ชีวประวัติ หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ เจ้าอาวาส วัดสังฆทาน
หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ เกิดเมื่อวันพุธขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๕ (๔ ฯ ๕) ปีวอก ตรงกับวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ. สุพรรณบุรี ในตระกูล โพธิ์สุวรรณ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน ๑. นางจอง ศรีสำแดง ๒. นางลูกจันทร์ วงกต ๓. นางบรรจง ปานสุวรรณ ๔.เป็นทารกเพศหญิง เสียชีวิตขณะคลอด ๕. นายบุญทรง โพธิ์สุวรรณ ๖. นางชะอม บุญประสม ๗. หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ ( ละสังขาร เมื่อ 24 ส.ค.2555 ) ๘. นายเสนาะ โพธิ์สุวรรณ ๙. พระพงษ์ศักดิ์ สีลเปโม หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญอุปสมบทเมื่ออายุ ๒๐ ปี ในวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๗ ณ วัดดอนไร่ ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี โดยมีพระครูสุวรรณวุฒาจารย์ (มุ่ย) วัดดอนไร่ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระบุญยก วัดดอนไร่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระบุญทรง วัดหนองไผ่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
การจำพรรษา
พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗ วัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี หลังจากที่อุปสมบทแล้วหลวงพ่อสนองได้ปฏิบัติตามศีลอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะข้อ ๑๐ (ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะณา เวระมะณี) - เจตนาเว้นจากการรับเงินทองหรือยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ท่านออกธุดงค์ประมาณ ๗ เดือน ได้ข่าวโยมแม่บวชชีที่วัดทุ่งสามัคคีธรรม จึงรีบเดินทางมาพบโยมแม่ด้วยความดีใจ และได้พบหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อสังวาลย์ได้แนะนำให้หลวงพ่อสนองเข้าห้องกรรมฐานบ่มอินทรีย์เจริญสติปัฏฐานสี่ ณ ป่าช้าวัดหนองไผ่ เช่นเดียว กับที่ท่านเคยปฏิบัติที่ป่าช้าวัดบ้านทึง โดยสมาทานไม่พูด ไม่เขียน (พูดเขียนได้แต่เฉพาะกับหลวงพ่อสังวาลย์รูปเดียวเท่านั้น) และได้สมาทานธุดงค์ ๗ ข้อคือ ๑. เตจีวริกังคะ ถือเพียงไตรจีวรเป็นวัตร ๒. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉันเพียงอาสนะเดียวเป็นวัตร ๓. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกินหนึ่งอย่าง คือ บาตร ๔. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร แม้อาหารที่ถวายภายหลังจะประณีตกว่า ๕. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๖. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้เป็นวัตร ๗. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร เว้นการนอน อยู่ได้เพียง ๓ อิริยาบถ (เฉพาะข้อ ๗ เริ่มปฏิบัติหลังจากอยู่ป่าช้าแล้ว ๓ เดือนแล้วถือมาตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งโยมมารดาถึงแก่กรรม จึงได้เลิกเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย)
พรรษาที่ ๒-๔ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๐พรรษาที่ ๒-๔ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๐ ป่าช้าวัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ. สุพรรณบุรี การปฏิบัติในป่าช้า หลวงพ่อสังวาลย์จะมาสอบอารมณ์กรรมฐานหลวงพ่อสนอง ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน ต่อครั้ง ผลการปฏิบัติในป่าช้าทำให้ท่านเชื่อในนรกสวรรค์ เชื่อว่ามรรคผลนิพพานมีจริง หลวงพ่อสังวาลย์กล่าวชมหลวงพ่อสนองว่าเป็นพระภิกษุสุวโจ คือเป็นคนที่ว่าง่าย สอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่รั้น สอนอะไรก็ทำตามได้หมด พรรษาที่ ๕-๖ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒ สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี หลังจาก ๓ ปีผ่านไป หลวงพ่อสนองขออนุญาตหลวงพ่อสังวาลย์ออกจากห้องกรรมฐาน หลวงพ่อสังวาลย์เห็นสมควรแล้วจึงอนุญาต และได้พูดถึงความดีของพระสงฆ์ให้ฟัง หลวงพ่อสนองกราบลาหลวงพ่อสังวาลย์เพื่อออกธุดงค์หาที่วิเวกและเที่ยวชมวัดร้าง โดยไม่คิดที่จะเป็นครูบาอาจารย์สอนใคร แต่หลวงพ่อสังวาลย์คิดว่าพระรูปนี้ต่อไปจะต้องสั่งสอน คนแน่นอน จึงมอบกลดของท่านที่หลวงพ่อเกลื่อนทำถวาย ซึ่งหลวงพ่อสังวาลย์ใช้เดินธุดงค์เป็นเวลาหลายปีให้กับหลวงพ่อสนอง การเดินธุดงค์ของหลวงพ่อสนองจะเดินไปตลอด ไม่ยอมขึ้นรถ เมื่อพบคนไม่มีรองเท้าก็ถอดให้ ตัวท่านเองจะเดินเท้าเปล่า ปี ๒๕๑๑ วัดร้างวัดแรกที่ท่านมาชมโดยมิได้ตั้งใจคือวัดสังฆทาน มีเพียงองค์หลวงพ่อโตและฐานอิฐเก่าๆ สถานที่สงบร่มรื่น เหมาะกับการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อสนองพิจารณาแล้วคิดสร้างวัดสังฆทานให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักธุดงคกรรมฐาน เพราะที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้แหล่งรวมของผู้มีปัญญาและกำลังซึ่งจะเป็นกำลังของศาสนาได้ดี แต่ขณะนั้นตัวท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้นำที่นี่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น การจะเข้ามาทำอะไรนั้นทำได้ยาก จะต้องให้เขาเห็นดี ให้เขาเข้าใจ เพราะเป็นการเผยแผ่ธรรมะให้กับผู้มีปัญญา ท่านจึงธุดงค์กลับไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพุข่อย จ.สุพรรณบุรี แต่มีเหตุให้ต้นไม้ล้มขวาง เส้นทางลบหายไปหมด ท่านจึงเดินย้อนมาอีกทาง ก็มาพบเขาถ้ำหมี จึงเปลี่ยนใจปฏิบัติธรรมที่เขาถ้ำหมี ฝึกกสิณดินและกสิณไฟ ได้ดวงกสิณดินที่ถ้ำหมีนั่นเอง
พรรษาที่ ๗-๙ พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๕ ถ้ำกะเปาะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร หลวงพ่อสนองเดินทางมาที่ถ้ำกะเปาะ พิจารณาแล้วว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการฝึกปฏิบัติของพระมาก แต่มีไข้มาลาเรียชุกชุม ที่นี่หลวงพ่อได้มาฝึกกสิณน้ำ กสิณลม ส่วนกสิณไฟได้มาฝึกต่ออีกครั้งจนเกิดดวงกสิณ การเผยแผ่ในช่วงนี้จะมีเพียงเล็กน้อย มีโยมมาฝึกสมาธิบ้าง ที่ถ้ำกะเปาะมีเหตุการณ์ที่สนุกประทับใจหลายเรื่อง มีพระที่ตามไปปฏิบัติธรรมกับท่านคือหลวงพ่อประทีป สมฺปุณฺโณ ต่อมาหลวงพ่อได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดต้นตาลโตน จ. เชียงใหม่ มรณภาพเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๑๖ สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี หลวงพ่อสนองเดินทางกลับมาที่ถ้ำหมีอีกครั้งเพื่อมาโปรดญาติโยมและสร้างโรงเรียน มีญาติโยมศรัทธามาปฏิบัติเป็นประจำ ในวันหนึ่งท่านปีนขึ้นไปบนยอดเขาและได้ก้าวพลาดตกลงมา หลังกระแทกกับหินทำให้กระดูกที่หลังแตก จากนั้นเป็นต้นมาท่านจะปวดหลังตลอดเวลา ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ปวดจนเป็นปกติ เวลานั่งสอนสมาธิก็จะเจ็บปวด ขาทั้งสองจะชามาก ท่านไม่ได้ให้หมอรักษา แต่ใช้ความอดทนข่มความเจ็บปวดเนื่องจากไม่ต้องการให้ใครทราบและเป็นห่วง โดยเฉพาะโยมแม่ซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดสังฆทาน แต่หลังจากโยมแม่ถึงแก่กรรม (ปี พ.ศ. ๒๕๓๒) ท่านจึงได้เล่าให้ญาติโยมฟังและไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช พรรษาที่ ๑๑-๒๔ พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๓๐ วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี หลังจากที่ฝึกกสิณดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเวลา ๖ ปี หลวงพ่อสนองจึงเดินทางกลับมาวัดสังฆทานอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ หลังจากนั้นก็มีพระเณรตามมาแต่ก็หนีกลับ เพราะบิณฑบาตแล้วไม่พอฉัน ท่านใช้การเผยแผ่ด้วยความสงบ ด้วยการปฏิบัติ ท่านเล่าว่ามีนิมิตเกิดขึ้นคือ หมีเดินเข้ามาหา ต่อมาหมีก็กลายเป็นหมู จากหมูก็กลายเป็นเณรมานั่งตักท่าน นโยบายของหลวงพ่อเริ่มต้นด้วยการสร้างบุคลากรโดยมุ่งฝึกพระที่มาบวช พระที่จะออกมาทำงานให้กับสังคมต้องเก็บตัวก่อน จนกว่าจะมีธรรมะและสามารถนำธรรมะมาใช้ได้ จึงจะให้ออกมาทำงาน ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธ-อเนกประสงค์ วัดสังฆทานขึ้นเพื่อช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา และจะช่วยหมู่คณะได้ดีขึ้น มูลนิธิฯ จะเป็นตัวแทนของท่านในอนาคต พรรษาที่ ๒๕ พ.ศ. ๒๕๓๑ วัดสังฆทาน เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ หลวงพ่อสนองได้เดินทางไปจำพรรษา ณ วัดสังฆทาน เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ โดยมีพระสุรชัย อภิชโย (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อพยายามฝึกฝนเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะใช้สอนสมาธิ อธิบายธรรมะให้กับชาวต่างชาติ เพราะต่อไปเมืองไทยจะมีชาวต่างชาติมาศึกษาสมาธิกันมาก และจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาพุทธให้กับชาวต่างชาติ ที่อังกฤษมีญาติโยมคนไทยมาฝึกสมาธิและทำบุญประมาณ ๕๐๐ ครอบครัว พรรษาที่ ๒๖-๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๐ วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี หลวงพ่อสนองกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี หลังจากที่ได้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักธุดงค-กรรมฐานที่ประเทศอังกฤษแล้ว ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แม่ชีแม้น โพธิ์สุวรรณ (มารดาของหลวงพ่อสนอง) ถึงแก่กรรม ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่เอม อริยวํโส อายุ ๙๔ ปี พรรษา ๓๔ (บิดาของหลวงพ่อสนอง) มรณภาพเมื่อ วันที่ ๕ พ.ย. ปี ๒๕๔๐ หลวงพ่อสนองสร้างสำนักสงฆ์ที่เขายายแสง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พรรษาที่ ๓๕-๓๙ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๕ วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หลวงพ่อสนองได้เปลี่ยนชื่อสำนักสงฆ์เขายายแสงเป็น วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม ดำริให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพระภิกษุ พื้นที่รอบเขาปลูกเป็นป่ากฤษณา มีอุโบสถเป็นถ้ำ พื้นที่ติดต่อกับบ้านสว่างใจซึ่งเป็นสถานที่เข้าคอร์สสมาธิตามหลักสติปัฏฐานสี่สำหรับสาธุชนทั่วไปรวมทั้งชาวต่างชาติ เป็นสถานที่ที่มีอากาศที่หนาวเย็นสบาย พื้นที่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของหลวงพ่อสนองดำเนินไปในนามของมูลนิธิพุทธอเนกประสงค์ วัดสังฆทาน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมวลมนุษย์ด้วยความเมตตา ******************************************************************** หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี ได้ละสังขารด้วยโรคหัวใจ และโรคไตวายเรื้อรัง เมื่อ คืนวันที่ 24 สิงหาคม 2555 เวลา 21.39 น. ที่ศูนย์ปฎิบัติธรรมกตปุญโญ ต.ปากน้ำ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี 19.00 น. มีพิธีสวดพระอภิธรรมทุกวัน เบื้องแรกมีกำหนด 100 วัน ณ.ศาลาเรือนไทย ชั้น 2 วัดสังฆทาน ( เริ่มคืนวันที่ 25 ส.ค.2555 )
|