Home ธรรมะ ธรรมะจากรามเกียรติ์
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม 1 PDF Print E-mail
Monday, 21 September 2009 02:51

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม (1)


โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


คำถาม :  คนไข้อาการหนักควรทำจิตอย่างไร ?   ให้ระงับความทุกข์ทุรนทุราย


หลวงพ่อพุธตอบ : ถ้าคนไข้ที่เคยบำเพ็ญเพียรภาวนา ก็สามารถที่จะระงับจิตคือทำสติรู้อยู่ที่ความทุรนทุรายหรือความทุกข์ แต่คนไข้ที่ไม่ได้บำเพ็ญเพียรภาวนา ไม่ได้ฝึกหัดจิตแม้จะแนะนำอย่างไรก็ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะตายเราควรที่จะได้ฝึกหัดซะให้มันคล่องตัว ถ้าใครหัดตายเล่นๆก่อนที่จะตายจริง อันนี้ยิ่งดี เราจะได้รู้ว่าการตายนั้นคืออะไร เมื่อเกิดตายจริงขึ้นมาเราจะได้ไม่ต้องกลัว

 

 

 คำถาม :  เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นจะมีอุบายในการระงับความโกรธได้อย่างไร?


หลวงพ่อพุธตอบ :  ประการแรก อดทน อย่าให้ความโกรธมันใช้มือไปทุบคนโน้นคนนี้ อย่าให้ความโกรธใช้ปากไปด่าคนโน้นคนนี้ ใช้ความอดทนในเมื่อเรายังไม่มีอุบาย ทีนี้อุบายถ้าเราจะใช้ก็พิจารณาถึงอกเขาอกเรา โกรธแล้วเราไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก แม้ในใจมันโกรธอยู่แต่ไม่ทำสิ่งนั้นลงไป มันก็ไม่มีบาปมีกรรมอะไร ในเมื่อโกรธมันไปจนสุดฤทธิ์แล้วมันก็หมดไปเองเมื่อเรายังไม่มีอุบาย ถ้าเรามีอุบายพิจารณาว่าความโกรธมันเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ เราไม่ควรโกรธเลยๆ เอาแค่นี้ก็ได้ แต่ประการสำคัญที่สุดโกรธแล้วต้องระวังอดกลั้นอย่าเผลอไปทำความผิดพลาดอย่างรุนแรงขึ้นมา เมื่อทำผิดพลาดลงไปแล้วมันจะเสียใจภายหลัง เช่นพ่อแม่โกรธลูกคว้าไม้เรียวมาเฆี่ยนมันอย่างไม่นับ จนหนังมันแตกเป็นริ้วเป็นรอยเลือดสาด ในขณะที่เราทำอยู่นั้นเราอาจจะคิดว่าเราได้ทำอะไรสมที่โกรธแล้ว แต่เมื่อโกรธมันหายไปแล้ว อะไรมันจะเกิดขึ้น ความเสียใจภายหลังเดี๋ยวก็นั่งร้องไห้กอดเขา “เราไม่น่าทำเลย”

 

 

 คำถาม :  คฤหัสถ์ต้องทำธุรกิจการค้า วิธีจะรักษาศีลข้อมุสาวาทให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร?


หลวงพ่อพุธตอบ :  มีวิธีอย่างนี้ ถ้าสมมติว่าเราไปซื้อของมาขาย เราขายของให้ลูกค้า ถ้าลูกค้าว่า “ทำไมขายแพง”

“ต้นทุนมันสูง”  “ต้นทุนมันเท่าไหร่”   คิดค่าเสียเวลา ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ค่าเสียภาษี ดอกเบี้ย บวกเข้าไป ค่าของที่มาตกค้างอยู่ในร้านค้า ทุนมันก็เพิ่มขึ้นๆ ยิ่งค้างอยู่นานเท่าไหร่มันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นๆ ซื้อมาทุน ๑๐ บาท ก็ตีราคาทุนมัน ๑๒ บาทก็ได้ ไม่ใช่โกหก เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราเดินทางจากโคราชไปเอาที่กรุงเทพฯไปก็ต้องเสียค่ารถ เอารถไปเองก็ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอรถ ค่าอาหารการกินของผู้ที่ไป พอได้แล้วก็ต้องเสียค่าขนส่ง มาแล้วก็ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย เราก็คิดรวมเข้าไปซิ นักการค้าต้องเป็นคนฉลาดคนรักษาศีลก็ต้องเป็นคนฉลาด แต่ว่าเรามีเจตนาโกหกเขามันก็ผิดศีลข้อมุสาวาท มันจะไปยากอะไรการรักษาศีลข้อมุสาวาท

 


คำถาม :  ปฏิบัติแล้วไม่ก้าวหน้า เกิดความท้อแท้จะมีวิธีแก้อย่างไร?


หลวงพ่อพุธตอบ :  ปฏิบัติแล้วไม่ก้าวหน้าท้อแท้ ปฏิบัติไม่ถึง ไม่ถึงขั้นสละชีวิตเพื่อข้อวัตรปฏิบัติ พอปฏิบัติไปนิดหน่อยเมื่อยก็รำคาญหยุดซะ ขาดความอดทน ถ้าจะให้ก้าวหน้าต้องให้จับหลักการปฎิบัติให้มั่นคง อย่าเหลาะแหละเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ จะบริกรรมภาวนาพุทโธ เอ้า! ฉันจะภาวนาพุทโธอยู่อย่างนี้จนจิตมันจะสงบ ตั้งนาฬิกาเอาไว้วันนี้จะนั่งสมาธิ ๑ ชม. ๒ ชม. แล้วปฏิบัติให้มันได้ วันหนึ่งจะนั่งสมาธิวันละกี่เวลาก็ปฏิบัติให้มันได้ จะเดินจงกรมวันละกี่เวลา เวลาออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิตให้มีสติอยู่ตลอดเวลา แม้ว่านอนหลับลงไปแล้วจิตมันคิดอะไรก็ปล่อยให้มันคิดไป ให้มีสติกำหนดตามรู้ไป ในเมื่อมันไปสุดช่วงมัน แล้วมันจะเกิดความสงบเองแล้วจะก้าวหน้าเอง อันนี้ที่เราปฏิบัติไม่ได้ผลเพราะว่าเราขาดความอดทน ทำไม่ถึง แล้วก็ทำไม่ถูกต้อง พอปฏิบัติพุทโธๆ ก็ไปข่มจิตจะให้มันสงบ ทีนี้พอไปข่มมันก็ปวดหัวปวดเกล้าปวดต้นคอขึ้นมาก็ทนไม่ไหววิธีการที่จะท่องพุทโธ ก็ท่องพุทโธ ๆๆ อยู่เฉยๆ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ ท่องมันไว้ตลอดเวลา เวลาออกจากที่นั่งสมาธิแล้ว เราไม่มีการสำรวม ไม่มีการฝึกสติ วันหนึ่งเรานั่งสมาธิไม่ได้ถึง ๔ ชม. แต่เวลาที่เราปล่อยให้มันไปตามอำเภอใจ ๒๐ ชม. มันไปสกัดกั้นกันได้อย่างไร? เพราะฉะนั้นต้องทำให้มากๆ อบรมให้มากๆ มันถึงจะก้าวหน้า

 

คำถาม : การฆ่าเพื่อป้องกันตัว บาปหรือไม่?


หลวงพ่อพุธตอบ : การฆ่าเพื่อป้องกันตัวนี่ก็บาป ฆ่าป้องกันตัวนี่ก็บาป ฆ่าเพื่อสนุกก็บาป ขึ้นชื่อว่าการฆ่าบาปทั้งนั้น แต่ว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่เป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนัก ฆ่าบุคคลผู้มีคุณธรรมไม่เบียดเบียนใครก็เป็นบาปหนัก ฆ่าคนที่มีจิตใจโหดร้าย ฆ่าข้าศึกก็บาป แต่ว่าบาปน้อยกว่าผู้มีคุณมีบุญ จะไม่บาปเลยนั้นเป็นไปไม่ได้

                      ทีนี้อย่างตำรวจไปฆ่าโจรผู้ร้าย โจรผู้ร้ายมันก่อความเดือดร้อนให้แก่บ้านแก่เมือง ฆ่าคนวันละ ๑๐ - ๒๐ คน ตำรวจไปฆ่ามันตายเสียได้ทั้งบาปได้ทั้งบุญ ได้บาปเพราะการฆ่า ฆ่าคนที่มีจิตใจโหดร้าย ไม่มีศีลธรรม ไม่มีกฏหมาย มีค่าเท่ากันกับสัตว์เดรัจฉานที่ดุๆ เช่น ฆ่างูพิษ เป็นต้น เพราะว่าจิตใจมันโหดร้าย มีค่าเท่ากันกับสัตว์เดรัจฉาน แต่ว่าจะไม่บาปเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าบุญก็ได้ บุญก็หาบบาปก็หิ้ว ในกรณีที่กล่าวนี้บุญมันได้มากกว่าบาป เพราะคนที่รอวันตายวันละ ๑๐ - ๒๐ คน นั้นก็พ้นอันตรายไป

 

 


คำถาม : เมื่อมีกามตัณหาเกิดขึ้นเราควรจะระงับอย่างไร?


หลวงพ่อพุธตอบ : ระงับด้วยความอดทนอดกลั้น ระวังอย่าทำผิดวินัย ถ้าเป็นพระเป็นสงฆ์ ราคะความกำหนัดยินดีเกิดขึ้นเราก็อดทนอดกลั้น อุบายวิธีถ้าเมื่อมันเกิดขึ้นระงับไม่ไหว ก็ลุกไปเดินจงกรมบ้าง ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิบ้าง พิจารณาอสุภกรรมฐานบ้าง


                      ตัณหาโดยทั่วๆ ไป ตัณหาความทะเยอทะยานอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็นเกิดขึ้น ซึ่งยังเป็นวิสัยของผู้ยังต้องการทรัพย์สมบัติ ท่านก็ให้ระมัดระวังการแสวงหาผลประโยชน์อย่าให้ผิดศีลข้ออทินนาทาน ในเมื่อเราไม่ผิดศีลข้ออทินนาทาน ก็เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ในขอบเขต ปุถุชนจะไม่ทะเยอทะยานนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อความทะเยอทะยานตัณหาเกิดขึ้นให้นึกถึงศีลธรรมและกฏหมายปกครองบ้านเมือง ถ้าหากว่าตัณหาเกี่ยวกับเพศตรงข้าม พระภิกษุสงฆ์ให้พิจารณาอสุภกรรมฐานให้มากๆ

 

 


คำถาม : เวลาเราประสบกับเหตุร้ายๆ เกิดความทุกข์ใจจะมีวิธีหรืออุบายทำใจให้ไม่เป็นทุกข์ได้อย่างไร?


หลวงพ่อพุธตอบ : ปุถุชนไม่มีทาง อดทนทุกข์ไปจนกว่าทุกข์มันจะสร่างไปเอง หรือหากว่าใครสามารถนั่งสมาธิเข้าสมาธิได้เร็ว ถ้าจิตเข้า สมาธิมีปิติความสุขได้ ทุกข์มันก็หายไป  สำหรับปุถุชนผู้ยังมีกิเลสอยู่นี่จะไปละทุกข์มันไม่ได้ แล้วตามหลักการพระพุทธเจ้าว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ “ตังโข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว” ทุกข์เป็นธรรมชาติที่พึงกำหนดรู้ ไม่ใช่เรื่องละ เราก็กำหนดว่าทุกข์เราได้กำหนดรู้แล้ว ถ้าทุกข์ใจมันมีอยู่แนวทางปฏิบัติสมาธิภาวนา กำหนดเอาทุกข์เป็นอารมณ์ เราอาจจะท่องในใจว่า ทุกข์หนอๆๆก็ได้ ในเมื่อท่องทุกข์หนอ จิตมันสงบเป็นสมาธิลงไปแล้ว ทุกข์มันก็หายไป ในเมื่อออกจากสมาธิมาแล้วมันทุกข์อีกภาวนามันต่อไป หลักแก้มันก็อยู่ที่ตรงนี้

 


คำถาม :  การเปิดเทปธรรมะให้ฟังเมื่อจิตสงบนั้นจะช่วยให้ได้สุคติหรือไม่?


หลวงพ่อพุธตอบ :   การเปิดเทปให้ฟังบางทีคนไข้ถ้าตั้งใจจดจ่อฟังก็มีอานิสงส์ให้สุคติได้ แม้ว่าคำเตือนเพียงคำเดียวว่า จงทำสติระลึกถึงคุณพระคุณเจ้านะ เพียงแค่นี้เขาระลึกพระพุทโธ ธัมโม สังโฆ ในขณะนั้นก็สามารถที่จะไปสุคติได้ เช่น มัฏฐกุณฑลี ซึ่งเจ็บป่วยหนัก บิดาเป็นคนขี้เหนียว ไม่หายามารักษา พระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นแล้วว่า เด็กคนนี้ในวันพรุ่งนี้จะตาย เมื่อตายลงไปแล้วจะตกนรก พระองค์ก็เสด็จไปโปรด พระองค์ทรงเปล่งรัศมีไปเตือนให้รู้ว่าพระองค์เสด็จมาโปรด นายมัฏฐกุณฑลีหันกลับมามองดูพระพุทธเจ้าเพียงแว๊บเดียว แล้วก็เกิดความเลื่อมใสขึ้นมา “โอ้โฮ้ ! พระพุทธเจ้าอัศจรรย์หนอ” แล้วก็ตาย ตายแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตร อันนี้เป็นตัวอย่าง

 


คำถาม :  การพิจารณาเกสาจะทำอย่างไร?


หลวงพ่อพุธตอบ :  การพิจารณาเกสาก็เพ่งไปที่ผม เกสาคือผมเกิดอยู่บนศรีษะเป็นเส้นๆ ข้างหน้ากำหนดหมายจากหน้าผาก เบื้องหลังกำหนดหมายท้ายทอย กำหนดหมายหมวกหูทั้งสองข้าง เมื่อน้อยก็ยังมีสีดำ เมื่อแก่ไปก็มีสีขาว เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เพราะเกิดอยู่ในที่ปฏิกูล ชุ่มแช่ไปด้วยปุพโพโลหิต มีอยู่ในกายนี้ เป็นของปฏิกูล เมื่อเหงื่อไคลไหลออกมาเราก็ต้องทำความสะอาดต้องตกแต่งต้องประดับอยู่เสมอ ถ้าหากว่าของนี้ไม่เป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดแล้วจะไปตกแต่งทำไม? พิจารณาไปอย่างนี้ก็ได้ ซึ่งสุดแท้แต่สติปัญญาของเราจะพิจารณาได้ เพียงใดแค่ไหน หรือเราอาจจะพิจารณาว่าผมของเราตกแต่งแล้ว สวยงามจริงหนอ อะไรทำนองนี้ ทำสติรู้อยู่กับสิ่งนั้น ก็เป็นอุบายพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงเหมือนกัน

 

 


คำถาม :  พิจารณากายแล้วมีอาการเหมือนโลหิตไหลในคอ ทำให้ไอ จาม บางครั้งต้องลืมตาขึ้นไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร?


หลวงพ่อพุธตอบ : ในเมื่อพิจารณากายแล้วมีอาการอะไรเกิดขึ้น พยายามทำสติตามรู้สิ่งนั้นๆ ถ้าหากว่ามันจะไอ จะจามจริงๆ แล้วก็จามออกมาซะ ไอออกมาซะ ให้มันสิ้นแล้วก็กำหนดสติพิจารณาไปให้จนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ การไอจามก็จะหายไปเอง

 

 


คำถาม :  จริงหรือไม่ที่ว่าผู้ที่จะนั่งสมาธิได้ผลเร็วนั้นจะต้องสะสมบารมีมาตั้งแต่ชาติก่อน?


หลวงพ่อพุธตอบ :  อันนี้ทั้งจริงทั้งไม่จริง ผู้มีบารมีมาแต่ชาติก่อนแต่ว่าไม่ทำจริงมันก็ไม่ได้ผล ผู้ที่คิดว่าตัวเองไม่มีบารมีแต่ว่าทำจริงมันก็ได้ผลเร็วเหมือนกัน ใครจะไปรู้ว่าเรามีบารมีมาก่อนหรือไม่มีมาก่อน ถ้าใครไม่มีบารมีมาก่อน พอได้ยินเขาว่าสมาธิ เหม็นเบื่ออย่างกะอะไรไม่อยากจะทำ แต่พอได้ยินแล้วเกิดความเลื่อมใสอยากทำ ผู้นั้นแหละมีบารมีมาก่อนจึงอยากทำ

 

 


คำถาม :  บางครั้งเคยเห็นสำนักที่สอนนั่งสมาธิ มีการเชิญวิญญาณเข้ามาทรงอย่างนี้ถือว่าผิดแบบแผนทางพระพุทธศาสนาหรือไม่?

หลวงพ่อพุธตอบ : การฝึกสมาธิเราพยายามที่จะสร้างจิตของเราให้เป็นอิสระแก่ตัว โดยไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งใด แม้แต่กิเลสเราก็ไม่อยากจะให้เป็นนายเหนือหัวใจเรา การที่จะเชิญวิญญาณเข้ามาประทับทรงนั้นไม่ใช่วิสัยของนักปฏิบัติที่ถูกต้องจะพึงทำ

 

 Rhododendron, Redwood National Park, California


คำถาม :  วิปัสสนูปกิเลสคืออะไร? มีอะไรบ้าง?


หลวงพ่อพุธตอบ :  วิปัสสนูปกิเลสคือสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้วเราไปหลงยึดถือ เช่น อย่างพวกที่ภาวนาแล้วเห็นนิมิต รูปภาพต่างๆ แล้วก็ไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นของวิเศษ เกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาแล้ว ก็ไปยึดสิ่งที่รู้ที่เห็นนั้นเป็นเรื่องสำคัญไปกำหนดหมายเอาว่าจิตต้องอยู่ในณานขั้นนั้น ต้องได้ณานขั้นนี้อะไรทำนองนี้ ถ้าหากว่าเราทำไม่ได้มันก็จะทำให้เกิดท้อถอย สิ่งใดที่เกิดเป็นผลงานขึ้นมาแล้วเราไปยึดสิ่งนั้นจนเหนียวแน่นแล้วก็ติดกับสิ่งนั้นด้วย สิ่งนั้นคือวิปัสสนูปกิเลส แต่ในแบบฉบับท่านว่าอุปกิเลส ๑๖ ประการ ขอให้คำจำกัดความหมายสั้นๆว่า จิตของเรารู้เห็นสิ่งใดขึ้นมาแล้วยึดสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น ถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีวิเศษถ้าไม่รู้อย่างนั้นเป็นอันว่าเป็นความรู้ที่ไม่ถูกทางอะไรทำนองนี้ แล้วก็ยึดสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น ถ้าไปยึดว่าเราต้องนั่งสมาธิให้ได้ ๔-๕ ชั่วโมง. ให้ได้มากๆ ถ้าไม่ได้อย่างนั้นเป็นอันว่าปฏิบัติไม่ได้ผล หรือเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาแล้วยึดติดสิ่งนั้นๆ เป็นวิปัสสนูปกิเลสรักษาศีลติดศีลก็เป็นวิปัสนูปกิเลส ทำสมาธิเกิดติดสมาธิก็เป็นวิปัสนูปกิเลส เกิดปัญญาความรู้อะไรต่างๆขึ้นมาแล้วไปหลงปัญญาความรู้ของตนเอง ขาดวิชชาสติปัญญาความรู้เท่าเอาทันเป็นวิปัสนูปกิเลสทั้งนั้น

 

 


คำถาม :  ทำไมถึงว่าสมาธิเกิดในเวลานอนดีที่สุด?


หลวงพ่อพุธตอบ :  ก็เพราะเหตุว่า แทนที่เราจะนอนหลับทิ้งเปล่าๆ สมาธิเกิดขึ้นในขณะนั้นมันเป็นผลดีในการพักผ่อน เพราะเราพักผ่อนในสมาธิ ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวกและจิตที่เป็นสมาธิในเวลานอนนั้นก็ได้ผลดีไม่แพ้การนั่งสมาธิ    ที่ว่าสมาธิเกิดขึ้นในเวลานอนดีที่สุดก็เพราะว่าการมีสมาธิในท่านั่งบางทีมันอาจจะมีไม่นานนัก มีซัก ๕ นาที ๑๐ นาที มันก็ถอน ที่เรามีสมาธิในเวลานอนนี้เราอาจจะมีสมาธิตลอดคืนย่ำรุ่งก็ได้

 

 


คำถาม :  ถ้าเป็นสมาธิเกิดขึ้นในขณะนั่งจะมีคุณค่าน้อยกว่าหรือไม่?


หลวงพ่อพุธตอบ :  ก็มีคุณค่าพอๆกัน ถ้าจิตอยู่ในสมาธิได้นานๆ รู้ธรรมเห็นธรรมก็มีค่าเท่ากัน ที่ว่าถ้าทำสมาธิให้เกิดขึ้นในเวลานอนได้ดีที่สุดนั้น ก็เพราะว่าเป็นการฝึกทำสมาธิให้ได้ทั้งในท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน อะไรทำนองนี้ ถ้าทำจนคล่องตัวได้ทุกอิริยาบถยิ่งเป็นการดี เวลาเกิดขึ้นในเวลานั่งมีค่าเท่ากัน

 


คำถาม :  พระพุทธเจ้าตรัสรู้เวลานั่งหรือเวลานอน?


หลวงพ่อพุธตอบ :  พระพุทธเจ้าตรัสรู้เวลานั่ง แต่ว่าเวลาท่านนอนท่านก็ทำสมาธิ พระพุทธเจ้านอนตั้งแต่ ๔ ทุ่ม แล้วไปตื่นเอาตี ๓ ชั่วขณะตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึง ตี ๓ ท่านก็ทำสมาธิ ท่านแก้ไขปัญหาเทวดา การแก้ไขปัญหาเทวดาต้องพูดกันทางสมาธิไม่ได้พูดด้วยปาก เอาใจพูดกันถ้าหากใจพระพุทธเจ้าไม่มีสมาธิ ในขณะนั้นสัมผัสรู้เทวดาได้อย่างไร

 


คำถาม :  ความปิติที่เกิดขึ้น ทำอย่างไรจึงจะให้สงบลง?

 หลวงพ่อพุธตอบ : เมื่อปิติมันเกิดขึ้นไม่ต้องไปทำให้มันสงบลง กำหนดจิตรู้มันอยู่เฉยๆ บางทีมันอาจจะกระโดดโลดเต้น หัวเราะ ร้องไห้ขึ้นมาก็ตาม ทำสติตามรู้มันตลอด ในเมื่อมันไปจนหมดฤทธิ์มันแล้วมันสงบลงเอง ถ้าเราไปบังคับให้มันสงบลง ทีหลังปิติมันจะไม่เกิด เมื่อปิติไม่เกิดการปฏิบัติมันก็ท้อถอย อย่างปัญหาที่ว่า ภาวนาเมื่อก่อนนี้ทำไมมันสงบสบายดี แต่เวลานี้มันขี้เกียจเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายเพราะไม่มีปิติ

 

 


คำถาม : แต่บางครั้งรู้สึกว่าคล้ายจะสำลัก มีความรู้สึกอิ่ม?


หลวงพ่อพุธตอบ :  เมื่อปิติเกิดขึ้นแล้ว สารพัดที่มันจะแสดงอาการออกมา บางทีก็ทำให้รู้สึกจะสำลัก บางทีทำให้ร้องไห้ หรือหัวเราะ บางทีทำให้ตัวสั่น บางคนปีติเกิดวางมือจากประสานกันมาตบหัวเข่าตัวเองก็ดี อันนี้เป็นอาการของปีติ ซึ่งสุดแท้แต่นิสัยของใครจะแสดงออกมาอย่างไร

 

 


คำถาม :  การทำสมาธิเวลานอนหมายถึงการท่องพุทโธไปจนหลับใช่หรือไม่?


หลวงพ่อพุธตอบ :  ใช่ การทำสมาธิโดยการท่องภาวนาพุทโธ เราท่องๆ ไปจนกระทั่งใจมันท่องพุทโธเองได้ยิ่งดี นอนหลับมันก็ท่องอยู่ ตื่นมันก็ท่องอยู่ยิ่งดี

 

 

คำถาม :  การปฏิบัติเสร็จแล้วได้นอน ขณะที่นอนก็ภาวนาพุทโธต่อไป มีอาการจิตดิ่งลงก็ได้ ตามรู้อารมณ์จิตสักครู่รู้สึกว่าเหมือนกับตัวหมุนไปรอบห้อง บางครั้งรู้สึกว่าตัวพอง ลมจะระเบิดหลังจากนั้นก็ไม่ค่อยสงบ?


หลวงพ่อพุธตอบ :  อาการอย่างนี้เป็นอาการที่จิตจะเตรียมเข้าไปสู่ความสงบเมื่อมีอาการอย่างนั้นเกิดขึ้นผู้ปฏิบัติก็มาเอะใจตกใจกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่างๆ จิตไปยึดอยู่ที่นั่น บางทีมันก็พยายามที่จะระงับไม่ให้เป็นอย่างนั้น บางทีมันระงับได้บางทีจิตมันดิ่งลงไปแล้วมันระงับไม่ได้รู้สึกว่าทำให้เกิดมีอาการต่างๆเกิดขึ้นอันนี้เป็นเรื่องของธรรมดาแต่เราควรจะทำสติรู้อยู่เฉยๆจนกว่ามันจะเกิดความสงบลงไปได้จริงๆ

 

 

คำถาม :  ในการสวดคาถาพระกัณฑ์ไตรปิฎก ได้อานิสงส์อย่างไร?


หลวงพ่อพุธตอบ :  พระกัณฑ์ไตรปิฎกก็เป็นบทสวดมนต์บทหนึ่ง อานิสงส์ ก็คือเป็นการอบรมจิตและเป็นการทรงจำพุทธพจน์ คำสอนของพระพุทธเจ้า บางทีผู้ตั้งใจสวดด้วยความมีสติสัมปัชัญญะแล้ว อานิสงส์ของการสวดนั้น จะทำให้จิตมีสมาธิ มีปิติ มีความสุข ตามหลักการทำสมาธิเป็นการอบรมจิต
 

                       พระกัณฑ์ไตรนี้ก็หมายถึงยอดพระไตรปิฎกอักขระทุกบททุกตัวที่ท่านเอามารวมกันไว้เป็นหัวใจพระไตรปิฎก ถ้าใครจำหัวใจพระไตรปิฎกได้ก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทรงไว้ซึ่งพระศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มีอานิสงส์อย่างมากมาย

 


 


 คำถาม :  การปฏิบัติที่ก้าวหน้าจะมีวิธีอย่างไร สังเกตได้อย่างไร?


หลวงพ่อพุธตอบ :  การปฏิบัติเพื่อก้าวหน้าก็ดังที่กล่าวแล้ว สังเกตว่าเราปฏิบัติแล้วได้อะไร เอาศีล ๕ เป็นข้อวัด เมื่อเรามีเจตนาละเว้นโทษตามศีล ๕ ถ้าเราละได้โดยเด็ดขาด นั่นแหละเป็นผลได้ของเรา ถ้ายิ่งจิตใจไม่ต้องอดต้องทนต่อการที่จะทำบาปความชั่ว เจตนาที่คิดจะทำความชั่วผิดบาป ๕ ข้อ นั้น ไม่มีเลย แม้ว่าจิตยังไม่เป็นสมาธิก็ตามก็ได้ชื่อว่าเราปฏิบัติได้ผล

 


คำถาม :  ทำอย่างไรคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนจึงจะอยู่อย่างมีความสุข?


หลวงพ่อพุธตอบ :  สุขเกิดจากความไม่มีหนี้ ถ้าทรัพย์ไม่มีหาความสุขไม่ได้หนี้สินถมหัวก็ยิ่งทุกข์หนัก นี่ปฏิบัติ ๒ ข้อนี้พอ แล้วจะมีความสุข สุขอย่างคฤหัสถ์นี่มันสุขเพราะมีที่ดินอยู่ มีเรือนอยู่ มีเงินใช้ ไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร แม้ว่าใจมันจะทุกข์เพราะเหตุอื่นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นความสุข ถ้าคฤหัสถ์มีศีล ๕ นั่งสมาธิภาวนาแถมมีเงินมีทองใช้ มีบ้านอยู่ยิ่งสุขใหญ่อันนี้คือสุขคฤหัสถ์ สุขเพราะความไม่มีโรคนั่นก็เป็นสุขอันหนึ่ง



 

Last Updated on Monday, 21 September 2009 03:38
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner