พระราชปัญญาวิสารัท (หลวงปู่เหลือง ฉนฺทาคโม)วัดกระดึงทอง จ.บุรีรัมย์ เทศน์ในงานวันบูรพาจารย์ ณ วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ท่านพุทธบริษัททั้งหลายซึ่งได้พร้อมเพรียงกันมาปฏิบัติธรรมในเวลานี้ ซึ่งต่างคนต่างก็มีศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความเชื่อความเลื่อมใสในคุณครูบาอาจารย์ มีความเคารพนับถือผู้ที่มีคุณมีพ่อมีแม่เป็นต้น โดยเฉพาะในวันนี้เป็นวันดีเป็นโอกาสดี หากโอกาสไม่ดีไม่อำนวยให้แล้ว เราก็คงจะไม่ได้มานั่งอยู่ร่วมกันทำวัตรสวดมนต์ฟังเทศน์ ฟังธรรมอย่างนี้ โอกาสอย่างนี้หายากเข้าใจว่าพวกญาติโยมต่างคนต่างมาหลายทิศหลายทางนะ แม้อาตมาเองก็นาน ๆ มาครั้งหนึ่งที่นี่ล่ะ ก็ไม่ค่อยจะรู้จักญาติโยมทั่วเหมือนกัน ญาติโยมก็ไม่รู้จักอาตมาเหมือนกันเพราะต่างคนต่างมา แต่จริง ๆ แล้วอาตมา แต่เป็นเด็กเคยอยู่ที่วัดนี้ จะขอพูดไปสักนิดเพื่อเป็นการทบทวนความรู้ความจำซึ่งได้พบได้ผ่านมาในอดีตที่ผ่านมาแล้ว แต่ในอดีตนั้นก็เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว มันจะดีจะร้ายอย่างไรก็ผ่านมาแล้ว มีทั้งดีและไม่ดี เท่า ๆ ที่รู้มานะ มีทั้งดีและไม่ดีปนกันอยู่ แต่เพราะด้วยอำนาจพระคุณบุญบารมีครูบาอาจารย์แต่ก่อนนั้น ในยุคแรกยุคต้น ครูบาอาจารย์ท่านมีบารมีแก่กล้า มีบารมีมาก เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย เรียกว่ามีความเจริญรุ่งเรืองควรแก่การประพฤติปฏิบัติ แต่ด้วยอำนาจความไม่เที่ยงแท้แน่นอน คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่คงที่อยู่เหมือนเดิม มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง คือเปลี่ยนไปในทางดีบ้าง ไปในทางชั่วบ้าง ครูบาอาจารย์บางองค์บางท่านเท่าที่รู้มา ท่านก็ค่อยทยอยกันไปล้มหายตายจาก พูดง่าย ๆ คือว่ามรณภาพ เมื่อกาลเวลาได้ผ่านไปล่วงไป ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีอะไรคงที่เหมือนเดิม ทั้งความดีและความชั่ว ไม่เที่ยง มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงทุกวันทุกปี
แล้วพวกเราทั้งหลายที่เกิดมานี่ รวมทั้งสัตว์ด้วย สิ่งที่ต้องการนั้นคืออะไร สิ่งที่ต้องการก็คงไม่พ้นจากความสุขกายสบายใจ ความอยู่ปลอดภัย ความปราศจากทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บ ให้อยู่ดีกินดีให้มีความสุขความเจริญ อันนี้เป็นเป้าหมายที่ต้องการ ความต้องการอย่างนี้มีด้วยกันทุกคน ไม่ว่าผู้แก่ผู้เฒ่าไม่ว่าหนุ่มสาว ไม่ว่าเด็กเล็กเด็กน้อย ไม่ว่าคนมีคนจน ตลอดถึงสัตว์เดรัจฉานด้วยล้วนแล้วต้องการความสุข อะไร ๆ ก็อยากได้ของดี ๆ อะไรไม่ดีไม่อยากได้ไม่ชอบ จะเป็นเครื่องนุ่งเครื่องห่มก็อยากได้สวย ๆ งาม ๆ ขี้เหร่ไม่อยากได้ อย่างเช่นอาหารการบริโภคอะไรที่มันอร่อยอยากได้มาฉันมาบริโภค ส่วนสิ่งที่ไม่ดีนี่ไม่ปรารถนา เกลียดชังซ้ำไป เป็นงั้นทีนี้เมื่อเรามองในจุดนี้ เราจะพูดได้ว่าทั้งมนุษย์และสัตว์ต้องการความสุขความเจริญ แม้แต่สัตว์ก็ต้องการความสุขความเจริญอยู่ทุกผู้ทุกคนไปแต่สิ่งที่เราต้องการนั้น ต้องการสิ่งที่ดีที่งาม ที่คงทนถาวร ทีนี้ เมื่อเราต้องการสิ่งที่ดีที่งามอย่างนี้ ได้สมมั่นสมหมายตามที่ต้องการทุกอย่างไปหรือไม่ อันนี้ก็ให้เราคิดดูเองก็แล้วกัน คือบางทีเนี่ยะของบางชิ้นบางอย่าง เราไม่อยากได้เลยแต่มันได้ ทำไมเป็นซะอย่างนั้น สิ่งที่ไม่อยากได้มันได้คืออะไร คือความเจ็บความปวด ความป่วยไข้ ความไม่มีเงินหรือความทุกข์ยาก ยากจน ความทุกข์ทรมาน อันนี้เราไม่อยากได้ ไม่อยากได้แต่มันได้ จริงมั๊ยหละ ลองคิดดู บางทีเราพยายามกำจัดปัดเป่า ไม่อยากให้มันมีมันเป็น แต่มันก็ไม่พ้นไปทำไมเป็นอย่างนี้น้อ ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เราก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่หลวงพ่อ ฟังเทศน์ฟังธรรมมาหลายกัณฑ์แล้ว โดยเฉพาะวันนี้อาตมามาเทศน์ คงจะเป็นกัณฑ์ที่ 4 ที่ 5 แล้ว เพราะฉะนั้นจึงขอเอาเรื่องเหล่านี้มาพูด เพียงแต่เป็นผู้มาช่วยส่งเสริมเพิ่มความรู้ความเข้าใจของญาติโยมผู้มีศรัทธาเลื่อมใสมาประพฤติปฏิบัติเป็นการสนองคุณครูบาอาจารย์
คือคนเรานั้นเกิดมาแล้วต้องมีที่พึ่ง ที่พึ่งก็มีอยู่หลายประเภทหลายอย่างเหมือนกัน สิ่งที่เป็นที่พึ่งของเรานั้นหมายถึงสิ่งใด หมายถึงอะไร ถ้าพูดตามที่เห็น ๆ กันมาคือคุณพ่อคุณแม่ โดยอธิบายว่ามนุษย์ในโลกนี้ ถ้าไม่มีพ่อมีแม่ก็ไม่ได้เกิดมา เด็กเกิดมาจากพ่อแม่ แม้แต่สัตว์เกิดจากพ่อจากแม่นี้เอง เพราะฉะนั้นซึ่งเป็นวัตถุธรรมหมายถึงคุณพ่อคุณแม่ แม่เป็นผู้ให้นมมาก่อน เพราะฉะนั้นพ่อกับแม่นี้แหละเป็นที่พึ่งเบื้องต้น ในทางวัตถุธรรมและคุณธรรมพร้อมด้วยกัน เอ้าทีนี้เมื่อพ่อแม่นี้เป็นผู้ให้เรากำเนิดเกิดมา จึงชื่อว่าพ่อกับแม่เป็นผู้มีอุปการะคุณแก่เราเป็นคนแรกในชีวิต พ่อกับแม่นี้แหละเป็นที่พึ่งเบื้องต้น โดยเฉพาะแม่นี้ให้น้ำนมกับเรา จึงเป็นผู้ที่มีอุปการะแก่ลูก ๆ เหลือที่จะนับเหลือที่จะประมาณนี่หมายถึงพ่อกับแม่ เราก็ขอยกคุณพ่อคุณแม่ขึ้นก่อน
ทีนี้ต่อมาเนี่ยะ ผู้ที่มีรูปร่างมีชีวิตจิตใจปรากฏขึ้นในโลกนี้ เป็นมนุษย์ก็ตาม เป็นสัตว์ก็ตาม เป็นคนมีคนจนก็ตามล้วนเป็นลูกของแม่ทั้งนั้น จึงยกพ่อแม่เป็นผู้มีอุปการะแก่โลกนี้ เพราะฉะนั้นนักปราชญ์ซึ่งเป็นผู้รู้ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้ายอดนักปราชญ์ ท่านว่า สิ่งที่เราควรเคารพกราบไหว้มันคืออะไรในโลกนี้ แม้แต่พระพุทธเจ้าทุกองค์ พระอรหันต์ทุกองค์ก็เป็นลูกของแม่ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็มีพ่อมีแม่ตามที่เราเรียนมา พระอรหันต์ทุกองค์ล้วนแต่เป็นลูกแม่ทั้งนั้น ไม่ว่าคนรวยคนฉลาดล้วนแต่เป็นลูกแม่ทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์จึงไม่ให้ลืมผู้มีคุณ แล้วก็ผู้ที่เราควรเคารพกราบไหว้ก็หมายถึงคุณพ่อคุณแม่
แต่ในทางธรรมที่เราได้ยินได้ฟัง ฟังแล้วฟังอีก ท่านยกใครขึ้นก่อน ถือตามบาลีที่อาตมาได้ยกขึ้นในเบื้องต้นว่า “ปูชาจะ ปูชนียานัง เอตัมมังคลมุตตมัง” การบูชาผู้ที่ควรบูชา เคารพผู้ที่ควรเคารพ เป็นมงคลอันอุดม เป็นมงคลสูงสุดเลยบรรดาความสูงส่งทั้งหลาย เพราะฉะนั้นนักปราชญ์เมื่อพระพุทธเจ้าได้มาบังเกิดขึ้นในโลก ไอ้ตัวท่านเอง พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ท่านคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ แต่ว่าพ่อแม่เรานี้ยังมีกิเลส ยังมีกิเลสอยู่ ถ้าไม่มีกิเลสแล้วลูกจะไม่ได้เกิดมา จะไม่มีลูก เมื่อลูกมีโอกาสได้เกิดมาแล้วก็ได้มาประพฤติปฏิบัติ เอ้าเพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่มีกิเลสนี้ เป็นผู้ที่ควรกราบไหว้ที่สูงที่สุดเหนือกว่าแม่อีก เหนือกว่าพ่อ ในด้านความบริสุทธิ์ ก็เลยยกคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์นี้เป็นเบื้องต้นก่อนพ่อแม่นะ พ่อแม่นี้เป็นอรหันต์องค์ที่ 4 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดังที่เรากราบ กราบครั้งที่ 1 ระลึกถึงคุณพระพุทธ กราบครั้งที่ 2 ระลึกถึงคุณพระธรรม กราบครั้งที่ 3 ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ กราบครั้งที่ 4 ระลึกถึงคุณพ่อคุณแม่ผู้บังเกิดเกล้า กราบครั้งที่ 5 ระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ เอ้าละจะได้ยินครูบาอาจารย์ทุกรูปทุกองค์ท่านจะยกขึ้นมาอย่างนี้มาเป็นที่พึ่งที่ระลึกในด้านจิตใจ แล้วก็ให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายก่อนจะนอนให้กราบพระเจ้า 5 องค์ หรือ 3 องค์ก็ได้ กราบคุณพระพุทธ กราบคุณพระธรรม กราบคุณพระสงฆ์ กราบคุณพ่อคุณแม่ กราบคุณครูบาอาจารย์แล้วจึงนอน เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี นักปราชญ์จับเอาตรงนี้ขึ้นมาในทางความเคารพเพราะฉะนั้นท่านจึงผูกเป็นคาถา เป็นบทบาลีให้เราสวดทุกวัน ให้ว่านะโมก่อน เวลาจะเทศน์ก็ตั้งนะโมก่อน เวลาถวายทานก็ตั้งนะโมก่อน ทำอะไร ๆ ต่ออะไรก็ตั้งนะโมก่อน ทีนี้นะโมดีอย่างไร อันนี้ท่านให้คำอธิบายว่า ที่ให้ตั้งนะโมก่อนเพื่อจะยกคุณพ่อคุณแม่ตั้งเป็นพระ ยังงั้นเราไม่ได้มาพูดมาเรียนเป็นพระเป็นเณรเป็นเถรเป็นชีอย่างนี้หรอกถ้าเราไม่มีแม่มีพ่อ จึงตั้งนะโมขึ้นก่อนความหมายเอาอย่างนี้นะ
อีกแง่หนึ่งนะแท้ที่จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าท่านว่า เพราะฉะนั้นคำว่านะโมนี้ท่านมีการอธิบายว่า เป็นชื่อของพ่อกับแม่ ยิ่งบูรพาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่น คนเรามักจะยกหลวงปู่มั่นขึ้นก่อนเพราะว่าธรรมเทศนานี้สืบทอดมาจากหลวงปู่มั่น แม้แต่อาตมาซึ่งมาพูดก็พูดตามท่าน ท่านถ่ายทอดมานะ ไอ้ที่เขียนไว้ก็มีไม่ได้เขียนก็มี ท่านว่า นะก็คือแม่ โมคือพ่อ บางคนไม่รู้เลย เขาว่าก็ว่าเฉย ๆ ไม่ได้น้อมนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ มือกราบ 3 ครั้ง ใจก็ไม่คิดถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้นหัดทำให้มันครบองค์
อย่างเรากราบครั้งที่ 1 ก็ให้คิดในใจพร้อมว่ากราบคุณพระพุทธ ครั้งที่ 2 คุณพระธรรม ครั้งที่ 3 คุณพระสงฆ์ อันนี้เพื่อเป็นการฝึกสติตัวเองเพื่อเป็นหลักใจ เอ้าเพราะฉะนั้นให้เราถือตามคตินี้แหละตามหลวงปู่หลวงพ่อท่านเป็นผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งที่ศึกษา นี่เรื่องนะโม เป็นการยกย่องคุณพ่อคุณแม่ อันนี้เป็นแง่ที่ 1
แง่ที่ 2 นะโมเป็นเครื่องหมายความเคารพทุกสิ่งทุกอย่าง มีความเคารพ สิ่งใดไม่มีความเคารพไม่มีความหมายสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นคนจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่มีความเคารพนี้เอง นับตั้งแต่เคารพต่อคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เคารพต่อคุณพ่อคุณแม่ เคารพต่อคุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ถ้าเรามีความเคารพก็ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นการถูกต้อง เพราะฉะนั้นความเคารพนี้เป็นหมายเลขหนึ่งในบรรดาการปฏิบัติธรรม เพียงแต่ขาดความเคารพอย่างเดียวสิ่งอื่นๆ มันก็จืดจางไป ไอ้นี่ก็เป็นธรรมะอีกข้อหนึ่ง ที่อาตมานำมาพูดให้ท่านทั้งหลายฟังวันนี้
ทีนี้ก็ครูบาอาจารย์นั้นคล้าย ๆ กับเป็นพ่อเป็นแม่เหมือนกับที่เราเคยเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาแล้ว ธรรมดาพ่อแม่ถ้าลูกหลานประพฤติไม่ดีหรือไม่ชอบต้องห้ามปรามไม่ให้ทำ ทำแบบนี้มันเป็นโทษ อันนั้นมันเป็นทุกข์ อันนั้นมันเป็นพิษเป็นภัยอย่าไปกินอย่าไปทำนะ คอยห้ามปรามอยู่เสมอ พ่อแม่ห้ามลูกน่ะ เราก็ยกมาเปรียบเทียบกับเราเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่หลวงพ่อ หลวงปู่หลวงพ่อท่านก็คิดเหมือนกับเป็นพ่อกับลูกคือกันทำนองเดียวกันแหละ ถ้าลูกหลานไปทำอะไรไม่ดีก็ไม่ชอบใจก็มักจะห้ามปราม เราอย่าไปทำนะเดี๋ยวมันจะเป็นทุกข์เป็นโทษ แม้ของกินนี่อันไหนมันมึนเมาห้ามไม่ให้กินเลย ด้วยความรักลูกคล้าย ๆ กับเป็นลูกของครูบาอาจารย์เป็นการเปรียบเทียบ
ยกถึงพระพุทธเจ้าแล้วกัน พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลกนะ ท่านเป็นผู้ที่มีพระปัญญาคุณ มีพระบริสุทธิคุณ มีพระมหากรุณาธิคุณ ท่านจะต้องดูแลแนะนำสั่งสอนชาวโลกไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ พระพุทธเจ้าสอนให้คนทำดีทั้งนั้น ที่ว่าท่านมีพระปัญญาคุณนั้นก็หมายความว่าพระองค์ได้ตรัสรู้สั่งสมอบรมบารมีมาหลายภพหลายชาติเป็นหมื่นเป็นแสนชาติ ชาติสุดท้ายจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คำว่าตรัสรู้นี่หมายถึงรู้ทั่วถึงหมด ไม่มีผิดเพี้ยน พระพุทธเจ้ารู้ทั่ว จึงเรียกว่าตรัสรู้ ไม่ใช่รู้ธรรมดา ที่ว่าพระองค์มีบริสุทธิคุณก็หมายความว่าพระองค์มีกาย วาจา ใจใสสะอาดบริสุทธิ์สิ้นจากอาสวะกิเลส บริสุทธิ์ทางกาย บริสุทธิ์ทางวาจา บริสุทธิ์ทางจิตใจ บริสุทธิ์ทางภายในภายนอก นี่เรียกบริสุทธิคุณ แล้วพระองค์ประกอบไปด้วยมหากรุณาธิคุณ หมายถึงพระองค์ต้องการจะให้สัตว์โลกทั้งมนุษย์ เทวดา มาร พรหมน่ะ มีความสุขเสมอกัน ไม่เบียดเบียนกันให้สงบเป็นลูกพ่อลูกแม่เดียวกันหมด โดยเฉพาะมนุษย์ให้ชื่อว่าเป็นพ่อเดียวแม่เดียว คือพ่อก็เป็นผู้ชาย แม่เป็นผู้หญิง ผู้ที่เป็นผู้ชายไม่ว่าชาติใดภาษาใดก็ตาม ถ้าเป็นผู้ชายแล้วมันเป็นพี่น้องทางพ่อ ถ้าเป็นผู้หญิงเป็นพี่น้องทางแม่ เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าเป็นลูกพ่อเดียวแม่เดียว อันนี้ในความหมายของท่านนะ
เพราะฉะนั้นท่านจึงพยายามที่จะสั่งสอนสัตว์โลก มนุษย์ เทวดา มาร พรหม ไม่ให้เบียดเบียนกัน จึงได้บัญญัติศาสนาไว้ คำว่าศาสนาหมายถึงคำสอน ศาสนาพุทธก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเป็นอิสลามหรือเป็นคริสต์ก็ตามหมายถึงคำสอนของเขาผู้นั้น เพราะฉะนั้นคำว่าศาสนาหมายถึงคำสอน เอ้าที่นี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไรล่ะ เราก็รู้ดีอันคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเมื่อจะจำแนกแจกไปแล้วมีมากมายก่ายกอง แต่ย่นย่อไปแล้วก็มีอยู่ 3 อย่าง ดั่งที่เรารู้กันแล้ว คือการรู้จักให้ทาน รู้จักรักษาศีล รู้จักภาวนา หรือถ้าไม่ว่าอย่างนี้ก็ว่า ให้ละความชั่ว ให้ประพฤติแต่ความดี แล้วก็ทำใจให้เป็นกลาง ๆ ทำอย่างไรใจเราจะเป็นกลางไม่เอียงซ้ายเอียงขวา ก็ให้ทำอย่างนั้นเขาเรียกมัชฌิมาปฏิปทาหมายถึงกลาง เช่นมีรักกับชังให้อยู่กลาง ๆ ถ้าดีกับชั่วอยู่ในความดีกับชั่ว ว่าอะไรลงไปก็อยู่กลางทั้งนั้น ถ้าทำอย่างนี้ได้จิตใจจะเที่ยงตรง ใจจะเที่ยงตรงเลยอยู่ตรงกลางเหมือนระดับน้ำ แต่มีวิธีเรียกได้หลายอย่างเรียกว่าสงบก็ได้ใจสงบก็ได้ เพราะฉะนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ถึงแม้ว่ามีมากมายก่ายกองก็ตาม แต่เราก็ย่นมาเพื่อจำง่าย ครูบาอาจารย์แต่โดยมากมาสอนเราตรงนี้ โดยย่อมาใส่ตัวเราน่ะ คือในตัวเรานี้ท่านจำแนกออกเป็น 3 อย่าง เขาเรียกว่า กาย 1 วาจา 1 ใจ 1 ถ้าทำด้วยกายเรียกว่ากายกรรม ทำด้วยวาจาเรียกว่าวจีกรรม กับคิดอยู่ในใจเรียกว่ามโนกรรม เพราะฉะนั้นการทำดีกับทำชั่วนี้เครื่องมือที่ทำก็คือกาย วาจา ใจนี้แหละ ถ้าไม่เอากายวาจาใจไปทำเอาอะไรทำล่ะ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ดีกับชั่วหรือบาปกับบุญนี้ต้นของมันก็คือใจ บุญกับบาปมันเกิดขึ้นมาจากไหนบุญกับบาป ใครเป็นเจ้าของ ทำไมมันถึงมีขึ้น แต่ก่อนไม่มีบุญ บุญก็กลับมีขึ้น ไม่มีบาป บาปก็กลับมีขึ้นมันเกิดจากไหน คนเป็นผู้สร้างบาปขึ้นมา บาปก็มีอยู่ เมื่อคนทำบุญ บุญก็มีอยู่ คนที่บุญก็ไม่ได้ทำ บาปก็ไม่ได้ทำ บาปก็ไม่มี บุญก็ไม่มี บุญบาปเกิดจากการกระทำของตัวเราเอง
เพราะฉะนั้นท่านให้เราเชื่อกรรม ศาสนาพุทธสอนให้เชื่อกรรม มีคำถามต่อไปว่ากรรมนั้นคืออะไรล่ะ กรรมก็บอกไปแล้วว่าคือการกระทำ กายกรรมทำด้วยกาย วจีกรรมทำด้วยวาจา มโนกรรมทำด้วยใจคิดนึก ทีนี้เมื่อเรามารู้เหตุผลอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้เรานั้นปฏิบัติตัวเองให้มันถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ล่ะ พวกเราทั้งหลายจึงได้พากันมาทำบุญมารักษาศีลมาภาวนา เอากายวาจาใจตัวเองเป็นเครื่องมือทำ ท่านบอกว่าทำด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ในตัวเรามีกายกับใจ กายนั้นเป็นวัตถุ ใจนี้เป็นนามธรรม กายเป็นวัตถุเพราะมันมีแต่เพียงธาตุ 4 ดินน้ำไฟลมเป็นวัตถุธาตุ มาผสมกันเป็นรูปเป็นร่างเป็นสัณฐาน อันนี้เรียกว่ากายนะ แต่ใจนั้นมีแต่ชื่อมีความรู้สึกนึกคิด ไม่มีตัวมีตนแต่มีกายเป็นที่อาศัยอยู่ บางทีท่านเปรียบเทียบไว้ว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าวอย่างนี้ก็มี หรือบางทีท่านใช้คำว่า ร่างกายเหมือนรถยนต์ ใจเหมือนผู้ขับรถยนต์ รถมันจะไปมันก็อยู่กับคนขับ จะไปเร็วหรือช้าอยู่ที่โชเฟอร์ผู้ขับ และท่านเอามาเทียบไว้เหมือนกับคนเรามีความประพฤติดี แสดงว่าหัวใจมันดี กายมันดีกิริยามารยาทเรียบร้อย รู้จักกราบรู้จักไหว้อ่อนโยน แต่ที่มันแข็งกระด้างเพ้อเจ้อ เหลาะแหละก็เพราะใจเป็นผู้สั่งไม่ใช่กายมันทำเอง ด้วยเหตุนี้แหละท่านจึงให้เรามาฝึกใจโดยการสวดมนต์ภาวนาทำสมาธิ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มาชี้แจงแสดงให้พวกเราญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมฟัง เพื่อบางทีจะมีความเข้าใจดีขึ้น
อาตมานี่เทศน์ไม่เป็น โดยมากมีคนเขานิมนต์ไปเทศน์ บอกว่าเทศน์ไม่เป็นเพียงแต่ไปหยิบยกเอาธรรมะธัมโมของคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง ที่ได้ยินจากครูบาอาจารย์บ้าง ได้ดูจากตำรับตำราบ้าง ปฏิบัติด้วยตนเองบ้าง อันนี้แหละเอาเรื่องที่สัมผัสมาแล้วเคยรู้มาแล้วมาเล่าอีกต่อหนึ่งให้พวกโยมผู้ฟังจดจำเอา แล้วก็พูดเพื่อนำความคิดพวกโยมผู้ซึ่งยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วก็ตามเป็นการทบทวน แล้วก็พวกญาติโยมทั้งหลายที่มานี้อาตมาว่าต่างคนต่างมีศรัทธาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว มีความตั้งใจอยู่แล้วที่จะปฏิบัติจึงพากันสละหน้าที่การงานของตนมา ไม่ใช่มาง่าย ๆ ซะเมื่อไหร่ ต่างคนต่างก็มีหน้าที่ แต่ที่มาได้อย่างนี้เพราะความเสียสละ ก็ชื่อว่าทานเหมือนกันเพราะทานแปลว่าการเสียสละคือการให้ อันนี้โยมสละหน้าที่การงานของตัวเองมา เพราะว่าการทำดีนี้ถ้าเราไม่ตั้งใจทำจริง ๆ ทำไม่ได้ เหมือนท่านว่าทำบาปทำง่ายนิดเดียว แต่ทำดีต้องฝืนใจทำ ถ้าไม่ฝืนใจไม่อดทนทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงว่าลำบากได้ดีเพราะอย่างนี้ นี้เป็นเรื่องที่พูดส่งเสริมของผู้ปฏิบัติ แม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถือว่าเป็นการทบทวน พอเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจผู้ฟัง บางทีอาจจะมีความเข้าใจดีขึ้น อย่างเช่น แปลนะโม เป็นต้น นะโมโดยมากแปลว่านอบน้อม อันนี้เอาของเก่ามาเล่าใหม่อีกแล้วเหมือนกัน ธรรมเทศนาที่ครูบาอาจารย์นำมาแสดงให้เราฟังนั้น แท้ที่จริงเป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่เท่านั้นเอง ไม่ว่าองค์ไหนพูดไปเป็นเรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องสมาธิภาวนานี้เอง แต่จุดประสงค์เพื่อให้โยมมีความเข้าใจลึกซึ้งในศีลในธรรมที่ตัวเองนับถือว่าบุญเกิดมาจากไหนแน่ มันหมายถึงอะไร บาปมันเกิดจากไหนมันเป็นอย่างไร เมื่อเราได้ยินครูบาอาจารย์องค์นั้นว่าองค์นี้ว่าท่านมาชี้แจงแสดงผล ก็เป็นเหตุให้เราพลอยรู้พลอยเข้าใจขึ้น อานิสงส์ของการฟังเทศน์ก็เพื่อให้แก้ความสงสัยที่มีอยู่ในใจของญาติโยมผู้ฟัง บางข้อบางอย่าง ทีนี้เมื่อเราฟังไปฟังไป ที่เคยสงสัยในใจก็หายสงสัยแล้ว ได้อานิสงส์ล่ะ หากฟังไปฟังไปไม่รู้เรื่องอะไรเลยฟังจนตลอดกัณฑ์ แต่ไม่รู้ว่าชื่อเรื่องอะไร เรียกว่าไม่ได้อานิสงส์ หากฟังเสร็จแล้วไม่ได้รับความรู้เพิ่มท่านว่าไม่ได้อานิสงส์
ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง สิ่งไหนที่เคยฟังแล้วยังไม่เข้าใจก็จะเข้าใจดีขึ้น แก้ความสงสัยเสียได้ ทำความเห็นให้ถูกต้องได้ แล้วก็มีจิตใจผ่องใสขึ้นมาเพราะฟังธรรมอย่างนี้ชื่อว่าได้อานิสงส์ ถ้าฟังไปแล้วเหมือนเดิมไม่ได้ความรู้ความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นก็ยังไม่ได้อานิสงส์ แต่จะไม่ได้เลยก็ไม่ใช่ เพราะว่าเราได้อดทนพากันนั่งมาเป็นชั่วโมงหรือหลายนาทีด้วยความเคารพนี่ก็ได้บุญ เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายได้พากันละทิ้งหน้าที่การงานมาเพื่อปฏิบัติบูชาต่อคุณครูบาอาจารย์
ครูบาอาจารย์นี้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่เราควรกราบไหว้ควรบูชา ถึงแม้ว่าท่านได้ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้วก็ตาม ครูบาอาจารย์ทุกองค์หลวงปู่หลวงพ่อทุกองค์ที่ท่านล่วงลับไปแล้วนั้นท่านไม่ได้เอาอะไรไปเลย ถึงจะมีเงินมีทองมีเรือกมีสวนมีอะไรเต็มไปหมดท่านไม่ได้เอาไป เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นวัตถุเป็นที่พึ่งภายนอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เหลืออยู่นี้เองเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเรา ถ้าหากว่าเรามีความระลึกนึกถึงท่านจริง เราก็พากันมาทำอย่างนี้แหละมาช่วยรักษาเสนาสนะวัดวาอาราม ทำยังไงมันจะมั่นคงถาวรต่อไปด้วยการเป็นหูเป็นตาช่วยกันรักษาไว้ อย่างนี้แหละได้ชื่อว่ากตัญญูกตเวทีคือระลึกถึงบุญคุณของท่าน ท่านไม่ได้เอาอะไรไปหรอกวัดวาอาราม โบสถ์ วิหารยังอยู่เหมือนเดิม ตลอดจนถึงตำรับตำรา ธรรมเทศนายิ่งทุกวันนี้มีเครื่องถ่ายทอดมีเทป ก็ไม่เห็นท่านเอาอะไรไปเลยยังอยู่เหมือนเดิม พวกเราทั้งหลายนี่ให้ตั้งใจปฏิบัติคล้าย ๆ กับท่านยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง วันนี้ชื่อวันบูรพาจารย์น่ะ ท่านว่าบูรพาจารย์หมายถึงอาจารย์ในอดีตนับตั้งแต่คนแรก
อาตมานี้มาก็เพราะว่าเป็นวันบูรพาจารย์ ก็ไม่ค่อยจะมีเวลามา เมื่อท่านมีชีวิตอยู่เราเป็นลูกศิษย์ลูกหา ก็ควรจะมาร่วมงานการปฏิบัติทางใกล้และไกลในประเทศและนอกประเทศ แต่เดี๋ยวนี้ท่านล่วงลับดับขันธ์ไปแล้วทั้ง ๆ ที่ท่านก็คงจะยังไม่อยากไปหรอก ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ไอ้ที่ตายไปไม่มีใครอยากตายหรอกถ้าไม่ใช่คนบ้า ทั้งคนดีและคนชั่วไม่มีใครอยากตาย ในเมื่อต่างคนต่างก็ไม่อยากตายแล้วตายทำไมล่ะ เพราะอะไร เพราะไม่เที่ยง “อะนิจจา วะตะ สังขารา” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ “อุปปาทะวะยะธัมมิโน” มันเกิดขึ้นแล้วก็มีการแตกตัวสุดท้ายก็ตายไป มันเป็นอย่างนี้ล่ะ เทวดา มาร พรหม คนมีคนจนไม่มีใครหลีกเลี่ยงความตายไปได้ ก็เพราะหลีกเลี่ยงไม่พ้น ท่านจึงให้เรานี้ฝึกหัดตายก่อนตาย อันนี้เอาคำพูดของหลวงปู่สิงห์ ให้หัดตายก่อนตาย โดยที่ท่านพูดเป็นคาถาให้เราสวดว่า “อะภิณหะปัจจะเวกขะณะ” เรามีความแก่ เรามีความตาย ก็เพื่อให้เรานี้มาหัดตายก่อนตาย นี่เป็นนโยบายของท่าน นี้ก็เป็นเรื่องที่นึกคิดได้ก็เอามาเล่ามาพูด เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะพวกญาติโยมผู้มาปฏิบัติธรรม อาตมามีความเข้าใจว่าพวกเรานี้รู้แล้วทุกคน ฟังเทศน์ก็ไม่รู้ว่ากี่กัณฑ์มาแล้ว เพราะฉะนั้นเพียงแต่อาตมาพูดให้เป็นแนวทางหรือส่งเสริมทบทวนเท่านั้นเอง อาตมาก็ไม่พูดอะไรมาก แต่ว่าคิดถึงครูบาอาจารย์เหมือนกัน อาจารย์ทีละองค์ตายไป อาตมาคิดสลดสังเวช ทุกข์ใจ ไม่ว่าองค์ไหน นี่เฉพาะที่จ.บุรีรัมย์ ที่อาตมาอยู่เนี่ยะ ชื่อว่าอาจารย์… มรณภาพแล้วเมื่อกลางพรรษา อันนี้ก็ทำให้มีความสลดสังเวชใจ แต่เราก็เอาธรรมะมาแก้ หลวงปู่พุธเราก็เหมือนกัน หลวงปู่พุธท่านเคยให้อาตมาลาออกจากเจ้าคณะจังหวัดโยม หลายครั้งแล้ว ให้มาเข้าอยู่ในพวกปฏิบัติ ถ้าเราเคยอยู่วัดป่าก็ให้มาอยู่วัดป่าด้วยกันไม่ต้องไปเป็น… ในเมื่อท่านบอกแล้วหลายครั้ง อาตมาก็ไปลา ลากับเจ้าคณะภาคจากสมเด็จ ไม่ให้ออกจากเจ้าคณะจังหวัด 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้ แต่คราวนี้คงจะได้ในเมื่อมันเฒ่าแล้ว อายุก็มาก นี่เรื่องที่มันมีความเกี่ยวเนื่องอย่างนี้
สุดท้ายนี้ก็ขอให้เราตั้งจิตตั้งใจน้อมนึกระลึกถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ เสร็จแล้วก็ให้น้อมนึกระลึกถึงบูรพาจารย์ของเรา แต่เดี๋ยวนี้มีรูปเป็นวัตถุให้เราระลึกถึง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์ ทั้ง 3 หลวงปู่นี้ อาตมาไม่ทันหลวงปู่เสาร์ แต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์เคยเห็น ทัน ในช่วงที่บรรจุศพหลวงปู่มั่นอาตมาก็ไปอยู่วัดสุทธาวาส แล้วเราก็ขอพึ่งบุญบารมีมาสุดท้ายก็คือหลวงพ่อพุธ และด้วยอำนาจบุญบารมีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ของคุณพ่อแม่ หลวงปู่หลวงพ่อ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนี้ จงมาช่วยคุ้มครองปกป้องรักษาทายก ทายิกา ญาติโยมผู้อยู่ข้างหลังให้ได้รับความอยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแล้วก็มีร่างกายแข็งแรง มีสติปัญญาสามารถรู้ธรรมตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอน เพราะฉะนั้นก็คงจะได้รับพรทั้ง 4 ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณสมบัติให้ได้สมความปรารถนาด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ
|