กรรมกับผลแห่งวิบากกรรม โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
มนุษย์เกิดมาได้อย่างไร ? มนุษย์เรานี้มันเกิดมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร ปัจจัย ๔ อย่างนี้ทำให้เกิดขึ้นมา แต่เริ่มแรกจริง ๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่า มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แม้พระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่ได้ตรัสไว้ว่า มนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไรเพราะโลกนี้เมื่อย้อนหลังคืนไปแล้ว ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีสิ้นสุดเลย เรียกว่าเบื้องต้นไม่ปรากฏ ไม่ทราบมันเกิดมาแต่เมื่อใด พระองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ทรงมีพระญาณไม่มีที่สิ้นสุด แม้กระนั้นพระองค์ก็ไม่ได้พยากรณ์เอาไว้ว่า จิตวิญญาณของมนุษย์มาจากอะไร และมาแต่ไหน เบื้องต้นจริงๆ ไม่มี พระองค์ก็ไม่ได้พยากรณ์ไว้ พระองค์ทรงพยากรณ์ว่า ชีวิตมนุษย์ ได้อาศัยอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดความแก่ พยาธิความเจ็บไข้ มรณะความตาย โสกะความโศกเศร้า ปริเทวะความร้องไห้ร่ำไร ทุกข์โทมนัสความคับแค้นใจ อุปายาสความเหี่ยวแห้งใจ เป็นอันว่าความทุกข์ทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการดังนี้ สรุปแล้วมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าพิจารณาตามปฏิจจสมุปบาทอันนี้ แล้ว ร่างกายและจิตใจของคนเราที่ยังมีอวิชชาตัณหาหุ้มห่ออยู่นี้ แต่คนหารู้แจ้งด้วยปัญญาอันนี้ไม่ ก็เลยหลงติดสุขชั่วคราวทำให้ หัวใจโล่งไปชั่วขณะหนึ่ง ๆ เท่านั้น
ปัจจัยแห่งการเกิดชีวิต
แต่แล้วในที่สุด ก็จะมีแต่ความทุกข์บังเกิดขึ้นในจิตใจของแต่ละคนนี้ พูดตามบุคคลที่ไม่บรรลุถึงสัจธรรม ถ้าผู้ที่บรรลุ อริยสัจธรรมแล้ว จิตของท่านก็อยู่เหนือปัจจัยอันตกแต่งชีวิตเหล่านี้เสียแล้ว จิตของท่านจึงไม่มีทุกข์ ผู้ที่ยังละเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่ ได้ ก็ต้องจมอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์เหล่านี้ไปก่อน เหมือนอย่างกับพวกพรหม เมื่อถูกกลิ่นของง้วนดิน มันหอมขึ้นไปถึงพรหมโลก พรหมอยู่ไม่ได้ก็ต้องลงมาบริโภค ง้วนดินนั้น แล้วก็ติดใจในรสชาติ เมื่อเกิดความยินดีพอใจเข้า ฌานก็เลยเสื่อม เมื่อฌานเสื่อมแล้ว ก็เหาะไปไม่ได้ ก็ต้องอยู่บน พื้นดินนี้ ก็เลยสร้างบ้านเรือน มีลูกมีหลานสืบต่อกันมาโดยลำดับจนถึงบัดนี้ สัตว์เกิดมาเพราะสาเหตุอะไร ? สัตว์เดรัจฉานก็เกิดจากกรรมเช่นเดียวกัน แต่กรรมของสัตว์เดรัจฉานเป็นกรรมอันหยาบกว่ากรรมของมนุษย์ เพราะฉะนั้น สัตว์เดรัจฉานจึงมีความเป็นอยู่แตกต่างจากมนุษย์มาก แล้วก็เป็นสมบัติของมนุษย์ด้วย พวกสัตว์เดรัจฉานมันเบียดเบียนกัน มันก็มีบาป เหมือนกัน สัตว์พวกใดที่ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น มันก็ไม่มีบาป แต่ว่ามันก็มีกรรม คือการกระทำของสัตว์ ความยึดถือต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นตัวกรรม ทำให้เกิด ๆ ตาย ๆ อยู่เช่นนี้ สัตว์เดรัจฉานนี้ เมื่ออยู่ใกล้กับมนุษย์ มนุษย์ทำคุณงามความดีอะไร มันก็ยินดีด้วย อย่างนี้มันก็ได้รับส่วนบุญจากมนุษย์เหมือนกัน เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนาน ๆ ไป อินทรีย์มันจะแก่กล้าขึ้น ก็เลยพ้นจากสัตว์เดรัจฉานมากเกิดเป็นมนุษย์ เป็นอยู่อย่างนี้แหละ ดังนั้นการที่พวกนักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยาชาวตะวันตก ผู้เป็นนักคิดทั้งหลายพากันกล่าวว่าโลกนี้มีพืชเกิดขึ้นก่อน แล้วก็มีสัตว์น้ำ เป็นอันดับแรกต่อมาสัตว์บกจึงเกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของสัตว์น้ำก็เป็นการคาดคะเนที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามเนื้อความแห่งปฐมกรรมนี้ โลกว่างเปล่า มนุษย์เกิดขึ้นก่อน จึงมีพืชแล้วจึงมีสัตว์ สิ่งมีชีวิตทั้ง ๓ พวก เกิดจากธาตุทั้ง ๔ ของโลก คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ดังนั้น เมื่อแตกดับไป จึงสลายทิ้งธาตุ เดิมไว้ในโลก พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า โลกนี้ก็มีอายุเหมือนกัน โลกนี้หมายรวมทั้งแผ่นดิน แผ่นน้ำ ทั้งพืช ทั้งสัตว์ มนุษย์ รวมกันเข้าเรียกว่าโลก อายุของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน ก็มีขอบเขตของอำนาจแห่งกรรมของสัตว์แต่ละจำพวก คำว่า สัตว์ นี้เป็นคำกลาง แปลว่า ผู้ข้องอยู่หมายความว่า ใครก็ตามถ้ายังข้องอยู่ในโลกนี้ ก็ได้นามว่าสัตว์ทั้งนั้นแหละ แต่จำแนกออกเป็น ประเภทต่างๆ เช่น สัตว์มนุษย์ สัตว์เดรัจฉานอย่างนี้แหละ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงได้แสดงความเสื่อมสลายดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่อมันหมดอายุของโลกแล้ว ก็จะเกิดพระอาทิตย์ขึ้นมาเป็น ๒-๓ ดวงจนถึง ๗ ดวง เมื่อครบ ๗ ดวงแล้วก็เกิดไฟไหม้โลก มนุษย์สัตว์ที่อาศัยอยู่ในโลกก็ตายไปหมด เมื่อไฟไหม้เป็นจุณและวิจุณไปหมดแล้ว ก็เกิดเป็นฝนตกลงมา ไฟก็ดับ โลกทั้งโลกนี้ก็มีแต่น้ำ ก็เกิดมีลมพัดน้ำเป็นคลื่นพัดไปมา เกิดเป็นคลื่นกระทบ กันไปมา เกิดความข้นเข้าทุกที นานไปก็เลยเกิดเป็นแผ่นดิน ที่ใดที่มันข้นมาก ไม่เคลื่อนที่ไปที่อื่น ตั้งอยู่ที่เดิมก็กลายเป็นภูเขา ระหว่างภูเขาก็เป็นที่ราบ เราก็เรียกว่า แผ่นดิน เป็นที่อยู่ของมนุษย์ และก็พวกพรหมนั่นแหละมากินง้วนดินที่เกิดใหม่ เกิดเป็นคนกลายเป็นหญิงเป็นชายขึ้นมา พื้นโลกนี้ก็มีอายุเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าแผ่นดินนี้จะมีเป็นอยู่เช่นนี้ตลอด ไปก็หามิได้ ต่อ ๆ ไปมันก็มีอันเป็นไปเพราะทุกอย่างมันไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตามที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ สัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นแดนเกิด กรรมแรงจะให้ผลทันตาเห็น หรือเรียกว่าปัจจุบันกรรมเป็นอย่างไร บางอย่างให้ผลในปัจจุบัน บางอย่างก็ยังไม่ให้ผลในปัจจุบันเป็นอย่างไร พูดถึงเรื่องกรรมนี้ พระศาสดาทรงแสดงว่าเป็นอจินไตย บุคคลไม่ควรคิดให้มาก เพราะว่าวิบากของกรรมที่สัตว์กระทำ ได้เสวยร้อยแปดพันประการ เพราะจิตใจของมนุษย์นี้ยังมี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำอยู่ มันคิดไปร้อยแปดพันอย่าง วันหนึ่งๆ ไม่ทราบคิดอะไรต่ออะไร มีทั้งบุญ มีทั้งบาป มีทั้งไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป คลุกเคล้ากันอยู่เท่านั้น เรื่องของกรรมนี้พระศาสดาทรงแสดงหลักไว้ให้ได้คิดอ่านกัน คือพระองค์ทรงตรัสว่า สัตว์โลกทั้งหลายนี้มันมีชนกกรรม มีกรรมให้เกิด "ชนกกรรม" ก็คือ กุศลกรรม อกุศลกรรมนั่นเอง ที่บุคคลได้กระทำนั้นแหละ เป็นผู้ให้กำเนิดขึ้น จะเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน หรือ เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เหล่านี้ก็เนื่องจากชนกกรรมดังที่ว่านี้แหละ ทำให้เกิดและอุปถัมภ์ไว้ให้เกิด ความเจริญ ลาภยศ สรรเสริญ มีความสุข มีอายุยืนยาว ทรวดทรงสวยสดงดงาม ผิวพรรณผ่องใส อย่างนี้เรียกว่าอาศัยกุศลกรรมบำรุงไว้ไม่ให้มีภัยอันตรายใด ๆ เกิดขึ้น หากบุคคลนั้นสร้างอกุศลกรรมติดตัวมาให้เกิดขึ้น อกุศลกรรมนั่นแหละ ก็จะตกแต่งให้เป็นทุกข์ ทุกข์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ตายแล้วไปตกนรก อย่างนี้ เมื่อถูกน้ำร้อนลวกไฟเผา ก็ตะเกียกตะกายขึ้นจากนรกแล้วก็หนีไป หนีไปก็ไม่พ้น นายยมบาลก็จับซัดลงไปในนรกอีก นี่เรียกอกุศลกรรมมันอุปถัมภ์ไว้ มันบังคับไว้ให้ ไปทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น กรรมบีบคั้น
ทีนี้ "อุปปีฬกกรรม" กรรมบีบคั้น กรรมมันบีบคั้นนี้ก็แบ่งได้เป็น ๒ เหมือนกัน คือ ถ้าหากว่าคนคนหนึ่งทีแรกทำบาปมาแล้ว ต่อมามารู้สึกตัวว่าบาปนี้ไม่ควรทำ มันตกแต่งให้เป็นทุกข์ รู้ตัวแล้วก็รีบเร่งทำกุศล ทำคุณงามความดี คือหลีกเลี่ยงจากบาปอกุศลที่กระทำมานั้นให้พ้นไป เมื่อทำกุศล คุณงามความดีให้แก่กล้ามากขึ้น มีกำลังเหนือบาปอกุศลกรรมเหล่านั้น ก็บีบคั้นบาปที่ทำไว้ก่อนไม่ให้มีโอกาสที่จะให้ผลได้ ในที่สุดก็เลยกลายเป็น อโหสิกรรมไป นี่ท่านเรียกว่าอุปปีฬกกรรม ทีนี้ถ้าหากว่าบุคคลทำบุญกุศลไว้แต่พอสมควร เมื่อภายหลังมาเกิดความเห็นผิดไปทำบาปเสียหายเข้า อันนี้อำนาจของบาปนั้นมันก็บีบคั้นบุญกุศลที่ทำไว้ไม่ให้มีโอกาส ได้มีผลแก่ผู้กระทำเลยเพราะว่ามันมีกำลังน้อย บาปมีกำลังมากกว่า บุคคลนั้นจึงต้องประสบแต่ความทุกข์เป็นส่วนมาก นี่คือลักษณะของ อุปปีฬกกรรม กรรมตัดรอน "อุปฆาตกรรม" กรรมตัดรอน หมายความว่ากรรมรีบ คือกรรมที่ให้ผลอย่างเด็ดขาดไปเลย เช่น อย่างคนที่ตายโหงกันส่วนมากนั่นแหละ จะเป็นด้วยว่า ตกต้นไม้ ควายชน หรือถูกคนที่เป็นศัตรูลอบสังหาร หรือ ตายด้วยฟ้าผ่า อะไรก็ตามเถอะ เหล่านี้ท่านเรียกว่า อุปฆาตกรรม กรรมตัดรอน
กรรมให้ผลโดยลำดับ
"อุปราปรเวทนียกรรม" กรรมให้ผลโดยลำดับชาติลำดับภพ ต่อเนื่องกันไปคือกรรมชนิดนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า บุคคลผู้กระทำบุญกุศลในชาตินี้แล้วทำไว้มาก ๆ เลยทีเดียว พอตายแล้วบุญกุศลจะส่งให้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนี้ อายุของเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มี ๑,๐๐๐ ปีทิพย์เป็นขอบเขต เมื่อเทวดาตนนั้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นไปจนพันปีทิพย์แล้ว หากบุญกุศลที่เราทำไว้ตั้งแต่เป็นมนุษย์นี่ยังไม่หมด ก็จะเคลื่อนจากชั้นดาวดึงส์ไปเกิดในชั้น "ยามา" อก ไปให้ผลสืบต่อไปอีก ถ้าไปเกิดในชั้น "ยามา" นั้นแล้ว ชั้น "ยามา" มีอายุสองพันปีทิพย์ หากบุญกุศลยังไม่หมดอีกก็เคลื่อนไปบังเกิดในชั้น "ดุสิต" ต่อไปโดยลำดับไป อย่างนี้ นี่เรียกว่า อุปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลโดยลำดับชาติลำดับภพไป แม้บาปในอกุศลกรรมก็เช่นกัน เมื่อบุคคลทำกรรมอย่างนี้มาก ๆ แล้ว บาปกรรมนั้นนอกจากเมื่อตายไปให้ผลตกนรก ทนทุกข์ทรมานอย่างสาหัสสากรรจ์แล้ว เมื่ออยู่ในนรกขุมนั้นจนหมดอายุในนรกขุมนั้นแล้ว บาปก็ยังไม่หมดสิ้น ก็จะเคลื่อนจากนรกขุมนั้นแล้วไปตกในขุมใหม่อีก แต่จะได้รับทุกข์ทรมานเบากว่า เมื่อหมดเขตอายุของนรก ขุมนั้น แล้วจะไปตกในขุมบริวาร ความทุกข์ก็เบาขึ้นกว่าเก่าเป็นอย่างนี้ เมื่อหมดเขตเสวยทุกข์อยู่ในนรก บาปอกุศลก็ยังไม่สิ้น ก็ต้องมาเกิดเป็นเปรตและเป็นอสุรกาย และเป็นสัตว์เดรัจฉานอีก เพราะบาปกรรมนั้นมันมีเศษอยู่เรื่อย ๆ มา พ้นจากสัตว์เดรัจฉานมาเกิดเป็นมนุษย์ บาปยังไม่สิ้นก็มาเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ มีอวัยวะร่างกายไม่สมประกอบเป็นต้น เช่นว่า ตาบอดมาแต่กำเนิดหรือว่าหูหนวก หรือแขนด้วน ขาด้วน มาแต่กำเนิด นี่เรียกว่า "เศษบาป" มันก็ตามมาให้ผลอย่างนี้ ตาย ๆ เกิด ๆ ให้ผลไปจนหมดเขตของบาปอกุศลนั้น บุญกุศลที่บุคคลนั้นกระทำไว้ในชาติก่อน ๆ โน้น มันจึงมาให้ผล ทีนี้เป็นคนดิบคนดีกับเขาได้บ้างละ คราวนี้เริ่มต้นชีวิตใหม่ มหันตภัยของชีวิตมนุษย์ มันเป็นเช่นนี้แหละ ชีวิตมนุษย์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วสอนเล่าว่าให้กลัวแต่ภัยในนรก ให้กลัวแต่ภัยในวัฏสงสาร เป็นภัยใหญ่ของโลก หรือว่าทุกข์นี้เป็นภัยใหญ่ของโลก หรือว่าทุกข์นี้เป็นภัยใหญ่ของชีวิต ชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายมีความทุกข์นี่แหละเป็นมหันตภัย ภัยนรกบีบคั้นให้กระเสือกกระสนกระสับกระส่ายไปในโลกนี้ ขอให้เข้าใจตามนี้เลย คนทำชั่วได้ชั่ว คนทำดีได้ดีเป็นอย่างไร คนทำชั่วไม่ได้เป็นผลชั่วเพราะเหตุใด คนทำชั่วได้ดี ยังไม่ได้รับโทษทัณฑ์เพราะกรรมดีที่มีอยู่ของเขากำลังให้ผลอยู่ กรรมชั่วที่เขากำลังกระทำยังไม่ให้ผล ต่อเมื่อหมดผลแห่งกรรมดี กรรมชั่วจึงจะให้ผลต่อไปเป็นเช่นนี้แหละ เพราะฉะนั้นคนเราจึงเกิดความไขว้เขวไป เรื่องความเป็นอยู่แตกต่างกันเป็นเรื่องน่าสงสัย สำหรับผู้ที่ไม่รู้แจ้งในเรื่องของกรรมอย่างถ่องแท้ตามที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้ คือกรรมของสัตว์ทั้งหลาย อาจจะอุปมาได้เหมือนลูกโซ่ที่เป็นห่วงร้อยกันอยู่อย่างนี้ กรรมที่กระทำกันไว้ในโลกนี้ก็ย่อมให้ผลต่อเนื่องกันไปเรียกว่าให้ผลเป็นขั้นตอนไป ไม่สับสนกัน คือหมายความว่าเวลาใดกรรมดีกำลังให้ผลอยู่ กรรมชั่วก็ไม่ให้ผลเป็นอย่างนั้น แม้ว่าคนนั้นจะทำชั่วอย่างไร แต่กรรมดีก็ยังอุปถัมภ์เขาอยู่ เขาก็ยังไม่เสื่อมจากลาภจากยศและยังไม่ได้ประสบกับ ความทุกข์แต่อย่างใด เพราะกรรมดียังอุปถัมภ์เขาอยู่ ทีนี้หากว่ากรรมดีหมดอายุลงเมื่อใด กรรมชั่วที่เขาทำนั้นก็จะมีโอกาสให้ผลเมื่อนั้น กรรมกับชีวิตของเรา
การที่เรามาศึกษาเรื่องราวของพระพุทธศาสนา ขอให้ได้ศึกษาเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรมนี้ให้มากเท่าที่จะมากได้ มันเกี่ยวโยงกับชีวิตของเรา เรื่องกรรมดี กรรมชั่ว นี้ใช่ว่าเราศึกษาเพื่อใครก็หามิได้ ความจริงเราศึกษาเพื่อตัวของเราเอง เมื่อเรามารู้แจ้งชัดในกรรม ผลของกรรมดังกล่าวมาแล้วนั้น ผู้นั้นก็จะพยายามเว้นจากความชั่วต่าง ๆ และพยายามสร้างสมแต่ความดีขึ้นมาในตน ก็อาศัยความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยตนเองนี่แหละ คนเรา จึงจะละความชั่วประกอบความดีได้ ถ้าไม่รู้ไม่เห็นด้วยตนเองแล้ว มันละไม่ได้เรื่องกรรมชั่ว กรรมดีก็สร้างไม่ได้ เพราะมนุษย์มันเหมือนอย่างสัตว์เดรัจฉานเพราะมนุษย์ถือมานะทิฐิเป็นส่วนมาก โดยสำคัญว่าเราคนหนึ่งละในโลกนี้ และไม่ค่อยยอม เชื่อใครได้ง่าย ๆ ถ้าไม่เห็นด้วยตนเองเสียก่อนแล้ว แต่ทั้งที่ตนเองไม่เห็นด้วยกับตนเอง ก็ไม่พยายามขวนขวายศึกษาไม่พยายามค้นคว้า เอาแต่มานะทิฐิทับถมจิตใจไว้เฉย ๆ แล้วก็ทำกรรมชั่วเรื่อยไป นี่คนส่วนมาก สำหรับผู้มีปัญญาทั้งหลายแล้ว เมื่อไม่เห็นอย่างว่า คือธรรมดาผู้มีปัญญาย่อมเคารพต่อเหตุผล ถ้าใครพูดออกมาแล้วมีเหตุมีผลควรคิดพิจารณาได้ก็เงี่ยหูฟังทันที แล้วก็กำหนดพิจารณาเรื่องราวที่บุคคลนั้นแสดงออกมาว่า มันมีเหตุมีผลอย่างไร เป็นเหตุผลที่ดีหรือเป็นเหตุผลที่ไม่ดี ให้มันรู้แจ้งด้วยตนเอง ถ้าเป็นเหตุที่ดีก็ปฏิบัติตาม ถ้ารู้ว่าเป็นเหตุผลที่ไม่ดี ไม่ถูกทาง เราก็ไม่ทำตามเสียและก็ไม่เสียหายอะไร อุปมาเหมือนอย่างบุคคลไปตลาดขายของ มีสตางค์ติดตัวไป เมื่อไปเห็นสิ่งของในร้านแล้วเลือกเอาตามต้องการ ไม่มีใครบังคับให้ซื้อของของใคร คือแล้วแต่ตนเองจะชอบใจอย่างไร ก็จึงไปติดต่อซื้อกับเขา เขาขายให้ก็เอา ไม่ขายให้ก็แล้วไป อันนี้ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ สดับตรับฟัง เป็นหน้าที่ เป็นสิทธิของผู้ฟัง คือว่าทุกคนต้องเคารพต่อการสดับตรับฟัง แต่การที่จะทำตามหรือไม่ทำตามนั้นเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล นี่นักปราชญ์ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ แต่ทุกคนต้องเคารพในการฟัง ใครออกความเห็นอย่างไรมาก็ฟังเสียก่อน ฟังแล้วเอาไปคิดไปพิจารณา ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์จริง ว่าเรื่องอย่างนี้เราไม่เคยรู้มาก่อน เพราะผู้นี้พูดขึ้นเราถึงได้รู้เหตุผล ว่าเป็นผลดีจริงอย่างนี้ก็ปฏิบัติตามเลย ธรรมดานักปราชญ์ เพราะธรรมดาผู้ที่เป็นสาวกไม่ได้ตรัสรู้ด้วยตนเองอย่างพระพุทธเจ้า ผู้เป็นสาวกต้องได้ยินได้ฟังจากท่านผู้อื่นเสียก่อน แล้วจึงจะหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายได้ สำหรับท่านที่สร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้านั้น ในเวลาที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ท่านจะสดับตรับฟังคำสอนของนักปราชญ์ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่เช่นเดียวกัน แต่เมื่อสร้างบารมีเต็มบริบูรณ์แล้ว เมื่อได้เสด็จออกบวชไปแล้ว ตอนไปแสวงหาความรู้เป็นสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ไม่มีใครแนะพระองค์เลย พระองค์ต้องคิดค้นด้วยพระองค์เอง เหตุฉะนั้น จึงได้พระนามว่า "สัมมาสัมพุทโธ" เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง เพราะฉะนั้นพากันทราบอย่างนี้แล้วก็จงพากันใคร่ครวญดู สรุปแล้วก็หมายเอาตัวของเราแต่ละคนนี้เองว่าตัวเรานั้นเป็นอยู่อย่างไร ตัวเองรู้เรื่องของตัวเองหรือไม่ ว่าเรามีจิตใจผ่องใสจากบาปอกุศลเท่าใด หรือว่าบาปอกุศลยังครอบงำจิตใจอยู่ ครอบงำจิตใจอยู่อย่างไร หรือว่าเรามีปัญญา สอนจิตสอนใจของตนให้ปล่อยวางในเรื่องนั้นได้หรือไม่ หรือจิตใจมันไปฝึกฝนเอง ให้ปล่อยวางในเรื่องนั้นได้หรือไม่ หรือจิตใจมันไปฝึกเอาเรื่องนั้นมาแล้วข่มทุกข์อยู่ภายในจิตใจ นี่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนจะต้องพิจารณาตนเองให้ได้ เรื่องปฐมกรรมปฐมมูลอย่างที่ว่ามาแล้วนั้น มันก็เรื่องของคนนี่เอง เมื่อเกิดมาเป็นคนมาประสบกับความทุกข์แล้วก็อยากมีความสุข สรุปใจความแล้วจึงต้องสร้างกุศล คุณงามความดี เพราะขาดบุญกุศลแล้วไม่มีสิ่งใดจะอำนวยความสุขได้ตามกำลัง ของแต่ละบุคคลที่กระทำสะสมเอาไว้ มนุษยสมบัติ ถ้าเป็นบุญกุศลส่วนโลกีย์ก็ให้ผลเป็นสุขอยู่ในโลกนี้หรือโลกอื่น เรียกว่า ในสามโลกนี่แหละ วนเวียนอยู่นี่แหละ ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่ดี เกิดในตระกูลสูง สมบูรณ์ด้วยลาภยศสรรเสริญ นี่ท่านจึงเรียกว่า "มนุษยสมบัติ" แปลว่า เพียบพร้อมด้วย รูปสมบัติ คุณสมบัติ โชคสมบัติ ปัญญาสมบัติ พร้อมไปหมดเลย รวมเรียกว่า "มนุษยสมบัติ" ถ้าไปเกิดเป็นเทวดาก็เป็นเทวดาที่สมบูรณ์ด้วยทิพยสมบัติ มีอายุยืนยาวนาน มีวรรณะผิวพรรณผ่องใส
เพศของพรหม
ถ้าบำเพ็ญกุศลสูงไปกว่านั้น ก็ไปเกิดในพรหมโลก เป็นพวกพรหม เป็นพวกที่ไม่ใช่เพศหญิง ไม่ใช่เพศชาย มีเพศเดียว เรียกว่า เพศของพรหม พวกพรหมนี้ยิ่งมีอายุยืนยาวนานเป็นหลายกัปหลายกัลป์แล้วก็มีความสุขยิ่งไปกว่าเทวดาไปอีก เพราะว่าพวกพรหมนี้เป็นผู้อยู่ด้วยฌานมีจิตใจสงบอยู่อย่างนั้น ไม่มีความรักใคร่ในกามคุณเหมือนเทวดา ส่วนเทวดานี้ยังมีความกำหนัดยินดีในการคุณอยู่ ก็จะต้องมีความเสียใจดีใจอยู่อย่างนั้นแหละ เรื่องของกามคุณนี้จะเป็นที่ไหน ๆ ก็ตาม มันมีเรื่องวุ่นวายอยู่ไม่มากก็น้อย แต่ว่าพวกพรหมนี้จะอยู่ไปได้ชั่วอายุของพรหมเท่านั้นเอง คือชั่วอายุของฌานสมาบัติซึ่งอำนวยผลให้ เมื่อหมดเศษของฌานสมาบัติอันนั้นแล้วก็จะต้องจุติเคลื่อนจากพรหมโลกไปที่อื่นไปหาที่เกิดใหม่อีก ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสรรเสริญว่าพรหมโลกนั้นเป็นสุขอยู่ตลอดไป ทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัทนั้นรีบเร่งบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ให้บริบูรณ์ขึ้นใจจิตสันดาน แล้วก็จะได้บรรลุ อริยมรรค อริยผล ตั้งแต่ โสดาปฏิมรรค โสดาปฏิผล เป็นต้นไป จนถึง อรหัตมรรค อรหัตผล ก็จึงจะส่งผลให้พ้นจากความหมุนเวียนไปในโลกนี้ สำหรับผู้ได้บรรลุโสดาปฏิผลก็จะหมุนเวียนอยู่ในโลกนี้อย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ อย่างกลาง ๓ ชาติ อย่างสูง ๑ ชาติเท่านั้น ก็ดับขันธ์เข้าสู่นิพพานไปเลยเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีอะไรแล้ว เมื่อพวกเราเหล่าพุทธบริษัทนับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลายก็ไม่ควรจะลังเลสงสัย ตรวจดูกายวาจา จิตของตนดังที่แนะนำมา เมื่อเห็นว่าตนมีศีลบริสุทธิ์อยู่ ก็มีความอุ่นใจในขั้นหนึ่ง แล้วเข้ามาทำสมาธิภาวนามาทำใจให้สงบลงไปได้ อย่างนี้ก็จะได้ ความอุ่นใจยิ่งขึ้นไปอีกกว่านั้น ก็มาเจริญปัญญา กำหนดพิจารณาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริง ๆ คุณสมบัติของการบรรลุโสดาบัน ตามเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว ก็มีโอกาสที่จะละอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้ได้ไม่มาก็น้อยตามกำลังปัญญาของตน เมื่อละอุปาทานในขั้นต้น ได้บรรลุโสดาบันดังกล่าวมาแล้วนั้น พระโสดาบันนี้ท่านมีความรู้ความเห็นประจำอยู่ในจิตใจอยู่ตลอดเวลาที่ว่า ขันธ์ ๕ ไม่มีในตน ตนไม่มีในขันธ์ ๕ ความรู้ความเห็นอย่างนี้ไม่เสื่อมจากจิตใจของพระโสดาบันเลย และอีกอย่างหนึ่งพระโสดาบันนี้มีศีล ๕ บริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย ถึงแม้จะมีมัวหมองอยู่บ้างก็อาจจะมีก็อาจจะเพราะกิเลสยังมีอยู่ แต่เมื่อรู้ตัวแล้วท่านก็สมาทานศีลตั้งใจสังวรระวังไปใหม่ มันก็บริสุทธิ์ไปตามเดิม ท่านกล่าวว่าพระโสดาบันนี้มีศีลยิ่ง มีสมาธิพอประมาณ มีปัญญาพอประมาณ พระสกทาคามี พระอนาคามี อันนี้มีศีลยิ่งมีสมาธิยิ่ง แต่มีปัญญาพอประมาณ แต่พระอรหันต์แล้วพร้อมทั้ง ๓ ประการ คือ มีศีลยิ่ง มีสมาธิยิ่ง มีปัญญายิ่ง สุดยอดไป เบื้องต้นและเบื้องปลายของชีวิต ตามที่ได้เทศนาบรรยายความเป็นมาของชีวิตมนุษย์เราตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้วในปฏิจจสมุปบาทนั้นแล้วก็ปฏิจจสมุปบาทนี่มีหลายวรรคหลายตอน สลับซับซ้อนมาก จึงได้หยิบยกเอามาเป็นบทเป็นตอน พอได้เข้าใจกัน ดังที่บรรยายแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "วัฏสงสารอันนี้เบื้องต้นไม่ปรากฏ" หมายเอาจิตวิญญาณของสัตว์โลกนี่ไม่ทราบว่าเกิดมาแต่เมื่อใด แม้พระญาณของพระพุทธเจ้าหยั่งไปก็ไม่มีสิ้นสุด เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า "วัฏสงสารนี้เบื้องต้นไม่ปรากฏ" แต่เบื้องปลายนั้น ปรากฏคือ "ความแตกดับ" อันนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาทุกข์ จิตวิญญาณของสัตว์โลกที่ท่านพบในสงสารนี้ย้อนหลังคืนไปไม่ปรากฏแล้ว จึงมากำหนดรู้ว่านามรูปนี้มันเกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร ทรงรู้แจ้งอย่างนี้ ทรงรู้แจ้งอย่างนี้ก็หมายความว่า เรามีจิตวิญญาณขึ้นมาแล้ว จิตวิญญาณดั้งเดิมนี้มันก็ไม่มีปัญญา คือยังไม่ฉลาด สามารถรู้ความจริงของชีวิตนี้ได้ตามเป็นจริง ดังนั้นมันก็เกิดเป็นตัณหา เมื่อเกิดขึ้นมาถมทับ รูป เสียง กลิ่น รส อันเป็นที่น่าพอใจรักใคร่ต่าง ๆ และเมื่อไปมองเห็นว่ามันเป็นของดียึดมั่นถือมั่นไว้เรียกว่า อุปาทาน เมื่อยึดมั่นถือมั่นไว้ก็พาให้ทำกรรมดีบ้าง ทำกรรมชั่วบ้าง เมื่อกรรมดี กรรมชั่วบังเกิดขึ้นแล้วก็ตกแต่งให้บังเกิดภพ หลังจากเกิดเป็นรูป เป็นนามแล้ว ก็ต้องอาศัย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร เป็นเครื่องตกแต่งให้บังเกิดขึ้น โดยเหตุผลดังนี้ก็รวมความแล้วว่า เมื่อยังไม่รู้แจ้งในอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ตราบใดแล้ว ก็ต้องอาศัยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร ไปเกิดไปตายในวัฏสงสารนี้ไม่มีที่สิ้นสุดเลย ต่อเมื่อได้บำเพ็ญสมถะวิปัสสนาจนสามารถรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมทั้ง ๔ ข้อได้เมื่อใด เมื่อนั้นแหละจึงจะออกจากกงกำกงเกวียนเหล่านี้ คือวัฏสงสารนี้ได้นั่นเอง เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายเมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ควรจะพิจารณาให้ทราบ ซึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ในชีวิตของตนที่มันประกอบไปด้วยความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ทุกวันทุกเวลา มันก็เนื่องมาแต่ความไม่รู้เป็นเหตุเป็นปัจจัย เนื่องจากไม่รู้ว่านี่คือทุกข์ นี่คือเหตุให้เกิดทุกข์ก็ไม่รู้ นี่คือความดับทุกข์ก็ไม่รู้ นี่คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้อย่างนี้จึงไม่ขะมักเขม้นในการประพฤติปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์ ๘ ประการ จึงมัวเมา ประมาท เพลิดเพลิน อยู่ในกองทุกข์ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อท่านรู้ว่าทางนี้แหละเป็นทางออกจากทุกข์อย่างนี้แล้ว ท่านไม่ประมาท ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ตั้งใจประกอบการพากเพียร นอนพอประมาณ กินพอประมาณ พูดพอประมาณ ทำการงานพอประมาณ ไม่มัวเมาในกิจการงานเกินขอบเขต เอาเวลาไว้ประกอบความเพียรทางจิตใจ ให้มากกว่าเวลาอย่างอื่น จึงสามารถที่จะบำเพ็ญมรรคอันมีองค์ ๘ ประการนั้นให้งอกงามขึ้นในจิตใจได้หรือว่าจึงสามารถทำศีลให้บริสุทธิ์ได้ ถ้าหากว่าเพลินหรือเมาแล้ว บางทีก็เลยล่วงศีลล่วงสิกขาบทวินัยไปโดยไม่รู้ตัวก็มี เพราะมันเมา เมาในอารมณ์ต่าง ๆ ทีนี้หากว่าไม่เมาแล้วมีสติสัมปชัญญะอยู่ ประคับประคองกาย วาจาของตนอยู่ ก็ไม่ได้ล่วงสิกขาบท วินัยน้อยใหญ่เหล่านั้น แล้วก็ทำให้ศีลบริสุทธิ์สะอาด แล้วสมาธิก็เหมือนกัน เมื่อเราพยายามรักษาสติประคับประคองจิตนี้อยู่ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เท่านั้น สติประคับประคองจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมสม่ำเสมอไปแล้ว ก็สามารถทำสมาธิให้บังเกิดได้ สมาธิก็ไม่เสื่อม ถ้าขาดสติสัมปชัญญะประคับประคองจิตอันเป็นปัจจุบันนี้แล้ว สมาธิก็ตั้งอยู่ไม่ได้ก็ต้องเสื่อมไป เมื่อสมาธิเสื่อมไปแล้ว ปัญญาไม่ต้องพูดถึง มันก็ไม่บังเกิดขึ้นได้ ปัญญาก็อาศัยสมาธิเป็นพื้นฐานที่ตั้งแน่นอนเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อเราทราบเรื่องปฏิจจสมุปบาท คือปัจจัยที่ให้ชีวิตของคนเราหมุนเวียนไปในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้ เห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารำคาญมาก ต้องให้เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย เพราะการเกิดบ่อย ๆ นี้ทุกข์ร่ำไป เพราะเกิดมาแล้วมันไม่เที่ยงตามสภาพร่างกายนี้แปรปรวนไปตามสภาพความจริงของมัน ในขณะที่มันแปรปรวนอยู่นั้น จิตใจก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะได้อาศัยอยู่กับสังขาร เมื่อสังขารแปรปรวนจิตก็แปรปรวนไปด้วยจึงได้เป็นทุกข์ ได้เดือดร้อนกัน ที่มาให้มาพิจารณาให้เห็นความทุกข์ของจิตใจ เนื่องจากความไม่รู้จริงในความเป็นจริง ทั้งนี้ก็เพราะเราไม่ได้เจริญ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้น กายนิ่ง-จิตนิ่ง
เมื่อทราบแล้วก็ขอให้พากันรักษาศีลให้บริสุทธิ์ พยายามฝึกบำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้นในจิตใจของตน การนั่งสมาธิก็ต้องอดทน บางคนนั่งได้นิดเดียวก็ลุกไปแล้ว จิตใจมันจะสงบไปได้อย่างไร มันจะเจ็บปวดอยู่บ้าง ก็อดเอาทนเอาไปก่อน เมื่อทนไม่ไหวจริง ๆ ก็ลองพลิกเอาก็ได้ เราหัดอดหัดทนไปอย่างนี้ ในขณะเดียวกันสติก็ข่มจิตไว้ควบคุมจิตไว้ภายใน อย่าคิดส่งส่ายไปตามอารมณ์ต่าง ๆ หรืออย่าให้มันหลับ ความเจ็บปวดต่าง ๆ เหล่านั้น เรายึดไปอย่างนี้นาน ๆ เข้า สติมันแก่กล้าเข้าไปก็สามารถที่จะบังคับจิตให้รวมลงได้ ปล่อยวางเวทนาต่าง ๆ ได้ และจิตก็เป็นสมาธิได้ต่อไป
หากเราไม่ฝืนบ้างจิตใจนี่มันจะสงบไม่ได้เลย เมื่อจิตสงบไม่ได้ นั่งสมาธินานไม่ได้ เดี๋ยวเดียวก็เดือดร้อนแล้ว เพราะฉะนั้นให้พากันเข้าใจการทรมานฝึกฝนจิตใจที่มันก็ต้องฝึกกายด้วย เมื่อกายนั่งอยู่นิ่ง ๆ จิตจึงมีโอกาสได้ประคองจิตให้นิ่งลงไปด้วย หากกายหวั่นไหวอยู่จิตจะนิ่งไม่ได้ จิตกับกายต้องอาศัยกันเป็นอย่างนี้ ดังนั้นจึงได้มีการนั่งสมาธิกันขึ้น เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้านั่นแหละทรงกระทำเป็นตัวอย่างมา เราจึงได้พากันฝึกหัดตามพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าไม่นั่งสมาธิก็สามารถบรรลุมรรคผลได้
บ้างก็เห็นไปอย่างนั้นก็มีและตั้งเป็นลัทธิขึ้นก็มีทุกวันนี้ เช่นว่าไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้ายให้ลำบากลำบน นั่งบนโซฟาโน่นสมาธิก็ได้ ไม่เห็นแปลกอะไร ข้อสำคัญขอให้ขอให้สำรวมสตินี้ให้สงบเป็นอันใช้ได้ มีอีกลัทธิหนึ่งเกิดขึ้นแล้วทุกวันนี้เรียกว่า เป็นความคิดเห็นขัดแย้งกันกับพุทธโอวาท
การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้และที่พระองค์ทรงกระทำ นับตั้งแต่คืนวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้นั้นทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ถ้าไม่ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เราจะไม่ลุกจากที่นั่งอันนี้อีก" เมื่อได้ทรงอธิษฐานเช่นนี้แล้ว สมาธิอย่างที่ว่ามาแล้วนั้น ถ้าเจริญอานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าออกต่อไป จิตใจของพระองค์ก็สงบลงไปโดยลำดับจนได้บรรลุถึง "จตุตถฌาน" เมื่อบรรลุถึง "จตุตถฌาน" แล้วก็ทรงเจริญวิปัสสนา ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ญาณแรก คือ "บุพเพนิวาสานุสติญาณ" คือระลึกชาติหนหลังได้ แล้วทรงบำเพ็ญต่อไปถึงเที่ยงคืน ก็บรรลุญาณที่ ๒ เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ" คือ ญาณหยั่งรู้ความเกิดความตายของสัตว์ทั้งหลาย และสัตว์ทั้งหลายนั้นจะได้ประสบความสุขหรือความทุกข์ใด ๆ ก็เกิดจากกรรมคือการกระทำดีกระทำชั่วของสัตว์ทั้งหลายนั้น ไม่เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยอื่น ทรงรู้แจ้งแทงตลอดสิ้นสงสัยในการเกิดความเป็นไปของสัตว์โลกแล้ว ก็ทรงเจริญวิปัสสนาต่อไปถึงปัจฉิมยาม จวนสว่างก็ตรัสรู้ "อาสวักขยญาณ" คือมีตาหยั่งรู้ว่าอาสวะกิเลสที่หมักดองมาในพระขันธสันดานของพระองค์มานับชาตินับภพไม่ถ้วนนั้นได้หมดสิ้นในพระขันธสันดาน ของพระองค์แล้วโดยประการทั้งปวง ดังนี้ก็โดยที่ก่อนที่อาสวะจะหมดสิ้นไปพระองค์ก็ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ประการนั้นแหละ โดยอนุโลมพิจารณาไปแล้วก็พิจารณาทวนกลับไปกลับมา ๆ ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ "พระสัมมาสัมโพธิญาณ" ดังนั้นปฏิจจสมุปบาทนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสมควรที่พวกเราจะพึงเอาใจใส่ศึกษาให้เข้าใจ เพราะมีอยู่ในชีวิตจิตใจของเรานี้ทั้งหมดแล้ว
|