Home เรื่องเล่าตอนเข้าค่าย การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล
การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล
Monday, 15 November 2010 04:25

การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล
แสดงธรรมโดย
พระธรรมโสภณ
ณ วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง  อ.เมือง  จ.นครราชสีมา
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔

 

          โอกาสนี้เป็นโอกาสที่เป็นมงคลอย่างยิ่งที่ท่านศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย  ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้มาบำเพ็ญกุศลคือคุณงามความดีให้เกิดขึ้นแก่ตน  เพื่อตนจะได้มีคุณงามความดีเรียกว่าบุญกุศล  แล้วศิษยานุศิษย์ทั้งหลายจะได้ร่วมกันอุทิศส่วนกุศลคือความดีที่เราบำเพ็ญ ณ บัดนี้ ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป  ให้เป็นประโยชน์แก่หลวงพ่อซึ่งได้ถึงแก่มรณภาพในวันพรุ่งนี้เป็นการครบ 2 ปี พอดี   ความจริงเราทั้งหลายเป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ  ไม่อยากให้หลวงพ่อจากเราไปกะทันหัน เช่นอย่างที่ปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้  เพราะว่าหลวงพ่ออยู่ในเกณฑ์มีอายุที่ยังไม่เป็นปัจฉิมวัย  อยู่ในมัชฌิมวัยเท่านั้น  ถ้าเรานับว่าพุทธกาลล่วงแล้ว 2500 ปี  อายุในศตวรรษโน้นตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่มีอายุ 150 ปี  นางวิสาขาอายุ 120 ปี  ถ้าเราเทียบประมาณว่าพุทธศักราชล่วงแล้ว 1 ศตวรรษ อายุของสัตว์ทั้งหลายจะลดลงมาประมาณศตวรรษละ 10 ปี  เมื่อพุทธศักราชล่วงแล้ว 2500 ปีนี้  จะสังเกตเห็นว่ามนุษย์ทั้งหลายมีอายุเกิน 100 หายาก  อยู่ในระหว่าง 60 ปี 70 ปี 80 ปี อยู่เท่านี้  ถ้าเกิน 80 ปีขึ้นไปแล้ว  ถือว่าเป็นปัจฉิมวัย  วัยสุดท้ายแล้ว    หลวงพ่อของเราอายุเพิ่งจะย่างเข้า 78 ปี 79 ปีเท่านั้น  น่าจะอยู่กับพวกเราอีกนาน  แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่  เพราะอะไร  ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายต่างก็ได้ปฏิบัติธรรม   ได้รับโอวาทจากหลวงพ่อมาพอสมควรแล้ว  จะเห็นได้ว่าชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นธรรมดา  เรียกว่าธรรมดาของธรรม  มโนปุพพังคมา  ธัมมา  สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นอยู่ปรุงแต่งก็ตาม เป็นเองก็ตาม ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกัน  คือมีลักษณะ 3 ประการ  คือ อนิจจัง มีความไม่เที่ยง ไม่คงที่  เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ทุกขัง ทนต่อความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันจะต้องเป็นอย่างนั้น  อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของใคร บังคับไม่ได้ตามใจหวัง  นั้นเป็นอนัตตา  เป็นเองโดยประการทั้งปวง  เพราะฉะนั้นชีวิตของหลวงพ่อของเราจะอยู่ได้สั้นหรืออยู่ได้ยาวก็เป็นไปตามสภาวธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้น  หลวงพ่อจึงมีอายุได้เพียง 78, 79 ปีก็จากเราไป  นั่นเป็นคติธรรมส่วนหนึ่งที่เราพุทธบริษัททั้งหลายจะต้องน้อมเข้ามาสู่ตนของเรา     เราก็จะเป็นอย่างหลวงพ่อ  เราก็จะเป็นอย่างคนอื่น สัตว์อื่น  ล่วงพ้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปไม่ได้   อย่างท่านทั้งหลายสวดมนต์หลังทำวัตรแล้ว สักครู่นี้ว่า  ชะราธัมโมมหิ  ชะรัง อะนะตีโต  เรามีความแก่เป็นธรรมดา  ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้  มีอนิจจัง  พยาธิธัมโมมหิ  พยาธิง  อะนะตีโต  เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา  ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้   มะระณะธัมโมมหิ  มะระณัง  อะนะตีโต     เรามีความตายเป็นธรรมดา  ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้   สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะเหมือนกันหมด   อาจารย์ของเราเป็นแล้ว  เราเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์  ก็จะเป็นอีกไม่ช้าก็เร็ว  ท่านทั้งหลายน้อมเข้ามาพิจารณาให้เห็นจริงในตัวของเรา  อย่างนี้เขาเรียกว่าปฏิบัติธรรม   ให้เห็นตามธรรม   ตามความเป็นจริงที่เป็นจริงอยู่อย่างนั้น   ถ้าเป็นเพียงสวดเฉย ๆ  ไม่น้อมเข้ามาสู่ตนและปฏิบัติให้เห็นแล้วจะไม่ได้พบของจริงในของสิ่งที่มีอยู่ในตัวตนของเรา  ไม่พบธรรมะ  จึงขอฝากท่านทั้งหลายว่าเราทุกท่านเป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย   หลวงพ่อปฏิบัติเป็นตัวอย่าง  สอนเราทุกอย่างให้ปฏิบัติตามทุกอย่างมาแล้วและหลวงพ่อก็ได้จากเราไปตามธรรมะที่เป็นจริง  เรียกว่าอริยสัจธรรม   ส่วนนี้แหละเรียกว่าเป็นทุกขสัจ  คือความจริงที่เราไม่ต้องการ  อย่าว่าแต่พวกเราเป็นปุถุชนกำลังปฏิบัติธรรมอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องการ   พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น กลัวที่สุด  เกลียดที่สุด คือสัจธรรมส่วนนี้    ท่านจึงเสียสละในชีวิตของท่านออกมาปฏิบัติให้เห็นความจริง  ในส่วนที่เป็นสัจธรรม  ทุกข์เป็นตัวทุกข์  เมื่อเห็นแล้วจะได้ปฏิบัติตนเพื่อหนีทุกข์  ทุกข์ที่ต้องได้รับเพราะความเป็นปุถุชนทั้งหลาย  พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น  กลัวและเกลียดที่สุด  นั่นคือ  ชาติปิ ทุกขา  แม้ความเกิดเป็นทุกข์  ชะราปิ  ทุกขา  ความแก่เป็นทุกข์  มะระฌัมปิ  ทุกขัง  แม้ความตายเป็นทุกข์  พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น  เห็นสัจจะส่วนนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง  ที่เบียดเบียนชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย  ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย  ไม่ว่าพระว่าเณร   ไม่ว่าพระธรรมดาหลวงปู่เจ้าคุณทั้งหลายทั้งปวงหมด    เกิดแล้วต้องแก่  เกิดแล้วต้องตาย  เกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์ประจำสังขาร  เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงได้ทรงแสดงหลักสัจธรรมเหล่านี้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทุกหมู่เหล่าให้ตื่นเถิดอย่าประมาทหลงใหล  อย่าติดยึดในทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นธรรมดาของสังขาร  ขึ้นชื่อว่าสังขารคือความปรุงแต่ง  จะปรุงแต่งด้วยตนก็ตาม  ด้วยวัตถุอื่นก็ตาม  ด้วยธรรมชาติก็ตาม  สัพเพ สังขารา อนิจจา  สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง  สัพเพ สังขารา ทุกขา  สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์  ทนต่อความเป็นอย่างนั้นไม่ได้  สัพเพ ธัมมา อนัตตา   ธรรมทั้งหลายที่เป็นสภาวะที่เป็นอยู่ในโลกทั้งหลายทั้งปวงนี้  ไม่ใช่ตัวตน  ไม่มีตัวไม่มีตน  เป็นสภาวะที่อยู่อย่างนั้น  เป็นอย่างนั้น   เมื่อเราปฏิบัติเข้าไปให้เห็นธาตุแท้ของความจริงในลักษณะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเป็นอักษรก็ดี  เป็นพระคาถาตรัสไว้ก็ดี  เรียกว่าปริยัติ  พึงทำความเข้าใจในปริยัติอันนั้น  ให้เป็นแบบเป็นแผน  รู้นัยที่จะพึงปฏิบัติตามให้ครบต่อข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นธรรมะนั้นๆ ให้ได้  จึงจะได้ชื่อว่าเราได้ปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนเรา  พระพุทธเจ้าทรงสอนเราว่า  อักขาธาโร ปะผาคะตา  ธรรมะที่ตถาคตแสดงออกไปทั้งหลายทั้งปวงนั้น  สวากขาโต  หมดจดแล้วนั้น  ยังแต่ท่านทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามเท่านั้น  ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก  บอกแล้วท่านทั้งหลายจะต้องประพฤติปฏิบัติตามให้เห็นข้อเท็จจริงนั้นๆ แน่แก่ใจแก่ปัญญาของตน   แล้วธรรมะนั้นๆ จึงจะตามรักษาอภิบาลท่านให้เป็นผู้มีความสุข  ให้ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงออกไปจากท่าน  มีความสุขเท่านั้นที่ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมพบประสบเห็น  อันนี้คือคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้โดยทั่วไป  หลวงพ่อพุธ ฐานิโยซึ่งเป็นครูบาอาจารย์พ่อแม่ของเรา  ท่านได้สอนพวกเราตั้งแต่ต้นคือทุกคนให้เป็นผู้ปฏิบัติดี  ดีตรงไหน  ดีกาย  ดีวาจา และดีใจ  ดีกาย ดีวาจา จะปฏิบัติตรงไหนจึงจะดี  นั่นคือปฏิบัติตามศีล  ศีล 5 ก็ดี  ศีล 8 ก็ดี  ศีล 10 ก็ดี  ศีล 227 ก็ดี  แม้แต่ศีลนางภิกษุณี 311 ก็ดี  นั่นเป็นเพียงหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เราปฏิบัติตาม เรียกว่าวินัย  ตัวที่เราจะปฏิบัตินั้น  เราต้องน้อมข้อวัตรปฏิบัตินั้นเข้ามาสู่ใจ  มโนปุพพังคมา ธัมมา  ในตัวตนของเรามีใจเป็นใหญ่  มีใจเป็นประธาน  สำเร็จอยู่ที่ใจ  พูดถึงการรักษาศีลที่ท่านทั้งหลายมานั่งปฏิบัติอยู่นี้  น้อมเอาศีลเข้ามาสู่ใจ  เจตนาหัง ภิกขะเว  กัมมัง  วทามิ   พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า  ภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวว่าเจตนาเป็นตัวกรรม  คือคิดอย่างไร  เจตนาคือใจคิด  คิดอย่างไร  ใจจะสั่งให้กายทำอย่างนั้น   ใจคิดอย่างไร  ใจก็จะสั่งให้วาจาพูดอย่างนั้น   เมื่อใจเศร้าหมองทุกสิ่งทุกอย่างเศร้าหมองไปหมด   เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นอยู่ที่ใจ  ขอทุกท่านได้โปรดน้อมเอาคุณลักษณะของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย น้อมเข้ามาสู่ตัวของเราแล้วปฏิบัติให้ตั้งอยู่ที่ใจ  เอาใจเป็นหลัก  แล้วก็ตั้งใจปฏิบัติเหมือนท่าน   ได้ฟังหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งเป็นอาจารย์ของเราเทศน์  ท่านจะมาย้ำอยู่ในศีล 5    ศีล 5 เป็นพื้นฐานนี้เป็นการปิดประตูเวรประตูภัย  ปิดนรกอเวจีได้หมด  เพราะอะไร  เพราะว่าออกมาจากเจตนา  ถ้าเรามีเจตนา สะมาทิยามิ   ข้าพเจ้าขอสมาทาน  เวรมณี  เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น  ใจบอกงดเว้น  งดจริง ๆ  งดให้กายทำบาป  งดให้วาจาพูดคำหยาบ  ให้พูดแต่ความจริง  ให้ทำแต่ความดี  ทุกสิ่งทุกประการ  ไม่ละเมิดในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้จนใจของเราบริสุทธิ์ผุดผ่อง  การที่พระองค์ตรัสว่า  ปภัสสะระมิทัง จิตตัง  จิตดวงแรกเป็นจิตประภัสสร ขาวสะอาด มองเห็นเงาตัวเอง  เห็นตัวเอง  ถ้าปฏิบัติจิตของตนผ่องใสแล้ว   จิตเต  จิตตานุปัสสี วิหะราติ  จะเห็นจิตในจิต   จิตของเราผ่องใสก็รู้  จิตของเราไม่ผ่องใสก็รู้    จิตของเรามีความโลภก็รู้  มีความโกรธก็รู้  มีความหลงก็รู้  รู้หมด  เมื่อรู้อย่างนั้น  ใจของเราเองก็จะละอายแก่ตัวเอง  เพราะเรามองเห็นตัวของเราเองเหมือนเรามองกระจกดูเงาหน้าของเรา  หน้าเปลื้อนเปรอะเลอะเทอะอย่างไรเราก็เห็น  ชอบไม่ชอบก็รู้   เมื่อการปฏิบัติจิตของเราบริสุทธิ์ไป  หรือว่าเป็นสมาธิเหมือนอย่างที่หลวงพ่อพุธ ฐานิโยท่านเทศน์  ท่านสอนเรา  ความจริงส่วนนี้จะปรากฏแก่ตัวเราทั้งหมด  แล้วน้อมเอาพระคุณส่วนนี้เข้ามาปฏิบัติให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา  ความจริงการปฏิบัตินั้น  ว่ายากก็ยาก  ว่าง่ายก็ดูจะเกินไป  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ภาวิตา พหุลีกะตา  ภาวิตาหมายความว่า ทำเข้า  ภาวนาเข้า  ปฏิบัติเข้า  พหุลีกะตา ทำบ่อยๆ  ทำให้ติดต่อกัน  อย่าให้อารมณ์มันขาดตอน 

 


          ท่านทั้งหลายเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโยปฏิบัติตามท่าน  จะเห็นว่าการปฏิบัติเมื่อจิตใจเป็นสมาธิแล้ว   ใจมันจะดื่มด่ำ  มีอารมณ์เป็นเครื่องยึดมั่นติดต่อกันไปตามฐานะที่นั่งสมาธิได้  มันเกิดขึ้นในตอนเป็นสมาธิ  เมื่อมันได้เกิดความผาสุก มันจะเพลิดเพลินตาม  แล้วตามปฏิบัติมีวิริยะความเพียรไม่ขาดตอน  แม้แต่ขันธ์ก็ต้องพิจารณา  แม้แต่เดินบิณฑบาตก็ต้องภาวนา  เดินจงกรมก็ต้องภาวนา  จะเห็นอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมทุกอิริยาบถ   ที่ปฏิบัติถ้าเป็นภาวิตา  พหุลีกะตา ยืน เดิน นั่ง นอน สี่อิริยาบถนี้  ผู้ปฏิบัติเข้าถึงแล้วจะดูดดื่ม  ไม่ลดละ  นั่นแหละท่านจะเห็นความสุขอย่างแท้จริงในชีวิตของผู้ปฏิบัติ 

 

          อาตมามาอยู่วัดสุทธจินดา  จ.นครราชสีมานี้  อาตมาไม่ใช่เป็นคนโคราชแท้  แต่ว่าโตที่โคราช  มาอยู่เมื่อ พ.ศ. 2482  วัดป่าสาลวันนี้ยังรกและเงียบสงัดวังเวง  ได้มาอยู่กับท่านเจ้าคุณธรรมปฏิญาณ เป็นอุปัชฌาย์  ท่านใฝ่ฝันในทางปฏิบัติเหมือนกัน  ตอนนั้นเป็นเณรน้อยแค่อายุ 13 ปี ภาษีภาษาไม่เท่าไร  แต่ในฐานะที่ปฏิบัติครูบาอาจารย์ ท่านนำเข้ามาที่นี่   การเข้ามาที่วัดป่าสาลวันนี้จะเห็นว่าเป็นที่สงบวิเวกวังเวงชอบกล  พอเข้ามาในบริเวณวัดไม่ถึง 20-30 วา  จะเห็นหลวงพ่อเดินจงกรมด้วยความสงบ  เราเป็นเณรน้อยก็เกรงใจท่านจะไปเหยียบใบไม้สักใบหนึ่งดังแกร็บ ๆ กลัวบาปกลัวกรรม  พยายามเลี่ยงไปอย่าให้ท่านได้กระทบกระเทือน   ไปอีกมุมหนึ่งจะเห็นหลวงพ่อนั่งสมาธิเฉย  น่าจะเป็นบุญเป็นกุศลอย่างยิ่ง  ก็พยายามอดกลั้นเลี่ยงอย่าให้มีเสียงดัง  กลัวกระทบกระเทือนท่าน  จะเต็มไปหมดในวัดป่าสาลวัน  ไปตรงไหนก็เจอ  ไม่เดินจงกรมก็นั่งสมาธิภาวนา  เมื่อมาเห็นภาคปฏิบัติของครูบาอาจารย์ในวัดป่าสาลวันนี้แล้ว  เมื่อมาบวกกับคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนว่า  ภาวิตา พหุลีกะตา  จงบำเพ็ญเข้าไป  จงทำให้มาก ให้บ่อยเข้าไป  สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันจะเกิดขึ้นแก่ท่าน  ท่านใฝ่ใจใฝ่ปฏิบัติให้จริงจังเข้าไป  ในการปฏิบัติธรรมนี้  ใครปฏิบัติแล้วก็จะเหมือนกัน  จะสันนิษฐานลงในลักษณะอย่างนี้จึงไม่กล้าจะเข้ามารบ กวนวัดป่าสาลวันอีก   นอกจากจะมากับหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ เจ้าคุณธรรมปฏิญาณ  เพื่อจะมาฟังธรรมะของอาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสเป็นประธานสงฆ์ที่นี่   แต่ในฐานะที่เป็นสามเณรน้อย บาปกรรมเจ้าของมาก  น่าจะได้มาปฏิบัติอย่างนี้  แต่เปล่าได้ไปรับภาระแบกคัมภีร์คือฝ่ายบริหาร  จึงได้แต่เพียงสนับสนุนครูบาอาจารย์  แม้หลวงพ่อพุธ ฐานิโยก็รู้จักกับท่าน  และรู้จักประวัติของท่านตั้งแต่ไปจ.อุบลราชธานี  ตามสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ก็ตาม  ตามสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ธัมมธโร พิมพ์) ก็ตาม   อยากได้ไปพบท่านเจ้าคุณหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ในขณะนั้นท่านอยู่ที่วัดใต้ วัดบูรพา   ท่านเป็นผู้ที่มุ่งปฏิบัติ   ปฏิบัติดี สมเด็จทั้ง 2 ก็ยกย่องบูชาว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี  ด้วยอานิสงส์ของการปฏิบัติดีของท่าน   ท่านเทศน์จับใจ  อย่าว่าแต่คนใหญ่ฟังเทศน์ของท่านแล้วจับใจ  เด็กนักเรียนอนุบาลหรือชั้นประถม  ถ้าได้ไปฟังเทศน์หลวงพ่อ  จะต้องตามไปกราบหลวงพ่อถึงวัด  เพราะคำเทศน์ของท่านไพเราะและเข้าถึงใจ  เราฟังก็เหมือนกันกับเด็กฟัง  หลวงพ่อพูดง่าย  ฟังง่าย เข้าใจง่าย  เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายได้ฟังเทศน์ของท่านนั้นจึงเข้าใจในทางปฏิบัติ  เข้าใจในหลักเทศน์ของท่าน  เราจึงถวายตนเป็นลูกศิษย์ของท่าน  แม้อาตมาผู้เทศน์อยู่นี้ก็เหมือนกัน  ก็ยอมถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของท่าน  จนกระทั่งหลวงพ่อได้เล่าสู่ฟังว่า  ท่านออกป่าธุดงค์ปฏิบัติตามหลวงปู่เสาร์  หลวงปู่มั่น  ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เป็นเณรพร้อมด้วยท่านเจ้าคุณธรรมปฏิญาณ  สิงห์ เป็นเจ้าคณะภาค ๑๐ วัดศรีทอง อุบลฯ  พระอุดมญาณโมลี  เจ้าคณะภาค ๑๑  วัดสัมพันธวงศ์   พันเอกปิ่น มุทุกัน  ซึ่งไปอยู่วัดสัมพันธวงศ์  หลายคนอีกที่จำไม่ได้    เป็นเด็กไปด้วยกันแล้วได้บวชเป็นเณรน้อยปฏิบัติอาจารย์เสาร์  อาจารย์มั่น  ขึ้นเขา ลงห้วย  ข้ามไปฝั่งประเทศลาว ถึงแม่น้ำเมย  ขึ้นเหนือขึ้นไป  อดหรือไม่อดไม่ต้องพูดกัน    อาจารย์เสาร์  อาจารย์มั่นได้สั่งให้สามเณรพุธก็ดี  สามเณรปิ่น มุทุกันก็ดี  สามเณรมานิต  อุดมญาณโมลีก็ดี  สามเณรฉิมก็ดี  ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ  จึงค่อยมาปฏิบัติใหม่   ที่ท่านสั่งอย่างนี้ก็แสดงว่า   พ่อแม่ครูอาจารย์เห็นการณ์ไกลว่า  การรักษาพระพุทธศาสนา  รักษาพระสัทธรรมไว้นั้น  ไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติอย่างเดียว  ต้องมีครบปริยัติ  ปฏิบัติ  ปฏิเวท  ถ้าไม่มีปริยัติศึกษาท่องบ่นสาธยายหลักพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ 45 ปีนั้น   ส่วนนี้ก็เสื่อมไปก่อน  จะไม่มีแนวทางของการปฏิบัติ  ไม่มีแผนที่ที่จะเข้าถึงภูมิประเทศ   ไม่มีตำรายาที่จะประกอบตัวยาเพื่อรักษาโรค   เพราะธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้เป็นธรรมโอสถรักษาโรค แต่ว่าโรคใจ  ไม่ใช่โรคผิวหนัง   โรคผิวหนังนี้มันเป็นเรื่องของนายแพทย์ที่จะต้องรักษา   โรคใจคือโรคปฏิบัติ   ต้องปฏิบัติตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  โรคใจคือ ตัวโลภ  ตัวโกรธ  ตัวหลง  ราคะ  โทสะ  โมหะ  นั่นเป็นโรคจิตโรคใจ  ได้เกาะใครแล้วก็  ย่ำยีใครแล้วก็  ลงนรกหมกไหม้อเวจีเป็นที่สุด 

 


          จึงเห็นว่าหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นบุคคลที่ครูบาอาจารย์ได้เลือกแล้ว  มองเห็นแล้ว  ว่าท่านผู้นี้จะต้องมีดี  มีปุพเพกตบุญ  บุญอันได้กระทำไว้แต่ชาติก่อน  ที่จะต้องมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือบำเพ็ญตนให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง  


          1.ได้บำเพ็ญตนด้านทางปริยัติ   หลวงพ่อพุธเราเรียนปริยัติธรรมได้เปรียญ 4 ประโยค  
          2. ออกมาปฏิบัติเพราะเคยปฏิบัติกับท่านมาแล้ว  มาดำเนินทางปฏิบัติอีก จิตใจถึงสงบ   การเทศนาว่าการต่างๆ จึงจับจิตจับใจของผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง   หลังจากนั้นท่านได้เข้ามาสู่ฝ่ายบริหาร  มาเป็นเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ  มาเป็นเจ้าอาวาสวัดแสนสำราญ  ซึ่งเป็นวัดของครูบาอาจารย์  ท่านอาจารย์ใหญ่ อาจารย์สิงห์  กับท่านอาจารย์มหาปิ่น ไปสร้างที่นั่น  ให้มานำหมู่ทั้งหลายปฏิบัติเป็นแนวทางของการปฏิบัติตามหลักของพ่อแม่ครูอาจารย์โชกโชนที่นั่น   ถ้าไปพูดกับชาว จ.อุบล  จะไม่รู้จักหลวงพ่อพุธ ฐานิโยจะไม่มี แม้กระทั่งเด็ก   แล้วท่านมีบุญวาสนา   พ่อแม่ครูอาจารย์ฝ่ายบริหารนำท่านมาอยู่ที่ จ.ศรีสะเกษ  วัดหลวงสุมังคลาราม  ให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดเป็นฝ่ายบริหารขึ้นมา    เราทั้งหลายที่เป็นฝ่ายบริหารด้วยกันมองเห็นว่า หลวงพ่อพุธ ฐานิโยเป็นผู้ปฏิบัติ นำศิษยานุศิษย์ปฏิบัติจะให้หลวงพ่อมาเป็นฝ่ายบริหาร   แบกคัมภีร์เหมือนอย่างพวกบริหารทั้งหลาย ประโยชน์คงจะน้อย   เพราะฉะนั้นจึงได้ลงความเห็นว่า  ควรจะให้หลวงพ่อพุธ ฐานิโยมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน  ซึ่งเป็นวัดพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้มาตั้งหลักไว้ที่นี่  เป็นด่านแรกที่จะนำพระปฏิบัติทางอีสาน  ออกไปสู่ภาคกลาง  ภาคตะวันออก  ภาคใต้  ภาคเหนือ  ต้องมาผ่านวัดป่าสาลวันก่อน  คืออาจารย์ใหญ่สิงห์  ขันตยาคโม  ตามที่เราทั้งหลายรู้กัน

 


          เมื่อหลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ก็มีบารมีเพิ่มเติม  1.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยราชินีเสด็จอยากจะพบกับพระลูกศิษย์ของอาจารย์มั่น  อาจารย์เสาร์ มีมั๊ยที่โคราช  ผู้ใหญ่ไปถามที่วัดสุทธจินดา   ก็ตอบเขาว่า  มีอยู่ที่วัดป่าสาลวัน  ชื่อ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย  ท่านก็เสด็จมาส่งเสริมพระบารมีตรงนี้ให้คนทั้งหลายได้รู้จักว่าพระดีลูกศิษย์อาจารย์มั่นมาอยู่ที่ตรงนี้   ใครอยากได้ของดีมาที่ตรงนี้  เสร็จแล้วความดีอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นอัฐิของพ่อแม่ครูอาจารย์ มีอาจารย์มั่นเป็นต้น  ซึ่งอยู่ที่จ.สกลนคร  มาอยู่ที่วัดป่าสาลวันได้อย่างไร  อาตมาไม่ได้ติดตาม  แต่ทราบมาว่านายวัน  คมนามูล เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของหลวงปู่มั่นเหมือนกัน    เอามาอยู่ที่วัดป่าสาลวัน ไม่มีใครสนใจ  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอัฐิของหลวงปู่มั่นเป็นพระธาตุไม่ใช่กระดูกธรรมดา   แต่ไม่มีใครสนใจจนเมื่อท่านเจ้าคุณอริยเวที เขียน 9 ประโยค  เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา  อยากจะทำบุญให้อาจารย์มั่น  ไปดูอัฐิของอาจารย์มั่นที่เก็บไว้บูชาไม่มี   นึกได้ถึงคุณวัน  คมนามูล    จึงนำอาตมาไปหาคุณวัน คมนามูลที่บ้าน  อยากจะขออัฐิของหลวงปู่มั่นไปทำบุญสักชิ้นหนึ่ง  คุณวัน  คมนามูลก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอัฐิธาตุของหลวงปู่มั่นนั้นเป็นพระธาตุ   จึงได้เอาโกศซึ่งอยู่หน้าบันไดขึ้นลงก็กราบ  เอามาเปิดดู กับเปิดไม่ได้  ต้องใช้เหล็กมาตัดออก  พอตัดเข้าไปถึงเท่านั้น  เหลืองทั้งหมด  ทั้ง ๆ ที่เป็นอังคารหรือขี้เถ้า  เป็นพระธาตุอาจารย์มั่นทั้งหมด   ขอนายวันมา 3 องค์  มาทำบุญที่วัดสุทธจินดา   นอกนั้นนายวันก็ให้ลูกให้หลานคนละชิ้น สองชิ้น สามชิ้น เพื่อเป็นสิริมงคล  จึงมาทราบที่วัดป่าสาลวันมีอีกแล้วก็มาทราบถึงนายเชาวน์  ณ ศีลวันต์    มาทราบอย่างนี้จึงได้ทำมณฑป เอามาเป็นหิ้งมณฑปที่เราเห็นอยู่นี้  เพื่อมาบรรจุแล้วบรรจุไว้ที่ศาลาการเปรียญ  ที่ในหลวงเสด็จขึ้นไปที่ตรงนั้น  ได้กราบที่ตรงนั้น   จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อพุธ ฐานิโยนั้นเป็นผู้มีบุญบารมี  ที่เราทั้งหลายเป็นผู้ที่มีบุญด้วย  จึงได้มาพบครูบาอาจารย์ที่สุปฏิบัติ  คือเป็นผู้ปฏิบัติดี  ปฏิบัติดีในศีล  ปาฏิโมกสังวรศีล คือศีล 227  ไม่ต้องพูดถึง  อินทรียสังวรศีล คืออินทรีย์ 5 ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ  ท่านเป็นคนที่สงบเสงี่ยม  ปฏิบัติในส่วนนี้ให้เราได้เห็นได้ปฏิบัติตาม  และได้พูดอยู่เสมอว่าการรักษาศีลให้รักษาอายตนะของตนให้ครบถ้วนบริบูรณ์  เพราะจะเป็นสมาธิไปพร้อมกัน  นั่นคือให้ระวังตา หู จมูก ลิ้น กายและใจคู่กันกับกายภายนอกให้มันสงบจากกัน  จิตใจของผู้ปฏิบัติจึงจะสงบ  ถ้ามิฉะนั้นออกจากฆราวาส  เขาเรียกว่าออกจากปากของกาม และฆราวาสมา  มาถึงวัดกุฎีในที่ปฏิบัติก็ดี  นั่งหลับตาตามวิธีที่นั่งสมาธิ  พอหลับลงไปแล้ว   ตามันคิดไปแล้วใจมันคิด  รูปโน้นที่มองเห็นกลางวันก็ดี  วันก่อนก็ดี ผ่านมานี้ก็ดี มันเป็นอย่างโน้นอย่างนี้  ถ้าอย่างนี้มันไม่สงบ  อารมณ์และรูปมันติดตามมา  มันไม่สงบ  ทำอย่างไรมันจึงจะสงบ  ออกจากตากับรูป  รูปคือรูป  เห็นเหมือนไม่เห็น   ทำยังไงมันจึงจะไม่เห็น  ให้มันสงบออกจากกันอย่างนี้  ชื่อจริงชื่อว่าใจเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่รับรู้รูป  ตาของเรามี  ไม่รับรู้รูป  หูของเรามีไม่รู้จักว่าเสียง  ไม่ให้กระทบกันออกจากกัน  ให้ห่างจากกันให้ได้  ให้สลัดจากกันให้ได้  อย่างนี้เรียกว่าสงัดจากกิเลส   กิเลสคือมันเข้ามาจากทางตา  ทางหู  จมูก ลิ้น กาย ใจ  ถ้ามันเข้ามาอย่างนี้   เรากำหนดรู้  รู้เท่า รู้ทัน  พิจารณาให้เห็นเหมือนที่สวดกันเมื่อตะกี้นี้ว่า  เกสา ผมทั้งหลาย  โลมา ขนทั้งหลาย  สุดท้ายก็ อสุจิ คือไม่สวยไม่งามน่าเกลียด  โสโครก  พิจารณามั๊ย  พิจารณาให้มันซึ้ง   บวชกับพระก็เหมือนกัน  อาตมาเป็นอุปัชฌาย์  กุลบุตรต้องสอนกรรมฐาน  ปัญจะกรรมฐาน   กรรมฐานทั้ง 5  เกสา  โลมา  นขา  ทันตา  ตะโจ  พิจารณาให้เห็นเป็นอสุภะนะ   สอนอย่าให้เห็นเป็นอย่างโลกที่เห็น  เรากลับกัน  โลกเขาเห็นว่าของสมมติเป็นหนังเหล่านี้เป็นของสวย ของงาม  น่ารักน่าใคร่  ประดับประดาตกแต่ง  นั่นเขาลวงโลก ลวงตา  แต่พระพุทธเจ้าสอนว่าให้เห็นเป็นอสุภะนะด้วยใจ 

 


          ถ้าพิจารณาหยาบ ๆ ให้พิจารณาไปถึงว่า  ผม ขน  เล็บ ฟัน หนัง 5 ประการนี้  เกิดจากอะไร  เกิดจากอาหารที่เราบริโภคเข้าไป  อาหารที่เราบริโภคเข้าไปมันมีอะไรบ้าง  มองมัน  ข้าวก็ตายต้องหุง  ผักก็ตายต้องต้ม  เนื้อตับก็ตายต้องแกง  ทุกอย่างตายหมด  แล้วกินของตาย  ของตายเหล่านั้น ถ้ามันตกอยู่ในป่าในบ้าน  ไม่ต้องไปทำอะไรมัน  มันกลิ่นเหม็นบูด  เหม็นคาว เหม็นเน่า  แมลงวันไปเกาะไปตอมน่าสะอิดสะเอียนเป็นอย่างยิ่ง  เรากินได้มั๊ย  ไม่ได้  นั่นเป็นหยาบ ๆ น้อมเข้ามา  มันอยู่อย่างนั้น  กลับเข้าไปข้างในของเรา  ก็อันเดียวกัน  ลึกเข้าไปข้างใน  ไฟธาตุของเราย่อยมาเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง  เห็นมั๊ย  ไม่อาบน้ำกี่ ช.ม. เหม็นสาบ เหม็นคาว  เหม็นบูด  เหม็นเน่า  ถ้าลองไม่อาบสัก 7 วัน  อีแร้งเป็นที่ 2 ตัวเราเป็นที่ 1  เหม็น  เพียงหยาบ ๆ เพียงเท่านี้ก็รู้  ใจของเราเบื้องต้น น้อมเข้ามาจะเห็นว่า  เป็นของจริงที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสไว้ทุกประการ  แล้วก็พิจารณาให้เห็นของจริง  เมื่อเป็นอย่างนี้จิตใจของเราก็จะคลายความอยากได้  คลายความกำหนัด คลายโกรธ คลายหลง  แล้วก็วางตัวเป็นกลางปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรม  อย่างสั้น ๆ ก็คือว่า ละความชั่ว ทำความดี  รักษาจิตใจของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี   เท่านี้ก็จะเป็นเบื้องต้นของการเข้าถึงพระพุทธศาสนา 

 

          เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมาก็จะพูดมากไปหน่อย   เพื่อให้เห็นว่าเราทั้งหลายเป็นศิษย์ด้วยกัน  ศิษย์หลวงพ่อพุธด้วยกัน  มาพูดกันให้เข้าใจว่าเราเป็นศิษย์ของท่าน  ท่านสอนเราทุกอย่างน้อมเข้ามาในใจของเราแล้วปฏิบัติตามให้เป็นสุปฏิปันโนอย่างท่าน  แล้วก็น้อมความดีที่เราปฏิบัติเหล่านี้อุทิศส่วนกุศลให้หลวงพ่อได้ไปสู่สุคติ  อย่ากลับถอยหลังมาเป็นชาติปิ ทุกขา  ชะราปิ ทุกขา   มะระณัมปิ ทุกขัง  ให้เดินไป  ให้มองเห็นเป็นปฏิจสมุปบาท  อย่าให้มาเกิดอีกได้เป็นอันขาด  พวกเราทั้งหลายก็จะตั้งใจปฏิบัติตามท่าน  เพื่อให้มันเป็นไปอย่างนั้นตามกำลังความสามารถของตน ของตน  เพราะฉะนั้นในที่สุดนี้อาตมาขอเชิญชวนท่านศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย  ทุกหัวใจ  ได้อธิษฐานจิตของตน  รวบรวมกิจกรรมที่เราทำในวันนี้ หรือวันอื่น  ให้มาสู่ใจของเรา   แล้วน้อมใจของเรานั้น อุทิศส่วนกุศลถวายแด่หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งเป็นอาจารย์ของเรา  ให้หลวงพ่อมีอยู่เป็นสุข เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นพละปัจจัย  น้อมนำเอาดวงจิตของหลวงพ่อขึ้นสู่สุคติยิ่ง ๆ ขึ้นไป  ด้วยการปฏิบัติตามท่านทุกอย่างทุกประการให้สมกับเราทั้งหลายเป็นศิษย์ของท่าน  มาปฏิบัติเพื่อบูชาแด่พระคุณของท่าน  จะได้เป็นมงคลในชีวิตของเราและเป็นมงคลของหลวงพ่อ  ตามที่ได้ยกเป็นพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคล 38 ประการข้อที่ 3 ว่า ปูชา จะ ปูชะนียานัง การบูชาผู้ที่สมควรบูชา มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นต้น  เอตัมมังคะละมุตตะมัง  เป็นเหตุให้เกิดความเจริญทั้งใจ ทั้งกาย  ทั้งวาจาทุกอย่าง 

 


          จึงขออำนาจบุญกุศลที่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติอยู่ขณะนี้  ได้ตั้งใจฟังในลักษณะของการสอนของครูบาอาจารย์ของเรา  น้อมเข้ามาเพื่อปฏิบัติให้เป็นเช่นนั้นเท่าที่จะทำได้  จงเป็นบุญกุศลเป็นบุญฤทธิ์ ประสิทธิ์ประสาทให้ ศิษยานุศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตทุก ๆ ท่าน จงเป็นผู้เจริญในธรรมะคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์และของพระพุทธศาสนา  ขอพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงตามอภิบาลรักษาทุก ๆ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติพระธรรม  ให้เกิดสุขความเจริญแก่จิตของตนโดยทั่วกัน ณ บัดนี้เทอญ


 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner