ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ระงับเวรภัย |
Sunday, 03 May 2009 02:36 | |||
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำบาปทั้งปวงคือไม่ทำความชั่ว หมายถึงการเจตนางดเว้น ตามกฎของศีล ๕ ศีล ๘ ดังที่เราได้สมาทานมาแล้วนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เราได้ตั้งใจละความชั่ว ละบาปด้วยเจตนา เราฝึกฝนอบรมเจตนาอันนี้จนคล่องตัว จนกลายเป็นสภาพความเป็นเอง ตอนแรกๆ เราอาจจะมีศีล ๕ ศีล ๘ ด้วยกิริยาที่อดๆ ทนๆ บางครั้งจิตใจเราอยากจะละเมิดศีลข้อนั้นๆ แต่ภายหลังเมื่อเรารักษาศีลจนคล่องตัว จนเป็นนิสัย จนเป็นอุปนิสัย จนกลายเป็นบารมี ศีลบารมีกลายสภาพความเป็นเองทุกสิ่งทุกอย่าง เจตนาก็มีศีล ไม่มีเจตนาก็มีศีล อันนั้นเรียกว่าเราละความชั่วตามกฎแห่งศีลได้โดยเด็ดขาด เมื่อเรามีศีลสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว ภัยเวรที่จะระแวง หวาดระแวงในเรื่องว่าจะมีคนอื่นมาประทุษร้ายหรือจะเกิดเหตุร้ายใดๆ แก่เรานั้น ย่อมเป็นอันหมดกังวล หมดสิ้นไปแล้ว เราจะอยู่ที่ไหนก็เป็นที่สบาย จะนั่งก็สบาย จะนอนก็สบาย จะเดินเหินไปมาทางไหนก็สบาย ไม่ต้องหวาดระแวงภัย เพราะเราไม่ได้สร้างเวรไว้กับใคร ดังนั้น ศีล ๕ ประการนั้นจึงเป็นอุบายระงับเวร เป็นการตัดกรรมคือตัดการทำความชั่ว เป็นการตัดเวรคือการตัดความพยาบาทอาฆาตซึ่งเกิดจากการกระทำไม่ดีของเราอันเป็นเหตุประทุษร้ายต่อคนอื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตของเราก็มีความสงบและภาคภูมิในความดีที่เราได้ละความชั่วโดยเด็ดขาดแล้ว แล้วจิตของเราก็ถึงพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีศีล เราก็มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ ตามอย่างพระองค์ท่าน พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ไม่ต้องกล่าว เราก็ถึงพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เพราะเราปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์ท่าน การล้ำลึกคุณของพระพุทธเจ้า อิติปิ แม้เพราะเหตุนี้ โลกะวิทู พระองค์เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลก คือรู้ว่าโลกคือเบญจขันธ์ของเหล่านี้เราได้มาด้วยบุญ ดังนั้น เบญจขันธ์คือร่างกายของเรานี้ เรามีมือมีไว้สำหรับไหว้พระ เรามีมือไว้สำหรับทำประโยชน์ เรามีหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ เอาไว้สร้างประโยชน์ สร้างคุณงามความดี ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้โลกของตนให้คุ้มค่า การเกิดมาเป็นมนุษย์นี่แสนยาก แสนลำบาก ต้องประกอบด้วยคุณธรรม คือ ศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐ ในเมื่อได้มาแล้วเช่นนี้ เราก็ควรจะใช้โลกคือเบญจขันธ์ของเรานี้ให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม อันนี้เป็นความรู้แจ้งโลกของพระพุทธเจ้า อะนุตตะโร ปุริสะทัมมาะสาระถิ พระพุทธเจ้าเป็นสารถีคือเป็นครูสอน เป็นผู้ฝึกอบรมอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีใครจะยิ่งไปกว่า
|