Monday, 18 January 2010 01:31 |
เจริญตามปฏิปทาของพระพุทธองค์ โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) เทศน์อบรมข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ จากหนังสือฐานิยปูชา ๒๕๓๙ บัดนี้เราทั้งหลายก็ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมหรือฟังธรรม การฟังธรรมนี้เราฟังอยู่ที่ใจของเรา ในตัวของเรามีใจเป็นใหญ่ มโนปุพพังคมาธัมมา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นธรรมชาติถึงก่อน มโนเสฏฐา มโนมยา ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จแล้วแต่ใจ มะนะสา เจ ปสันเนนะ ขณะใดใจผ่องใส การทำ การพูด การคิดก็เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง เป็นกุศโลบายแห่งบุคคลที่ฉลาดในธรรม ถ้าในขณะใดจิตใจของเราเศร้าหมอง การทำ การพูด การคิด ก็มีแนวโน้มที่เป็นไปในทางที่ไม่ฉลาด ถ้าทำก็เป็น กายทุจริต พูดก็เป็นวจีทุจริต คิดก็เป็นมโนทุจริต เพราะฉะนั้น จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง การฝึกอบรมจิต จึงเป็นสิ่งที่นำสุขมาให้โดยถ่ายเดียว ดังนั้น สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าทรงทราบปัญหาข้อนี้ตามความเป็นจริง พระองค์จึงสอนให้เรามีศีล ใหัมีปัญญา ท่านทั้งหลายได้ทำจิตใจให้ถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อท่านปฏิญาณตนถึง พระพุทธเจ้าพระธรรม พระสงฆ์แล้ว ได้กรุณากำหนดดูจิตของตนเอง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือ คุณธรรมที่มีอย฿ู่ในใจของเรานั่นเอง จิตของเราเป็นผู้รู้ ทีนี้ ผู้รู้ตามแบบพระพุทธเจ้านั้นต้องมีกฏมีเกณฑ์ ไม่ใช่ว่ารู้สะเปะสะปะไปอย่างไม่มีกฏมีเกณฑ์ รู้ของพระพุทธเจ้า รู้ศีล รู้ธรรม รู้วินัย หรือระเบียบในการปฏิบัติ วินัย ก็คือ ศีลที่ท่านได้สมาทานแล้ว ศีลนี่แหละเป็นอุบายเครื่องดับ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ จะถึงซึ่งความดับสนิทก็เพราะศีล ตัสมา สีลัง วิโส ทเย ดังนั้นสาธุชนพึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ในเมื่อเรามีศีลบริสุทธิ์แล้ว เราก็ดับทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่การดับบาป อาตมาเคยเทศน์เสมอว่า ศีลเป็นอุบายตัดทอนผลเพิ่มของบาปกรรม ฉะนั้น ผู้มีศีลจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ดับกรรม ดับเวร กรรม หมายถึง การกระทำด้วยกาย วาจา ซึ่งมีจิตหรือใจเป็นตัวการ เป็นตัวเจตนา ว่าเราจะทำ จะพูด จะคิด ทีนี้การกระทำที่มีขอบเขตอันใดที่ไม่ละเมิดล่วงเกินศีลที่เราสมาทานแล้ว อันนั้นชื่อว่าการกระทำที่มีขอบเขต การพูดสิ่งใดที่ไม่ละเมิดล่วงเกินศีลที่เราสมาทานแล้ว อันนั้นคือการพูดอย่างมีขอบเขต แต่สำหรับจิตใจของเรานั้น บางทีเราก็มีเจตนาคิด บางทีอยู่ๆ จิตก็คิดขึ้นมาเอง เขาจะคิดได้ทั้งสิ่งดี สิ่งชั่ว คิดได้ทั้งเรื่องบาป และเรื่องบุญ แต่เมื่อเขาคิดเช่นนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไร จะไปห้ามไม่ให้เขาคิดอย่างนั้นหรือ เปล่า เราห้ามไม่ได้ เพราะความคิดเป็นอารมณ์จิต เรารักษาเพียงแค่เจตนาคือความตั้งใจจะทำ แต่จิตเขาคิดไป เพื่อที่จะทำบาปทำกรรมทำสิ่งชั่ว เพราะเรามีกฏเกณฑ์ เราเคารพกฏเกณฑ์ เคารพกติกา ๕ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าประทานให้ เราก็ไม่ทำ เมื่อเราไม่ทำ มันก็ไม่มีผลงาน เมื่อความคิดหายไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรเหลือตกค้างอยู่ เพราะความคิดนั้นเป็นเพียงแต่อารมณ์จิต ความคิดที่สำเร็จเป็นมโนกรรม เพราะอาศัยเจตนาเป็นที่ตั้ง คืออยู่ๆ แล้วความคิดเรามันเกิดขึ้นมาลอยๆ เพราะอาศัยอารมณ์ค้าง บางทีมันคิดจะไปด่าทอใครต่อใคร คิดฆ่าใครต่อใคร แต่มันคิดไปเองโดยไม่มีเจตนา อันนั้นมันเป็นสักแต่ว่าอารมณ์จิตเท่านั้น ในทางที่ควรระมัดระวังก็คือ คิดแล้วอย่าทำตามที่คิด แต่หากว่าคิดดี เป็นบุญ เป็นกุศลเราทำตามสิ่งนั้น เช่น คิดจะฟังเทศน์ ฟัง คิดจะสวดมนต์ สวด คิดจะปฏิบัติสมาธิภาวนา ปฏิบัติ อันนี้ เป็นการคิดที่ดี ทีนี้ความคิดนั้นเป็นอาการแห่งผู้รู้ เพราะเรารู้สึก รู้นึก รู้คิด ความคิดนี่ไม่มีหลักเกณฑ์ โดยธรรมชาติจิต รู้สึก รู้นึก รู้คิด แต่ไม่รู้ดี รู้ชั่ว แต่การคิดของพระพุทธเจ้า คิดแบบผู้ที่มีพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตในใจ ผู้ที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แม้เขาจะคิดในสิ่งชั่ว แต่เขาจะไม่ทำ เพราะเขามีคุณธรรมคือพุทธะอยู่ในจิตตลอดเวลา ดังนั้นเวลาปฏิบัติธรรม เรามาสำรวจดู กาย วาจาของเรา ตั้งแต่เช้ามานี่ จนถึงปัจจุบันนี้ เราได้ทำบาปทำกรรมอะไรไหม ถ้าหากว่าเราไม่ได้ทำบาปทำกรรมอะไร ไม่ละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง เราควรจะภูมิใจว่า สีลัง เม ปริสุทธัง สีลัง เม ปริสุทธัง สีลัง เม ปริสุทธัง ศีลของเราบริสุทธิ์แล้ว ศีลของเราบริสุทธิ์แล้ว ศีลของเราบริสุทธิ์แล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้นให้จิตเกิดความรู้สึกภาคภูมิปราโมทย์ยินดีในคุณธรรม คือศีลที่บริสุทธิ์ที่มีอยู่ในจิตของเราแล้วเราทำอย่างมีขอบเขต เรียกว่ารู้อย่างพระพุทธเจ้า ปฏิบัติอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อเราสังเกตุดูจิตดูใจของเราในลักษณะดังที่กล่าวนี้ เราก็มีความรู้สึกสำนึกผิดขอบชั่วดีอยู่ในจิตของเรา แต่ถ้าเรามีสติรู้จิตของเราตลอดเวลา สติตัวนี้เป็นเจตสิกธรรม เป็นสติวินโย มีสติเป็นผู้นำจิตตลอดเวลา เมื่อจิตของเรามีพลังงานคือสติ สมาธิคือความมั่นคง ต่อการที่จะละบาปความชั่วประพฤติความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดอยู่เสมอ เราก็มีคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในจิตของเราตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เราก็จะมีสติคอยกำหนดจ้องตามรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะไปก็ไปกับพระพุทธเจ้าคือผู้รู้ เราจะนั่ง เราก็นั่งกับพระพุทธเจ้าคือผู้รู้ เราจะนอน เดิน ยืน เราก็ไปกับพระพุทธเจ้า เพราะเรามีสติ รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อท่านกำหนดดูจิตของท่านอยู่อย่างนี้ เวลานี้ท่านนั่งดูจิตของท่านด้วยความมีสติสัมปชัญญะ ท่านกำลังนั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เพราะพระพุทธเจ้า เป็นคุณธรรมมีอยู่ในจิตของเรา ไม่ได้อยู่ที่อื่น ดังนั้น ณ โอกาสต่อไปนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงเชื่อมั่นในตัวเองว่า เราสามารถที่จะปฏิบัติธรรม ให้จิตสงบเป็นสมาธิ รู้ธรรม เห็นธรรมได้ สามารถจะสร้างสมาธิ สติปัญญา ให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเราได้ เมื่อเราเชื่อมั่นในตนเองอย่างแน่วแน่แล้ว เราก็มาเชื่อมั่นในปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ปฏิปทาของพระพุทธเจ้านั้น พูดเอาง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ฟังง่ายๆ ว่ากันอย่างนี้เลยทีเดียว พระพุทธเจ้าฆ่าสัตว์ไม่เป็น เราไม่ฆ่า พระพุทธเจ้าขโมยไม่เป็น เราไม่ขโมย พระพุทธเจ้าไม่ประพฤติผิดในการ เราไม่ประพฤติผิด พระพุทธเจ้าโกหกไม่เป็น เราไม่โกหก พระพุทธเจ้าไม่ดื่มเครื่องดองของเมา เราไม่ดื่มน้ำดองของเมา พระพุทธเจ้ามีสติกำหนดรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด โดยอัตโนมัติ เราพยายามกำหนดสติตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่ตลอดเวลาอย่างพระพุทธเจ้า อันนี้เรียกว่าเราปฏิบัติตามปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ในเมื่อเรามีสติรู้ตัวอยู่ อัปปมาโท อะมะตัง ปทัง อัปปมาโท อะมะตัง ปทัง เราก็มีความไม่ประมาท ซึ่งเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย ความไม่ประมาท คือความมีสติสัมปชัญญะพร้อม การปฏิบัติธรรม แม้ว่าใครจะทำสมาธิได้ขั้นไหน ตอนไหน ญาณขั้นไหน ญาณขั้นใดก็ตาม ผลลัพท์สุดท้ายก็คือ ความมีสติสัมปชัญญะ แล้วเราจะละอะไร สำคัญอยู่ที่ศีลตัวเดียวเท่านั้น อันนี้ขอท่านทั้งหลายพึงเข้าใจอย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ณ โอกาสนี้ ขอท่านทั้งหลายจงมีสติกำหนดรู้จิตตนเอง แล้วนึกถึงอารมณ์แห่งการภาวนา ท่านผู้ใดถนัดในการกำหนดอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก ก็กำหนดรู้ ลมหายใจ ท่านผู้ใดเคยบริกรรม พุทโธ สัมมาอรหัง พองหนอ ยุบหนอ ก็ให้กำหนดบริกรรมสิ่งนั้น ท่านผู้ใดไม่กำหนดภาวนาอะไร กำหนดสติรู้จิตนิ่งเฉยอยู่ ถ้าจิตนิ่ง ปล่อยให้นิ่ง ถ้าจิตคิด ปล่อยให้คิด เราเอาสติตัวเดียวตามรู้อยู่ตลอดเวลา แล้วก็ให้กำหนดตามอารมณ์เดิมที่ตนเคยปฏิบัติมา อย่างคล่องแคล่วชำนิชำนาญ การทำสมาธิ คือการทำให้จิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก จะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เรามีสติกำหนดรู้จิตเพียงอย่างเดียว ผู้ที่มีสติกำหนดรู้จิต ในเมื่อจิตอยู่ว่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่กาย จิตสามารถที่จะกำหนดรู้ได้โดยอัตโนมัติ เมื่อจิตอยู่ว่าง สิ่งที่ปรากฏเด่นชัดก็คือลมหายใจ ในบางครั้งก็มีความคิดเกิดขึ้น เมื่อกายกับจิตยังสัมพันธ์กันอยู่ สุขทุกข์ที่เกิดขึ้นที่กาย จิตย่อมรู้ รู้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อเราตั้งสติกำหนดรู้จิตของเราเฉยอยู่ ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นที่กาย จิตเขาสามารถรู้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อจิตวิ่งไปรู้สิ่งใด เราเอาสติตามไป ถ้าจิตอยู่ว่างๆ ก็ให้ว่างไป ถ้าจิตคิด ก็กำหนดตามรู้ไป ถ้าจิตจับลมหายใจ ก็กำหนดรู้ลมหายใจไป เมื่อเรานั่งสมาธิไปนานๆ ถ้าจิตจะเริ่มเป็นสมาธิ เราจะรู้สึกว่า กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ คือ มันเบา สบายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ในช่วงนี้ ถ้าหากว่าจิตไม่กำหนดรู้สิ่งใด ก็ให้รู้ในจิตเพียงอย่างเดียว เมื่อรู้สึกสบาย กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ถ้าจิตอยู่ว่าง ปล่อยให้ว่างไป ถ้าหากว่าจิตวิ่งไปหาลมหายใจ ก็ปล่อยให้รู้ลมหายใจ ถ้าจิตมีความคิด ก็ปล่อยให้รู้ความคิด ถ้าสุขเกิดขึ้น จิตไปรับรู้ก็กำหนดรู้สุข ถ้าทุกข์เกิด จิตไปรับรู้ ก็กำหนดรู้ทุกข์ คือปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน อย่าไปบังคับ เมื่อเราเอาสติตามรู้อารมณ์จิตอยู่ตลอดเวลา วิถีจิตเขาจะเดิน เขาจะเดินอยู่ตรงที่ว่า บางทีรู้ลมหายใจ บางทีรู้ว่าง บางทีรู้ความคิด เราปล่อยให้จิตของเราเดินอยู่ที่ลมหายใจ ความคิด ความว่าง ลมหายใจ ความคิด ความว่าง จนกว่าจิตจะจับสิ่งใดอยู่อย่างมั่นคง อย่างเหนียวแน่นไม่ปล่อยวาง เรียกว่ากัดไม่วาง แล้วปล่อยไปตามธรรมชาติ
ทีนี้ เมื่อจิตของเรามายึดสิ่งใดเป็นอารมณ์อย่างเหนียวแน่น ในช่วงนี้หากว่าจิตสงบเป็นสมาธิ เราจะเริ่มรู้สึกแจ่มๆ ภายในจิต ถัดจากนั้นไปจะมีความสว่างเกิดขึ้น ในช่วงที่ความสว่างบังเกิดนี้ เราจะรู้สึกว่าเรามีปิติ มีความสุข แล้วจิตของเราก็ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย ถ้าไปรู้อยู่ที่ความว่าง ก็จะวางเฉย และจิตจะสงบ ละเอียดลงไป ยิ่งลงไป จนกระทั่งหยุดนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ถึงจุดที่ร่างการตัวตนหายไปหมดก็มี แต่บางครั้ง ถ้าหากจิตส่งกระแสออกนอก จะเกิดภาพนิมิตต่างๆ ดังที่เคยเทศน์ให้ฟังหลายครั้งหลายหน แต่ถ้าหากจิตไปจับลมหายใจ บางครั้งจะรู้สึกว่าลมหายใจแผ่วลง แผ่วลง เหมือนใจจะขาด ก็อย่าไปตกใจ ให้พยายามประคองจิตรู้เฉย ถ้าหากว่าลมหายใจหายขาดไปในขณะนั้น จิตจะสว่างโพลงขึ้น ร่างกายตัวตนหายหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว แต่หากว่าจิตส่งกระแสออกนอก ก็จะรู้เห็นนิมิตต่างๆ ถ้าจิตดวงใดมาจับลมหายใจ จิตดวงนั้นได้ชื่อว่าเดินตามทางของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง เพราะลมหายใจจะเป็น สื่อนำจิตให้วิ่งเข้าไปสงบ นิ่ง สว่าง อยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ซึ่งจิตของพระพุทธเจ้า พระองค์เจริญอานาปานสติ เมื่อจิตจับลมหายใจเข้าไปนิ่งสว่าง อยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ทำให้พระองค์รู้เห็นอวัยวะต่างๆ ภายในครบถ้วน ทั้ง ๓๒ ประการ ในขณะจิตเดียว พระองค์รู้อาการ ๓๒ รู้อย่างไร คือพระองค์รู้ว่า กายของเรานี้หนอ เบื้องต้นแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ เต็มไปด้วยของที่ไม่สะอาด มีประการต่างๆ เกศาคือผมทั้งหลาย โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตโจคือหนัง มังสังคือเนื้อ นหารูคือเอ็น อัฏฐิคือกระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ม้าม หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ กิโลมกัง พังผืด ปิหะกัง ไต ปัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตคุณัง ไส้น้อย อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า มัตถลุงคัง คือมันสมอง ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท น้ำมันข้น อัสสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา น้ำไขข้อ มุตตัง น้ำมูตร เอวะมยัง เมกาโย กายของเรานี้อย่างนี้ อุทธัง ปาทตลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป อโธ เกสมัตถกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา ตจปริยันโต มีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบ ปูโรนานัปปการัสสะ อสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ อย่างนี้แล อันนี้คือวิถีทางเดินของจิตของพระพุทธเจ้า นักปฏิบัติท่านใดเจริญปฏิปทาของพระพุทธเจ้า แม้จิตยังไม่สงบ ยังไม่เป็นสมาธิ เราจะกำหนดดูอาการ ๓๒ ที่กล่าวมาแล้วก็ได้ คือเรานึกถึงผม ให้มีสติกำหนดเพ่งไปที่ผมให้ชัดเจน โลมา ขน เพ่งไปที่ขน นขา เล็บ เพ่งไปที่เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง เพ่งไปด้วยจิตที่แน่วแน่ ตอนแรกๆ เราเดินอยู่ในผม ขน เล็บ หนัง นี้ก่อน เพ่งย้อนกลับไปย้อนกลับมา เพียงเพ่งดูว่า นี่ผม นี่ขน นี่เล็บ ย้อนกลับไปย้อนกลับมาอยู่อย่างนี้ แทนคำบริกรรมภาวนา เมื่อเพ่งไม่หยุดต่อเนื่องกัน ในที่สุดจิตจะสงบ ถ้าหากว่าจิตไปสงบอยู่ที่อาการใดอาการหนึ่ง ถ้าไปสงบอยู่ที่ผม จิตจะสว่าง มองเห็นผมบนศีรษะ หลวงปู่ฝัน เคยเล่าให้ฟังอยู่เสมอว่า โยมซื้อรถยนต์ เขานิมนต์ให้นั่งรถยนต์ ท่านไม่ยอมนั่ง ในที่สุดทนอ้อนวอนเขาไม่ได้ ก็ขึ้นไปนั่งรถยนต์ เพราะแต่เกิดมายังไม่เคยนั่งรถยนต์สักที ทีนี้พอไปนั่งรถยนต์ ใจก็นึกกลัวจะตกรถ ท่านก็กำหนดอาการ ๓๒ พอกำหนดไปถึง หทยัง หัวใจ จิตสว่างโพล่งขึ้นมา แล้วจิตมันวิ่งไปเกาะอยู่กับวัตถุชิ้นหนึ่ง สีขาวเหมือนถ้วย หลังจากนั้น จิตมันก็จดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น ไปรู้สึกเอาเมื่อคนขับรถมาตีหัวเข่าอย่างแรง เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วเขาบอกว่า "หลวงพ่อ หลวงพ่อนั่งสมาธิเครื่องยนต์มันหยุด" ท่านก็เลยบอกว่า "เออ ถ้ามันหยุดเพราะเรานั่งสมาธิ ลองไปติดเครื่องดูซิ" พอเขาไปติดเครื่อง เครื่องยนต์มันก็ติด แล้ววิ่งไปได้ เวลาไปนั่งเฝ้าปฏิบัติท่าน ท่านจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเสมอ แล้วในที่สุดก็ต้องมานึกว่า "อ๋อ ครูบาอาจารย์สอนเราโดยอุบาย" แล้วก็มายึดคำสอนของท่านไปปฏิบัติ ซึ่งปฏิบัติในช่วงกำลังป่วยเป็นวัณโรค พอกำหนดไป กำหนดไป พอถึงปัปผาสัง ปอด จิตมันหยุดทุกที แล้วมันไปจ่อที่ตรงนั้น บางทีก็มองเห็นปอดมันเป็นจุด เป็นจุดกลมๆ เหมือนเหรียญโตขนาดเหรียญสลึง ทีนี้เพ่งไปเพ่งมาในที่สุดวัณโรคมันก็หาย เพราะฉะนั้น วิธีทำสมาธิรักษาโรคภัยไข้เจ็บนี้ ให้เดินอาการ ๓๒
ทีนี้ผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าเรากำหนดรู้อาการจิต เพียงแต่กำหนดรู้อารมณ์จิตคือความคิดนั่นเอง อันนี้มันเป็นนาม กำหนดรู้นาม จิตก็เป็นนาม อารมณ์สิ่งรู้ของจิตก็เป็นนาม ที่นี้ นามเพ่งนาม บางทีกำลังมันอ่อน ให้เพ่งย้อนกลับมาเพ่งอาการ ๓๒ จิตของคนเรานี่ ในเมื่อไปเพ่งดูวัตถุ มันจะทำให้เกิดพลังงาน จะได้มีสมาธิแน่วแน่ ได้สติมั่นคง เพราะฉะนั้นวิธีการปฏิบัติสมาธินี่ ถ้าหากว่า ท่านผู้ใดกำหนดรู้อาการ ๓๒ หรือ พิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟภายในกายของตนเอง จนกระทั่งจิตสงบเป็นสมาธิแน่วแน่ ปล่อยวางสิ่งที่กำหนดรู้ แล้วไปกำหนดรู้อยู่ที่อารมณ์เกิดดับ เกิดดับภายในจิต ให้มันผ่านการกำหนดดูวัตถุธรรมไปก่อน แล้วไปถึงขั้นกำหนดดูนามธรรม ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ ภูมิจิตจะไม่เสื่อม ภูมิจิตจะไม่ตก จะมีพลังเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การปฏิบัติสมาธิภาวนา ขอได้โปรดอย่าไปสงสัยในอารมณ์ที่เรายึดเป็นหลักปฏิบัติ เช่น บริกรรมภาวนาหรือพิจารณา ถ้าหากว่าท่านผู้ใดยึดอารมณ์อันใด เป็นอารมณ์จิตในการภาวนาได้ผลแล้ว ให้ยึดอารมณ์นั้นเป็นวิหารธรรม เครื่องอยู่ของจิต ให้พิจารณาสิ่งนั้นบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ ถ้าเป็นบริกรรม ก็บริกรรมบ่อยๆ บริกรรมภาวนาเนืองๆ ให้เป็นพหุลีกตา ภาวิตา พหุลีกตา อบรมให้มากๆ ทำให้คล่องให้ชำนิชำนาญ แล้วจิตจะปฏิวัติตัวไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมเอง การปฏิบัติเป็นหน้าที่ที่เราต้องตกแต่งเอา แต่ว่าผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้น เราตกแต่งเอาไม่ได้ การปฏิบัติสมาธิแต่ละครั้ง แม้ว่าจิตไม่สงบเป็นสมาธิ อย่าไปน้อยอกน้อยใจว่าเราภาวนาไม่ได้ผล เราภาวนาแต่ละครั้ง จิตเขาจะสะสมกำลังเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อย บางครั้งเราตั้งใจให้จิตเป็นสมาธิ ภาวนาแทบเป็นแทบตาย มันก็ไม่เป็น แต่บางครั้งอยู่เฉยๆ พอมีอารมณ์อะไรมากระทบ จิตมันวูบลงไปได้สมาธิ แล้วผลที่มันเกิดเป็นสมาธิอย่างนั้น มันมาจากไหน มาจากที่เราปฏิบัติ จิตสงบบ้าง ไม่สงบบ้าง เป็นบางครั้งบางคราว แล้วมันจะสะสมพลังงานของมันเอาไว้ ได้จังหวะเหมาะเมื่อไร มันก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาล เลือกเวลา หลวงปู่หลวงตาทั้งหลาย ผู้ที่ท่านร฿ู฿้แจ้งเห็นจริง ท่านแสดงธรรม ท่านจะไม่พูดมาก ท่านจะชี้เอา อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ หลวงปู่แหวน เคยสอน "เจ้าคุณอย่าเอาอะไรมาก ให้กำหนดสติลงที่จิตของตนเอง บาปมันเกิดที่จิต ดีเกิดที่จิต ชั่วเกิดที่จิต บุญเกิดที่จิต" เพราะฉะนั้น การฝึกอบรมจิตนี่ ให้มีศึล สมาธิ ปัญญา โดยอัตโนมัติ เป็นสติวินโย จึงได้ชื่อว่า จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง จิตที่ฝึกอบรมดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ ต่อไปนี้ ตั้งใจกำหนดจิต ทำความสงบรู้ในจิตของตนเอง จะหยุดพูด นั่งสมาธิสักพักหนึ่ง (นั่งสมาธิ) เวลาปฏิบัติ อย่าไปคิดให้มันเป็นเช่นนั้น เพราะความสงบ สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน มันเป็นผลเกิดจากการปฏิบัติ จิตเขาเป็นเองโดยอัตโนมัติ อย่าไปตกแต่งให้มันเป็นเช่นนั้น ปล่อยให้เป็นไปเอง เมื่อก่อนนี้ จิตสงบ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน เป็นอย่างดี แต่ขณะนี้จิตสงบลงนิดหน่อย แล้วเกิดความรู้ ฟุ้ง ฟุ้ง ฟุ้งขึ้นมา ก็อย่าไปบังคับมัน ปล่อยให้มันฟุ้งไป เราเอาสติกำหนดตามรู้อย่างเดียวเท่านั้น เพราะจิตเมื่อสงบเป็นสมาธิแล้ว มันมีพลังงาน เมื่อมีพลังงานแล้ว เขาก็อยากทำงาน เมื่อเขาทำงานของเขา เราเอาสติตามรู้ไปอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อจิตคิด เรากำหนดรู้ เขาไม่ยอมหยุด นั่นแสดงว่าจิตมีพลังเพียงพอที่จะทำงานได้แล้ว แต่ถ้าคิด กำหนดรู้แล้วเขาหยุด นั่นแสดงว่ากำลังยังอ่อน ถ้าเขาหยุดก็ให้เขาหยุด เขาคิดให้เขาคิด เอาสติตามรู้ไปอย่างเดียว เมื่อจิตสงบแล้ว ความคิดเกิดขื้น เรียว่า วิตก ถ้าสติกำหนดรู้พร้อมอยู่เรียกว่า วิจาร เมื่อจิตมีวิตก วิจาร ผู้ปฏิบัติไม่เอะใจ หรือไม่เข้าใจผิด ปล่อยให้เขาวิตก วิจารไป อย่าไปห้ามความเป็นเช่นนั้น แล้วในที่สุดเขาจะเกิดปิติ ขนหัวลุก ขนหัวพอง แล้วมีความ สุข จิต มีความเป็นหนึ่ง กำหนดดรู้อยู่ที่อารมณ์จิตที่เกิดดับอยู่ เรียกว่า สมาธิ มี วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมณาน เป็นจุดเริ่มของปฐมณาน ว่าโดยชื่อของณาน ก็เรียกว่า ลักขณูปนิชณาน เป็นณานในอริยมรรค อริยผล ณานในวิปัสนา จิตสงบแล้ว จะต้องเกิดวิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา สมาธิในณานสมาบัติ จิตสงบแล้ว เอาแต่นิ่งลูกเดียว นี่ความเป็นของสมาธิเป็น ๒ อย่าง พึงสังเกตดูให้ดี ก่อนที่จะหยุด ได้พักการปฏิบัติ ขอให้ท่านกำหนดจิต พิจารณาทบทวน ตั้งแต่เราเริ่มไหว้พระสวดมนต์ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ได้สมาทานศืล ได้รับศืล ได้ตั้งใจปฏิบัติสมาธิ ตั้งใจฟังธรรม ว่าเราได้ทำอะไรมาบ้าง เวลาฟังธรรม เข้าใจไหม เวลาปฏิบัติสมาธิ จิตสงบหรือไม่ ให้พิจารณาทบทวนดู เพื่อกระตุ้นเตือนจิตของเรา ให้เกิดความคิดพิจารณาตนเองในกาลต่อไป บัดนี้เป็นเวลาอันสมควรแล้ว เห็นว่าการฟังธรรม การปฏิบัติธรรม ก็ขอยุติลงเพียงแค่นี้ ขอทุกท่านจงสำเร็จคุณธรรมตามที่ตนปราถนาโดยทั่วกัน อาตมาขออมุโมทนาในบุญกุศลของท่านพร้อม.
|
Last Updated on Monday, 18 January 2010 01:49 |