Friday, 03 February 2012 05:01 |
เศรษฐีบางคนสละออกแต่บางคนกอบโกยเข้าเขียนโดย : โกศล อนุสิม คอลัมน์ "เรียนธรรมในธุรกิจ" อาจารย์ ดร.ไสว บุญมา เขียนถึงเศรษฐีฝรั่งใจดีในคอลัมน์ “บ้านเขาเมืองเรา” หลายครั้ง โดยเศรษฐีเหล่านั้นรวยติดอันดับต้นๆ ของโลก มีทั้งนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ นายบิล เกตส์ เป็นต้น ได้เป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนเพื่อนเศรษฐีชาติเดียวกันยังไม่พอ ยังออกเดินสายชักชวนเศรษฐีในประเทศอื่นให้ร่วมกันสละทรัพย์สินที่หามาได้ เพื่อสร้างประโยชน์แก่คนที่ด้อยโอกาสกว่า นายเกตส์ตั้งมูลนิธิของตนขึ้นมาพร้อมทั้งแบ่งปันทรัพย์สินมหาศาลมาดำเนินงานมูลนิธิ นายบัฟเฟตต์ก็บริจาคทรัพย์อันมหาศาลของตนให้มูลนิธินายเกตส์ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะในประเทศต่างๆ นับว่าเป็นคู่หูเศรษฐีใจบุญโดยแท้ ทรัพย์สินของเศรษฐีใจบุญทั้งหลายที่กล่าวมานี้ได้มาโดยการประกอบสัมมาอาชีพตามวิถีของโลก มีการแข่งขันตามกฎ กติกา มารยาท และประเพณีของการทำธุรกิจโดยทั่วไป ไม่ได้ลักขโมยหรือคดโกงฉ้อฉลคอร์รัปชันแต่อย่างใด จึงถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ ได้มาด้วยความเหนื่อยยากลำบากทั้งกายใจ หากจะหวงแหนเอาไว้เป็นของตนก็ไม่ได้ผิด แต่นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างมากที่เศรษฐีเหล่านี้สละทรัพย์สินของตนเพื่อผู้อื่นเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งรายละเอียดนั้นท่านทั้งหลายที่อ่านคอลัมน์ของท่านอาจารย์ ดร.ไสว บุญมา คงทราบกันแล้ว ในสมัยพุทธกาลก็มีเศรษฐีใจบุญเป็นจำนวนมาก ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกซึ่งคนไทยรู้จักกันดี ก็คือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี แปลว่าเศรษฐีผู้เป็นก้อนข้าวของคนยากไร้ เพราะได้ตั้งโรงทานแจกอาหารแก่คนยากจนเป็นอันมาก อีกผู้หนึ่ง คือ นางวิสาขาก็เป็นเศรษฐีใจบุญเช่นกัน ทั้งสองเป็นพุทธศาสนิกชนที่บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และต่างก็เป็นพระโสดาบันซึ่งเป็นพระอริยเจ้าขั้นต้น (พระอริยเจ้ามี 4 ระดับ คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์) ความดีที่ได้กระทำมาดังกล่าวทำให้ผู้คนรู้จักแม้จะผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว การบริจาคทรัพย์สินแก่ผู้อื่นหรือสาธารณะเป็นการปฏิบัติความดีระดับต้น คือ ทาน (ระดับสูงขึ้นไป คือ ศีล และภาวนา) เป็นการสละออก การสละออกย่อมเป็นการลดความโลภ สละออกมากเท่าใดก็ลดความโลภได้มากเท่านั้น ผู้ที่สามารถสละออกได้ย่อมเป็นผู้มีความโลภน้อยและพยายามละความโลภของตนโดยทำประโยชน์แก่ผู้อื่น การที่ใครจะสามารถสละออกเช่นนี้ได้ย่อมเกิดจากการสั่งสมมาเป็นเวลานาน หลายภาพหลายชาติจนอาจนับไม่ถ้วน จึงติดเป็นนิสัยหรือศัพท์พระท่านเรียกว่าวาสนา พอมาถึงชาติปัจจุบันก็ทำตามที่ตนเคยทำมาก่อนนั่นเอง
การบริจาคทานนั้นมีผลทำให้เกิดความร่ำรวย อาจร่ำรวยในชาติปัจจุบันก็ได้ ในชาติหน้าก็ได้ ในชาติต่อๆ ไปก็ได้ ตามกฎของการให้ผลของกรรม ไม่ว่าคนให้ทานจะปรารถนาหรือไม่ปรารถนากรรมก็ให้ผลเช่นนี้ ดังนั้น บรรดาเศรษฐีใจบุญทั้งหลายที่ให้ทานมาทุกภพทุกชาติ ย่อมจะร่ำรวยทุกภาพทุกชาติ และก็มีจิตใจที่จะสละทรัพย์ออกทุกภพทุกชาติ เขาก็มีโอกาสที่จะทำเช่นนี้ไม่ขาดตอน เกิดเมื่อใดก็มีโอกาสทำเมื่อนั้น เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีนั่นเอง แต่เศรษฐีที่ร่ำรวยแล้วแต่ไม่สละออกทั้งยังหาทางกอบโกยเอาทรัพย์สินเงินทองใส่ตัวอย่างไม่หยุดหย่อนและไม่เลือกวิธีการก็มีมาก พวกนี้เป็นเศรษฐีเนื่องจากการบริจาคทานเช่นกัน แต่อาจทำโดยไม่เต็มใจ ถูกชักชวนจึงทำแบบเสียมิได้ ทำแบบไม่มีศรัทธาแต่ก็ได้รับผลแห่งทานนั้นเช่นกัน เพียงแต่ธรรมชาติไม่ใช่คนที่จะสละออก จึงไม่มีโอกาสที่จะบุญกุศลใหม่ มิหนำซ้ำยังทำบาปเพิ่มด้วยการกดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ละเมิดศีลธรรมและกฎหมาย จึงมีโอกาสที่จะไปทุคติมากว่าสุคติ หลายคนก็ล่มจมในชาติปัจจุบัน ติดคุกติดตะราง หมดสิ้นทรัพย์สินและศักดิ์ศรี หรือกลายเป็นคนอนาถาก็มีไม่น้อย เรื่องนี้ก็แล้วแต่ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มีตัวอย่างให้เห็นแล้วก็พิจารณากันเองเถิด ตัวอย่างของเศรษฐีใจบุญในสมัยพุทธกาลก็ดี ในสมัยปัจจุบันก็ดี เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักแห่งสังคหวัตถุ 4 การสงเคราะห์กัน อาจเทียบได้กับ CSR ขององค์กรธุรกิจในยุคสมัยปัจจุบัน แต่เป็น CSR ขั้นสูงที่มุ่งการสละออก เพื่อลดความโลภ ซึ่งไม่ว่าระดับใดก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่ากระทำทั้งสิ้น หากเศรษฐีทั้งหลายและคนร่ำรวยทุกคนคิดถึงความจริงที่ว่า ตนร่ำรวยขึ้นมาได้ก็อาศัยกำลังของคนยากจนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เจ้าของสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลาย ขายบะหมี่ซองละห้าบาทสิบบาท คนที่ซื้อก็เป็นคนจนมีรายได้น้อยเป็นส่วนมาก ท่านก็รวยขึ้นมาจากเงินของเขาเหล่านั้น นายเกตส์เจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์ก็ร่ำรวยมาจากการขายซอฟต์แวร์ให้คนที่มีรายได้น้อยด้วยเช่นกัน นายบัฟเฟตต์ก็อาศัยเงินทุนจากนักลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมากที่ไว้เนื้อเชื่อใจให้เขานำเงินมาลงทุนจนประสบความสำเร็จได้ส่วนแบ่งร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ดังนั้น การที่จะสละทรัพย์ของตนออก เพื่อนำไปสร้างประโยชน์แก่คนเหล่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่น่ากระทำอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีคนจนซื้อบะหมี่ซองละห้าบาทสิบบาท ก็อาจไม่มีเศรษฐีห้าหมื่นล้านแสนล้านบาท ดังนั้น เศรษฐีทั้งหลายควรที่จะเต็มใจสละทรัพย์ของตนออกกันให้มากๆ แม้ไม่ถึงขนาดนายเกตส์กับนายบัฟเฟตต์ แต่ถ้าสละออกคนละเล็กน้อยของเศรษฐี แค่ 0.5 หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ของที่หาได้ในแต่ละปี หรือมากน้อยกว่านั้นก็ได้ สนับสนุนองค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือคนยากคนจน องค์กรพัฒนาสังคม มูลนิธิต่างๆ หรือตั้งมูลนิธิของตนขึ้นมาแล้วทำจริงจังอย่างนายเกตส์ โลกนี้ก็จะร่มเย็นขึ้นเพราะการสงเคราะห์กัน
คนจนก็จะอยู่ได้เพราะมีผู้สงเคราะห์ เศรษฐีก็จะเป็นเศรษฐีแบบยั่งยืน คือ รวยทุกชาติด้วยผลแห่งธรรมและบุญกุศล ไม่พบกับความวิบัติล่มจมเพราะการเป็นเศรษฐีแบบไม่มีศีลธรรมดังที่ให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มากมาย เขียนโดย : โกศล อนุสิม คอลัมน์ "เรียนธรรมในธุรกิจ"
|