Home หลวงพ่อพุธ การปฏิบัติธรรมสำหรับคฤหัสถ์
ชีวิต...ลิขิตธรรม PDF Print E-mail
Monday, 01 November 2010 11:06

ชีวิต...ลิขิตธรรม
เกร็ดประวัติชีวิต จากคำบอกเล่าของ
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

 

 จากเด็กชายพุธ...สู่พระราชสังวรญาณ
เป็นตำนานที่น่าศึกษา
ชีวิต ลิขิตธรรม ดำเนินมา
คือคุณค่า คือรอยธรรม คือความดี
จากดิน...ไปสู่ดาว

ไม่ลืมเรื่องราว ลืมกำเนิด ลืมถิ่นที่
กตัญญูกตเวที
บุญคุณมี แทนทด หมดหัวใจ
ทุกข์ยาก อย่างไร ไม่ลดละ

มุมานะ หาญกล้า ฟันฝ่าได้
มุ่งมั่น เอาจริง ทุกสิ่งไป
ปณิธานใด ตั้งไว้ ต้องได้เป็น
เป็นสมณะ...สุปฏิบัติ

เคร่งครัด ธรรมวินัย โลกได้เห็น
เป็นแบบอย่าง กรรมฐาน ทางร่มเย็น
มุ่งเน้น สัจจะ อมตธรรม
ปฏิบัติ ลัดตรง ลงมรรคผล

ตนพึ่งตน สายกลาง หนทางข้าม
กิริยา วาจา มารยาทงาม
ดำเนินตาม รอยพ่อแม่ ครูอาจารย์
เสียสละ ละวาง สร้างประโยชน์
จิตปราโมทย์ ด้วยเมตตา พรหมวิหาร
ชีวิตหนึ่ง เช่นนี้ อีกกี่นาน
จึงจะพาน พบได้ ในแผ่นดิน

 

 


จากดิน...ไปสู่ดาว
ไม่ลืมเรื่องราว ลืมกำเนิด ลืมถิ่นที่

           เมื่อมีคนมาถามถึงสกุลรุนชาติ หลวงพ่อจะบอกเสมอว่า หลวงพ่อเป็นเด็กขอทานกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ อาจเคยทำกรรมพรากชีวิตสัตว์ไว้ จึงต้องเป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก

          ไอ้เรื่องรถยนต์รถเก๋งนี่ใจมันทะนงตั้งแต่เป็นเด็ก รถเก๋งคันไหนผ่านมา..กูจะขี่มันให้ได้ จนกระทั่งให้เขาซื้อเด็กขี่ควายตั้งไว้ดู หลวงพ่อให้คนไปซื้อรูปปั้นเด็กขี่ควายมาไว้ในกุฏิที่วัดป่าสาลวัน ดู...กลัวมันจะลืมความหลัง เอาไว้กระตุ้นเตือนใจ กลัวมันจะลืมความหลัง
 

 


กตัญญูกตเวที
บุญคุณมี แทนทด หมดหัวใจ


          หลวงพ่อเป็นเด็กกำพร้ามาตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ หลักวิธีดำเนินชีวิตของหลวงพ่อ ความกตัญญูลูกเดียว ใครเป็นเจ้าบุญนายคุณ เขาทำดีแก่เราเพียงส่วนเดียว เราจะตอบแทน ๑๐ เท่า


          ถึงหลวงพ่อจะเป็นเด็กกำพร้า แต่พระคุณของบิดามารดาผู้ให้เกิดก็ประมาณค่ามิได้ หลวงพ่อคิดว่า พระคุณของบิดามารดาและ คุณของท่านผู้มีคุณทั้งหลายสำคัญที่สุด...


          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มาตาปิตุอุปฏฐานํ การอุปัฏฐากบิดามารดาเป็นมงคลอันสูงสุด เพราะบิดามารดาเป็นพระพรหมของลูก บิดามารดาเป็นพระอรหันต์ของลูก บิดามารดาเป็นเนื้อนาบุญของลูก เพราะฉะนั้น ชาวพุทธเรานี่ควรจะได้รู้จักพระสององค์นี้ก่อน

 


          ให้ถือคติเสียว่า เรามีมือสองข้าง วันหนึ่ง ๆ ก่อนที่จะยกขึ้นไหว้ใคร ต้องยกขึ้นไหว้พ่อแม่เราก่อน ถ้ามีของอุปโภคบริโภคต้องยกประเคนให้พ่อแม่ เราก่อน ก่อนที่จะเอาไปให้คนอื่นหรือถวายพระก็ตาม ต้องมีส่วนแบ่งให้พ่อให้แม่ เราไหว้พ่อไหว้แม่ไม่ได้ อย่าไปไหว้พระ ถ้าพ่อแม่ของเรายังไม่อิ่ม อย่า ไปเที่ยวหาเลี้ยงพระให้อิ่ม ของดี ๆ ขนไปให้พระกินหมด ให้พ่อแม่อดอยาก นี่ตกนรกกันหมด


          ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร มีบุญคุณต่อหลวงพ่อมาก "ไม่มีท่านก็ไม่มีเราในวันนี้" เริ่มต้นมาจากท่านแนะนำสั่งสอนให้อุบายสำหรับภาวนา ให้แง่คิดต่าง ๆ สอนเราทุกด้านทุกทาง บุญคุณของท่านเราจำไม่ลืม แม้ตอนที่ท่านสึกปี ๒๕๐๘ นั้นก็ไปดูแลท่านตลอดกลัวท่านจะลำบาก เวลาท่านป่วยก็นำท่านมารักษานำ มาอยู่ด้วยที่วัดป่าสาลวันจนกระทั่งตาย พิธีศพก็จัดให้เรียบร้อยอย่างดีทุกอย่าง คำสอนของท่านเรายังจำได้ไม่ลืมทั้งตอนที่ออกธุดงค์กับท่านทั้งตอนที่มาอยู่ กับท่านที่วัดเขาสวนกวาง


          หลวงปู่ดี ฉนฺโน ท่านพูดถึงหลวงพ่อไว้ว่า "ไม่ทราบว่าเราจะไปตายที่ไหน ลูกศิษย์คนไหนก็ไม่พอที่จะพึ่งพาอาศัยได้ ก็มองเห็นแต่ลูกศิษย์เอกของเรา(พระมหาพุธ) ที่วัดแสนสำราญนี่แหละ พอจะพึ่งพาอาศัยได้" เราได้ยินแล้วเราก็งง

 

          บั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อดี ฉนฺโน ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อ พอท่านป่วยหลวงพ่อก็นำมาดูแลรักษาที่วัดป่าแสนสำราญ จนกระทั่งแข็งแรงเดินได้


          ...พอประมาณ ตี ๔ เกือบ ตี ๕ ได้ยินเสียงขากเสลดผิดปกติ หลวงพ่อก็รีบไป พอไปท่านมองซ้ายมองขวา หลวงพ่อไปประคองร่างท่าน "ท่านอาจารย์ครับ ท่านเคยสอนผมว่าเบญจขันธ์เป็นของโลก ปล่อยวางเบญจขันธ์เสีย กำหนดจิตรู้ที่ผู้รู้" ท่านก็นิ่งเงียบไป ประมาณสัก ๕ นาที ท่านก็ใจขาด


          อาจารย์ทอง อโสโก เป็นอาจารย์ผู้ทำกิจพระศาสนา ทำกิจธุระฟื้นฟูหมู่คณะ เป็นมือขวาของท่านอาจารย์เสาร์ เหมือนกันภายหลังมาท่านป่วยอาพาธลงไป ญาติโยมก็นำมาที่วัดป่าบ้านสวนวัว


          ในขณะที่ท่านมาถึง พระธุดงคกรรมฐานเฝ้าวัดอยู่ ๗-๘ องค์ สะพายบาตรแบกกลดหนีไปหมด ทิ้งพระอาจารย์ทองซึ่งอาพาธเป็นโรคอัมพาต ให้นอนแอ้งแม้งอยู่ในวัดเพียงองค์เดียว ในที่สุดต้อง เดือดร้อนถึงเจ้าคุณชินวงศาจารย์ (หลวงพ่อพูดถึงตัวท่านเอง) ในพรรษานั้นจำสัตตาหะไปปรนนิบัติตลอดพรรษา ในพรรษานี้ ๙๐ วันมีเวลาได้นอนวัดเพียง ๑๒ วัน เท่านั้นเอง นอกจากนั้นไปจำพรรษาที่อื่น จนกระทั่งท่านอาจารย์องค์นี้ถึงแก่มรณภาพลง ไปจัดการศพเสร็จจึงได้หมดภาระ

          หน้าที่ประจำของพระสงฆ์ เวลาสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือแผ่เมตตาให้ญาติโยม อุทิศส่วนกุศลให้ญาติโยม อันนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เราประพฤติคุณงามความดีแล้ว เราก็คิดถึงคุณข้าวแดงแกงร้อนเขา

 

  


ทุกข์ยาก อย่างไร ไม่ลดละ
มุมานะ หาญกล้า ฟันฝ่าได้

 

          วันหนึ่งหลวงพ่อได้อ่านหนังสือ ผู้ชนะสิบทิศ ก็ได้ความคิดว่า "คนเรามีมานะในทางที่ถูกต้อง มันต้องเอาชนะได้ทุกอย่าง" 

 

          สมัยเด็กนอกจากทำนาแล้ว ก็ต้องซ้อมข้าวสารหาบไปขาย หาเงินเรียนหนังสือ ตอนเป็นนักเรียนไม่เคยได้ใส่เสื้อผ้าที่เขาตัดขาย มีแต่เสื้อผ้าที่เย็บเอาเอง เย็บด้วยมือ นุ่งกางเกงขาก๊วย บางทีก็แปลงมาเป็นโสร่งแบบโสร่งปาเต๊ะผู้หญิง เย็บเสื้อผ้าใส่เองตั้งแต่เด็ก ทำงานช่วยตัวเองมาตั้งแต่ ๗-๘ ขวบจนถึง ๑๔ ขวบ

          ชีวิตเด็กบ้านนอกมันต้องต่อสู้มาก วัน ๆ ทำแต่งาน ไม่มีเวลาไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป ขี้เกียจขี้คร้านเขาดูถูกเหยียดหยาม กลางวันฤดูฝนต้องทำนา กลางคืนหาปูหาปลาหากบหาเขียด นอนตื่นดึกลุกเช้า ลุกขึ้นมาตำข้าว ครกสมัยนั้นเป็นครกกระเดื่องใช้เท้าเหยียบขึ้นเหยียบลง ตื่นขึ้นมาตำข้าวเกือบจะทุกวัน จนชาวบ้านเขา พูดกันว่า "เสียงครกไอ้พุธมันตำข้าวอีกแล้ว พวกสูได้ยินไหม ถ้าได้ยินก็พากันตื่นได้แล้ว"

 

          เริ่มรู้สึกสำนึกตัวตั้งแต่รู้เดียงสาว่า ชีวิตมันทุกข์ทรมาน มันเคียดแค้นความจน ความไร้พ่อแม่ จึงตั้งปณิธานว่า "ขึ้นชื่อว่าทายาทจะไม่ให้มี" ชีวิตหลวงพ่อว่าไปแล้วมันน่าสงสาร ถ้าลูกหลานมีมานะที่จะสร้างตัวเองเหมือนหลวงพ่อ มันต้องเอาตัวรอดได้ทุกราย

 


          ชีวิตของเรามันดำเนินมาตามประสาของเด็กบ้านนอกซึ่งไม่มีใครสนับสนุน กระเสือกกระสนมาด้วยลำแข้ง สมัยเป็นเด็กกำพร้าอนาถาอยู่กลางบ้าน จะขึ้นบ้านใครเขาก็ปิดประตู บางทีญาติผู้ใหญ่เห็นเราก็ดุฟู่ฟ่าๆ เวลามันเกิดท้อถอยมาก็นึกถึงคำดูถูกดูหมิ่นของเพื่อนบ้านมากระตุ้นเตือน เราจะมาทำลายตัวเองเพราะคนอื่นเขาดูถูกดูหมิ่นได้อย่างไร เราต้องเหนือกว่าเขา แล้วลงผลสุดท้ายมันก็มาเป็นอย่างนี้ มันก็เหนือกว่าเขาจริง ๆ กระโดดลงจากหลังควายมา มานั่งรถ... แล้วไปไหนมาไหนมีแต่คนยกมือไหว้ ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ


          หลวงพ่อเอาสิ่งที่คนอื่นเขาลบหลู่ดูหมิ่นมาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจให้เกิดทะเยอทะยาน สอนตัวเองให้เป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูงในทางที่ดี ยิ่งมีใครมาดูถูกเหยียดหยามเท่าไร ยิ่งต้องกระตือรือร้นเอาชนะจิตใจเขาให้ได้

 

 

มุ่งมั่น เอาจริง ทุกสิ่งไป
ปณิธานใด ตั้งไว้ ต้องได้เป็น


          ที่หลวงพ่อบวชนี้เพราะหลวงพ่อคิดว่ามีความทุกข์ โลกนี้มีแต่ความทุกข์ จึงแสวงหาทางพ้นทุกข์
ก่อนจะได้บวชเณรมันก็คิดขึ้นมาเอง คิดตามประสาเด็ก ๆ แต่ก็มีหลักธรรมอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว จิตมันก็คิดขึ้นมาว่า "เออ! นี่เราเกิดมาคนเดียว ในท้องพ่อท้องแม่ของเรานี้มีเราคนเดียว พี่น้องก็ไม่มี ถ้าเราอยู่เป็นฆราวาส ถ้าเรามีลูกมีเต้า ถ้าพ่อมันก็ตาย แม่มันก็ตาย ใครหนอจะเอาลูกเรามาเลี้ยง อันนี้พ่อแม่เราตาย ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง อา ป้าลุง ของเราก็ยังมี เขายังอุตส่าห์เก็บเอาเรามาเลี้ยง แต่นี่เราตัวคนเดียว ใครจะมารับผิดชอบลูกเต้าของเรา"   ตั้งแต่บัดนั้นมา เราก็ตั้งปณิธานว่า "เราจะบวชตลอดชีวิต"

 

          พอวันไปบวช เครื่องแต่งตัวชุดที่ใส่ไปบวช พอผลัดเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวออก พับ ๆ แล้ว ยื่นให้ลูกศิษย์พระอุปัชฌาย์ แล้วบอกกับเขาว่า "นี่เพื่อน เอาเสื้อกางเกงชุดนี้ไปใส่แทนเราด้วย เราจะไม่ย้อนกลับมาใส่มันอีกแล้วชั่วชีวิตนี้"

 

          เจ้าคุณอริยคุณาธารมาเยี่ยมบ้านชวนไปด้วย พาไปวัดบูรพาฯ จ.อุบลฯ ตอนเดินทางกลับสกลฯ ฝากหลวงพ่อไว้กับ พระอาจารย์พร สุมโน พระอาจารย์บุญ ชินวํโส หลวงพ่อคิดถึงบ้าน คิดถึงครูบาอาจารย์จนร้องไห้ ไอ้ศักดิ์ เด็กอายุ ๘ ขวบ ไปเห็นเข้า ไปเล่าให้ท่านอาจารย์ฟัง ท่านเรียกไปพบ ถามว่า "จะกลับด้วยกันไหม" ตอบว่า "ผมอยากกลับ แต่ไม่กลับ คิดถึงบ้านแทบขาดใจ แต่ไม่กลับจะไปตายดาบหน้า พ่อผมออกจากบ้านตั้งแต่อายุ ๑๕-๑๖ ปี ไปได้ลูกเมียที่อำเภอหนองโดน จ.สระบุรี ผมคิดว่าจะเจริญรอยตามพ่อ ถ้าผมไม่ได้ดิบได้ดีจะไม่กลับบ้าน เป็นเณรถ้าสอบมหา ๓ ประโยคไม่ได้ จะไม่กลับบ้าน"

 

          หลวงพ่อบวชมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี แหม... ถึงเวลามันอยากสึกมานอนร้องไห้ เอ้า... อะไรที่มันอยากเราจะไม่กินมัน แม้แต่ของตกลงในบาตร ถ้ามองดูแล้วมันชอบ น้ำลายไหล หยิบออก อะไรที่มันไม่ชอบที่สุดเอาอันนั้นแหละมาฉัน เราไม่กินเพื่ออร่อย เรากินเพื่อคุณค่าทางอาหาร เราจะเอาสิ่งนั้น แม้ว่าเราจะไม่ชอบก็ตาม ทีนี้คนที่เรารักเราชอบเราจะ ไม่เข้าใกล้ เราจะเข้าใกล้คนที่เกลียดขี้หน้าเราที่สุด ถ้าใครด่า ครูบาอาจารย์องค์ไหนด่ามาก ๆ เราเข้าหาองค์นั้น องค์ไหนยกย่องสรรเสริญเราไม่เข้าใกล้ จนครูบาอาจารย์บางองค์ว่า...พระองค์นี้ มันจองหอง เราอุตส่าห์เมตตาสงสารมัน มันไม่เข้าใกล้เรา มันเข้าไปหาแต่คนที่ด่ามันเก่ง ๆ

 


          อาหลวงพ่อนี่ยังเป็นห่วงเลย ตอนที่เป็นพระยังหนุ่ม ๆ อยู่ เมื่อสึกมานี้จะทำอย่างไร จะมีอะไร อย่างไร เป็นห่วง "อย่ามาเป็นห่วงเลย คน ๆ นี้เป็นอะไรชั่วชีวิตหนึ่ง เป็นอะไรนี่ เป็นเพียงครั้งเดียว จะไม่ยอมเป็นซ้ำถึงครั้งที่สอง"

  


เป็นสมณะ...สุปฏิบัติ
เคร่งครัด ธรรมวินัย โลกได้เห็น
เป็นแบบอย่าง กรรมฐาน ทางร่มเย็น
มุ่งเน้น สัจจะ อมตธรรม

          สมัยก่อนอยู่กับครูบาอาจารย์ ข้อวัตรปฏิบัตินี่เคร่งครัด แต่มาสมัยปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนนี้เราอยู่ในวัด เรายึดอยู่ในกฎกติกาของวัดเท่านั้น รองจากวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ให้ปฏิบัติตามจารีตประเพณี วัฒนธรรมนอกวัดนี้เราจะไม่เอามาขัดแย้งกับมติของครูบาอาจารย์ สมัยนั้นครูบาอาจารย์พูดแล้ว พูดคำไหนเป็น คำนั้น ไปฝ่าฝืนไม่ได้ มาในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าสมมุติว่าวัดเราควรจะเป็นอย่างนี้ ๆ จะไปทำอย่างนั้น ๆ ไม่ได้ เขาจะบอกว่าวัดอื่นเขายังทำได้

          ถ้าพระภิกษุที่เคารพพระธรรมวินัยอย่างแท้จริงเขาไม่ทะนงตัวหรอก แม้แต่ครูบาอาจารย์มานั่งอยู่ต่อหน้า…อย่างหลวงพ่อนั่งพูดอยู่นี่ ครูบาอาจารย์อาวุโสมาปั๊บหลวงพ่อจะหยุดพูดทันที


          ธรรมเนียมพระกรรมฐาน...ถ้าหากว่ามีพระอาวุโสอยู่ ท่านจะไม่แสดงธรรม หรือเวลาท่านแสดงอยู่ ถ้าหากพระอาวุโสเข้าไปนั่งด้วย ท่านจะหยุดทันที ท่านถือธรรมเนียมไก่ป่า ไก่ป่านี่อยู่ในป่ามีไก่ตัวผู้ตั้งร้อยตัวพันตัว มันจะขันเพียงตัวเดียวเท่านั้น ทีนี้ท่านถือคติว่าถ้าหากว่าพระธุดงคกรรมฐานต่างคนต่างเทศน์ต่างคนต่างขัน มันก็ไม่ดีกว่าไก่ป่า


          ศีลเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติ เพราะกายวาจาของคนเราเปรียบเหมือนเปลือกสำหรับหุ้มไข่ ส่วนจิตใจเปรียบเหมือนไข่แดงซึ่งซ่อนอยู่ภายในเปลือกไข่ เราจะนำไข่ของเราไปฟักให้มันเกิดเป็นตัวเราต้องทนุถนอมเปลือกไข่ให้อยู่ในสภาพปกติ ไม่มีรอยแตกรอยร้าวรอยบุบ มันจึงฟักให้เป็นตัวได้ ไม่เช่นนั้นมันมีแต่เน่าท่าเดียว ดังนั้นนักปฏิบัติที่ทำจิตทำใจของตนเองให้ก้าวขึ้นไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมขั้นสูง เราจำเป็นต้องรักษากาย วาจา อันเปรียบเหมือนเปลือกหุ้มไข่ให้บริสุทธิ์สะอาดด้วยกฎหรือระเบียบข้อปฏิบัติตามภูมินั้น ๆ ซึ่งเรียกว่าศีลนั่นเอง เมื่อเรามาบำเพ็ญสมาธิภาวนา สมาธิของเราก็เจริญงอกงาม สมาธิที่เกิดขึ้นก็เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิย่อมทำให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้อง ดังนั้น การปฏิบัติศีลจึงเป็นคุณภาพประกันความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติ

 


          แม้พระเจ้าพระสงฆ์เดินธุดงค์ไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ เมื่อเวลาไม่มีไวยาวัจกร ไปจับต้องปัจจัย จตุปัจจัย เงินทอง หรือเอาเงินเอาทองใส่ลงไปในย่ามแล้วสะพายไปเอง ก็เป็นการละเมิดสิกขาบทวินัยว่าด้วยข้อห้ามจับต้องเงินและทอง ทีนี้เมื่อมีปัจจัยอยู่ในย่ามก็ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ในเมื่อพระคุณเจ้าท่านละเมิดสิกขาบทวินัย แม้จะเดินธุดงค์ไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพราะอาศัยสิกขาบทวินัยไม่บริสุทธิ์สะอาดนั่นเอง การเดินธุดงคกรรมฐานของท่านจึงเปรียบเหมือน กรรมฐานไข่เน่า แม้จะเที่ยวเตร่ไปประกาศตนว่าเป็นพระธุดงคกรรมฐาน ก็เป็นแค่หลอกลวงชาวโลกให้หลงเชื่อ

 


          อยากจะให้ชาวบ้านทั้งหลายนี่รู้วินัยของพระให้มาก ๆ เขาเอาของมาประเคน เครื่องถังอะไรมาประเคน หลวงพ่อไม่รับประเคน อื้อ..หลวงพ่อวัดป่านี่เอาอะไรไปประเคนก็ไม่ยอมรับด้วยมือ เขาว่า ไม่รู้รังเกียจอะไร บางคนนี่ แหม..ถ้าหากไม่คิดว่าจะไปถวายแล้วจะหอบคืนกลับบ้านเลยแหละ เขาว่างั้น เพราะเขาไม่รู้เรื่อง พระก็ไม่บอกให้เขารู้ พระภิกษุรับประเคนอาหารค้างคืนไว้ตื่นเช้ามาต้องอาบัติปาจิตตีย์ ไม่มีใครบอก ถ้าขืนไปบอกประเดี๋ยวเขาจะไม่ประเคน เขาเอาซองเงินมาจะยื่นใส่มือ จะบอกว่ารับไม่ได้หรอกมันผิดอาบัติก็กลัวเขาจะไม่ประเคน ก็เลยไม่กล้าบอกเขา นี่เราถูกปิดบังมาสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทย

  


ปฏิบัติ ลัดตรง ลงมรรคผล
ตนพึ่งตน สายกลาง หนทางข้าม

          สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผล หรือให้เป็นแนวทางที่จะนำสมาธิไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรม เราต้องอาศัยศีล สมาธิที่มีศีลเท่านั้นที่จะนำวิถีจิตของผู้บำเพ็ญให้ดำเนินไปสู่สัมมาสมาธิโดยถูกต้อง


          จุดเริ่มแห่งการทำความดีย่อมมีกฎหรือระเบียบอันเป็นข้อมูลกายวาจา และใจของเราที่จะรองรับคุณธรรมหรือความดีนั้น เราก็ต้องชำระให้บริสุทธิ์สะอาดตามสมควร ศีล ๕ ประการนี้ เป็นแม่บทเป็นรากมูลเป็นจุดเริ่มต้น เป็นต้นพรหมจรรย์ของผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา


          สมาธิมีขั้นเดียว คือสมาธิ มันก้าวไประดับไหนก็คือสมาธิอันเดียว อย่าไปนับขั้นนับตอน ขอให้มันเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วเราละบาปได้หรือเปล่า ศีล ๕ ของเราบริสุทธิ์หรือเปล่า เอากันที่ตรงนี้เป็นเครื่องตัดสิน เรื่องของสมาธิใครจะไปถึงขั้นใดตอนใด ถ้าจิตไม่บริสุทธิ์ไม่มีทาง


          ให้ถือคติว่า สมาธิหรือการปฏิบัติธรรมอันใด ถ้าหากมันเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส เป็นไปเพื่อการกระทำอะไรแปลก ๆ ต่าง ๆ เช่น อย่างการเป็นหมอดูด้วยสมาธิเป็นต้น พึงเข้าใจเถิดว่า มันเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งออกนอกหลักพระพุทธศาสนา


          สมาธิในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นสัมมาสมาธิ ที่ประกอบพร้อมด้วยองค์อริยมรรค ผู้ปฏิบัติเมื่อจิตประชุมพร้อมลงสู่องค์อริยมรรคแล้ว จิตจะดำเนินไปเพื่อความหมดกิเลสเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อความพอกพูนกิเลส
สรณะที่แน่นอนที่สุดก็คือ ฝึกจิตของเราให้มีอำนาจเป็นอิสระแก่ตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร


 

กิริยา วาจา มารยาทงาม
ดำเนินตาม รอยพ่อแม่ ครูอาจารย์

          การกราบพระเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ของเรานี้ถือเคร่งครัดนัก ท่านจะต้องฝึกสอนให้กราบให้ไหว้ให้ถูกต้องตามระเบียบเบญจางคประดิษฐ์ โดยเอาหัวเข่ากับข้อศอกต่อกัน วางมือลงราบกับพื้นนิ้วมือไม่ถ่าง เว้นระยะห่างพอหน้าผากลงได้ ระหว่างคิ้วกับหัวแม่มือจรดกัน ทำหลังให้ตรง ไม่ทำโก้งโค้ง แสดงกิริยามารยาทอันเรียบร้อยงดงาม อันนี้เป็นวิธีกราบของครูบาอาจารย์ของเราถือนัก


          มาสมัยปัจจุบันนี้เท่าที่ชำเลืองดูแล้ว การกราบการไหว้นี้ ห่างไกลจากครูบาอาจารย์เหลือเกิน

 

เสียสละ ละวาง สร้างประโยชน์

          เมื่อก่อนนี้หลวงพ่อนี่มีแต่นั่งกินบุญของคนอื่น อยากทำบุญอย่างเขาบ้างก็ไม่ได้ทำเพราะมันไม่เต็ม เวลานี้มันเต็มแล้ว ถึงไม่ใช่มหาเศรษฐีแต่มันก็เต็มแล้ว เต็มทั้งคุณธรรม เต็มทั้งวัตถุธรรม ในเมื่อมันเต็มแล้วมันก็ล้นออกมา ล้นออกมาเป็นทุนการศีกษาเด็กยากจนบ้าง เป็นโรงพยาบาลบ้าง เป็นโรงเรียนบ้างอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ถ้ามันพร้อมแล้วมันก็ทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผลประโยชน์ส่วนตัวก็ไปโรงพยาบาลบ้าง ไปโรงเรียนบ้าง โรงพยาบาลมหาราชนี้ก็ ๑๐ ล้านไปแล้วละ นี้เวลานี้ก็มาทำอนามัยอยู่ ๒ แห่งก็หมดไป ๕ - ๖ ล้านแล้ว


          ทุกวันนี้ เงินหลวงพ่อได้มา มันทะลักเข้าโรงพยาบาลหมด เพราะฉะนั้นเงินทองที่ได้มาก็อาจไม่ได้สงเคราะห์ลูกศิษย์ลูกหาเลย เพราะว่าหลวงพ่อมีความจำเป็นต้องเอาไปบำเพ็ญกุศล เพราะว่าเอาไปทำโรงพยาบาลนี้ทุกคนได้รับส่วนแบ่ง ใครไปใช้บริการโรงพยาบาลทุกคนได้รับส่วนแบ่ง


          หลวงพ่อมีความคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีพระองค์ใดที่เป็นเจ้าคณะจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง หลวงพ่อจะหาทุนมาให้ตั้งมูลนิธิคณะสงฆ์จังหวัด หลวงพ่อตั้งให้โคราชแล้ว ๕ ล้าน ให้มหานิกาย ๓ ล้าน และให้ธรรมยุต ๒ ล้าน ท่านก็ได้อาศัยดอกผลจากทุนของหลวงพ่อทำงาน

 

จิตปราโมทย์ ด้วยเมตตา พรหมวิหาร

          ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารตอนอยู่กับท่าน ท่านสอนให้เจริญพรหมวิหาร ๔ การภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางวิมุตติหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้นั้น เราต้องเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการด้วยเสียก่อน

 

          เพราะการเจริญพรหมวิหารธรรมนี้ เป็นกรรมฐานที่สำคัญสามารถเลี้ยงทั้งศีล เลี้ยงทั้งสมาธิ เลี้ยงทั้งปัญญา อารมณ์จิตก็สบายมีความเยือกเย็น เราจะเห็นได้ด้วยตนเองว่า เมตตาความรัก กรุณาความสงสาร สองอย่างนี้ ก็สามารถจะคุ้มศีลให้เกิดความบริบูรณ์ทุกอิริยาบถ เพราะศีลทุกข้อทุกคำ จะทรงอยู่ได้ต้องอาศัยเมตตาและกรุณาทั้งสองอย่าง


          เมตตา แปลว่า ความรัก กรุณา แปลว่า ความสงสาร ถ้าเรามีความรัก มีความสงสาร เราก็จะไปทำลายชีวิตคนและสัตว์ไม่ได้ ลักขโมยหรือปล้นของเขาก็ไม่ได้ จะยื้อแย่งความรักจากคนอื่นก็ไม่ได้ พูดโกหกหลอกลวงก็ไม่ได้ สุรายาดองอันเป็นของมึนเมาเราก็ล่วงละเมิดไม่ได้ เมื่อทุกอย่างพร้อมมูล เราก็จะไม่สามารถกระทำความชั่วโดยขาดสติสัมปชัญญะ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในตอนหนึ่ง


          ท่านเป็นพระเถระผู้เป็นบัณฑิต มีคุณต้องตามพุทธภาษิตที่ยกขึ้นเป็นบทอุทเทศ แปลความว่า บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลังจึงไม่มัวหมองตาม ประวัติของท่านนับแต่บรรพชาอุปสมบทแล้วจนปัจจุบัน ท่านปรากฏว่าเป็นผู้ไม่มัวหมองในศีล ในธรรม ในวินัย ความไม่มัวหมองในศีล ในธรรม ในวินัยนี้แหละ เป็นคุณลักษณะวิเศษที่แท้จริงของผู้มีชีวิตประเสริฐ คือชีวิตของพระในพระพุทธศาสนา คุณลักษณะพิเศษที่แท้จริงของพระผู้มีชีวิตประเสริฐ มิใช่อยู่ที่อิทธิฤทธิ์หรือลาภยศใดอื่น


          ...ธรรมะเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ ผู้ไม่มัวหมองในศีล ในธรรม ในวินัย ก็คือพรหมวิหารธรรม
          (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ตรัสสรรเสริญหลวงพ่อพุธ)


Last Updated on Friday, 05 November 2010 09:39
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner