ประวัติความเป็นมาของวัดโพธิ์ วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดโพธาราม เป็นวัดสมัยโบราณ แต่ไม่ปราฏการสร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังปีพุทธศักราช ๒๒๒๑ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากไม่มีปรากฏในแผนที่ป้อมบางกอก โดยนายทหารช่างชาวฝรั่งเศส เมซิเออร์ วอลสันต์ เดสเวอร์เกนส์ บันทึกไว้ วัดนี้ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย
รัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้นย้ายพระนคร มาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก โปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวัง โดยมีวัดสลัก (วัดมหาธาตุ) อยู่ทางทิศเหนือและวัดโพธารามอยู่ทางทิศใต้ โปรดสถาปนาวัดโพธารามเป็นวัดวังหลวงและโปรดให้มีการบูรณะสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๓๒ ใช้เวลานานถึง ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน นอกจากนี้ยังอัญเชิญพระพุทธรูปสมัยต่างๆ มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ จากวัดร้างในหัวเมืองทางเหนือและกลาง มาประดิษฐานไว้ ณ พระระเบียงรอบพระอุโบสถทั้งชั้นนอกและใน ในวิหารทิศทั้ง ๔ ในวิหารคดและระเบียงพระมหาเจดีย์ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” สมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดให้บูรณะและปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะทะนุบำรุงให้พระอารามนี้เจริญรุ่งเรืองเหมือนสมัยอยุธยา ดังนั้นวัดโพธิ์นี้จึงงดงามด้วยช่างฝีมือชั้นเอก เช่น การทำประตูพระอุโบสถประดับมุก การสร้างพระพุทธไสยาสน์พร้อมทั้งวิหาร การสร้างพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ การขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสสวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ และยังมีจารึกสรรพตำรา วิทยาการทุกสาชาวิชาบนแผ่นศิลา เพื่อประดับโดยรอบเขตพุทธาวาส เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ใช้เวลาปฏิสังขรณ์นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน
สมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดให้มีการปฏิสังขรณ์พระรัศมีพระพุทธไสยาสน์ ทรงสถาปนาพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล และทรงแก้สร้อยนามพระอารามใหม่ว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
สมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ กระทรวงโยธาธิการได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาจนถึงปัจจุบัน
สมัยรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
ที่ตั้ง
พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวาอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างเด่นชัด
วัดโพธิ์ ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวัง เลขที่ 2 แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.สำหรับชาวต่างชาติจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ ๒๐ บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพ สุภาพสตรีห้ามสวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเข้าไปเที่ยวชม
การเดินทาง
๑. รถประจำทางธรรมดา สาย ๑ - ๓ - ๖ - ๙ - ๑๒ - ๒๕ - ๓๒ - ๔๓ - ๔๔ - ๔๗ - ๔๘ - ๕๑ - ๕๓ - ๘๒ - ๑๐๓ ๒. รถประจำทางปรับอากาศ ปอ.๑ – ปอ.๖ – ปอ.๗ – ปอ.๘ – ปอ.๑๒ - ปอ.๔๔ ๓. เดินทางโดยเรือด่วนเจ้าพระยา สามารถขึ้นฝั่งที่ท่าเรือท่าช้าง, ท่าเรือท่าเตียน,ท่าเรือปากคลองตลาดแล้วเดินเข้าประตูทางถนนท้ายวังได้ สำหรับศูนย์การศึกษาต่างๆ ที่ต้องการจะนำนักศึกษามาทัศนะศึกษา ณ วัดโพธิ์ กรุณาทำหนังสือแจ้งทางวัด เพื่อจะได้รับความสะดวกในเรื่องสถานที่ ข้อมูล และพระวิทยากรที่จะนำทัศนศึกษา หรือ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.0-๒๒๒๖-๐๓๓๕, ๒๒๕-๙๕๙๕, ๒๒๑-๙๔๔๙ โทรสาร 0-๒๒๒๖-๐๓๗๐, ๒๒๒-๙๗๗๙
และพุทธศาสนิกชนที่ต้องการมาทำบุญที่วัดโพธิ์ เช่น ติดต่อทำบุญถวายเพลพระ, ถวายสังฆทาน, บังสุกุลอัฐิญาติ ฯลฯ ท่านสามารถติดต่อได้ที่แผนกบำเพ็ญกุศลวัดพระเชตุพน ซึ่งมีสำนักงานไว้คอยบริการที่เขตพุทธาวาสใกล้เขาฤษีดัดตน หรือติดต่อสอบถามที่ โทร. ๐ - ๒ ๒๒๑-๔๘๔๓, ๒๒๒ - ๘๖๘๐
ภาพจิตรกรรมการนวดแผนโบราณภายในวัด
บรรยากาศโดยรอบภายในวัด โรงเรียนการแพทย์โบราณและการนวดแผนโบราณของวัด
|