Saturday, 03 December 2011 04:41 |
“บรรดามนุษย์ด้วยกัน คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐที่สุด” เป็นคำตรัสของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ฝึกตน” คือการ “ฝึกจิต” ให้ดีงาม อดได้ ทนได้ แม้ในภาวะที่คนทั่วไปคิดว่าไม่น่าจะทนได้ ผู้ที่ฝึกจิตไว้ดีแล้วจึงสามารถตั้งตนอยู่ในความสงบได้ท่ามกลางความวุ่นวาย สบายในท่ามกลางความทุกข์ และมีความสุขท่ามกลางความไม่สบาย หากเรายอมรับและตระหนักว่าเราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความทุกข์และปัญหา และปัญหาสังคมก็ก่อเกิดมาจากปัญหาของปัจเจกบุคคลซึ่งมีรากเหง้ามาจากจิตที่ฝึกฝนไว้ไม่ดีพอ เราควรจะหันมาให้ความสำคัญกับ “จิต” และการฝึกจิต ซึ่งเป็นงานแก้ทุกข์โดยตรง
กฎอริยสัจ 4 ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ คือ กฎธรรมชาติ เป็นกระบวนการแก้ทุกข์และแก้ปัญหาที่เป็นวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ต้นตอของทุกข์และปัญหาอยู่ที่ไหน ให้แก้ที่นั้น โดยอาศัยวิธีการ (มรรค) ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพปัญหา เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตทางคุณธรรมในสังคมปัจจุบัน มีต้นเหตุมาจากจิตใจที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมไว้ดีพอ ดังนั้น การอบรมจิตน่าจะเป็นมรรค คือยาขนานเอกที่จะเยียวยาสังคมที่ทุกข์ยากและป่วยหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด กระบวนการฝึกจิตไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนและไม่ใช่เรื่องยากเพราะพระพุทธเจ้าได้วางหลักสูตรแบบแผนและปูทางไว้ให้อย่างมีระบบไม่เหลือวิสัยที่จะดำเนินตาม การฝึกจิตไม่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรให้ยุ่งยากสิ้นเปลือง อุปกรณ์ที่จำเป็นและสำคัญที่สุด คือ กายกับใจ การอบรมจิต ไม่ต้องลงทุนเป็นเม็ดเงิน แต่ต้องอาศัยการลงแรงคือแรงกายและแรงใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปรารถนาชีวิตที่สุขสงบพร้อมด้วยความสำเร็จและต้องการเห็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข ควรที่จะหมั่นฝึกฝนตนเองและถ้ามีโอกาสและความสามารถที่จะทำได้ ก็ควรช่วยฝึกฝนผู้อื่นด้วย
|