Home หลวงพ่อพุธ ธรรมปฏิบัติเพื่อความสุขใจ
หลักการสร้างอธิปไตย PDF Print E-mail
Saturday, 06 November 2010 01:45

 


 หลักการสร้างอธิปไตย
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

 

 


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน
ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 


อธิปไตย ตามหลักธรรม


อธิปไตยในทางศาสนาพุทธ มีอยู่ ๓ ประการ
๑. อัตตาธิปไตย การปรารภตนเป็นใหญ่
๒. โลกาธิปไตย ปรารภโลกเป็นใหญ่
๓. ธรรมาธิปไตย ปรารภธรรมเป็นใหญ่

          ลักษณะของ อัตตาธิปไตย ถ้าเป็นตัวบุคคลก็เป็นบุคคลที่เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป โดยไม่ยอมฟังความคิดเห็นของคนอื่น เอาแต่ใจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งใดที่เราได้ทำตามใจตัวเอง เรามีความสบายใจเพราะการกระทำของเรา แต่สิ่งนั้นอาจกระทบกระเทือนถึงประโยชน์และชีวิตของผู้อื่น คนที่เป็นอัตตาธิปไตยไม่ได้คำนึงถึงข้อนี้ตนคิดว่าจะทำอะไรก็ทำลงไป ไม่ได้พิจารณาว่า มันจะกระทบกระเทือนคนอื่นไหม จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม จะทำให้เราเดือดร้อนไหม

          ถ้าจะว่าโดยกฎหมายปกครองบ้านเมือง คนพวกนี้เป็นหัวเผด็จการ อันนี้คือลักษณะของอัตตาธิปไตย

          ลักษณะของคนที่เป็น โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ อะไรที่ชาวโลกเขานิยมชมชอบ แม้จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรมก็ตาม ก็ทำไปตามความคิดเห็นของโลก หรือความคิดเห็นของชาวบ้าน ซึ่งบางทีก็ทำให้ตัวเองต้องกลายเป็นคนอ่อนแอ หรือในบางครั้งเราอาจจะเห็นว่า เมื่อมติของคนส่วนมากมีความคิดเห็นอย่างนี้ แม้ว่าสิ่งนั้นมันอาจเป็นการทำลายผลประโยชน์ของคนอื่น หรือเป็นการลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงของคนใดคนหนึ่งก็ตาม เรารวมหัวกันทำ ทำแบบชาวโลกที่เขานิยมชมชอบกัน อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง หนัก ๆ เข้ากลายเป็นคนอ่อนแอ


          ส่วนคนที่เป็น ธรรมาธิปไตย อาศัยธรรมเป็นใหญ่ ธรรมที่ทำให้คนเป็นธรรมาธิปไตย ก็คือ รัฐธรรมนูญ ในเมื่อสมาชิกรัฐสภาร่วมใจกันตรากฎหมายอันใดออกมา เป็นกฎหมายปกครองบ้านเมือง เราเคารพต่อมติของเขาเหล่านั้น เพราะเขาปรึกษาหารือกันแล้วเห็นสมควรจะออกกฎหมายมาตรานั้น ๆ ออกมาบังคับ เพื่อให้สังคมของเรามีความประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอกัน ซึ่งเราเรียกว่า รัฐธรรมนูญปกครองบ้านเมือง


"หลักธรรมาธิปไตยของชาวบ้านก็คือ รัฐธรรมนูญ
หลักธรรมาธิปไตยของศาสนา ก็คือ ศีล ๕"


          ศีล ๕ ข้อนี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้มนุษย์มีความรัก ความเมตตาปรานี เพราะขึ้นต้นท่านก็บอกว่า อย่าฆ่ากัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่าข่มเหงกัน อย่ารังแกกัน อย่าอิจฉาตาร้อนกัน ผู้ใดมาเคารพศีล ๕ เป็นหลักยึดในจิตในใจของตน บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่าถือธรรมเป็นใหญ่ เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่ เราก็จะมีแต่ความรัก ความเคารพ ความเมตตาปรานี 
 

 

สภาผู้แทนราษฎร ตั้งอยู่บริเวณเขตดุสิต

สภาผู้แทนราษฎร ตั้งอยู่บริเวณเขตดุสิต ด้านหลังสวนสัตว์เขาดินวนา เป็นสถานที่สำหรับการประชุม
ของบรรดาผู้แทนราษฎรในการปรึกษาหารือในสิ่งอันเป็นประโยชน์ของประเทศ

 

ศีล ๕ เป็นมูลฐานให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตย


          หัวใจของประชาธิปไตย อยู่ที่การเคารพสิทธิมนุษยชน เมื่อใครมีศีล ๕ ก็ได้ชื่อว่าเคารพทุกสิทธิ สิทธิในการดำรงชีพอยู่โดยเสรี สิทธิในการครอบครองสมบัติโดยเสรี สิทธิในการใช้ผลประโยชน์ในคู่ครองของตนโดยเสรี และสิทธิอื่น ๆ บรรดามีในสังคม ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรม เราก็ได้ยึดเอาธรรมอันเป็นหัวใจของเสรีภาพ เสรีชน โดยมีเหตุผล มีกติกา เราจะทำอะไรทุกอย่างต้องมีกติกา ศีล ๕ จึงเป็นธรรมะที่เป็นมูลฐานให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตย

          ถ้าหากเราพิจารณาเรื่องศีล ๕ กับกฎหมายรัฐธรรมนูญปกครองบ้านเมืองให้ประยุกต์กัน ให้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เราจะได้ความเด่นชัดว่า ศีล ๕ คือ กฎหมายปกครองบ้านเมืองที่เป็นธรรมนูญอันสูงสุด

          ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราก็ได้ปฏิญาณตนถึงพระองค์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องการให้บ้านเมืองของเรา ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย นักปกครองบ้านเมือง ถ้าไม่มีศีล ๕ ข้อเป็นหลักแล้ว ไม่มีทางปกครองบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยได้ 
 
 

พระสงฆ์สวดปาติโมกข์ 


อธิปไตย คือ ความเป็นใหญ่ อิสระ และพึ่งตนเอง

          หลักประชาธิปไตยของหลวงพ่อไม่เหมือนใคร ประชาธิปไตยของนักการเมืองคือการรวมหัวกัน ฉันไม่ชอบขี้หน้าผู้ว่าราชการจังหวัด ฉันรวมหัวกันขับไล่ ร้องเรียนให้เจ้านายเบื้องบนโยกย้าย ลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็น เผด็จการหมู่

          แต่ประชาธิปไตยพระอย่างหลวงพ่อนี่ หลวงพ่อมีความห่วงใยในพระพุทธศาสนา กลัวพระพุทธศาสนาจะเสื่อม หลวงพ่อศึกษาธรรมวินัย ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จนมีคุณธรรมบ้างพอสมควร แล้วเอาคุณธรรมแจกจ่ายให้ประชาชน ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แล้วก็ไม่เคยกังวลว่าใครจะทำบาปทำกรรมอะไร ไม่เคยกลัวใครจะตกนรก กลัวแต่ตัวเองจะตกนรก เพราะฉะนั้นจึงพยายามสร้างความดี สร้างความดีจนกระทั่งความดีมันเต็มพร้อมแล้ว มันจะล้นออกเหมือนน้ำเต็มตุ่ม เวลานี้มีคนไปศึกษาธรรมะ ไปถามปัญหา แต่เช้ายันเย็น แต่เย็นยันหกทุ่ม ไม่เว้นแต่ละวัน อันนี้เพราะอะไร เพราะเราสร้างเนื้อสร้างตัวของเรา ให้มีคุณธรรมพร้อม ดังนั้นชาวบ้านทั้งหลายคิดจะสร้างบ้านเมือง ให้เป็นประชาธิปไตย มันอยู่ที่ตรงนี้


          ใครที่มีลูกมีหลานกำลังเรียน เร่งให้แกเรียนให้จบ เมื่อเรียนจบแล้วให้หางานทำ บางทีพ่อแม่อาจมีหนี้มีสินส่งลูกเรียน ให้เขาหาเงินใช้หนี้ใช้สินแทนพ่อแม่ เสร็จแล้วให้เขาเก็บหอมรอมริบ เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นหลักเป็นฐาน เมื่อเขาสร้างเนื้อสร้างตัวมีที่ดินเป็นของของตน มีบ้านเป็นของของตน มีงานมีการทำ มีรายได้เลี้ยงตนและครอบครัวให้สบาย ไม่มีหนี้มีสิน เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาก็เป็น อิสระ ไม่ต้องตกเป็นทาสของเจ้าหนี้ แล้วก็ไม่ต้องไปหลบหน้าหลบตาว่าเจ้าหนี้เขาจะตามทวง เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาก็เป็นใหญ่

          อธิปไตย แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าเป็นใหญ่เหนือเทวดาอินทร์พรหมที่ไหน มันเป็นใหญ่ เป็นอิสระ เพราะตัวเองช่วยตัวเองได้ ยังแถมรัฐบาลได้เก็บภาษีรายได้จากผลประโยชน์ที่เราแสวงหามาด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็เป็นใหญ่ คนทั้งหลายมารวมกลุ่มกันเข้า เรียกว่า ประชา เมื่อประชาพวกนี้มีแต่ผู้เป็นใหญ่ จึงรวมความว่าเป็น ประชาธิปไตย อันนี้เป็นแผนการสร้างประชาธิปไตยให้มีในบ้านเมือง 

  


พัฒนาชนบทอย่างมีอธิปไตย


          เวลานี้รัฐบาลมีหน่วยเร่งรัดพัฒนาชนบท และมีทุกหน่วยที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อมาพิจารณาดูแบบหัววัด ๆ อย่างหลวงพ่อ มันคล้าย ๆ กับว่าเขาสอนให้ราษฎรรู้จักใช้แต่เงิน แต่ไม่สอนให้รู้จักหาเงิน… มันเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดสำหรับประชาชนพลเมืองตามชนบทของเรา หนึ่ง…เขาทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง โค กระบือ ประการที่สอง…เกษตรกรรมประจำครอบครัว ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย สวนครัว เลี้ยงสัตว์ อันนี้เขาทอดทิ้งกันหมดแล้ว อุตสาหกรรมประจำครอบครัว ปั่นด้าย เข็นฝ้าย เข็นไหม ทอหูก เดี๋ยวนี้เขาทิ้งกันหมดแล้ว ในเมื่อทิ้งสามอย่างนี้ ราษฎรประชาชนของเราในอนาคตอันใกล้หรือปัจจุบันนี้ มีแต่เดินก้มหน้าบ่ายหน้าไปสู่ความเป็นกรรมกรทาส  

วิถีชีวิตชนบท

          เดี๋ยวนี้ทางภาคอีสาน ไปเห็นแต่คนแก่กับเด็กเฝ้าบ้าน คนหนุ่ม คนสาว ไปทำงานในโรงงานภาคกลางหมด ทอดทิ้งการทำไร่ ทำนา แล้วเวลานี้กำลังขึ้นใจกัน ทุกครอบครัวจะต้องมีรถยนต์ ใครอยากมีรถยนต์ จะต้องเอานาไปแลก ขายนาไปซื้อรถยนต์ พอขี่ไปขี่มา มันก็มีแต่ ลด กับ ลด ผลประโยชน์ที่จะได้จากการขี่รถยนต์มันไม่มีเลย โดยเฉพาะประชาชนในปัจจุบัน การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอหูก เกษตรกรรม อุตสาหกรรมประจำครอบครัว ควรปลุกให้เขาตื่นตัว พยายามอย่าให้เขาทอดทิ้ง อันนี้มันเป็นอาชีพหลักที่เลี้ยงครอบครัวของชาวบ้านชาวเมืองชาวชนบทมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย สัตว์เลี้ยง โค กระบือ เปรียบเหมือนพ่อแม่ เลี้ยงโค เลี้ยงกระบือ มันได้ผลประโยชน์คุ้มค่าครบวงจร หลังมันให้ลูกขี่ไปนา แรงมันไถนาเทียมเกวียน มูลมันถ่ายออกมาเป็นปุ๋ย เมื่อมันตายหนังมันได้ขาย กระดูกมันได้ขาย เนื้อมันได้แจกกันกิน ไม่มีอะไรเสียเลย ถ้าเอาควายเหล็กมาไถนา มันขี้ใส่นา น้ำมันหยดลงไป ทำให้ดินเสียคุณภาพ ต้องบำรุงมัน ควายเนื้อควายหนังมันกินหญ้า แต่ควายเหล็กมันกินเงินกินทอง เขาซื้อรถไถมาคันละสี่ห้าหมื่น คันละแสน ทำนากี่ปีมันจึงจะเรียกทุนคืนได้

 

ชาวนา

 
          ในฐานะที่หลวงพ่อเป็นสงฆ์ แล้วก็เป็นลูกชาวชนบท รู้สึกนึกสงสารญาติพี่น้องที่ทอดทิ้งอาชีพเดิมของเรา สมัยก่อน สาวๆ เขารวมกลุ่มกันทำงาน ทางอีสานเขาเรียกว่า สาวลงข่วง ตกค่ำมาสาวๆ พากันเข้าป่าแบกฟืนเป็นฟ่อนๆ มา มากองไฟ เอาหลามาตั้งรอบ แล้วก็เข็นฝ้าย เจ้าหนุ่มก็เอางานเอาการของตัวเองไปนั่งจีบกัน มีแหเอาแหไปสาน มีสวิงเอาสวิงไปสาน มีตะกร้า กระบุง อะไรเอาไปสาน ปากก็คุยกันไป ทางสาวก็เข็นฝ้ายไป เจ้าหนุ่มก็ทำงานไป พอสมควรแล้ว ก็เลิกลาไปพักผ่อนหลับนอน ถ้าชอบอกชอบใจก็ให้เถ้าแก่มาสู่ขอ คนโบราณสอนลูกสอนหลานว่า เจ้าจะหาผัวแต่ละคน จับมือมันดูก่อนนะลูกนะ ถ้ามือมันนิ่มๆ อย่าไปเอา มันขี้เกียจ ถ้ามือคนไหนมันหนาๆ ชาๆ นั่นแหละ มันคนขยัน ดังนั้น ในสมัยก่อนชาวชนบทจึงมีอาชีพหลักที่พึ่งตนเองได้ เป็นเจ้าของที่นา ที่ดินของตนเอง ไม่ได้ทิ้งนาทิ้งไร่ ไปรับจ้างเขาเหมือนปัจจุบัน

          ถ้ารัฐบาลจะช่วยประชาชน ต้องพยายามให้เขามีงานหลักที่พึ่งตนเองได้ อย่าให้เขาทอดทิ้งงานหลักของเขา จึงจะเป็นการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเอง และเป็นการสร้างอธิปไตยอย่างแท้จริง หลักธรรมะที่เราควรจะยึดเป็นหลักปฏิบัติ มีอยู่ ๓ หลัก


หลักที่ ๑ อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ
     ตนเป็นที่พึ่งของตน
หลักที่ ๒ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
     คนจะพ้นทุกข์ได้ เพราะความเพียร
หลักที่ ๓ สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข
     ความพร้อมเพรียงของหมู่ทำให้เกิดสุข 
 
 

 

พระพุทธรูป

 


อธิปไตยแห่งจิต
 

"คนเรามีของดีอยู่ในตัว แต่ไม่เชื่อมั่นในตนเอง
จึงแสวงหาที่พึ่งภายนอกอยู่เรื่อยไป"

          ของดีในตัวเอง คือ กาย กับ จิต ธรรมชาติของจิตจะเป็น ผู้รู้ รู้หมดทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา เครื่องมือสื่อสารของจิตอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ แต่ละอย่างมีหน้าที่เฉพาะตน ก้าวก่ายกันไม่ได้ ตามีหน้าที่เห็น หูจะไปแย่งเห็นก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ หูมีหน้าที่ฟัง ได้ยิน ตาจะไปแย่งฟัง ได้ยิน กับหูก็แย่งไม่ได้ สิ่งดังกล่าวนี้แต่ละอย่างเป็น อธิปไตย เป็นใหญ่เฉพาะตน ดังนั้น ทางศาสนาท่านจึงบัญญัติสิ่งเหล่านี้ว่า อินทรีย์ อินทร์ แปลว่า จอม จอมก็คือ ความเป็นใหญ่ ความเป็นใหญ่ ก็คือ อธิปไตย


          กายและจิต เราสามารถฝึกฝนอบรมให้มีสมรรถภาพเข้มแข็งได้ เช่น การทำงาน การเล่นกีฬา เป็นการฝึกกายให้มีพลัง ให้มีสุขภาพพลานามัยเข้มแข็ง กีฬาทางจิต คือ การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก จงพยายามหาที่พึ่งให้ตนเอง คนที่หาพึ่งแต่คนอื่นจะพบแต่ความหลอกลวง เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายคิดหาพึ่งคนอื่น ซึ่งผิดหลักความจริง จงสร้างสมรรถภาพของตัวเอง ให้มีจิตใจเข้มแข็ง เดี๋ยวนี้ มีแต่คนสอนให้คนทั้งหลายเขวไปจากความจริง เช่น สร้างวัตถุมงคลแล้วโฆษณาว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ วัตถุมงคลก็ดี แต่ดีชั่วขณะหนึ่ง ไม่เป็นอมตะ สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งให้เราได้ไม่แน่นอน คนที่ใช้วัตถุมงคลได้ผลดีที่สุด คือคนขยันหมั่นเพียร


          การฝึกจิตให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ คือ การฝึกสติ ไม่ว่าเราจะทำอะไร มีสติสัมปชัญญะรู้อยู่กับเรื่องปัจจุบัน คือเรื่องชีวิตประจำวันนี้เอง สมาธิแบบพระพุทธเจ้า การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต ฝึกสติให้รู้อยู่ตลอดเวลา ในขณะทำงาน กำหนดสติรู้อยู่กับงาน เวลาคิด ทำสติรู้อยู่กับการคิด โดยถือการทำงาน การคิด เป็นอารมณ์จิต เวลาเรานอน คนมีความรู้ คนทำงาน ย่อมมีความคิดในช่วงที่เรานอนนั่นแหละ เราปล่อยให้จิตเราคิดไป แต่เรามีสติตามรู้ความคิด จนกระทั่งนอนหลับ ถ้าฝึกต่อเนื่องกันทุกวัน ๆ เราจะได้สมาธิอย่างประหลาด พยายามกำหนดพิจารณารู้เรื่องของจิตของกายนี้ ให้รู้ชัดเจนลงไป อย่ามัวแต่มุ่งที่จะรู้โลกหน้าโลกอื่น รู้แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าภาวนาไปเห็นเทวดา เขาก็ไม่มาช่วยขัดกิเลสให้เราหรอก 

สามเณร


 
 
          การปฏิบัติธรรมตามแนวของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง อยู่ที่การสร้างจิตของตัวเองให้มีพลังเข้มแข็ง มีสติสัมปชัญญะรู้รอบอยู่ที่ตัวเองสามารถยืนหยัดอยู่ในความเป็นอิสระได้ตลอดกาล ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร

          ถึงแม้จิตจะผูกพันอยู่กับโลก แต่ก็ไม่เป็นทาสของอารมณ์ มีอะไรมากระทบ ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้


Last Updated on Saturday, 06 November 2010 02:51
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner