Home ธรรมะ ธรรมะจากรามเกียรติ์
โอวาทพระบูรพาจารย์ PDF Print E-mail
Friday, 18 September 2009 08:36

โอวาทพระบูรพาจารย์

โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

แสดงธรรมเนื่องในวันบูรพาจารย์  ณ วัดป่าสาลวัน
เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๐

 

 

 

          ผู้เจริญทั้งหลาย  ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีและอนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านทั้งหลายที่ได้พร้อมใจกันมาแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระบูรพาจารย์เนื่องในวันระลึกพระบูรพาจารย์  โดยถือเอาการบรรจุอัฐิธาตุของพระบูรพาจารย์  คือ พระอาจารย์เสาร์  อาจารย์มั่น  อาจารย์สิงห์  เข้าในบุษบก  ในวันที่ ๒ ธันวาคม  ซึ่งมีพระอาจารย์มหาบัวเป็นประธานทางฝ่ายครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน   ฝ่ายบริหารมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์  ธัมมธโร)  วัดพระศรีมหาธาตุ  เป็นประธาน  คณะสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ  ทั้งฝ่ายคันถธุระคือฝ่ายปกครอง  วิปัสสนาธุระคือฝ่ายกรรมฐาน  หลังจากที่บรรจุอัฐิของพระอาจารย์ทั้งสามเข้าในบุษบกแล้ว  พระเถระทั้งสองฝ่ายลงมติเห็นพ้องกันว่าให้วัดป่าสาลวันจัดวันบูรพาจารย์  ตรงกับวันที่ ๒ ธันวาคม ทุกปีเป็นประจำ  เมื่อเป็นเช่นนั้น  งานวันบูรพาจารย์จึงไม่ใช่งานของวัดป่าสาลวันโดยตรง  แต่หากเป็นวันของคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายคันถธุระ  วิปัสสนาธุระทั้งประเทศ   โดยเฉพาะปีนี้  รู้สึกว่าครูบาอาจารย์ทั้งสองฝ่าย  หมายถึงฝ่ายธรรมยุต  ฝ่ายมหานิกายก็ได้มีน้ำจิตน้ำใจมาแสดงความกตัญญูกตเวที  ดังนั้น  จึงเป็นที่น่าชื่นชมยินดีในกุศลเจตนาของท่านทั้งหลาย 

 


          วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันบูรพาจารย์ก็เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้คณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ  วิปัสสนาธุระได้มาชุมนุมกันปีละครั้ง   เราจะได้ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติ  ทั้งสายวินัยและสายธรรมะ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายธุดงคกรรมฐาน 

 


          พระธุดงคกรรมฐาน   นอกจากจะเป็นผู้เคร่งครัดต่อพระวินัยแล้ว   ก็เคร่งต่อกิจวัตรอันเป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ   นอกจากจะสนใจศึกษาในสำนักของครูบาอาจารย์แล้ว   ก็ยังตั้งใจสนใจในการปฏิบัติมีการเดินจงกรม  นั่งสมาธิภาวนา   ซึ่งในระยะแรก ๆ  พระธุดงค์ที่อยู่ตามป่า  หมายถึงวัดป่าทั่ว ๆ ไป  ครูบาอาจารย์ท่านจะเคร่งต่อกิจวัตร


          บ่าย ๓ โมง  กวาดลานวัด  กวาดวัดเสร็จแล้วพระนวกะทำกิจวัตรต่อครูบาอาจารย์  พระนวกะหมายถึงพระที่มีอายุพรรษายังไม่พ้นนิสสัยมุติ  คือ  ๕ พรรษา  ต้องทำกิจวัตรพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นประจำ  แล้วก็รับฟังโอวาทของครูบาอาจารย์  ศึกษาข้อวินัยและข้อประพฤติปฏิบัติ  เพื่อจะรักษาไว้ซึ่งธรรมเนียมประเพณีของพระสงฆ์ซึ่งสืบเนื่องมาจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย  

 

          ครูบาอาจารย์ในสายพระธุดงคกรรมฐาน  เริ่มต้นตั้งแต่เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์  (สิริจันโท  จันทร์)    ปฏิปทาของพระเดชพระคุณองค์นี้  เอาใจใส่บริหารทั้งฝ่ายคันถธุระ  วิปัสสนาธุระ  หมายถึงฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ   มีบูรพาจารย์บางท่านเคยเล่าให้ฟังว่า   ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์เวลาท่านไปธุดงค์  ลูกศิษย์ของท่านที่ยังเรียนปริยัติอยู่ก็หอบคัมภีร์ไป   ไปพักตามต้นไม้ชายคาหรือถ้ำเหวที่ไหน  ท่านก็สอนปริยัติธรรม   แล้วก็นำในการประพฤติปฏิบัติ  ท่านปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมาจนกระทั่งถึงแก่มรณภาพไป

 

          ภายหลังเจ้าพระคุณองค์นี้ได้ลูกศิษย์ผู้ใหญ่ ๒ องค์  ฝ่ายวิปัสสนาธุระก็ได้พระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล  ฝ่ายคันถธุระหรือฝ่ายปริยัติก็ได้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสสมหาเถระ)  เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ทำงานในฝ่ายคันถธุระ  ในฝ่ายปริยัติ  ท่านอาจารย์เสาร์ทำงานในฝ่ายวิปัสสนา   ดังนั้น  พระสงฆ์ในภาคอีสานของเรานี่ในยุคสมัยนั้นจึงเป็นพระสงฆ์ที่มีความสมบูรณ์แบบ  ทางสายปริยัติก็มีเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เป็นผู้บริหารงาน  ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระหรือกรรมฐานก็มีพระอาจารย์เสาร์เป็นผู้บริหารงาน  ภายหลังพระอาจารย์เสาร์มาได้ลูกศิษย์องค์สำคัญคือพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต

 

  
          อาตมาก็ไม่อยากจะพูดอะไรยืดยาวนัก  จะขอนำโอวาทของครูบาอาจารย์เท่าที่จำได้และยึดเป็นหลักปฏิบัติมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้องค์ละข้อ 


          พระอาจารย์เสาร์  ท่านสอนกรรมฐาน  ถ้ามีใครถามว่าอยากจะปฏิบัติกรรมฐานทำอย่างไร  ท่านจะบอกว่า  “พุทโธซิ”  “พุทโธแปลว่าอะไร”  “อย่าถาม”   “ภาวนาพุทโธแล้วจะได้อะไรดีขึ้น”  “ถามไปทำไม  ฉันให้ภาวนาพุทโธลูกเดียว”   ทีนี้ถ้าลูกศิษย์ท่านใดรีบปฏิบัติตามคำสั่งของท่านอย่างผู้ว่าง่าย  ไม่ได้ฟังอีร้าค่าอีรมอะไร   ไม่ต้องไปสงสัยข้องใจอะไร   ท่านอาจารย์สอนให้ภาวนาพุทโธ  ฉันก็พุทโธ  พุทโธ ๆๆ ลูกเดียวไม่ต้องสงสัย  ถ้าใครไปตั้งใจปฏิบัติตามโอวาทของท่านอย่างจริงใจ   ไม่เกิน ๗ วันต้องมีปัญหามาให้ท่านแก้  บางท่านไปภาวนาพุทโธแล้วจิตสงบ  นิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  บางทีกระแสจิตส่งออกนอก  เห็นโน่นเห็นนี่  ถ้ามาถามท่าน  จิตเป็นอย่างนี้จะผิดหรือถูกประการใด   ถ้าหากว่าถูกท่านก็บอกว่า  “เร่งภาวนาเข้า ๆ ให้มันเข้าถึงความเป็นเอง”  ถ้าหากมันไม่ถูกต้องส่งออกนอกมากนัก  ท่านก็บอกว่าให้พยายามระงับ  อย่าให้มันส่งออกไปมากนัก   ถ้าหากพอรั้งเอาไว้ได้ก็ให้รั้งเอาไว้   ถ้ารั้งไม่ได้ก็ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน  ท่านก็สอนอย่างนี้ 

 


          และอีกประเด็นหนึ่ง   ในฐานะที่หลวงพ่อเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์องค์สุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้   ในสมัยที่เป็นสามเณร  ไปปรนนิบัติท่าน  อยู่ ๆ ท่านก็พูดขึ้นมาเปรย ๆ ว่า  “เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ  มันมีแต่ความคิด”   เมื่อเรียนถามท่านว่า  “จิตฟุ้งซ่านหรืออย่างไร  ท่านอาจารย์”  ท่านก็จะบอกว่า  “ถ้ามันเอาแต่นิ่ง  มันก็ไม่ก้าวหน้า  จิตข้ามีแต่ความคิด  มันไม่สงบ”  พอถามว่า  “ฟุ้งซ่านหรืออย่างไร”  ท่านก็ตอบว่า  “ถ้ามันเอาแต่นิ่งลูกเดียวมันก็ไม่ก้าวหน้า”  อันนี้เป็นปัญหาที่ลูกศิษย์นักปฏิบัติจะต้องทำความเข้าใจ  ที่ท่านอาจารย์ท่านว่าอย่างนั้น  มันก็ไปได้ในหลักของสมาธิและฌาน 


 Chimney Rock National Historic Site Nebraska

          ฌานมีอยู่ ๒ อย่าง  อารัมมณูปนิชฌาน  จิตสงบ  นิ่ง  รู้อยู่ในสิ่ง ๆ เดียว หรือรู้เฉพาะในจิตอย่างเดียว   แล้วก็สงบนิ่งละเอียดไป  จนกระทั่งถึงจุดร่างกายตัวตนหาย  เหลือแต่จิตดวงเดียว  นิ่ง  สว่างไสวอยู่เท่านั้น   อันนี้เป็นอารัมณูปนิชฌาน   เป็นสมาธิในฌานสมาบัติและอีกอันหนึ่ง   ลักขณูปนิชฌาน  พอจิตสงบนิ่งลงไปนิดหน่อย  มันมีวิตก  วิตกก็คือความคิด  เมื่อความคิดเกิดขึ้น  สติก็ทำหน้าที่ตามรู้ไปทุกระยะ  ถ้าหากสมาธิมีความเข้มข้น  สติสัมปชัญญะเข้มแข็ง  ความคิดมันก็เกิดเร็วขึ้น ๆ ๆ  จนรั้งไม่อยู่  ในช่วงแรก ๆ  ความคิดเกิดขึ้น   ถ้าจิตไปยึดความคิดมันก็มีความยินดีมีความยินร้าย   บางทีก็มีสุขมีทุกข์    บางทีก็หัวเราะไปร้องไห้ไปในจิตในใจ  ผู้ปฏิบัติถ้าไม่เข้าใจผิด  ปล่อยไปตามครรลองของมัน  เราเอาสติตามรู้ไป  พอไปถึงจุด ๆ หนึ่ง  จิตมันจะหยุดนิ่งพั๊บลงไป   สว่างไสว  ร่างกายตัวตนหาย   เหลือแต่จิตนิ่งสว่างไสวอยู่ดวงเดียวเท่านั้น   สภาวะอันเป็นอารมณ์และกิเลสทั้งหลายมันจะมาวนเวียนรอบจิตอยู่ตลอดเวลา   พอมาถึงความสว่างของจิต  มันจะตกไปๆ  เหมือนแมลงบินเข้ากองไฟ   อันนี้ความหมายของโอวาทของหลวงปู่เสาร์เป็นอย่างนี้    

 


          มันก็ไปตรงกับ  ฐีติภูตัง  ของ  หลวงปู่มั่น  พอจิตอยู่นิ่ง  สว่าง  รู้  ตื่น  เบิกบาน  สภาวะทั้งหลายอันเป็นสภาวธรรม  จะมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นดับไป  จิตก็รู้  นิ่ง  เฉย  เป็นกลางโดยเที่ยงธรรม  ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ๆ  เพราะความยินดีไม่มี   ความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ไม่มี  จิตคิดขึ้นมารู้แล้วปล่อยวาง ๆ  ไม่ยึดอะไรเป็นปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน   อันนี้หลวงปู่มั่นท่านเรียกว่า  ฐีติภูตัง  ฐีติ  จิตตั้งมั่น  นิ่ง  เด่น  สว่างไสว  ภูตัง  สภาวธรรมทั้งหลายปรากฏการณ์ให้จิตรู้อยู่ตลอดเวลา   แต่จิตดำรงอยู่ในความเป็นอิสระโดยเที่ยงธรรม  ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ๆ  

 


          ท่านผู้ฟังทั้งหลาย   เราได้ยินคำว่า  สัพเพ  สังขารา  อนิจจา   สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง   ถ้าจิตของเรายังไม่มีสติสัมปชัญญะมั่นคง   พอรับรู้อารมณ์อันใดมันหวั่นไหว  เกิดความยินดี   เกิดความยินร้าย  อันนี้เรียกว่า  สังขารา  อนิจจา  สังขารไม่เที่ยง  แต่ถ้าจิตไปถึงจุดที่เรียกว่า  ฐีติภูตัง  อันนั้นมันเป็น  วิสังขาร  พึงทำความเข้าใจคำว่า  สังขาร  กับ  วิสังขาร  ตามนัยที่กล่าวมานี้  จิตรับรู้อารมณ์  ถ้าหวั่นไหวเกิดความยินดียินร้าย  อันนั้นเรียกว่า  สังขารา อนิจจา  สังขารไม่เที่ยง   แต่ถ้าหากว่าจิตนิ่งเฉย  สว่างไสว  อารมณ์อันเป็นปรากฏการณ์หรือสภาวะที่เป็นปรากฎการณ์ให้จิตรู้เห็นตลอดเวลา   แต่จิตไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ๆ  มีแต่ดำรงอยู่ในความเป็นกลางโดยเที่ยงธรรม   ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า  วิสังขาร  เพราะอารมณ์ไม่สามารถที่จะปรุงแต่งจิตได้   ฐีติภูตังเป็นภาษารู้ของนักปฏิบัติ   ซึ่งอาจจะไม่มีในตำรับตำรา  ทีนี้ถ้าหากเราจะหาตำรามาเป็นเครื่องยืนยัน  เราจะเอาอะไรมา  มันมีปรากฏอยู่ในสูตร ๆ หนึ่ง   สูตรนั้นเริ่มต้นว่า  อุปปาทา  วา  ภิกขะเว  ตะถาคะตานัง  อุนุปปาทา  วา  ตะถาคะตานัง,  ฐิตา  วะ  สา  ธาตุ  ธัมมัฏฐิตตา  ธัมมะ  นิยามะตา   ธัมมัฏฐิตตา  เพราะความที่จิตตั้งมั่น  นิ่ง  เด่น สว่างไสว  ธัมมะ  นิยามะตา  เพราะความที่สภาวธรรมปรากฏการณ์ให้จิตรู้อยู่ตลอดเวลา    อันนี้มีหลักฐานในธัมมนิยามสูตร  

 


          ทีนี้ในส่วน  อารัมมณูปนิชฌาน  ลักขณูปนิชฌาน  มีหลักฐานปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธรรมบท  ในเรื่อง  ราธพราหมณ์  ตอนแก้อรรถกถา  ในนั้นท่านอธิบายไว้ว่า  คำว่า  ฌาน  มี ๒ อย่าง  อารัมมณูปนิชฌาน  จิตรู้ในอารมณ์เดียว  ลักขณูปนิชฌาน  จิตสงบแล้วมีความรู้ผุดขึ้น ๆ  อย่างกับน้ำพุ  พอไปถึงจุด ๆ หนึ่ง  นิ่งกิ๊กลงไป  สว่างไสว  สภาวะทั้งหลายวนรอบจิตอยู่แล้ว   ไม่สามารถไปประทุษร้ายความปกติของจิตได้  อันนี้หลักฐานปรากฏมีชัดเจน   เป็นความหมายของโอวาทของพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น

 


          ทีนี้  หลวงปู่เทสก์  ท่านให้โอวาทว่า…  คราวหนึ่ง  ไปกราบเยี่ยมท่าน  พอ กราบเสร็จแล้วท่านก็บอกว่า   “เจ้าคุณมาแล้วก็ดีแล้วจะเว้าอะไรให้ฟัง”  หลวงพ่อก็บอกว่า  “ถ้าจะเว้าก็รีบเว้า  อยากฟังอยู่เหมือนกัน”  เสร็จแล้วท่านก็กล่าวขึ้นมาว่า  “สมาธิในฌานมันโง่  สมาธิในอริยมรรคมันฉลาด  สมาธิในฌาน  จิตสงบนิ่งแล้วรู้ในสิ่ง ๆ เดียว  ความรู้อื่นไม่ปรากฏ  แต่สมาธิในอริยมรรค  พอจิตสงบแล้วมีความรู้ความคิดผุดขึ้น ๆ อย่างกับน้ำพุ  จิตก็มีสติ  กำหนดรู้ตามไปทุกระยะ  พอไปถึงจุดหนึ่ง  จิตก็จะนิ่งกึ๊กลงไปแล้วสว่างไสว   กิเลสทั้งหลายมาวนรอบจิตอยู่  เมื่อมาถึงความสว่างของจิตมันจะตกไป ๆ  เหมือนแมลงบินเข้ากองไฟ"  อันนี้เป็นโอวาทของหลวงปู่เทสก์  

 

          ทีนี้โอวาทของ  หลวงปู่ฝั้น  อย่าปล่อยให้จิตมันอยู่ว่าง  คำว่าอย่าปล่อยให้จิตมันอยู่ว่างนี่   เราควรจะทำความเข้าใจอย่างไร   เราจะสร้างความคิดให้มันไม่หยุด  ยั้งอย่างนั้นหรือ…   ไม่ใช่  อย่าไปเข้าใจผิด  คำว่า  อย่าปล่อยให้จิตมันอยู่ว่าง  คือ  ให้มีสติกำหนดรู้จิตตลอดเวลา    ไม่ว่าเราจะยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทาน  ดื่ม  ทำ  พูด คิด  ให้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา  ท่านหมายความว่าอย่างนั้น 


          โอวาทของ   หลวงปู่แหวน  “เจ้าคุณอย่าไปไขว่คว้าอะไรให้มันมากมายนัก  ให้กำหนดสติรู้จิตเพียงอย่างเดียว  บาปมันเกิดที่จิต  บุญมันเกิดที่จิต  ดีชั่วเกิดที่จิต  สวรรค์นิพพานเกิดที่จิต   มันไม่ได้เกิดที่อื่น  เพราะฉะนั้นเราอยากจะรู้จริงเห็นจริงในธรรมะคำสั่งสอนหรือจะสำเร็จมรรคผลนิพพาน  ให้กำหนดสติรู้จิตเพียงอย่างเดียว”  องค์นี้สอนอย่างนี้ 


          หลวงปู่มหาบัว  ท่านเล่าเรื่องของท่านให้ฟังว่า  “เมื่อก่อนนี้นายบัวเป็นคฤหัสถ์   อยากบวชเป็นพระก็ได้บวชแล้ว  พอบวชเป็นพระแล้วอยากเป็นมหา  ไปเรียนกับเขาสอบได้ ๓ ประโยค  เอาละ…  แค่นี้เขาก็เรียกมหาเหมือนกัน  พอเป็นมหาแล้วอยากเป็นพระนักปฏิบัติก็ได้ปฏิบัติแล้ว   พอปฏิบัติแล้วอยากรู้ธรรมเห็นธรรม  ก็ได้รู้บ้างตามสมควรแก่ความสามารถ  พอรู้ธรรมเห็นธรรมแล้วอยากเป็นพระอรหันต์  เดี่ยวนี้เลยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร  มันก็เป็นหลวงตาบัวตามเดิมนั่นแหละ”   อันนี้ท่านผู้ฟังจะเข้าใจว่าอย่างไร   ถ้าเรามาพิจารณาว่า  ท่านผู้ใดสำคัญตนว่าเป็นพระโสดาบัน  คนนั้นไม่ใช่  ท่านผู้ใดสำคัญตนว่าเป็นพระสกทาคา  อนาคามี  อรหันต์  คนนั้นไม่ใช่  เพราะความเป็นพระอรหันต์มันอยู่เหนือสมมติบัญญัติ   ผู้สำเร็จแล้วจะรู้สึกเพียงแค่ว่าตัวหมดกิเลสแล้วเท่านั้น  อันนี้เป็นโอวาทของพระอาจารย์มหาบัว  

 


          อาตมาเป็นลูกศิษย์หลายครูหลายอาจารย์   ก็จำเอาโอวาทของครูบาอาจารย์องค์ละข้อ  แต่ในเมื่อมาพิจารณาดูแล้ว  มันก็เป็นอุปกรณ์ในการปฏิบัติ  ทำให้เรารู้ธรรมเห็นธรรมได้บ้างตามสมควรแก่ฐานะ  


          ดังนั้น  ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย  อยากจะถามปัญหาท่านสักข้อหนึ่งว่า  ทำไมธรรมะที่พระพุทธเจ้านำมาสอนเรานั้น  เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวของพระองค์โดยเฉพาะ  ปุพเพนิวาสานุสติญาณ  การระลึกชาติหนหลังได้  เป็นเครื่องบ่งบอก  ดังนั้น  พระองค์เทศน์สอนเราว่า  ทำสิ่งนี้มันเป็นบาปนะ  ทำแล้วตกนรก   พระองค์เคยทำ    บาปอย่างนี้ตกนรกมาแล้วตั้งแต่ชาติก่อนโน้น  ทำสิ่งนี้มันเป็นบุญ  ทำแล้วขึ้นสวรรค์  พระองค์เคยทำบุญขึ้นสวรรค์มาแล้วแต่ชาติก่อนโน้น  การบำเพ็ญสมาธิ  บำเพ็ญฌาน  ได้สำเร็จฌานสมาบัติ  ตายแล้วไปเกิดเป็นพระพรหมในพรหมโลก   พระองค์ก็เคยบำเพ็ญฌานไปเกิดเป็นพระพรหมมาแล้วนั้นแต่ชาติก่อนโน้น  มาในชาติปัจจุบันนี้พระองค์ก็มาบำเพ็ญเพียรภาวนา  เจริญกรรมฐาน  ได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  สำเร็จแล้วจึงได้นำธรรมะมาสอนเรา  เพราะฉะนั้น  ในเมื่อเราได้ยินคำสอนของพระองค์  จะเป็นอะไรก็ตามที่พระองค์สอนเอาไว้  ถ้าหากว่าเรายังไม่รู้แจ้งเห็นจริง  รับฟังเอาไว้อย่าเพิ่งไปปฏิเสธว่ามันไม่เป็นความจริง 


 

          ธรรมะที่พระองค์นำมาสอนเรานี่  เป็นเรื่องส่วนตัวของพระองค์ทั้งนั้น  ไม่ใช่เรื่องอื่นไกล  ปุพเพนิวาสานุสติญาณ  พระองค์ระลึกชาติหนหลังได้   ตั้งแต่ชาติเป็นเวสสันดร  ถอยหลังไปเป็นแสนชาติล้านชาติ  นับไม่ถ้วน   แล้วพระองค์ก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารหลายล้านชาติ  บางชาติไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน  บางชาติเกิดเป็นนกคุ้ม  บางชาติเกิดเป็นกระต่าย  แม้แต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน  พระองค์ก็บำเพ็ญบารมีอยู่ไม่หยุดยั้ง  

 


          ยกตัวอย่าง  ชาติหนึ่งเกิดเป็นกระต่าย  แล้วก็ไปเป็นสหายกันกับลิงและสุนัขจิ้งจอก   สามสหายนี้ไปเห็นพระฤาษีนั่งบำเพ็ญภาวนาบูชาไฟ  เกิดศรัทธาอยากจะถวายอาหารฤาษี  ไอ้เจ้าลิงก็กระโดดขึ้นต้นไม้เก็บผลไม้มาถวาย    ไอ้เจ้าสุนัขจิ้งจอกก็ไปเที่ยวเก็บเอาปลาที่พรานเบ็ดเขาทำตกเอาไว้มาโยนเข้ากองไฟเผาให้ฤาษีกิน   แต่พระโพธิสัตว์กระต่ายนี่ตัวเองกินแต่หญ้าไม่มีอะไรจะมาถวายพระฤาษี  ก็อธิษฐานจิตแน่วแน่ต่อพระโพธิญาณ  “ข้าพเจ้าขออุทิศร่างกายของข้าพเจ้าเผาไฟให้ฤาษีกิน  แล้วขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จพระโพธิญาณ”  ว่าแล้วก็กระโดดเข้ากองไฟเผาตัวเองให้ฤาษีกิน  

 


          ทั้งหลายเหล่านี้เป็นหลักฐานพยานว่าพระองค์ได้บำเพ็ญอะไรมาแล้ว   ไฟนรกมันร้อนพระองค์เคยกระโดดลงไปแล้ว  ไปอยู่โลกสวรรค์มันเยือกเย็นสบายพระองค์ก็ไปอยู่มาแล้ว  ไปเกิดเป็นพระพรหม   เป็นอย่างนั้นอย่างนี้  มีความสุขสบาย  พระองค์ก็เคยไปเกิดเป็นพระพรหมมาแล้ว   เพราะฉะนั้นคำสอนของพระองค์นี่เมื่อเราได้ยินได้ฟังแล้วเชื่อเอาไว้ก่อน  

 


          เพราะฉะนั้น   อาศัยการระลึกชาติหนหลังนั่นแหละ  นอกจากจะรู้เรื่องของพระองค์แล้ว  ยังรู้เรื่องของสัตว์อื่นคนอื่นด้วย  คนเราเกิดมา  บางคนก็รูปร่างสวยงาม  บางคนขี้ริ้วขี้เหร่  บางคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม  บ้างก็ไปเกิดเป็นสัตว์  เป็นอะไรสารพัดสารเพ  ทั้งนี้ก็เพราะเหตุใด  พระองค์รู้ว่าเพราะ  กัมมัง  สัตเต  วิภัชฌติ  กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่าง ๆ กัน   อันนี้พระองค์ก็ตรัสรู้   เพราะฉะนั้น  คำสอนของพระองค์ไม่ใช่ชนิดที่ว่านอนหลับฝันไป  ตื่นขึ้นมาเทศน์ให้คนฟัง  ไม่ใช่อย่างนั้น  ทุกสิ่งทุกอย่างพระองค์อุทิศ  พระองค์ทดสอบมาด้วยพระองค์เอง  เพราะฉะนั้นเชื่อไว้ก่อนเถิด  

          ทีนี้มีปัญหาที่จะถามญาติโยมว่า  จำเป็นอะไรที่เราจะต้องมาปฏิบัติสมาธิ  ที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติสมาธิก็เพราะชีวิตของเราทุกคนเป็นอยู่ด้วยพลังของสมาธิ  ซึ่งทุกคนมีสมาธิเป็นเดิมพันอยู่แล้วไม่มากก็น้อย  และอีกอย่างหนึ่ง  คนเราทุกคนมีฤทธิ์  มีอิทธิพล  มีอำนาจอยู่ในตัว  เพราะเราเกิดมาหลายภพหลายชาติ  บางท่านอาจจะบำเพ็ญตนเป็นพระฤาษีสำเร็จฌานสมาบัติมาแล้ว   การปฏิบัติสมาธิจึงเป็นการปลุกจิตใต้สำนึกให้ตื่นขึ้นมา  การสวดมนต์ภาวนาทำสมาธิเป็นการปลุกจิตใต้สำนึกให้ตื่น  


          การจัดงานบูรพาจารย์ของเราก็เพื่อจะได้มาปรึกษาหารือปรับปรุงข้อวัตรปฏิบัติให้คงเส้นคงวาอยู่อย่างที่ครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ร่วมกับพวกเรา   อันนี้ขอฝากท่านสหธรรมิกทั้งหลายนำไปพิจารณาด้วย   ในสมัยปัจจุบันนี้มีเพื่อนฝูงมาบอกว่าเขาจะทำลายพระพุทธศาสนาอย่างนั้นอย่างนี้  พากันหวั่นกลัวกัน  แล้วก็มาขอความเห็น   ขอความร่วมมือ  ว่าให้ช่วยป้องกันพระพุทธศาสนา  ศาสนาอื่นบ้าง  นักการเมืองบ้าง  จะมาทำลายพระพุทธศาสนา   แต่พระพุทธเจ้าเทศน์อย่างนี้  ท่านเทศน์ว่า  ตระกูลที่มั่งคั่งสมบูรณ์  ตระกูลนั้นจะเสื่อมหรือจะเจริญก็เพราะลูกในตระกูลนั้น   ลูกต่างตระกูลไม่มีสิทธิที่จะไปทำลายวงศ์สกุลของเขาให้เสื่อมหรือให้เจริญ   ดังนั้น  ในทำนองเดียวกัน  พระพุทธองค์ตรัสว่า  ศาสนาของเราจะเสื่อมหรือจะเจริญขึ้นอยู่กับพุทธบริษัท  คือ  ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ถ้าหากภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  พากันปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  เป็นสัมมาปฏิบัติ  ศาสนาของเราตถาคตจะทรงอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย  เพราะฉะนั้น  อันนี้ขอฝากท่านพุทธบริษัททั้งหลายไว้พิจารณา

 


          อาตมาเคยมีประสบการณ์   เรื่องวินัยนี่ส่วนใหญ่พระเจ้าพระสงฆ์ท่านไม่ค่อยสอนญาติสอนโยม  เพราะท่านกลัวญาติโยมจะรู้ทันท่าน  สมัยที่อาตมาเป็นสามเณรท่องปาฏิโมกข์จบ  ขออนุญาตแปลพระปาฏิโมกข์  อาจารย์ไม่ให้แปล  ทำไมไม่ให้แปล  ประเดี๋ยวมันรู้มาก  มันหัวแข็ง  ปกครองยาก  ทีนี้พระเจ้าพระสงฆ์ไม่ค่อยเทศน์วินัยให้ญาติโยมฟังนี่  บางทีอาจจะกลัวว่าญาติโยมจะรู้ทันตัวเอง   มันจะหลอกลวงญาติโยมไม่ได้   เพราะฉะนั้น  เรื่องพระธรรมวินัยนี่ศาสนาของพระตถาคตเจ้าจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมลงอยู่ที่เราหรือพุทธบริษัทนั้นเอง

 


          เพราะฉะนั้น   ในสมัยที่ศาสนาก็มีพิษมีภัย  แต่อาตมาไม่เคยกลัวว่าใครจะมาทำลายศาสนา   และก็ไม่กลัวว่าใครจะลงนรก  กลัวแต่ตัวเองจะเป็นผู้ทำลายศาสนา  กลัวแต่ตัวเองจะลงนรก  ขอพูดให้มันถึงแก่น   มองดูหน้าใครก็ไม่เหมือนหน้าพ่อหน้าแม่เราสักคน   จะไปกลัวเขาจะลงนรกทำไม  ถ้าหากว่าคนทั้งโลกพากันสร้างบาปลงนรกหมด  อาตมาจะสร้างแต่ความดี  สร้างความดี  ตายแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์  ถ้าไม่สำเร็จพระนิพพาน  สมบัติบนสวรรค์นางฟ้านางเทวดาเป็นของเราหมดไม่มีใครแย่ง  เพราะฉะนั้นอย่าไปเป็นห่วงคนอื่น  หลวงพ่อสอนให้คนใจแคบเห็นแก่ตัวหรือ  เปล่า…    ในเมื่อเราสามารถสร้างคุณงามความดีให้มันพร้อมแล้ว  เราไม่ต้องไปกวักมือเรียกใครให้เข้ามาวัด   ต่อให้สร้างกำแพงสูงจรดท้องฟ้า   ชาวบ้านก็จะพังกำแพงเข้ามาหาเรา  คนที่มีคุณธรรม  มีแก้วคือพระรัตนตรัยอยู่ในจิตใจของตนเองอย่างผ่องใส   แก้วเป็นของมีค่าเปรียบเหมือนเพชรนิลจินดา  แม้ก้อนหินโตเท่าศาลา  ถ้าเขารู้ว่ามีเพชรเม็ดโตเท่ามะพร้าวฝังอยู่ในนั้น  เขาจะเอาระเบิดมาระเบิดเอา

 


         เพราะฉะนั้น  คุณงามความดีนี่  ในเมื่อเราบำเพ็ญให้มันถึงพร้อมแล้ว   คุณงามความดีจะเป็นแรงดึงดูด  ดึงดูดให้พระภิกษุสามเณรมีความรักบูชาซึ่งกันและกัน   ดึงดูดให้ญาติโยมทั้งหลายมีความเคารพศรัทธาในพระเจ้าพระสงฆ์ทั้งหลาย   ถ้าหากว่าพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี่บวชเข้ามาแล้วยินดีในปัจจัย ๔ ที่ญาติโยมเขาศรัทธาถวาย  อาหารบิณฑบาต  จีวร  ที่อยู่อาศัย  ยาแก้โรค  ไม่ไปกระตือรือร้น  ไม่ไปชิงสุกก่อนห่าม  พยายามสร้างความดีให้มาก ๆ  โบสถ์วิหารศาลาการเปรียญกุฎีกุฏิต่าง ๆ นี่ไม่ต้องไปตะโกนหาให้ใครมาช่วยสร้าง  ญาติโยมย่อมดูย่อมพิจารณาเอง

 


         อาตมามาอยู่วัดนี้ทีแรก  นายวัน  คมนามูล  มาเตือน  “พระคุณเจ้า  เรื่องการก่อสร้างพระคุณเจ้าไม่ต้องกะตือรือร้น  ให้ตั้งหน้าเดินจงกรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่เท่านั้น  เรื่องการก่อสร้างญาติโยมย่อมดูอยู่หรอก”   เดินมาหลายจังหวัดแล้วเพิ่งจะได้ยินโยมคนนี้   ลองใช้สูตรโยมคนนี้ลองดู  ที่มาอยู่นี่ ๒๐ กว่าปี  ไม่เคยคิดที่จะทำอะไรในวัดนี้   แต่อยู่ ๆ  ก็มีผู้มาสร้างโน่นสร้างนี่ให้จนไม่มีที่จะสร้าง   เพราะฉะนั้น  คุณงามความดีตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้านี่  ปฏิบัติให้มันตรงไปตรงมาเถิดพี่น้องทั้งหลาย

 


         จุดยืนของชาวพุทธ  บทสวดมนต์อยู่ที่พุทธคุณ  ธรรมคุณ  สังฆคุณ  เมตตาพรหมวิหาร  อย่าไปไขว่คว้าอะไรให้มันมากนัก   หลังจากที่สวดมนต์ภาวนาแล้วอุทิศส่วนกุศลให้สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น  อันนี้เป็นกิจวัตรของชาวพุทธ


         วันนี้ขอกล่าวสัมโมทนียกถาพอเป็นกำลังใจของบรรดาญาติโยมทั้งหลายก็พอสมควรแก่กาลเวลา  บุญกุศลทั้งหลายที่เราบำเพ็ญมาขออุทิศเป็นดอกไม้บูชาพระบูรพาจารย์  จงดลบันดาลให้พวกเราซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์  มีความเจริญงอกงามด้วยคุณธรรม  และเจริญในพระธรรมวินัย  ชาวบ้านทั้งหลายปรารถนาลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุขและอำนาจ   จงสำเร็จตามปณิธานตามความปรารถนา  ในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ  เทอญ.
 


Last Updated on Tuesday, 01 December 2009 04:12
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner