถามพระอานนท์ว่า  “อานนท์  เธอระลึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง”   พระอานนท์ก็ทูลตอบว่า   “ข้าพระองค์ระลึกถึงความตายวันละพันครั้ง”   พระพุทธเจ้ารับสั่งว่า  “อานนท์  ยังประมาทอยู่มากที่ระลึกถึงความตายวันละพันครั้ง    เราตถาคตระลึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจ”   นี้ลองพิจารณาพระดำรัสของพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจ   ท่านกำหนดอะไรที่ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจ   ท่านกำหนดเอาลมหายใจเข้า  ลมหายใจออกเป็นเครื่องหมาย   เพราะลมหายใจที่สูดเข้าไปแล้ว   ถ้ามันไม่ออกมาก็ตาย   ลมหายใจที่ปล่อยออกไปแล้ว   ถ้าไม่กลับคืนมาก็ตาย  พระพุทธเจ้ากำหนดรู้ลงที่ลมหายใจเข้า-ออก  เข้า-ออก  รู้อยู่ทุกจังหวะลมหายใจ  อันนี้เรียกว่าการระลึกถึงความตาย   เอาลมหายใจเป็นเครื่องหมายแห่งความเกิดและความตาย  อันนนี้เป็นอุบายระลึกถึงความตายโดยย่อๆ


          ทีนี้ถ้าเราจะใช้ปัญญาช่วยพิจารณาบ้าง   ก็กำหนดพิจารณาว่า   กายของเรานี้มันตาย   ตายอยู่ตลอดเวลา   คือ
          1. ตายจากความเป็นน้ำมันเหลวๆ
          2. ตายมาเป็นก้อนเนื้อ
          3. ตายมาเป็นปัญจสาขา  มีศีรษะ 1  แขน 2  ขา 2
          4. ตายเป็นเพศที่มีอวัยวะสมบูรณ์    เป็นเพศหญิง  เพศชาย
          5. ตายออกมาเป็นทารกนอนแบเบาะ
          6. ตายจากทารกมาเป็นเด็กใหญ่หน่อย
          7. ตายจากเด็กใหญ่มาเป็นผู้ใหญ่
          8. ตายจากผู้ใหญ่มาเป็นคนแก่
          9. ตายจากคนแก่มาเป็นคนหง่อม   คือชราลงไปมากแล้ว
         10.  ตายจากคนหง่อมก็ตายเป็นคนตายเลย  กลายเป็นคนตายที่เปิดเผย


          อีกอย่างหนึ่ง   ความสึกหรอของร่างกาย  เช่นอย่างเหงื่อไคลไหลออกมาจากกายแล้วก็ทิ้งไปสลายไป  อันนี้ก็คือว่าเป็นการตายอย่างปกปิด  ขนเก่าที่มันหลุดร่วงออกไปแล้วก็สลายไป  นี่คือความตายอย่างปกปิด   และทุกสิ่งทุกอย่างที่มันหลุดลอยไปจากร่างกายโดยธรรมชาติของมัน   ความเปลี่ยนแปลงของมัน   มันก็เป็นไปในข้างฝ่ายสลายตัวคือ  สาบสูญไป  เป็นสภาพความตายโดยปกปิด


          การตายโดยปกปิดนี้เราไม่ค่อยจะได้พิจารณา   ไม่ได้กำหนด   เราจึงไม่ค่อยรู้ถึงความตายประเภทนี้   เราไปรู้กันเพียงแต่คนตาย   ตายแล้วก็เอาไปป่าช้า   แล้วก็เอาเข้าโลงเอาเข้าเตาเผา   อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้    เรารู้  เราเห็นชัดแต่การตายอันนี้    การตายอันนี้  ถึงแม้ว่าเราจะมองเห็นอยู่   ด้วยจิตด้วยใจ  และก็รู้อยู่ว่าคนนั้นเขาตาย   คนนี้เขาตาย   แต่ถึงกระนั้นสภาพจิตของเราก็ยังไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง   ยังฝืนอยู่   คนอื่นเขาตาย   เรารู้สึกว่าไม่ค่อยจะกลัวเท่าใด   แต่ถ้าตัวเราเองจะตายแล้ว   รู้สึกว่ากลัวมาก  ทำไมต้องกลัว   เหตุที่กลัวก็เพราะจิตมันไม่ค่อยยอมรับความเป็นจริงโดยธรรมชาติว่าเราจะต้องตาย   เมื่อมันไม่ยอมรับความเป็นจริง   มันก็ฝืนความเป็นจริง  ฝืนกฎของความเป็นจริง  ฝืนสิ่งที่ไม่สามารถเป็นไปได้ตามความต้องการ   มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

  


          ทีนี้เรามาลองหัดพิจารณาดูซิว่า  มรณังคือความตายมันจะเกิดขึ้นที่ไหน    เกิดขึ้นที่เรา   เพราะเกิดมาแล้วเราจะต้องตายแน่นอน    แล้วก็ลองมากำหนดพิจารณาดู   อะไรมันตาย    ผมหรือมันตาย   ขนหรือมันตาย   เล็บหรือมันตาย   ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  ม้าม  ตับ  ปอด  พังผืด   ไส้น้อย    ไส้ใหญ่หรือมันตาย   ลองกำหนดพิจารณาดูซิ   ทีนี้เรามาพิจารณาให้ละเอียดซึ้งลงไป    เมื่อจิตนิ่งสงบเป็นสมาธิ   แล้วมันก็จะสามารถรู้เห็นความตายปรากฏขึ้นมาจริงๆ   บางทีมันปรากฏว่า   ร่างของเรานี่กระเด็นออกไปนอนตายอยู่ข้างหน้า   บางครั้งจิตมันก็ออกจากร่างไปลอยเด่นสว่างไสวอยู่    ส่วนร่างกายก็นอนตายเหยียดยาวอยู่อย่างนั้น   จิตมันก็สงบ  นิ่ง   เด่น   สว่างไสวอยู่อย่างนั้น   ไม่มีความรู้สึกนึกคิดอะไร  มีแต่ตัวผู้รู้ปรากฏเด่นชัดอยู่   สว่างไสวอยู่   ตัวผู้รู้ปรากฏเด่นชัดสว่างไสวอยู่นั้นเป็นลักษณะแห่งสมาธิในอริยมรรค  คือ  มีสติสัมปชัญญะพร้อมรวมลงที่จิต   เป็นเอกมรรค   เป็นเอกธรรม   เป็นมรรคสมังคี   ศีล   สมาธิ   ปัญญา  ประชุมพร้อมลง  มรรค 8 ประการประชุมลงที่นี่  ในเมื่อจิตมีอริยมรรคประชุมพร้อม   มีตัวสติเป็นตัวการ  สติวินโย  สามารถนำจิตไปสู่ภูมิรู้ภูมิธรรม   จิตจะมองเห็นร่างกายที่นอนตายอยู่นั้น    เริ่มขึ้นอืด  มีน้ำเหลืองไหล   เนื้อหนังหลุดลงไปทีละชิ้นสองชิ้น  ในที่สุดยังเหลือแต่โครงกระดูก   จะมองเห็นโครงกระดูกเด่นชัด   โครงกระดูกก็พังลงไปกองรวมกันอยู่กับพื้นดิน   ในที่สุดโครงกระดูกนั้นก็หักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่  แล้วก็แหลกละเอียดหายไป  เหลือแต่พื้นดิน  ผลสุดท้ายพื้นดินก็หายไปไหมด  ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวที่สงบ  นิ่ง  สว่างไสวอยู่   ในขณะที่ร่างกายปรากฏการตายแล้ว  เป็นไปตามขั้นตอน    จิตที่สว่างอยู่จะนิ่งเฉยอยู่ไม่รู้ไม่ชี้อะไร  คือไม่หวั่นไหวเป็นไปตามอาการของร่างกาย   แม้ร่างกายจะขึ้นอืดขึ้นมา   จิตก็ไม่ว่าร่างกายขึ้นอืดแล้ว    แม้ว่าร่างกายจะมีน้ำเหลืองไหออกมา  จิตก็ไม่ทักไม่ท้วง    แม้เนื้อหนังจะหลุดออกไปทีละชิ้นสองชิ้น   จิตก็นิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น   แม้โครงกระดูกจะปรากฏขึ้น   จิตก็อยู่อย่างนั้น    โครงกระดูกจะสลายไปจนไม่มีอะไรเหลือ   จิตมันก็นิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น   โลกคือแผ่นดินนี้สลายสูญไปหมด   เหลือแต่จิตดวงเดียว  จิตมันก็นิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น   ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอุเบกขา  วางเฉย   มันเป็นกลาง   จิตมันเป็นกลาง   มันไม่มีความหวั่นไหว   มันไม่มีความไหวติง    มันไม่มีความยินดี   ไม่มีความยินร้าย   อันนี้คือจิตรู้ความจริงในขั้นวัตถุ

  

www.thaniyo.com

  

          ทีนี้เมื่อวัตถุคือร่างกายสลายตัวไปหมดแล้ว   โลกหายไปหมดแล้ว  ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว   นิ่ง  เด่น  สว่างอยู่   ถ้ามีอะไรผ่านมาอาจเป็นเหมือนกับกลุ่มเมฆ    หมอกควันพอเข้ากระทบกับแสงสว่างนั้น   สิ่งเหล่านั้นก็สลายตัวไป    ไม่มีปฏิกิริยาอาการใดๆ  เกิดขึ้น   ความยินดีก็ไม่มี   ความยินร้ายก็ไม่มี    ความชอบก็ไม่มี   ความเกลียดก็ไม่มี   ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกลางทั้งสิ้น   มีแต่จิตดวงเดียว   ที่มันมีแต่จิตดวงเดียว   ก็เพราะว่ามันพ้นจากโลก   จิตอันนี้แหละท่านเรียกว่า  “จิตถึงกระแสแห่งพระนิพพาน”   พระนิพพาน  แปลว่า  “ความดับ”  ดับกิเลส  ราคะ  ตัณหา  มานะ  ทิฐิ   แต่จิตไม่ได้ว่างจากตัวผู้รู้    ตัวผู้รู้ปรากฏเด่นชัดนี่คือ  ”อัตตาทีปะ  อัตตสรณา”  จิตมีตนเป็นที่พึ่ง   จิตมีตนเป็นเกาะมีตนเป็นที่ระลึก  “อัตตา  หิ  อัตตโน  นาโถ”  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน   จิตเป็นอิสระโดยเด็ดขาด   ไม่ต้องอาศัยอยู่กับสิ่งใด   จิตใสบริสุทธิ์สะอาดโดยแท้    ถ้าหากจิตออกจากสภาวะความเป็นอย่างนั้นเมื่อปราฏมีร่างกายขึ้นมาอีก   มีตา  มีหู  มีจมูก   มีลิ้น  มีกาย   ถ้าอารมณ์อันใดผ่านเข้ามาทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ   จิตก็รับรู้สิ่งเหล่านั้น  รู้สักแต่ว่ารู้   รู้แล้วก็ปล่อยวางไปไม่ยึดไม่ถืออันใด   อาการของกิเลส   ความยินดียินร้ายไม่เกิดขึ้น    แม้ลืมตาพูดคุยกันอยู่   อาการของตัณหา   มานะ   ทิฐิ   การพูดสักแต่ว่ากิริยา   ทำอะไรก็สักแต่ว่ากิริยา    เพียงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องทำอย่างนี้   ตราบใดที่ยังต้องอาศัยเบญจขันธ์อันนี้อยู่    เบญจขันธ์นี้จะต้องรับประทาน   จะต้องขับถ่าย  จะต้องพักผ่อนหลับนอน  จะต้องทำงานทำการ   ต้องเดินจงกรม   นั่งสมาธิ  ก็ต้องทำไปอย่างชาวโลกเขา   แต่ในส่วนที่จิตบรรลุถึงซึ่งความบริสุทธิ์นั้น   มันอยู่เหนือสมมติบัญญัติ   ไม่มีภาษาอันใดที่จะเรียกขานว่าอะไร   เช่นคำว่า  “นิพพานัง  ปรมัง  สุญญัง”   นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งก็ดี   นิพพานก็หมายเอาอาการดับของกิเลส    แต่สิ่งที่อยู่เหนือการดับของกิเลสนั้นคืออะไร   เรามาช่วยกันคิดค้นหา   เข้าใจว่าถ้าใครพบ   พบแล้วพูดไม่ได้   พระพุทธเจ้าก็พูดไม่ได้   เพราะมันอยู่เหนือสมมติบัญญัติ   ไม่มีภาษาที่จะเรียก   พระองค์จึงไปขมวดลงท้ายว่า  “ปัจจัตตัง  เวทิตัพโพ  วิญญูหีติ”   อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน   ผู้ที่ทำจิตมาได้ถึงขนาดดังกล่าวมานี้   ได้ชื่อว่าเป็นจิตที่สัมผัสถึงพระนิพพานชั่วขณะหนึ่ง    ถ้าหากออกจากสมาธิขั้นนี้มาแล้ว   ก็ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์   อาการของกิเลสไม่เกิดขึ้นอีก   ความยินดี   ความรัก   ราคะ   โทสะ   โมหะ  หายไปหมดสิ้น   ไม่มีทางจะเกิดขึ้นมาอีกได้   ก็เป็นอันว่าหมดกิเลส    หมดกิเลสแล้วก็บรรลุถึงวิมุตติความหลุดพ้น   เมื่อหลุดพ้นแล้ว   ก็เป็นพระอรหันต์และสำเร็จพระนิพพาน

  


           วันนี้ได้บรรยายเรื่อง  “อารักขกัมมัฏฐาน”  คือ
           1. พุทธานุสติ   การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
           2. เมตตา   การเจริญเมตตา   ความรัก   ความปรารถนาดีต่อสิ่งมีชีวิต  โดยเฉพาะเจาะจงและไม่เฉพาะเจาะจง
           3.  อสุภกัมมัฏฐาน   พิจารณากายเรา   กายคนอื่น  สัตว์อื่น   ให้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด  โสโครก   เป็นปฏิปทาเครื่องปฏิบัติเพื่อยังจิตให้เกิดความสงบแล้วรู้แจ้งเห็นจริง
           4. มรณสติ   คือให้ระลึกถึงความตาย   เอาความตายเป็นอารมณ์


         กัมมัฏฐานทั้ง  4  ประการนี้   เป็นหลักดำเนินกิจของผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตไปสู่มรรค  ผล  นิพพาน

Last Updated on Wednesday, 13 October 2010 11:09
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner