การสั่งสมบุญนำมาซึ่งความสุข แสดงธรรมโดย พระโพธินันทมุนี ณ วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย มีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณราชเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา และท่านเจ้าคุณมงคลวัฒนคุณ รักษาการใหม่ ญาติโยมพุทธบริษัท ความเงียบ ความสบาย ความสงบสุข เป็นอาหารสำหรับจิตใจ ท่านทั้งหลายได้มาพร้อมเพรียงกัน รำลึกถึงคุณูปการของบูรพาจารย์องค์สุดท้ายของวัดอันได้แก่ พระเดชพระคุณหลวงปู่พุธ ฐานิโยของเรา ท่านเป็นพระราชาคณะชั้นราช ราชสังวรญาณ ท่านล่วงลับไป เข้ามาแล้วมองไปทางไหนล้วนเป็นอนุสรณ์แห่งความดี แห่งเกียรติคุณของท่าน ศาลาใหญ่ถาวรสวยงาม เกิดขึ้นเพียงไม่เท่าไหร่ ท่านก็ทิ้งอนุสรณ์ไว้ให้พวกเราผู้อยู่เบื้องหลังเป็นเครื่องรำลึก กุฏิ วิหาร ถนน หนทางในบริเวณล้วนเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงความดี ความสามารถของพระคุณท่านทุกอย่าง เมื่อพวกเราเข้ามาแล้ว ก็จะมีความรำลึกเหมือนหนึ่งว่า ท่านยังมีชนม์ชีพอยู่ คือท่านยังทรงขันธ์อยู่นั่นเอง นี่ความรู้สึกของพวกเรา ท่านทั้งหลาย ท่านก็มาประจำไว้ให้เราได้กราบไหว้ทำบุญเป็นหลักแหล่งอยู่ที่นี้ เป็นเวลานาน คงจะนานกว่ารูปอื่นก็ได้ ในขณะที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองสะดวก ไปมา สบายทั่วทิศ ท่านจึงมีโอกาสได้เผยแผ่บำเพ็ญประโยชน์ เผยแผ่พระธรรมอย่างกว้างขวางรูปหนึ่ง สุรเสียงอันเยือกเย็น กังวาน ชัดเจน ลึกซึ้ง เปี่ยมด้วยเมตตาของท่านนั้น ยังตราตรึงในดวงใจของเราอยู่ ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ปฏิปทาของครูบาอาจารย์แต่ละรูปนั้นเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว แนวทางแสดงธรรม แนวทางการกล่าวธรรม ทักทายปราศรัย กิริยาท่าทางเยื้องย่างกรายของบูรพาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเรานั้นไม่เหมือนกันเลย ท่านผู้นี้รูปหนึ่ง อาตมาภาพเป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณเทพสุธาจารย์ วัดวชิราลงกรณ์ ท่านเป็นกรรมวาจา ไม่มีอนุสาวนาที่อาตมาบวชพระเมื่อนานมาแล้ว หลวงปู่ดูลย์เป็นอุปัชฌาย์ ปฏิปทาของพระเดชพระคุณนั้น ถ้าท่านทั้งหลายทัน ก็จะซาบซึ้งด้วยอิริยาบถสุรเสียง สำเนียงที่หาจุดตำหนิไม่ได้ องค์ที่รองจากลำดับนั้นมาในความรู้สึกของอาตมา ก็มีอยู่หลวงปู่พุธเรานั่นแหละ ที่เราเรียกว่าพระกรรมฐาน มันดูเหมือนกรรมฐาน ที่เราเรียกว่าพระธุดงค์เหมือนธุดงค์ ที่เราเรียกท่านว่าพระป่า พระวิปัสสนา ทุกอิริยาบถสำนวน สำเนียง สุรเสียง จำนรรจา เหมือนพระป่า เหมือนพระวิปัสสนา เหมือนพระธุดงค์ทุกอย่าง แผ่ขยายความเยือกเย็นมาสู่บรรยากาศในที่นั้น ๆ ใครจะตั้งปัญหาร้อน ๆ มา ท่านเจรจาปรกติ ปรกติภาพที่เป็นคุณสมบัติของท่านไว้อย่างสม่ำเสมอ ถามมาร้อนเย็นอย่างไร ไม่เกี่ยว แต่ท่านจะใช้ปรกติภาพของท่านในการตอบในการจำนรรจา ในการพูดอย่างสม่ำเสมอ เมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจได้ดังนี้ พระเถระที่เพรียบพร้อมหาได้ยาก จริงอยู่พระเถระมีอยู่ทั่วไป คุณธรรมของท่านสูงส่งที่เราหยั่งรู้ไม่ถึง เข้าใจไม่ได้ก็มีเป็นจำนวนมาก แต่ที่เราเห็นแล้วไม่กลุ้มใจ สบายใจ ในขณะที่นับถือ ในขณะที่กราบไหว้ ในขณะที่เป็นศิษย์ อากัปกิริยาท่าทางสำนวนสำเนียงวาจาของท่าน ศิษย์ทุกคน ผู้นับถือทุกคน สบายใจ วางใจ เย็นใจ นี่คือปรกติของท่าน หลวงพ่อพุธ องค์ที่ 2 ที่อาตมามีความรู้สึกในใจนอกจากท่านเจ้าคุณเทพสุธาจารย์ โชติ ท่านท่านล่วงลับเมื่อ พ.ศ. 2518 บางท่านก็ทัน บางท่านก็ไม่ทัน นี่เป็นคุณสมบัติปฏิปทาสำหรับพระคุณท่านเหล่านั้น อาตมาไม่อาจจะกล่าวอะไรมากกว่านี้ ทุกท่านซาบซึ้งเอาเอง บัดนี้ท่านทิ้งความอาลัยไว้ให้เราในภายหลังเป็นอนุสรณ์ ท่านทำประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ส่วนบุคคลอื่น ประโยชน์ส่วนรวมอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะโบราณวัตถุ ถาวรวัตถุที่ท่านทิ้งไว้ให้เรามันสมบูรณ์แบบ เสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกอย่างในการที่จะใช้งาน ท่านทั้งหลายดีแล้ว ตรงนี้เป็นจุดศูนย์กลาง จุดศูนย์รวมสำหรับอีสาน อีสานใต้ และก็ผู้สำนึกในคุณงามความดีของครูบาอาจารย์อย่างไม่รู้ลืมและจืดจาง ขอฝากให้ท่านคำนึงคิดต่อเอาเอง
ต่อจากนี้อาตมาภาพจะนำแนวปฏิบัติธรรมะมาให้ท่านฟัง จงทำสติให้สมบูรณ์เพื่อทรงตัวของเราให้ได้ ไม่ใช่ว่าพอเริ่มเทศน์ก็มีความเคารพต่ออาตมา ด้วยการนั่งตัวตรง ๆ แสดงความเคารพ พอเทศน์ยังไม่กี่นาทีก็แสดงความอ่อนน้อมด้วยการคำนับเป็นจังหวะ ๆ อย่างนี้แสดงว่าสติสัมปชัญญะของเราควบคุมอัตภาพร่างกายไม่อยู่ ขอให้ญาติโยมตั้งสติไว้ให้สมบูรณ์ อาตมาได้ยกบาลีขึ้นไว้ในเบื้องต้น ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลายอาจจะนึกว่าธรรมดาเกินไป แต่อาตมาว่าไม่ธรรมดา มองได้ทุกแนว มองในแง่ปริยัติ มองในแง่ปฏิบัติ หรือในคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ได้อย่างถูกต้อง ในคำว่า สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบุญไว้ย่อมนำสุขมาให้ อาตมามาติดใจอยู่กับคำที่พระองค์ใช้ว่า สั่งสม เรื่องของบุญ พระองค์อยากใช้คำว่า สั่งสม คือสั่งสมบุญไว้ เมื่อสั่งสมบุญไว้เรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องมาก ๆ ย่อมนำสุขมาให้เราทุกขณะหรือเป็นผลมาจากในอนาคตกาล กว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน เกิดขึ้นจากการสะสมบุญ มองไปข้างนอกเสียก่อน ท่านผู้เจริญทั้งหลายทรัพย์สมบัติ เครื่องอุปโภคบริโภคที่เรามี เราได้ เราเหลืออยู่ อบอุ่น ใช้สอยทุกวัน มีฐานะสูงบ้าง ปานกลางบ้าง ธรรมดาบ้าง ถึงเรียกว่าคนมั่งมี หรือคนร่ำรวยหรือเศรษฐี ท่านทั้งหลายสิ่งของเหล่านั้น ไม่ได้เนรมิตขึ้นมาชั่วพริบตาเดียว สมบัติที่เราเสวยทุกวัน จะเป็นมรดกหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วพริบตาเดียว หากแต่ว่ามีการสั่งสมมานานแล้ว ตั้งแต่ปู่ย่าตายายจนกระทั่งถึงพวกเราล้วนสั่งสมเก็บหอมรอมริบ ตั้งแต่ไม่มีหรือตั้งแต่มีน้อยจนกระทั่งมากมายถึงขั้นเป็นเศรษฐี สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจากการสั่งสมของเรา คือสั่งสมสมบัติ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรื่องสติปัญญาวิชาความรู้ที่เรามีอย่างสมบูรณ์และเต็มเปี่ยมในขณะนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วพริบตาเดียว หากแต่ว่าเริ่มสั่งสมตั้งแต่รู้เดียงสาตั้งแต่เข้าสู่ ก ไก่ ข ไข่ ทีละตัว ทีละพยัญชนะ แม้ตัวเลข 1 2 3 สั่งสมมาโดยลำดับ ตั้งแต่เล็กจนโตมา จนขณะนี้มีวิชาความรู้อย่างเต็มเปี่ยมทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง พระคุณเจ้าทุกรูป ที่ได้ความรู้ทางหลักธรรมทางแนวปฏิบัติ ล้วนแต่สั่งสมมาทีละน้อย ทีละน้อย จนกระทั่งมากมาย ใช้คำว่า “สั่งสม” แล้วยังจะต้องสั่งสมต่อไปอีก เมื่อสั่งสมทรัพย์สมบัติมากเราก็มีความสุขโดยไม่ฝืดเคืองในการใช้จ่าย เมื่อสั่งสมสติปัญญาไว้บ่อย ๆ ให้ได้มาก เราก็ไม่ขัดเคืองและขัดข้อง ในเมื่อเราติดขัดหรือคิดสิ่งใด เปรื่องปราดอาจหาญเพราะสั่งสมไว้มาก
ท่านผู้เจริญทั้งหลายเพราะเหตุอย่างนี้กระมัง พระพุทธองค์จึงใช้เรื่องบุญด้วยว่า “การสั่งสมบุญย่อมนำสุขมาให้” ท่านทั้งหลายพวกท่านสั่งสมบุญไว้นานแล้ว ในคำว่า ท่าน ศีล ภาวนา ท่านเริ่มสั่งสมตั้งแต่เป็นนักเรียน ป. 1 ป. 2 เคยใส่บาตรพระ 1 ทัพพี 2 ทัพพี เคยติดกัณฑ์เทศน์ 5 สตางค์ 10 สตางค์ บาท 2 บาท ในสมัยเป็นนักเรียน นักศึกษา เคยได้ลองรับศีล รักษาศีลมานับครั้งไม่ถ้วน และเคยสั่งสมบริจาคใหญ่ ๆ ๆ ๆ ตลอดมาตั้งแต่เราเดียงสามาจนขณะนี้ นี่ก็คือการสั่งสมเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นท่านที่มานั่งฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมวันนี้ แต่ละท่านนั้นมีการสั่งสม 3 ลักษณะ คือสั่งสมทรัพย์สมบัติจนเป็นคนสุขสบายในปัจจุบัน สั่งสมวิชาความรู้จนกระทั่งเป็นคนอบอุ่นในปัจจุบัน และขณะเดียวกัน สิ่งที่ท่านสั่งสมไว้มาก ๆ นั้นก็คือบุญกุศลที่ท่านสั่งสมไว้ตั้งแต่นานมาแล้ว นี่คือประเด็นที่ควรจะนำมาเปรียบเทียบทำความเข้าใจ ท่านทั้งหลายทรัพย์สมบัติที่ท่านสะสมได้ ท่านก็คิดถึง ท่านก็เก็บ ท่านรักษาไว้ให้ดี นึกถึงมันบ่อย ๆ ที่ธนาคารมีอยู่เท่านั้น บนบ้านเรือนมีอยู่เท่านั้น ที่ดินตามที่นาสาโทก็มีเท่านั้น ยิ้มแย้มแจ่มใสนึกถึงมันเรื่อย ๆ เสียอยู่อย่างบุญนั้นนึกไปแต่ข้างหน้า ทรัพย์นี่ท่านแก่แล้ว ท่านไม่เคยนึกไปข้างหน้าว่าจะแสดงเอามาอีกเท่าไหร่ แต่ถ้านึกย้อนหลังที่มี นึกได้ดีนัก หยั่งรู้มีเท่าไหร่ เก็บไว้ที่ไหนบ้าง และก็อบอุ่นใจกับสิ่งที่มี ส่วนบุญนั้นชอบนึกไกลไปข้างหน้า จะไปทำที่วัดโน้น จะไปช่วยศาลาหลังนี้ จะไปตัดลูกนิมิตที่โน่น ไอ้ที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งวันนี้ ท่านไม่ค่อยสำรวจ ท่านไม่ค่อยพิจารณา ท่านไม่สั่งสมไว้ในใจ ไม่ค่อยคิด น่าเสียดาย ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านลืม ท่านไม่นับ ท่านไม่สำรวจ ก็เท่ากับว่าท่านไม่เก็บ ท่านไม่เอา ท่านไม่ปกป้อง ท่านไม่รักษา จริงอยู่ที่ท่านนึกจะทำบุญใหญ่ ๆ ในกาลข้างหน้า ยิ่งแต่เป็นกุศลใหญ่ แต่ขอสะกิดนิดหนึ่ง อย่าทอดทิ้งเลย ทรัพย์สมบัติคือบุญที่เราสั่งสมมาตั้งแต่เด็ก เหมือนท่านไม่ทอดทิ้งสมบัติที่ท่านมีอยู่แล้ว ท่านคิดถึงมันอยู่เป็นประจำใช่มั๊ย ตรงนี้ใช่หรือเปล่า เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงสอนวิธีภาวนา การนึกถึงบุญมันเป็นเรื่องของการภาวนา เรียกว่าอนุสติ สติระลึกในการภาวนานั่นเอง ท่านผู้เจริญทั้งหลายมิได้หมายความว่า เมื่อภาวนานั้นจะต้องฟังเขาประกาศมีบวชที่ไหน ชวนนั่งภาวนาวิปัสสนาที่ไหน แล้วไปนั่ง จึงจะชื่อว่าภาวนา พระพุทธองค์แนะนำไว้ว่าทุกกาล ทุกเวลา ทุกสมัยเป็นภาวนา นั่งว่าง ๆ ไม่ได้ทำอะไร หรือขณะทำงานทำการอะไร เราก็สำรวจ ระลึกถึงบุญกุศลที่เราสั่งสมไว้ หลักก็คือว่าพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วท่านพูดถึงอนุสติ 10 นั่นคือตัวภาวนาและองค์ภาวนา ทำไมท่านไม่นึกถึงจาคานุสติ นึกถึงทรัพย์ที่ท่านเคยบริจาคมาแล้ว ตั้งแต่เด็กแต่ออดแต่อ้อนและจนถึงเดี๋ยวนี้ เรียกว่าจาคานุสติ ระลึกถึงทานที่เป็นบุญที่เคยสั่งสมไว้ บริจาคไว้ สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่เราเคยรักษา แม้จะขาด แม้จะเหลือ แม้จะอย่างไร ก็ชื่อว่าเคยทำมาแล้ว เคยปฏิบัติมาแล้ว สีลานุสติ จาคานุสติ จนกระทั่ง กายคตาสติ ธัมมานุสติ ทั้งหมด ล้วนเป็นองค์ของการภาวนา เพราะภาวนาแปลว่าทำให้เกิด ทำให้มี ท่านผู้ใดมีสติระลึกอยู่ในขอบเขตเหล่านี้ทุกขณะทุกเวลา นึกถึงทานที่ตนเคยบริจาค นึกถึงศีลที่ตนเคยรับเคยรักษา นึกถึงธรรมะที่ตนเคยปฏิบัติ ท่านทั้งหลายนั่นคือ เรารับ เรารักษา เราเก็บไว้ เราระลึก เป็นอนุสติ เป็นองค์ภาวนาด้วยและสิ่งเหล่านี้เป็นการนำเราให้พ้นจากอารมณ์อยาก เป็นการภาวนาอย่างสมบูรณ์ที่ทำได้ทุกกาล ทุกเวลา ก่อนหลับ ก่อนนอน ล้มตัวลงนอน สังเกตไหม ถ้ามานึกถึงที่อาตมาว่าแล้ว นึกถึงทานที่เคยบริจาค จาคานุสติ นึกถึงศีลที่เคยรักษา นึกถึงข้อวัตรปฏิบัติ นึกถึงปฏิปทาครูบาอาจารย์เป็นส่วนกุศล แม้จะเป็นกามาวจรกุศล ถ้าเกิดขึ้นที่ระดับที่ตรงนี้ จิตต้องไปสวรรค์ ไปสู่สุคติ แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น นอนแล้วไม่หลับ นึกอยู่นั่นแหละ คนนั้นมันเป็นหนี้เราตั้ง 2 พัน 8 ปีแล้วไม่เห็นคืนเลย คนนั้นมันมาติฉินนินทาเราถึงขนาดนั้น ทำไมมาดูถูกเราถึงเพียงนั้น ลูกคนที่ 2 ไม่เคยเอื้อเฟื้อเราเลย ลูกคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ อย่างงั้น อย่างงี้ จิตก็จะตกต่ำ จิตจะมัวหมอง เป็นฝ่ายหยาบ ฝ่ายอกุศล จนกระทั่งเมื่อนึกแล้วก็เกิดอารมณ์หยาบขึ้นมา โทสะ โมหะ ริษยา อาฆาต พยาบาท ปองร้าย มัวหมองทุกอย่าง ถ้าตายตอนนี้ไปทุคติ
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย วิธีปฏิบัติจึงมิใช่ของยากลำบากอะไรเลย การสั่งสมบุญนำ สุขมาให้ คิดถึงเมื่อไหร่ เราก็มีส่วนบุญด้วย อาตมาภาพว่าอย่างนี้นะ การสั่งสมและมีส่วน ท่านจึงมีโชค ท่านจำกำเนิดได้ วิญญาณของท่านจำได้ตลอด ล่องลอยไปไหนไปไหนก็รวดเร็ว ไปเห็นอะไรก็จำได้ ท่านทั้งหลาย ท่านสั่งสมบุญไว้ แล้วก็มีส่วนร่วมบุญไว้หลายจุดเหลือเกิน วิญญาณท่านจึงมีความสุข เมื่อเขาประกาศว่าเจดีย์ใหญ่หลวงปู่ศรีที่ร้อยเอ็ด โบสถ์ใหญ่สวยที่สุดที่วัดโสธร ผ้าป่าใหญ่ที่หลวงตามหาบัวชวนทำ ท่านทั้งหลาย กองบุญเหล่านั้นทุกท่านมีส่วนรวมด้วย เป็นเจ้าของด้วย ท่านนั่งรถไฟไปทางกรุงเทพฯ มองเห็นโบสถ์ทุกแห่งตามระยะทาง อนุสติก็จะตามมา อ๋อ! โบสถ์หลังใหญ่นี้ฉันร่วมด้วย 100 บาท อ๋อ! เจดีย์นี้ ฉันเคยบริจาค 10 บาท อ๋อ! พระเจดีย์ใหญ่ที่ร้อยเอ็ดโน้น ฉันร่วมด้วยตั้ง 50 บาท อ๋อ! โบสถ์ใหญ่หลวงพ่อโสธรที่ผ่านไปก็ช่วยกระเบื้องตั้งหลายใบ ท่านทั้งหลาย เรามีส่วนแห่งบุญเหล่านั้นด้วย คนโบราณ นักปฏิบัติสมัยโบราณ สมัยพระพุทธเจ้า เขาขอพรจากครูบาอาจารย์ เขาว่าอย่างไร เขาขอบารมีจากครูบาอาจารย์ว่าอย่างไร เมื่อเขาเคารพเขาเลื่อมใส เขากราบไหว้พระอริยเจ้าเหล่านั้น เขาขอพรว่าอย่างไร ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าหรือดิฉันขอเป็นผู้มีส่วนเข้าถึงธรรมที่พระคุณเจ้าเข้าถึงแล้ว ดิฉันขอมีส่วนแห่งกุศลธรรมที่พระคุณท่านเข้าถึงแล้วหรือได้ปฏิบัติมาแล้ว ขอมีส่วนด้วยเถอะ เขาขออย่างนี้ ไม่ใช่ขอแบบพวกเรา เห็นครูบาอาจารย์องค์ไหนดวงดี ๆ กราบเหมือนกัน ก็ขอ แต่ขอคนละแบบ ท่านผู้เจริญ ท่านสำรวมอินทรีย์สงบเป็นหนึ่ง คงจะมีสมาธิดี ดิฉันขอพึ่งบารมีท่านด้วยเถิด ขอให้ท่านบอกเลขเด็ด ๆ ให้แก่ฉันด้วยเถิด นี่ขอเหมือนกันแต่ขอคนละแบบ ขออย่างนี้ไม่ใช่ขอส่วนแห่งคุณงามความดี
แต่ขอให้เข้าใจคำพูดที่อาตมภาพแง้มมาแต่ละข้อ แต่ละข้อ นั้นว่า เราควรวางหลักการปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นบุญเป็นกุศล เพราะฉะนั้นพวกเรา ถ้าบุญพาไปเกิดสวรรค์ ก็ไปสวรรค์ไปเลย ถ้าบาปพาลงนรก ก็ลงนรกไปซะ ถ้าบุญไม่มาก บาปมากเราก็จะเป็นผู้ลังเล ยังเป็นสัมภะเวสี แสวงหาที่เกิด วิญญาณก็จะล่องลอยไปเรื่อย ๆ แล้ววิญญาณนั้นจะมีความสุขก็ต่อเมื่อ สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย สั่งสมบุญไว้มาก นำสุขมาให้ กระทั่งล่วงลับไปแล้ว วิญญาณนั้นรู้ ลอยไปถึงร้อยเอ็ด สุรินทร์ หรือที่ไหนก็เถอะ โอ้ ฉันเคยบริจาคโบสถ์นะนี่ วันนี้ฉันเคยมาทอดผ้าป่า วิญญาณก็จะมีความสุข ฉันเคยร่วมกับหลวงตามหาบัว 100 บาท วิญญาณของท่านก็จะมีความสุขเพราะลอยไปไหนเจอแต่บุญของท่าน นี้คือการสั่งสมบุญย่อมนำสุขมาให้ แม้ยังไม่ตาย ไปไหนเขาก็เจอแต่บุญ
|