Home หลวงพ่อพุธ สะอาดแต่ไม่บริสุทธิ์
ธรรมปฏิบัติเพื่อความสุขใจ PDF Print E-mail
Wednesday, 16 September 2009 08:33

  

ธรรมปฏิบัติเพื่อความสุขใจ

 

โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

                                                                                             แสดงธรรมที่กระทรวงศึกษาธิการ  

                                                                                                 วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๑  

 

          ณ   โอกาสนี้  จะบรรยายธรรมอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การฟังธรรม  เราฟังเพื่อให้เกิดความรู้   รู้แล้วเอาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ  ปฏิบัติเพื่อการทำกาย  วาจา  และใจให้สงบ  เพื่อสร้างจิตให้มีพลังงาน  สามารถที่จะปฏิวัติตัวไปสู่ความบริสุทธิ์สะอาดได้โดยอัตโนมัติ   

 

           ในขั้นต้น     เราได้ปฏิญาณตนถึงพระพุทธเจ้า   พระธรรม  พระสงฆ์    ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง  ที่ระลึก  ก็เพราะเหตุว่า  พระพุทธเจ้าเป็นบรมศาสดา  เป็นผู้สอนเรา  พระธรรมเป็นคำสอน  ได้แก่  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  พระสงฆ์เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคำสอน  ทั้งปริยัติปฏิบัติ  และปฏิเวธ   เราได้มาพบพระพุทธศาสนา  เกิดมาได้ฟังธรรม  บางท่านอาจเคยได้บวชเรียนเขียนอ่านในพระพุทธศาสนาโดยเป็นสามเณร  สามเณรี  แม่ขาว  นางชี  พระภิกษุสงฆ์  ก็เพราะอาศัยผลงานของพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้สืบศาสนามา  ในยุคนี้สมัยนี้ก็มีพระเถรานุเถระท่านที่จัดเจนในหลักปริยัติธรรม  ได้เรียน  ได้สอน  ฝึกอบรมกันมาในทางธรรม  ปฏิบัติสืบต่อเป็นมรดกตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน       


           เมื่อเราทั้งหลายได้มาพบธรรมะคำสอนที่พระสงฆ์ท่านสืบทอดมา  เราได้ยินได้ฟังธรรมะมาหลายสาย  หลายแขนง  และหลายรูปแบบ  บางทีเราอาจจะงงว่า  พระท่านมาเทศน์   ท่านก็เทศน์เป็นคุ้งเป็นแคว  ไม่ทราบจะจับเอาอะไรเป็นหลัก  บางทีคำพระท่านเทศน์ก็ขัดกันอยู่ในที  เลยทำให้มีความสงสัยว่าของใครผิดของใครถูก  ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่


           อาตมาบังเอิญได้ไปเที่ยวต่างประเทศ   กลับมาถึง  ๗ พฤษภาคมนี้    ไปสัมผัสกับสมาชิกพุทธสมาคมซึ่งเป็นชาวฝรั่งล้วนๆ  ประมาณ  ๒๐๐ คน  แต่ละคนจะถามปัญหากับอาตมาว่า  ทำอย่างไรหนอจึงจะเอาธรรมะอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุขทางใจได้อย่างแท้จริง  และเขายังพูดว่า เรื่องปริยัติไม่ต้องมาสอนก็ได้   เพราะเรียนมามากแล้ว  บางท่านค้นคว้าอ่านพระไตรปิฎกจบ  เรียนมาทางสายปรัชญา  จิตวิทยา  อันตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า  เขาจึงกล่าวว่าปริยัติธรรมศึกษามาบ้างพอสมควร  ถึงไม่รู้มาก  ก็พอจะรู้ว่าพุทธศาสนาคืออะไรและคำสอนของพระพุทธเจ้าคืออะไร  แต่พวกเขาสงสัยที่ว่าทำอย่างไรจึงจะนำเอาคำสอนนั้นๆ  มาปฏิบัติให้เกิดความสุขทางใจได้อย่างแท้จริง  ท่านพุทธบริษัทในเมืองไทยได้ฟังธรรมะที่พระท่านได้แสดงแล้วเคยคิดบ้างไหมว่าเราจะเอาธรรมะมาปฏิบัติให้เกิดสุขทางใจได้อย่างไร  นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องช่วยกันคิด

 

            หลักการประพฤติปฏิบัติ  อาตมามาเทศน์คราวก่อน และ ๒-๓ ครั้งติดกัน  เทศน์แต่เรื่องศีล  ถ้าผู้ใดต้องการจะละความชั่วอย่างแท้จริง  ต้องถือหลักศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ  เจตนางดเว้นบาป  ความชั่ว  ตามกฎของศีล ๕ สิ่งที่เราจะละเอาได้ด้วยความตั้งใจ  มีแต่ศีล ๕ เท่านั้น  ถ้าใครข้องใจว่าทำอย่างไรจึงจะละความชั่วเพื่อปฏิบัติความดีให้เกิดขึ้นมาได้  ก็ให้ยึดหลักศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ  ถ้าเราปฏิบัติตามศีล ๕ ไม่ได้  ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ช่วยเราไม่ได้  แม้ว่าเราจะเก่งทางความรู้  เก่งทางปฏิบัติให้เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ก็ตาม  แต่ถ้าศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างแท้จริง  เรายังช่วยตัวเองให้พ้นจากนรกไม่ได้

 


            คนที่เก่งสมาธิที่สุดนั้น   สมัยพุทธกาลก็มี  อย่างเช่น  ท่านเทวทัตบำเพ็ญสมาธิภาวนา  ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์  เหาะเหินเดินอากาศได้  สามารถอธิฐานจิตเอาแผ่นดินไปติดไว้ใต้ฝ่าเท้า  เหาะไปขู่พระเจ้าอชาตศัตรูยอมจำนนมอบตนเป็นลูกศิษย์ เพื่อจะได้กำลังสนับสนุนปฏิวัติพลิกแผ่นดินพลิกศาสนา  ทำลายพระพุทธเจ้า  ให้พระพุทธเจ้าสิ้นชีวิต  แล้วจะได้สถาปนาตัวเองเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง  ที่ท่านเทวทัตทำได้อย่างนั้นเพราะไม่มีศีล ๕ ศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี  จึงสามารถทำบาปทำกรรมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง  แม้แต่พระศาสดาท่านทรงสอนให้พระเทวทัตเป็นผู้ได้อิทธิฤทธิ์ในทางปฎิบัติ      แต่เพราะศีล ๕ ไม่มี  จึงคิดทรยศต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ถ้าหากเทวทัตมีศีล ๕ คงทำอย่างนั้นไม่ได้  เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ  เราจะเอาตัวรอดพ้นจากอบายได้ต้องอาศัยศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัย   ดังนั้น  อาตมาเทศน์ที่ไหน  ก็ย้ำอยู่ที่ศีล ๕ เพราะเป็นกฎเกณฑ์ที่จะละความชั่วได้โดยเจตนา

 

           บางท่านข้องใจต่อไปว่า  ลำพังคฤหัสถ์ที่รักษาแต่ศีล ๕ จะปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือไม่  ในครั้งพุทธกาลก็มีปรากฏอยู่หลายท่าน  ท่านวิสาขามหาอุบาสิกาก็รักษาศีล ๕    อนาถบิณฑกะเศรษฐีและภรรยาก็รักษาศีล ๕     สมเด็จพระราชบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะก่อนที่จะฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จไปโปรดพระบิดา  ก็ไม่ปรากฏว่าสมาทานศีล ๕   แต่พอฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจบลงก็ได้สำเร็จพระอรหันต์  นี่หลักฐานของบุคคลอยู่ในฆราวาสรักษาศีล ๕   ปฏิบัติแล้วบรรลุโสดาฯ  สกิทาฯ  อนาคาฯ  ได้อย่างนักบวช  คฤหัสถ์ผู้ที่ไม่ได้บวช  ปฏิบัติสำเร็จพระนิพพาน  สำเร็จโสดาฯ  สกิทาคาฯ  อนาคาฯ  อรหันต์นับไม่ถ้วน   ที่นี้พระภิกษุสงฆ์ผู้บวชในพุทธศาสนาตายไปแล้วตกนรกก็มีถมเถไปในบางพระสูตรท่านกล่าวว่า  พระสงฆ์ที่ทำผิดพระวินัยไปตกนรก  ราวเหล็กโตขนาดลำตาล  เอาไปพาดไว้บนเสาหัวท้าย  เอาสบงจีวรของพระที่ทำผิดวินัยแล้วไปตกนรกเอาไปพาดบนราวเหล็ก  จนกระทั่งราวเหล็กนี้อ่อนลงถึงพื้นดิน  เพราะฉะนั้น  เราจะไปข้องใจสงสัยอะไร มรรค  ผลนิพพาน  พระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาดสำหรับนักบวชเพียงฝ่ายเดียว  ผู้ใดปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ  อาศัยศีลเป็นหลักอย่างต่ำแม้เพียงศีล ๕ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบสามารถสำเร็จโสดาฯ  สกิทาคาฯ  อนาคาฯ และอรหันต์ได้เหมือนกัน  เพราะฉะนั้น  อย่าไปข้องใจ  อย่าไปสงสัย


          เมื่อท่านทั้งหลายได้สมาทานศีล  รักษาศีล  มั่นใจว่าเรามีศีล ๕  บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว  ต่อไปก็มีโอกาสนั่งสมาธิภาวนาได้         


           การสมาทานศีล ๕  แต่ไม่มีพระให้ศีล ๕   จะทำอย่างไร  ไม่ต้องคำนึงถึงพระก็ได้  เราอาจจะสวดมนต์ไหว้พระอยู่ที่บ้าน  เพียงนึกว่าเราจะยึดศีล ๕  เป็นหลักปฏิบัติเช่น  ญาติโยมนั่งอยู่เฉยๆ กายอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ทำอะไร  กายก็ปกติ  วาจาอยู่นิ่งๆ ไม่ได้พูดอะไร  วาจาก็ปกติ  ใจก็อยู่นิ่งๆ กำหนดคอยฟังธรรม  ไม่ได้คิดอะไร  ใจก็ปกติ  เมื่อกาย  วาจา  ใจ  ปกติ  ศีลก็เกิดมีขึ้นแล้ว  เพราะศีลแปลว่าปกติ


หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

          ทีนี้เรามาปฏิบัติธรรม  ศีลก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ยึดเป็นหลักปฏิบัติแล้ว  สมาธิเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า  เราก็ได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติแล้ว   เวลานี้ท่านก็กำลังทำสมาธิ  กำหนดจิตฟังธรรม  ขณะที่พระกำลังแสดงธรรม  ทำจิตรู้ไว้ที่จิต   หรือบางท่านอาจนึกบริกรรมภาวนา  พุทโธๆๆ ไว้ในใจ  บางท่านอาจกำหนดลมหายใจเข้า    ลมหายใจออก   หรือนึกบริกรรมภาวนาว่าสัมมาอรหัง   หรือบางท่านกำหนดยุบหนอพองหนอเป็นอารมณ์จิต  กำลังตั้งใจสำรวมจิต  สำรวมใจ  เพื่อจะทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ  นั่นคือวิธีการปฏิบัติสมาธิ  ใครจะยึดแบบไหนเป็นหลักปฏิบัติได้ทั้งนั้น  อย่าไปข้องใจ

 


          สมมุติว่าขณะนี้ท่านกำลังนั่งสมาธิ  กำลังบริกรรมภาวนา  พุทโธๆๆ เป็นต้น  ในขณะที่ท่านนึกพุทโธๆๆ อยู่ท่านพยายามเอาจิตไว้กับพุทโธ  เอาพุทโธไว้กับจิตและกำหนดรู้อยู่ที่จิต  และพุทโธเพียงอย่างเดียว    นี่เป็นแบบภาวนาพุทโธ


          บางทีท่านภาวนาพุทโธๆๆ  ไป  มีอาการเคลิ้มๆเหมือนง่วงนอน  ไม่ต้องตกใจ  ง่วงก็ง่วง  ภาวนาเรื่อยไป  จะหลับก็ปล่อยให้หลับ  ไม่ต้องไปฝืน  พุทโธๆๆ เรื่อยไป  เมื่อพุทโธๆๆ ไป  จิตเกิดสว่างขึ้นมา  ไม่ต้องตกใจ  ถ้าตัวสั่น  ตัวโยก  ตัวเบาเหมือนจะลอย  ก็ไม่ต้องตกใจ  กำหนดรู้จิต  ภาวนาพุทโธเรื่อยไป  ถ้าขนหัวลุกขนหัวพองเกิดขึ้น  เฉยอยู่  ไม่ต้องตกใจ  ภาวนาพุทโธๆๆ


          เมื่อพุทโธหายไป  จิตไปนิ่ง  ว่าง  สว่างเฉยๆ  ทำอย่างไร  รู้เฉยอยู่ อย่าไปแตะต้อง  ถ้าว่างก็ปล่อยให้ว่าง เฉยก็ปล่อยให้เฉยอยู่อย่างนั้น  อย่าไปสร้างความคิดใดๆขึ้นมา    ประคองจิตให้รู้อยู่ที่ว่าง   ถ้าจิตคิดขึ้นมาในขณะนั้นปล่อยให้คิดไป  แต่ต้องทำสติตามรู้  ถ้าหยุดก็รู้อยู่เฉยๆ  ถ้าคิดก็กำหนดรู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปนึกคิดอะไร  ไปเอะใจอะไร  ขณะภาวนาอยู่  อะไรเกิดขึ้นให้รู้เฉยอยู่  อย่าไปตกใจอะไรทั้งสิ้น

 


           ถ้าลมหายใจรู้สึกว่าแรงขึ้น  รู้เฉยอยู่  ถ้าลมหายใจแผ่วๆ จะหายขาดไป  ให้กำหนดรู้เฉยอยู่เท่านั้น  ถ้าลมหายใจขาดไปจริงๆ  ไม่ต้องทำอะไร  ให้รู้เฉยอยู่  ถ้าลมหายใจขาดหายไปแสดงว่าจิตเข้าสู่ความสงบ  เมื่อจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว  กายก็หายไป  ลมหายใจก็หายไป  จิตก็จะได้แต่นิ่ง  ว่าง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  จิตรู้อยู่ที่จิตมีแต่จิตดวงเดียวเท่านั้น  แสดงว่าจิตสงบเข้าสู่สมาธิ


           จิตที่ภาวนาแล้วเป็น  อุปจารสมาธิ  มีความสงบสว่าง  มีปีติ  มีความสุข  และรู้สึกว่ากายยังมีอยู่  แต่ถ้าจิตสงบละเอียดลงไปถึงตัวหาย  กายไม่มี  มีแต่จิตรู้  ตื่นเบิกบาน  สว่าง  ลอยเด่น  เหลือแต่จิตดวงเดียว  เรียกว่าจิตเข้าสู่  อัปปนาสมาธิ  ได้แต่รู้ตื่น  เบิกบาน  กายหายไปหมดแล้ว

 


           ใครยังทำไม่ได้ถึงขนาดนี้ก็ไม่ต้องตกใจ  ก็พยายามฝึกหัดให้จิตมีสติรู้อยู่กับอารมณ์ในปัจจุบัน  ทั้งอิริยาบถยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ดื่ม  ทำ  พูด  คิด  เป็น  อารมณ์จิต  ให้สติรู้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ทุกลมหายใจ  ในขณะที่เรานั่งบริกรรมภาวนา  ก็ให้ปฏิบัติตามที่ได้กล่าวมาแล้ว  เมื่อออกจากที่นั่งสมาธิ  ก็ให้มีสติอยู่กับการยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ดื่ม  ทำ  พูด  คิด  ทุกขณะจิต  ทุกลมหายใจ  เพราะเป็นอุบายวิธีที่จะน้อมเอาธรรมมะมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้


            ปัญหาที่ว่า  ทำอย่างไรจึงจะนำเอาธรรมมะมาให้เป็นประโยชน์สุขแก่จิตใจได้  คำตอบ  คือ

            ๑.   ให้มีศีล  ๕  บริสุทธิ์  บริบูรณ์
            ๒.    ฝึกสมาธิ  ให้เกิดความมั่นใจในสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่  อันเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน
            ๓.    สร้างสติสัมปชัญญะให้รู้พร้อมในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวัน  ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ดื่ม  ทำ  พูด  คิด  ทุกขณะจิต  ทุกลมหายใจ


            ในขณะที่มีโอกาสนั่งสมาธิ  ก็ให้ภาวนาพุทโธบ้าง สัมมาอรหังบ้าง  ยุบหนอพองหนอบ้าง  ตามที่ตนถนัด  เพื่อให้จิตมีสมาธิ  มีปีติ  มีความสุข  อุบายวิธีก็อยู่ตรงนี้  คือ

           ๑.    ให้มีศีล  ให้รักษาศีลให้ได้อย่างต่ำศีล  ๕
           ๒.   ให้มีสมาธิ  ความมั่นใจในการที่จะสร้างความดีให้เกิดขึ้น
           ๓.    ให้เจริญสติ  รู้อยู่ที่การยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับ  ประทาน  ดื่ม  ทำ  พูด  คิด


           เป็นอุบายวิธีให้เกิดปัญญา  แล้วเราจะได้มีปัญญา  แก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี


           ศีลที่เรารักษาให้บริสุทธิ์แล้ว  ความมั่นใจที่เราสร้างขึ้นให้สมบูรณ์ในจิตของเราแล้ว  ปัญญาคือตัวสติสัมปชัญญะ  ให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่อบรมแล้ว  ฝึกฝนแล้ว  ทั้ง ๓ อย่างนี้จะรวมพลังเป็นหนึ่ง  เรียก   เอกายโนมัคโค   ศีล  สมาธิ  ปัญญา  รวมเป็นหนึ่ง  เรียก  เอกายนมรรค  เป็นหนทางที่ปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมได้เองโดยอัตโนมัติ   ศีลบริสุทธิ์  จิตตั้งมั่น  ปัญญา  ความเห็นบริสุทธิ์  คือ  สัมมาทิฏฐิ  เมื่อเราอบรมแล้ว  จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย  เป็นตัวปุญญาภิสังขาร  คอยปรุงแต่งจิตของเราให้ปฏิวัติมีแนวโน้มไปทางบุญทางกุศล  ทางความดีความงาม  ซึ่งเป็นการปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ   ได้แก่
           สุปฏิปันโน          ผู้ปฏิบัติดี
           อุชุปฏิปันโน        ผู้ปฏิบัติตรง
           ญายะปฏิปันโน     ผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ยิ่งเห็นจริง
           สามีจิปฏิปันโน     ผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง
นี่คือข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดคุณธรรม


            พุทโธ     พระพุทธเจ้า  คือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี  ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี  เมื่อฝึกฝนอบรมแล้วมีพลังแก่กล้า  วิ่งสู่จิตใจไปประดิษฐานตั้งมั่นอยู่ในจิต  กลายเป็นผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน   พุทโธ   ผู้รู้   ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน  เกิดขึ้นในจิต  จิตถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะที่พึ่งอย่างแน่นอน  ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง  ด้วยประการฉะนี้


            ท้ายที่สุดนี้  ด้วยอำนาจแห่งคุณพระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์  และด้วยอำนาจคุณงามความดีที่ทุกท่านได้ประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญมา  จงดลบันดาลให้ทุกท่านประสบผลสำเร็จในธรรมปฏิบัติ  คือ  มรรค  ผล  นิพพาน  ที่ตนปรารถนาทุกท่าน.........


Last Updated on Wednesday, 16 September 2009 09:16
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner