สร้างสุขด้วยศีล
Saturday, 06 November 2010 04:05

สร้างสุขด้วยศีล
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


 
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนศีล ๕

           ในเมื่อเรามาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่ง ก็หมายความว่า เราจะรับเอาพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา
สมมติว่าพระพุทธรูปท่านพูดได้ เราปฏิญาณตนว่า
          "พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก"
ถ้าพระพุทธเจ้าท่านพูดได้….. "เธอจะเอาจริงไหม"
ถ้าเราตอบท่านว่า "เอาจริง"

"เอาจริงแล้วปฏิบัติตามคำสั่งของเราได้ไหม"
"คำสั่งของพระองค์ท่านคืออะไร"
"ศีล ๕ ประการนั้นอย่างไร"
"โอ๊ย! ปฏิบัติไม่ได้แล้ว มันยาก"
"ช่วยไม่ได้"
พระองค์จะบอกเราอย่างนี้

 


          ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่า ศีล ๕ ข้อนี้เป็นหลักธรรมที่เป็นข้อมูล เป็นจุดเริ่มแห่งการกระทำที่เป็นความดี ในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า


          ธรรมทั้งหลายที่กล่าวอยู่นั้น มันเป็นธรรมะกลาง ๆ หลักปฏิบัติสมาธิภาวนาก็เป็นหลักกลาง ๆ ไม่สังกัดในลัทธิและศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าศีล ๕ ข้อนี่มันเป็นบทบัญญัติที่พระพุทธเจ้ายอมรับ ยอมรับเอามาสมทบกับหลักคำสอน

          ศีล ๕ ประการนี้ พระเจ้าองค์ใดบัญญัติไว้เราก็ไม่ทราบได้ยินแต่ว่าเป็นมนุษยธรรม ไม่ได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เรารับทราบกันเพียงว่าเป็นมนุษยธรรม เพราะเป็นธรรมที่ไม่เคยสาบสูญไปจากโลก


 

ศีล ๕ คือจุดกำเนิดของความดีทั้งปวง


          …ผู้ใดปฏิบัติธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา ให้เกิดผลเกิดประโยชน์ทางมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง ขอให้ยึดมั่นในศีล ๕ ประการ เมื่อท่านมีศีล ๕ ข้อนี้โดยบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ความเป็นมนุษย์ของท่านสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม
          เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะปลูกฝังคุณความดีอันใดลงไป คุณความดีอันนั้นก็จะฝังแน่นในกาย ในวาจา และใจของท่าน

 

สงคราม

สงครามที่มีการประหัตประหารซึ่งกันและกันด้วยอาวุธระเบิด


 
ศีล ๕ ป้องกันการฆ่า

          …การรักษาศีล ๕ เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ฆ่ากัน เราพยายามฆ่าเขา เขาต้องพยายามฆ่าเราตอบ
          ถ้าสมมติว่าเราไปฆ่าพ่อฆ่าแม่เขาตาย ลูกเต้าหลานเหลนเขามี เขาก็ผูกพยาบาทอาฆาต พยายามแก้แค้น เพราะ 

  • ปาณาติบาต การฆ่าเป็นเหตุให้เกิดการอาฆาตจองเวรและเป็นเหตุให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน 
  • อทินนาทาน เบียดเบียนทรัพย์สมบัติของท่าน ท่านโกรธท่านก็ฆ่าเอา
  • กาเมสุมิจฉาจาร ข่มเหงน้ำใจท่าน ท่านโกรธ ท่านก็ฆ่าเอา
  • สุรามัวเมา มอมเมาตัวเองคุมสติไม่อยู่ เดี๋ยวก็ทะเลาะเบาะแว้งกันแล้วก็ได้ฆ่ากัน


          …ถ้าหากว่าใครไม่สามารถที่จะรักษาศีล ๕ ได้ตลอดถึงสัตว์เดรัจฉาน ไม่ต้องหนักใจ ตั้งใจกันเอาอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ฉันจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก ใครมีความจำเป็นจะฆ่าเป็ดฆ่าไก่แกงกินเชิญตามสบาย แต่ว่ามนุษย์อย่าไปแตะต้อง


          ในเมื่อเราปรับพื้นฐานรักษาในระดับมนุษย์ให้มีพื้นฐานอันมั่นคง จนรู้สึกว่ามนุษย์นี้เราแตะต้องไม่ได้ ฆ่าไม่ได้ เบียดเบียนไม่ได้ ความเมตตาปราณีมันจะเพิ่มพลังงานขึ้น ในที่สุดมันจะแผ่คลุมไปถึงสัตว์เดรัจฉานเอง แล้วสัตว์เดรัจฉานเราก็จะฆ่าไม่ได้ นี่ความเป็นไปของมันจะเป็นอย่างนี้ เช่นอย่าง นักรักษาศีลบางคน แม้แต่มดแมงก็ไม่ฆ่า แต่โมโหมาจับปืนยิงเพื่อนมนุษย์อะไรทำนองนี้ แสดงว่าเราปูพื้นฐานในระดับมนุษย์ไม่สมบูรณ์

  


ตัดกรรมตัดเวรด้วยศีล ๕

           การทำบาปทำกรรม สิ่งที่เรียกว่าเป็นบาป การกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา โดยมีใจเป็นผู้เจตนา คือมีความตั้งใจทำลงไปแล้วเป็นบาปทันที มีแต่ละเมิดศีล ๕ ข้อเท่านั้น นอกนั้นไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นใครรักษาศีล ๕ ให้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงเป็นการตัดทอนผลเพิ่มของบาปกรรม


          …พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ใครทำกรรมใดไว้ ได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า กรรมใดใครก่อลงไปแล้ว ใจเป็นผู้จงใจคือเจตนาที่ทำลงไป พอทำลงไปแล้วกรรมอันเป็นบาป ภายหลังมาเรามานึกว่าเราไม่ต้องการผลของบาป มันก็หลีกเลี่ยงปฏิเสธไม่ได้ เพราะใจเป็นผู้สั่งให้ กาย วาจา ทำลงไป พูดลงไป ใจตัวนี้ต้องรับผิดชอบโดยความเป็นธรรม โดยหลักของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การที่เราจะไปทำพิธีตัดกรรมนี่หมายถึงตัดผลของบาป มันตัดไม่ได้ อย่าไปเข้าใจผิด

          ขอให้พุทธบริษัททั้งหลาย จงปลูกฝังนิสัยให้เด็กของเราในข้อนี้เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่สุด ถ้าเด็ก ๆ ของเรานี่ไปเข้าใจว่าทำบาปทำกรรมแล้วไปทำพิธีล้างบาปทำพิธีตัดกรรม แล้วมันหมดบาป ประเดี๋ยวเด็ก ๆ มันทำบาปแล้วไปหาหลวงพ่อ หลวงพี่ ตัดบาปตัดกรรมให้ มันก็ไม่เกิดความกลัวต่อบาป เพราะฉะนั้น อย่าไปเข้าใจผิดว่าทำกรรมอันเป็นบาปแล้วตัดกรรมให้มันหมดไป มันเป็นไปไม่ได้ แต่ตัดเวรนี่มีทาง


          …เวร หมายถึงการผูกพยาบาทอาฆาต คอยแก้แค้นกันอยู่ตลอดเวลา เช่นอย่างเราฆ่าเขาตาย บางทีนึกถึงบาปกรรมกลัวว่าเขาจะอาฆาตจองเวร เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา ถ้าหากว่าเขาได้รับส่วนกุศลจากเรา เขาได้รับความสุข เขาเลื่อนฐานะจากภาวะที่ทุกข์ทรมานไปสู่ฐานะที่มีความสุข เขานึกถึงคุณงามความดี ถึงบุญถึงคุณของเรา เขาก็อโหสิกรรมให้แก่เรา ไม่ตามล้างตามผลาญกันอีกต่อไป อันนี้ตัดเวรนี่ตัดได้

 

เวียนเทียน

ใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรมด้วยศีล ๕


          …หลวงพ่อ หลวงพี่ทั้งหลายท่านไปเที่ยวสอนคนไปเทศน์ที่ไหน ก็บอกว่า โยม ละโลภ โกรธ หลง ให้มาก ๆ หน่อยนะ ละให้มันหมด อย่าโลภมากหลาย


           แต่อาตมะมาพิจารณาดูแล้ว พยายามละกิเลส โลภ โกรธ หลง มาแต่อายุ ๑๔ ปี เดี๋ยวนี้ ๗๐ ปีย่างแล้ว ยังมีโลภอยู่ สิ่งที่ยังโลภอยู่เวลานี้ โลภใหญ่ที่สุดก็คือ อยากให้วัดวาศาสนาเจริญ อยากให้คณะสงฆ์มีทุนการศึกษาปริยัติธรรมและการเผยแพร่ อยากให้โรงพยาบาลมีเครื่องมือเครื่องใช้ครบ ล้วนเป็นกิริยาของความโลภทั้งนั้น


          ความโลภนี้ จริงอยู่ มันเป็นกิเลสประเภทอกุศลมูล แต่เมื่อมันมีอยู่ในจิตในใจของเรานี่ เราพยายามละอย่างไรมันก็ละไม่ได้ มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปอาบน้ำฟอกสบู่ให้มันสะอาดเหมือนร่างกายที่มีขี้โคลนเปรอะเปื้อน มันทำอย่างนั้นไม่ได้


          …เมื่อมันมี แล้วเรายอมรับสภาพความจริงว่าเรามี… เราลองพิจารณาคุณประโยชน์ของมัน คนอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น เพราะมีความโลภ ถ้าคนหมดความโลภแล้ว จะไม่รู้จักทำอะไร เอาไว้ให้มันกระตุ้นเตือนใจให้เกิดความทะเยอทะยาน


          …สิ่งปรารถนาในสังคมมนุษย์มี ๕ อย่าง : ความมีลาภ ความมียศ สรรเสริญ ความสุข อำนาจ ห้าอย่างนี้ทุกคนปรารถนาและทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสวงหาด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าการแสวงหานี่ควรจะมีขอบเขต ขอบเขตก็คือศีล ๕ นั่นเอง เราทำอะไรลงไปด้วยอำนาจของกิเลส โลภ โกรธ หลง แต่ว่าเราไม่ละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตำหนิว่าเราเป็นผู้ทำผิด

 


ศีล ๕ ปรับพื้นฐานความเป็นมนุษย์


          เราทั้งหลายที่พากันนึกภูมิใจว่า เราเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง มีความเห็นเข้าข้างตนเอง เห็นว่าเรามีขา ๒ ขา หัวชี้ฟ้า พูดได้ มีความคิดสูง ว่าเราเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เราพิจารณาตามหลักดูว่า…

 

  • ขณะใดเรามีจิตใจเมตตาปรานี เอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารี
    ขณะนั้น ใจเราเป็นมนุษย์ กายเราก็เป็นมนุษย์
  • ขณะใดใจมีหิริโอตตัปปะ อายต่อบาป สะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่อาจทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
    ขณะนั้น กายเราเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นเทวดา
  • ขณะใดที่ใจของเรามันเกิดโหดเหี้ยมขึ้นมา… อยากฆ่าใคร ฆ่า อยากด่าใคร ด่า อยากตีใคร ตี…
    ในขณะนั้น กายของเราเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน
  • ขณะใดที่เราเกิดความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ไม่เอาไหน ประโยชน์ตนไม่คำนึงถึง
    ประโยชน์ท่านก็ไม่เอา ปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยไปโดยไม่มีประโยชน์อันใด
    ขณะนั้น กายของเราเป็นมนุษย์ แต่ใจของเราเป็นเปรต
  • ขณะที่เรามีความรู้สึกสำนึกผิดชอบ ชั่วดี มีจิตใจรู้ ตื่น เบิกบาน สว่าง สะอาด
    ในขณะนั้น กายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นพระสงฆ์ ถ้าสำเร็จเป็นอรหันต์ ก็เป็นพระอริยเจ้า

          …นี่คือการพิจารณาตัวเองอยู่กันที่ตรงนี้

 


ศีล ๕ ปูพื้นฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย

           …หัวใจของประชาธิปไตยอยู่ที่การเคารพสิทธิมนุษยชน ผู้มีศีล ๕ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ก็เป็นผู้เคารพทุกสิทธิ แม้สิทธิในความมีชีวิตอยู่ของมด แมง เหลือบ ยุง เราก็เคารพเขา เพราะฉะนั้น ศีล ๕ จึงเป็นธรรมะที่เป็นมูลฐานให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตย นักกฎหมายลองเอาไปวินิจฉัยลองดูว่าเป็นจริงไหม


สมาธิต้องอาศัยศีล


          …การปฏิบัติธรรมนี้ ต้องพยายามปรุงแต่งกาย วาจาให้เป็นศีลโดยเจตนาเบื้องต้นก่อน แล้วพยายามฝึกหัดจิตให้มีความมั่นคงเป็นปกติ สามารถสร้างความเป็นปกติจิตขึ้นมาได้ กลายเป็น ศีลใจ ในเมื่อศีลใจบังเกิดขึ้น ศีลกาย ศีลวาจา ก็พลอยเป็นปกติไปด้วย โดยที่เราไม่ต้องควบคุมและบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น

          …การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่ความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ นักภาวนาที่ไม่ค่อยได้ผล หรือจิตสงบลงไปแล้วไปนิ่งซืด ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่มีน้ำมีนวล เพราะศีลไม่บริสุทธิ์ ถ้าใครเจอปัญหาอย่างนี้ให้รีบพิจารณาศีลของตนเอง


          …สมาธิที่มีศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัย มิจฉาสมาธิเข้ามาแทรกไม่ได้ แม้แต่จิตสงบสว่างลงไปแล้วมองเห็นภาพนิมิตต่าง ๆ ผู้ภาวนาเพราะอาศัยศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัยจะไม่เข้าใจผิดในนิมิตนั้น ๆ


          …แม้จะเป็นนิมิตภาพผู้วิเศษ ภูติ ผี ปีศาจ ตามที่เราเข้าใจหรือใคร ๆ อาจชักจูงให้เราเข้าใจผิด เราจะไม่เข้าใจผิด แต่จะเข้าใจว่า ภาพนิมิตต่าง ๆ ที่มองเห็นนั้นเป็นแต่เพียงอารมณ์จิต เป็นมโนภาพที่จิตของเราปรุงแต่งขึ้นมา แล้วจะมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทัน ไม่หลงยึดในสิ่งเหล่านั้น…


          การภาวนาเห็นภาพนิมิตต่าง ๆ นี้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เพียงพอ หรือรู้ไม่ทัน อันตราย

 


ศีลของจิตคือสติสัมปชัญญะ

          …กฎเกณฑ์ตั้งแต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นวิธีการ เวลาท่านเรียงลำดับ ท่านยกศีลไว้ในเบื้องต้นเพราะว่า ศีลเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องละวางโดยเจตนา…


          เมื่อเรารักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยเป็นปกติ กายปกติ วาจาปกติ ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยหนุนเนื่องให้จิตมีความเป็นปกติ เมื่อจิตเป็นปกติ ศีลก็วิ่งไปสู่จิต จิตจะปรากฏเหลือแต่สติวินโยตัวเดียว คือมีสติเป็นผู้นำ มีความสำนึกผิดชอบชั่วดีอยู่ตลอดเวลา เป็นสัญญลักษณ์ให้เรารู้ตัวว่า พุทธะ กำลังเกิดขึ้นที่จิตของเรา

          เมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะควบคุมกันอยู่ตลอดเวลา สำนึกรู้พร้อมอยู่ตลอดเวลา บางครั้งบางโอกาสจิตจะวิ่งไปสู่ความสงบนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข ก็กลายเป็นจิตพุทธะ แล้วการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไปแล้ว สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี กลายเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีลอย่างมั่นคง

ฝึกสติ เพื่อสร้างจิตให้เป็นพุทธะ

          เพียงแต่เราทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ หลับตาภาวนากันที่ไหนไม่ต้องเข้าห้องกรรมฐาน ๗ วัน ๑๕ วัน ไม่ต้องสละงานในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบอยู่ไปสู่สถานที่วิเวกแห่งใด… เมื่อเราพยายามฝึกหัดทำสมาธิแบบนี้ เราจะไม่พบอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติ และเราไม่ต้องเลือกกาล เลือกเวลา ไม่ต้องอ้างโน่นอ้างนี่ว่าเราไม่มีเวลาจะทำ…


          …ในหลักมหาสติปัฏฐานท่านสอนว่า การก้าวไปก็รู้ การถอยกลับก็รู้ การคู้แขนเหยียดแขนก็รู้… เอาตัวรู้ตัวเดียวตามรู้ เมื่อสติสัมปชัญญะทรงพลังขึ้น ตัวรู้ที่เราตกแต่งเอานี้จะกลายเป็นอัตโนมัติ สามารถที่จะตามรู้ความรู้สึกนึกคิดและความเคลื่อนไหวของเราเองทุกขณะจิต เมื่อตัวรู้นี้มีพลังแก่กล้าขึ้น จิตสามารถที่จะมีสติตามรู้ทุกอย่างอันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอยู่ทุกขณะจิต เมื่อเป็นเช่นนั้นโอกาสที่จิตจะสงบลงเป็นสมาธิย่อมมีได้ในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง


          …พยายามกำหนดพิจารณารู้เรื่องของจิตของกายนี้ให้รู้ชัดเจนลงไป อย่ามัวแต่มุ่งที่จะรู้โลกหน้าโลกอื่น รู้แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าภาวนาไปแล้วไปเห็นเทวดา ๆ เขาก็ไม่มาช่วยขัดกิเลสให้เราหรอก ถ้าภาวนาแล้วไปเห็นนรก เราจะเอาน้ำทองแดงในหม้อนรกมาชำระล้างกิเลสก็เป็นไปไม่ได้ เห็นพระอินทร์ พระพรหมท่านก็ช่วยอะไรเราไม่ได้


          การปฏิบัติธรรมตามแนวพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง อยู่ที่การสร้างจิตของตัวเองให้มีพลังเข้มแข็ง มีสติสัมปชัญญะรู้รอบอยู่ที่ตัวเอง สามารถยืนหยัดอยู่ในความเป็นอิสระได้ตลอดกาล ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรืออารมณ์ที่กำหนดรู้ เป็นแต่เพียงสื่อนำจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีสติปัญญา เมื่อเรามีสมาธิ มีสติปัญญาแก่กล้าแล้ว คำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือสิ่งที่กำหนดเหล่านั้นไม่มีความหมาย เรามากำหนดหมายเอาเฉพาะแต่สิ่งที่มาสัมผัสรู้กับจิต แล้วสติรู้ทันในขณะปัจจุบัน นี่เป็นเรื่องสำคัญ

นั่งสมาธิ
 


ผลเบื้องต้น

          …แม้ว่าใครภาวนาแล้วจิตไม่สงบเป็นสมาธิ ไม่ได้ญาณไม่ได้ฌานอย่างที่ท่านว่าก็ตาม แม้ไม่รู้เห็นอะไรก็ตามแต่ให้สังเกตดูสติของเรานี้มันดีขึ้นกว่าที่เราไม่เคยภาวนาไหม ถ้าสังเกตดูสติ เมื่อเรามีความคิดอะไรแล้วสติมันโผล่ขึ้นมา คิดอะไรมันตามรู้ไป ๆ เมื่อพูดมันไปจ้องอยู่กับคำพูด เมื่อคิดมันไปจ้องอยู่กับความคิด เมื่อทำงานมันไปจ้องอยู่กับงาน เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น จิตสามารถมีสติปัญญาแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้ทันท่วงที เมื่อมีปัญหาชีวิตประจำวันมันแก้ได้ เมื่อมีปัญหาการงานมันแก้ได้ ขอให้สังเกตดู ถ้าได้อย่างนี้แล้ว แม้ว่าจิตจะยังไม่สงบเป็นสมาธิเท่าที่ควรก็ตาม ถือว่าเป็นการปฏิบัติได้ผล

 

ผลบั้นปลาย

          …ขณะใดที่เราสามารถฝึกอบรมจิตใจของเราให้มีสติสัมปชัญญะกลายเป็นตัวปกติเด่นชัดอยู่ภายใน เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นรู้ รู้แล้วจักปล่อยวาง มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในกฎธรรมชาติ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปล่อยวางจิตเป็นกลางโดยปกติ เป็นกลางโดยเที่ยงธรรม สิ่งใดเกิดขึ้นดับไปภายในจิต สักแต่ว่ารับรู้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไป เพราะอาศัยความที่จิตมีสติสัมปชัญญะเข้มแข็ง สามารถปรุงจิตให้มีพลังงานดำรงตัวเด่นอยู่โดยความเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งใด เมื่อเป็นเช่นนั้น นิโรธ ธรรมชาติของจริงฝ่ายคุณธรรมที่เราปฏิบัติถึงย่อมปรากฏเด่นชัดขึ้นมา


          เมื่อจิตเป็นปกติ ไม่หวั่นไหวต่อกิเลสและอารมณ์ มีแต่ความปกติ รู้ ตื่น เบิกบานอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนน้ำในท้องทะเลหรือน้ำในขัน ในตุ่ม ที่ไม่กระเพื่อมมีแต่นิ่งปราศจากคลื่นฟอง แม้น้ำจะลึกแสนลึก แต่เราสามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในใต้ท้องทะเลหรือก้นตุ่ม ก้นขันได้อย่างถนัด แม้จะมองดูเงาหน้าของเราก็มองเห็นได้ชัดเจน


          เมื่อจิตของเราเป็นปกติ นิ่ง ไม่กระเพื่อม รู้ ตื่น เบิกบานเป็นปกติ เราก็สามารถมองเห็นสภาพความจริงภายในจิต เปรียบเหมือนมองเห็นเงาหน้าของตัวเอง นอกจากจะมองเห็นเงาหน้าของตัวเองแล้ว ยังมองเห็นช่องทางที่จะดำเนินชีวิตไป เพื่อปฏิบัติดำเนินชีวิตไปสู่แนวทางแห่งการบรรลุมรรค ผล นิพพาน หรือการพ้นทุกข์ซึ่งเรียกว่า มัคคปฏิปทา ย่อมปรากฏเด่นชัดขึ้น นี่คือกฎธรรมชาติฝ่ายดี ซึ่งเกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราอบรมแล้ว


Last Updated on Saturday, 06 November 2010 05:05
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner