การพัฒนาจิตในแนวทางที่เป็น “มรรค” คือ มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (2535 : 31) ได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการทำสมาธิภาวนาไว้ 4 อย่าง คือ 1) การอบรมสมาธิเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน 2) การอบรมสมาธิเพื่อญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็น 3) การอบรมสมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ 4) การอบรมสมาธิเพื่อสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
การปฏิบัติสมาธิในแนวทางของพระพุทธศาสนา เน้น “ปัญญา” เป็นหลัก เมื่อจิตมีพลังสติสัมปชัญญะมาก จะก่อให้เกิดปัญญาในระดับต่าง ๆ ได้แก่ ปัญญาระดับสูง การรู้เท่าทันกิเลส ตัณหา อุปาทาน จนสามารถตัดอาสวกิเลสได้
ปัญญาระดับกลาง เป็นความชาญฉลาดทางอารมณ์ (EQ) คือ การรู้เท่าทันจิต มีภูมิต้านทานต่อสิ่งยั่วยุและสิ่งกระทบต่าง ๆ เมื่อมีสิ่งยั่วยุ (จากภายในหรือภายนอกก็ตาม) ให้ทำหรือพูดที่เป็นการเบียนเบียนตนเองและผู้อื่น ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม สติสัมปชัญญะจะเป็นเสมือนห้ามล้อไม่ให้กระทำตามสิ่งยั่วยุนั้น เมื่อเกิดความรัก โลภ โกรธ หลง แม้จะหยุดที่ใจไม่ได้ ก็สามารถหยุดกาย วาจา ไม่ให้กระทำผิดศีล 5 ได้ เมื่อเกิดปัญหาหรือความทุกข์ในชีวิต เช่น ความพลัดพราก ความผิดหวังเสียใจ หรือถูกกระทบด้วยโลกธรรมทั้งฝ่ายยินดี (อิฏฐารมณ์) และฝ่ายยินร้าย (อนิฏฐารมณ์) สามารถประคองจิตให้อยู่ในความเป็นกลาง หรือควบคุมตนเองให้อยู่ในความเป็นปกติได้ แม้อาจมีความหวั่นไหวหรือกระเพื่อมบ้างก็เพียงเล็กน้อย ไม่ยินดีหรือยินร้ายจนควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือทนต่อความทุกข์ไม่ได้จนต้องหาที่พึ่งในทางที่ผิด เช่น มั่วอบายมุข เสพสารเสพติด หรือหาทางออกในทางที่ผิด เช่น ฆ่าตัวตาย ปัญญาระดับต้น เป็นความชาญฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ที่ใช้ในการเรียนและการงานต่าง ๆ ทำให้ประสบผลสำเร็จสูง มีความผิดพลาดน้อย
โครงการอบรมพัฒนาจิตซึ่งจัดที่วัดวะภูแก้ว อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดอบรมให้แก่นักเรียนทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา นักศึกษาระดับอุดมศึกษา ตลอดจนข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี จำนวนผู้เข้าอบรมกว่า 300 รุ่น ประมาณ 100,000 คน จากการประเมินผลการอบรม ผู้รับการอบรมเฉลี่ย 90% ได้รับประสบการณ์ในทางบวก ได้ประโยชน์จากการอบรมในระดับสูงจากการศึกษาประสบการณ์ที่ผู้เข้ารับการอบรมเขียนถ่ายทอดความรู้สึกที่ได้รับจากการอบรม พบว่าผู้เข้าอบรมสามารถพัฒนาสติปัญญาได้มาก ตั้งแต่ปัญญาระดับต้นถึงปัญญาระดับกลาง กล่าวคือ
- นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนอ่อน มีผลการเรียนดีขึ้น บางคนสามารถยกระดับการเรียน จากเรียนอ่อนเป็นเรียนเก่งในระดับต้น ๆ ได้บางคนเคยสอบตกหมดทุกวิชา ก็สามารถสอบผ่านทุกวิชาได้หลังการอบรมเพียง 2-3 เดือน ส่วนผู้ที่เรียนเก่งอยู่แล้ว ยิ่งมีผลการเรียนที่โดดเด่นยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมีสมาธิในการเรียนดีขึ้น - การประกอบกิจการงานต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จสูงขึ้น - สามารถแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ เช่น การมั่วอบายมุข การประพฤติผิดทำนองคลองธรรม การใช้สารเสพติด ฯลฯ - เกิดสำนึกทางคุณธรรม เช่น มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ความกตัญญู ความรับผิดชอบต่อครอบครัว หน้าที่การงานและสังคม - มีความมั่นคงทางจิตใจมากขึ้น มีความเข้มแข็ง อดทนต่อความทุกข์และสิ่งยั่วยุที่จะชักนำไปในทางที่ผิด พึ่งตนเองได้มากขึ้น ไม่หาที่พึ่งในทางที่ผิด เมื่อมีปัญหา ใช้สติปัญญาในการแก้ไข ไม่คิดฆ่าตัวตาย หรือพึ่งอบายมุข
ฯลฯ บรรณานุกรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ศีล สมาธิ ปัญญาในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2535.
|