Friday, 02 December 2011 06:05 |
ชีวิตมีองค์ประกอบของธาตุ 2 ส่วน คือ ร่างกายและจิตใจโดยหลักวิทยาศาสตร์ ร่างกายจัดอยู่ในพวกสสาร ซึ่งโดยธรรมชาติจะเป็นรูปธรรมที่มีความเปลี่ยนแปลงได้ มีความเสื่อม และสูญสลายไปในที่สุด ส่วนจิตใจเป็นพลังงานซึ่งมองไม่เห็นเป็นรูปร่าง แต่ก็เป็นสภาพที่มีอยู่และไม่อาจถูกทำลายได้ ชีวิตที่มีคุณภาพจะต้องมีความสมบูรณ์และแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งคุณภาพชีวิตดังกล่าวสามารถสร้างขึ้นได้โดยการบริหารกายและบริหารจิต โดยสภาพที่เป็นอยู่ มนุษย์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับกายมากกว่าจิตหลายเท่า และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ใส่ใจกับเรื่องของจิตเลย วิถีชีวิตจึงเกิดความไม่สมดุล มุ่งเน้นการบำรุงบำเรอความสุขทางกาย ทุ่มเทเงินทองเพื่อความสวยงามของร่างกายและความมั่งมีด้านวัตถุ จนก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวและสังคมหลายด้าน ความเสื่อมโทรมด้านจิตใจคือคุณธรรมนั้นจะนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤตก็ว่าได้ การแก้ปัญหาดังกล่าว หากยังละเลยเรื่องของ “จิต” ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดเพราะ “จิต” หรือ “ใจ” เป็นบ่อเกิดของความดีและความชั่วทั้งปวง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ” การพัฒนาจิตจึงเป็นรากแก้วของการพัฒนาทุกเรื่อง ดังที่มีผู้กล่าวว่า “จะปลูกพืชต้องเตรียมดินจะกินต้องเตรียมอาหาร จะพัฒนางานต้องพัฒนาคน การพัฒนาคน (ทรัพยากรมนุษย์) ต้องเริ่มที่การพัฒนาจิต จะพัฒนาอะไรก็ติดถ้าจิตไม่พัฒนา” ดังนั้น งานพัฒนาจิตจึงมีความสำคัญอย่างมากที่ทุกคนควรจะนำไปใช้เป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาสังคม
การปฏิบัติงานด้านการพัฒนาจิตให้มีประสิทธิภาพ ต้องทำความเข้าใจเรื่องของจิตให้ชัดเจน มีจุดมุ่งหมายและหลักการที่ตรงและถูกต้อง ตลอดจนเห็นประโยชน์ของการพัฒนาจิตอย่างกว้างขวาง
|
Last Updated on Saturday, 03 December 2011 04:52 |