Home วัคซีนชีวิต ฉีดได้ที่ วัดวะภูแก้ว
ธรรมทรรศน์จากวิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย PDF Print E-mail
Friday, 20 January 2012 02:02

พบพระวิปัสสนา   หลวงพ่อพุธ ฐานิโย 
อดีตเจ้าอาวาส วัดป่าสาลวัน
อ.เมือง  จ.นครราชสีมา

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

 


รวมรูปภาพ สไลด์โชว์ ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย


การที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า  อาจจะเอาคำบริกรรมภาวนาอะไรก็ได้ในทางชีวิตประจำวัน  มาเป็นเครื่องมือในการกำหนดกรรมฐาน  จะไม่เท่ากับว่า  การทำสมาธิตามแนวที่ท่านสอนเป็นเรื่องการฝึกจิตทั่วไป  ไม่ใช่ในขอบเขตของพระพุทธศาสนา

       มนุษย์เราปกติจะสามารถรู้ด้วยตา  หู  จมูก  ลิ้น  กายและใจ  สิ่งนั้นเป็นสภาวธรรมเป็นเครื่องหมายแห่งความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  แต่เป็นสภาวธรรมที่มีประสิทธิภาพในการที่จะมายั่วยุจิตของผู้สติยังอ่อนให้เกิดอารมณ์ความยินดียินร้าย   เพราะฉะนั้นการที่ฝึกหัดทำสติตามรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสามารถรู้เห็นด้วยหู  ตา  จมูก  ลิ้น  กายและใจนี้จึงเป็นวิถีทางทำสมาธิที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา  และการทำสมาธินี้  มิใช่อยู่ในหลักของพระพุทธศาสนาอย่างเดียว   ตามศาสนาอื่นก็มี

 

     อย่างไรก็ตาม   การฝึกสมาธิตามแบบของพระพุทธเจ้านั้น   หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน  นอกจากจะมีศีลแล้ว    ก็ต้องมีความจริงใจในการที่จะประพฤติตามแบบของศีล  งดเว้นตามหลักของศีล  แล้วก็มีความจริงใจในการที่จะสร้างความมั่นคง  คือสมาธิให้เกิดขึ้นอยู่กับจิต  จนสามารถเกิดคุณธรรม  คือ ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา  อันเป็นพลังงานที่จะเกิดขึ้นภายในจิต

 

      เมื่อพลังงานอันนี้มีความแก่กล้าขึ้น  กลายเป็นอินทรีย์   อินทรีย์แปลว่า  "ความเป็นใหญ่"  ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา   ก็จะกลายเป็นคุณธรรมเป็นใหญ่ภายในจิตแต่ละประเภท   สุดท้าย ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา  นี้จะรวมพลังกันลงเหลืออยู่แต่  สติมินะโย

 

       ลักษณะของสติมินะโยที่เกิดขึ้นกับจิตของผู้ภาวนานั้น   เราจะรู้สึกว่าภายในจิตของเรานี้มีสิ่ง ๆ หนึ่งคอยจ้องดูจิตของเราตลอดเวลา   เมื่อเราขยับไปทางไหน  เดินรู้  กินรู้  นอนรู้  อะไรรู้  เพราะสติตัวนี้มันเร็วขึ้นแม้เราจะไหวกายไปทางใด   แม้แต่ความรู้สึกนึกคิด  สติจะทำหน้าที่โดยอัตโนมัติ

 


 


กราบนมัสการท่านกรุณาอธิบายสั้นๆ แก่ผู้เริ่มปฏิบัติสมาธิว่าควรปฏิบัติอย่างไร


       หลักสั้น ๆ ของการปฏิบัติสมาธิรู้สึกว่าเป็นหลักที่ง่าย   พอที่จะทำได้โดยทั่วไป  ในขั้นต้นให้นึกท่องคาถาบทใดบทหนึ่ง เอาไว้ในจิต  เช่น  คำ "พุทโธ"  เป็นต้น   เมื่อเราท่องคำว่า  พุทโธ พุทโธ อยู่   ถ้าจิตของเราอยู่กับ พุทโธ  ปล่อยให้จิตอยู่กับพุทโธไป    แต่ถ้าจิตของเราทิ้งพุทโธเสียไปคิดอย่างอื่น   ปล่อยให้คิดไปจนสุดห้วงแล้วทำสติตามรู้ไป   อันนี้เป็นหลักที่ง่ายที่สุด   หรือเราอาจจะท่องพุทโธ   พุทโธ  หรือยุบหนอพองหนอ  สัมมาอะระหังไว้ทุกลมหายใจก็ได้  เพียงแต่การท่องพุทโธเป็นต้น    ไว้ในใจตลอดเวลา  จิตจะไม่สงบได้อะไรดีขี้น


        โดยธรรมชาติของจิตถ้ามีสิ่งรู้   สติมีสิ่งระลึก   จิตจะยังไม่สงบเป็นสมาธิ  เราจะรู้สึกว่า  เราได้สติดีขึ้น  เมื่อเรามีสติดีขึ้น   จิตของเราก็สามารถที่จะสงบลงได้  เช่น  บางคนไม่รู้อะไร   ท่องแต่พุทโธคำเดียว ท่องไปท่องมาหัวใจลุกเป็นไฟขึ้นมาได้   อันนี้เป็นหลักง่าย ๆ สำหรับการปฏิบัติในเบื้องต้น


       แต่อย่าไปเกี่ยงอย่าไปสงสัย  ถ้าใครจะภาวนาพุทโธ  ก็ภาวนาพุทโธไป  สัมมาอะระหังใครจะยุบหนอพองหนอ  หรือเอาอย่างอื่นก็แล้วแต่ขอให้ใจภาวนาด้วยความมั่นใจเชื่อมั่นในสมรรถภาพของตนเองว่าสามารถทำได้และคาถาบริกรรมภาวนาก็สามารถจะยังจิตของเราให้สงบลงไปเป็นสมาธิได้


       ถ้าหากเราทำไปโดยปราศจากความเชื่อ  มีแต่ความลังเลสงสัยว่าแบบไหนจะดีก็จับโน่นวางนี่   ต่อให้ชีวิตยาวสักพันปีก็ไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะขาดความจริงใจ


 

การปฏิบัติสมาธิภาวนามีประโยชน์ต่อนักธุรกิจอย่างไร


       อันนี้เป็นปัญหาที่เราต้องการในสังคม   ทีนี้การปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบชนิดที่หันหลังให้โลก  โดยมุ่งแต่จะเข้าห้องกรรมฐานภาวนา 7 วัน 15 วัน  มุ่งแต่จะเอาความสงบอย่างเดียว  พวกสมาธิที่ต้องการจิตสงบเป็นสมาธิได้ฌาน  สมาธิของพวกท่านเหล่านี้ในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว  จะทำให้เบื่อหน่ายต่อโลก


      แต่การปฏิบัติสมาธิที่จะให้ได้เป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจ  สมมุติว่าท่านทำมาค้าขายอะไร   ท่านวางแผนการค้าขายของท่านทำอย่างไร  เมื่อท่านเกิดความคิดขึ้นมา  ทำสติรู้อยู่กับสิ่งที่ท่านคิด   ท่านนั่งคิดบัญชีอยู่ ทำสติรู้อยู่กับการคิดบัญชี  ท่านเขียนหนังสืออยู่ทำสติรู้อยู่กับการเขียนหนังสือ  ท่านคิดอะไรของท่าน  สติรู้อยู่กับการทำสิ่งนั้น   สรุปรวมๆ กันแล้วก็อยู่ในกฏเกณฑ์แห่งการทำสติการรู้   การยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ทำ  พูด  ดื่ม  คิด  ใครทำอะไร  เอาเรื่องปัจจุบันเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน   ให้รู้อยู่กับสิ่งนั้น


       ในเมื่อเราฝึกจนคล่องตัวแล้ว  เราสามารถที่จะใช้กำลังพลังสมาธิสนับสนุนเหตุการณ์ที่เราทำ   อันเป็นธุรกิจประจำวันของเราได้  เหตุที่จำทำให้เกิดความเกียจคร้านเบื่อหน่ายไม่อยากทำการงาน   อันนี้เกิดจากการทำสมาธิเพียงแต่มุ่งที่จะทำให้จิตสงบเพียงอย่างเดียว   โดยไม่นึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอารมณ์ของสมาธิ  เอาแต่มุ่งให้จิตสงบอย่างเดียว   เมื่อทำได้แล้วก็จะเบื่อต่อการงาน


       แต่ถ้าเราเอาอารมณ์ปัจจุบันเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน  ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีสติรู้อยู่ทำสิ่งนั้นตลอดเวลา   เมื่อก่อนในครอบครัวเราอาจไม่ค่อยสนใจในกันและกัน   เมื่อสมาธิเก่งแล้ว   จะมีความสนใจในกันและกันมากขึ้น  ความเมตตาปราณีจะมีมากขึ้น   ความรักจะมีมากขึ้น   แล้วฝ่ายแม่บ้านก็จะรู้จัดระเบียบบ้านช่องให้สวยงามยิ่งขึ้น   ต่างคนต่างก็รู้สึกเอาอกเอาใจกันดีมากขึ้น   เพราะคุณธรรมอันหนึ่งมันเกิดขึ้นนั่นคือความเมตตาปราณีของผู้ภาวนาซึ่งจะต้องเกิดคุณธรรมมากขึ้น   จะต้องเกิดพรหมวิหารเป็นเบื้องต้นความรักความเมตตาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ


 

การปฏิบัติสมาธิบางคนมักตัดตัวเองออกไปจากโลกภายนอก  อันนี้จะเป็นผลเสียของผู้ปฏิบัติสมาธิหรือไม่


        การปฏิบัติสมาธิโดยวิธีตัดตัวเองออกจากโลกภายนอกนี้   อันนี้มักจะเกิดกับบุคคลผู้มีศรัทธาแรงกล้าแต่ปราศจากปัญญา   และบางครั้งก็เคยมีเหมือนกัน  อย่างบุคคลผู้ที่ทำงานทำการกำลังเจริญรุ่งเรือง   เกิดเบื่องานหนีไปบวชนั้น  ศรัทธามันแรงกล้าขึ้นชั่วขณะหนึ่ง  มีแต่ศรัทธาอย่างเดียวแต่ปราศจากปัญญา  ไม่ได้คิดพิจารณาทบทวนเหตุผลว่า   เราไปแล้วเราจะไปรอดหรือเปล่า  เราไปแล้วจะย้อนกลับมาที่เก่าหรือเปล่า


       การตัดสินใจรีบด่วนโดยไม่ได้พิจารณา   มักจะทำให้เกิดเบื่อหน่ายต่อโลกภายนอก    เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเป็นนักสมาธิภาวนากันจริงๆ  ให้พยายามเอาเรื่องชีวิตประจำวันนี่มาพิจารณากันให้มากที่สุด   ถ้าเราไปภาวนามุ่งแต่อยากจะเห็นนรก  เห็นสวรรค์  เห็นเมืองนิพพาน  ถ้าไปรู้ไปเห็นกันจริงๆ  แล้วก็ทำให้เกิดเบื่อโลก


       ถ้าเห็นว่าจิตใจของเราปัจจุบันนี้ เป็นอย่างไร   มีอะไรเป็นหน้าที่รับผิดชอบ   เรามีทายาทที่ต้องรับผิดชอบหรือไม่   พิจารณากันตรงนี้พยายามปลูกฝังจิตใจให้มั่นยึดมั่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้นก่อน    ถ้าเราแต่งงานกันด้วยความรักและความสมัครใจ   พอไปฟังเทศน์วัดโน้นเกิดศรัทธา  "แม่อีหนูฉันจะลาไปบวช"  ไปบวชแล้ว   ตอนแรกปฏิญาณว่าเราจะอยู่ร่วมกันชั่วชีวิต  พอไปเจอพระดีเอ๊าลืมกัน!  แล้วหนีไปบวช   สัจจะที่ให้แก่กันเบื้องต้นยังปฏิบัติไม่ได้  จะไปเอาสัจจธรรมอันละเอียดสุขุมยิ่งกว่านั้น  มันจะเอาได้อย่างไร   อันนี้ขอฝากไว้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายไว้พิจารณา


 

คนที่ทิ้งลูกเมียไปบวชผิดหรือไม่


       ผิด 100  เปอร์เซนต์   เกิดมาเป็นผู้ชายอกสามศอก  ไปพาลูกสาวเขามาเป็นเมียแล้วทอดทิ้ง   ไม่ใช่วิสัยของพระพุทธเจ้านี่  อย่างพระพุทธเจ้านี่   บารมีของท่านกระตุ้นเตือน   ท่านออกมาบวชแล้วบำเพ็ญพระโพธิญาณสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า   ท่านย้อนกลับมาทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวท่านอย่างมหาศาล  อย่างคนในปัจจุบันนี้เกิดศรัทธาทิ้งลูกทิ้งเมียแล้วไปบวชนี่ทำบาปอย่างหนัก  ถ้าหากว่าตระกูลที่ยากจนแล้วยิ่งบาปใหญ่  ถ้าตระกูลใดที่มีความมั่งคั่งสมบูรณ์  เราหนีไปแล้วปู่  ย่า  ตา ยาย  เขาเลี้ยงได้  อันนั้นค่อยยังชั่วหน่อย  แต่ถ้าหากว่าชีวิตของทุกคนในครอบครัวฝากอยู่กับเรา  เราคิดออกไปบวชเป็นการ
สร้างบาปอย่างมหาศาล


 

สำหรับประชาชนที่ปฏิบัติสมาธิควรถือศีล 8  หรือ ศีล 5 หรือไม่


       ประชาชนโดยทั่วไป   ถ้าจะฝึกสมาธิเพื่อได้พลังจิตมาสนับสนุนกิจการงานเฉยๆ  โดยไม่หวังมรรคผลนิพพาน   ไม่ต้องมีศีลก็ได้  เพราะสมาธิเป็นหลักทั่วไป  คนไม่มีศีลก็ปฏิบัติสมาธิได้  แต่สมาธิของผู้ไม่มีศีลไม่เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน


       ในศาสนาคริสต์เขาก็ไม่มีศีล 5   ศีล 8 เขาก็ทำสมาธิได้   ในศาสนาอิสลามเขาก็ทำสมาธิได้แต่เขาถือศีลตามหลักศาสนาของเขา  ศาสนาคริสต์ฆ่าสัตว์เป็นอาหารไม่บาป  แต่ฆ่ามนุษย์บาป   แต่เขาก็ทำสมาธิได้  เพราะฉะนั้นการทำสมาธิไม่เลือกว่าคนนอกหรือในศาสนา   คนมีศีลหรือไม่มีศีลทำสมาธิได้   แต่สมาธิของผู้มีศีลตามหลักของศาสนาพุทธเท่านั้นเป็นเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน   นอกนั้นเพียงแต่ได้พลังจิตพลังใจสนับสนุนติดตามที่ทำอยู่เท่านั้น  เช่น  อย่างนักสะกดจิตทั้งหลาย  เพ่งช้อนเพ่งส้อมให้คดงอไปได้นั่นคือพลังของสมาธิ   เขาก็ไม่ได้สมาทานถือศีล 5 ศีล 8 อย่างเรา  เขาก็ทำได้แต่สมาธิ
ของเรานั้นเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์สะอาดแห่งจิต


 

การทำสมาธิเมื่อถึงขั้นหนึ่งจะทำให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ได้หรือไม่


        สมาธิขั้นอุปจารสมาธิ  พอเราทำสมาธิเกิดขึ้นแล้วอิทธิปาฏิหาริย์ก็ทำให้เราเกิดแน่ใจ   คือถ้าสมาธิอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิเราสามารถที่จะส่งกระแสจิตไปดูโน้นดูนี่ได้  หรือบางทีอาจจะแสดงฤทธิ์อันใดอันหนึ่งให้ปรากฏขึ้นก็ได้เช่น  ธรรมะหมุนกลับ  ทำของขลัง  เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งนั้น  แต่ว่าอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ตามที่นักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจ  คงหมายถึงการล่องหนหายตัว  ดำดินบินบนฟ้า  หรือทำอะไรพิเศษแสดงอิทธิฤทธิ์คนน้อยให้เป็นคนมาก  หรือทำอะไรแปลกๆ ให้คนทั้งหลายเห็น  อัศจรรย์อันนี้   ฤทธิ์อันนี้   อาจจะมีความหมายตามความเข้าใจของท่านผู้ถาม   แต่ว่า  พูดถึงว่า  อิทธิปาฏิหาริย์นี้เอ!  หลวงพ่อวันนี้ก็คงจะได้ทำอิทธิปาฏิหาริย์ให้ญาติโยมดูกระมัง   ศาลาหลังนี้เกิดด้วยบุญฤทธิ์  ถ้าวัดนี้ไม่มีบุญ  ใครหนอจะมาสร้างให้   โบสถ์หลังนั้นก็เกิดขึ้นด้วยบุญฤทธิ์  ถ้าพระวัดนี้ไม่มีบุญ  ใครหนอจะมาสร้างให้  หลวงพ่อว่าเอาฤทธิ์กันแบบบุญฤทธิ์นี้ดีกว่า

 

       คนที่แสดงฤทธิ์ได้เก่งที่สุดในสมัยพุทธกาลคือท่านเทวทัตต์  เหาะผ่านหน้าพระพุทธเจ้า  แต่ลงผลสุดท้าย  ผลลัพธ์ของท่านเทวทัตต์ที่เก่งขนาดนั้นเป็นอย่างไร  ลงอเวจี   อเวจีที่ท่านเทวทัตต์ตกลงไปนั้นหลวงพ่อเคยไปดู  เคยวักน้ำขึ้นมาดูเหมือนกัน  ตั้งใจว่าจะหย่อนเท้าลงไป   กลัวจะถูกธรณีสูบก็เลยไม่กล้า   อันนี้คืออิทธิฤทธิ์ตามความเข้าใจของนักปฏิบัติทั้งหลายคือต้องการความมีฤทธิ์

 

       ตามประวัติการปฏิบัติกรรมฐานของ  ท่านอาจารย์เสาร์  อาจารย์มั่น  เท่าที่ท่านเล่าให้ฟัง  ในตอนแรกก็ปฏิบัติกรรมฐานแบบให้เกิดอิทธิฤทธิ์  มันก็เกิดได้เหมือนกัน  บางทีสามารถทำสมาธิจนตัวลอยขึ้นไปหยิบไม่ขีดอยู่บนขื่อกุฏิลงมาได้   แต่ทำไปแล้วรู้สึกว่ามันเกิดความทะนงตัวยิ่งมีฤทธิ์เก่งเท่าไรก็ยิ่งทะนงตัว   การทะนงตัวทำให้หมิ่นประมาทหมู่คณะถือว่าหมู่คณะพระสงฆ์ทั้งหลายนี้เหลวไหลสู้เราไม่ได้   ใครก็สู้เราไม่ได้  เลยเป็นแนวทางที่ทำให้เราเกิดมิจฉาทิฏฐิ    สำคัญว่าเราเก่งกว่าใครทั้งหมด  เพราะสมาธิอิทธิฤทธิ์นี้มันไม่เข้าถึงใจ   มันไม่เข้าถึงใจ  โดยที่มีสติปัญญาแก้ไขปัญหาหัวใจมันจึงทำให้สำคัญผิด


       เพราะฉะนั้นการทำสมาธิเมื่อถึงขั้นหนึ่ง  หรือขั้นใดแล้วสามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้โดยพลังของสมาธิของท่านนั้นๆ เท่าที่จะแสดงได้  เช่น ทำน้ำมนต์ขลัง  ทำของขลังเป็นต้น  เป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ทั้งนั้น


  


การทำสมาธิแล้วเห็นโน้นเห็นนี่ไม่ทราบว่าอาจจะเป็นอาการของจิตหลอนหรือไม่?


        การทำสมาธิเป็นเรื่องธรรมดา   เมื่อจิตสงบลงไปในขั้นต้นนี้  จิตจะเกิดความสว่าง  อย่างคุณหนูนี้ถามว่า  เมื่อมีความสว่างรอบตัวแล้วก็เห็นรูปภาพต่างๆ เห็นโน้นเห็นนี่เป็นเรื่องธรรมดา   เป็นทางผ่านของนักทำสมาธิ

        สมาธิในขั้นอุปจารสมาธิ  จิตจะส่งกระแสออกไปนอกตัว  มักจะเห็นรูปต่างๆ ปรากฏขึ้น  อันนั้นเป็นมโนภาพ   แต่มโนภาพนั้นถ้าหากว่าเรามีสติปัญญาฉลาด  ไม่ยึดนึกแต่เพียงว่าจิตของเราปรุงแต่งขึ้นเท่านั้น   เราจะได้สติปัญญาเพราะมโนภาพนั้น


  


กรุณาอธิบายหลักธรรมของอาจารย์มั่น ที่เรียกว่า  มุตโตทัย


       ตยะแปลว่า หัวใจ  หรือใจ  มุตโตแปลว่า  คน  เมื่อเราทำจิตให้พ้นจากกิเลสได้เมื่อไหร่เมื่อนั้นมุตโตทัยเกิดขึ้นในจิตของเรา   มุตโตทัย  ของอาจารย์มั่นก็หมายถึง ใจที่พ้นจากกิเลส


 

 

กรุณาอธิบายคำว่า  สันโดษ

      สันโดษ  นี้เมื่อเช้านั่งมาในรถ  เปิดวิทยุก็ได้ยิน  คณาจารย์ท่านหนึ่งอธิบายให้ฟัง  เรื่องของสันโดษนี้เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวว่าธรรมะบางอย่างในทางพระพุทธศาสนา   พระสงฆ์ก็ไม่ควรออกมาสอนประชาชน  เพราะจะทำให้ประชาชนขี้เกียจงอมืองอเท้า  เช่น คำว่า สันโดษมักน้อย  เป็นต้น


       คำ สันโดษ  นี้หมายถึง  ความพอ  นี้ต้องมีขั้นตอน  พอตามสติกำลังของตนเท่าที่ตนสามารถ   ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่า  ถ้าหากว่า  นักธุรกิจท่านหนึ่งทำการค้า  มีลูกค้ามาอุดหนุนตลอด 24 ชั่วโมง  แต่ท่านผู้นั้นฉวยโอกาสค้าขายเอาเงินเอาทอง  ถือคติว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก  ในทำนองนี้  จะได้ชื่อว่าผิดสันโดษหรือไม่  ทีนี้คำตอบก็คือว่า  ไม่ผิด  พระพุทธเจ้ายกย่องว่าบุคคลนั้นรู้จักกาลเทศะรู้จักกาลเวลาที่ควรจะได้ประโยชน์


       เพราะฉะนั้นคำว่า  สันโดษ  ตามความหมายในทางธรรมะในพุทธศาสนา  ไม่ใช่ความมักน้อย  ทีนี้เมื่อกล่าวถึงคำว่า  สันโดษ  แล้วใครๆ มักจะต่อคำว่ามักน้อยไป   แต่ความจริงไม่ใช่   มันคนละเรื่อง   สันโดษหมายถึง ความพอ   พอในสิ่งที่ตนพึงได้พึงถือโดยชอบธรรม   แม้ว่าเราจะมีความทะเยอทะยานดิ้นรนกับการใดก็ตาม   แต่ไม่ผิดศีลธรรม   เราทำงานด้วยความหมั่น  ความขยัน   รู้จักฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์  แต่ไม่ได้ผิดกฎหมายและศีลธรรม  อันนั้นไม่ผิดหลักของสันโดษ  ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในหลักของสันโดษ


 

 

การทานอาหารมังสวิรัติเป็นหลักธรรมของชาวพุทธหรือไม่

      การทานอาหารถือมังสวิรัติ  ถือเป็นหลักธรรมของชาวพุทธควรปฏิบัติก็ได้   ถ้าใครมีศรัทธาปฏิบัติได้   แต่ในเมื่อเราถือมังสวิรัติแล้วอย่าเอามังสวิรัติ  ไปเที่ยวกล่าวตำหนิคนที่เขาไม่ถือมังสวิรัติ   ถ้าเราถือมังสวิรัติ  ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติดี   ปฏิบัติชอบ   แต่แล้วไปเที่ยวตำหนิคนอื่นว่าใครกินเนื้อกินหนังเป็นเสือ  อะไรต่ออะไรละก็   อันนั้นมันเป็นการกล่าวคำหยาบ  อุตส่าห์อดเนื้ออดหนัง  แต่ไปเที่ยวด่าคนอื่นด้วยคำหยาบคาย  มันขาดทุน   เพราะคำหยาบมันผิดศีลข้อมุสา   เป็นฉายาแห่งมุสาวาท  วจีทุจริตอย่างไร  เพราะฉะนั้นถ้าใครมีศรัทธาอย่างไร  จะปฏิบัติทางศาสนาก็ปฏิบัติได้   แต่ถือว่าเป็นหลักขัดเกลากิเลสของตัวเอง   ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อจะเอาคุณธรรมอันนี้ไปเที่ยวข่มขู่  ให้ทำจิตใจให้เป็นกลาง


 

 

การบริจาคที่จะได้บุญนั้นจำเป็นไหมที่จะต้องบริจาคกับพระพุทธศาสนา


       การบริจาคที่จะได้บุญนั้น   ไม่จำเป็นที่จะต้องบริจาคในพระพุทธศาสนาก็ได้  สาธารณะประโยชน์ก็ได้   หลวงพ่อบริจาคสตางค์ไปตั้งมูลนิธิให้ รพ.มหาราช ที่เมืองนครราชสีมา  สตางค์กัณฑ์เทศน์ที่ญาติโยมใส่กัณฑ์เทศน์ไปนี้แหละ  ไปตั้งมูลนิธิให้เขาในปี พ.ศ. 2526  ได้ทุนมูลนิธิถึงเก้าแสนบาท  พ.ศ. 2527  ดอกผลมันออกมาได้ล้านเศษ   ทีนี้บุญก็ปรากฏทันตา  พระเณรอาตมา   ไปโรงพยาบาลยังกะเทวดาไป   ไปถึงแล้วไม่ต้องไปนั่งรอคิว   พอรู้พระวัดสาลวันมา  ลัดคิวไปเลย  นี้คือบุญ   การสร้างโรงเรียน   สร้างโรงพยาบาล   สร้างสาธารณะประโยชน์ได้บุญทั้งนั้น   แต่ว่าการสร้างบุญสร้างกุศลนี้   เราจะนึกเอาแต่บุญอย่างเดียวก็ไม่ค่อยดีนัก  ให้เอากุศล  คือความฉลาดด้วย   การให้ทานเป็นอุบายขจัดความโลภ  อันเป็นตัวกิเลสสำคัญ


       ทีนี้การบริจาคในพระพุทธศาสนากับการบริจาคให้องค์การกุศล  เช่น  คนทุกข์ยากลำบากต่างๆ  จะได้บุญเหมือนกับในพระพุทธศาสนาหรือไม่  ก็ได้บุญเหมือนกับพุทธศาสนาเหมือนกัน  เพราะเรารู้จักทำบุญสุนทานเพราะพระพุทธเจ้าสอนเรา   เราก็อาศัยหลักธรรมในพุทธศาสนานั้นแหละ   ไปเป็นเครื่องอุปกรณ์การทำบุญนั้น ๆ


Last Updated on Friday, 20 January 2012 03:46
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner