Home ไปไหนไปกับพุทโธ
ข้อปฏิบัติของพระพุทธองค์
Sunday, 03 May 2009 02:23

หน้าที่และกิจวัตรของพระภิกษุ สามเณร
การอบรมสมาธิวิปัสสนาของเรามีประจำทุกวัน เพราะว่า สำนักวัดนี้เป็นสำนักวัดกรรมฐาน ต้องเจริญสมถะและวิปัสสนา ดังนั้น การอบรมสมาธิวิปัสสนาจึงเป็นกิจวัตรและเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท คือ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา

แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันกำหนดเป็นกาลพิเศษก็ตาม แต่เราก็ยังยึดหลักปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน แต่ที่จัดให้มีเป็นกรณีพิเศษนั้น เพื่อเป็นนโยบายส่งเสริมการปฏิบัติซึ่งมีพื้นฐานดั้งเดิมอยู่แล้วให้มีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการทำให้พระภิกษุสงฆ์ สามเณร มีหน้าที่ที่จะต้องแสดงอัธยาศัยไมตรี แสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในหลักวิชาการและวิธีการปฏิบัติ อันเป็นตัวอย่างแก่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย

จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาตามความรู้สึกของพระสงฆ์นั้น ต้องถือว่าเป็นหน้าที่ของเราโดยตรง แม้แต่การฟังเทศน์ฟังธรรมในวันธรรมสวนะ ก็เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรหรืออุบาสกอุบาสิกาผู้อยู่ในเขตรั้ววัดโดยเฉพาะ แม้ชาวบ้านข้างนอกเขาจะไม่มาร่วม แต่ก็เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวัน จารีตประเพณีของครูบาอาจารย์ในสายธุดงคกรรมฐานนี้ ท่านจะต้องถือว่าการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาเป็นหัวใจงานและเป็นหน้าที่โดยตรงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ วันธรรมดาก็ดี วันธรรมสวนะก็ดี แม้ไม่มีใครมาร่วม คนภายนอกไม่มาร่วม แต่พระสงฆ์ท่านก็ทำของท่านเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว

ถ้าหากว่าพระภิกษุสงฆ์สามเณรของเรามีความรู้สึกตระหนักในหน้าที่และจารีตประเพณีของครูบาอาจารย์ดังกล่าว เราจะไม่มีการเกี่ยงว่าไม่มีใครมาฟังเทศน์ ไม่มีใครมาร่วมทำวัตรสวดมนต์ ไม่มีใครมาร่วมศึกษาปฏิบัติธรรม แต่เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ ดังนั้น การที่มีผู้มีน้ำจิตน้ำใจมาตั้งศูนย์สมาธิวิปัสสนาขึ้น อันนั้นเป็นความหวังดีและเป็นความปรารถนาดีของท่านผู้มีจิตใจซาบซึ้งในคุณธรรมอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


แผนการละความชั่ว
การเปิดศูนย์สมาธิวิปัสสนานี้ ในเมื่อเราทำเป็นพิธีการขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีการเปิด ในเมื่อเปิดแล้วก็ต้องปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อละความชั่ว เจริญความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด แผนการแห่งการละความชั่ว เราได้สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ตามชั้นภูมิของตนเองแล้ว ศีล ๕ ประการเป็นหลักและเป็นคุณธรรมที่จำเป็น ที่พุทธบริษัทจะต้องยึดเป็นหลักปฏิบัติ เพราะเป็นแผนการละความชั่ว ปิดทางอบาย ตัดผลเพิ่มของกิเลส แม้ว่าเราจะมีกิเลส โลภ โกรธ หลง อยู่ในจิตในใจมากมายสักเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อพลังของกิเลสเหล่านั้นแสดงฤทธิ์ออกมาโดยทางใดทางหนึ่ง เราอดกลั้นไม่ล่วงเกินศีล ๕ ข้อ ข้อใดข้อหนึ่ง ก็เป็นการละความชั่วและตัดผลเพิ่มของบาปกรรมที่มีอยู่แล้วให้คงตัวอยู่เพียงแค่นั้น

เมื่อเราไม่ละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง พลังของกิเลสที่มันสุมอยู่ในจิตใจของเรามันจะลดกำลังลง เพราะเราไม่ปฏิบัติตามใจมัน

การที่เราไม่ปฏิบัติตามใจของกิเลส โลภ เราไม่ลักไม่ขโมย จี้ปล้น โกรธ เราไม่ด่าไม่ตี พยายามอดกลั้นทนทานต่ออำนาจกิเลสนั้นๆ ไม่ละเมิดล่วงเกิน จะเป็นการฝึกหัดดัดนิสัยให้คล่องตัวต่อการตั้งเจตนางดเว้นความชั่วตามกฎของศีล ๕ ประการ

เมื่อท่านที่ทำศีล ๕ ประการให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว ภาระที่จะต้องไปละความรู้สึกมีกิเลสในจิตในใจนั้นไม่ต้อง… ไม่ต้องกังวล กังวลอยู่ตรงเพียงแค่ว่าเราไม่ทำอะไรตามอำนาจของกิเลสเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น กิเลสมันจะค่อยอ่อนกำลังลงทุกทีๆ เพราะนิสัยเคยชิน


ศิษย์พระพุทธเจ้าต้องปฏิบัติแบบอย่างของท่าน
ถ้าหากเราไม่อดไม่กลั้น อะไรโผงมาเราก็ผางไป มากมาเราก็เพี้ยะไป ไม่มีการอดกลั้นทนทาน นิสัยมันก็เคย ในเมื่อเคยแล้ว ทางใดที่มันคล่องตัว กระแสจิตของเรามันก็พุ่งไปอย่างแรงจนเราอดกลั้นไม่ได้ แต่เมื่อมีอารมณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นมา เรานึกถึงศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อโกรธ นึกจะฆ่าจะด่าจะตี เรานึกว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ทำเช่นนั้น ถ้าหากเรายังขืนทำเช่นนั้นอยู่ เราก็โกหกพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ก็หมายความว่าเราจะทำตามอย่างพระพุทธเจ้า โลภมา เรานึกถึงศีลข้ออทินนาทานเอาไว้ พระพุทธเจ้าลักขโมยไม่เป็น จี้ปล้นฉ้อโกงไม่เป็น เราก็ปฏิบัติตามแบบอย่างท่าน ถ้าจิตใจคิดจะล่วงละเมิดสิทธิใดๆ อันเป็นสิ่งที่เขาหวงห้ามหวงแหน เราก็นึกถึงว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ทำเช่นนั้น ถ้าเราขืนทำอยู่ เราก็ไม่ใช่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เมื่อเราคิดจะโกหกหลอกลวงขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านไม่ทำเช่นนั้น ในเมื่อเราคิดจะดื่มหรือมัวเมาในสิ่งใด อันเป็นเหตุให้เป็นข้าศึกต่อการประพฤติดีปฏิบัติงาม หรือมัวเมาในสิ่งที่จะทำให้เราเสียผู้เสียคน พระพุทธเจ้าท่านไม่ทำอย่างนั้น เราก็ไม่ทำ เอาอย่างพระพุทธเจ้าหมดทุกสิ่งทุกอย่าง

ผู้ที่มีความปรารถนาที่จะอบรมอุปนิสัยใจคอของตนเองให้มีความละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่รับประทานอาหารในเวลาวิกาล เราก็งดเว้น พระพุทธเจ้าท่านรักษาความสะอาดแต่เพียงร่างกาย ไม่ประดับตกแต่ง ไม่ยินดีในการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี หรือดูการละเล่นเป็นเสี้ยนหนาม เราก็ปฏิบัติตามอย่างพระองค์ท่าน พระพุทธเจ้าท่านไม่นอนบนที่นอนที่สูง ที่นอนอันใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดความสุขสบายจนเกินไป เป็นเหตุให้ติด เราก็ต้องทำตามอย่างพระพุทธเจ้า จึงจะได้ชื่อว่าเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าและเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละความชั่ว ละบาปอกุศล

Last Updated on Sunday, 03 May 2009 02:36
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner