Home เรื่องเล่าตอนเข้าค่าย อารมณ์ขันของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอนที่ 1
อารมณ์ขันของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอนที่ 1
Monday, 13 December 2010 08:42
หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

          เพชรน้ำเอกในหมู่ศิษย์รุ่นสุดท้ายของพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่เสาร์  (เสาร์  กันตสีโล)  ย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้นอกเสียจาก “หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย”  (พระราชสังวรญาณ)   คำกล่าวนี้ย่อมไม่เกินไปกว่าความจริง  เพราะหลวงพ่อพุธไม่เพียงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและธรรมจริยวัตร   ท่านยังเป็นพระอริยเจ้าผู้เป็นพหูสูต  สดับมาก   ศึกษามาก   รู้จริงด้วยการปฏิบัติมาก   ปัญญาของท่านถึงพร้อมด้วย  “จตุปฏิสัมภิทาญาณ”   (มีปัญญาความรู้แตกฉานทั้ง 4 อย่าง  คือ  อรรถ,   ธรรม,  ภาษา, ปฏิภาณไหวพริบ)


          ที่ว่าคำกล่าวนี้ไม่เกินไปจากความจริงเพราะ  ปัญญาความรู้ของหลวงพ่อพุธ  พิสูจน์ได้จากธรรมะที่ท่านเมตตาสอนลูกศิษย์  ไม่ว่าจะเป็นหนังสือรวมบทเทศนา  บทปุจฉาวิสัชนาธรรม  ชีวประวัติและเกล็ดประวัติของท่าน    สิ่งเหล่านี้ได้รับการบันทึกเอาไว้  ถ้าใครได้อ่านบทเทศนาของท่านตามที่ได้กล่าวมา  ย่อมจะต้องยอมรับว่า   หลวงพ่อพุธท่านถึงพร้อมด้วยปัญญาแห่งจตุปฏิสัมภิทาญาณอย่างแท้จริง


          ธรรมที่ท่านแสดงเป็นจุดเด่นที่เห็นได้ชัดที่สุด  ก็คือ  การอธิบายเรื่อง  “นามธรรม”  และ     “รูปธรรม”  ของการปฏิบัติสมาธิภาวนาให้สามารถเข้าใจได้อย่างง่ายๆ  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  ที่ใครจะสามารถอธิบายเรื่อง  สมาธิภาวนา  ให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าใจ  ในอาการแห่งการปฏิบัตินั้น  ได้เข้าใจอย่างชัดเจน  อย่างเช่นคำว่า “ฌาน”  กับ  “สมาธิ”  แตกต่างกันอย่างไร  คำว่า  “ภวังค์”  แปลว่าอะไร  มีอาการอย่างไร


          ถ้าหากว่า  เราจะอธิบายโดยยึดตำราเป็นหลัก   อธิบายตามตัวอักษรที่ปรากฏตามตำรา   ผู้ปฏิบัติย่อมไม่อาจเข้าใจได้  แต่หลวงพ่อพุธ   ท่านได้นิยามเอาง่ายๆ  ตรงๆ  เช่นคำว่า  “ภวังค์”  นี้  ถ้าแปลตามตัวอักษร   ก็จะแปลว่า  องค์แห่งภพ   สภาวะที่จิตยังไม่ยกอารมณ์เข้าสู่วิถีวิญญาณ  เมื่อแปลเช่นนี้  ซึ่งนักปฏิบัติที่ไม่ใช่นักปริยัติแล้วจะไม่เข้าใจ   ท่านก็แปลง่ายๆ  เอาว่า


          “ภวังค์  คือ  ช่องว่างของจิตที่ปราศจากสติ  เช่น  เรานึกถึงสีแดง  แล้วเปลี่ยนเป็นนึกถึงสีขาว  ช่องว่างตรงกลาง   ระหว่างที่เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีขาวนี้   เราเรียกว่า  ภวังค์”


          ซึ่งถ้าพูดอย่างนี้   นักปฏิบัติจึงจะเข้าใจได้  เพราะการปฏิบัตินั้นมันแสดงออกเป็นคำพูดได้ยากมาก   แต่คำพูดของท่านเหล่านี้  แสดงให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงและลึกซึ้งทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติของท่าน

 

 จะถามทำไม ?

          เรื่องสนุก ๆ เกี่ยวกับการบริกรรมภาวนาที่หลวงพ่อพุธยกขึ้นมาเทศน์สอนลูกศิษย์เสมอๆ  ก็คือ   เรื่องที่ท่านได้เคยอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่เสาร์ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นเณร  สมัยนั้นท่านจะเดินจงกรมแข่งกับอาจารย์เสมอๆ  เมื่อครั้งใดที่หลวงปู่เสาร์ได้มีโอกาสสอนญาติโยม   ท่านก็จะสอนให้รู้จักภาวนาพุทโธ – พุทโธ  มีชาวบ้านคนหนึ่ง  เกิดความสงสัยว่าทำไมจะต้อง  ภาวนาแต่คำว่า พุทโธ  พุทโธ  เขาจึงเรียบเรียงถามหลวงปู่เสาร์

           “อยากปฏิบัติสมาธิ  เฮ็ดจั๋งใด๋  ญ่าท่าน?”  (อยากปฏิบัติสมาธิ  จะทำอย่างไร   ท่านอาจารย์?)
           ท่านก็ตอบอย่างไม่รอรี  “พุทโธสิ !”
           “ภาวนาพุทโธแล้ว   มันซิได้อิหยังขึ้นมา ?”  (ภาวนาพุทโธแล้ว  มันจะได้อะไรขึ้นมา ?)
           ท่านตอบกลับอย่างรวดเร็ว  “อย่าถาม!”
           ชาวบ้านคนนี้ยังไม่ลดละ   กะให้หายสงสัยไปเลยกระมัง
           “พุทโธแปลว่าอิหยัง?”   (พุทโธ  แปลว่าอะไร ?)
           “ถามไปหาสิแตกอิหยัง!  ยั้งว่า  ให้ภาวนา  พุทโธ  ข้าเจ้าให้พูดซำนี่”  (ถามไปทำซากอะไร!  แค่ว่าให้พูด  พุทโธ  ท่านให้พูดแค่นี้)
            ใครได้ฟังหลวงพ่อพุธท่านเล่าเรื่องนี้   ก็นึกขำตามไปด้วย
            ภายหลังแม้แต่   หลวงพ่อพุธเองท่านก็แอบถามหลวงปู่เสาร์เช่นกันว่า  ทำไมถึงต้อง  ภาวนาพุทโธ   แต่คราวนี้หลวงปู่เสาร์เมตตาสอนหลวงพ่อพุธมีใจความสำคัญโดยย่อว่า


           คำว่า  พุทโธ  นั้นแปลว่า  คุณธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น   แต่การที่เราต้องยกเอาคำว่า   พุทโธ   พุทโธๆ  ขึ้นมาท่องบ่นภาวนา   ก็เพื่อให้จิตนั้นสงบเป็นสมาธิ   เมื่อจิตสงบนิ่งแล้ว  จิตก็จะเข้าถึงคำว่า  พุทโธ  อย่างแท้จริง   จิตจะเข้าถึงความเป็น พุทธะ  ผู้รู้  ผู้ตื่น   ผู้เบิกบาน  เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว   คำว่า  พุทโธ  ก็จะหายไป  แต่การที่เราจะต้องบริกรรมท่องบ่นคำว่า  พุทโธๆๆ  อยู่  ก็เพราะว่าจิตเราไม่สงบ   ยังไม่เป็นพุทธะ   จึงจะต้องท่องคำว่า  พุทโธๆๆ  เหมือนกับการที่เราต้องการพบเพื่อนคนหนึ่ง   แต่เราไม่เห็นเขา   เราจึงต้องร้องเรียกชื่อเขา   เมื่อเขารู้ว่าเราร้องเรียกหาจนมาเจอกันแล้ว   เราก็ไม่ต้องร้องเรียกชื่อเขาอีกต่อไป

          แต่ถ้าเรายังร้องเรียกชื่อเขาต่อไปอีก  เราก็จะถูกด่า  เท่านั้นเอง!

 

อุบายจับสมภารกินไก่วัด

          สมัยหนึ่ง   หลวงพ่อพุธจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพาราม   จังหวัดอุบลราชธานี   ทั้งๆ  ที่หลวงพ่อท่านไม่เคยมีปัญหาด้านมาตุคามเลย   ซึ่งเรื่องนี้เป็นบุญบารมีของท่าน   แต่ท่านต้องมาเจอปัญหามาตุคามแบบโดนลูกหลง  เพราะการที่ท่านสอนสมาธิภาวนาให้ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจได้ง่าย   จนญาติโยมผู้สนใจการปฏิบัติธรรมติดอกติดใจการสอนของท่าน  มาคอยขอคำปรึกษาเรื่องการภาวนาอยู่บ่อยๆ

          ท่านเล่าว่าในสมัยนั้น   ที่วัดบูรพารามมีการเทศน์ตอนเย็น  ท่านก็มีโอกาสสอนญาติโยมให้รู้จักวิธีภาวนา   ต่อมามีแม่ชีที่เป็นลูกศิษย์พระชั้นผู้ใหญ่ในวัด   ได้ฟังหลวงพ่อพุธสอนการภาวนา  แล้วลองนำไปปฏิบัติดู   จิตของแม่ชีได้รับความสงบจากการภาวนามาก   จึงติดอกติดใจการภาวนา   คอยแวะเวียนมาหาสอบถามเรื่องการภาวนากับท่านอยู่บ่อยๆ   เมื่อบ่อยเข้าๆ
ก็มีข่าวไม่ดีปล่อยออกมา   ด้วยความอิจฉาริษยาและมุ่งทำลายชื่อเสียงหลวงพ่อพุธกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่า   หลวงพ่อพุธมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับแม่ชีรูปนี้    เมื่อข่าวถูกปล่อยนั้นลือกระพือกันไปเรื่อยๆ   หลวงพ่อท่านก็ยังวางอุเบกขาตั้งอยู่ในขันติธรรม   เพราะตัวท่านบริสุทธิ์  ย่อมไม่ต้องกลัวอะไร   เดี๋ยวข่าวลือพวกนี้ก็คงจะหายไปตามกาลเวลาเอง   แต่ด้วยไหวพริบปฏิภาณของหลวงพ่อท่าน   ท่านเริ่มสังเกตว่าแม่ชีลูกศิษย์พระผู้ใหญ่ในวัดเริ่มอ้วนขึ้นอย่างผิดปกติ   ท่านนึกอุบายจับสมภารกินไก่วัดออก   จึงเรียกแม่ชีคนนี้มาสอบถาม   โดยวางอุบายจับผิดเอาไว้   เมื่อเจอหน้าแม่ชีคนนี้  หลวงพ่อท่านก็ถามขึ้นทันที

           “อันนี้   ไม่ใช่เกี้ยวพาราสีนะ  มันเป็นคำสมมติ...   ถ้าฉันสึกไปขอแต่งงานกับเธอ   เธอจะว่ายังไง ?”
           แม่ชีคนนี้คงจะตกใจเล็กน้อย  จึงพูดขึ้นว่า  “เป็นไปไม่ได้  !”
           “ทำไมถึงเป็นไปไม่ได้   แกเห็นว่าฉันต่ำต้อยเกินไปหรือ ?”
           “โอ๊ย  !  ถ้าฉันได้อย่างท่านนี่  ก็ดีวิเศษแล้ว”   แม่ชีคนนี้รีบตอบ
           “ถ้าอย่างนั้นเป็นเพราะอะไร?!”  หลวงพ่อเริ่มจะคาดคั้นจี้ถาม
           “ผีบ้าตัวไหน  จะมีผัวสองคน!!!”
           “อ้าว...!!   อีนี่...มึงมีผัวแล้วเหรอ?”
           “มีแล้ว !”
           “ใคร ?!...ผัวมึง ?”
           “ก้อ...หลวงพ่อ  (พระผู้ใหญ่ที่เป็นอาจารย์แม่ชีคนนี้)  ท่านทวงบุญคุณ  ก็เลยให้ท่าน”

           ในที่สุดอุบายหลอกจับสมภารกินไก่วัดของท่านก็สำเร็จ   ท่านจึงให้แม่ชีคนนี้เซ็นชื่อรับว่าตัวเองตั้งท้องกับพระผู้ใหญ่ที่เป็นอาจารย์ของตนเอง  แล้วท่านก็เก็บเอกสารนี้เอาไว้   จนเมื่อท่านได้โอกาสจึงไปบอกให้พระผู้ใหญ่รูปนั้นสึกออกจากวัด  พร้อมกับแม่ชีคนนั้นไปเสีย  เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียกับพระศาสนาอีกต่อไป


ที่มา  : หนังสือ รอยยิ้มพระอรหันต์  อารมณ์ขันพระอริยะ  โดยคุณวีระวัฒน์  ชลสวัสดิ์


 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner