คัมภีร์ธรรมโดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย แสดงธรรมที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๑
คัมภีร์พระธรรมอยู่ที่ไหน อยู่ที่กายกับใจ การปฏิบัติธรรมต้องอาศัยกายกับใจเป็นหลัก สติก็ดี สัมปชัญญะก็ดีก็เป็นกิริยาของใจทั้งนั้น กาย คือ อาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะที่มีอยู่ก็เป็นเครื่องรู้ของใจคือเป็นวัตถุเรียกว่า รูปธรรม รูปธรรมเป็นเครื่องรู้ของใจ ในเมื่อใจรู้ทันความเป็นจริงของรูปธรรมและรู้ทันอาการของรูปธรรม สติสัมปชัญญะก็ดีขึ้น สติสัมปชัญญะเป็นตัวการที่สามารถประคับประคองใจของเราให้ดำเนินไปสู่สมาธิและภูมิจิตภูมิธรรม เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามรู้คัมภีร์ธรรมของเราให้ชัดเจน
กายเป็นเครื่องรู้ของจิต ทีนี้จิตอ่านกาย เราจะต้องอ่านตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาทีเดียว พอตื่นเช้าขึ้นมา เราจะต้องคิดว่าเราจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกายบ้าง บางทีเรายังไม่ได้นึก ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำ แต่มันเตือนเราแล้ว ทุกข์มันเกิด มันเกิดอยู่ที่ไหน คนเรานี่เมื่อรับประทานแล้วก็มีการขับถ่าย ตื่นเช้ามา ทุกข์มันก็แสดงออกมาให้ปรากฏ ทุกข์เพราะอุจจาระ ปัสสาวะอะไรต่าง ๆ นอกจากนั้น เราจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกายบ้าง ล้างหน้า แปรงฟัน หาอาหารให้มันรับประทานบ้าง บางทีเจ็บหัว ปวดท้อง ก็ต้องหายาเพื่อรักษาพยาบาลบ้าง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาให้รู้
ศึกษาธรรมะอย่าไปศึกษาไกลตัว แม้แต่พระพุทธเจ้าก็สอนให้พิจารณาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ไม่รู้จะให้พิจารณาทำไม ใครเกิดมาแล้วก็ต้องมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันทั้งนั้น
ความจริง การพิจารณาความเกิดนั้น ก็เพื่อให้เรารู้ว่าเราเกิดมาเพราะอะไร อาศัยอะไรทำให้เราเกิด กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม ตัววิบากกรรมที่เราทำเอาไว้ นั่นแหละ ตัวกิเลสที่อยู่ในจิตของเรา เรายังตัดไม่ขาด เมื่อไรมันอยู่ในจิตใจของเรา มันก็บันดาลให้เราไปเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีวันจบสิ้น นี่คือเหตุปัจจัยของการเกิดเพราะอาศัยการเกิดอย่างเดียวเท่านั้นแหละ ความแก่มันก็ประดังมา ความเจ็บมันก็ประดังเข้ามา ผลสุดท้าย เมื่อสิ้นอายุขัย ก็ต้องสลายตัวคือตาย
ทีนี้ที่ให้พิจารณานั้นก็เพื่อจะได้รู้เท่าทัน ให้รู้จิต ให้จิตของเรารู้ตามสภาพความเป็นจริง รับรู้สภาพความเป็นจริงว่า เมื่อเรามีเกิดแล้ว เราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อจิตยอมรับรู้สภาพความเป็นจริง ก็จะรู้ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้ใครจะพอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม เขาก็จะมีสภาพเป็นไปตามธรรมชาตินั้น เมื่อจิตยอมรับแล้ว ผู้พิจารณารู้ทันแล้ว จะไม่รู้สึกตื่นตกใจในเมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้นเกิดขึ้น ถ้าหากยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่หมดกิเลส เพราะอาศัยความดีที่เรารู้ทันความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็จะไม่หวาดหวั่นต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ก็แสดงว่าผู้นั้นมีใจเป็นพื้นฐานที่มั่นคงด้วยคุณธรรม ถ้าหากมันจะเกิดมีการตายขึ้นมา และยังมีกิเลสอยู่ เพราะเชื่อว่าเราจะต้องมาเกิดใหม่อีก เขาจะมีความภูมิใจขึ้นมาว่า ดีเหมือนกัน ตายไปแล้วจะได้ใช้ชาติ ใช้ภพ ให้มันหมดสิ้นไป ตายไปแล้วจะได้เกิดดีกว่าเก่า อย่างเช่นพระอุปัชฌายะของอาตมา อยู่ที่วัดสระปทุมท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร(หนู) คู่ของท่านอาจารย์เสาร์ตอนนั้นเขามาทิ้งระเบิด ท่านไม่ยอมลงไปสู่ที่หลบภัยท่านก็นั่งอยู่บนกุฏิของท่าน ตำรวจต้องมาอุ้มเอา ท่านก็ถามว่า “จะเอาฉันไปไหน” ตำรวจก็บอกว่า “เอาไปหลบภัย” “ภัยที่ไหน” ตำรวจบอกว่า “เขาจะมาทิ้งระเบิด” ท่านบอกว่า “มาทิ้งระเบิดตายแล้วเกิดใหม่ดีกว่า” ท่านว่าอย่างนั้น
อันนี้คือท่านผู้ที่มีความมั่นใจในคุณความดีที่ท่านได้บำเพ็ญมาแล้ว เพราะฉะนั้น เราทุกคนที่เราหวั่นกลัวสารพัด กลัวต่อเหตุการณ์ของโลก กลัวต่อเหตุการณ์ส่วนตัว กลัวต่อภัยของบ้านเมือง ที่เราต้องกลัวอย่างนั้นเพราะเหตุว่าเรายังมีความดี หรือยังไม่เชื่อมั่นว่ามีความดีพอเพียงที่จะช่วยอุดหนุนวิญญาณของเราให้ไปสู่สุคติได้เพราะฉะนั้นเราจึงกลัว หากเรามีความดีพร้อม ก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว ไฟนรกก็ไม่น่ากลัว อะไร ๆ ก็ไม่น่ากลัวทั้งนั้น ถ้าเรามั่นใจว่า ถ้าเราตายจริง เราไปเกิดเอาใหม่ดีกว่า เหมือนเจ้าคุณปัญญาฯ ท่านว่า มันก็หมดกลัวกันเท่านั้นเอง
เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง วิธีการของท่านก็มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวรถวายพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวรถวายพระธรรมเทศนา พอถวายพระธรรมเทศนาจบ ก็มีการนั่งสมาธิ ดังนั้น วันนี้เราก็คุยกันมาพอสมควร เรามานั่งสมาธิกันจะดีไหม แต่ละครั้งที่ไปร่วมพิธีการดูเหมือนจะไม่เคยเว้นจากการทำสมาธิ เพราะฉะนั้น ณ โอกาสนี้ ท่านทั้งหลายก็ได้ศึกษาธรรมะตามตำรับตำรามาพอสมควร แล้วหลายๆ ท่านก็ได้ตั้งใจนั่งปฏิบัติทำสมาธิมามากพอสมควร จึงขอเชิญชวนบรรดาท่านทั้งหลายจงกำหนดจิตทำสมาธิตามแบบที่ตนเคยชำนิชำนาญมาแล้ว จงกำหนดจดจ้องลงที่จิตของตัวเอง ทำความรู้สึกภายในจิตว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ประชุมพร้อมอยู่ที่จิตของเราแล้ว แล้วก็กำหนดอารมณ์ของใจ อะไรก็ได้ที่เราเคยชำนาญมาแล้ว
ที่ว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ประชุมพร้อมลงที่ใจนั้น ก็เพราะเหตุว่า พระพุทธเจ้า มาจากคำว่า “พุทโธ” พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของใจ แม้ว่าใครก็ตาม ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ควบคุมความรู้สึกนึกคิดของตนเองอยู่ตลอดเวลา คือทำความรู้สึกสำนึกในผิดชอบชั่วดีอยู่ในจิตในใจตลอดเวลา ผู้นั้นชื่อว่ามีพุทธะอยู่ในจิต การพยายามประคับประคองความรู้สึกเช่นนั้นไว้ตลอดเวลา ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปกับการกำหนดรู้เช่นนั้น ผู้นั้นชื่อว่ามีพระธรรม คือการทรงไว้ซึ่งความดี ผู้มีสติ สัมปชัญญะประคับประคองความรู้สึกของตัวเองอยู่ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ผู้นั้นมีคุณของพระสงฆ์อยู่ในใจ พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี เป็นกิริยาของใจและเป็นคุณธรรมของใจ
แต่ละอย่างๆ เป็นคุณธรรมแต่ละอย่างซึ่งบังเกิดขึ้นเป็นเจตสิกบังเกิดขึ้นเป็นของผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จึงอยู่ที่จิตของเราตลอดเวลาถ้าเรามีความมุ่งหมายที่จะปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา
การปฏิบัติธรรมสำคัญที่การสำรวมจิตเป็นใหญ่เพราะพื้นฐานแห่งความดีความชั่วย่อมเกิดที่จิต ถ้าจิตดวงนี้ปราศจากสติเป็นเครื่องคุ้มครองหรือประคับประคองเมื่อไร เมื่อนั้นจิตดวงนี้จะต้องมีความเผลอ ไปนึกสร้างบาปอกุศลขึ้นใส่ตัว ถ้ามีสติสัมปชัญญะประคับประคองอยู่ตลอดเวลา จะไม่มีโอกาสเผลอไปสร้างบาปสร้างกรรมขึ้นใส่ตัวเลย เพราะฉะนั้น การอบรมจิตให้มีสติจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าพูดถึงวิธีการแล้วก็มีหลายแบบหลายอย่าง เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมหรือชี้แนวทางปฏิบัตินั้น ย่อมทรงอนุโลมตามอุปนิสัยของผู้รับฟังหรือผู้ปฏิบัติ ท่านทั้งหลายจึงอย่าไปยึดวิธีการให้มากให้พยายามกำหนดรู้เหตุผล ซึ่งจะเกิดขึ้นภายจิตของเราเอง เช่นอย่างวิธีการปฏิบัติด้วยการบริกรรมพุทโธก็ดี กำหนดยุบหนอพองหนอก็ดี กำหนดลมหายใจเข้าออกสั้นยาวก็ดี หรือกำหนดลงไปในกายจุดใดจุดหนึ่งให้มองเห็นกระดูกชัดเจนก็ดี หรือวิธีการที่นอกเหนือไปกว่านั้นเช่น การเพ่งอสุภะหรือเพ่งกสิณ อะไรต่าง ๆ ก็ดี แต่ละอย่าง ๆ เป็นอุบายเพื่อทำจิตให้สงบเป็นสมาธิทั้งนั้น อย่าไปสงสัยหรือลังเลในสิ่งเหล่านั้น ขอให้ยึดสภาพความเป็นจริงในสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในจิตของท่าน
ถ้าพูดถึงทางที่จะดำเนินไปสู่ความเป็นสมาธิ ใครจะภาวนาแบบไหน อย่างไรก็ตามในเมื่อจิตสงบลงไปเป็นสมาธิแล้วจะต้องอาศัยการดำเนินตามองค์ฌาน คือ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จะนอกเหนือไปจากนี้ไม่ได้ สำหรับผู้ที่จะทำสมาธิเพื่อความชำนิชำนาญ
บางครั้งบางคราวผู้ภาวนาอาจจะมีจิตมีอาการวูบลงไป แล้วก็ไปสงบ นิ่ง สว่าง อันนี้ช่วงระหว่างวิตก วิจาร จนกระทั่งจิตวิ่งเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ พวกนี้มีสติกำหนดไม่ทัน เป็นลักษณะของสมาธิที่เกิดขึ้นอย่างฟลุคๆ ซึ่งผู้ปฏิบัติยังไม่ชำนาญในการทำสมาธิ จึงมีอาการวูบวาบแล้วก็วูบลงไป โดยที่ผู้ปฏิบัติกำหนดไม่ทันว่าจิตได้ผ่านอะไรบ้าง ไปรู้สึกตัวเอาต่อเมื่อจิตนิ่ง สว่าง เป็นสมาธิแล้วอันนี้ก็อยู่ในลักษณะที่จิตเป็นสมาธิเหมือนกัน แต่หากยังไม่มีความชำนิชำนาญ
ทีนี้บางทีบางท่านบริกรรมภาวนา จิตอาจจะไม่เคยสงบเป็นอัปปนาสมาธิสักที เพียงแต่สงบลงไปเป็นอุปจารสมาธิ คือมีอาการเคลิ้ม ๆ ลงไป แล้วก็สว่าง จิตยังมีความรู้สึกสัมพันธ์กับร่างกายอยู่ แล้วก็มีความมุ่งหมายที่จะทำจิตให้ไปถึงอัปปนาสมาธิ อันนี้ที่เรียกว่าสงบ นิ่งลงไปแล้วร่างกายตนตัวไม่ปรากฏในความรู้สึก ทั้ง ๆ ที่ทำไม่ได้ ก็พยายามที่จะทำอยู่อย่างนั้น เพราะไปหลงเชื่อคำว่าต้องทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิ
ถ้าหากท่านใดปฏิบัติแล้วภูมิจิตมีลักษณะดังที่ว่า ก็ไม่ต้องไปมุ่งหมายที่จะเอาอัปปนาสมาธิ พอทำจิตให้สงบเป็นอุปจารสมาธิบ่อย ๆ แล้วประคับประคองจิตให้อยู่ในแนวทางพิจารณาพระไตรลักษณ์ คือพิจารณากายกับความรู้สึก น้อมไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ก็รีบกำหนดพิจารณาทันที ไม่ต้องไปคอยให้เป็นอัปปนาสมาธิ ปฏิบัติในทำนองนี้ก็จะเกิดผลกับผู้ปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าหากเราจะไปคอยให้จิตเป็นอัปปนาสมาธิเข้าฌานให้ชำนิชำนาญก่อน และจึงจะไปพิจารณาพระไตรลักษณ์ แล้วจึงจะยกจิตขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา ถ้าหากว่าชั่วชีวิตนี้เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราจะมิตายเปล่าหรือ
การทำจิตให้สงบนิ่งขั้นอัปปนา หรือเข้าฌานได้อย่างชำนิชำนาญนั้น ผลประโยชน์ก็เพียงทำให้เกิดความชำนาญในการเข้าฌาน ชำนาญในการทำสมาธิ ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ แต่เหตุผลนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะท่านอาจารย์เทสก์ท่านว่า “จิตที่เป็นสมาธิอยู่ในฌานนั้นเป็นสมาธิที่โง่ เพราะจิตที่เป็นฌานจะต้องเพ่งอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น อาการที่เรียกว่าความรู้ ภูมิจิต ภูมิธรรม ย่อมไม่เกิดขึ้น” ครูบาอาจารย์ท่านก็ยืนยันว่าสมาธิในฌานเป็นสมาธิที่โง่ แม้โดยหลัก ท่านว่าถ้าจิตไปติดในฌานก็เป็นสมาธิขั้นสมถะเท่านั้น อย่างดีก็ให้เกิดอภิญญา สามารถที่จะทำฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ สามารถที่จะรู้ใจของคนอื่น สามารถที่จะรู้สิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้นอยู่ภายใน ซึ่งเราไม่สามารถที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่เหตุผลที่จะทำให้หมดกิเลสนั้นยังไม่มี ผู้สำเร็จฌานแล้ว จะต้องมาเวียนว่ายตายเกิดเพราะจิตไม่มีปัญญา ลักษณะของการรู้จริง เห็นจริง ที่เรียกว่าอภิญญา รู้ใจคนอื่น รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า รู้เรื่องในอดีตที่ล่วงมาแล้วนาน ๆ เป็นลักษณะอย่างนี้ ไม่ได้จัดเข้าในลักษณะของปัญญาที่จะเอาตัวรอดจากอำนาจของกิเลส เพราะฉะนั้น สมาธิในฌานจึงเป็นสมาธิที่ไม่สามารถที่จะทำผู้ปฏิบัติให้สำเร็จมรรคผลนิพพานได้ ถึงจะมีบ้างก็มีจำนวนน้อย
แต่สมาธิที่อยู่ในอริยมรรค คือจิตสงบ ประชุมลงพร้อมที่จิต หรืออริยมรรคประชุมลงพร้อมที่จิตนั้นสามารถทำจิตให้ดำรงมั่นคงอยู่ในความเป็นกลาง เมื่อจิตมีอริยมรรคประคับประคองอยู่ที่จิต จิตเป็นอริยมรรค อริยมรรคเป็นจิต แม้จะอยู่ในระดับสมาธิขั้นอ่อน ๆ จิตจะมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันเหตุการณ์ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ รู้แล้วไม่ยึดถือปล่อยวางไป อาการที่จะเสวยอารมณ์ขณะที่รู้เห็นอะไรนั้นไม่มี คือจิตไม่มีอาการซึมซาบเข้าไปในสิ่งที่รู้นั่น เพราะไม่มีความยึด
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งที่รู้เห็นนั้นเป็นภูมิปัญญาของจิต ซึ่งถูกอริยมรรคคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมลงแล้ว สามารถปฏิวัติภูมิจิตภูมิธรรมเข้าไปสู่ขั้นสูงเป็นลำดับ ๆ ซึ่งจิตในลักษณะอย่างนี้ ในขั้นต้นจะรู้อะไรก็ตาม สมมติกันว่ารู้ธรรมก็แล้วกัน อารมณ์ก็คือธรรม ธรรมก็คืออารมณ์นั่นเอง ในเมื่อรู้อะไรขึ้นมาแล้ว ในตอนต้น ๆ ยังมีสมมติบัญญัติเรียกกันได้ว่าอะไรอยู่ ในตอนนี้เป็นภูมิความรู้ของจิต ซึ่งอยู่ในลักษณะอุปจารสมาธิในขั้นอ่อน ๆ ซึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติในขณะที่จิตสงบลงไปแล้ว ความรู้สึกในภายนอกยังมีอยู่แต่จิตยังอยู่ในลักษณะแห่งความสงบ แล้วก็มีภูมิจิตภูมิธรรมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในบางครั้งจะพูดอยู่หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม ลักษณะของความสงบของจิตมันมีอยู่ภูมิรู้ สิ่งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ว่าสามารถจะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ในขณะนั้น อันนี้เรียกว่าเป็นภูมิจิตที่มีอริยมรรคประชุมพร้อมลงที่จิต
ถ้าหากในขณะท่านผู้ปฏิบัติที่ภูมิจิตมีลักษณะอย่างนั้น เมื่อทำสมาธิให้สงบละเอียดลงไป คือทำในขณะที่ปราศจากสิ่งรบกวน เช่น นั่งสมาธิอยู่ในห้องพระคนเดียวเป็นต้น เมื่อจิตสงบลงไปอย่างละเอียดแล้ว เมื่อเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาภายในจิตนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจะปรากฏเป็นจิตนิ่ง สงบ สว่างไสว และสิ่งที่ให้รู้ก็มีปรากฏการณ์เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ความรู้ในขั้นละเอียดนั้น ไม่มีอะไรที่มีความสำคัญมั่นหมาย สมมติบัญญัติเรียกชื่อสิ่งนั้นว่าอะไร อันนี้เป็นภูมิจิตภูมิธรรมที่เกิดขึ้นในระดับสูง ระดับละเอียดซึ่งอยู่เหนือสมมติบัญญัติ ซึ่งเราเรียกว่า สัจจธรรม บังเกิดขึ้นภายในจิตของผู้ปฏิบัติ ตัวจิตของท่านผู้นั้นก็เป็นสัจจธรรม เครื่องรู้ของจิตที่เกิดขึ้นก็เป็นสัจจธรรม เพราะฉะนั้น สัจจธรรมกับสัจจธรรม เมื่อมาบรรจบกันเข้าจึงเรียกชื่อกันไม่ถูก มีแต่สิ่งที่เกิดขึ้น ดับไป เกิดขึ้น ดับไป อยู่อย่างนั้น และตรงกับคำในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่ว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ทำไมจึงว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ดำรัสว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็เพราะเหตุว่า จะบัญญัติชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไรก็บัญญัติไม่ถูกทั้งนั้น เพราะในขณะจิตรู้ในสิ่งนั้น ก็มีเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น มันอยู่เหนือสมมติบัญญัติ อะไรที่เราสมมติบัญญัติชื่อมันได้อยู่สิ่งนั้นก็ไม่ใช่สัจจธรรม เพราะเป็นเพียงสมมติ ความรู้จริงเห็นจริงมันอยู่เหนือสมมติบัญญัติ ขอให้ท่านสังเกตดูตรงนี้ให้ดี ถ้าหากว่ามีภูมิจิตภูมิธรรมเกิดขึ้นแล้ว ความรู้ธรรมะในขั้นละเอียดของจิตนั้นเป็นแต่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏการณ์ให้รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่มีสิ่งที่เราจะไปสมมติบัญญัติ จิตก็นิ่งเด่นอยู่เฉย ๆ ภูมิความรู้จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ
ทีนี้มีปัญหาว่า ภูมิความรู้นั้นมาจากไหน มาจากจิต จิตที่มีปัญญาอันละเอียด เฉียบแหลม สามารถปรุงความรู้ขึ้นมา ความรู้อันนั้นคือปัญญาที่เกิดขึ้นจากจิตตัวที่นิ่งเด่นอยู่นั้น คือตัวพุทธะ ผู้รู้ ผู้รู้เท่าเอาทัน คือไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้อะไรขึ้นมาก็เฉย รู้อะไรขึ้นมาก็เฉย เพราะมันเป็นภูมิปัญญาของจิตที่ฝึกอบรมอยู่แล้ว จิตจึงไม่หวั่นไหว ไม่ติดในสิ่งเหล่านั้น ในขณะนั้นเป็นจิตที่บริสุทธิ์สะอาด ไม่มีตัณหา ไม่มีกิเลส ไม่มีอุปาทาน จิตจึงมีปรากฏการณ์อย่างนั้น ถ้าหากว่าจิตของท่านผู้ใดเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดกาลไม่ผันแปร ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ พึงสังเกตทำความเข้าใจอย่างนี้
ถ้าหากเราทำอย่างนี้ได้บ่อย ๆ แม้ว่าเราออกจากการปฏิบัตินั่งสมาธิหลับตามา มามองดูโลก และเข้าสู่สังคมในเมื่อเราประสบอารมณ์ต่าง ๆ ในสังคม นี่เราจะต้องกระทบกระเทือนหรือรับผิดชอบอยู่นั้น ความรู้สึกของเราแต่เพียงว่า “สักแต่ว่า” พูดก็สักแต่ว่าพูด คิดก็สักแต่ว่าคิด ทำสักแต่ว่าทำ อันนี้คือสมาธิในภูมิธรรม ในอริยมรรค แม้ออกมาจากการนั่งหลับตาสมาธิแล้ว สมาธิก็ยังมีปรากฏอยู่ตลอดเวลาที่ตัวสติที่มีกำลังกล้าและเข้มแข็งนั้นเอง จึงดูคล้ายกับจิตมีความสงบอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่สงบก็ปรากฏอยู่ ส่วนที่ออกมาบงการทำงานก็มีปรากฏอยู่ นี่คือสมาธิตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ทำสมาธิเป็นแล้วมีภูมิจิต ภูมิธรรม สามารถรู้ธรรมเห็นธรรมแล้ว เราสามารถเอาภูมิจิต ภูมิธรรมนั้นมาประกอบประโยชน์ตามวิถีทางของชาวโลก ตามวิถีทางของการครองชีพครองบ้านครองเรือนอย่างสบาย
ถ้าสมาธิอันใด บำเพ็ญดีแล้ว ปฏิบัติดีแล้ว คืออยู่ในขั้นดี ตามความนิยมของผู้ปฏิบัติ มีภูมิสมาธิสงบดี มีภูมิธรรมที่เกิดขึ้น เกิดเบื่อหน่ายต่อครอบครัว เกิดเบื่อหน่ายต่อโลก ไม่เอาไหน ไม่อยากจะเข้าสู่สังคม ไม่อยากจะทำประโยชน์แก่ใคร ๆ อยากจะปลีกตัวหนีไปอยู่ป่าเสียคนเดียว อะไรทำนองนี้ สมาธิอันนั้นอย่าเพิ่งไปเชื่อ ให้พิจารณาให้รอบคอบ
ถ้าหากพระพุทธเจ้าสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า มีสมาธิมีสติปัญญาดี เมื่อสำเร็จแล้วเกิดความเบื่อหน่ายต่อโลกไม่อยากอยู่กับโลก ไม่อยากโปรดโลก แต่พระองค์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตอนต้น ๆ แรก ๆ นั้นมาพิจารณาว่า ธรรมะที่ทรงตรัสรู้นี้เป็นของละเอียดสุขุม ยากที่เวไนยสัตว์จะรู้ตามเห็นตามได้ บางครั้งก็รู้สึกท้อแท้ในพระทัย ไม่อยากจะแสดงกลัวจะไม่มีผู้รู้ทันหรือรู้ตาม จนกระทั่งมีผู้กล่าวว่า มีท้าวมหาพรหมลงมาอาราธนาให้พระองค์ทรงแสดงธรรม ความจริงท้าวมหาพรหมที่ลงมาอาราธนานั้น ก็คือพรหมวิหารที่อยู่ในพระทัยของพระองค์นั่นแหละ มากระตุ้นเตือนพระองค์ให้รู้สึกสำนึกในจารีตประเพณีของผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้าต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในบรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย เมื่อพระองค์ตัดสินพระทัยแสดงพระธรรมเทศนาแก่เวไนยสัตว์ คุณธรรมข้อนั้นจึงได้ชื่อว่า พระมหากรุณาคุณ เป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ข้อหนึ่งในบรรดาพระคุณทั้ง ๓ ประการ แล้วพระองค์ก็ทรงทำประโยชน์แก่โลกอย่างกว้างขวาง จนสามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในชมพูทวีป แล้วแผ่ขยายกว้างขวางมาสู่เมืองไทยเรา เราได้เป็นทายาทประพฤติปฏิบัติมาทุกวันนี้ ก็เพราะค่าที่พระพุทธเจ้าสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมิได้เบื่อหน่ายต่อการที่จะทำประโยชน์แก่โลกนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ผู้มีภูมิจิต ภูมิธรรม หรือมีความรู้แจ้งเห็นจริง ในธรรมะที่ควรรู้ ควรเห็น จึงไม่มีทางที่จะเบื่อหน่ายต่อโลก แต่ไม่ยึดถือโลกด้วยอำนาจของกิเลส จะมีก็มีแต่ความเมตตา มีความหวังดี อย่างเช่นหัวหน้าคณะของท่านได้ชักชวนท่านมาฟังเทศน์ฟังธรรม รับการอบรมสมาธิอยู่ ก็เพราะแต่ละท่านมีภูมิจิต ภูมิธรรม ที่จะต้องทำประโยชน์แก่ชาวโลกและตนเองตามสมควร อันนี้คือวิถีความรู้สึกภายในจิตของผู้ปฏิบัติ ต้องเป็นอย่างนั้น
ถ้าจะพูดให้ชัด ๆ ลงไป ถ้าหากว่าพ่อบ้านนั่งสมาธิภาวนาเป็น มีภูมิจิต ภูมิธรรม เบื่อหน่ายต่อครอบครัวอยากจะหนีจากครอบครัว อันนั้นก็ยังไม่ถูกต้อง แม่บ้านภาวนาเป็นแล้ว มีภูมิจิต ภูมิธรรม เกิดเบื่อหน่ายที่จะทำกับข้าวกับปลา หุงข้าวหุงปลาให้ครอบครัวรับประทานอันนั้นก็ไม่ชอบด้วยเหตุผล ในเมื่อบำเพ็ญภาวนาเป็น รู้ธรรม เห็นธรรม มีภูมิจิต ภูมิธรรมดี จะต้องมีความรู้สึกสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ อันเป็นกิจวัตรประจำวันดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นางกุลธิดา ซึ่งเป็นลูกสาวของเศรษฐีและเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ยังเด็กยังเล็ก บังเอิญเพราะผลกรรมบันดาลให้ไปเป็นภรรยาของนายพรานที่ดักสัตว์ป่ามาขายในท้องตลาด ทั้ง ๆ ที่ท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน เวลาสามีจะเข้าป่าไปจับสัตว์ ท่านก็เตรียมเสบียงอาหารให้ เตรียมเครื่องมือให้ แต่ภายในจิตของท่านไม่ได้คิดให้เขาไปจับสัตว์มาได้มาก ๆ จนกระทั่งมีพระสังฆาจารย์ตั้งเป็นปัญหาถามกันขึ้นมา การที่พระโสดาบันทำเช่นนั้น จะไม่ผิดคุณธรรมของพระโสดาบันหรือ พระอรรถกถาจารย์ก็แก้ว่า ไม่ผิด เพราะท่านปฏิบัติไปตามหน้าที่ของภรรยาที่ดี อันนี้คือเป็นคติตัวอย่าง เพราะฉะนั้น ผู้ใดสำเร็จภูมิธรรม แม้จะได้ความเชื่อมั่นในการปฏิบัติของตน หรือมีภูมิจิต ภูมิธรรม ตามสมควรก็ตาม คือได้เป็นอริยบุคคล อย่างที่ไม่มีใครรู้ก็ตาม ย่อมจะมีความตระหนักในหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบเป็นอย่างดี จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ในเมื่อจิตใจตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบแล้วก็มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องประคับประคองจิต จิตก็ดำเนินไปสู่ภูมิจิต ภูมิธรรม ที่ถูกต้อง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ด้วยประการฉะนี้
ต่อนี้ไปขอได้โปรดทำความสงบจิต พิจารณาธรรมตามที่ตนเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว การพิจารณาธรรมนั้น สิ่งใดที่เราพิจารณาแล้ว ทำให้เราเกิดผล เกิดความรู้ ความเห็นขึ้นมา ก็ให้พิจารณาอันนั้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ บ่อย ๆ ย้ำอยู่ที่ของเก่านั้นแหละ อย่าไปเปลี่ยน เพื่อทำให้ชำนิชำนาญเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริง แล้วภูมิจิต ภูมิธรรม จะค่อยขยายเป็นวงกว้างขึ้นเป็นลำดับ ๆ ใครจับโน่นวางนี่ ไม่เป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว จิตของเราก็จะกลายเป็นจิตที่ยึดหลักหรือยึดวิหารธรรมไม่แน่นอน การปฏิบัติก็จะไม่ประสบผลเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น ใครยึดหลักอะไรเป็นเครื่องปฏิบัติ ก็ยึดให้มั่นคงลงไป เราจะพิจารณาหลาย ๆ อย่าง ในเมื่อความรู้ความเห็นเกิดขึ้น ก็อยู่ในลักษณะเดียวกันนั่นแหละ อยู่ในลักษณะความรู้ความเห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันเดียวเท่านั้น เอาสิ่ง ๆ เดียวเป็นเครื่องหมายแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาบ่อย ๆ เข้า เมื่อจิตรู้ซึ้งเห็นจริงในอย่างเดียวเท่านั้น มันก็ถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นไปเอง กิเลสตัณหามันก็ค่อยหมดไปเอง เพราะฉะนั้น จงยึดหลักให้มั่นคง สมาธินี่เราสามารถทำได้ทุกอิริยาบถ หลับตาก็ทำได้ ลืมตาก็ทำได้ นอนก็ทำได้ เพียงเราไม่นึกอะไร บริกรรมภาวนาในใจ เราก็กำหนดไว้ที่ใจ ว่ารู้อะไรแล้วก็ตาม จะตามรู้ให้มันทัน ความคิด คิดอะไรขึ้นมารู้ทัน รู้ให้ทัน เราทำอะไรก็ให้ทันการกระทำของเรา คิดอะไรก็ให้ทันความคิดของเรา พูดอะไรให้ทันคำพูดของเรา ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นการทำสมาธิ ไม่ต้องบริกรรมภาวนาอะไรก็ได้ สำคัญอยู่ที่การทำสติ
เช่นอย่างท่านที่สอนว่า นั่งหนอ นอนหนอ ยืนหนอ เดินหนอ ก้าวย่างหนอ อะไรต่าง ๆ นั่นเป็นการทำสติ เป็นการปฏิบัติสมาธิ อย่าเอาไปเถียงกัน นั่นแหละคือการทำสติ หลักมหาสติปัฏฐานที่ว่า ก้าวไปก็รู้ ถอยกลับก็รู้ คู้ เหยียดก็รู้ นึกคิดอะไรก็รู้ รู้อยู่ตลอดเวลามันก็เหมือนกันนั่นแหละ อย่าไปเถียงกัน การปฏิบัติถ้ามัวไปเถียงกัน นักปฏิบัติชาวพุทธ แทนที่จะช่วยกันทำความเจริญ กลับไปทะเลาะกันเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน อันนั้นมันเป็นวิธีการ แต่ผลที่เกิดขึ้นภายในเราจะรู้จริงเห็นจริงนั้นมันเหมือนกันหมด และอีกอย่างหนึ่ง อาตมาก็ไม่เข้าข้างใครหรอกนะมีผู้กล่าวว่า สอนให้ทำจิตให้ว่างเป็นมิจฉาทิฏฐิ ท่านคงจะเคยได้ยิน ใครปฏิบัติทำจิตให้ว่างเป็นมิจฉาทิฏฐิ สอนคนให้ทำจิตให้ว่างก็เป็นมิฉาทิฏฐิ อันนี้เราไม่ได้ตำหนิใคร แต่ถ้าผู้สอนใช้คำว่า จงทำจิตให้ว่าง แล้วท่านจะสำเร็จนิพพานในช่วงที่จิตว่าง โดยไม่ชี้แจงเหตุผล อันนี้ก็ชวนให้ผู้ฟังเข้าใจผิดเหมือนกัน ความจริงนั้น นักภาวนานี่ ถ้าจิตไม่ว่างแล้ว ภูมิธรรมจะไม่เกิด เช่นสมมติว่า เราอยากจะรู้ว่าอนิจจังคืออะไร อธิษฐานจิตของเรา แล้วบริกรรมภาวนา แล้วพิจารณา ถ้าในขณะที่เรานึกว่า คืออะไร ๆ ๆ อยู่นั่น เราจะไม่รู้ว่าอนิจจังคืออะไร เมื่อจิตอยากจะรู้อยากจะเห็นปล่อยวางปุ๊บ อยู่ในลักษณะที่ว่าง พอว่างเมื่อไรแล้ว คำว่า อนิจจังคืออะไรจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น นักทำสมาธินี่ถ้าไม่สามารถที่จะทำจิตให้ว่างเป็นหนึ่งเมื่อไรแล้ว จะไม่เกิดภูมิความรู้ขึ้นมา อย่างน้อยก็ต้องมีอาการวูบวาบ แล้วว่างพักหนึ่ง แล้วจึงจะเกิดภูมิความรู้ขึ้นมา จะรู้อะไรก็ตาม ถ้าตราบใดยังมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ จะไม่มีทางรู้เห็นได้เลย นอกจากเราจะเดาคาดคะเนเอาเอง ความรู้จริงเห็นจริงจะไม่เกิดขึ้น อันนี้ขอให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ ถ้าใครสามารถทำจิตให้ว่างได้เป็นดีที่สุด ในขณะที่เราอยากรู้อยากเห็นอะไรนั้น เช่นสมมติว่าเราอยากจะถามตัวเองว่าสังขารคืออะไร ก่อนที่เราจะรู้ว่าสังขารคืออะไร เราจะต้องคิดหาเหตุผลเสียก่อนว่าสังขารนี้คืออะไร มีลักษณะอย่างไร มีเท่าไร อะไรทำนองนี้ ตามแบบปริยัติของเรา ทีนี้เมื่อเราพิจารณาค้นคว้าไป บางครั้งสังขารมันเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เพราะอย่างนี้จึงเรียกว่าสังขารเพราะมันปรุงเพราะมันแต่ง เพราะมันไม่มีทางที่จะยับยั้งในการที่ปรุงแต่งต่าง ๆ เราคิดของเราไปอย่างนี้ ในช่วงนั้น ถ้ามันจะรู้จริงแล้ว จิตของเราจะวูบวาบไปสู่ความสงบว่างนิดหนึ่ง แล้วจึงจะเกิดเป็นความรู้ขึ้นมา พอว่างปุ๊บจิตนิ่งอยู่พักหนึ่ง พอเกิดจิตไหวขึ้นมานิดหนึ่งจะมีคำตอบขึ้นมาว่า จิตสังขาร ตัวสังขารที่แท้จริงคือการปรุงของจิต มันจะบอกขึ้นมาอย่างนี้ ใครเป็นผู้บอก จิตของเราที่ว่างนั่นแหละบอกขึ้นมา มันเป็นภูมิรู้ ภูมิธรรม ที่เราอาศัยสัญญา หรืออะไรต่าง ๆ ที่พิจารณานั้น เป็นแนวทางปฏิบัติ เป็นภาคปฏิบัติ เช่นอย่างเราจะพิจารณาว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกของเรานี่ มันเป็นของปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก เราก็นึกเอา ๆ ว่าเอา ๆ ทีนี้ถ้าจิตมันรู้จริงขึ้นมา มันจะหยุดว่า หยุดนึก นิ่ง ความนิ่งของจิตคือความว่าง พอว่างอยู่สักพักหนึ่งมันจะเกิดความรู้ขึ้นมา บางทีเกิดเป็นนิมิตให้มองเห็นสิ่งซึ่งเป็นปฏิกูล น่าเกลียด เน่าเปื่อย ผุพังขึ้นมา บางทีมันจะรู้แต่เพียงว่า ใจน้อมนึกรู้ขึ้นมาว่าเป็นจริงอย่างนั้นเท่านั้น แล้วแต่อุปนิสัยของท่านผู้ใด
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนี่ เราจะเกณฑ์ให้ภูมิจิต ภูมิธรรมนี่เดินไปแบบเดียวกัน รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน ก็ไม่ได้ แม้แต่ผู้ที่ยังไม่เคยภาวนา ไม่เคยทำสมาธิ อาตมาเคยถามคนที่เข้าโรงพยาบาลผ่าตัดที่ถูกวางยาสลบ เคยถามเขาบางคน ถามว่าในขณะที่ถูกวางยาสลบนั้น ความรู้สึกไปอยู่ที่ไหน ไม่รู้ ไม่ทราบว่ามันไปอยู่ที่ไหน แต่บางคนเมื่อถามแล้วเขาบอกว่า ในขณะที่ถูกวางยาสลบนั้น จิตมีอาการวูบ ๆ ๆ ๆ ไป แล้วก็ออกจากร่างไปลอยอยู่ต่างหาก แล้วก็ส่งกระแสมารู้ว่าหมอเขาทำอะไรกับร่างกาย มันรู้อยู่ตลอดเวลา บางทีมันก็มองเห็นโครงกระดูกของตัวเองขึ้นมา นี่พื้นฐานของจิตดั้งเดิมนั้นต่างกัน
อย่างบางท่านมาบริกรรมภาวนาเข้านิดหน่อย จิตสงบ สว่าง ก็รู้ธรรม เห็นธรรมไปอย่างสบายๆ บางท่านบริกรรมภาวนาตั้ง ๕-๖ ปี จิตไม่เคยสงบเป็นสมาธิก็มี แต่เพราะอาศัยศรัทธาความเชื่อมั่นในการปฏิบัติ ก็ทำไปไม่หยุดหย่อน เราจะไปเกณฑ์ไม่ได้
ลักษณะสังเกตของการทำสมาธิ ถ้าหากว่าเราทำสมาธิที่ถูกต้อง หรือภูมิจิตที่เป็นสมาธิที่ถูกต้องนั้น จะมีลักษณะบ่งบอกว่า สมาธิจะต้องทำกายให้เบา ทำจิตให้เบา เบาจนบางครั้งรู้สึกว่าไม่มีกาย นี่ลักษณะของสมาธิที่ถูกต้อง และเมื่อเลิกปฏิบัติออกจากสมาธิมาแล้วก็ทำให้กายเบาตลอดเวลา แม้จะลุกจากที่นั่ง อาการเหน็บชาหรืออะไรต่าง ๆ จะไม่ปรากฏ พอจิตออกจากสมาธิ ลุกขึ้นมาก็เดินไปได้เลย ไม่ต้องมาดัดแข้งดัดขา อันนี้คือสมาธิที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ที่นี้สมาธิบางอย่าง พอลืมตาขึ้นออกจากที่นั่งปฏิบัติแล้ว บางท่านถึงกับให้คนอื่นนวดเส้นนวดเอ็นก่อน อันนี้ไม่ถูกต้องแน่ สมาธิแบบนี้ เหมือนกับมีอำนาจอะไรสักอย่างหนึ่งบังคับ จะเรียกว่าอำนาจสะกดจิตก็ได้ การสะกดจิตมีหลายอย่าง สะกดด้วยอำนาจคาถาอาคม คำบริกรรมภาวนาก็มี อย่างคนที่ปลุกพระ พอเอาพระใส่มือภาวนา นะ มะ พะ ธะ แล้วก็สั่น ๆ นี่ถูกอำนาจสะกดจิตแล้ว อำนาจอะไร อำนาจคาถา บริกรรมภาวนา
คาถาในทางไสยศาสตร์บางอย่าง บริกรรมภาวนาแล้วจะเกิดปีติอย่างแรง อาการสั่นนั้นคืออาการปีติ ทีนี้ปีติเกิดขึ้นอย่างแรงไม่มีขอบเขต มันก็มีอำนาจบังคับจิตของเรา บางทีบังคับจิตของเราให้ไปดูโน่นดูนี่ อะไรที่ไหนต่าง ๆ อะไรทำนองนั้น ถ้าใครทำได้ก็ดีอยู่หรอก แต่อย่าไปหลง ให้มันรู้เท่า “ถ้าหากว่าเราทำสมาธิที่ถูกต้อง หรือภูมิจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้องนั้น จะมีลักษณะบ่งบอกว่าสมาธิจะต้องทำกายให้เบา ทำจิตให้เบา เบาจนบางครั้งรู้สึกว่าไม่มีกาย นี่ลักษณะของสมาธิที่ถูกต้อง”
|