การพัฒนาจิต
Saturday, 03 December 2011 02:38

ชีวิตมีองค์ประกอบของธาตุ  2  ส่วน  คือ  ร่างกายและจิตใจ 

          เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาจิต  ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเรื่องการทำสมาธิภาวนา  และเมื่อกล่าวถึงเรื่องการทำสมาธิภาวนา  ก็จะนึกถึงภาพการนั่งขัดสมาธิ  หลับตา  บริกรรมภาวนา  การที่คนส่วนมากมีความเข้าใจเรื่องการพัฒนาจิตและการทำสมาธิภาวนาในลักษณะนี้  ทำให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของชีวิตประจำวันหรือเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปจะทำได้  เพราะเป็นเรื่องยาก  ลึกลับซับซ้อน  ต้องมีเวลาว่าง  ต้องอาศัยสถานที่เงียบสงบ  เช่น  ต้องไปวัด  เป็นต้น  จึงเห็นว่างานนี้สมควรเป็นงานของพระภิกษุสามเณร  อุบาสกอุบาสิกาที่แก่วัด  ความเข้าใจดังกล่าวนับว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและอยู่ในวงแคบเกินไป  จึงสมควรทำความเข้าใจเรื่องของการพัฒนาจิตให้ถูกต้อง


1. การพัฒนาจิตคืออะไร

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย


          พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2544 : 96)  กล่าวว่า  “ถ้าใครยังคิดว่าสมาธิ  ต้องขัดสมาธิหลับตาภาวนา  คนนั้นยังโง่อยู่  ถ้าผู้ใดเข้าใจว่า  สมาธิเราทำได้ตลอดเวลาทุกลมหายใจ  ผู้นั้นเข้าใจถูก  สมาธิคือการกำหนดสติรู้อยู่ในชีวิตประจำวัน  ในปัจจุบันตลอดเวลา”  ท่านได้ให้นิยามของคำว่า  “สมาธิ”  ไว้ว่า  (2544 : 11)  “การทำสมาธิ  คือ  การทำจิตให้มีสิ่งรู้  ทำสติให้มีสิ่งระลึก  หมายความว่า  เมื่อจิตของเรานึกถึงสิ่งใด  ให้มีสติสำทับไปตรงนั้น”


          พระธรรมวิสุทธิมงคล  (ท่านอาจารย์พระมหาบัว  ญาณสัมปันโน)  ได้กล่าวในพระธรรมเทศนาเรื่อง  “การพัฒนาจิตในพระพุทธศาสนา”  ว่า  “จิตใจเป็นรากฐานสำคัญที่จะแสดงออกในอากัปกิริยาตลอดหน้าที่การงาน...  ใจเมื่อได้รับการอบรมย่อมมีสติ  ย่อมมีความฉลาดรอบคอบในความคิดความปรุงของตน  คิดดีคิดชั่วคิดผิดถูกประการใด  สติย่อมมีย่อมรู้  แล้วก็ทำตามสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องดีงาม  งดเว้นสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย  นั้นท่านเรียกว่า  พัฒนาจิต”


          การพัฒนาจิต  คือ  การทำสมาธิ  นั้น  เป็นงานหรือกิริยาของจิต  กายจะอยู่ในอิริยาบถหรือทำการงานใดอยู่ก็ได้  ไม่ว่าจะยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ดื่ม  ทำ  พูด  คิด  หากทำไปด้วยความมีสติสัมปชัญญะ  มีความรู้ตัวทั่วพร้อม  มีใจจดจ่ออยู่กับงานหรืออาการนั้น  ถือว่าเป็นการทำสมาธิทั้งสิ้น  ดังที่พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2544 : 75-76)  กล่าวว่า


 “สมาธิเป็นกิริยาของจิต  เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเราอยู่ตลอดเวลา  ถ้าเรานั่งกำหนดรู้จิตของเราเรียกว่า  ปฏิบัติสมาธิในท่านั่ง  แต่เวลาเรายืนกำหนดจิตของเรา  เรียกว่า  ปฏิบัติสมาธิในท่ายืน  เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเราในท่านอน  เรียกว่าปฏิบัติสมาธิในท่านอน  เวลาเดินจงกรม  เรามีสติกำหนดรู้จิตของเรา  เรียกว่า  ปฏิบัติสมาธิในท่าเดิน  ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  เป็นแต่เพียงอิริยาบถบริหารร่างกายเพื่อมิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทรมานมากจนเกินไป  เพราะฉะนั้น  สมาธิจึงไม่ใช่เพียงเรื่องการนั่งสมาธิอย่างเดียว  แม้แต่การยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ดื่ม  ทำ  พูด  คิด  ถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา  เราก็ได้ปฏิบัติสมาธิอยู่ตลอดเวลา”


          นอกจากนี้  ท่านยังเน้นว่า  (2544 : 9)  “สมาธิแบบพระพุทธเจ้า  การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวันนี่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญ  สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ”  กล่าวโดยสรุป  สติ-สัมปชัญญะ  คือ  กลไกที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาจิตหรือการทำสมาธิ

 

 

2. จุดหมายและหลักการพัฒนาจิต

          การปฏิบัติสมาธิมีหลายวิธีและมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่หลากหลาย  หากผู้ปฏิบัติตั้งจุดมุ่งหมายและยึดหลักการที่ไม่ถูกต้อง  อาจทำให้ได้ประโยชน์น้อยหรืออาจเสียประโยชน์เลยก็ได้  เพื่อให้การปฏิบัติได้ประโยชน์สูงสุด  จึงควรมีจุดหมายและหลักการที่ถูกต้อง
          พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2544 : 9-10)  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า 


 “ปัญหาสำคัญของการฝึกสมาธินี่  บางทีเราอาจจะเข้าใจไขว้เขวไปจากหลักความจริง
 สมาธิอย่างหนึ่ง  เราฝึกเพื่อให้จิตสงบนิ่ง
 สมาธิอย่างหนึ่ง  เราฝึกเพื่อให้มีสติสัมปชัญญะ  รู้ทันเหตุการณ์นั้น ๆ  ในขณะปัจจุบัน
 สมาธิบางอย่าง  เราปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้เห็นภายในจิต  เช่น  รู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ  รู้เรื่องอดีต  อนาคต  รู้อดีต  หมายถึง  รู้ชาติในอดีตว่าเราเกิดเป็นอะไร  รู้อนาคต  หมายถึงว่าเมื่อเราตายไปแล้ว  เราจะไปเป็นอะไร  อันนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้
 ทีนี้เรามาพิจารณากันจริง ๆ  อดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว  อนาคตเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  ดังนั้น  เรามาสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันดีไหม
 ...ที่ครูบาอาจารย์สอนว่า  ทำกรรมฐานไปเห็นโน่นเห็นนี่  นี่มันใช้ไม่ได้  ให้มันเห็นใจเราเองซิ
 ...อย่าไปเข้าใจว่า  ทำสมาธิแล้วต้องเห็นนรกต้องเห็นสวรรค์  ต้องเห็นอะไรต่อมิอะไร  สิ่งที่เราเห็นในสมาธิมันไม่ผิดกันกับที่เรานอนหลับแล้วฝันไป  แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้เห็นนี่คือ  เห็นกายของเรา  เห็นใจของเรา

          ดังนั้น  การพัฒนาจิตหรือการปฏิบัติสมาธิที่เป็นหนทางของ  สัมมาสมาธิ  จะต้องยึดถือจุดหมายหลักการดังต่อไปนี้
          1) เป็นการปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างและเพิ่มพูน  พลังสติสัมปชัญญะ  เพื่อให้เกิดปัญญา  ดังนั้น  ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด  หรือทำการงานใดอยู่  ให้มีสติรู้อยู่กับอิริยาบถหรือการงานนั้น  พลังสติสัมปชัญญะจะก่อให้เกิดปัญหา  และเป็นพลังควบคุมกาย  วาจา  ใจ  ให้ทำ  พูด  คิด  ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม  เป็นเสมือนเบรกห้ามล้อที่จะหยุดกาย  วาจา  ใจ  ไม่ให้ทำ  พูด  คิด  ในสิ่งที่จะเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น


          พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2544 : 41)  กล่าวว่า  “สมาธิในสายของพระพุทธเจ้า  บำเพ็ญสมาธิเพื่อให้เกิดสติปัญญาในด้านวิปัสสนา  เพื่อจะได้นำประสิทธิภาพของพลังงาน  คือ  สติสัมปชัญญะมาแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน  แก้ไขปัญหาข้อข้องใจในกิเลสและอารมณ์ของตนเองได้”

          2) เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้กาย  รู้จิตของตนเอง  การละชั่ว  ประพฤติดี  การแก้ไขพฤติกรรมของตนเอง  จะต้องเริ่มที่การรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้  “กรรมฐาน”  แปลว่า  ที่ตั้งแห่งการงาน  งานนั้นคือ  งานดูกาย  ดูจิตนั่นเอง  การปฏิบัติเพื่อต้องการรู้เห็นสิ่งอื่น  เช่น  รู้จิตใจผู้อื่น  เห็นสวรรค์  เห็นนรก  เห็นภูตผีปีศาจ  ล้วนเป็นการปฏิบัติแบบส่งจิตออกนอก  ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทุกข์เพิ่มปัญหา  มากกว่าการแก้ทุกข์แก้ปัญหา  ดังที่พระราชวุฒาจารย์  (หลวงปู่ดูลย์  อตุโล)  (อ้างจากพระโพธินันทมุนี,  2536 : 5)  กล่าวว่า


 “จิตที่ส่งออกนอก                         เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก          เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต                                   เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต                  เป็นนิโรธ"

          นอกจากนี้  พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2544 : 98)  และ (2544 : 35)  ยังกล่าวว่า


         “ความรู้เห็นดวงดาวดวงเดือนอะไรต่าง ๆ อย่าไปสนใจ  ใครจะรู้วิเศษเท่าไร  ไม่ประเสริฐเท่ารู้ใจตนเอง  ความมีอิทธิฤทธิ์หรืออะไรต่าง ๆ  อย่าไปสนใจ  เราจะพูดอะไรไม่เป็น  รู้เห็นแล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  เป็นแล้วไม่รู้ว่าเป็นอะไร...ช่าง  ขอให้มีอันรู้จิตของเรานี่”
         “พยายามกำหนดพิจารณารู้เรื่องของจิตของกายนี้ให้รู้ชัดเจนลงไป  อย่ามัวแต่มุ่งที่จะรู้โลกหน้าโลกอื่น  รู้แล้วกไม่มีประโยชน์อะไร  ถ้าภาวนาไปแล้วไปเห็นเทวดา  เทวดาเขาก็ไม่มาช่วยขัดกิเลสให้เราหรอก  ถ้าภาวนาแล้วไปเห็นนรก  เราจะเอาน้ำทองแดงในหม้อนรกมาชำระล้างกิเลส  ก็เป็นไปไม่ได้  เห็นพระอินทร์  พระพรหม  ท่านก็ช่วยอะไรเราไม่ได้”


   

หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต

          หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต  กล่าวถึงเรื่องของการอบรมจิต  และการภาวนาไว้ว่า    (อ้างจาก  มูลนิธิหลวงปู่มั่น,  2543 : 110-111)
 

“จิต  เป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล  ด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี  ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน  วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะก็คือ  ภาวนา  ฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร  ตรวจดูจิตว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไป  จะได้ซ่อมสุขภาพจิต  คือ  นั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน  คือ  ความคิดปรุงแต่งของจิต  ว่าคิดอะไรบ้าง  ในวันและเวลาที่นั่ง  นั่งมีสารประโยชน์ไหม  คิดแส่หาเรื่อง  หาโทษ  ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น  พอรู้ผิด-ถูกของตัวบ้างไหม...  การภาวนา  คือ  วิธีเตือนตน  สั่งสอนตน  ตรวจตราดูความบกพร่องของตนว่าควรแก้ไขจุดใดตรงไหนบ้าง”


         ดังนั้น  การพัฒนาจิต  เพื่อพัฒนาคุณธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจ  จะมองข้ามเรื่องของกายและจิตของตนเองไปไม่ได้เลย  ดังที่พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2546 : 18)  กล่าวไว้ว่า  “คนภาวนาไม่เห็นหัวใจ  มันถึงสวรรค์นิพพานไม่ได้หรอก  ต้องดูใจของตัวเองให้รู้ก่อน  ว่าใจเราดำ  ใจเราขาว  ใจเรามีกิเลส  โลภ  โกรธ  หลง  ใจมีราคะ  โทสะ  โมหะ  ต้องดูกันที่ตรงนี้ก่อน"                                                                                                                                    

          3) การกำหนดรู้ปัจจุบันเป็นหลักการสำคัญ  ธรรมชาติของจิตจะเกิดพลังเมื่อมีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่ปัจจุบัน  การส่งจิตไปในเรื่องของอดีตหรืออนาคต  เป็นการส่งจิตออกนอกเช่นเดียวกัน  หลวงปู่หลุย  จันทสาโร  (อ้างจาก  มูลนิธิหลวงปู่มั่น,  2543 : 471-472)  ให้หลักในการภาวนาไว้ว่า


 “ภาวนา  พุทโธ  ในที่นี้หมายความว่า  ให้ละอดีตที่ล่วงแล้วมา  ...  อันองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคห้ามทีเดียว  ห้ามน้อมนึกเอาอดีตที่ล่วงมาแล้วมาทับปัจจุบัน  มันยกจิตไม่ขึ้นนะ  จิตไม่สว่างไสว  อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น  อย่าคิดอย่านึกนะ  สิ่งใดยังไม่ถึง  เราอย่ากล่าวเขาเรยกว่าสมบัติบ้านะ  และคิดถึงอนาคตข้างหน้านั้นมาทับปัจจุบัน  มันยกจิตไม่ขึ้นนะ”


           จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นว่า  ความเข้าใจว่าการทำสมาธิภาวนา  คือ  การนั่งขัดสมาธิ  งมงาย  หลับตา  หนีทุกข์  หนีปัญหานั้น  เป็นความเข้าใจที่ผิดจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง  หากผู้ปฏิบัติยึดจุดหมายหลักการที่ถูกต้องแล้ว  จะพบว่าการภาวนาคือการสร้างจิตให้เป็น  พุทธะ  คือ  รู้  ตื่น  เบิกบาน  เกิดปัญญาที่จะแก้ไขทุกข์  แก้ไขปัญหาภายในจิตใจของตนเอง  ด้วยตนเอง  โดยไม่ต้องพึ่งสิ่งภายนอก  ดังที่พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2544 : 35)  กล่าวว่า  “การปฏิบัติธรรมตามแนวพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง  อยู่ที่การสร้างจิตของตัวเองให้มีพลังเข้มแข็ง  มีสติสัมปชัญญะรู้รอบอยู่ที่ตัวเอง  สามารถยืนหยัดอยู่ในความเป็นอิสระได้ตลอดเวลา  ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร”

 

 

3. แนวทางพัฒนาจิต

          การพัฒนาจิต  ไม่ใช่การนั่งหลับตาบริกรรมภาวนา  การฟังธรรม  การเดินจงกรมเท่านั้น  และไม่ใช่การผูกขาดของชาวพุทธ  แต่เรื่องของสมาธิเป็นสากล  ดังที่พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2538 : 98)  กล่าวว่า  “เรื่องของสมาธิไม่ใช่มีเฉพาะในบ้านเมืองเรา  เรื่องสมาธิไม่ใช่เฉพาะจะมานั่งหลับตาหรือฟังธรรมกันในวัดเรื่องของสมาธิเป็นเรื่องสากล  สมาธิไม่ใช่ของศาสนาใด  ไม่มีศาสนาใดผูกขาด  สมาธิเป็นทั้งของคนมีศาสนา  เป็นทั้งของคนไม่มีศาสนา”


          หากเรายึดหลักที่ว่า  “การทำสมาธิภาวนา  คือการทำจิตให้มีสิ่งรู้  ทำสติให้มีสิ่งระลึก”  เมื่อใดที่เรามีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน  เมื่อนั้นเราทำสมาธิภาวนาอยู่  เราจึงสามารถทำสมาธิได้ทุกสถานที่  ทุกเวลา  ทุกการงาน  ทุกอิริยาบถ


          พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2538 : 67-117)  แยกสมาธิเป็น     2  แบบ  คือ
          1) สมาธิในวิธีการ  หมายถึง  การปฏิบัติสมาธิที่มีรูปแบบ  มีวิธีการที่เป็นกิจจะลักษณะ  เช่น  การนั่งขัดสมาธิ  กำหนดลมหายใจ  บริกรรมภาวนา  การเพ่งกสิณ  การเดินจงกรม  เป็นต้น  ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด  กล่าวคือ  ต้องอาศัยสถานที่สงบเงียบเป็นส่วนตัว  เช่น  วัดหรือห้องพระ  ต้องว่างจากภาระงานอื่น ๆ

          2) สมาธิในชีวิตประจำวันหรือสมาธิสาธารณะ  เป็นการปฏิบัติสมาธิในชีวิตประจำวัน  ด้วยการกำหนดสติอยู่กับงานในปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็นการยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ดื่ม  ทำ  พูด  คิด  ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่อยู่ในวงกว้างขึ้น  สามารถทำได้ทุกสถานที่  ทุกเวลา  ทุกสถานการณ์  เช่น  ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน  สามารถทำสมาธิในการเรียนได้  ด้วยการเพ่งสายตาและจิตใจไปที่ครูผู้สอน  เมื่ออ่านหนังสือ  ใจจดจ่ออยู่ที่หนังสือ  ใครมีภาระการงานใด  ก็ทำงานนั้น  ด้วยความมีสติและจดจ่ออยู่กับงาน


          การฝึกจิตให้เกิดผล  ใช้ประโยชน์ได้ดีในชีวิตประจำวัน  ควรกระทำควบคู่กันทั้ง  2  วิธี  กล่าวคือ  ช่วงเช้า  ตื่นนอนแล้ว  ไหว้พระสวดมนต์  เดินจงกรม  นั่งสมาธิภาวนา  ประมาณ  30  นาที  ถึง  1  ชั่วโมง  หรือมากน้อยกว่านี้ตามแต่โอกาสอำนวย  เป็นการทำสมาธิในวิธีการเพื่อสะสมพลังสติสัมปชัญญะไว้ใช้ในการปฏิบัติงาน  และเป็นภูมิต้านทานถ้าเกิดปัญหาอุปสรรคในการทำงาน  จะมีพลังสติปัญญาที่จะตั้งรับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาได้


          ระหว่างปฏิบัติงานและดำเนินชีวิตประจำวันให้กำหนดสติรู้อยู่กับงานในปัจจุบันให้ต่อเนื่องให้มากที่สุด  วิธีนี้เป็นการปฏิบัติสมาธิในชีวิตประจำวัน  ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานมีคุณภาพสำเร็จลุล่วงได้รวดเร็ว  ความผิดพลาดจะไม่เกิดขึ้น  เมื่อเกิดปัญหา  อุปสรรค  จะตั้งรับได้และมีปัญญาในการแก้ไขปัญหา


          เมื่อเสร็จภาระงาน  ก่อนนอน  ปฏิบัติสมาธิในวิธีการเช่นเดียวกับช่วงเช้า  ถ้าการปฏิบัติสมาธิในชีวิตประจำวันมีความต่อเนื่องมาก  จะส่งผลให้การปฏิบัติการสมาธิในวิธีการช่วงก่อนนอนได้ผลดี  จิตรวมได้เร็ว  เพราะมีพลังสติสัมปชัญญะสะสมไว้มาก  ได้พักจิต  คลายเครียด  และอาจเกิดปัญญาในการแก้ไขหรือพัฒนางานที่ติดค้างมาหรือที่จะทำในวันรุ่งขึ้น  หากไม่มีเวลาปฏิบัติสมาธิก่อนนอน  ก็ควรนอนสมาธิ  คือนอนกำหนดสติรู้ที่ลมหายใจหรือคำบริกรรมภาวนาจนหลับไป  จะเป็นการนอนที่มีคุณภาพได้พลังสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น


          อย่างไรก็ตาม  หากไม่มีเวลาในการปฏิบัติสมาธิในวิธีการ  ก็ควรปฏิบัติสมาธิในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด  เพราะเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมาก  ดังที่พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)  (2544 : 9)  กล่าวว่า  “สมาธิแบบพระพุทธเจ้า     การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน  นี่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญ  สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ”

          กล่าวโดยสรุป  สมาธิในวิธีการเป็นการฝึกฝนภาคปฏิบัติ  เพื่อนำมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน  ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะตลอดเวลา

 


บรรณานุกรม

พระโพธินันทมุนี. หลวงปู่ฝากไว้.  กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด, 2536.
พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย).  ฐานิยปูชา 2538.  กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2538.
พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย).  ฐานิยปูชา 2544.  กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2544.
พระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย).  ฐานิยปูชา 2546.  กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2546.

มูลนิธิหลวงปู่มั่น. จิตตภาวนา  มรดกล้ำค่าของชาวพุทธ. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2543.


 

Last Updated on Saturday, 03 December 2011 04:18
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner