Home อย่างไร คือ การพัฒนาจิต
การปฏิบัติสมาธิตามหลักธรรมชาติ PDF Print E-mail
Saturday, 06 November 2010 05:20

การปฏิบัติสมาธิตามหลักธรรมชาติ
หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย
เทศนาโปรดอุบาสก อุบาสิกา
ณ. เกาะมหามงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ 2535

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


 
          นั่งสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือซ้ายวางลงบนตัก มือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดจิตรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก วิธีทำของพระพุทธเจ้า ทำอย่างไร มีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจเฉยอยู่ ลมหายใจเป็นธรรมชาติของร่างกาย ที่ว่าเป็นธรรมชาติของร่างกายก็เพราะว่าเราตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม การหายใจมีอยู่เป็นปกติทั้งหลับและตื่น จึงชื่อว่าเป็นธรรมชาติของร่างกาย พระองค์มีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก เพียงแต่กำหนดรู้ลมหายใจด้วยอาการเบาๆ มีพระสติประคองจิตให้รู้ที่ลมหายใจเฉยๆ ไม่ได้แต่งลมหายใจ ไม่ได้บังคับลมหายใจ เพียงแค่รู้อยู่  แล้วก็ไม่ได้บังคับจิต ไม่ได้ข่มจิตให้สงบ ปล่อยไปตามธรรมชาติ หน้าที่ของพระองค์มีพระสติกำหนดรู้อย่างเดียว ในขณะที่จิตอยู่กับลมหายใจ พระองค์ก็ปล่อยให้อยู่อย่างนั้น ถ้าบางครั้งจิตทิ้งลมหายใจไปเกิดความคิดขึ้นมา พระองค์กำหนดรู้ความคิด ถ้าหากความคิดไม่หยุด พระองค์ก็ปล่อยให้คิดไปเพราะความคิดเป็นธรรมชาติของจิต หน้าที่ของพระองค์เพียงแค่มีพระสติกำหนดตามรู้ความคิดไปเท่านั้น พระองค์ปล่อยให้จิตของพระองค์อยู่ที่ลมหายใจ ความคิด ความว่าง เอาลมหายใจ ความคิด และความว่างเป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ โดยปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่มีการบังคับ ไม่มีการตกแต่ง แต่มีสติรู้ต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย จิตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พระองค์ก็มีพระสติรู้อย่างเดียว ไม่ได้บังคับจิต อันนี้คือวิธีฝึกสมาธิตามหลักของธรรมชาติ ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ปฏิบัติมาแล้ว พุทโธก็ไม่ได้ว่า สัมมาอรหังก็ไม่ได้บ่น ยุบหนอ-พองหนอก็ไม่ได้ท่อง เพราะไม่มีคำที่จะท่อง คำ 3 คำนี้ พระพุทธเจ้ายังไม่ได้เกิด ยังไม่มีใครพาว่า ท่านชายสิทธัตถะเลยไม่มีคำที่จะมาท่อง เมื่อไม่มีคำใดที่จะมาท่อง ก็เอาลมหายใจที่มันมีอยู่โดยธรรมชาติกับความคิดเป็นอารมณ์ แล้วพระองค์ก็ทรงมีพระสติกำหนดรู้ ลมหายใจ ความคิด ความว่าง

          ธรรมชาติของจิต ถ้ามีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก เขาก็ย่อมจะเพิ่มพลังงานเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ จนในที่สุดจิตของพระองค์หันมายึดลมหายใจอย่างเหนียวแน่น พอจิตมายึดลมหายใจ เอาลมหายใจมาเป็นอารมณ์อย่างไม่ลดละ ไม่ยอมปล่อยวาง แล้วตามรู้ลมหายใจเข้า หายใจออกอยู่อย่างนั้น ทีนี้การที่จิตมาตามรู้ลมหายใจเข้า หายใจออกไม่ลดละ ได้ชื่อว่าสมาธิเริ่มเกิด กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ได้วิตก วิจาร เป็นอารมณ์ของฌานที่ 1 และฌานที่ 2 ทีนี้เมื่อจิตมีความดูดดื่มซึมซาบ ก็เกิดปิติเกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่ง ตามลำดับ


          ในบางครั้ง ลมหายใจแผ่วเบาลงไป ละเอียดลงไปๆ บางครั้ง ลมหายใจก็ปรากฏหยาบขึ้นๆ หรือบางครั้งมองเห็นลมหายใจวิ่งออกวิ่งเข้าเหมือนท่อสว่างยาวๆ วิ่งออกวิ่งเข้า แล้วจิตก็กำหนดรู้อยู่เองโดยอัตโนมัติโดยที่พระองค์ไม่ได้ตกแต่งให้จิตเป็นไปอย่างไร ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของสมาธิแล้ว ในที่สุดในเมื่องลมหายใจละเอียดลงไปๆ จิตของพระองค์ก็ตามลมหายใจเข้าไปสงบ นิ่ง สว่าง อยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ทำให้จิตของพระองค์ไปรู้อวัยวะภายในร่างกายทั่วถ้วนหมดครบอาการครบ 32


อะยัง โข เม กาโย                      กายของเรานี้แล
อุทธัง ปาทะตะลา                       เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธ เกสะมัตถะกา                      เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต                            มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน         เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ
อัตถิ อิมัสมิง กาเย                        มีอยู่ในกายนี้
เกสา  มีผม  โลมา  มีขน  นะขา  มีเล็บ  ทันตา  มีฟัน  ตะโจ  มีหนัง  เป็นต้น

 

          พระองค์ได้รู้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา กายคตาสติสูตร ก็เกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น ที่เราได้มาสวดกันอยู่เวลานี้

          ทีนี้ในเมื่อจิตของพระองค์ไปสงบ นิ่ง สว่าง อยู่ในท่ามกลางของร่างกาย สามารถมองเห็นอวัยวะ รู้เห็นอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายครบถ้วน อาการ 32 แล้วก็พุ่งรัศมีความสว่างไสวออกมารอบๆกาย เมื่อจิตไปรู้อยู่ในกาย มองเห็นอาการ 32 ครบหมด จิตก็ได้วิตก วิจาร

          วิตก ก็คือ นึกถึงกายเป็นอารมณ์ เรียกว่า เจริญกายคตาสติ
          วิจาร ก็คือ มีสติควบคุมจิตอยู่ในอัตโนมัติ
          ในเมื่อจิตมีวิตก  วิจาร มีความดูดดื่ม ซึมซาบ ก็เกิดอาการของปิติคือความเอิบอิ่มใจ
          ปิติ  เป็นอาการที่จิตดื่มรสพระสัทธรรม เมื่อจิตได้ดื่มรสพระสัทธรรม จิตก็มีความสุขความสบาย มีความสงบ บ่ายหน้าไปสู่ความสงบ ละเอียดๆเข้าไปทุกทีๆ จนกระทั่งในที่สุดความรู้สึกว่ามีกายค่อยๆจางหายไปๆ ในที่สุด กายหายไป ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว นิ่ง สว่างไสว ลอยเด่นอยู่ในจักรวาลนี้ คล้ายๆ กับว่าขณะนั้นมีแต่จิตของพระองค์ท่านดวงเดียวเท่านั้น ลอยเด่นสว่างไสวอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างได้หายไปหมด แต่ว่าในขณะนั้นจิตดวงนี้อาศัยความสว่างเป็นเครื่องอยู่ เครื่องอาศัย เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ฌานที่ 4 จึงได้ชื่อว่า จตุตถฌาน เป็นรูปฌาน


          เมื่อจิตไปดำรงอยู่ในความสว่างพอสมควรแล้วก็ก้าวขึ้นไปสู่อากาสเรียกว่า อากาสานัญจายตนะ โดยกำหนดความว่างเป็นอารมณ์ ความว่างไม่มีที่สิ้นสุด ความว่างไม่มีประมาณ แต่ในขณะนั้นจิตไม่ได้นึกคิดอะไร แต่ว่ามันรู้อยู่ในจิต ทีนี้จิตก็มาสำรวมรู้เข้าในวิญญาณ เรียกว่า วิญญานัญจายตนะ เมื่อกำหนดวิญญาณตัวรู้ เวทนา สุข ทุกข์ ก็ย่อมบังเกิดขึ้น ปรากฏอย่างละเอียดๆ ซึ่งถ้าไม่ใช่จิตของพระโพธิสัตว์ก็คงกำหนดรู้ไม่ได้ เรียกว่า อากิญจัญญายตนะ สัญญา เวทนา ละเอียดเข้าไป จะว่าดีก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ดีก็ไม่ใช่ เป็น เนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นอันว่าจิตของพระพุทธองค์เป็นไปตามขั้นตอนของฌานสมาบัติ ได้บรรลุสมาบัติ 8 แล้วพระองค์ไม่ได้น้อมจิตไปสู่ฌานชั้นนั้น ญาณชั้นนี้ เมื่อได้ปฐมสมาธิ คือปฐมฌานแล้วจิตปฏิวัติตัวไปเอง จิตน้อมไปเอง


          ถ้าใช้คำว่าน้อมจิตไปสู่ฌานขั้นนั้นขั้นนี้ ก็เหมือนกับว่าเราตั้งใจจะแต่งเอา จะให้จิตของเราไปอยู่ในฌานขั้นไหน ญาณขั้นไหน เราก็แต่งเอาๆ แต่แท้ที่จริง การน้อมไปนั้นเป็นกิริยาของจิตที่น้อมไปตามพลังงานของตนเอง จิตจะไปบรรลุฌานขั้นไหน ญาณขั้นไหน จิตปฏิวัติตัวไปเอง โดยอัตโนมัติ เราไม่ได้ตกแต่ง อันนี้คือสมาธิหรือฌาน ญาณโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ฌานที่เราแต่งเอาตามที่เราชอบใจ

          ในเมื่อจิตของพระองค์ไปถึงขั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันไปสุดยอดของสมาบัติแล้ว ไม่มีที่ไปอีกแล้ว ที่สุดของโลกียสมาธิมันสุดอยู่ที่ตรงที่ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตของพระองค์ไม่มีทางไปก็วกเข้าไปสู่ สัญญาเวทยิตนิโรธ เรียกว่าเข้านิโรธสมาบัติ จะว่าดับหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ดูมันคล้ายๆว่าจิตมันรู้สึกว่าจิตมันดับไปด้วย แต่แท้ที่จริงมันก็ไม่ดับ มันปรากฏอยู่อย่างละเอียด แต่วิสัยของผู้ไม่ใช่พระสยัมภูผู้รู้เองย่อมไม่สามารถกำหนดรู้ได้ แต่นี่เป็นวิสัยของพระโพธิสัตว์เช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าจิตจะละเอียดลงไปเท่าไร สัญญาจะละเอียดลงไปเท่าไร ตัวรู้ของพระองค์ก็ยังปรากฏอยู่นิดๆ ทีนี้เมื่อจิตของพระองค์วกเข้าไปสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ ไปสร้างพลังงานอยู่ที่ตรงนั้น สัญญาเวทยิตนิโรธคือนิโรธสมาบัติ เป็นฐานพลังงานเพื่อก้าวขึ้นไปสู่ภูมิแห่งโลกุตรธรรม เมื่อจิตของพระองค์ไปสร้างพลังงานอยู่ทีตรงนี้พร้อมแล้ว จิตดวงนี้ได้เบ่งบานออกมาอีกทีหนึ่ง สามารถแผ่รัศมีคลุมจักรวาลทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดกำบังได้ ความสว่างไปถึงไหน จิตของพระองค์ไปถึงนั่น นอกจากจะรู้บนผิวพื้นแห่งจักรวาล ยังสามารถมองทะลุจนกระทั่งบาดาลถึงพิภพพญานาค ในขณะนั้นเองพระองค์ได้ตรัสรู้เป็น โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก


          โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก นั้น หมายความว่า จิตของพระองค์ในขณะนั้นรู้ทั้งยมโลกได้แก่โลกนรกเป็นต้น รู้มนุษยโลก แล้วก็รู้เทวโลกมีโลกของเทวดาเป็นต้น ในขณะจิตเดียวตั้งแต่ปฐมยาม พระองค์ตรัสรู้โลกวิทู จุตูปปาตญาณ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ อาสวักขยญาณ ในขณะจิตเดียวตั้งแต่ปฐมยาม แล้วก็ตรัสรู้ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะ จิตสมาธิขั้นสมถะนี่ จิตสงบแล้วมันมีแต่จิตดวงเดียว ร่างกายตัวตนมันหายไปหมด จิตดวงนี้แม้ไม่มีร่างกายตัวตนก็สามารถที่จะรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่รู้เห็นอย่างนิ่งๆ เฉยๆ รู้แล้ว เห็นแล้ว ไม่มีภาษาที่จะบัญญัติ หรือจะพูดสิ่งนั้นว่าเป็นอะไร สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เห็นมนุษย์ก็ไม่ว่ามนุษย์ แต่รู้อยู่เห็นอยู่ เห็นเทวดาก็ไม่ว่าเทวดา แต่รู้อยู่เห็นอยู่ เห็นนรกก็ไม่ว่านรก แต่รู้อยู่เห็นอยู่ รู้แล้วสามารถบันทึกข้อมูลต่างๆ เอาไว้พร้อมหมด ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมาเพื่อบันทึกข้อมูลต่างๆ แล้วก็ตรัสรู้ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะ จิตดวงนี้ไม่มีร่างกายตัวตน แต่สามารถรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้แต่แปลกอยู่ตรงที่ว่ารู้แล้วไม่พูดไม่จา ได้แต่นิ่งลูกเดียว อันนี้ขอเสนอให้นักปฏิบัติทั้งหลายไว้ลองพิจารณาดู ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร นี่เพียงแต่เสนอมติและความเห็น ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน แต่สำหรับความเข้าใจของอาตมา เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น

          ที่กล่าวขึ้นมานี้ เพื่อหาหลักฐานพยานว่า ความรู้ความเห็นนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิ จึงใคร่ที่จะขอฝากท่านผู้รู้ทั้งหลายไว้พิจารณาด้วยว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในขณะที่จิตเป็นสมาธิขั้นสมถะ แล้วก็บันทึกข้อมูลต่างๆเอาไว้พร้อมหมด ภายหลังเมื่อรู้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจิตถอนจากสมาธิ จิตถอนจากสมาธิย้อนกลับมาสู่ความมีกายอยู่ พอรู้สึกว่ามีกายเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้เห็นหายไปหมด ยังเหลือแต่ความทรงจำที่จิตบันทึกเอาไว้ แล้วจิตดวงนี้จึงมาพิจารณาเรื่องปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ การระลึกชาติหนหลังได้ทั้งของพระองค์เอง ทั้งของคนอื่น สัตว์อื่นด้วย พิจารณาจบลงในปฐมยาม


          แล้วก็มาพิจารณาการจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลายมีประเภทต่างๆกัน ด้วยอำนาจของกรรม กัมมัง สัตเต วิภะชะติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่างๆ กัน เกิดขึ้นในสมัยนั้น ภาษิตที่เราท่องกันอยู่นี้ว่า กัมมัง สัตเต วิภะชะติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้มีประเภทเป็นต่างๆกันเกิดขึ้นในขณะนั้น พระองค์ทรงพิจารณาเรื่องนี้ การจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกฏของกรรม จบลงในมัชฌิมยาม


          แล้วก็มาพิจารณาเรื่องของกิเลสคืออาสวะ ได้แก่ อวิชชา ความรู้ไม่จริง ในปัจฉิมยาม อวิชชาความรู้ไม่จริงเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรมตามที่ตนเข้าใจ สิ่งที่สัตว์ผู้มีกิเลสเข้าใจก็ย่อมมีถูกบ้าง ผิดบ้าง บุญบ้าง บาปบ้าง เป็นเรื่องของธรรมดา และเมื่อทำลงไปแล้วก็ได้รับผลของกรรม ได้รับผลของกรรมแล้วก็มาเกิดอีก เกิดอีกก็อาศัยกิเลสตัวอวิชชาตัวเดียวนี่แหละเป็นมูลเหตุให้ทำกรรมอีก เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารไม่รู้จักจบจักสิ้น


          ในเมื่อพระองค์พิจารณาเรื่องอาสวกิเลสจบลงในปัจฉิมยาม จิตยอมรับสภาพความเป็นจริง คือยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้เห็นนี้เป็นจริง เป็นสัจธรรม ไม่มีเปลี่ยนแปลง ความรู้แจ้งเห็นจริงเป็นอย่างนี้ และความรู้แจ้งเห็นจริงในขั้นโลกุตรธรรมไม่มีภาษาสมมุติบัญญัติ แต่ความรู้ในขั้นโลกีย์มีภาษาสมมุติบัญญัติ รู้คนก็เรียกว่าคน รู้สัตว์ก็เรียกว่าสัตว์ แต่รู้ในขั้นโลกุตระได้แต่เฉยลูกเดียว เหมือนกันกับดวงอาทิตย์ส่องแสงลงมาไปถูกต้องผิวพื้นของโลก แล้วแสงอาทิตย์ก็ไม่ได้ตะโกนว่า นี่โลกคือแผ่นดินหนอ นี่ต้นไม้หนอ นี่คนหนอ สัตว์หนอ ไม่ได้ว่า มีแต่เฉยลูกเดียว จิตในขณะนั้นก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้ในเมื่อพระองค์พิจารณาจบลงแล้ว จิตยอมรับสภาพความจริง อรหัตมรรคญาณบังเกิดขึ้นตัดกิเลสอาสวะขาดสะบั้นลงไปในปัจฉิมยาม จึงได้ชื่อว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ด้วยประการฉะนี้ นี่คือวิถีทางปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ในสมัยที่เป็นสิทธัตถะราชกุมาร ที่กำลังแสวงหาธรรมะเครื่องตรัสรู้อยู่


          เพราะฉะนั้น สาธุชนทั้งหลายผู้ข้องใจในหลักและวิธีการปฏิบัตินั้นขอให้พิจารณาปฏิปทาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นหลักปฏิบัติ ท่านทั้งหลายจะภาวนาบทไหนคัมภีร์ใด ในเมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิเป็นเองโดยอัตโนมัติ แล้วจิตเขาปฏิวัติตัวไปเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ทีนี้การปฏิบัติสมาธินี่ ถ้าหากว่าเรากำหนดอารมณ์จิตแล้ว เราข่มจิต บังคับจิต น้อมจิตเป็นการปฏิบัติโดยฝืนธรรมชาติ ควรปล่อยจิตให้เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ จิตที่ปฏิวัติตัวเองไปโดยอัตโนมัติได้นี่ มันจะไปที่ไหน ถ้าหากมันไม่เกิดภูมิความรู้ขึ้นมามันก็ย้อนมาหาลมหายใจ ถ้ามันมีกายปรากฏ มันจะดูลมหายใจแต่ถ้าหากว่าไม่มีกายปรากฏ มันจะเกิดความคิด ความคิดนั่นอะไรก็ได้แล้วแต่จิตมันจะสร้างขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะพิจารณารูปนามว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เป็นภาคปฏิบัติ แต่เมื่อเราพิจารณาไปดู ถ้าจิตมันสงบเป็นสมาธิขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติแล้ว คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นาม รูป มันไม่มีหรอก มันมีแต่จิตรู้อยู่เฉยๆ ถ้ามันจะรู้จะเห็นอะไร สิ่งนั้นก็ปรากฏขึ้นมาให้รู้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไป คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันหายไปอีก ไม่มี อย่างสมมุติว่าท่านอาจจะพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อย ผุพัง โสโครก ไม่สวยไม่งาม ดังกับซากศพที่ไปดูมาแล้วนั้น ในเมื่อจิตสงบลงไปเป็นสมาธิจริงๆนี่ คำว่าปฏิกูลน่าเกลียดมันจะไม่มีในความรู้สึกต่อให้มันมีสิ่งหนึ่งมีรูปร่างสวยงามอย่างกับเทวดา อีกอันหนึ่งเป็นซากศพเน่าเฟะ ในขณะที่จิตมันรู้อยู่ 2 อย่างนี้ มันจะไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า อันนี้ไม่ดี อันนี้ดี อันนี้เน่า อันนี้ไม่เน่า มันจะไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆเลย แต่มันจะรู้อยู่เฉยๆ อันนี้คือธรรมชาติของสมาธิที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นคำว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี มันเป็นเพียงชื่อของวิธีการเท่านั้น

          ผู้ที่ปฏิบัติด้วยการบริกรรมภาวนา หรือเพ่งกสิณ คำภาวนานี้มีอะไรบ้าง ยุบหนอ-พองหนอ พุทโธ สัมมาอรหัง และอื่นๆ ที่เรามาท่องอยู่ในใจเพียงคำเดียว อันนี้เรียกว่า บริกรรมภาวนาเพ่งกสิณ เพ่งพระพุทธรูปบ้าง เพ่งดวงเทียนบ้าง เพ่งดินน้ำลมไฟบ้าง อันนี้เรียกว่า เพ่งกสิณ เป็นการปฏิบัติตามหลักและวิธีการของสมถกรรมฐาน แต่ถ้าเรากำหนดรู้อารมณ์จิต หรือยกเอาหัวข้อธรรมมาพิจารณาอะไรก็ได้ อันนี้เรียกว่าปฏิบัติตามหลักและวิธีการของวิปัสสนา ทั้ง 2 อย่างนี้ เราปฏิบัติเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิเหมือนกันหมด เมื่อหยุดบริกรรมภาวนา จิตก็เป็นสมาธิ อัปปนาสมาธิ หรือฌานที่ 1 2 3 4 5 6 7 8 ไปตามลำดับขั้นตอน ซึ่งจิตเขาจะปฏิวัติตัวไปเองโดยอัตโนมัติ เป็นวิธีการปฏิบัติเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ ให้เกิดมีสติปัญญา รู้ธรรม เห็นธรรม ตามความเป็นจริง


          ความสงบไม่มี ไม่มีสมาธิ สมาธิไม่มี ไม่มีสมถะ สมถะไม่มี ไม่มีฌาน ฌานไม่มี ไม่มีญาณ ญาณไม่มี ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มี ไม่มีวิชชาความรู้แจ้งเห็นจริง เพราะฉะนั้น สมถะ วิปัสสนาเป็นคุณเครื่องอาศัยซึ่งกันและกัน


          ในบางครั้งนักปฏิบัติวันนี้ขี้เกียจหน่อย วันนี้จะภาวนาพุทโธๆๆ พอให้จิตมันสงบนิ่งสบาย ก็จะนอนจำวัดแล้ว พอภาวนาพุทโธลงไป จิตสงบปั๊ปลงไป แทนที่มันจะนิ่งอยู่เฉยๆ ความรู้ ความคิดมันฟุ้งๆขึ้นมายังกับน้ำพุ ในบางครั้งพิจารณาพระไตรลักษณ์แทบเป็นแทบตาย พอจิตสงบปั๊บลงไป ไปนิ่งอยู่เป็นชั่วโมงๆซึ่งมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ


          เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายนี่มีความสงใสข้องใจในหลักและวิธีการตามที่พระคุณเจ้าท่านสอนโดยทั่วไป ก็ให้มายึดหลักของท่านชายสิทธัตถะ คือกำหนดรู้ลมหายใจ ออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้วก็มากำหนดรู้อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เวลานอนลงไปจิตมันคิดอะไร ปล่อยให้มันคิดไป อย่าไปห้ามมัน ถ้าไม่ห้ามมันเผื่อว่ามันไปคิดเรื่องอกุศลล่ะ มันจะไม่เป็นบาปเป็นกรรมหรือ เจตนาหัง ภิกขะเว กัมมังวะรามิ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาคือความตั้งใจเป็นตัวกรรม เราจะคิดด่าหรือแช่งชักหักกระดูกใคร เรามีเจตนาคือความตั้งใจที่จะคิด มันเป็นมโนกรรม แต่ถ้าอยู่ๆจิตมันคิดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่ได้ตั้งใจนี่ มันจะคิดถึงเรื่องบาปเรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องอกุศล มันไม่สำเร็จเป็นมโนกรรม เพราะไม่มีเจตนา มันจะเป็นเพียงแค่อารมณ์สิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติเท่านั้น

          เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่จิตเขาต้องการหยุดนิ่ง ปล่อยให้นิ่ง เวลาใดจิตเขาต้องการคิด ปล่อยให้คิด หน้าที่ของเรามีสติตัวเดียว ใครจะทำสมาธิไปถึงขั้นไหน ฌานขั้นไหน ญาณขั้นไหน ผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายคือสติ สติวินโย สติเป็นผู้นำอยู่ที่จิตตลอดเวลา เมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้นำอยู่ตลอดเวลา สิ่งใดผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตรับรู้ รู้แล้วปล่อยวาง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านรับสั่งถามพระอานนท์ว่า

-เธอว่าตัณหามันเกิดที่ไหนอานนท์!
-ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม
-ตัณหามันเกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
-มันเกิดได้อย่างไร พระเจ้าค่ะ
-มันเกิดได้เพราะตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจนึกคิดมันเกิดความยินดี ยินร้าย เกิดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ถ้าจะดับจะดับที่ไหน? ก็ดับที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
-มันจะดับได้อย่างไร พระเจ้าค่ะ
-สำรวมสติ


จักขุนา สังวะโร สาธุ       การสำรวมตาเป็นการดี
สาธุ โสเตนะ สังวะโร       การสำรวมหูเป็นการดี
ฆาเนนะ สังวะโร สาธุ       การสำรวมหูจมูกเป็นการดี
สาธุ ชิวหายะ สังวะโร       การสำรวมลิ้นเป็นการดี
กาเยนะ สังวะโร สาธุ        การสำรวมกายเป็นการดี
สาธุ วาจายะ สังวะโร        การสำรวมวาจาเป็นการดี
มะนะสา สังวะโร สาธุ        การสำรวมใจเป็นการดี
สาธุ สัพพัตถะ สังวะโร        การสำรวมในสิ่งทั้งปวงเป็นการดี
สัพพัตถะ สังวุโต ภิกขุ         ภิกษุสำรวมในที่ทั้งปวง
สัพพะทุกขา ปะมุจจันติ       ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงด้วยประการฉะนี้


          ได้บรรยายธรรมมาพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้ฟังก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลา จึงในท้ายที่สุดนี้ขอพระบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงคุณอันยิ่งไหญ่ 3 ประการ คือพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ผู้สมบูรณ์ไปด้วยธรรมะคำสั่งสอนอันยังผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว บุญญาบารมีอันใดที่พระอริยสงฆ์ผู้สืบพระศาสนาได้บำเพ็ญมา บุญบารมีอันใดที่อาตมะได้บำเพ็ญมาด้วย กาย วาจา จิต ขออุทิศให้เป็นพลวปัจจัย หนุนส่งวิถีชีวิตและจิตใจของท่านทั้งหลายให้ดำเนินไปสู่ทางมรรค ผล นิพพาน ที่ถูกต้องทั่วกันทุกท่าน เทอญ


Last Updated on Saturday, 06 November 2010 06:08
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner