Home ปุจฉา – วิสัชนา โดยหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ปุจฉา – วิสัชนา โดยหลวงพ่อพุธ
ปุจฉา – วิสัชนา โดยหลวงพ่อพุธ PDF Print E-mail
Wednesday, 22 September 2010 13:19

 

ปุจฉา – วิสัชนา
เรื่อง สมาธิภาวนา

โดย

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย


ถาม  เมื่อยังไม่ได้ทำสมาธิภาวนานอนหลับแล้วไม่ค่อยฝัน แต่เมื่อฝึกหัดทำสมาธิภาวนาแล้ว นอนหลับแล้วมักจะฝัน เพราะเหตุใด

ตอบ  การภาวนาเป็นอุบายที่ทำให้จิต เกิดมีสมาธิ โดยปกติผู้ภาวนา จะเป็นบริกรรมภาวนาก็ตาม หรือพิจารณาอะไรก็ตาม หรือดูลมหายใจก็ตาม มันเป็นอุบายให้จิตเกิดมีสมาธิ วาระแรกของความเกิดมีสมาธิแห่งจิตนั้น คือ การนอนหลับ เช่นอย่างเราภาวนาแล้วมันมีอาการเคลิ้มๆ ลงไป เหมือนจะนอนหลับแล้วก็เกิดเป็นความหลับขึ้นมา เมื่อหลับลงไปแล้วมันหลับไม่สนิท จิตกลับตื่นเป็นสมาธิอ่อนๆ ในเมื่อจิตมีสมาธิอ่อนๆ จิตมีลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น แล้วก็มีความรู้สึกว่า มีความสว่างเรืองๆ จิตส่งกระแสออกไปข้างนอก จึงเกิดนิมิตฝันขึ้นมา อันนี้มันเกิดสืบเนื่องมาจากการฝึกปฏิบัติสมาธิในขั้นต้นๆ เพราะในตอนนี้สติสัมปชัญญะยังไม่มีพลังเพียงพอที่จะประคับประคองจิต ให้อยู่ในสภาวะที่เป็นสมาธิอย่างแน่วแน่ได้ เพราะเมื่อหลับลงไปแล้ว ความรู้สึกมันรู้สึกลอยๆ คว้างๆ ออกไป จะว่าหลับก็ไม่ใช่ จะว่าตื่นก็ไม่ใช่ มันอยู่ครึ่งหลับครึ่งตื่นแล้วก็ทำให้เกิดฝัน

 

ถาม  การฝึกสมาธิ จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิอย่างเดียวหรือไม่

ตอบ  ไม่จำเป็น นอกจากเราจะทำเป็นพิธีการเคารพต่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

 

ถาม  ถ้าเรานอนสมาธิก่อนจะหลับ โดยทำให้เราหลับง่ายเข้า ถือเป็นสมาธิหรือไม่

ตอบ  ถือเป็นสมาธิเหมือนกัน อันนี้ดีที่สุด ถ้าฝึกทำสมาธิเวลานอน ถ้านอนหลับลงไปแล้ว จิตเกิดเป็นสมาธิเวลานอน สุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตจะดีมากขึ้น

 

ถาม  ขณะนั่งสมาธิ มีภาพเหตุการณ์เกิดขึ้น จะทราบได้อย่างไรว่าสิ่งนั้น ภาพนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือนึกคิดขึ้นเอง เช่นครั้งหนึ่ง ขณะนั่งสมาธิ มีคนรู้จักที่ตายไปแล้วมาปรากฏ ทั้งๆ ที่ไม่เคยนึกถึงเขามาก่อน อยากทราบว่า ภาพนี้เป็นจริงหรือไม่ ถ้าจริงเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตอบ  ภาพนี้เป็นทั้งจริง และไม่จริง ถ้าหากว่านิมิตนั้นในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริง ก็เป็นเรื่องความจริง แต่ถ้านิมิตมันเกิดขึ้นแล้วไม่จริง ก็ไม่จริง อันนี้สุดแท้แต่จิตของเราจะปรุงเป็นมโนภาพขึ้นมา ถ้าหากว่าจิตของเรามีความมั่นคงเพียงพอ มีสติสัมปชัญญะเพียงพอ นิมิตที่เกิดขึ้นนั้น มันก็เป็นความจริง แต่ส่วนมากภาพนิมิตในขั้นต้นๆ นี้ มันจะเกิดขึ้นในระยะที่เราบริกรรมภาวนา แล้วรู้สึกว่าจิตมันเคลิ้มๆ เกิดสว่าง จิตมันลอยเคว้งคว้าง สติสัมปชัญญะยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก แล้วก็เกิดภาพนิมิตต่างๆ ขึ้นมา อันนี้ให้ทำความเข้าใจว่า เป็นมโนภาพเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งสำคัญมั่นหมายว่าเป็นความจริง ถือว่าเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์อันหนึ่ง เราอาจจะกำหนดรู้ภาพนิมิตอันนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ แล้วภาพนิมิตนั้นอาจจะแสดงให้เรารู้ในแง่กรรมฐาน ได้แก่ อสุภกรรมฐาน เป็นต้น ก็ได้

  

ถาม  การปฏิบัติที่ใช้คำภาวนาว่า พุทโธ จะใช้พร้อมกับการเพ่งกสิณ เช่น สีเขียว เป็นต้น ได้หรือไม่

ตอบ  อันนี้แล้วแต่ความถนัด หรือความคล่องตัวของท่านผู้ใด การภาวนาเป็นการนึกถึงคำพูดคำหนึ่ง คือ พุทโธ แต่การมองสีเขียว เพ่งสีเขียวเป็นเรื่องของตา เป็นเรื่องของสายตา จะใช้พร้อมกันกับพุทโธๆ ไปด้วยก็ได้ ไม่ขัดข้อง แต่ว่าถ้าจะภาวนาพุทโธแล้ว ลมหายใจควรจะคู่กับพุทโธ เป็นเหมาะที่สุด เพราะว่าเมื่อภาวนา พุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออก โดยปกตินักภาวนาเมื่อจิตสงบลงไปบ้างแล้ว คำภาวนาจะหายไป เมื่อคำภาวนาหายไปแล้ว จิตจะไปยึดลมหายใจเป็นเครื่องรู้ จะได้ตามลมเข้าไปสู่ความสงบอย่างละเอียดนิ่งจนถึงอัปปนาสมาธิ จะใช้ลมหายใจพร้อมกับนึกกำหนดอานาปานุสสติก็ได้ ลมปราณ คือ ลมหายใจ อานาปานุสสติ ก็คือ ลมหายใจ เป็นอันเดียวกัน

 

ถาม  เมื่อจิตติดอยู่ปีติ และความสุข มีอยู่บ่อยๆ ครั้ง จนไม่อยากจะถอนออกจากสมาธิ จะมีอุบายแก้ไข ได้อย่างไร

ตอบ  ในขั้นนี้ ยังไม่ต้องการอยากจะให้ใช้อุบายแก้ไข เพราะจิตที่มีปีติและความสุข ตามที่ท่านว่านี้ ยังไม่มั่นคงเพียงพอ ให้พยายามฝึกให้มีปีติ มีความสุข ให้มันอยู่ในขั้นที่เรียกว่า ได้ ฌานสมาบัติ อันนี้เป็นความรู้สึกสัมผัสเพียงนิดหน่อย อยากจะเปลี่ยนอะไรทำนองนี้ ดำเนินให้จิตมีความสงบ มีปีติ มีความสุขบ่อยๆ เข้า มันจะได้เกิดมีความชำนาญในการเข้าออกสมาธิ แล้วถ้าจะอยากให้จิตมีสภาพเปลี่ยนแปลง ให้คอยจ้องเวลาจิตถอนออกจากสมาธิ ในเมื่อหมดปีติ หมดความสุขในสมาธิแล้ว เกิดความคิดขึ้นมา ทำสติตามรู้ความคิดนั้น หรือจะหาอะไรมาพิจารณาก็ได้ เพื่อเป็นการฝึกจิตให้รู้จักการพิจารณา

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม จะลงสู่ความสงบ แล้วมีนิมิตเสียงดังมาก เช่น ดังเปรี้ยง เหมือนฟ้าผ่า หรือเสียงก้องมา แต่ก็มีสติรู้ ไม่ตกใจ ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกจะปฏิบัติอย่างไร

ตอบ  ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ขอให้ถือว่าสิ่งนั้นคือเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ จะเป็นสี แสง เสียง หรือรูปนิมิต อะไรต่างๆ ก็ตาม ให้ถือว่าเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ประคองจิตทำสติไว้ให้ดี แล้วผลดีจะเกิดขึ้น อย่าไปตกใจ หรือไปแปลกใจกับสิ่งเหล่านั้น

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิ ก็ใช้คำบริกรรมคือ สมถะตลอด แต่เวลาเดินจงกรมใช้พิจารณากายที่เดิน กำหนดสติกับการเดิน ทั้งสองควบคู่กันไป จะสมควรหรือไม่

ตอบ  อันนี้สมควร แล้วแต่อุบายของท่านผู้ใด บางทีถ้าหากว่าจิตมันต้องการบริกรรมภาวนา ก็บริกรรม ถ้าต้องการจะกำหนดรู้อิริยาบถ ก็กำหนดรู้อิริยาบถ ถ้ามันจะต้องการค้นคิดพิจารณา ก็ให้มันค้นคิดพิจารณา อย่าไปขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางทีมันอาจจะสงบขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่าไปฝืน บางทีมันอาจจะเกิดความรู้ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดความรู้ ก็อย่าไปฝืน ปล่อยมันให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน หน้าที่ของเรามีแต่ทำสติกำหนดตามรู้เท่านั้น

 

ถาม  เมื่อทำสมาธิแล้ว จิตไม่ค่อยสงบ มักจะน้อยใจว่าตนเองว่า ไม่มีวาสนาบารมี

ตอบ  อย่าไปคิดอย่างนั้นซิ ในเมื่อจิตไม่สงบก็ทำเรื่อยไป ทำสติรู้และพิจารณาว่ามันไม่สงบเพราะอะไร ค่อยแก้ไข และพากเพียรพยายามทำให้มากๆ เข้า เดี๋ยวมันก็เกิดความสงบขึ้นมาเอง

 

ถาม  ทำสมาธิภาวนานั้น ที่เราภาวนา พุทโธ นั้น จะต้องเอาจิตไปกำหนดไว้ที่ไหน เช่น ไว้ที่คำว่า พุทโธ หรือทำจิตรู้ไว้ตรงหน้าเฉยๆ หรือตามลมหายใจ

ตอบ  พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ พุทโธ แปลว่าผู้ตื่น พุทโธ แปลว่า ผู้เบิกบาน การภาวนาพุทโธ เอา รู้ ไปไว้กับคำว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี้เป็นอารมณ์เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นคำพูดคำหนึ่ง แต่ถ้าเราเอาตัวรู้สึกสำนึกไปไว้ที่ พุทโธ แปลว่า เอาพุทโธไปไว้กับคำว่า พุทโธ ทีนี้เวลาเราภาวนาพุทโธ จะเอาจิตไปไว้ที่ไหนก็ได้ เช่น จะไม่เอาไว้ หรือจะเอาไว้ ไม่ตั้งใจเอาไว้ที่ไหน เราก็กำหนดรู้ลงที่จิต ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั้น ความรู้สึก สภาวะรู้ คือ พุทธะ ผู้รู้ แล้วจะเอาคำว่า พุทโธ ไปไว้กับสภาวะผู้รู้ พร้อมกับนึก พุทโธๆๆ คำว่า พุทโธ ไม่ใช่ผู้รู้ เป็นแต่เพียงอารมณ์ของผู้รู้ การทำสติให้รู้อยู่กับพุทโธ การทำสตินั้นคือตัวผู้รู้ แล้วเอาตัวผู้รู้มานึกถึงคำพูดว่า พุทโธ เอาพุทโธไว้ที่จิต เอาจิตไว้ที่พุทโธ บางท่านก็บอกว่า เอาจิตไว้ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก พุท พร้อมกับลมเข้า โธ พร้อมกับลมออก บางท่านก็สอนให้กำหนดรู้ที่ปลายจมูกตรงที่ลมผ่านเข้า ผ่านออก แล้วก็นึกพุทโธๆๆ ไปเรื่อย อันนี้แล้วแต่ความเหมาะกับจริตของ ท่านผู้ใด ถ้าหากว่าการกำหนดบริกรรมภาวนาพุทโธ ถ้าเรากำหนด พุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออก จังหวะมันยังห่างอยู่ จิตยังส่งกระแสไปทางอื่นได้ ก็ปล่อยลมหายใจเสีย แล้วนึก พุทโธๆๆ ให้มันเร็วเข้า อย่าให้มีช่องว่าง จะเอาไว้ที่ไหนก็ได้

 

ถาม  ขณะทำสมาธิ จะรู้ได้อย่างไรว่า จิตจวนจะเข้าภวังค์แล้ว และจะรู้ได้อย่างไรว่า จิตกำลังอยู่ในภวังค์

ตอบ  อันนี้เราพึงสังเกตว่า ถ้าเราเกิดมีกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ กายคล่อง จิตคล่อง กายควร จิตควร พึงเข้าใจเถิดว่า จิตของเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ภวังค์  ทีนี้คำว่า ภวังค์ นี้ หมายถึง ช่วงว่างระหว่างที่จิตกำลังบริกรรมภาวนาอยู่ แล้วปล่อยวางคำภาวนา มีอาการวูบลงไป วูบเป็นอาการ เป็นความว่างของจิต ช่วงที่วูบนี้ไปถึงระยะจิตนิ่ง ช่วงนี้เรียกว่า จิตตกภวังค์ ทีนี้เมื่อจิตตกภวังค์วูบลงไปนิ่งพั้บ ถ้าไม่หลับ สมาธิเกิด ถ้าจะเกิดความหลับ ก็หลับไปอย่างไม่รู้ตัว แต่ถ้าแบบสมาธิจะเกิด พอนิ่งปั๊บ จิตเกิดสว่าง แสดงว่าจิตเข้าสู่สมาธิ ถ้านิ่งปั๊บ มืดมิดไม่รู้เรื่อง จิตนอนหลับ นี่พึงสังเกตอย่างนี้ จิตที่เข้าสมาธิต้องผ่าน ภวังค์ไปก่อน ภวังค์ คือช่วงว่างของจิตที่ปราศจากสติ เช่น อย่างเราคิดถึงสิ่งหนึ่ง เช่น คิดถึงแดง แล้วจะเปลี่ยนไปคิดถึงขาว ช่วงว่างระหว่างขาวกับแดงนี้ ตรงกลางเรียกว่าภวังค์ สมาธิที่จิตปล่อยวางภาวนามีอาการเคลิ้มๆ แล้วก็วูบ ชั่ววูบเรียกว่า จิตตกภวังค์ เมื่อวูบแล้วนิ่งมืดมิดไป เรียกว่าจิตหลับ ถ้าวูบพั้บเกิดความสว่างโพลงขึ้นมา จิตเป็นสมาธิ พึงทำความเข้าใจอย่างนี้

 

ถาม  ขณะง่วงนอน และต่อสู้กับความง่วงอยู่นั้น จะเป็นโอกาสให้สติกลับรู้ตัวตามทัน หรือไม่

ตอบ  ถ้าหากเรามีการต่อสู้ ก็มีความตั้งใจ ในเมื่อมีความตั้งใจก็เกิดมีสติรู้ตัว ถ้าความตั้งใจมีพลังเข้มแข็งขึ้น สติก็เข้มแข็งขึ้น เมื่อสติเข้มแข็งขึ้น ความง่วงก็หายไป ถ้าสติกับความง่วง สู้ความง่วงไม่ได้ก็กลายเป็นหลับไป

 

ถาม  ขณะทำสมาธิเกิดนิมิตขึ้นมาเป็นภาพ จะต้องปฏิบัติหรือกำหนดจิตอย่างไร

ตอบ  ในเมื่อทำสมาธิแล้ว จิตสงบลงไปเกิดเป็นนิมิตภาพขึ้นมา ระวังอย่าให้เกิดมีความเอะใจ หรือแปลกใจกับการเห็นนั้น ให้ประคองจิตอยู่เฉยๆ ถ้าไปเกิดเอะใจหรือทักท้วงขึ้นมา สมาธิจะถอน เมื่อสมาธิถอนแล้วนิมิตหายไป ถ้าใครสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติ นิมิตนั้นจะอยู่ให้เราดูได้นาน และนิมิตนั้นจะเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เป็นฐานที่ตั้งของสติ บางทีนิมิตนั้นอาจจะ แสดงอสุภกรรมฐาน หรือแสดงความตาย ถ้าแสดงอสุภกรรมฐานให้เราดู เช่น ล้มตายลงไป เน่าเปื่อย ผุพัง ก็ได้อสุภกรรมฐาน ได้มรณัสสติ ถ้าจิตของท่านผู้นั้นสำคัญมั่นหมายในพระไตรลักษณ์ ภาพนิมิตนี้มันก็ไม่เที่ยง ปรากฏขึ้นมาแล้วมันก็ล้มตายไป ตายไปแล้ว ก็เปลี่ยนแปลงเป็นเน่าเปื่อย ผุพัง สลายตัวไป เสร็จแล้วก็ได้วิปัสสนากรรมฐาน

เพราะฉะนั้น ในเมื่อภาวนาเกิดนิมิตขึ้นมาแล้ว อย่าไปดีใจ เสียใจ กับนิมิตนั้น ให้ประคองจิตให้รู้อยู่เฉยๆ ธรรมชาติของ นิมิตนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ในเมื่อมันมีการเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้เรารู้ ทำให้รู้ว่า แม้นิมิตนี้มันก็ไม่เที่ยง หรือเพียงแค่มันเกิดขึ้นแล้วหายไป เกิดขึ้นแล้วมันหายไป มันก็ไปตรงกับคำว่า เกิด-ดับ เกิด-ดับ ที่เรากำหนดรู้กันอยู่ในจิต ความเกิด-ดับ ความคิดมันเกิดขึ้น ความคิดมันดับไป ก็คือ การเกิดดับ นิมิตเกิดขึ้น นิมิตดับไป ก็คือความเกิดดับ สุขมันเกิดขึ้น สุขมันดับไป ก็คือความเกิดดับ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ดับไป ก็คือความเกิดดับ เมื่อเรามีสติกำหนดรู้ความเป็นไปของมันอยู่อย่างนี้ เราจะได้สติปัญญาดีขึ้น แล้วอาจจะเกิดปัญญา รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นมาได้

 

 

ถาม  ภาวนาไปจิตเบื่อหน่ายจะทำอย่างไร จิตเศร้าหมองจะทำอย่างไร

ตอบ  ความเบื่อ เป็นอาการของกิเลส ในเมื่อมันเกิดเบื่อ พิจารณาความเบื่อ เอาความเบื่อเป็นอารมณ์ ถามตัวเองว่า ทำไมมันจึงเบื่อ เมื่อได้คำตอบนี้แล้ว ถามต่อไปอีกว่า ทำไมๆๆ เพราะอะไรๆๆ ไล่มันไป จนมันจนมุม เอาความเบื่อเป็นอารมณ์ เอาความเบื่อเป็นเครื่องรู้  เราก็พิจารณาหาเหตุผลความเบื่อให้ได้ การพิจารณาเช่นนี้ก็คือ การพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน

จิตเศร้าหมองก็พยายาม ภาวนา ให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ ในเมื่อจิตมันรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว มันจะหายเบื่อ และจะหายเศร้าหมอง

 

ถาม  จิตมันมองเห็นกายเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะมันเกิดทุกข์ แล้วก็เบื่อ มันมองเห็นกายเป็นของสกปรก จิตมันรังเกียจ มันเกิดเบื่อ จะทำอย่างไร

ตอบ  อันนี้เป็นอาการของกิเลส ถ้ามันเกิดอาการอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว เราขาดสติ ไปถือเอาความเบื่อเป็นเรื่องที่จะมาทำให้จิตของเรามัวหมอง หรือเศร้าหมอง ก็เรียกว่า เราขาดสติ ขาดปัญญา เมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมา ต้อง พิจารณาจนกว่ามันจะหายเบื่อหน่าย หายเศร้าหมอง

 

ถาม  ขอให้ช่วยสอนวิธีทำสมาธิเกี่ยวกับ ชีวิตประจำวัน (พระนวกะ)

ตอบ  การทำสมาธิเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เฉพาะพระนวกะภิกษุที่เราจะยึดเป็นหลักที่แน่นอน วันหนึ่งๆ ท่านตื่นขึ้นมา ก็มีความรู้สึก ให้ท่านถามปัญหาตัวเองว่า เราเป็นอะไร แล้วก็ตอบตัวเองว่า เราเป็นนักบวช ถามต่ออีกว่า บวชมาทำไม ตอบว่า บวชมาเพื่อศึกษาธรรมวินัย ถามต่อว่า ศึกษาธรรมวินัยไปทำไม ตอบว่า ศึกษาไปเป็นข้อปฏิบัติ ถามอีก ปฏิบัติเพื่ออะไร นึกพิจารณาทบทวนอยู่อย่าง นี้ โดยไม่ต้องไปภาวนาพุทโธๆๆ หรือพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรก็ได้ เอาหน้าที่ของตัวเอง ความเป็นของตัวเอง ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาเป็นปัญหาเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน โดยนึกอยู่เสมอว่าเวลานี้เราเป็นอะไร แล้วก็ตอบปัญหาของตัวเองเป็นเปลาะๆ ไป ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ

โดยในทำนองนี้ ถ้าหากว่าท่านนั่งหลับตา แล้วก็ตั้งถามปัญหาตัวเองว่าเราเป็นอะไร เราเป็นเพระนวกะ พระนวกะคืออะไร คือพระผู้บวชใหม่ เราบวชมาทำไม บวชมาเพื่อศึกษาธรรมวินัย ธรรมวินัยที่จะต้องศึกษามีอะไรบ้างและเพื่ออะไร ถามปัญหาตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็จะสามารถทำจิตสงบเหมือนกัน และอีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าท่านไม่ได้นึกอย่างนี้ ท่านจะถือโอกาสเอาวิชาความรู้ที่ท่านเรียนมา ที่ท่านได้ปริญญามาแล้ว เอามาวิตกเป็นหัวข้อ พิจารณาถามตัวเองไปเป็นเปลาะๆ ท่านคิดถึงอะไร ทำความคิดให้มันชัดๆ ทำสติให้มันรู้ชัดๆ อย่าทำโดยความไม่มีสติ

สิ่งใดที่ทำด้วยความมีสติ คิดด้วยความมีสติ สิ่งนั้นคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนี้ เพื่อความมีสติ ในเมื่อการมีสติเพราะการค้นคิดพิจารณา เกี่ยวกับวิชาความรู้และงานการที่เราทำอยู่หรือสิ่งที่เราเป็นอยู่ใน ปัจจุบัน สมาธิเกิดขึ้นแล้วสามารถที่จะเอาไปสนับสนุนวิชาความรู้และงานการที่เราทำ อยู่ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำสติอันเดียว แม้แต่ชาวบ้านซึ่งเป็นแม่บ้านหรือแม่ครัว เป็นแต่เพียงตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่า วันนี้เราจะทำกับข้าวอะไร เราจะทำแกงเผ็ด ส่วนประกอบของแกงเผ็ดมีอะไรบ้าง แล้ววิธีทำจะทำอย่างไร นั่งค้นคิดพิจารณาวนเวียนกลับไปกลับมาอย่างนั้น มันก็เป็นอารมณ์ของการปฏิบัติกรรมฐานได้ เราทำอะไรอยู่ ทำสติกับสิ่งนั้น เราคิดอะไรอยู่ ทำสติกับสิ่งนั้น เราพูดอะไรอยู่ ก็มีสติกับสิ่งนั้น ในเมื่อสติกับการทำ การพูด การจา ความคิดของเรามันตามทันกัน สมาธิก็เกิดขึ้น

และขอเตือน ไว้อีกอย่างหนึ่งว่า นักขับรถทั้งหลาย เมื่อท่านจับพวงมาลัย สตาร์ทเครื่องยนต์แล้ว ท่านอย่าไปภาวนาพุทโธ ให้ทำสติอยู่กับการขับรถ ถ้าไปภาวนาพุทโธแล้ว พุทโธกับเรื่องการขับรถ มันไม่มีความสัมพันธ์กัน ตัวอย่างที่เคยประสบมา เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ นี้ ไปแสดงธรรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลวงพ่อไปเทศน์ว่า การปฏิบัติสมาธินี้ กระทำสติให้มันมีความสัมพันธ์กับงานที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็บอกว่า ยกตัวอย่าง เช่น เวลาท่านขับรถ ท่านไปภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบแล้ว จิตจะไปติดกับพุทโธ จะทิ้งหน้าที่การขับรถ ไม่มีความสนใจ แล้วท่านจะขับรถไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง ดีไม่ดีจะขับรถไปชนเขา พอพูดจบมีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า หนูก็เจอมาแล้ว พอขับรถภาวนาพุทโธๆๆ แล้วจิตมันสงบ มันก็ไม่อยู่กับการขับรถ แล้วเราก็ขับรถไปจนกระทั่งสุดถนน จึงได้สติว่าเราทำผิดทางแล้ว เขาบอกว่า ดีที่ว่าในช่วงนั้นไม่ค่อยมีรถสวน ไม่อย่างนั้นเกิดชนกันตาย

อันนี้แสดงว่าสมาธิกับงาน ที่ทำอยู่มันไม่มีความสัมพันธ์กัน เราจะ บริกรรมภาวนาอย่างอื่นหรือนึกอย่างหนึ่งได้ เฉพาะเวลาที่เราตั้งใจปฏิบัติโดยตรง โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด แต่เมื่อเวลาเราทำงาน เราก็เอาสติไปอยู่กับงาน เวลาเราพูด เอาสติไปอยู่กับพูด เวลาเราคิดเอาสติไปไว้กับการคิด ทำอะไรมี สติตลอดเวลา อันนี้คือการฝึกจิตให้มีสติ ที่เราปฏิบัตินี้ ไม่ใช่เราจะปฏิบัติเอาศีล ปฏิบัติเอาสมาธิ ปฏิบัติเอาปัญญา แต่เราจำเป็นจะต้องสร้าง ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดมีพลังขึ้น จนสามารถรวมพลังเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สติวินโย เมื่อเราสามารถทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้รวมลงเป็นหนึ่งกลายเป็นสติวินโย มีสติเป็นผู้นำ สติตัวนี้จะคอยประคับประคอง คอยจ้องดูสิ่งที่เราทำ พูด คิด หรือ ยืน เดิน นอน นั่ง ตลอดทุกอิริยาบถ ไม่มีความพลั้งเผลอ เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตของเราก็พ้น พ้นจากความกังวลหลายๆ อย่าง ในที่สุดจะพ้นจากกิเลส แก่นของพระธรรมวินัยคืออะไร แก่นของพระธรรมวินัย คือวิมุตติ เราปฏิบัติเอาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส จนบรรลุพระนิพพาน

 

ถาม  เมื่อออกจากสมาธิแล้ว มีอาการเมื่อยล้ามากนั้น ถือว่าถูกต้อง หรือไม่

ตอบ  องค์ประกอบของการทำสมาธินี้ ในเมื่อสมาธิเกิดขึ้นเท่านั้นแหละ กายก็เบา จิตก็เบา ถ้าสมาธิอันใด ถ้าเรานั่งสมาธิตลอดคืนยันรุ่ง ตลอดวันยังค่ำ ในเมื่อออกจากสมาธิมาแล้วเมื่อยยังกับวิ่งมาตั้งหลายกิโลๆ นี้ นั้นใช้ไม่ได้ ออกจากสมาธิแล้ว ต้องเบา

 

ถาม  การฝึกสมาธิต้องการสถานที่เช่นใด จึงจะทำให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว

ตอบ  อาตมาถือคติว่า ถ้าใครสามารถภาวนาให้มีจิตเป็นสมาธิรู้ธรรม เห็นธรรม อยู่ในบ้านของตัวเอง จะมีพระปฏิบัติอยู่ในบ้านทุกวัน ถ้าใครภาวนาให้จิตสงบได้ รู้ธรรม เห็นธรรมได้ ภายในบ้านจะมีคุณค่าดียิ่งกว่านิมนต์พระไปสวดมนต์ตั้งหมื่นๆ องค์ แนะนำให้เขาทำอย่างนี้ เพื่อแก้ปัญหาว่าไม่มีเวลาจะไปวัด จึงอยากจะให้ทุกท่านสร้างวัดขึ้นในห้องนอนตัวเอง ทีนี้บางคนคัดค้านว่า ท่านไปสอนคนให้ทำอย่างนั้น เมื่อเขาได้รับความสบายในบ้านแล้ว เขาไม่มาทำบุญกับท่าน ท่านจะไม่อดหรือ อาตมาบอกว่าไม่มีทาง ยิ่งจะมากขึ้นกว่าเก่า

 

ถาม  วิธีเริ่มทำสมาธิ ทำอย่างไร และควรทำสมาธิเมื่อไร

ตอบ  หลังจากไหว้พระสวดมนต์เสร็จก็แผ่เมตตา การแผ่เมตตานั้นเราจะนึกว่า สัตว์ที่มีชีวิตซึ่งเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงเป็นผู้มีสุขกายสุขใจเถอะ แค่นี้ก็เป็นการแผ่เมตตาแล้วพอหลังจากนั้นก็นึกในใจ ว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆ ๆ แล้วก็กำหนดรู้ลงที่จิต นึกในใจว่า พุทโธๆๆ เรื่อยไปอยู่ในจิตนั้นแหละ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด นึก พุทโธ ได้ตลอดเวลา ส่วนเรื่องสวดมนต์นั้น เราจะสวดได้เพียงไร แค่ไหนไม่สำคัญ แม้จะได้แต่เพียง นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ จบอยู่แค่นั้น ก็สวดอยู่แค่นั้นแหละ แล้วก็ สวดด้วยความมั่นใจ เป็นอุบายสำหรับอบรมจิตใจ อุบายกระตุ้นความรู้สึกให้มีความตั้งมั่นลงในคุณความดี  ทีนี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือคุณธรรม อย่าไปน้อยอกน้อยใจ ผู้ที่ท่องสวดมนต์ไม่ได้มากอย่าไปน้อยใจ ถ้าจำอะไรไม่ได้ก็จำ พุทโธ ๆ ๆ หรือยุบหนอ พองหนอ เพียงคำเดียวเท่านั้นให้ได้ แม้แต่การพิจารณาธรรมะก็ เหมือนกัน เช่น อย่างพิจารณาอาการ ๓๒ นี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไล่มันครบหมดทุกอาการ ก็เพ่งดูกระดูกหัวแม่มืออันเดียวนี้ให้มันมองเห็นชัด จิตเป็นสมาธิขึ้นมาใช้ได้ อันเดียวนี้แหละมันจะเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าจิตมันมองเห็นหัวแม่มือแค่นี้ มันก็เป็นสมถกรรมฐาน ถ้ามันว่าหัวแม่มือทำไมมันคดๆ เคี้ยวๆ เปลี่ยนแปลง อะไรได้ กระดิกได้ มันก็เป็นวิปัสสนากรรมฐานแล้ว อย่าไปคิดอะไรให้มันยุ่ง นัก ทำจิตให้สงบนิ่งเป็นสมาธิได้นั้น คือสมถะ .. รู้ว่าจิต สงบนิ่งเป็นสมาธิคือ วิปัสสนา เอากันแค่นี้ ถ้าไปรู้มากกว่านี้แล้ว มันยุ่ง ทีนี้มันรู้จริงแล้วมันขยายตัวไปเอง อย่าไปคิดอะไรให้มันวุ่นวายนัก

 

ถาม  ถ้ามีปัญหาในเรื่องการทำสมาธิ หลวงพ่อจะแนะนำวิธีแก้ปัญหาอย่างไร

ตอบ  แต่ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าเกี่ยวกับเรื่องการทำสมาธินี้ ถ้าปัญหาเกิดขึ้นจากสมาธิ คือหมายความว่า มันมีข้อสงสัยเกิดขึ้นภายในจิต อันนี้เราต้องพยายามตอบด้วยตนเอง ถ้าสงสัยว่าอันนี้คืออะไร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ก่อนที่จะภาวนาให้ท่านตั้งคำถามว่าอันนี้คืออะไร แล้วก็กำหนดจิตภาวนาเรื่อยไป จะภาวนาอะไรก็ได้ ในเมื่อจิตสงบนิ่งขึ้นมาแล้ว คำตอบมันจะปรากฏขึ้นมาเอง

 

ถาม  ถ้ามีนิมิตเกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ ขณะทำสมาธิ ผู้ปฏิบัติควรจะทำอย่างไร

ตอบ  เหตุการณ์ใดๆ ที่ผ่านขึ้นมาในขณะทำสมาธิจะเป็นภาพนิมิตก็ตาม ความรู้ก็ตาม หรืออาจจะมีเสียงดังก็ตาม ให้ผู้ภาวนากำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว อย่าไปสนใจกับสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้น มันเป็นสิ่งที่จิตของเราบันดาลให้มันเกิดขึ้นมาเอง เมื่อจิตไปเอะใจ ไปสงสัย ไปยึดติดอยู่นั้น จิตของเราไปหลงภูมิของตัวเอง แล้วไปยึด เมื่อยึดแล้วก็แปลกใจตัวเองว่า เอะ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ พอเกิดเอะขึ้นมาแล้ว จิตก็ถอนจากสมาธิ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็หายไป เราเลยหมดโอกาส ไม่ได้พิจารณาให้รู้จริง เห็นจริง อันนี้ให้ระวังให้มาก

 

ถาม  จำเป็นจะต้องนั่งขัดสมาธิเพชร เวลาทำสมาธิหรือไม่

ตอบ  อันนี้น่าจะทำความเข้าใจ การทำสมาธิ คำว่าสมาธิ เป็นกิริยาของจิต การกำหนดจิต หรือการบริกรรมภาวนาในจิต หรือการเอาจิตไปพิจารณาเรื่องราวต่างๆ เป็นการทำสมาธิ แต่การยืน เดิน นั่ง นอน เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ เราจะทำสมาธิในเวลาเดิน เวลานั่ง เวลานอน หรือ เวลาไหนๆ ก็ได้ทั้งนั้น ถ้าหากว่านั่งสมาธิแบบขัดสมาธิเพชร หรือแบบพระพุทธเจ้านั่งนี้ ถ้ามันลำบากเราจะนั่งเก้าอี้ก็ได้ จะนอนทำก็ได้ ถ้าใครยิ่งนอนทำสมาธิชำนิชำนาญยิ่งดี ในเมื่อหลับลงไปแล้วจิตจะได้เป็นสมาธิ ในเมื่อจิตเป็นสมาธิในเวลาหลับ กายมันจะได้พักผ่อนสบาย เพราะองค์ประกอบของการเป็นสมาธินี้ กายเบา จิตเบา ในเมื่อกายเบา จิตเบา กายก็ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ถ้าใครนอนพักผ่อนด้วยสมาธิ บางทีเป็นโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างก็หายได้

 

ถาม  การที่จิตสามารถติดตามอารมณ์ต่างๆ ไปตลอดเวลา ถือว่าจิตเป็นสมาธิหรือไม่

ตอบ  จิตที่สามารถตามรู้อารมณ์ต่างๆ อันนี้ถือว่าจิตเป็นสมาธิในขั้นวิปัสสนา จิตที่จะติดตามรู้อารมณ์ได้ตลอดเวลา หมายถึงว่า เราคิดอะไรขึ้นมา จิตมันก็รู้ทัน ประสบเหตุการณ์อะไรขึ้นมาจิตมันก็รู้ทัน ใครด่ามาก็รู้ทัน ใครตำหนิมาก็รู้ทัน ใครยกย่องสรรเสริญมาก็รู้ทัน จิตสามารถที่จะตั้งมั่นอยู่ใน สภาพปกติ ไม่ยินดียินร้ายต่อเหตุการณ์นั้นๆ ได้ ชื่อว่าจิตเป็นสมาธิในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน ทีนี้ในเมื่อพูดถึงจิตใน ขั้นวิปัสสนากรรมฐาน บางท่านอาจจะสงสัยว่า จิตในขั้นสมถกรรมฐานเป็นอย่างไร จิตในขั้นสมถกรรมฐาน นั้น หมายถึงจิตที่ไปนิ่งว่างอยู่เฉยๆ ไม่เกิดความรู้ หมายถึงจิตที่อยู่ในฌาน มันรู้เฉพาะเรื่องของฌานเท่านั้น ความรู้อื่นๆ ไม่มี หมายถึงจิตที่อยู่ในอัปปนาสมาธิ ขั้นที่เรียกว่าจิตนิ่งสว่าง แล้วก็ไม่รู้สึกจนกระทั่งว่ามีตัวมีตน ตัวตนหายไปหมด อันนี้จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะย่อมไม่เกิดความรู้อันใด อันนี้ไม่ใช่การเริ่มต้น เป็นการที่จิตผ่านความเป็นสมาธิขั้นสมถะมาแล้ว จนมีสติสัมปชัญญะดี สามารถตามรู้ทันอารมณ์ต่างๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าใครได้อย่างนี้แล้วสบายมาก

 

ถาม  สมาธิมีประโยชน์ต่อนักบริหารอย่างไร

ตอบ  สมาธิมีประโยชน์ต่อนักบริหาร และต่อทุกคนที่ไม่ใช่นักบริหาร คือในเมื่อเราทำสมาธิให้มีจิตสงบมั่นคง จะทำให้เรามีสติมีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี และ สมาธินี้ ถ้าใครทำถูกต้อง เดิมเป็นคนขี้เกียจจะกลายเป็นคนขยัน ถ้าเป็นคนไม่ซื่อสัตย์จะต้องเป็นคนซื่อสัตย์ ยกตัวอย่างเช่น แม่บ้านเป็นคนขี้เกียงหุงข้าวให้ผัวรับประทาน ในเมื่อทำสมาธิเป็นแล้ว จะมีความขยันหุงข้าวให้ผัวรับประทาน รู้จักหน้าที่ของ ตนเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น สมาธิจึงมีประโยชน์แก่นักบริหารและนักปกครอง อย่างเหลือที่จะพรรณนาทีเดียว ถ้าหากท่านผู้ใดสามารถรู้จักวิธีใช้อำนาจทางจิตได้ก็ยิ่งเป็นการดี

 

ถาม  ขณะที่นั่งทำสมาธิ บริกรรม พุทโธ ๆ อยู่ จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตเริ่มจะนิ่ง จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น คือ พุทโธ หายไป ไม่รู้สึกตัว ตัวไม่โยกไปมา นั่งตรงอยู่เป็นระยะหนึ่ง

ตอบ  ในเมื่อบริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ ๆ ไป จิตเริ่มจะสงบลงไป พอจิตเริ่มสงบลงไปแล้ว คำว่า พุทโธ มันจะค่อยเลือนลางหายไป ในที่สุดจิตจะไม่ว่า พุทโธ เลย แล้วจิตก็จะนิ่งรู้อยู่เฉยๆ นี่บางทีบางท่านอาจจะเข้า ใจผิดในตอนนี้ ในเมื่อบริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ ๆ แล้ว ทีนี้จิตมันไม่ว่าพุทโธ แต่มันมีอาการเคลิ้ม ๆ สงบลงไป ก็เข้าใจว่าเรานี้เผลอสติไม่นึก พุทโธ แล้วก็ไปกลับนึก พุทโธ มาใหม่ ก็เป็นการเริ่มต้นอยู่เรื่อย อันนี้สังเกตให้ดี ถ้าบริกรรม พุทโธ ๆ ๆ จิตมันไม่ว่า พุทโธ มันไปอยู่เฉยๆ นิ่งเฉยๆ อยู่ ถึงแม้ว่าไม่สงบละเอียดก็ตาม ให้กำหนดรู้อยู่ที่ตัวนิ่งเฉยๆ อย่าไปคิดว่า จิตมันเฉยหนอ อะไรหนอ ถ้าไปนึกอย่างนี้จิตจะถอนจากสมาธิ ให้ทำทีว่ารู้อยู่ในที อย่าไปนึกคิดอะไรทั้งนั้น ปล่อยให้จิตมันว่างอยู่อย่างนั้น เพียงแต่ทรงตัวอยู่เท่านั้นเอง เมื่อมันถอนจากความรู้สึกว่างเฉยๆ อย่างนั้นแล้ว เราจึงค่อยกำหนด พุทโธ ๆ ๆ ไปใหม่ ถ้าหากมันวางเฉยอยู่อย่างนั้น ก็ปล่อยให้มันเฉยอยู่อย่างนั้น ทีนี้พอทำไปนานๆ เข้า จิตมันมีพลังขึ้นมา มันก็จะสว่างแจ่มใสขึ้นมาเอง

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิจิตภาวนา จิตยังไม่ถึงอุปจาระ กำหนดให้เห็นรูปนาม เกิดดับ เป็นปัจจุบันธรรม ได้หรือไม่

ตอบ  ได้ แต่ว่าเป็นเพียงการปรับปรุงหรือปรุงแต่งปฏิปทาเท่านั้น การนึกว่านี้รูป นี้นาม โดยความตั้งใจ โดยเจตนา อันนี้เป็นขั้นปฏิบัติภาคปรุงแต่งปฏิปทา คือข้อปฏิบัติ แต่นักปฏิบัติจำเป็นจะต้องพิจารณารูปนาม ด้วยความตั้งใจที่จะคิดพิจารณา เพื่อเป็นแนวทางให้จิตสงบเป็นสมาธิขึ้นมา เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว จิตนั้นจึงจะพิจารณารูปนามไปเองโดยอัตโนมัติ

 

ถาม  การนั่งสมาธิแล้วสามารถรู้ล่วงหน้า และอดีตได้ ใช่หรือไม่

ตอบ  การทำสมาธิแล้วสามารถที่จะรู้อดีต อนาคต ปัจจุบันได้ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปทุกคน บางท่านก็ไม่รู้อะไรเลย ยกตัวอย่างเช่น อาตมานี้ไม่รู้อะไรเลย รู้แต่จิตของตัวเอง และสภาวะความจริงที่เกิดขึ้นกับจิต ในบางครั้งมีผู้ไปขอร้องให้นั่งทางใน ดูโน่น ดูนี่ อาตมาก็บอกกับเขาว่า คุณอย่ามาสอนให้พระโกหก คือสิ่งที่คนอื่นเขาไม่รู้ไม่เห็นด้วย พระพุทธเจ้าห้ามพูด แต่คำถามที่ว่า การนั่งสมาธิแล้ว สามารถรู้ล่วงหน้า และอดีต ได้หรือไม่นั้น อันนี้สามารถที่จะรู้ได้ แต่ต้องถึงขั้นที่สามารถจะรู้ เช่น อย่างผู้ที่ทำสมาธิพิจารณาสภาวธรรมจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว สามารถรู้อดีตชาติของตัวเอง เช่นอย่างพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ พระองค์ก็รู้บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกชาติหนหลังได้ แล้วก็รู้ จุตูปปาตญาณ รู้การเกิดและจุติของสัตว์ทั้งหลาย รู้อาสวักขยญาณ รู้อุบายทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากอาสวะ อันนี้เป็นสิ่งที่สามารถจะเป็นไปได้ แต่สำหรับการที่จะไปนั่ง ดูโน่น ดูนี่ เช่น นั่งดู ปู่ ย่า ตา ยาย หรืออะไร ต่ออะไรนั้น มันก็ออกจะเพ้อไปหน่อย ที่แน่ๆ จริงๆ เวลานี้ รัฐบาลกำลังค้นหาบ่อน้ำมัน ถ้าองค์ไหนเก่งๆ แล้ว จับไปนั่งส่องดูบ่อน้ำมันว่ามันอยู่ที่ตรงไหน รัฐบาลเจาะลงไปทีเดียว ไม่ต้องเปลืองเวลา ไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่าย ถ้าสามารถพิสูจน์ได้อย่างนั้น เก่งจริง แต่นี่ส่วนมากเก่งแต่เฉพาะตาคนธรรมดาไม่รู้ไม่เห็นด้วย อาตมาจึงไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก

 

ถาม  การกำหนดรู้ที่ลมหายใจ หมายความว่าอย่างไร กำหนดอย่างไร

ตอบ  การกำหนดรู้ลงที่ลมหายใจ หมายถึงการกำหนดลงตรงที่ลม สัมผัสที่ปลายจมูกที่ผ่านออก ผ่านเข้า ทำให้ความรู้สึกตรงนี้ไว้เป็นเบื้องต้นก่อน เมื่อกำหนดอยู่ที่ตรงนี้เมื่อจิตเริ่มมีอาการสงบลงไปนิดหน่อย จิตอาจจะวิ่งตามลมเข้า วิ่งตามลมออก ก็ปล่อยให้จิตวิ่งตามลมเข้า วิ่งตามลมออก อยู่อย่างนั้น ขอให้จิตกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจ แม้ลมหายใจจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ก็กำหนดรู้ที่ลมหายใจ แม้ว่าลมหายใจจะปรากฏคล้ายๆ ว่า เป็นท่อนยาวหรือเป็นควันอะไรก็แล้วแต่มันจะแสดงขึ้นมา ก็ให้กำหนดรู้ลงที่จิตตัวผู้รู้ รู้อยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียว แล้วจิตจะค่อยสงบละเอียดลงไปทีละน้อยๆ จนกระทั่งลมหายใจขาดไป เมื่อลมหายใจหายขาดลงแล้วก็ไม่ต้องทำความตกใจ เมื่อลมหายใจหายไปแล้ว จิตก็ไม่มีเครื่องรู้ จิตก็รู้อยู่ตรงที่จิตอย่างเดียว ก็กำหนดรู้ที่จิตนั้น จนกว่าจิตจะละเอียดลงไป ถึงแม้ว่าจิตจะไม่รู้ไม่เห็นอะไรก็ตาม ขอให้มีความสงบ สว่าง ละเอียดลงไป จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ

 

ถาม  ทำจิตภาวนาเพียงสงบนิ่ง หากจะทำวิปัสสนาไปพร้อมด้วย จะทำอย่างไร

ตอบ  ทำจิตเพียงแค่สงบนิ่ง พอที่จะสามารถควบคุมจิตให้นึกคิดอยู่ในสิ่งที่เราต้องการได้ เจริญวิปัสสนาในแนวทางแห่งความนึก โดยใช้สัญญาที่เราเรียนมา มาคิดพิจารณาเอาโดยความตั้งใจ เช่น เราอาจจะคิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ถามปัญหาตัวเองว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างไร แล้วก็ตอบตัวเองไป ถามตัวเองไป ซึ่งสามารถที่จะควบคุมจิตให้นึกคิดอยู่ในเรื่องๆ เดียวที่เราต้องการ อันนี้ เป็นการเจริญวิปัสสนาไปพร้อมๆ กัน แต่หาก ยังไม่ใช่ตัววิปัสสนา ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จิตรู้แจ้งเห็นจริง ยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เราพิจารณาว่า อันนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างจริงจัง จิตสงบนิ่งลงไปแล้วตัดสินขึ้นมาว่า นี้คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์จริงๆ อันนั้นจึงจะเป็น วิปัสสนา

 

ถาม  ในขณะที่นั่งสมาธิ จิตมักจะเผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้จิตเป็นอย่างนั้น

ตอบ  อันนี้ต้องอาศัยทำบ่อยๆ ภาวนาบ่อยๆ ทำให้มากๆ จนชำนิชำนาญแล้วจิตจะอยู่เอง การทำสมาธิในขั้นเริ่มต้นนี้ เราก็ย่อมจะลงทุนลงแรงหนักหน่อย เหมือนๆ กับการบุกเบิกงานใหม่ เพราะฉะนั้น การทำสมาธิเพื่อจะไม่ให้จิตส่งไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราต้องพากเพียรพยายาม แต่อย่าไปเข้าใจว่า ทำสมาธิแล้วทำให้เราหมดความคิด เราทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ปัจจุบันชั่วขณะหนึ่ง พอเราได้มองเห็นหน้าเห็นตาของจิตดั้งเดิมของเราว่าเป็นอย่างไร ในเมื่อเราอบรมสมาธิให้มากๆ แล้ว ในเมื่อมีสติสัมปชัญญะดีแล้ว จิตของเรานี้ มันยิ่งมีความคิดมาก ยิ่งกว่าความคิดวุ่นวายเดี๋ยวนี้ แต่ความคิดที่มีสติเป็นตัวกลางสำคัญนั้น ย่อมไม่เป็นการหนักอกหนักใจ และก่อทุกข์ก่อยากให้แก่ใคร เพราะฉะนั้น การทำสมาธิเป็นสิ่งจำเป็น

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติที่มุ่งความสำเร็จกันอย่างจริงจัง โปรดอย่าได้ปล่อยหรือหลง ให้ใครสักคนหนึ่งมาใช้อำนาจบังคับจิตใจเรา เราภาวนา พุทโธ ๆ ๆ เป็นต้น เราไม่ได้ปรารถนาจะให้พระพุทธเจ้ามาเป็นใหญ่ในหัวใจของเรา เพื่อดลบันดาลจิตใจของเราให้สงบเป็นสมาธิ เราระลึกถึง พุ ทโธ ๆ ๆ เพียงระลึกคุณพระพุทธเจ้าว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้รู้ๆ เพื่อจะทำจิตใจของเราเป็นผู้รู้ตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้าเท่านั้น และคำว่า พุทโธ เป็นแต่เพียงสื่อทำให้จิตเดินไปสู่ความสงบ เพื่อเป็นอุบายที่มันพรากจากความคิดที่มันวุ่นวายอยู่กับสิ่งต่างๆ ให้มารวมอยู่ในจุดๆ เดียว คือ พุทโธ เสร็จแล้วจิตรวมอยู่ที่ พุทโธ จิตก็จะสงบ สงบแล้วคำว่า พุทโธ จะหายไป ยังเหลือแต่สภาวะจิตของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ภายในจิตของผู้ภาวนา อันนี้คือจิตของผู้ภาวนาเป็นไปโดยสมรรถภาพและพลังของตัวเอง

อีกอย่างหนึ่ง เคยได้พบ ได้เห็น เช่น อย่างบางท่านไปเรียนกรรมฐาน เขาก็ให้อาจารย์กรรมฐานนั้นลงอักขระ มีการปลุกเสกสวดญัตติเข้าไปให้ พอไปภาวนาแล้ว เมื่อจิตเกิดมีสมาธิขึ้นมาบ้าง ในขนาดอุปจารสมาธิอ่อนๆ ก็ถูกอาถรรพณ์วิชานั้นเข้าครอบ พอครอบแล้วสติไม่สามารถควบคุมจิตของตัวเองได้ กลายเป็นคนวิกลจริตไปก็มี การปฏิบัติสมาธิตามหลักของพระพุทธเจ้านี้ ในขณะใดที่เรายังไม่สามารถทำจิตให้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง ถึงขนาด มรรค ผล นิพพาน เราภาวนาแล้วเราสามารถเอาพลังสมาธินี้ ไปใช้ประโยชน์ในทางการงานทางโลกที่เรารับผิดชอบอยู่ เพราะ การทำสมาธิทำให้ผู้ภาวนามีสติสัมปชัญญะ มีจิตเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งใด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ภาวนามีสมาธิดีแล้ว มีสติสัมปชัญญะดีแล้ว ก็สามารถใช้พลังสมาธิของตัวเอง เป็นอุปกรณ์ในการทำงานได้เป็นอย่างดี พลังของสมาธิ และสติปัญญาที่ท่านอบรมมาแล้วนั้น จะเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนความรู้สึกของท่าน ให้เป็นผู้ไม่ประมาททั้งการงานทางโลก และทางธรรม อันนี้จึงจะเป็นไปโดยถูกต้อง

ถ้าภาวนาแล้วจิตมีสมาธิ แล้วทำให้เบื่อหน่ายโลก ไม่อยากอยู่กับโลก ไม่อยากอยู่กับครอบครัว อันนั้นเป็นความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง และความคิดเห็นอันนั้นไม่ใช่มันเป็นไปด้วยอำนาจของจิตใจ แต่หากมีอำนาจสิ่งหนึ่งมาคอยบังคับจิตให้มีความรู้สึกเป็นไปเช่นนั้น โลกนี้ไม่ใช่โลกที่น่าเบื่อหน่าย โลกนี้ไม่ใช่โลกที่น่าเกลียด น่าชัง โลกนี้เป็นโลกที่ทุกคนควรจะศึกษาให้รู้จักข้อเท็จจริงของความ เป็นไปของโลก ในเมื่อเราเป็นนักปฏิบัติ ถ้าเราไม่รู้จักข้อเท็จจริงของโลกว่ามันเป็นอย่างไร และไม่รู้สภาพความเป็นจริงของจิตใจของตัวเองว่าเป็นอย่างไร มันมีความติดอยู่ในโลกอย่างไร ผูกพันอยู่ในโลกอย่างไร เราก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาภายในจิตของเราได้

 

ถาม  ขณะที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตจับอยู่ที่เสียง ก็รู้สึกว่าเป็นสมาธิดี แต่จิตมิได้จับอยู่ที่เนื้อความที่หลวงพ่อเทศน์ อย่างนี้ขอให้หลวงพ่ออธิบายด้วยว่า การทำสมาธิของผู้ถามได้ผลหรือไม่

ตอบ  การทำสมาธิในขณะที่ฟังเทศน์ ถ้าจิตมีสมาธิแล้วไม่ยึดคำบรรยายที่พูดไป เป็นแต่เพียงว่ารับรู้เฉยๆ ไม่ได้สำคัญมั่นหมายเสียงที่ได้ยินนั้น ท่านว่าอะไรบ้าง หรือบางทีเสียงที่เราๆ ฟังๆ อยู่นั้นหายไป เราฟังไม่ได้ยิน อันนี้หมายถึงว่า จิตอยู่ในสมาธิเพียงแต่สักว่ากำหนด รู้ ทีนี้ลักษณะอย่างนี้ ถ้าหากว่าเรากำหนดจิตอยู่ในสมาธิ กำหนดดูจิตของเรานี้ ถ้าหากว่าจิตมันเกิดความคิดอะไรขึ้นมาแล้ว มันสักแต่ว่าเป็นความคิด แต่มันไม่ยึดว่าเป็นความคิดนั้น ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับฟังเสียง แล้วจิตไม่ได้ยึดกับเสียงที่ได้ยิน อันนี้ เป็นลักษณะของการปล่อยวางอย่างหนึ่ง แต่ว่าถ้าพูดถึงความเข้า ใจแล้ว ใช่ว่าจิตมันไม่เข้าใจ มันเข้าใจซึ้งๆ อยู่ในท่าทีของมัน แต่มันไม่ได้เข้าใจในลักษณะที่ว่า สามารถจำได้ อธิบายได้ แม้ว่าจิตมันเกิดความรู้อะไรขึ้นมาภายในก็ตาม มันเกิดขึ้นมาแล้ว สักแต่ว่าเป็นความคิดแล้วมันไม่ยึด มันก็มีแต่ความวางเฉยอย่างเดียว ความวางเฉยอันนี้ ไม่ใช่ว่าเฉยไม่รู้ไม่ชี้ แต่มันมีลักษณะรู้ซึ้งๆ อยู่ในตัว อันนี้ต้องสังเกตดูให้ดี

บางทีเราอาจจะเคยทำสมาธิ บริกรรมภาวนามา จิตมันสงบสว่าง มีวิตก วิจาร มีปีติ สุข เอกัคคตา ตามหลักขององค์ฌาน แต่ในเมื่อทำไป ทำไปแล้ว คือในขั้นต้นนี้ พอนึกถึงอารมณ์ เรียกว่าวิตก จิตเคล้ากับอารมณ์เรียกว่า วิจาร แล้วมันเกิดปีติ เราก็รู้ เกิดสุข เราก็รู้ ทีนี้มันเกิดความเป็นหนึ่ง คือความสงบ เราก็รู้ รู้ไปเป็นขั้นตอน แต่เมื่อทำหนักๆ เข้าแล้ว กำหนดจิตปั๊บลงไป นึก พุทโธ ๆ ๆ จิตมันสงบพรวดลงไปเลย ไม่สามารถจะกำหนดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ได้ถนัด อันนี้เป็นความคล่องแคล่วของจิต เป็นความชำนาญของจิต เพราะมันเป็นแล้ว มันก็วิ่งเร็ว ในเมื่อมันยังไม่เป็น มันก็รู้ไปตามขั้นตอน อันนี้บางท่านอาจจะคิดว่า ภาวนาเมื่อก่อนนี้จิตทำไมมันสงบนิ่ง สว่าง เยือกเย็นดีนักหนา แต่เดี๋ยวนี้ทำไมมันไม่สงบ พอกำหนดจิตลงไปแล้ว มันมีแต่ความรู้เกิดขึ้น มีแต่ความคิด บางท่านก็เข้าใจผิดว่า จิตของตัวเอง ฟุ้งซ่าน แต่แท้ที่จริงแล้วมันเกิดปัญญา

ทีนี้ข้อสังเกตมันมีอยู่อย่างนี้ แต่ก่อนจิตเคยมีความยินดี มีความยินร้าย ทำให้เกิดความดีใจ ความเสียใจ แต่เมื่อจิตผ่านสมาธิมาแล้ว มันมีความคิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ความคิดอันนั้นมันไม่สามารถที่จะดึงเอาจิตของเราไปให้มีอาการเป็นอย่าง นั้นได้ จริงอยู่ในสภาพปกติสักแต่ว่าสัมผัสรู้ ทีนี้ตามรู้ไปๆๆ เพราะจิตมีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก มันอาจจะเกิดความสงบละเอียดลงไปแล้ว ความรู้สามารถที่จะพรั่งพรูออกมา เราสังเกตดูว่า ความรู้ในขั้นนี้ มันไม่เกิดความยินดี มันไม่เกิดความยินร้าย ไม่มีดีใจ ไม่มีเสียใจ มีแต่ความปกติของจิต จิตอยู่อย่างสบาย มีความสุข มีความแช่มชื่น ในความรู้นั้น อันนี้ปัญญามันเกิด

 

ถาม  การทำสมาธิมานานปี หากยังไม่เห็นนิมิตต่างๆ อย่างผู้อื่นนั้น เป็นเพราะยังทำสมาธิไม่ถูกต้องวิธี ใช่ไหม

ตอบ  เรื่องของนิมิตมักจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีกำลังใจอ่อน มีอารมณ์ไหวง่าย ก็ยิ่งคนใจอ่อนอยากเห็นนิมิตง่ายๆ ก็พอนั่งบริกรรมลง พอจิตสงบเคลิ้มๆ ไปแล้ว ส่งกระแสจิตออกข้างนอกแล้วจะเห็นภาพนิมิตต่างๆ แต่ขอบอกว่าการเห็นภาพนิมิตต่างๆ นั้น ไม่เกิดประโยชน์อันใด นอกจากจะทำให้จิตของเรามันหลง การภาวนานั้น จะมีนิมิตเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม อย่าไปใฝ่ฝันในนิมิตนั้นๆ ความมุ่งหมายของการภาวนานี้ ให้จิตสงบลงไปเพื่อจะให้รู้เห็นสภาพความเป็นจริงของจิตของเราว่ามันเป็น อย่างไร ทีแรกเห็นความฟุ้งซ่านของจิตก่อน เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว เห็นลักษณะจิตที่สงบว่างๆ ไม่มีอะไร เราอาจจะได้รู้ความเป็นจริงของจิตดั้งเดิม ในลักษณะที่ว่า จิตเป็นธรรมชาติประภัสสร คือ จิตดั้งเดิมของเรา ทีนี้ในเมื่อจิตมันอยู่ว่างๆ เป็นธรรมชาติประภัสสรนั้น มีความรู้สึกสบายไหม มีความรู้สึกทุกข์ไหม ให้มันรู้มันเห็นอันนี้ เมื่อจิตมันออกเป็นสภาวะอย่างนั้น มันรับรู้อารมณ์แล้ว มันยึดไหม มีความทุกข์ไหม ฟุ้งซ่านไหม เดือดร้อนไหม ให้รู้ให้เห็นที่ตรงนี้ เรื่องนิมิตต่างๆ นั้น จะเห็นหรือไม่เห็น ไม่สำคัญ แต่ถ้าใครจะเห็นได้ก็ดี ถ้าไม่เห็นก็ไม่ต้องเสียใจ อย่าไปปรารถนาจะเห็นนิมิตเป็นภาพอะไรต่ออะไรอย่างนั้น มันเป็นเพียงทางผ่านของจิตเท่านั้น จะรู้จะเห็นก็ตาม ขอ ให้มี จิตสงบรู้สภาพความเป็นจริงของจิต และอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับจิต มีสติรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตพอแล้ว ปัญหาของผู้ถามนี้ โดยปกติแล้วปฏิบัติวันละ ๒๐ - ๓๐ นาที อันนี้ขอเสนอว่ายังน้อยไป ขอให้ตั้งปณิธานไว้ว่า วันหนึ่งจะนั่งสมาธิได้วันละ ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑ ชั่วโมง ถ้าได้อย่างนั้นเป็นดีที่สุด และจิตจะสงบรู้ธรรม เห็นธรรมง่าย

 

 

ถาม  การบริกรรมภาวนาโดยทั่วๆ ไป หากจะเปลี่ยนไปจาก พุทโธ แล้วมายุบหนอ พองหนอ จะได้หรือไม่

ตอบ  พูดถึงคำภาวนาทั่วๆ ไป ไม่ว่าคำไหนได้ทั้งนั้น เป็นแต่เพียงเครื่องล่อให้จิตเข้าไปยึดอยู่ในคำๆ นั้น ดังที่ได้อธิบายให้ฟังแล้วในตอนเทศน์ จะเป็นคำพูดคำไหนก็ได้ ทีนี้เราจะมา พุทโธ แล้วจะมาเปลี่ยนเป็น ยุบหนอ พองหนอ แล้วแต่จังหวะ หรือเราอาจจะหาคำอื่นที่เราคิดว่าดีกว่านี้มาว่าก็ได้ ขอให้เป็นคำบริกรรมภาวนาก็แล้วกัน ไม่เป็นการผิด หรือท่านจะตำหนิว่าเปลี่ยนบ่อยๆ นักทำให้จิตมันเปลี่ยนความรู้สึกอยู่เรื่อย จิตมันจะไม่สงบ ถ้าท่านสงสัยอย่างนั้นก็เอามันสักอย่างเดียว จะเป็นคำไหนก็ได้ ทำอย่างจริงจัง โดยปราศจากความสงสัย นึกว่า คำบริกรรมนี้จะทำให้จิตสงบ แล้วก็ว่ากันไป จะเอาพุทโธๆๆ อย่างเดียวก็ได้ ยุบหนอ พองหนอ ก็ได้ทั้งนั้น

 

 

ถาม  นั่งสมาธิแล้วชา

ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาของกาย ที่นั่งนานๆ ย่อมเกิดความมึนชาขึ้นมา ถ้ารู้สึกเจ็บปวด หรือชาขึ้นมาแล้ว เราหยุดเปลี่ยนอิริยาบถ สมาธิเป็นกิริยาของจิต เรากำหนดจิตอย่างเดียว ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นการบริหารร่างกาย ตามหลักสุขภาพพลานามัย ซึ่งผู้ที่เรียนมาทางฝ่ายหมอย่อมจะเข้าใจอยู่แล้ว ทีนี้เราจะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ จิตสมาธิเป็นกิริยาของจิตอย่างเดียว การยืน เดิน นั่ง นอน เราแสดงท่าประกอบเท่านั้น นั่งขัดสมาธิก็เรียกว่า นั่งสมาธิ เดินจงกรมเรียกว่า เดินสมาธิ ยืนกำหนดจิตเรียกว่า ยืนทำสมาธิ นอนกำหนดจิตเรียกว่า นอนทำสมาธิ ถ้าพยายามทำสมาธิในท่านอนมากๆ ได้ยิ่งเป็นการดี ถ้าท่านผู้ใดกำหนดจิต ทำสมาธิในเวลานอนได้ ถ้านอนลงไปแล้วกำหนดจิตพิจารณาอารมณ์อะไรก็ได้ ที่เราจะยกมาเป็นเครื่องพิจารณา ๆ ไปจนกระทั่งนอนหลับ พอหลับแล้วสมาธิจะเกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับ กายเราก็จะเบา จิตเราก็จะเบา เป็นการพักผ่อนอย่างที่มีประโยชน์ที่สุด แต่ความรู้สึกนั้นอาจจะนึกว่า คืนนี้เรานอนไม่หลับทั้งคืน สมาธิคือการนอนหลับ อาการที่จิตก้าวลงสู่สมาธิในขั้นแรกคือ การนอนหลับ พอนอนหลับสนิทแล้ว สติมันตื่นขึ้นภายใน กลายเป็นสมาธิ การทำสมาธิในเวลานอนนี้รู้สึกว่าจะง่ายกว่าในขณะที่นั่ง พยายามทำให้บ่อยๆ ภาวนาพุทโธๆๆ หรือพิจารณาอะไรก็ตาม มันช่วยให้เรานอนหลับเร็วขึ้น ในเมื่อหลับเร็วๆ ขึ้น เราก็ทำกันอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งจิตมันชำนิชำนาญแล้ว ภายหลังการหลับ มันจะกลายเป็นสมาธิขึ้นมาเอง อยู่ที่การพยายามอย่างเดียว

วิธีการทำสมาธิ ดังที่อาตมาได้เสนอแนะไปนี้ ได้ทดสอบมาแล้ว สำหรับท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายนี้ ที่ท่านตั้งใจทำจริง ในที่นี้ ในโรงพยาบาลก็มีบางท่านไปเล่าให้ฟังกัน ท่านภาวนา พุทโธ ๆ ยุบหนอ พองหนอ สัมมา อรหัง ก็ไม่ได้ผล ภายหลังท่านมาเปลี่ยนเป็น วิตกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้ว เอาสิ่งนั้นมาพิจารณา แม้เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับธรรมะก็ตาม ท่านสามารถทำจิตให้สงบมีปีติ มีความสุขขึ้นมาได้

แล้วภายหลังก็ไปถามพระ ไปถามพระว่าภาวนา พุทโธ ท่านก็บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ถูก ทำอย่างของอาตมานี้ ถึงจะถูก ไปถามยุบหนอ พองหนอ ก็ว่า โอ้ย ! อันนั้นมันทางโค้ง ไม่ตรง ของอาตมานี้สำเร็จ ไปถามที่สัมมา อรหัง ก็ไปแนะนำให้ไปสร้างดวงแก้วดวงแหวน ผมก็ทำไม่ได้ แล้วมันมีข้อสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมพระจึงรู้ไม่เหมือนกัน ท่านผู้นั้นไปถามว่า ทำไมพระจึงรู้ไม่เหมือนกัน ในเมื่อทำสมาธิเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาแล้ว พระรู้แตกต่างกัน ก็แสดงว่าธรรมะไม่จริง สมาธิก็ไม่จริง คนปฏิบัติจึงรู้ต่างกัน เห็นต่างกัน

หลวงพ่อก็เลยไม่รู้ว่าอย่างไร ก็เลยตอบท่านผู้นั้นไปว่า พระที่ท่านไปถามนั้น ภาวนาไม่เป็น เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ท่านไม่ต้องไปเชื่อใครแล้ว สมาธิของท่านที่เล่าให้ฟังนี้ เป็นสมาธิที่วิเศษที่สุด นักสังคม นักธุรกิจ นักการงาน นักวิชาการทั้งหลายทั้งปวง ถ้าปฏิบัติได้อย่างท่านนี้ วิเศษที่สุดเลย สมาธิอันนี้จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การสร้างให้โลกเจริญ พวกที่นั่งหลับตาไม่เอาไหน มองมาแต่ข้างนอก มีอุปสรรคขัดขวาง นั่นแหละสมาธิแบบนั้นจะทำให้โลกเสื่อม อย่าเอาเป็นตัวอย่างเลย เพราะฉะนั้น เอาเรื่องปัจจุบันนี้ที่เรารับผิดชอบอยู่นี้ วิชาที่เรียนมาอะไรก็ได้ วิชาพยาบาล วิชาแพทย์ ใครเคยผ่าตัด วิจัยร่างกาย ซากศพต่างๆ อะไรนี้ เอาสิ่งนั้นมาพิจารณา พิจารณาเรื่องของกาย ก็เรียกว่า กายคตานุสสติ พระสงฆ์ท่านว่า หทยัง = หัวใจ ปัพพาสัง = ปอด ท่านไม่ได้รู้เห็นอย่างพวกท่านหรอก พวกท่านเป็นคุณหมอนี้ เอาหัวใจ เอาปอด เอาตับไตไส้พุงมาผ่า มาวิจัย จนกระทั่งไส้เส้นเล็กเส้นน้อย มันอยู่อย่างไร ท่านรู้ละเอียดกว่าพระ แม้หลับตาลงไปเดี๋ยวนี้ก็มองเห็นแล้ว สิ่งใดที่มองเห็นให้เพ่งจิตมองดู พิจารณาในสิ่งนั้นให้ละเอียดลงไปจนกระทั่งจิตมันคล่องต่อการพิจารณา แล้วมันจะได้ผลขึ้นมาเอง

เรื่องธรรมะที่ท่านเขียนในพระอภิธรรมว่า จิต ๘๙ ดวง ๑๒๑ ดวง โลภะมูล ๘ โทสะมูล ๒ โมหะมูล ๒ อะไรนี้ อย่าไปไล่ อย่าไปนับมัน เอาแต่เพียงว่าอารมณ์ รูป ที่มันผ่านเข้ามาทางตานี้ เราจะไม่ให้รูปมันบดขยี้หัวใจเราได้อย่างไร เสียงที่มาในหูนี้ เราจะป้องกันอย่างไร จะไม่ให้มันเป็นโจรขโมยความปกติของใจเราได้ เอากันที่ตรงนี้ แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่ามันมีชื่ออะไรก็ช่าง แก้ไขปัญหาหัวใจ ให้มีความสุข ความสบาย ทำงานได้สะดวกคล่องแคล่ว นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ความรู้ที่จะไปนับว่า อันนั้นมีเท่านั้น อันนี้มีเท่านี้ เออ ถ้าอยากขึ้นเทศน์กินเครื่องกัณฑ์อย่างอาตมานี้ ควรที่จะไปท่องหน่อย อย่างพวกท่านนี้ อย่าไปสนใจเลย เอากันแต่เพียงว่า ให้มันรู้เท่าทันเหตุการณ์ ทั้งภายนอกและภายใน ใช้ได้แล้ว

 

ถาม  ที่ทำสมาธิแล้ว ต้องทำงานในโลกได้ แต่ขณะกำลังศึกษาอยู่นั้น ถ้ามีโอกาสได้วิเวก โดยละการงานชั่วคราว ที่ทำให้ศึกษาได้ผลเร็วขึ้นกว่าการศึกษาในการงาน ในข้อนี้จริงหรือไม่

ตอบ  อันนี้ อาตมาจะขอเล่าเรื่องในสมัยที่เป็นนักเรียน ทำสมาธิในขณะที่เป็นนักเรียน พอเลิกจากโรงเรียนแล้ว เวลาทำสมาธิไหว้พระสวดมนต์เสร็จ ไม่ได้บริกรรมภาวนาอย่างที่ว่า เอาบทที่เราเรียนผ่านมาในวันนั้น มาคิดมาพิจารณา ทีนี้ถ้าสิ่งใดเราคิดไม่ออกเราก็จดบันทึกเอาไว้ แล้วก็คิดอันใหม่ต่อไป อาตมาเคยปฏิบัติแบบนี้ในขณะที่ศึกษาอยู่ แล้วก็บางครั้งก็สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้เหมือนกัน เป็นสมาธิได้จนขณะที่ว่า ก่อนหน้าวันจะสอบเกิดนิมิตขึ้นมา ได้รู้ได้เห็นข้อสอบขึ้น ตอนสอบเปรียญประโยค ๓ นี้ ได้ข้อสอบตั้ง ๒ วิชา คือ วิชาแปล และวิชาสัมพันธ์ เพราะอาศัยการทำสมาธิ ทีนี้การทำสมาธิในขณะที่ศึกษาอยู่นี้ เราก็เอาหลักวิชาการของเรานี้แหละมาเป็นหลักกรรมฐาน เช่น อย่างสมมติว่าเราจะเรียนวิชาอะไรในวันนี้ พอเลิกจากโรงเรียนมาแล้ว เวลาเราหาที่สงบ เวลาค่ำคืนมาหลังจากอ่านหนังสือดูหนังสือแล้ว หรือเราจะเอาเรื่องที่เราอ่านหนังสือดูหนังสือในวันนั้น มากำหนดพิจาณาตามที่เราได้อ่านได้เรียนมา เอาหลักวิชาการของเราที่ได้เรียนมาเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ก็เป็นการปฏิบัติกรรมฐานเหมือนกัน ได้ผลดี ถ้าหากถือโอกาสเวลาว่างๆ จากการเรียน เช่น โรงเรียนปิดเทอม จะถือโอกาสไปบวช หรือว่าไม่บวชก็ตาม ไปหาที่สงบวิเวกที่มีครูบาอาจารย์แนะนำ จะไปบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดผลดีขึ้น

 

ถาม  ฝึกสมาธิอยู่ ๒ ปี นิสัยก็เปลี่ยน คือ ชอบอยู่ตามลำพัง อ่านหนังสือธรรมะ อาการอย่างนี้ คือ กำลังจะเป็นบ้า ใช่ไหม

ตอบ  การทำสมาธิในขั้นต้นๆ ในเมื่อจิตรู้สึกจะสงบลงไปบ้าง จิตมันติดความสงบ มันชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว เป็นเรื่องของธรรมดา อันนี้ไม่ใช่กำลังจะบ้าหรอก เป็นธรรมชาติของจิตสงบ มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้ในตอนต้นๆ นี้ มันสงบแล้ว มันจะจ้องเข้ามาในตัวนี้ มันไม่ออกไปข้างนอก ตอนนี้มันยังไม่มีปัญญาแตกฉาน ต่อเมื่อมันมีปัญญาแตกฉาน รู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ แล้วมันจะออกไปมองอยู่ข้างนอก เรื่องของข้างนอกนี้ จิตในขั้นวิปัสสนากรรมฐานนี้จะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้วุ่นวาย มันเป็นเรื่องที่น่าศึกษาให้รู้ข้อเท็จจริง เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสภาวะ เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ทำให้จิตรู้ซึ้งเห็นจริงลงไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง อนิจจัง อนัตตา ทั้งนั้น ในขั้นนี้ก็ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้ก่อน

 

ถาม  จิต สติ และสัมปชัญญะ คืออะไร

ตอบ  จิต คือ ตัวรู้สึก รู้นึก รู้คิด ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว สติ คือ ธรรมชาติที่ระลึก และความตั้งใจ ในเมื่อตั้งใจแล้ว มีความรู้พร้อม ความรู้พร้อมเป็นลักษณะของ สัมปชัญญะ สติกับสัมปชัญญะบวกกันเข้า เกิดมีพลังแก่กล้าขึ้นกลายไปเป็นปัญญา เมื่อเกิดไปเป็นปัญญาแล้ว ก็เกิดเป็นภูมิความรู้ขึ้นมา ทีนี้ปัญญาภูมิความรู้นี้เป็นเหตุให้เกิดวิชา ถ้าเกิดวิชาความรู้แจ้งเห็นจริง รู้ข้อเท็จจริง ในความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เรียกว่า วิชา อย่างในธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ในเมื่อจิตหยั่งรู้ถึงธรรมแล้ว จักขุง อุทปาทิ จักษุ บังเกิดขึ้น ในเมื่อจักษุบังเกิดขึ้น ญาณัง อุทปาทิ ญาณหยั่งรู้ก็เกิดขึ้น ในเมื่อญาณหยั่งรู้เกิดขึ้น ปัญญา อุทปาทิ ปัญญาก็เกิดขึ้น ทีนี้ปัญญาความรู้มันไม่มีขอบเขต มันรู้มากๆ ทีนี้ความรู้ทัน ความรู้แจ้งเห็นจริงในความรู้นั้น ตามข้อเท็จจริงเรียกว่า วิชา ในเมื่อวิชาบังเกิดขึ้น อาโลโก อุทปาทิ จิตเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเบิกบาน อย่างเต็มที่ แล้วก็เข้าไปสู่ความสงบ อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างไสวบังเกิดขึ้น อันนี้ตามหลักของธรรมจักกัปปวัตนสูตร

 

ถาม  จิตตกใจกลัว และตกใจง่าย ดิฉันเพิ่งจะปฏิบัติ มักคิดว่า เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมดา เป็นสิ่งลึกลับ

ตอบ  อันนี้ การปฏิบัติบางอย่าง ถ้าหากเราไปศึกษาตามแบบชนิดที่เรียกว่า ไปขอพลัง หรือไปเชิญอะไรสักอย่างหนึ่ง ให้มาช่วยจิตให้มันเป็นไปได้เร็วในทำนองนั้น อันนี้มันมักจะวิตกกังวลว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เข้ามาสิงมาสู่ภายในจิตภายในใจ แล้วทำให้จิตใจนี้เกิดมีความหวาดกลัว อันนี้เคยเจออยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่สนใจจะทำสมาธิที่ให้เกิดประโยชน์กันจริงๆ นี้ ถ้าจะพยายามเลือกเฟ้นหาครูบาอาจารย์ ที่สอนในทางที่ถูกต้องบ้างก็จะดี เช่น อย่างบางครั้งไปหลงเชื่อให้เขาไปลงกระหม่อม แล้วก็ไปยกครูอะไรขึ้นมาภาวนา แล้วก็เสียสติ มีการเข้า เจ้าทรงผีไปในทำนองนั้น มันไม่ถูกทาง อันตรายของนักปฏิบัติมีมาก เหลือเกิน ผู้ที่ทำไปนั้นไม่ทราบว่าท่านมุ่งผลประโยชน์อันใด ไม่ขอวิจารณ์ แต่ว่าการที่ไปเรียนสมาธิแบบเหมือนกับเรียนไสยศาสตร์กัน เป็นการไม่ถูกต้อง อาจารย์ของอาตมานี้เคยสอนคน แต่ท่านสอนแต่ฆราวาส และฆราวาสนี้ก็สอนแต่โยมผู้ชาย โยมผู้หญิงไม่สอน เรียกว่า สอนธรรมะพระไตร ใครภาวนาเป็นแล้วมีสมรรถภาพในการขับไล่ผี คนที่ถือผีถือสางนี้เอาไปทำน้ำมนต์ขับไล่แล้วเลิกถือผีถือสางหมด แต่ว่าภาวนาแล้วปีติขึ้นแรง พอภาวนาตอนแรกๆ นี้นึกพุทโธๆ ๆ ในใจ พอเกิดปีติขึ้นมาแล้ว จะมีเสียงพุทโธๆ ๆ ดังก้องออกมา พอดังออกมาแล้วยังเหลือแต่ โธ ๆ ๆ ๆ คำเดียว พอเงียบ โธ ลงไปแล้วไม่สวดปาฏิโมกข์ ก็ต้องสวดมนต์ ไม่สวดมนต์ ก็ต้องแสดงธรรม แต่อันนี้ไม่ปรากฏว่า ผู้ภาวนาแล้วเกิดเสียสติ เอาไปใช้ประโยชน์ในทางช่วยคนที่เขาถูกผีรบกวนอะไรได้

 

 

ถาม  การหลับตาเพ่งระยะหนึ่ง จิตเห็นดวงไฟสีแดงปรากฏชัด จึงเพ่งดูต่อไป แต่แล้วนานๆ เข้า ดวงไฟสีแดงนี้ค่อยๆ หายไป เมื่อหายไปแล้วเพ่งอีก ก็ไม่เห็นดวงไฟที่กล่าวนี้อีกเลย อยากทราบว่า ที่เห็นดวงไฟสีแดงนี้คืออะไร

ตอบ  การหลับตาเพ่ง ในเมื่อหลับตาเพ่งลงไปแล้วมองเห็นดวงไฟ ๆ นี้ มันเกิด ความรู้สึกเห็นในชั่วขณะหนึ่ง เช่น เราอาจจะมองดูแสงสว่าง หรือดวงสว่างอันใดอันหนึ่ง ในเมื่อเรามองดูแล้ว เราหลับตาลงไปชั่วขณะนั้น เราอาจจะมองเห็นดวงอันนั้นอยู่ เช่น อย่างดวงไฟ เป็นต้น ทีนี้ภายหลังในเมื่อเราเพ่งดูอีกมันก็หายไป อันนี้การเพ่งเห็นดวงไฟดังที่ว่านี้ ถ้าจะว่าเป็นดวงนิมิต มันก็ยังไม่ใช่ เพียงแต่ว่าเรามองดูอะไรนานๆ สักหน่อยหนึ่ง เช่น ดูดวงไฟนี้ ที่สว่างอยู่นี้ พอดูสักนาทีหรือครึ่งนาที พอหลับตาพักลงไปเท่านั้น มันจะมองเห็นเป็นดวงสว่างสุกอยู่ อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดา ถ้าจะว่าเป็นสมาธิก็เป็น ขณิกสมาธิ ทีนี้ความสว่างตามความหมายแห่งองค์ประกอบของสมาธินั้น ในตอนแรกๆ มันก็อาจจะสว่างขึ้นมาเป็นดวงเหมือนดวงไฟ สำหรับดวงสว่างซึ่งมันผ่านเข้ามาเป็นวับๆ แวบๆ ชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการภาวนาที่จะต้องเป็นเช่นนั้น ทีนี้ในเมื่อจิตมันสงบนิ่งลงไปเป็นสมาธิ เริ่มตั้งแต่อุปจารสมาธิ หรือเรียกว่าสมาธิมันเดินตามองค์ของฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา นั้น เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว ที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นเครื่อง หมายว่าจิตสงบคือแสงสว่างๆ ภายในจิต อันนี้เป็นส่วนประกอบ ความสว่างอันนี้ผิดแผกจากที่เรามองเห็น ทีนี้ถ้าหากว่าจิตเริ่มสงบในตอนแรกๆ นี้ พอสงบลงไป พอรู้ รู้สึกสงบเท่านั้นแหละ แล้วกระแสจิตของเราส่งกระแสออกไปไกลๆ โน้น เราอาจจะมองเห็นแสงเป็นจุดในตอนนั้น จิตของเราสงบแล้วมันพุ่งไปข้างหน้า แล้วไปเกิดสว่างอยู่ข้างหน้า นี้เป็นสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่า จิตของเราเริ่มสงบเหมือนกัน ทีนี้ถ้าหากจิตสงบๆ ละเอียดยิ่งขึ้นไปๆ แล้ว แสงสว่างที่เรามองเห็นอยู่ไกลนั้น มันจะหดเข้ามาๆ จนกระทั่งถึงตัวเรา ในเมื่อมาถึงตัวเราแล้ว จิตสงบละเอียดวูบลงไป เกิดสว่างโพลงขึ้นมา จิตเริ่มมีสมาธิ ถ้าหากสมาธิอันนี้ ยังรู้สึกว่ามีตัวปรากฏอยู่เป็นสมาธิขั้นอุปจารสมาธิ ถ้าปรากฏว่าตัวหายไปแล้วยังเหลือแต่จิตสงบนิ่งสว่างอยู่ อันนั้นเป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ สมาธิขั้นอัปปนาในขั้นต้นนี้ มันเป็นแต่เพียง ปฐมจิต ปฐมวิญญาณ ปฐมสมาธิ เป็น อุคคหนิมิต ทีนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกหัดเข้าออกสมาธิให้ชำนิชำนาญตามองค์ฌานนั้น จึงจะนำสมาธินั้นไปใช้ประโยชน์ได้ ในการพิจารณาวิปัสสนาในขั้นต่อไป ได้อย่างชำนิชำนาญ อันนี้ขอให้ท่านพึงสังเกตเรื่อยๆ ไป

 

 

ถาม  การปฏิบัติทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ผลปรากฏว่าลมหายใจไม่ปรากฏเลย ผลปรากฏภายในทั้งรู้ทั้งเห็น สว่างแจ่มใสเบิกบานมาก เห็นภายในเป็นสายขาวบริสุทธิ์เท่าเส้นด้ายหลอด ปรากฏชัดแจ้ง เจตสิกไม่เคยปรุงจิตได้เลยแม้แต่ขณะหนึ่ง ปรากฏนานเช่นนี้ นานได้ถึง๗ วัน

ตอบ  โดยธรรมชาติของการปฏิบัตินี้ เราจะกำหนดรู้ลงไปได้ว่า ๑. จิตคือตัวรู้ ๒. เครื่องรู้ของจิต หมายถึงอารมณ์ของจิต มีลมหายใจ เป็นต้น เมื่อจิตมีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก เช่นอย่างในปัญหานี้ จิตกำหนดเอาลมหายใจเป็นเครื่องรู้ และสติเอาลมหายใจเป็นเครื่องระลึก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จิตตามลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งลมหายใจรู้สึกละเอียดลงไป เมื่อลมหายใจละเอียดลงไปแล้วปรากฏว่าลมหายใจก็หายไป ร่างกายที่มีอยู่ก็หายไป แล้วปรากฏว่ามีจิตสงบนิ่งใสสะอาด บริสุทธิ์ ในที่นี้ใช้คำว่า ขาวใส บริสุทธิ์ แล้วยังแถมว่ามีเป็นเส้นเหมือนด้ายหลอด ทีนี้เส้นด้ายหลอดนี้ มันก็ตรงกับว่ากระแสจิตส่งออกไปไกล ก็มองเห็นแสงพุ่งไปไกล ตอนนี้จิตส่งกระแสอยู่ในภายนอก ทีนี้ความรู้สึกมันหดรวมเข้ามาอยู่ภายใน คือ จิตอยู่ในจิต สายที่มันพุ่งไปเป็นเส้นด้ายไกลๆ นั้น ก็หายไป ก็เหลือแต่จิตนิ่งสว่าง ขาวบริสุทธิ์ เป็นหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นจิตอยู่ในอัปปนาสมาธิ ถ้าหากเป็นอัปปนาสมาธิในขั้นต้น จิตจะนิ่งใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่เฉยๆ ความรู้มีแต่เพียงว่าจิตสงบนิ่งมีความสว่างเท่านั้น อันนี้เป็นสมถะ หรือเป็นอัปปนาสมาธิ เกิดขึ้นในขั้นสมถภาวนา

แต่ถ้าหากว่าจิตได้ผ่านการพิจารณา หรือมีความสำคัญมั่นหมาย ได้พิจารณาอารมณ์ในแง่ต่างๆ มาแล้ว เมื่อจิตสงบลงไปในลักษณะแห่งอัปปนาสมาธิ แม้ว่าตัวคือร่างกายจะหายขาดไปก็ตาม แต่จิตก็มีสิ่งที่รู้อยู่

บางครั้งปรากฏการณ์อาจจะเป็นในทำนองนี้ พอจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว จิตจะแสดงอาการลอยออกจากร่าง แล้วมาลอยอยู่เหนือร่าง ส่งกระแสลงไปดูร่างที่ตนอาศัยอยู่ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่มองเห็นอาจจะขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพัง ยังเหลือแต่โครงกระดูก แล้วสลายตัวไปไม่มีอะไรเหลือ แม้แต่ผืนแผ่นดินที่อาศัยอยู่ก็ไม่ปรากฏในความรู้สึก มีแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ และในบางครั้ง ในเมื่อสิ่งที่มองเห็นคือร่างกายที่ปรากฏนั้นหายไป แม้แต่จิตอยู่ในลักษณะที่สงบนิ่งเป็นปกติอยู่ ก็ยังจะมีปรากฏการณ์ปรากฏขึ้นให้รู้ คล้ายๆ กับว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันผ่านเข้ามาวนรอบในจิต แต่จิตก็นิ่งเด่นเฉย อันนี้ไปตรงกับคำถามที่ว่า จิตขาวใสบริสุทธิ์ปรากฏแจ้งชัด

เจตสิกไม่ปรุงจิต ในขณะที่จิตนิ่ง เจตสิกไม่ปรุงจิตตามคำถามของท่านผู้นี้ หมายถึงว่า จุดนี้มันเกิดมีศีล สมาธิ ปัญญา รวมเป็นหนึ่งซึ่งเรียกว่า อริยมรรค มัคคสมังคี ประชุมลงเป็นหนึ่ง ยังปรากฏการณ์ก็คือ จิตดวงสงบนิ่งสว่าง บริสุทธิ์สะอาด ไม่หวั่นไหวในสิ่งที่ผ่านเข้ามา อาจจะมีอะไรผ่านเข้ามาอย่างละเอียดๆ จิตก็มองเห็นสิ่งนั้นอยู่ แต่ไม่มีอาการหวั่นไหวไปตาม ท่านผู้นี้จึงเรียกว่า เจตสิก ไม่ปรุง หมายถึง จิตสงบนิ่งลง อริยมรรคประชุมพร้อมกันที่จิต แล้วจิตสามารถประคองตัวได้โดยอัตโนมัติ เป็นหนึ่งอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่าการประชุมพร้อมแห่งอริยมรรค ถึงแม้จะเป็นขั้นต้นๆ ก็เป็นแนวทาง

 

ถาม  ปรากฏทั้งรู้ ทั้งเห็น เท่ากับมองด้วยสายตาภายนอก

ตอบ  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดา ในเมื่อสิ่งใดปรากฏขึ้นมาแล้ว ก็ทั้งรู้ทั้งเห็น ถ้าหากความรู้ความเห็นที่มันเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้ภาวนายังมีตัวปรากฏอยู่ ถ้าเกิดนิมิตขึ้นมาจะดูคล้ายมองเห็นด้วยสายตา แล้วก็รู้ด้วยใจ เพราะฉะนั้น ท่านผู้นี้จึงว่าทั้งรู้ ทั้งเห็น ผู้รู้ด้วยใจ และมองเห็นด้วยสายตา อันนี้เป็นนิมิตที่เกิดขึ้นในขั้นต้นในขณะที่จิตเป็นอุปจารสมาธิ ทีนี้ถ้าหากนิมิตเกิดขึ้น ในขณะที่จิตสงบละเอียด จนกระทั่งจิตนิ่งเด่นเป็นหนึ่งแล้ว มีทุกสิ่งทุกอย่างผ่านเข้ามา จิตรู้เห็นอยู่ อันนี้เป็นนิมิตที่จิตรู้ด้วยจิตโดยตรง เพราะฉะนั้น นิมิตในขั้นต้น ขั้นอุคคหนิมิต จิตรู้คล้ายกับมองเห็นนิมิตนั้นด้วยตา ขั้นปฏิภาคนิมิตจิตรู้แล้วก็มองเห็นด้วยใจ เรียกว่า ตาใจ ระดับอุคคหนิมิตนี้ จิตทั้งรู้เห็นด้วยใจ ทั้งมองเห็นด้วยตาเนื้อ แต่ไม่ได้หลับตา แต่ประสาททางรู้เห็นทางตายังไม่ขาดไป แต่ถ้าอยู่ในขั้นปฏิภาคนิมิตแล้ว มีแต่จิตรู้เห็นทางเดียว จักษุประสาทไม่เกี่ยวข้อง พึงทำความเข้าใจอย่างนี้

 

 

ถาม  กำหนดจิตมีสติปกครองรักษาจิต อารมณ์เช่นนั้นก็มีผลแบ่งออกอารมณ์ภายนอก   

ตอบ  อันนี้มันเป็นผลที่ผู้ปฏิบัติได้ฝึกฝนอบรมจิต ทั้งขั้นบริกรรมภาวนา ขั้นการพิจารณาธรรม จนสามารถทำจิตให้มีสติ เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะ  อาการอย่างนี้มักจะเกิดขึ้นกับจิตของท่านผู้ดำเนินการปฏิบัติตามหลักของมหาสติปัฎฐาน โดยอาศัยหลัก กาย เวทนา จิต ธรรม  การพิจารณากาย ก็คือพิจารณาอาการ ๓๒ ในแง่อสุภกรรมฐานบ้าง ในแง่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ บ้าง  โดยเอาอาการ ๓๒ นี้เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ
ในขณะที่เรากำหนดพิจารณาดูกายคือ อาการ ๓๒ นั้น ความจริงเราตั้งใจแต่จะดูเรื่องของกาย  แต่พร้อมกันนั้นเราจะรู้เรื่องของเวทนา ของจิต ของธรรม ไปด้วย  เราดูกาย เราก็รู้เวทนา มันเกิดที่กาย ความสุขก็เกิดที่กาย ความทุกข์ก็เกิดที่กาย และพร้อมๆ กันนั้น จิต ธรรม มันก็ปรากฏขึ้นเพราะจิตมันเป็นผู้รู้  แล้วก็ธรรมที่จะปรากฏเป็นสิ่งกวน เรียกว่า นิวรณ์ ๕ เวทนาก็คือ สุข ทุกข์ ที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ภูมิจิตของท่านผู้ดำเนินตามแนวแห่งมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้คือ ยึดเอา กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเครื่องรู้ เครื่องเห็น เป็นเครื่องระลึกของสติ  เมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะดีแล้ว แม้อยู่ในสมาธิก็จะรู้สึกจิตกับอารมณ์แยกกันออกคนละส่วน ในเมื่อออกจากสมาธิแล้วมาอยู่ปกติธรรมดา เช่น อย่างเราคุยกันอยู่เดี๋ยวนี้  ท่านผู้นั้นก็จะรู้สึกจิตภายในมีความสงบอยู่ แต่ส่งกระแสจิตมาทำงานภายนอกรับรู้อารมณ์ได้  ในบางครั้งคล้ายๆ กับเรารู้สึกว่า เรามีใจ ๒ ดวง ดวงหนึ่งมันนิ่งอยู่ข้างใน ดวงหนึ่งมันทำงานอยู่ข้างนอก  อันนี้เป็นธรรมชาติของจิตผู้ที่ฝึกฝนอบรมมาชำนิชำนาญ มีสติสัมปชัญญะพอสมควร แล้วจะได้ผลอย่างนี้

  

ถาม  การปฏิบัติแบบใด ที่จะทำให้มีความรู้ จิตของตนเฉพาะภายใน พร้อมทั้งพูดคุยกับคนอื่นๆ ได้   

ตอบ  อันนี้การปฏิบัติแบบใด อย่างไร  คำถามนี้ตรงกับคำถามว่า ทำอย่างไรจิตจึงสงบเป็นสมาธิได้เร็ว และจึงจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงได้เร็ว  ต้องการอยากจะเป็นให้เร็วต้องทำให้มากๆ อย่างที่ว่าวันหนึ่งทำ ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑ ชั่วโมง รับรองว่าเป็นได้เร็ว

 

ถาม   เวลานั่งสมาธิรู้สึกว่า เหมือนกายจะระเบิดออก แต่เป็นเฉพาะที่ฝ่ามือ  จิตเย็นสบาย โปร่ง ลมหายใจเบาขึ้นๆ   ควรจะปฏิบัติอย่างไร      

ตอบ  อันนี้เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติ  พอเราตั้งใจปฏิบัติแล้ว ความเอาใจใส่ในตัวเองมันเพิ่มมากขึ้น  ความเอาใจใส่ในจิตของเราเอง ความเอาใจใส่ในกายของเราเอง และความเพ่งเล็งที่จะให้จิตเกิดสงบ  ยิ่งความเพ่งเล็งจะให้จิตสงบมากเท่าไร ความเหน็ดเหนื่อยหนักในกายก็ยิ่งมีมากขึ้น    ทีนี้การภาวนาที่จะข่มจิตให้สงบนี้ โดยมีความตั้งใจข่ม แล้วบังคับจิตให้โน้มไปในทางที่สงบ  บางทีเมื่อจิตสงบลงไปจริงๆ แล้ว จะกลายเป็นสมาธิ ตัวแข็ง  เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะภาวนาเพื่อให้เบากาย เบาจิต กันจริงๆ แล้ว   อย่าไปบังคับความรู้สึก เพียงแต่ควบคุมจิตให้อยู่กับคำบริกรรมภาวนาเท่านั้น เช่น อย่างภาวนา พุทโธ นี้ นึกถึง พุทโธ ๆ ๆ   สติสัมปชัญญะไม่ต้องถาม  เมื่อเรานึกถึง พุทโธ ๆ ๆ  เอาพุทโธ ไว้กับจิต เอาจิตไว้กับพุทโธ  สติสัมปชัญญะมาเองโดยอัตโนมัติ  หน้าที่เพียงนึก พุทโธ ๆ ๆ  ด้วยความรู้สึกเบาๆ และก็อย่าไปปรารถนาให้เกิดผลใดๆ ทั้งนั้น  เมื่อทำไปพอสมควรแล้ว ผลจะเกิดขึ้นมาเอง  แต่ว่าต้องทำให้มากๆ หน่อยนะ  ๒๐ นาที  ๓๐ นาทีไม่พอ

 

ถาม  ทำไมเมื่อออกจากสมาธิแล้ว จะมีความรู้แปลกๆ เกิดขึ้น ซึ่งคาดไม่ถึง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และความรู้ที่ออกจากสมาธิใหม่ๆ พอจะเชื่อได้หรือไม่ ว่าเป็นความจริง
ตอบ  อันนี้เป็นธรรมชาติของจิต ที่ฝึกหัดสมาธิติดต่อ  การทำสมาธิแต่ละครั้งๆ  บางทีอาจจะไม่เกิดความสงบและความรู้จริงเห็นจริง  ผู้ปฏิบัติรู้สึกเหน็ดเหนื่อยโดยเปล่าประโยชน์ไม่ได้ผลอันใด  แต่ถึงกระนั้น การกระทำนั้นก็สะสมกำลังไว้ทีละเล็กทีละน้อย  ธรรมะเป็นอกาลิโก ได้จังหวะเมื่อไรก็เกิดความรู้แปลกๆ ขึ้นมาเมื่อนั้น  และบางครั้งก็เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ  บางครั้งอาศัยอดีตสัญญามากระตุ้น  บางครั้งก็มีเหตุการณ์ในปัจจุบันมากระตุ้นให้เกิดความรู้ขึ้นมา  อันนี้เป็นธรรมชาติของจิต ของผู้ที่ผ่านการฝึกฝนอบรมสมาธิมาแล้วพอสมควร

 

ถาม  เมื่อปฏิบัติไปแล้ว รู้สึกเหมือนมีอะไรรวมกลับเข้ามาในตัว คืออะไร
ตอบ  อันนี้เป็นลักษณะของความหดสั้นเข้ามาของกระแสจิตที่ส่งกระแสไปสู่ที่ไกลๆ แล้ว  เมื่อเราภาวนาแล้ว  เมื่อจิตจะสงบมันก็เริ่มหดสั้นเข้ามาจนกระทั่งถึงตัว แล้วก็สู่จุดแห่งความสงบ  ซึ่งบางครั้งมันอาจจะเกิดขึ้น เพียงแต่รู้สึกว่ามันรวมกลับเข้ามาในตัว  บางครั้งอาจจะเกิดแสงสว่างอยู่ในที่ไกลๆ โน้น มองสุดลูกหูลุกตา  เมื่อบริกรรมภาวนาหนักเข้า  แสงนั้นจะย่นใกล้เข้ามาหาตัวทุกทีๆ  เมื่อจิตสงบขึ้นมาจริงๆ แล้ว แสงจะวิ่งเข้ามาในตัว เกิดความสงบสว่างขึ้นภายในจิต  อันนี้ เป็นลักษณะการรวมของจิตเข้าสู่สมาธิ ซึ่งมันจะเป็นเองโดยธรรมชาติ

 

ถาม  เมื่อต้องการจะหยุดทำ คล้ายกับมีร่าง ๒ ร่าง เหมือนมีจิตแยกกันอยู่ ควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป
ตอบ  เหตุการณ์ที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางขณะ  บางทีเราทำจิตสงบลงไป เราอาจจะมองเห็นตัวของเราอีกร่างหนึ่งแฝงขึ้นมา มีความรู้สึกว่า เรามีกาย ๒ กาย มีจิต ๒ จิต  เพราะในขณะนั้นเรารู้สึกว่า กายของเราแยกออกไปอยู่ข้างนอก ความรู้สึกของเราจึงแยกออกเป็น ๒ ส่วน  ในเมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นควรจะปฏิบัติอย่างไร  อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม มันจะเป็น ๒ ร่างหรือ ๓ ร่าง หรือ ๑๐ ร่างก็แล้วแต่  สิ่งที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้นนั้น เพราะผลที่เกิดจากการทำสมาธิ  เมื่อจิตสงบลงไปสู่อุปจารสมาธิ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก ถ้าไม่เห็นภาพหรือรูปอย่างอื่น ก็จะมองเห็นรูปตนเองปรากฏขึ้น เมื่อจิตสงบเข้าจริงจังแล้ว ร่างที่ ๒ หรือจิตที่ ๒ จะหายไป จะมารวมอยู่ที่จิตๆ เดียว คือจิตของเรา เป็นเรื่องของธรรมดา เป็นทางผ่านของการทำสมาธิ  ปัญหาสำคัญ อย่าไปเอะใจ หรือไปตื่นกับเหตุการณ์เหล่านั้น ให้กำหนดรู้ลงที่จิตที่สงบอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไปเอะใจกับสิ่งเหล่านั้น จิตจะถอนจากสมาธิ นิมิตที่มองเห็นจะหายไป

 

ถาม  ขั้นของสมาธิที่เราปฏิบัติได้ จะสังเกตได้ด้วยปรากฏการณ์ หรือระยะเวลาที่ปรากฏการณ์นั้นเกิด
ตอบ  ขั้นของสมาธิที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้น ความเกิดขึ้นของสมาธิมีอยู่ ๒ ลักษณะ  ลักษณะอย่างหนึ่งนั้น เมื่อเราบริกรรมภาวนา หรือกำหนดพิจารณาอะไรอยู่ก็ตาม  เมื่อจิตเกิดมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปเหมือนจะนอนหลับ แล้วจิตก็สงบวูบลงไป ตั้งมั่นเป็นสมาธิสว่างไสวขึ้น  อันนี้เป็นลักษณะความสงบอีกอย่างหนึ่ง  ความสงบอย่างนี้เรียกว่า ผู้ทำสมาธินั้นยังไม่ชำนาญในการเดินจิต  เราจะรู้แต่เฉพาะเรากำหนดบริกรรมภาวนา หรือพิจารณาอารมณ์ กับเมื่อตอนที่จิตสงบนิ่งแล้ว  ช่วงระหว่างกลางนี้เรากำหนดไม่ได้  สมาธิจึงยังไม่พร้อมด้วยองค์สมาธิ  ที่พร้อมด้วยองค์นั้น ผู้ภาวนาจะต้องกำหนดรู้ไปตั้งแต่ วิตก วิจาร แล้วก็เกิดปีติ เกิดสุข เกิดเอกัคคตา คือ ความเป็นหนึ่งของจิต จนกระทั่งจิตละ วิตก วิจาร ปีติ สุข  ยังเหลือแต่ เอกัคคตา กับ อุเบกขา ซึ่งเป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ หรือขั้นสมถะ
สมาธิที่เดินตามแนวองค์ฌาน เป็นสมาธิของผู้บำเพ็ญจิตให้เป็นสมาธิชำนาญพอสมควร  ถ้าชำนาญจริงๆ แล้ว สามารถที่จะยับยั้งจิตของตัวเอง ให้อยู่ในองค์ฌานนั้นๆ ตามที่ต้องการ  เว้นเสียแต่จิตไปอยู่ในฌานขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ นั้นแหละ จิตจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ เราจะทำอะไรไม่ได้   ถ้าจิตอยู่ในระหว่างฌานขั้นที่ ๑ ที่ ๒  ในตอนนี้เราสามารถประคองจิตของเราให้อยู่ในองค์ฌานนั้นๆ ได้  คือเราสามารถใช้ความตั้งใจอ่อนๆ  โดยที่เรานึกประคองจิตจะให้อยู่ในระดับปีติ อยู่ในระดับของสุข อยู่ในระดับของความสงบก็ได้  แต่ถ้าหากถึงฌานขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ แล้ว ทีนี้จิตเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

 

ถาม  เวลาทำสมาธิ พอจิตนิ่ง ลมหายใจจะหายไป และคำภาวนาก็หายไปพร้อมกันแล้ว  แต่รู้สึกเช่นนี้แค่เดี๋ยวเดียวก็รู้สึกตัวแล้วควรจะทำอย่างไรต่อไป
ตอบ  เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว จิตจะสงบละเอียดลงไปถึงจุดที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ  ลมหายใจทำท่าจะหายขาดไป คำภาวนาก็หายไป   พอรู้สึกว่ามีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ผู้ภาวนาตกใจ แล้วจิตก็ถอนจากสมาธิ  เมื่อจิตถอนจากสมาธิแล้ว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา  ถ้ายังเสียดายความเป็นของจิตในขณะนั้นที่มันเป็นขึ้นมานั้น ให้กำหนดจิตบริกรรมภาวนาใหม่ จนกว่าจิตจะสงบลงไปจนถึงขนาดลมหายใจจะหายขาดไป คำภาวนาหายไป
ถ้าตอนนี้เราไม่เกิดตกใจ หรือเอะใจขึ้นมาก่อน  จิตจะสงบนิ่งละเอียดลงไปกว่านั้น  ในที่สุดจิตก็จะเข้าสู่อัปปนาสมาธิ  อยู่ในขั้นที่ตัวก็หายไปหมด ยังเหลือแต่จิตรู้ สงบ สว่าง อย่างเดียว  ร่างกายตัวตนไม่ปรากฏ  แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เมื่อลมหายใจจะหายไป คำภาวนาก็หายไป แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นมา  ให้หาเรื่องให้จิตมาพิจารณา พิจารณาโดยเพ่งกำหนดลงที่ใดที่หนึ่ง  จะเป็นบริเวณหน้าอกก็ได้ หรือจะเป็นท่อนแขน ท่อนขา ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้  โดยกำหนดลงในจิตว่าเราจะลอกหนังออก แล้วก็กำหนดเถือกเนื้อออก จนกระทั่งมองเห็นกระดูก  คือว่าใจมองเห็นกระดูก ตายังไม่เห็นก่อน  นึกลงไปให้มันถึงกระดูก โดยกำหนดลอกหนังออก เถือกเนื้อออก แล้วนึกให้มันถึงกระดูก  นึกกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น  แล้วเมื่อจิตน้อมใจ เชื่อลงไปว่ามีกระดูกอยู่ที่ตรงนี้ ให้กำหนดบริกรรมภาวนาว่า อัฐิ ๆ ๆ แล้วก็จ้องจิตลงไปที่จุดนั้น  เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จิตจะมองเห็นกระดูกในจุดที่เพ่งนั้น  ในทำนองนี้จะทำให้เราได้สมถกรรมฐาน
มีตัวอย่าง ครูบาอาจารย์ท่านเคยให้คำแนะนำกันมา  ท่านอาจารย์องค์หนึ่งภาวนา พุทโธ มาถึง ๖ ปี  จิตก็สงบลงไป ทำท่าว่าลมหายใจจะหายไป คำภาวนาก็หายไป  แล้วจิตก็ตื่นขึ้นมา ไม่ถึงความสงบสักที  ทีนี้อาจารย์องค์นั้นก็ไปถามท่านอาจารย์อีกองค์หนึ่งว่า ทำอย่างไรจิตมันจะสงบเป็นสมาธิดีๆ สักที  อาจารย์องค์นั้นก็ให้คำแนะนำว่า ให้เพ่งลงตรงหน้าอกให้มันเห็นกระดูก โดยลอกหนังออก เถือกเนื้อออก  แล้วก็จ่อจิตลงไปบริกรรมภาวนาว่า อัฐิ ๆ ๆ  อาจารย์องค์นั้นก็ไปปฏิบัติตามก็ได้สมาธิ แล้วก็ได้สมาธิเห็นกระดูกตรงหน้าอก  ตอนแรกๆ ก็มองเห็นแต่กระดูกหน้าอกเพียงนิดเดียว  เมื่อได้นิมิตเห็นกระดูกตรงนั้น จิตมันก็สงบนิ่งจ้องอยู่ตรงนั้น  ลงผลสุดท้ายก็มองเห็นกระดูกทั่วตัวไปหมด  มองเห็นกายทั้งหมดเป็นโครงกระดูก  ในเมื่อมองเห็นกายเป็นโครงกระดูกอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วโครงกระดูกก็พังลงไป แล้วก็สลายตัวไป หายไปหมด ยังเหลือแต่จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิว่างอยู่อย่างเดียว
ทีนี้ในอันดับต่อไปนั้น เมื่อจิตสงบนิ่งว่างอยู่เฉยๆ ภายหลังเมื่อจิตสงบนิ่งว่างอยู่พอสมควรแล้ว ก็เกิดความรู้อันละเอียดขึ้นมาภายในจิต แต่ไม่ทราบว่าอะไร  มันมีลักษณะที่รู้ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไปเหมือนๆ กับขี้เมฆที่ลอยผ่านสายตาเราไปนั่นแหละ  แต่จิตก็นิ่งเฉยสงบนิ่งสว่างอยู่ตลอดเวลา  สิ่งที่มันมีให้รู้ ให้เห็น มันก็ผ่านไปเรื่อยๆ  ทีนี้นึกถามดูซิ ตรงนี้เราจะเรียกว่าอะไร  ตรงนี้เป็นภูมิความรู้ เป็นภูมิปัญญาของจิตอย่างละเอียดเกิดขึ้น  ซึ่งเป็นความจริง ความจริงที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติ สภาวธรรม  ส่วนที่เป็นสัจจธรรมเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัตินั้น มีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งท่านอาจารย์มั่นท่านว่า ฐีติ ภูตัง  ฐีติ ภูตัง ของท่านอาจารย์มั่นในมุตโตทัย มีความหมายว่า ฐีติ คือ ความตั้งเด่นอยู่ของจิต อยู่ในสภาพที่สงบนิ่ง เป็นกิริยาประชุมพร้อมกันของอริยมรรค  ยังจิตให้บรรลุถึงความเป็นปกติภาพโดยสมบูรณ์
เมื่อจิตมีอริยมรรคประชุมพร้อม ภายในจิตมีลักษณะสงบนิ่งสว่าง  อำนาจของอริยมรรคสามารถปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม อย่างละเอียด  ภูมิรู้ ภูมิธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างละเอียดไม่มีสมมติบัญญัตินั้น ท่านเรียกว่า ภูตัง  ภูตัง หมายถึงสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ โดยธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น  แต่ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไร   สงสัยต่อไป ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะเรียกว่าอะไร  ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ว่า สิ่งนั้นคืออะไร  พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไว้ แม้แต่เพียงแค่ว่า แม้แต่ท่านแสดงธรรมจักรให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ฟัง  ท่านอัญญาโกณฑัญญะ รู้ธรรม เห็นธรรม ก็รู้แต่เพียงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา
คำว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ดับเป็นธรรมดา  ในขณะที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะท่านรู้เห็นอย่างนั้น ท่านไม่ได้ว่าอย่างนี้  คำว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ดับไปเป็นธรรมดา ว่าเมื่อออกจากสมาธิแล้ว  ในขณะที่อยู่ในสมาธิรู้เห็นสิ่งนั้น ท่านไม่ได้ว่าอะไร เพราะจิตของท่านสงบนิ่ง เด่น สว่างไสวอยู่  แต่สิ่งที่ผ่านเข้ามาในจิตรู้ ก็ผ่านไป  แต่ไม่ทราบว่าอะไร  เมื่อท่านออกจากสมาธิมาแล้ว ท่านจึงรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เพราะในขณะที่ท่านรู้ ท่านไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร แต่มันก็มีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น  จิตผู้รู้ก็มีอยู่ สิ่งที่ให้จิตรู้ก็มีอยู่ แต่เรียกชื่อไม่ถูก

 

ถาม  รูปคือ ร่างกาย จะเห็นเกิด-ดับ ได้อย่างไร  ถ้าไม่ได้สมาธิถึงอัปปนา ถ้าจะเห็นก็เพียงจินตนาการ หรือคิดคาดคะเนใช่ไหม
ตอบ  ใช่  ความรู้แจ้งเห็นจริงทั้งหลายทั้งปวงนั้น อาศัยการค้นคิดด้วยจินตา เรียกว่า จินตมยปัญญา  การค้นคิดการพิจารณานี้ เป็นอุบายทำให้จิตเกิดความสงบเป็นสมาธิ ทำให้สติสัมปชัญญะดีขึ้น  แล้วเมื่อสติสัมปชัญญะดีขึ้น ประกอบกับจิตที่มีสมาธิ ก็ย่อมสามารถปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิจิต ภูมิธรรม ได้เอง  ส่วนในอัปปนาสมาธินั้น  อัปปนาสมาธิในเบื้องต้น ในเมื่อจิตสงบนิ่งลงไปเพียงแค่ว่าจิตอยู่ในอัปปนาสมาธิ ยังไม่เคยผ่านการพิจารณาอะไรมา จิตจะไปสงบนิ่งอยู่เฉยๆ  แต่ถ้าหากว่าจิตเจริญวิปัสสนาขั้นละเอียด จิตอยู่ในลักษณะแห่งอัปปนาสมาธิเหมือนกัน  แต่ก็สามารถมีเครื่องรู้ เครื่องเห็น ภายในจิต  สิ่งที่จะให้จิตรู้ สิ่งที่จะให้สติระลึกนั้น มีปรากฏอยู่ แต่จิตก็อยู่ในลักษณะอัปปนาสมาธิ  ทีนี้อัปปนาสมาธิในเบื้องต้นนั้น เป็นแต่เพียงปฐมจิต ปฐมวิญญาณ มโนธาตุ  ในเมื่อสมาธิผ่านเข้ามาในจิต หรือจิตเป็นสมาธิบ่อยๆ ผ่านการพิจารณาหนักๆ เข้า  จิตนั้นจะมีพลัง  เมื่อออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอก ตัวการสำคัญก็คือ สติ ที่จะตามรู้ ตามเห็น ตามความรู้สึกนึกคิดนั้นๆ แล้วแม้ขณะที่จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิอย่างละเอียด  ตัวสติตัวนี้ จะเป็นผู้รู้ทันเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิต  ส่วนความเข้าใจอันละเอียดนั้น  ขอฝากนักปฏิบัติไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง  ที่อาตมาว่าไปนี้อย่าเพิ่งเชื่อ เพียงแต่รับฟัง  สิ่งใดที่ฟังแล้วเชื่อเลย เขาก็ว่าโง่  ในเมื่อฟังแล้วปฏิเสธว่าไม่ใช่ ก็โง่อีก  เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรม ต้องพิจารณาตัดสินโดยสติปัญญา

 

ถาม  ที่ว่า วูบ นั้นคือ ภวังค์ ใช่ไหมครับ
ตอบ  ใช่ วูบคือช่วงว่างของจิต อย่างเราภาวนา พุทโธ ๆ ๆ แล้วก็จิตทำท่าจะสงบ แล้วระหว่างจิตที่จะปล่อยพุทโธนี้ ไปถึงจุดที่สงบนิ่ง  ช่วงกลางนี้มันว่าง  ความว่างนี้เรียกว่า ภวังค์  ทีนี้ ภวังค์ คือ การก้าวลงของจิต  ในเมื่อจิตตกภวังค์วูบลงไป  พอวูบนิ่ง ถ้านิ่งแล้วไม่มีลักษณะของความสว่าง คือความพร้อมของจิตไม่พร้อมที่จะตื่นก็เป็นการหลับไปอย่างธรรมดา เช่นอย่างวูบลงไปแล้ว หลับมืดลงไปไม่รู้อะไร  ทีนี้พอวูบลงไปปั๊บ เกิดสว่างโพลงขึ้นมา  อันนี้เรียกว่า สมาธิแบบฟลุคๆ  แต่ว่าใครทำได้ก็ดี ทำหลายครั้งหลายหน แล้วก็ค่อยชำนาญขึ้น แล้วก็จะติดต่อกันเอง  อันนี้เรากำหนดระหว่างกลางนี้ไม่ได้ ตั้งแต่วิจารกับอัปปนาสมาธิ ช่วงนี้มันว่าง  เรากำหนดไม่ได้ว่าจิตของเรามันผ่านอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น สมาธิอันนี้เราเรียกได้แต่อัปปนาสมาธิเฉยๆ

 

ถาม  ก่อนจะออกจากสมาธิภาวนา ควรจะปฏิบัติอย่างไรบ้าง
ตอบ  ลุกได้ต่อเมื่อ เรากำหนดพิจารณาดูตั้งแต่ต้น ที่จะนั่งสมาธิ ว่าเราได้ทำอะไรบ้าง  เริ่มต้นแต่จุดธูปเทียน ไหว้พระสวดมนต์แผ่เมตตา กำหนดอารมณ์ เครื่องบริกรรมภาวนา คืออารมณ์เป็นเครื่องรู้ เครื่องพิจารณาของจิต  แล้วจิตของเรามีความเป็นไปอย่างไร สงบหรือไม่สงบ รู้หรือไม่รู้ ได้ผ่านสมาธิขั้นไหน อย่างไร  มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีปีติไหม มีความสุขไหม มีนิมิตไหม มีความรู้อะไรเกิดขึ้นไหม  จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายที่เราจะออกจากสมาธิ ว่าจิตของเราสงบไหม  แล้วทีนี้เมื่อเราพิจารณาดูอย่างนั้นแล้ว  เราก็กำหนดรู้จิตของเราอีกทีหนึ่งว่าอะไรมันเกิดขึ้น ความคิดอะไรเกิดขึ้น เราก็กำหนดรู้ความคิดอันนั้น ความคิดนี้มันดับไป เราก็ปล่อยมันไป  ความคิดใหม่เกิดขึ้น เราก็กำหนดรู้ เรียกว่าตามรู้ให้มันทันความคิด   สำหรับผู้ที่บริกรรมภาวนาแล้ว จิตไม่สงบ บริกรรมอย่างไร มันก็ไม่สงบ  ก็ควรจะเปลี่ยนเป็นวิธีนี้ คือวิธีที่จะนั่งหลับตาก็ตาม ลืมตาก็ตาม ให้คอยจ้องดูความคิดของเราเองว่า จะคิดอะไรขึ้น พอคิดอะไรขึ้นมาปั๊บ ก็กำหนดรู้
เมื่อเราทำอย่างนี้ จะได้ประโยชน์อะไร เพราะเราดูทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความตั้งใจ ด้วยความมีสติ จะทำให้สติของเราเด่นขึ้น มีกำลังขึ้น แล้วเราจะสามารถรู้ทันความคิดของเราเอง เมื่อเรารู้ทันความคิดของเราเอง ต่อไปเราจะคิดอะไร คิดด้วยความรู้เท่าทัน  สิ่งที่เราคิดนั้น มันจะไม่สามารถดึงเอาจิตใจของเรา ให้ไปเกิดทุกข์ทรมาน  ความจริง คำว่า ความรู้ ตามความหมายของคำว่า รู้ สมาธิ หรือสมาธิปัญญานั้น ก็หมายถึงจิตสามารถรู้ทันอารมณ์ต่างๆ  ที่เราเคยนึกคิดว่ามันวุ่นวาย  แต่ก่อนโดยปกติที่เรายังไม่มีสมาธิ ไม่มีสติปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ เราดูอะไร เราได้ยินได้ฟังอะไร ได้สัมผัสอะไรในทางตา หู จมูก กาย ใจ สิ่งที่จะพึงเกิดขึ้นมันก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือพอใจ ไม่พอใจ  นอกจากจะเกิดความพอใจ ไม่พอใจ มันยังจะต้องปรุงแต่งไปอีก  แล้วก็หาเรื่องไปเรื่อยๆ จนตัวเองต้องเกิดทุกข์วุ่นวายขึ้นมา  แม้ถ้าเรามีสมาธิ มีสติปัญญารู้เท่าทัน เรามองดูอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู ได้กลิ่นอะไรทางจมูก รู้รสทางลิ้น สัมผัสทางกาย  แม้แต่นึกทางใจ  เรามีสติคอยจ้องดูอยู่ ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นมันจะกลายเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เพราะอาศัยความรู้เท่าทันอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา  สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมาน ให้เกิดทุกข์ขึ้นได้   นี่คือผลที่จะบังเกิดขึ้น  อันนี้มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทางกาย  ถ้ามีอาการอย่างนั้น จะมีวิธีแก้ไขโดยวิธีการใดวิธีหนึ่ง ให้มันหายไป  มันจะสำลักก็หาวิธีการแก้ไขการสำลักนั้นให้หายไป แล้วกำหนดจิตภาวนาไปใหม่  ไม่ต้องไปรู้หนอหรอก มันเกิดขึ้นแล้วเราก็รู้เอง เพียงแต่รู้เท่านั้น ไม่ต้องไปหนอมัน อย่าไปกลั้น ปล่อย ถ้ามันจะสำลักก็แก้ไขสิ่งเกี่ยวข้องทางกาย หรือน้ำลายที่จะสำลัก  ถ้าจะสำลักไม่กลืนก็บ้วนทิ้งเสีย  ทีนี้ก็ภาวนากันต่อไป ถ้ามันจะไอ ก็ไอให้มันหาย  ถ้ามันจะหาว ก็หาวให้มันหาย  อันนี้ เป็นตัวทุกข์ที่เกิดขึ้นทางกายที่แก้ไม่ได้  ถ้าอย่างเรานั่ง นอน เราจะไปคิดว่าปวดหนอๆ ก็หากจิตเราไม่สงบ มันก็ไม่หายปวด  ในเมื่อทนไม่ไหว ก็เปลี่ยนอิริยาบถเสียมันก็หายไป  เป็นแต่เพียงว่าเรากำหนดรู้ สามารถที่จะกำหนดจิตให้วิ่งเข้าสู่สมาธิได้อย่างฉับพลันก็ทำ แล้วมันจะหายปวด  เพราะจิตเข้าสมาธิอย่างแท้จริงแล้ว จะไม่มีตัวปรากฏในความรู้สึก เพราะเวทนาเกิดจากกายเท่านั้น อุเบกขาเวทนาเกิดจากใจโดยเฉพาะ 
เรื่องความทุกข์ที่เกิดทางกายนี้เราฝืนไม่ได้หรอก  อย่างบางท่านปฏิบัติแล้วต้องอดอาหาร ต้องทรมานอย่างนั้น อย่างนี้ อย่าไปทำ  อาตมาได้เคยอดข้าวเป็นอาทิตย์ๆ แล้ว ก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้น  พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่ยังมีกิเลสเป็นเชื้ออยู่  แม้การทรมานตนด้วยการย่างตนบนถ่านเพลิง  ด้วยการทรมานตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ ก็ไม่สามารถทำให้หมดกิเลสไปได้  แต่กิเลสจะหมดไปด้วยเหตุผล  เราจะรู้เหตุผลก็ต้องค้นคิดพิจารณา  เมื่อเราคิดค้นเสร็จ รู้เหตุ รู้ผล ว่าทุกข์เกิดจากอะไร สุขเกิดจากอะไร  ทำอย่างไรจะเป็นทุกข์ เป็นสุข ก็จะปล่อยวางไปเอง  ถ้าหากเรายังไม่รู้จริงเห็นจัง แล้วเราจะไปละอย่างไร ก็ละไม่ได้หรอกกิเลสน่ะ  อาตมาขอยืนยันว่ากิเลสไม่ใช่เรื่องที่จะไปละเอาได้  กิเลสที่ละได้คือ การไม่ทำ การไม่พูด  แต่ความรู้สึกทางใจนี้ เราจะละไม่ได้ ใครไม่เชื่อก็ลองพิจารณาจิตของตัวเอง  การละกิเลสทางกายก็คือ ศีลห้าข้อ ปฏิบัติตามศีล
ในข้อที่จะละเมิดด้วยกาย เช่น การฆ่า การลักขโมย การประพฤติผิดในกาม การดื่มกินสุราเมรัย งดเว้นจากการทำ ๔ ข้อนี้ เป็นการละกิเลสทางกาย เว้นจากการพูดปด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล  ถ้าเรางดเว้นเป็นการละกิเลสทางวาจา ละได้แต่กายกับวาจา  แต่ส่วนทางใจนั้น ต้องอาศัย อบรม ศีล สมาธิ ปัญญา ให้มีกำลังกล้าถึงขนาดประชุมเป็นองค์อริยมรรค  ความประชุมพร้อมขององค์อริยมรรค ซึ่งเกิดจาก ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ตัวที่เด่นชัดที่สุดก็คือ สติ  เราภาวนาจุดมุ่งเพื่อให้เรามีสติอย่างเดียว  แม้ว่าเราจะรู้อะไรมากมายสักเพียงใดก็ตาม แต่สติยังหย่อน สติยังบกพร่องอยู่ ก็ไกลจากความสำเร็จ  ถ้ามีสติสัมปชัญญะพร้อม ก็กลายเป็นมหาสติ  ซึ่งเรียกว่า มหาสติปัฏฐาน นั่นแหละ  จึงจะเกิดมีการประชุมพร้อมแห่งอริยมรรคภายในจิตของเรา  ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะเกิดเป็นเจตสิกฝังแน่นอยู่ในจิต  เมื่อจิตเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วให้รวมเป็นหนึ่งของจิตเอง
ทีนี้เมื่อจิตเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา โดยธรรมชาติของ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว ก็จะเป็นสิ่งบริสุทธิ์ สะอาด ไม่มีกิเลส แล้วจิตของเราก็กลับสภาพกลายเป็นไม่มีกิเลส

 

ถาม  ฝึกนั่งสมาธิมานานแล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่หายไปนานจึงจะเกิดมีอาการทางมือโดยทำสัญญาณให้รู้ เช่น สอนให้ระวังทวาร ๖  ในขณะเดียวจิตจะคิดระลึกรู้ถึงความหมาย หรือบางครั้งปวดเมื่อยกายเพราะเดินมาก ไม่ใช่ขณะที่นั่งสมาธิก็จะมีอาการ บริหารกายส่วนนั้น เป็นการผิดหรือไม่
ตอบ  การเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ  บางทีเราอาจจะบริหารร่างกายแบบฤาษีดัดตน  ท่านอาจารย์ฝั้นท่านทำแบบฤาษีดัดตน ที่มีแบบฝึกหัดอยู่ที่วัดโพธิ์ อันนี้ไม่ผิด เป็นการบริหารกายให้มีความคล่อง

 

ถาม  ในขณะที่ทำสมาธิ ถ้าเคยภาวนาเห็นทุกข์รอบกายในสมาธิ แล้วเคยเกิดภาวะตัวเบา และจิตดิ่งลงไป ตลอดเวลาได้ปฏิบัติโดยวางอุเบกขา ภาวนาพุทโธตลอดเวลา เป็นการถูกต้องไหม
ตอบ  อันนี้หมายถึงการบริกรรมภาวนาพุทโธ  โดยธรรมชาติของการบริกรรมภาวนาแล้ว เมื่อจิตสงบลงไปเป็นอุปจารสมาธิ  เมื่อจิตเป็นอุปจารสมาธิแล้ว พอเกิดปิติ เกิดความสุขขึ้นมา จิตจะปล่อยคำบริกรรมภาวนาทุกครั้งไป  ในเมื่อจิตปล่อยคำบริกรรมภาวนาแล้ว จิตก็นิ่งเฉยอยู่  ตอนนี้ให้กำหนดรู้ลงที่จิต  ถ้าหากจิตมีลักษณะลอยเคว้งคว้าง ก็ให้เพ่งไปที่ลมหายใจ ยึดเอาลมหายใจเข้าออกมาเป็นเครื่องรู้  เรื่องปล่อยวางคำภาวนานี้ จิตจะต้องวางของเขาเอง เราไม่ต้องไปวางให้เขาก็ได้

 

ถาม  เมื่อเห็นสีของดวงจิตในสมาธิ  ในเมื่อเห็นสีของดวงจิตในสมาธิขั้นแรกๆ เป็นสีน้ำเงิน ต่อมาเป็นสีแดง สีม่วง สีเหลือง สีขาว เราควรจะเพ่งสีในจิตหรือไม่ จำเป็นต้องหยุดภาวนาหรือไม่
ตอบ  อันนี้เป็นธรรมดาของการทำสมาธิ  ในเมื่อจิตมีอาการเริ่มจะสงบลงไปในความรู้สึก  จะเป็นสีม่วง สีน้ำเงิน เป็นสีแปลกต่างๆ สารพัดที่จิตจะปรุงแต่งขึ้นมา  อันนี้เราไม่ควรจะสนใจ สี แสง เสียง ต่างๆ เหล่านั้น  ให้จ้องอยู่กับคำบริกรรมภาวนา  ถ้าบริกรรมภาวนายังมีอยู่ ให้จ่ออยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้นๆ  ถ้าหากคำบริกรรมภาวนาหายขาดไป ให้จ้องอยู่ที่จิตผู้รู้อันเดียวเท่านั้น  ถ้าเราเกิดไปเอะใจกับ สี แสง เสียง ทั้งหลาย  สภาพจิตจะเปลี่ยนแล้วสมาธิจะถอน  สี แสง เสียง นั้น จะหายไป  ถ้าหากเราพยายามพยุงดวงจิต  ประคับประคองจิตอันนี้ ให้อยู่ในลักษณะสงบนิ่งเฉย สี แสง เสียง เหล่านั้น จะอยู่ให้เราดูได้นาน  แล้วเราอาจจะได้ปัญญาเกิดจาก สี แสง เสียง ทั้งหลายเหล่านั้นในแง่วิปัสสนาก็ได้  เพราะอันนี้เป็นเครื่องหมายของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ
เหตุการณ์ใดๆ ที่ผ่านขึ้นมาในขณะทำสมาธิ จะเป็นนิมิตก็ตาม จะเป็นความรู้ก็ตาม หรืออาจจะเป็นเสียงดังก็ตาม  ให้ผู้ภาวนากำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว อย่าไปสนใจกับสิ่งเหล่านั้น  เพราะสิ่งเหล่านั้น มันเป็นสิ่งที่จิตของเราบันดาลให้เกิดมีขึ้นมาเอง  เมื่อจิตไปเอะใจ ไปสงสัย ไปยึดติดอยู่นั้น  จิตของเราไปหลงภูมิของตัวเองแล้วไปยึด เมื่อยึดแล้วก็แปลกใจตัวเองว่า เอะทำไมจึงเป็นอย่างนี้  พอเกิดเอะขึ้นมาแล้ว จิตก็ถอนจากสมาธิ  สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็หายไป  เราเลยหมดโอกาสไม่ได้พิจารณาให้รู้จริง เห็นจริง อันนี้ให้ระวังให้มาก
ที่ถามว่าจำเป็นต้องหยุดภาวนาหรือไม่  ถ้าจิตยังภาวนาอยู่ก็ให้ภาวนาต่อไป  ถ้าจิตหยุดภาวนาแล้ว ก็กำหนดรู้จิตอย่างเดียว  หรือถ้าหากจิตยังไม่หยุดภาวนา เราจะหยุดแล้วกำหนดรู้ที่จิตอย่างเดียวก็ได้ในขั้นนี้

 

ถาม  มีอาการง่วงนอนในขณะทำสมาธิ และหลับไปในที่สุด จะปรับปรุงหรือป้องกันอย่างไร
ตอบ  อันนี้ไม่ต้องไปปรับปรุงหรือป้องกันอย่างไร  ถ้าสามารถนั่งหลับได้ ก็นั่งให้มันหลับ  นานๆ เข้ามันจะค่อยๆ หายง่วงไปเอง  การปฏิบัตินี้ทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ เราปฏิบัติไม่หยุด ทำให้มากๆ ตัวสติมีพลังขึ้น ก็สามารถขจัดความง่วงนอนได้

 

ถาม  ภาวนาแล้วมีอาการเคลิ้มบางครั้งก็หลับ ควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป
ตอบ  ภาวนาแล้วมีอาการเคลิ้มเหมือนจะนอนหลับ จิตมีอาการจะนอนหลับเหมือนกับจะนอนอย่างธรรมดา  แต่โดยธรรมชาติของจิตที่จะเป็นสมาธิ  ที่ก้าวลงไปในระยะแรกนั้น คือการนอนหลับอย่างธรรมดา มีอาการเคลิ้มๆ แล้วก็วูบลงไป  ถ้าตกใจตื่น จิตถอนก็มาตั้งต้นใหม่   ทีนี้ถ้าหากไม่ตื่น วูบลงไปแล้ว ปล่อยให้เป็นไปจนกระทั่งหยุดวูบ นิ่ง  พอเกิดนิ่งปั๊บ ถ้านอนหลับธรรมดา ก็นิ่งลงไปเลย ทีนี้ถ้าเป็นสมาธิ พอนิ่งปั๊บสว่างโพลงขึ้นมา  อาการวูบนั้น เป็นอาการที่จิตจะก้าวลงสู่สมาธิ  กำลังจะได้ผลแล้ว เชิญทำต่อไป

 

ถาม  ทำไมจึงไม่นำพุทธพจน์มาเป็นองค์ภาวนาบ้าง เช่น นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ  หรือ นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ เป็นต้น
ตอบ  อันนี้มีความสงสัยเรื่องสมถะ และวิปัสสนา อันได้แก่องค์ภาวนาว่า พุทโธ ยุบหนอ พองหนอ เป็นต้น   พุทโธ ก็ดี ยุบหนอ พองหนอ ก็ดี  ทั้งสองอย่างนี้เป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐานตามหลักสูตร  ทีนี้ผู้มาภาวนา พุทโธ ๆ ๆ ก็ดี  ยุบหนอ พองหนอ ก็ดี เป็นการปรับปรุงจิตในขั้นสมถะ  การนึกอยู่ในสิ่งๆ เดียวเพื่อให้จิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ เป็นปฏิปทา หรือการปฏิบัติ  เป็นความตั้งใจที่จะให้จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิ  เมื่อจิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ ตั้งแต่อุปจารสมาธิจนกระทั่งถึง อัปปนาสมาธิ  ในขั้นนี้เรียกว่า จิตเดินอยู่ในขั้นสมถะ  ทีนี้การที่จิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ อันนี้เรียกว่า สมถะ  จิตรู้ว่าสมาธิเป็นอย่างไร หรือรู้ว่านี้เป็นสมาธิ เป็นความเห็นแจ้ง หายสงสัย รู้แจ้งเห็นจริง หายสงสัยในเรื่องของสมาธิ  อันนี้เรียกว่า วิปัสสนา เข้าใจเอาอย่างนี้ง่ายดี

 

ถาม  การเห็นนามรูป เกิด-ดับ เห็นเป็นลักษณะอย่างไร และภูมิจิตอยู่ในขั้นไหน
ตอบ  อันนี้เป็นปัญหาที่มีความละเอียดพอสมควร  การเห็นนามรูปเกิด-ดับ อันนี้จะขอนำประสบการณ์ที่เคยผ่านมา มาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง  แต่มันจะอยู่ในลักษณะที่นามรูปเกิด-ดับหรือไม่ จะขอฝากให้ท่านทั้งหลายไว้ช่วยพิจารณา
ในขณะที่เรากำหนดจิตจะทำสมาธิภาวนาลงไป พอกำหนดจิตปั๊บลงไป เราจะรู้สึกว่า จิตของเรารู้ทั่วทั้งกาย และก็รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม โดยสัญญา  เมื่อเราบริกรรมภาวนาลงไปแล้ว จิตของเราสงบเป็นสมาธิละเอียดลงไป ลมหายใจก็ดับ  ร่างกายที่ปรากฏอยู่ก็ดับ คือจิตไม่สำคัญมั่นหมายในลมและกาย  เห็นว่ากายและลมหายใจหายไปหมด ยังเหลือแต่สภาพจิตที่สงบนิ่งเด่นอยู่  ในขณะที่จิตรู้ทั่วทั้งกายอยู่นั้น ความรู้สึกทางจิตไม่มีทางเด่น  แต่เมื่อกายหายไป ลมหายใจหายไปแล้ว จิตสงบนิ่งลงไปปรากฏเด่นชัดอยู่ แต่รูปหายไปหมดแล้ว อันนี้ในลักษณะอย่างหนึ่ง
ทีนี้ในอีกลักษณะอย่างหนึ่ง เช่น พระโยคาวจรมาพิจารณากายโดยระลึกถึงความตาย ค้นคว้าพิจารณาไปจนกระทั่งรู้แจ้ง เห็นจริง ลงไปว่า กายนี้ตายลงไปแล้ว แล้วกายของผู้ภาวนานั้นก็ปรากฏขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง  ในที่สุดยังเหลือแต่โครงกระดูก แล้วโครงกระดูกก็สลายตัวละเอียดเป็นผง ละไป หายไป ในพื้นแผ่นดินทั้งหมด  ในที่สุดพื้นแผ่นดินก็หายลงไปด้วย  ยังเหลือแต่จิตนิ่งเด่นอยู่ สว่างไสวอยู่
อันนี้ขอให้แนวคิด เพื่อฝากเป็นปัญหา เพื่อให้นักปฏิบัติและนักศึกษาทั้งหลายนำไปคิดพิจารณา  ในขณะที่ผู้ทำสมาธิภาวนาหรือพิจารณาธรรมอันใดอยู่ก็ตาม  ในขณะรู้สึกว่ามีกายอยู่ รู้สึกว่ามีลมหายใจอยู่  ทั้งนามและรูปปรากฏอยู่พร้อมหน้ากัน เพราะกายปรากฏมีอยู่ เวทนาก็ปรากฏมีอยู่ สุขทุกข์ยังปรากฏอยู่ เช่น อย่างสุขเกิดแต่ปีติก็เป็นเวทนา เรียกว่าสุขเวทนา  เมื่อจิตสงบละเอียดลงไปแล้ว กาย ลมหายใจ ปรากฏว่าหายไป ยังเหลือแต่จิต  จิตไม่มีความรู้สึกว่ามีกาย  กายก็คือ รูป นั้นก็ดับไปแล้ว  ในเมื่อรูปดับไปแล้ว เวทนาอันเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็ดับไปด้วย  อุเบกขาเวทนา จึงปรากฏเด่นชัดขึ้น  ตัวนามคือ จิต ปรากฏเด่นชัดขึ้น  จึงมีคำพูดว่า รูปดับ นามเกิด  ส่วนท่านผู้อื่นที่มีความเข้าใจอย่างใดนั้น ขอฝากเป็นการบ้านช่วยกันพิจารณา อันนี้ไม่ขอตัดสิน

 

ถาม  เมื่อมีโอปปาติกะ อาจารย์ที่สอนกรรมฐานที่ล่วงลับไปแล้วมาเยี่ยม โดยเห็นในสมาธิ และสัมผัสรับรู้ได้กลิ่นหอม ตลอดเวลาที่จะทำสมาธิ การที่จะติดต่อพูดคุยกับท่าน ควรปฏิบัติอย่างไร
ตอบ  อันนี้ไม่มีทางที่ควรจะปฏิบัติอย่างไร และก็ไม่ควรคิดจะพูดคุยกับท่าน  เพราะสิ่งเหล่านี้จิตของท่านปรุงแต่งขึ้นมาเอง  อย่าไปเข้าใจว่าสิ่งอื่นมาแสดงให้ปรากฏ  ถ้าหากว่าท่านภาวนา พุทโธ ๆ ๆ ท่านนึกอยากจะเห็นพระพุทธเจ้า หรือจิตท่านผูกพันอยากจะเห็นพระพุทธเจ้า  จิตสงบสว่างลงไปแล้ว จะเห็นพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดำเนินมา  ถ้าหากท่านยึดอยู่ที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านล่วงลับไปแล้ว  พอจิตสงบลงเป็นสมาธิ ระหว่างอุปจารสมาธิ สว่างขึ้นมา กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก  จิตยึดมั่นอยู่ในสิ่งใด สิ่งนั้นจะปรากฏเป็นตัวขึ้นมาให้ท่านเห็น  พึงทำความเข้าใจว่า นิมิตทั้งหลายที่ปรากฏนั้น มันเป็นเพียงมโนภาพที่จิตของท่านสร้างขึ้นมาเอง  อย่าไปเข้าใจว่าเป็นสิ่งอื่น  หลวงพ่อนี้นั่งภาวนาจนมองเห็นกายตัวเองนี้แหลกเป็นผงขึ้นมาแล้ว ลืมตาขึ้นมากายก็ยังอยู่  ถ้ามันเป็นจริงแล้ว ทำไมจึงมาเทศน์ให้โยมฟังอยู่ได้  อันนี้คือข้อเท็จจริง เราอย่าไปหลงว่าเป็นสิ่งอื่นมา  ถ้าหากเป็นสิ่งอื่นมาแสดงตัวให้ปรากฏกันจริงๆ นี้ ไม่จำเป็นจะต้องนั่งอยู่ในสมาธิ  บางครั้งอาตมานั่งอยู่เฉยๆ นี้ ผีมันวิ่งผ่านไปอย่างนี้ มันถึงเป็นของจริง ในสมาธินี้มันเป็นของหลอก
ในเมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว จะนำตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง  ท่านอาจารย์ของอาตมาท่านหนึ่งชื่อ อาจารย์ทอง อโสโก  ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึงเวลานี้ ก็อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับท่านหลวงพ่อเทสก์  ท่านผู้นี้ไปนั่งภาวนาในกุฏิเล็กๆ ในสำนักท่านอาจารย์มั่น  เวลาเข้าไปก็ปิดประตูลงกลอนอย่างดี  พอภาวนาแล้วก็จิตสงบนิ่งสว่างลงไป แล้วก็มีผู้หญิงสาวๆ คนหนึ่งมานั่งอยู่ข้างๆ แล้วก็มาพูดจา หลวงพี่มาทนทุกข์ทรมานอย่างไร สึกไปอยู่ด้วยกันจะมีความสุข  ในตอนนี้ท่านมีสติอยู่ ท่านก็กำหนดจิตรู้จิตเฉยๆ อยู่  เสียงนี้มันก็ดังออดอยู่อย่างนั้นไม่หยุด ลงผลสุดท้าย ผู้หญิงในนิมิตในฝันนั้นก็บอกว่า มาพูดจาด้วย ก็ไม่พูดด้วย ไม่พูดก็อย่าพูด   เสร็จแล้วมันก็ลุกไป  ท่านอาจารย์ทอง ท่านมองเห็นผู้หญิงนั้นเดินออกประตูไป เดินด้อมๆ ออกประตูจนลับสายตา  พอมันลับสายตาไปแล้วสมาธิแตก “ฮึ พูดกับเธอซะก็ดีน้อ”  เลยลุกปุ๊บจากที่นั่งสมาธิ พอไปถึงประตู ทั้งๆ ที่ตัวเองนี้ เมื่อนั่งอยู่ในสมาธิ มองเห็นผู้หญิงลอดประตูออกไป  แต่เมื่อตัวไปถึงแล้วต้องถอดกลอนประตูออกเอง  ยังไม่ได้สติ วิ่งลงไปหารอบๆ กุฏิ  ส่องไฟหาดูมุมนั้น ดูมุมนี้  ท่านอาจารย์มั่นท่านอยู่กุฏิ ท่านตะโกนร้องมา “ทองเอ๋ย วัวหายเห็นแล้วหรือยัง”  พอได้สติขึ้นมา  นี้ข้อเท็จจริงที่นำมาเล่าให้ฟังนี้  มันเป็นประสบการณ์ของนักปฏิบัติ ต้องเจอกันทั้งนั้นแหละ  เพราะฉะนั้น ให้ระวังกันไว้  นิมิตในขั้นนี้ อย่าเข้าใจว่าเป็นของจริงจัง  เพราะเมื่อไปหลงมโนภาพ ไปหลงจิตของตัวเอง สร้างมโนภาพขึ้นมา ไปเห็นว่าเป็นจริงเป็นจัง  แล้วอย่างสมมติว่า มองเห็นพระหรือผู้วิเศษก็ตาม เดินเข้าไปหา นึกว่ามันเป็นจริงเลยน้อมจิตรับ  พอน้อมจิตรับสิ่งนั้นมันก็เข้ามา เลยกลายเป็นเรื่องทรงไป  นี้มันเป็นทางที่เขวง่ายที่สุด  เพราะฉะนั้น ควรทำความเข้าใจว่า นิมิตหรือสิ่งที่รู้ทั้งหลายนี้ เป็นจิตของเราปรุงแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นมาแสดงให้เห็น

  

ถาม  จงกรุณาอธิบาย วิธีเดินจงกรม ว่าทำอย่างไร
ตอบ  การเดินจงกรมมีหลายแบบ แต่จะพูดถึงแบบเดินจงกรมของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ  ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ก่อนที่ท่านจะเดินจงกรม ท่านให้กำหนดทางเดินจงกรม โดยไม่ให้สั้นกว่า  ๑๒  ศอก และไม่ให้ยาวจนเกินไป กะว่าเอาพอดีๆ ที่เราเดินกลับไปกลับมา  ถ้ากำหนดทางเดินจงกรมสั้น เราต้องหมุนกลับบ่อยๆ ทำให้เกิดเวียนศีรษะ  แต่ถ้ายาวเกินไป การเดินไกลย่อมเกิดความเมื่อย  เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้กำหนดเอาแต่พอดีๆ ก่อนที่จะเดินจงกรม ท่านให้อธิษฐานจิต โดยระลึกถึงคุณของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้น  หรือจะสวด อิติปิ โส ... ถึง สุปฏิปันโน ... จนจบ แล้วก็แผ่เมตตา   พอแผ่เมตตาแล้ว กำหนดจิตว่าเราจะเดินจงกรม เอามือซ้ายวางลงหน้าท้อง เอามือขวาวางทับเกาะกันไว้พอไม่ให้หลุด ทอดสายตาลงห่างจากตัวประมาณ  ๔  ศอก อยู่ในท่าสำรวม แล้วก้าวเดินไปช้าๆ ด้วยความมีสติ  ถ้าบริกรรมภาวนา พุทโธ ก็บริกรรมภาวนา พุทโธ อยู่ที่จิต ไม่ต้องไปสนใจกับการก้าวเดิน เพราะโดย ธรรมชาติของจิต จิตอยู่ในกาย กายอยู่ในจิต จิตคิดตั้งใจว่าจะนั่ง ก็นั่งได้  ตั้งใจว่าจะยืน ก็ยืนได้  ตั้งใจว่าจะนอน ก็นอนได้  เมื่อตั้งใจว่าจะเดินจงกรม ทำกิจเบื้องต้นดังที่ได้กล่าวแล้ว  แล้วก็ตั้งใจเดินด้วยท่าสำรวม กำหนดรู้ที่จิตนึกบริกรรมภาวนา พุทโธ  หรือจะกำหนดพิจารณาอะไรก็ได้ นี้คือวิธีการเดินจงกรม
การเดินเป็นแต่เพียงส่วนประกอบ แต่การกำหนดจิตเป็นเรื่องสำคัญ  การกำหนดจิตในขณะที่เดินเรียกว่า ทำสมาธิในท่าเดิน  กำหนดจิตในท่านั่งเรียกว่า ทำสมาธิในท่านั่ง  กำหนดจิตในเวลานอนเรียกว่า ทำสมาธิในท่านอน  กำหนดจิตในเวลายืนเรียกว่า ทำสมาธิในท่ายืน ใช้อารมณ์อย่างเดียวกัน

 

ถาม  เวลาเดินจงกรม กำหนดอานาปานสติ เดินไปนานพอสมควร รู้สึกว่าเห็นแผ่นดินที่อยู่ข้างหน้าหมุนๆ ได้ เหมือนกับน้ำในตุ่มที่ถูกมือกวน
ตอบ  อันนี้เป็นสภาวะของจิต ความหมุน ความเวียนที่แผ่นดินจะพลิก  อย่างไรก็ตาม อันนี้ เป็นอาการของจิตที่ปรุงขึ้น ซึ่งจิตของเราอาจจะปรุงไปต่างๆ  อันนี้ ถ้ามีอาการเกิดขึ้นในผู้ปฏิบัติ ให้กำหนดรู้ลงที่จิต เอาสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต และเป็นเครื่องระลึกของสติ ประคับประคองตัวผู้รู้เอาไว้ให้ดี  แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เราจะรู้แจ้งเห็นจริงเอง.




สมถกรรมฐาน – วิปัสสนากรรมฐาน

โดย

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

ถาม  การปฏิบัติสมถกรรมฐาน จะทำให้หยุดอยู่แค่นี้ไม่ไปสู่วิปัสสนาจริงหรือ
ตอบ  ถ้าหากผู้ปฏิบัตินั้นติดอยู่ในสมถะ ติดอยู่ในสุขของความเป็นสมถกรรมฐานนั้นแล้ว  ไม่พยายามทำจิตให้ก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐาน  คือหมายความว่า ทำจิตให้สงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ พอจิตออกจากสมาธิ ปล่อยเลย ปล่อยโอกาส ไม่ตาม เรียกว่าไม่ได้ติดตามผลงาน อย่างจิตสงบนิ่งเป็น อัปปนาสมาธิ  พอจิตออกมาแล้วปล่อยพรู๊ดๆ ออกมา แล้วก็เลิกทันที  อันนี้จิตจะไม่มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐาน  แต่ถ้าพอจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิหรือสมถกรรมฐาน ก็เกิดความคิด ตั้งสติกำหนดตามรู้ความคิดนั้น จิตจะก้าวสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐานได้  โดยไม่ต้องยกเอา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาพิจารณา
โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อจิตถอนจากอัปปนาสมาธิ จิตจะรู้สึกว่ากายปรากฏ ในเมื่อกายปรากฏ จิตก็ย่อมรู้กายคือรูป ในเมื่อจิตรู้กายคือรูป จิตก็ย่อมรู้เวทนา เพราะเวทนาเกิดจากรูปคือกาย และจิตก็ย่อมจะรู้กาย เพราะความทรงจำต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวาร  ๖  นั้น จิตย่อมจดจำเอาไว้  แล้วก็วิญญาณ เมื่อรู้สิ่งใดขึ้นมา ก็เกิดรู้ขึ้นมาเรียกว่า วิญญาณ  เมื่อรู้แล้วคิดปรุงแต่งในสิ่งนั้นๆ มันก็กลายเป็นตัวสังขาร เพราะฉะนั้น การกำหนดดูรูป นาม ที่คำว่า รูปดับ นามเกิด หมายถึงว่า ในขณะที่เรากำหนดรู้ รูป เวทนา สังขาร สัญญา วิญญาณ อยู่  เมื่อจิตยังไม่มีสมาธิที่ละเอียดแนบแน่น  เรายังรู้สึกว่ากายยังปรากฏอยู่ ลมหายใจยังมีอยู่  เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิละเอียดขึ้นไปแล้ว จิตจะปล่อยวางความมีรูปคือ กาย  ในเมื่อปล่อยวางความมีรูปคือกาย รูปหายไป เวทนาหายไป สัญญาหายไป รูปดับ จิตไม่ได้พัวพันกับ รูป เวทนา สัญญา อารมณ์มันน้อยลง จิตจึงเด่นขึ้นมาเรียกว่า นามเกิด
ภายในจิตอันนั้น ในขั้นนี้ยังเหลือแต่ สังขาร วิญญาณ แล้วจิตก็จดจ่อในสิ่งที่รู้ละเอียดอยู่อย่างนั้น  จิตในตอนนี้อยู่ในอัปปนาสมาธิ อยู่ในฌานเหมือนกัน  บางท่านอาจจะเข้าใจผิดว่า จิตอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิ จิตนี้มันจะไม่รู้อะไรเลย ย่อมจะเข้าใจอย่างนั้น  แต่ความจริงแล้ว สมถะในขั้นต้นนี้เป็นแต่เพียง ปฐมจิต ปฐมวิญญาณ มโนธาตุ ไม่เป็นมหาสติ จึงไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐานได้  นอกจากจะฝึกหัดน้อมนึก ปรับปรุงปฏิปทาเอาเอง  จนกว่าจิตจะสามารถเดินตามลำพังของตัวเองได้  แต่ถ้าหากจิตผ่านการพิจารณามาอย่างช่ำชองแล้ว  จิตย่อมสงบไปสู่อัปปนาสมาธิ ปรากฏว่าตัวหายไปหมดแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่รู้ปรากฏขึ้นมาอยู่  สิ่งที่รู้อันนี้จะเรียกว่าอะไรก็เรียกไม่ได้  มันมีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่เท่านั้น  อันนี้เป็นความรู้ในขั้นโลกุตตระ  เรียกว่า อยู่เหนือโลก  ความรู้ที่มีชื่อเรียกนี้เรียกว่า  ขั้นโลกีย์  ความรู้ที่ไม่มีชื่อเรียก ไม่มีสมมติบัญญัติ เป็นความรู้ที่อยู่ในขั้นโลกุตตระ ย่อมไม่มีสมมติบัญญัติ เป็นสัจจธรรม
ในเมื่อทำสมถะชำนิชำนาญแล้ว การต่อวิปัสสนากรรมฐานนี้ การต่อวิธีง่ายๆ  ในเมื่อจิตถอนจากอัปปนาสมาธิ เกิดความคิดแล้วตามรู้ความคิดนี้อีกอย่างหนึ่ง  ถ้าไม่อย่างนั้น ก่อนที่จะทำความสงบให้เป็นสมถะ ให้พิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในแง่แห่งพระไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ด้วยความคิดเอาๆ ตามที่เราจำได้มา  แล้วต่อไปก็ ในขณะที่ค้นคิดพิจารณาอยู่อย่างนั้น จิตอาจจะสงบ ก็ปล่อยให้จิตสงบไป  ในเมื่อจิตสงบไปถ้าหากจิตพอมีกำลังที่จะปฏิวัติตัวไปสู่ภูมิความรู้ขั้นวิปัสสนาลงไปได้  จิตจะดำเนินความรู้ไปเอง คือมีความรู้ผุดขึ้นมาๆ เอง  อันนี้ขอให้คำตอบเพียงเท่านี้

 

ถาม  เดินจงกรมภาวนาว่า “พุทโธ” บางอาจารย์ว่าเป็นสมถะ
ตอบ  คำตอบก็เหมือนกับข้อต้น เพราะการภาวนานั้น เป็นกิริยาของจิต ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นกิริยาประกอบ  การปฏิบัติเป็นวิธีการ

 

ถาม  จะทราบได้อย่างไรว่า ทำสมถะถึงขั้นอัปปนาแล้ว
ตอบ  อันนี้ได้ตอบแล้วว่า สมาธิขั้นอัปปนาเรียกว่า สมถะ  วิธีสังเกตก็คือว่า เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว นิวรณ์  ๕  หายไปหมด  กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ความลังเล หายไปหมด  ยังเหลือแต่จิตนิ่งสว่างอย่างเดียว  อันนี้ เรียกว่า จิตถึงอัปปนาสมาธิแล้ว หรือ ขั้นสมถะ

 

ถาม  บางอาจารย์ว่า การภาวนา ยุบหนอ พองหนอ ไม่มีในพระไตรปิฎก หลวงพ่อช่วงแก้ข้อข้องใจให้ด้วย
ตอบ  อันนี้เป็นมติที่คัดค้านกันโดยวิธีการ ผู้ภาวนาถ้าหากไปยึดวิธีการเป็นใหญ่แล้ว จะมีการขัดแย้งกัน  การภาวนา พุทโธ หรือยุบหนอ พองหนอ เป็นอุบายทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิได้ด้วยกันทั้ง  ๒  อย่าง  ถ้าหากนักภาวนาเอาข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นกับจิตอย่างแท้จริงมาเปรียบเทียบกัน  ใครจะภาวนาอย่างไหน แบบใดก็ตาม ถ้าเราเอาเรื่องความสงบของจิตเป็นสมาธิ มาเปรียบเทียบกัน  เราจะไม่มีการขัดแย้งกันเลย  แต่ที่เรามีการขัดแย้งกันอยู่นั้น  เพราะเราไปติดวิธีการ  เพราะฉะนั้น นักภาวนาเพื่อแก้ข้อข้องใจดังที่กล่าวแล้วนั้น  อย่าไปติดวิธีการ ให้ยึดเอาหลักความเป็นจริง หรือผลที่จะเกิดขึ้นภายในจิตจากการภาวนานั้นเป็นใหญ่
การภาวนา ยุบหนอ พองหนอ ก็ดี  พุทโธ ๆ ๆ ก็ดี เป็นอุบายทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิขั้นสมถะด้วยกันทั้งนั้น
กรรมฐานนี้ท่านว่ามี  ๒  อย่าง
๑. สมถกรรมฐาน
๒. วิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ  จุดมุ่งหมายทำจิตให้มีสมาธิ กำจัดนิวรณ์  ๕  ไม่ให้มารบกวน  ในขณะที่เราปฏิบัติอยู่ในจิต อันนี้เรียกว่า สมถกรรมฐาน
ตามหลักปริยัติ ท่านเขียนไว้ชัดว่า กรรมฐานอันใดเนื่องด้วยบริกรรมภาวนา กรรมฐานนั้นเป็นสมถกรรมฐาน  ถึงจิตยังไม่สงบ นึกภาวนาเป็นวิธีการ  เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิอย่างแท้จริงแล้ว เป็นสมถะ เพราะฉะนั้น ยุบหนอ พองหนอ ก็ดี  พุทโธ ก็ดี เป็นแต่เพียงวิธีการ ไม่ใช่สมถะ หรือ วิปัสสนาใดๆ ทั้งนั้น  เมื่อผลเกิดขึ้นจากการภาวนาแล้วนั่นแหละ จึงจะมีสมถะ หรือ วิปัสสนา เกิดขึ้น  ส่วนวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นกรรมฐานที่เป็นอุบายฝึกฝนจิตให้เกิดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดขึ้น
แม้แต่ด้วยวิธีการคือ น้อมจิตไปพิจารณาอะไรก็ตาม เช่น เราอาจจะพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ว่าเป็นของปฏิกูล ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือแม้จะกำหนดอารมณ์เกี่ยวกับว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ตาม นั้นเป็นวิธีการ
แต่เมื่อจิตยังไม่สงบเป็นสมาธิเมื่อไรแล้ว เมื่อนั้นวิปัสสนาจะไม่เกิด  เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่มุ่งที่จะทำกรรมฐาน กระทำสมถกรรมฐาน หรือ วิปัสสนากรรมฐาน ให้ได้ผลอย่างแท้จริง อย่าไปกลัวว่าจิตจะติดสมถะ  สมถะ คือ สมาธิ เป็นพื้นฐานให้เกิดวิปัสสนา  แต่ถ้าผู้ภาวนาไปติดสมถะ ติดสุขในสมาธิ ติดสุขในสมถะ จิตก็ไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา
แต่ถ้าสมถะ คือ สมาธิ ไม่มี  วิปัสสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้นอกจากวิปัสสนานึกเท่านั้น  ขอได้โปรดทำความเข้าใจอย่างนี้

 

ถาม  บางอาจารย์ว่านั่งภาวนา กำหนดว่า พุทโธ เป็นสมถะ ไม่ใช่ วิปัสสนาจริงไหม
ตอบ  ความจริงภาวนา “พุทโธ”  พุทโธเป็นพุทธานุสสติ อยู่ในหลักวิชาการของการปฏิบัติขั้นสมถกรรมฐาน  แต่ถ้าผู้ภาวนาพุทโธนั้นไม่ฉลาดเพียงพอที่จะปฏิวัติจิตของตัวเองให้ก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา ไปติดอยู่เพียงความสงบแค่สมถะเท่านั้น คือ ไปติดอยู่ด้วยปีติและความสุข ซึ่งเกิดขึ้นในฌาน เรียกว่าติดสมถะ ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินจิตขึ้นไปสู่วิปัสสนา  อันนี้เป็นความจริง ในเมื่อจิตมีสมาธิติดความสุขในสมาธิ จิตก็จะถือว่า ความสุขแค่ขั้นสมาธิเป็นความเพียงพอแล้ว เป็นการติดสุข  จิตก็ไม่พยายามที่จะปฏิบัติวิปัสสนาต่อไป  อันนี้ขอตอบว่า ถ้าติดแล้วก็จริง  ถ้าไม่ติดความสุขในสมาธิ มีความพากเพียรจะหาอุบายให้จิตเกิดภูมิวิปัสสนา ก็ไม่จริง

 

ถาม  คำภาวนา พุทโธ เป็นสมาธิ จะทำให้เป็นวิปัสสนาต่อไป  จะทำอย่างไร
ตอบ  คำภาวนา พุทโธ ทำจิตให้เป็นสมาธิ ได้พูดแล้วว่า ภาวนา พุทโธ  เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิเพียงแค่ขั้นอุปจารสมาธิ ไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ  ถ้าต้องการจะให้จิตเป็นวิปัสสนาเนื่องมาจาการภาวนาพุทโธ  พอทำจิตให้สงบลงไป รู้สึกว่าจิตสงบสว่างขึ้นมาแล้ว น้อมจิตไปพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่จุดแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  ซึ่งเรียกว่าพระไตรลักษณ์  หรือมิฉะนั้น ก็กำหนดรู้ที่จิตของตัวเอง เมื่ออารมณ์อันใดเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้ความคิดอันนั้นเรื่อยไป  ทีนี้เมื่อความคิดอันใดเกิดขึ้นดับไป ๆ ๆ เราเอาพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ควบคุมความคิดว่า ความคิดนี้มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเจริญวิปัสสนาในสมาธิอ่อนๆ  บางครั้ง เรานึกคิดแล้ว สมาธิจะถอนมาอยู่ขั้นปกติธรรมดา ก็อย่าเลิกจากการคิดพิจารณา เอาการคิดพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต  เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นเครื่องหมายแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  ในที่สุดจิตจะสงบลงสู่ความเป็นสมาธิ แล้วก็จะเกิดวิปัสสนากรรมฐานขึ้นมาโดยอัตโนมัติเช่นกัน
การบริกรรมภาวนานี้ บางทีบางท่านเพียงแต่ภาวนา พอจิตสงบไปเป็นอุปจารสมาธิ จิตของท่านผู้นั้นจะปฏิวัติตนไปสู่ภูมิวิปัสสนาโดยไม่ได้ตั้งใจ  อันนี้แสดงว่าผู้นั้นเคยเจริญวิปัสสนามาก่อนแล้ว  ตั้งแต่ชาติก่อนโน้น  ถ้าท่านผู้ใดไม่เคยเจริญวิปัสสนามาก่อน จิตสงบลงไปแล้ววิปัสสนาก็ไม่เกิด  เป็นแต่เพียงว่าไปสงบนิ่งสว่างอยู่เฉยๆ   ในทำนองนี้ต้องฝึกหัดค้นคิดในแง่วิปัสสนากรรมฐาน ยกเอาอะไรมาพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง  จะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ได้  ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  จนกว่าจะเกิดสมาธิขึ้นมาแล้ว จิตจะเกิดภูมิรู้แห่งวิปัสสนาไปเอง

 

ถาม  สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนา ทำอย่างไร
ตอบ  สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนา  คำว่า วิปัสสนา นี้ มีอยู่  ๒  ขั้นตอน  วิปัสสนาขั้นต้นคือ วิปัสสนาที่ใช้สติปัญญากำหนดพิจารณาเอาโดยความตั้งใจ เช่น เราจะพิจารณาร่างกายให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  หรือพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช้ความรู้สึกนึกคิดที่เราเรียนมา ก็นึกเอา ๆ เรียกว่า การเจริญวิปัสสนาแบบใช้สติปัญญาแบบธรรมดาๆ  การใช้สติปัญญาพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยความรู้สึกนึกคิดเอาเองนี้แหละ เป็นการปฏิบัติ เป็นการตกแต่งปฏิปทา เพื่อให้จิตสงบลงเป็นสมาธิ  เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้ว จะเกิดวิปัสสนาได้โดยอัตโนมัติ  จิตจะปฏิวัติตนไปสู่ภูมิ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอง  พึงทำความเข้าใจว่า ถ้าสมาธิ หรือสมถะไม่เกิดขึ้น  ท่านจะเจริญวิปัสสนาอย่างไร  ท่านก็จะไม่ได้วิปัสสนา  เพราะวิปัสสนามีมูลฐานเกิดขึ้นจากสมถะ คือ สมาธิ  ถ้าสมถะคือ สมาธิ ไม่เกิดขึ้น  ท่านก็ได้แต่วิปัสสนาแบบนึกคิดเอาเอง เป็นภาคปฏิบัติเท่านั้น  ยังไม่ใช่ตัววิปัสสนาที่แท้จริง

 

ถาม  เมื่อภาวนาแล้ว รู้สึกว่าร่างกายคือรูป หายไปในความรู้สึก ควรจะปฏิบัติอย่างไร เพื่อจะเดินวิปัสสนา
ตอบ  ถ้าหากรูปหายไปแล้ว เวทนา สัญญา จะไม่ปรากฏ  เพราะเวทนากับสัญญามันอาศัยรูปเป็นที่เกิด  ถ้าหากรูปหายไปแล้ว เวทนา สัญญา จะไม่ปรากฏ  เวทนาคือ สุข ทุกข์ ไม่มี  มีแต่อุเบกขา  เวทนา สัญญา ความทรงจำในสิ่งต่างๆ จะไม่มี  ในเมื่อรูปหายไปแล้ว จิตจะเกิดความรู้อะไรขึ้นมาไม่ได้อาศัยสัญญา
หากเป็นภูมิจิตที่เกิดขึ้นมาในส่วนละเอียด ส่วนละเอียดที่จิตมีความรู้ขึ้นมานั้นคือสังขาร  เมื่อ รูป เวทนา สัญญา หายไปแล้ว ผู้ภาวนาจะมีความรู้สึกว่า สังขารยังเหลืออยู่ วิญญาณก็ยังเหลืออยู่ แต่วิญญาณในลักษณะของการรู้ยิ่งเห็นจริงนั้น  อยู่ในลักษณะวิญญาณ เหลือแต่ตัวรู้  แต่ตัวกระทบไม่มี  ถ้าหากในขณะนั้นจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นมาให้จิตรู้ จิตก็ไม่มีอาการรู้ในทางวิญญาณ เป็นแต่เพียงว่าตัวผู้รู้สามารถที่จะส่งกระแสที่จะรู้สิ่งที่ผ่านเข้ามา  สิ่งที่ผ่านเข้ามาให้รู้เปรียบเหมือนว่าอยู่เอกเทศส่วนหนึ่ง  จิตตัวผู้รู้ก็อยู่ในลักษณะอยู่ในเอกเทศส่วนหนึ่ง  คล้ายกับว่ามันแยกออกเป็นคนละส่วน ไม่มีความสัมพันธ์กัน  ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าความรู้หรือสิ่งที่รู้ที่มันมีปรากฏการณ์ขึ้นมานั้น  จิตซึ่งเป็นตัวสังขารจิต หรือเรียกว่าสังขารธรรมมันปรากฏขึ้นมา เป็นการปรุงของจิตส่วนละเอียด ปรุงขึ้นมาด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น  จึงรู้สึกเสมือนหนึ่งว่า สิ่งที่ตัวปรุงขึ้นมานั้น ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เป็นเรื่องอื่นมาปรากฏการณ์ให้รู้ให้เห็น  อันนี้เป็นลักษณะภูมิจิตที่เกิดความรู้อย่างละเอียด มันจะมีอยู่ เป็นอยู่ เหมือนอย่างที่กล่าวแล้วในเบื้องต้น เรียกว่า ฐีติ ภูตัง ของท่านอาจารย์มั่น นั่นเอง…………………..(จบเนื้อหาส่วนปุจฉา-วิสัชนา)



Last Updated on Wednesday, 22 September 2010 14:38
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner