Home เรื่องเล่าตอนเข้าค่าย ศีล และ วิธีทำสมาธิ
ศีล และ วิธีทำสมาธิ
Thursday, 23 September 2010 13:09


 
ศีล และวิธีทำสมาธิ จากหนังสือสมาธิภาวนา

โดย

พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
(แสดงธรรม ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี กทม. เมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๕)


          ท่านผู้เจริญทั้งหลาย  วันนี้ก็เป็นโอกาสดีอีกวันหนึ่ง ที่อาตมภาพได้มีเวลามาพบกับท่านทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท ร่วมพระพุทธศาสนาอันเดียวกัน และซึ่งต่างคนก็ต่างมีความมุ่งหวังที่จะได้ฟังและศึกษาธรรมะเกี่ยวกับหลักความเป็นจริงของธรรมชาติ  ธรรมะที่จะได้เล่าสู่ท่านทั้งหลายฟังในวันนี้ ก็คงไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากการบำเพ็ญภาวนาในทางจิต วิทยาการต่างๆ ไม่ว่าทางสายกระแสโลกหรือทางสายศาสนา เราได้เรียนกันมามากต่อมาก แต่สิ่งที่เราได้เรียนมาทั้งหลายเหล่านั้น เราอาจจะไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งนั้นคือ ธรรมะ แต่แท้ที่จริงสิ่งนั้นก็เป็นธรรมะทั้งนั้นแหละ


          กายกับใจของเราก็เป็นธรรมะ วิชาการที่เราเรียนมาตามศาสตร์สายนั้นๆ ก็เป็นธรรมะ  สิ่งเหล่านั้นก็เป็นธรรมะ โดยความเป็นสภาวธรรม เมื่อธรรมะเหล่านั้นเป็นสภาวธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีความจริงของมันแฝงอยู่ แต่เราอาจจะไม่ยอมรับสิ่งนั้นมีความจริงเพราะเรายังค้นไม่พบ แม้แต่ความรู้สึกของคนโดยทั่วๆ ไป  เรื่องเกี่ยวกับกายกับใจนี้ มันแยกกันไม่ออก แต่แท้ที่จริงในเมื่อเราศึกษาให้รู้ซึ้งถึงข้อเท็จจริงของมันแล้ว กายกับใจมันสามารถแยกออกเป็นคนละส่วนได้ อันนี้พูดเฉพาะในทางปฏิบัติ แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว เราไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ ในเมื่อกายกับใจแยกออกจากกันได้ จิตกับอารมณ์มันก็แยกออกจากกันได้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแนวทางแห่งการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมะอันเป็นส่วนสมาธิภาวนานั้น นั่นแหละคืออุบายที่เราจะฝึกฝนอบรมให้จิตกับอารมณ์มันแยกออกจากกันได้


          ในเมื่อพูดถึงเรื่องการทำสมาธิ ตามหลักของพระพุทธศาสนาต้องมีศีล แล้วก็มีสมาธิจึงจะมีปัญญา แต่ว่ากันโดยทั่วๆ ไปแล้ว การทำสมาธินี้เราไม่จำเป็นต้องมีศีลก็ได้ พูดมาถึงตอนนี้ท่านทั้งหลายอาจจะงง เพราะในลัทธิที่เขาปฏิบัติสมาธิกันบางอย่าง เช่น สมาธิเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์  วิชาไสยศาสตร์บางอย่างที่เราได้ยินได้ฟัง บางอย่างก็มีประสิทธิภาพที่สามารถทำให้ผู้คนมีอันเป็นไปต่างๆ เช่น ทำให้เกิดวิกลจริต ทำให้หลงใหล แล้วบางทีถึงอาจสามารถทำให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ชีวิตได้ เช่น หลวงพ่อเคยศึกษาและเคยอ่านตำรามา วิชาไสยศาสตร์บางอย่าง เขาสามารถเจริญทำสมาธิแล้วปล่อยตะปูไปเข้าท้องคนก็ได้  อันนี้ก็อาศัยอำนาจสมาธิ บางทีหนังแผ่นเบ้อเร่อเสกคาถาทำสมาธิขึ้นมาแล้ว ก็ถอดให้มันเหลือเล็กเพียงแค่หัวไม้ขีดไฟแล้วก็ดีดเข้าท้องไป ทำให้เจ็บป่วยถึงตายไปก็ทำได้ อันนี้ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่ แต่ท่านผู้อ่านอย่านึกว่าหลวงพ่อทำได้ เป็นแต่เพียงค้นคว้าตำรับตำราแล้วก็เที่ยวถามดูคนที่เขาเคยทำกัน ก็ปรากฏเขาทำได้จริง อันนี้ก็อาศัยอำนาจสมาธิอีกเหมือนกัน  เพราะฉะนั้น สมาธิโดยทั่วๆ ไปนี้ เราทำสมาธิเราอาจจะไม่ต้องมีศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ตามหลักของพระพุทธศาสนาก็ได้ อย่างศาสนาอื่นเขาก็ไม่มีศีล แต่เขามีสัจจะคือการทำจริง ศาสนาพราหมณ์ก็ไม่มีศีล ๕ ศีล ๘ แต่เขาทำตามแบบอย่างเขาๆ ก็มีสมาธิ แล้วก็มีอิทธิฤทธิ์ได้เหมือนกัน


          ในปัจจุบันนี้  ในอินเดียก็ยังมีพวกลัทธิบำเพ็ญสมาธิ โดยไม่ได้ปฏิญาณตนเป็นผู้มีศีล เช่น พวกชีเปลือยทั้งหลาย เขาก็ยังบำเพ็ญสมาธิของเขาอยู่ หรือผู้ไม่นิยมลัทธิเปลือย ก็ไปเป็นโยคีนั่งสมาธิอยู่บนป่าบนเขา พอเสร็จแล้วถึงหน้าแล้งก็ลงมาแข่งอิทธิฤทธิ์กัน  ซึ่งพระไทยเราก็มีผู้หนึ่งที่ไปแข่งอิทธิฤทธิ์กับเขาเหมือนกัน ท่านผู้นั้นเขาให้นามว่า ท่านฤาษีประเสริฐ เป็นคนชาวจังหวัดสุรินทร์ อยู่ที่อินเดียถึง ๒๐ ปี แล้วก็รู้สึกว่าไปเรียนลัทธิของพวกพราหมณ์ มีอิทธิฤทธิ์ เขาลุยไฟ ท่านก็ลุยได้ เขาเดินบนตะปู ท่านก็เดินได้ นอนบนขวากบนหนาม ท่านก็นอนได้ ไปเปลื้องผ้านั่งตากหิมะอยู่บนภูเขาหิมาลัย ท่านก็ทำได้ ทำได้เหมือนอย่างเขา เขาจึงยอมยกให้ว่าฤาษีไทยนี้ก็เก่งเหมือนกัน  อันนี้เรื่องเหล่านี้ก็อาศัยสมาธิเหมือนกัน แต่สมาธิที่ปราศจากศีลเป็นเครื่องควบคุมนั้น สมาธิอันนั้นไม่เป็นไปในการตรัสรู้ มรรค ผล นิพพาน ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ไม่เป็นไปเพื่อความหมดกิเลส สมาธินอกหลักพระพุทธศาสนายิ่งทำได้มากเท่าไร ก็ยิ่งอวดกล้าอวดเก่งมีทิฏฐิมานะ กิเลสยิ่งตัวใหญ่ตัวโตขึ้นมา  ถ้าหากว่าท่านเคยได้อ่านประวัติของพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านอาจารย์มั่นได้ออกบำเพ็ญกรรมฐานในตอนต้น  ท่านก็ได้ศึกษาตามลัทธิกรรมฐานโบราณ ทีนี้การศึกษาตามลัทธิกรรมฐานโบราณนั้น ท่านทำตามรูปแบบของหลักวิชาการนั้นๆ เรียกว่า เรียนธรรม  ซึ่งสุดแท้แต่ครูบาอาจารย์ท่านจะประสิทธิ์ประสาทสั่งสอนมาอย่างไร วิธีการก็มีการขึ้นครูกรรมฐาน แล้วก็ภาวนาไปเป็นขั้นตอน ในเมื่อทำจิตสงบลงไปได้แล้ว ก็รู้สึกว่าทำอะไรก็ได้ เช่น จะทำเครื่องรางของขลัง ก็ขลัง อยากรู้จิตใจของผู้อื่นก็รู้ได้ อยากจะรู้เหตุการณ์ล่วงก็รู้ได้ แต่เมื่อมาสังเกตดูแล้วยิ่งรู้ยิ่งเก่ง ตัวกิเลสทิฏฐิมานะ ความทะนงตัวมันก็ยิ่งมากขึ้นทุกทีๆ คือว่าไม่เป็นไปเพื่อความหมดกิเลส อันนี้คือหลักฐานสมาธิในลัทธินอกพระพุทธศาสนา ยิ่งบำเพ็ญเก่งเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มกิเลสหนักขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น สมาธิอันนี้จึงไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เป็นไปเพื่อการสร้างกิเลส แต่ สมาธิที่จะดำเนินไปเพื่อความหมดกิเลสอย่างจริงจังนั้น ต้องขึ้นต้นด้วยศีล


          พระพุทธเจ้าสอนเราว่า ให้ละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ทีนี้มีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เราจะละความชั่วนั้นจะละอย่างไร ถ้าใครตั้งใจจะละความชั่วอย่างจริงจัง ให้ตั้งมั่นตั้งใจปฏิบัติตามศีล ๕ ข้อ ศีล ๕ ข้อนั้นแหละคือพื้นฐานแห่งการละความชั่ว การทำบาปกรรมอย่างใดๆ ก็ตาม แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดก็ยังไม่ถือว่าเป็นบาปเป็นกรรมที่เราจะต้องไปรับผลในชาติหน้าภพหน้า เพราะการละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง มันเป็นการเพิ่มผลของบาปกรรม  ถ้าเรางดเว้นเสียแต่วันนี้ ก็เป็นอันว่าตัดผลเพิ่มของบาปกรรม เช่นอย่างเมื่อวานนี้ เรามีบาปกรรมเพราะล่วงละเมิดศีล ๕ อยู่ มีน้ำหนักสมมติว่า ประมาณสัก ๑ กิโลกรัม แต่วันนี้เราตั้งใจเด็ดขาดว่าเราจะงดเว้นโทษตามหลักของศีล ๕ นั้น ก็เป็นอันว่าบาปที่มีอยู่ก็มีเพียงแค่ ๑ กิโลกรัม ไม่เพิ่มมาอีก ความรู้สึกนึกคิดในใจ แต่เราไม่ได้แสดงออกทางกาย ทางวาจา ก็ไม่เป็นอันทำบาปกรรมที่จะต้องไปรับผลในชาติหน้าภพหน้า อันนี้พูดถึงเรื่องศีล ๕


          ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะให้สมาธิที่ถูกต้อง เป็นสัมมาสมาธิ ให้ได้ปัญญาเป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องอาศัยศีลเป็นมูลฐาน  ศีลที่เรารักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้วนั้นแหละ จะประคับประคองจิตใจให้มีความสงบลงสู่ความเป็นสมาธิอย่างถูกต้อง  เมื่อสมาธิอาศัยอำนาจแห่งศีลเป็นเครื่องอบรม ปัญญาคือความรู้เกิดขึ้นมาย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ  ทีนี้หลักตัดสินว่า เราปฏิบัติอะไรผิดอะไรถูก เราก็ต้องย้อนมามองตามหลักของศีล ๕ อีก นั่นแหละ คุณธรรมที่เกิดขึ้นในจิตในใจ ถ้าหากสิ่งใดมันทำให้จิตใจเราต้องคิดที่จะละเมิดศีล ๕ ข้อๆ ใดข้อหนึ่งอยู่  ก็แสดงว่าคุณธรรมที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอีกอย่างหนึ่ง การละกิเลสด้วยความตั้งใจนี้ ก็หมายถึงละตามกฎของศีล ๕ ข้อนั้นเอง  พระท่านเทศน์ว่า จงละกิเลส โลภ โกรธ หลง อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความจริงมันเป็นโวหารการเทศน์  กิเลสในจิตในใจนี้ เราละไม่ได้ ละไม่ได้เด็ดขาด เราจะไปนึกละเอาๆ ละไม่ได้เด็ดขาด แต่กิเลสหยาบๆ ที่จะพึงล่วงเกินทางกาย วาจานี้ เราละเอาได้โดยเจตนา นี้ขอให้ท่านทั้งหลายพึงทำความเข้าใจอย่างนี้  ทีนี้ในเมื่อเป็นเช่นนั้นเราอยากจะละความโลภ ความโกรธ ความหลง เราจะทำกันอย่างไร อันนี้ขอพักไว้ก่อนยังจะไม่อธิบายต่อ


          จะขอพูดถึงเรื่อง เราจะสามารถใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร  กิเลสนี้มันเป็นสิ่งดีแก่คนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของตัณหาความทะเยอทะยานอยากนี้ เป็นกิเลสๆ เป็นของดีจริงๆ  ถ้ารู้จักใช้ ไฟก็ดี กระแสไฟฟ้าก็ดี เป็นสิ่งที่มีโทษอย่างมหันต์ แล้วก็มีคุณอย่างอนันต์เหมือนกัน  ไฟนี้ถ้าใช้ไม่เป็นเอาไปจุดเผาบ้านนี้ก็วอดวายหมด  แต่ถ้าไปทำความอบอุ่นหุงต้มรับประทาน ก็ใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล  ในทำนองเดียวกันกิเลสที่เรามีอยู่เหมือนกัน ทุกๆ คนมีกิเลสพอที่จะอวดกันได้พอๆ กันทุกคน ทีนี้กิเลสตัณหาเราเลี้ยงเอาไว้ เอาไว้เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนความรู้สึกของเราให้เกิดความกระตือรือร้นในการกระทำความดี  คำว่าความดีนี้อะไรก็ได้ แม้แต่ความดีที่เกี่ยวกับการครองชีพที่อยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นความดี  ทีนี้เราจะใช้กิเลสเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร เช่น สมมติว่าเรามีความทะเยอทะยานอยากได้ดีอยากร่ำอยากรวย เราก็เอาศีล ๕ ข้อซิมาตีเส้นขนานเอาไว้  ถ้าเราจะใช้กิเลสในขอบเขตศีล ๕ ข้อนี้  เช่น เราอยากรวย ถ้าอยากรวยโดยสุจริต ก็กระตือรือร้นหมั่นขยัน แต่อย่าฉ้ออย่าโกง อย่าลักอย่าขโมย อันนี้เรียกว่าใช้กิเลสถูกตามกฎ  ถ้าหากอย่างสมมติว่า ท่านผู้เป็นนายแพทย์ทั้งหลายไปตั้งคลินิกรักษาคนไข้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ถ้าเกิดมีคนไข้หรือลูกค้ามาอุดหนุนตลอดวันยังค่ำ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ท่านจะสละความเหน็ดเหนื่อยของท่านทำงานเพื่อผลประโยชน์ตลอดคืนยันรุ่งวันยังค่ำ ซึ่งการกระทำนั้นไม่ทำให้ใครเดือดร้อน มีแต่ได้ประโยชน์มาโดยชอบธรรม


          พระพุทธเจ้าไม่ได้ตำหนิว่าเราเป็นคนโลภ หรือเป็นคนประพฤติผิดศีลธรรม นี้ขอยกตัวอย่างมาให้ท่านฟังเป็นตัวอย่างเพียงข้อเดียว ทีนี้ในเมื่อกิเลสมันมีประโยชน์สำหรับคนทุกคน เราพยายามใช้กิเลสให้มันมีประโยชน์ โดยไม่กระทบกระเทือนผู้ใดผู้หนึ่ง ให้มันเป็นไปโดยความยุติธรรม ทีนี้การใช้กิเลสไม่ผิดศีลผิดธรรมนี้ มันก็เป็นการสร้างความดี เราอยากได้ อยากรวย ไม่โลภ ไม่โกง อะไรต่างๆ เราก็ไม่ละเมิดศีลข้ออทินนาทาน เราอยากรวย ไม่จี้ ไม่ปล้น ไม่ลัก ไม่ขโมย เราไม่ได้ไปฆ่าอะไร เราก็มีศีลข้อปาณาติบาต ทีนี้เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ดี ตามพื้นเพของความเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน เราก็ได้ทำแต่ความดี ทีนี้ความดีที่เราจะหมายเอาเป็นความดีนั้น มิได้หมายเฉพาะเอาแต่ว่า เราจะมานั่งหลับตาภาวนานึกพุทโธ ๆ ๆ หรือพิจารณาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ใครก็ตาม ในเมื่อมีหน้าที่อันใด เช่น หน้าที่ของความเป็นพ่อ แม่ หน้าที่ของความเป็นลูก หน้าที่ของความเป็นผู้บังคับบัญชา และหน้าที่ของความเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เราต่างคนต่างปฏิบัติหน้าที่ของเราโดยถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา โดยอาศัยระเบียบการทำงานนั้นๆ เป็นแนวทางปฏิบัติก็ได้  เชื่อว่าเรากระทำความดี ความดีอันนี้แหละมันจะทำให้สังคมของเรานี้สงบ  และโดยเฉพาะศีล ๕ นี้แหละเป็นหลักความปลอดภัยของสังคม พระพุทธเจ้ายอมรับว่าเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วก็รับเอามาเป็นข้อปฏิบัติของพุทธบริษัททั้งหลาย


          ในขั้นต้นนี้ไม่อยากจะให้ใคร ๆ ไปทำความเข้าใจถึงขนาดที่ว่าห้ามฆ่าสัตว์ทุกประเภทเอาไว้ก่อน ให้ทำความเข้าใจไว้ก่อน ศีล ๕ ข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อปาณาติบาต พระพุทธเจ้ามุ่งไม่ให้มนุษย์ฆ่ากัน เบียดเบียนกัน ข่มเหงรังแกกัน  ทำความเข้าใจไว้เพียงแค่นี้ก่อน  ทีนี้เราก็พยายามทำจิตทำใจให้งดเว้นตามกฎนั้นๆ อย่างจริงจังลงไป  เมื่อมนุษย์งดเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียนกัน การข่มเหงรังแกกันได้โดยเด็ดขาด  โดยวิสัยสัญชาตญาณของมนุษย์ย่อมเป็นผู้มีจิตใจสูง เมื่อเว้นจากการฆ่าเบียดเบียนกันได้เด็ดขาด อิทธิพลของความเมตตาก็ย่อมแผ่คลุมไปถึงสัตว์ดิรัจฉานได้   ในที่สุดสัตว์ดิรัจฉานก็ฆ่าไม่ได้  นี้คือหลักความจริง  ที่พูดเช่นนี้ ก็เพราะจะแก้ข้อข้องใจ ก็เพราะบางท่านมีความหนักใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกคุณหมอทั้งหลายนี้ ทำสงครามกับโรคภัยไข้เจ็บอยู่ทุกวันๆ โดยบางอย่างมันก็มีตนมีตัว เช่น โรคพยาธิ เป็นต้น  ประเดี๋ยวบางท่านสั่งจ่ายยาขับพยาธิออกไป ประเดี๋ยว โอ้ย ทำปาณาติบาต ตายแล้ว ตกนรก นี้ปัญหาเหล่านี้ พวกท่านทั้งหลายย่อมหนักใจ  แล้วก็มีคนไปถามอาตมาอยู่บ่อยๆ  ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าท่านข้องใจ ท่านจะทำใจของท่านอย่างไร


          อาตมาจะยกตัวอย่าง เช่น อย่างสมมติว่าพระเป็นโรคพยาธิลำไส้แล้ว ก็ไปขอยาคุณหมอมา มาแล้วพระก็มาฉันยานี้เพื่อฆ่าพยาธิในลำไส้  ถ้าพระตั้งใจอย่างนี้พระเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะการฆ่าสัตว์  แต่ถ้าพระคิดว่าฉันจะฉัน(กิน) ยาเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ โดยไม่มุ่งถึงสิ่งมีชีวิตและมีตนมีตัวพระก็พ้นจากอาบัติ  ในทำนองเดียวกัน ท่านทั้งหลายอาจจะฉีดยาลงไปสักเข็มหนึ่ง ถ้าท่านคิดว่าจะให้สัตว์ในตัวของคนไข้นี้มันตาย ท่านก็ทำปาณาติบาต แต่ถ้าท่านคิดว่าฉีดยา หรือให้ยาเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บแก่คนไข้ ท่านก็ไม่เป็นบาป  เพราะการฆ่าสัตว์ อันนี้มันขึ้นอยู่กับเจตนา  พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันยา   ทีนี้อย่างโรคภัยไข้เจ็บ อย่างโรคหิด กลากนี้ มันก็มีตัวของมันทั้งนั้น  ในสมัยครั้งพุทธกาลก็มีพระภิกษุเคยเป็นโรคนี้  พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ทายาได้ แต่พระองค์ก็บอกว่าอย่าทายาเพื่อฆ่าตัวเชื้อโรค แต่ทาเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อให้หาย  อันนี้การทำบาปกรรมเล็กๆ น้อยๆ มันขึ้นกับเจตนา  ถ้าเราคิดว่าเราจะทานยาเพื่อจะฆ่าโรคนั้นๆ ถ้าขึ้นคำว่า ฆ่า แล้วมันก็ผิดศีลข้อ ปาณาติบาตทั้งนั้น


          เมื่อไม่นานมานี้ อาตมาก็ถูกสมเด็จพระบรมราชินีนาถรับสั่งถามเรื่องเกี่ยวกับศูนย์ศิลปาชีพ   คือที่ศูนย์ศิลปาชีพนั้น สมเด็จฯ ไปทรงแนะนำให้ราษฎรเขาปลูกหม่อนเลี้ยไหม  ทีนี้เมื่อปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขึ้นมาแล้ว เมื่อจะทำไหมให้เป็นเส้นขึ้นมา จะต้องเอาตัวหม่อนไปต้มๆ แล้วก็สาวไหมเอาออกมา  สมเด็จฯ รับสั่งว่าทำอย่างนี้บาปไหม หลวงพ่อก็ถวายพระพรสมเด็จฯ ว่าถ้าสมเด็จฯ ไปสั่งให้เขาเอาตัวไหมนั้นต้มลงในหม้อ สมเด็จฯ ก็บาป  ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นบาป  หลวงพ่อก็ถวายพระพรสมเด็จฯ ว่า หน้าที่การรับสั่งให้เขาทำนั้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณ  พระองค์ทรงรับสั่งให้เขาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  ในเมื่อเขาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นตนเป็นตัว  เขามองเห็นผลประโยชน์ที่เขาจะพึงได้ก็ปล่อยให้เขาทำเอง  อย่าไปทรงแนะนำเขาถึงขั้นต้องเอาตัวไหมต้มลงไปในหม้อ  ถ้าในทำนองนี้สมเด็จฯ พ้นจากโทษปาณาติบาต  แล้วอาตมาขอถวายพระพรถามว่า เคยมีรับสั่งให้เอาตัวหม่อนต้มในหม้อหรือเปล่า  สมเด็จฯ รับสั่งว่าไม่เคย  ถ้าหากไม่เคยสมเด็จฯ ก็ไม่เป็นบาป ไม่ต้องเป็นห่วงใยเรื่องบาปกรรม  ในเมื่อเขาทำขึ้นมาแล้ว เขาจะได้ผลอย่างไรนั้น เขาย่อมรู้เอง  เพราะเขาโตๆ กันทุกคนแล้ว  ในขั้นสุดท้ายสมเด็จฯ ก็ทรงปล่อยวางซะ  สมเด็จฯ ก็เป็นที่พอพระทัยในคำตอบ  เรื่องเกี่ยวกับการทำบาปทำกรรมอะไรต่างๆ นี้  ถ้าหากเรามีความข้องใจสงสัย หรือเรามีเจตนาว่าเราจะฆ่าสัตว์ มันก็เป็นบาปวันยังค่ำ


          คนที่มีสมาธินี้ เป็นแต่เพียงใช้คำพูดกับคนไข้ บอกว่าทำใจดีๆ ทำใจให้เข้มแข็ง โรคของคุณจะหาย คุณไม่ต้องตกใจ ฉันจะช่วยให้คุณหาย คุณต้องหายแน่ๆ  พูดอย่างนี้ก็เป็นอุปกรณ์ช่วยให้คนไข้มีอาการดีขึ้น  เพราะพลังจิตของเราที่มีสมาธิ  อีกอย่างหนึ่งผู้ที่เคยผ่านการทำสมาธิมาบ้างพอสมควรแล้ว  อย่าไป อย่าเผลอไปแช่งใครเข้านะ ถ้าขืนไปแช่งแล้วมันจะเป็นไปตามที่เราแช่ง  ปากของคนทำสมาธิ เป็นปากที่มีสัตย์มีศีล ในเมื่อพูดอะไรแล้วมันจะเป็นไปอย่างนั้น  อันนี้หมายถึงการทำสมาธิตามหลักของพระพุทธศาสนา  และจุดมุ่งหมายของการทำสมาธินี้เพื่ออะไร นักปฏิบัตินักสมาธิทั้งหลายยังเข้าใจผิดกันอยู่เป็นส่วนมาก เช่น การทำสมาธิต้องรู้ การทำสมาธิต้องเห็น ทำสมาธินี้ต้องมีอิทธิฤทธิ์  ส่วนมากเข้าใจกันไปเสียอย่างนี้  ทีนี้ถ้าหากเราไปสำคัญมั่นหมายว่าเราจะต้องรู้ ต้องมีนิมิต ต้องเห็นโน้นเห็นนี่ หรือต้องมีอิทธิฤทธิ์  ถ้าเผื่อเราทำไม่ได้อย่างที่ว่านั้น เราก็เกิดท้อแท้  แต่ความจริงสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องถือว่าเป็นผลงานซึ่งเกิดจากการปฏิบัติของเรา  สิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์เพื่อฝึกฝนอบรมจิตให้มีสติจนกลายเป็นมหาสติ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะยึดเอาเป็นที่พึ่ง  แต่สิ่งที่เราจะยึดเป็นที่พึ่งนั้นคือตัวสติที่เด่นชัดขึ้น  สติที่เด่นชัดขึ้นนี้มันกลายเป็นสติพละ เป็นสติมีกำลัง  ในตอนต้นๆ กำลังของสติมันแผ่ทั่วกาย หรือแผ่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ   แต่เมื่อสติรวมกำลังเข้าเป็นหนึ่ง  มันก็กลายเป็นสตินทรีย์  สตินทรีย์คือความเป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง  เป็นใหญ่สามารถประคับประคองจิตให้อยู่ในสภาพที่มีความสงบ  ประคับประคองจิตให้ไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง นี้เราต้องการความมีสติเท่านั้น  ในเมื่อสติตัวนี้เราอบรมให้แก่กล้าขึ้นจนสามารถรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ   แม้แต่อารมณ์ภายในจิต  ความนึกคิดอะไรเกิดขึ้น สักแต่ว่าสัมผัสรู้ ไม่มีการยึดถือในสิ่งนั้นๆ   รู้แล้วก็ปล่อยวางไป  อันนี้แสดงว่าสติของเรามีกำลังขึ้นแล้ว  ก็เป็นใหญ่ในสภาวธรรมทั้งปวง  ในเมื่อเรามีสตินทรีย์เป็นใหญ่ในจิตของเรา จิตของเราก็สามารถปฏิวัติตัวไปสู่ภูมิรู้ภูมิธรรมได้  ตั้งแต่ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด  ในที่สุดก็สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน ตามต้องการ  เพราะฉะนั้น ขอย้ำอีกทีว่า  การพิจารณาอะไรก็ดี การบริกรรมภาวนาก็ดี สิ่งที่เราต้องการผลงานนั้นคือ สติตัวเดียวเท่านั้น  ทำสติให้เป็นใหญ่โดยเด็ดขาด ในจิต ในใจ ในกายของเรา  เมื่อสติเป็นใหญ่โดยเด็ดขาดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยไม่วุ่นวาย  สิ่งที่เป็นใหญ่ในโลกนี้ ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ หรือมีสติเป็นใหญ่


          ในกายของเรานี้มีอะไรเป็นใหญ่โดยธรรมชาติ  ก็มีอยู่แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ท่านเรียกว่า อินทรีย์  ที่เรียกว่า อินทรีย์ เพราะเขามีความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของเขาเอง  โดยไม่มีใครสามารถจะก้าวก่ายหน้าที่ของเขาได้  ตามีหน้าที่ดูก็ดูอย่างเดียว จะอุตริไปฟังช่วยหูไม่ได้  หูมีหน้าที่ฟังอย่างเดียว จะอุตริไปดูก็ไม่ได้  เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นใหญ่ในกายของเรา  ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส ใจนึกคิดและเก็บอารมณ์  สิ่งอื่นจะไปก้าวก่ายหน้าที่กันไม่ได้ นี้คือความเป็นใหญ่  ทีนี้เมื่อเราฝึกฝนอบรมสติตัวนี้ให้เป็นสตินทรีย์ ให้เป็นใหญ่ในกายในจิตของเราแล้ว สติก็กลายเป็นความเป็นใหญ่ภายในจิตของเรา  สติวินโย  เรามีสติเป็นผู้นำ สติจะปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิจิต ภูมิธรรม ตามขั้นตอนเท่าที่ความสามารถของสติจะบันดาลให้เป็นไปได้  อีกอย่างหนึ่งเมื่อท่านทั้งหลายได้ภาวนา หรือพิจารณาธรรมไปถึงขั้นนามธรรม  คือจิตสงบนิ่งสว่างแล้ว มีแต่สิ่งรู้อันเป็นนามธรรม วัตถุตัวตนไม่ปรากฏ  ในเมื่อนานๆ เข้าสภาพจิตนั้นจะอ่อนกำลังลง  ในเมื่อเป็นเช่นนั้นท่านควรจะย้อนหันมาพิจารณากาย  เริ่มต้นแต่ดูแต่ลมหายใจ หรือพิจารณากายคตานุสสติ หรือพิจารณาตามแผนที่ท่านเคยวิจัยร่างกายของมนุษย์มาแล้ว  อาตมาว่าการเจริญอสุภกรรมฐานก็ดี ธาตุกรรมฐานก็ดี หรือการพิจารณาสรีระ ร่างกาย หรืออาการ ๓๒ กายคตานุสสติก็ดี พวกคุณหมอทั้งหลายนี้ง่ายเพราะมีสัญญาเดิมอยู่แล้ว  อย่างพวกอาตมาเป็นพระเป็นสงฆ์ไม่เคยผ่าตัดศพมา ไปนั่งนึกหลับตาเอาแทบเป็นแทบตาย กว่าจะเกิดนิมิตขึ้นมาให้รู้แจ้งเห็นจริง  ท่านทั้งหลายมีอุปกรณ์อยู่แล้ว


          อีกอย่างหนึ่ง  การทำสมาธิภาวนานี้ให้เชื่อตัวเอง อย่าไปเชื่อคนอื่น  เราภาวนาอะไร พิจารณาอะไร สามารถทำจิตให้สงบ สามารถทำจิตให้รู้ได้ เราก็ยึดอันนั้นเป็นหลักของเรา  ถ้าสมมติว่าท่านต้องการอยากรู้อะไรสักอย่างหนึ่ง มีปัญหาเกิดขึ้นในใจ  ถ้าท่านเคยทำสมาธิมาแล้ว ให้ตั้งใจอธิษฐานจิตตัวเองไว้ว่านี้คืออะไร แล้วก็พยายามทำสมาธิให้จิตว่าง  พอจิตว่างลงไปแล้ว คำตอบมันจะผุดขึ้นมา  สมาธิจะเกิดขึ้นได้  ต่อเมื่อเราหมดความตั้งใจ วิปัสสนาจะเกิดขึ้นมาได้ ต่อเมื่อเราหมดความคิด หมดความตั้งใจคือความว่างของจิต สมาธิก็เกิด  การหมดความคิดก็คือ ความว่างของจิต วิปัสสนาคือปัญญาก็เกิด


          เอาละ สำหรับการกล่าวธรรมอันเป็นเครื่องประดับสติปัญญาความรู้ของท่านทั้งหลายก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลา


          ในท้ายที่สุดนี้  ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และคุณธรรม  จงดลบันดาลให้ทุกท่านประสบผลสำเร็จที่ตนพึงปรารถนา โดยทั่วหน้ากัน.


Last Updated on Saturday, 23 October 2010 01:27
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner