Home อย่างไร คือ การพัฒนาจิต
นิมิต PDF Print E-mail
Friday, 05 November 2010 10:01

นิมิต
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

 

          การฝึกฝนอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัตินี้ ธรรมชาติเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย โดยปกติแล้ว คนเรามีนิสัยชอบสบาย แต่ก็ไม่เชิงนัก บางทีก็ชอบลำบากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนสถานที่เกี่ยวกับการปฏิบัตินั้น เข้าใจว่าคงจะได้ประโยชน์แก่ผู้สนใจในการปฏิบัติ บ้างตามสมควร


          ตามประวัติของครูบาอาจารย์ เท่าที่ได้ทราบมา การเดินธุดงค์ ท่านอาศัยการเดินเท้าเปล่า จะเป็นเพราะสมัยนั้นการคมนาคมไม่ค่อยสะดวกสบาย เหมือนอย่างทุกวันนี้ก็เป็นได้ แต่ส่วนมากมักจะใช้ทางเดินเท้าเปล่านั้นแหละเป็นส่วนมาก อย่างท่านอาจารย์ฝั้น (อาจาโร) เคยเดินธุดงค์รอบภาคอีสาน ไม่เคยขึ้นนั่งรถยนต์รถไฟ จากสกลนครมานครราชสีมาก็เดินมาด้วยเท้าเปล่า จากนครราชสีมากลับไปที่อุบลฯ ก็เดินด้วยเท้าเปล่า จนกระทั่งภายหลัง มีเรื่องปรากฏขึ้นกับตัวท่านเอง ซึ่งท่านเคยเล่าให้ฟัง ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องนอกประเด็น แต่ก็เข้าใจว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านนักศึกษาทั้งหลาย บ้างตามสมควร

 


          ท่านเคยเล่าว่า นับตั้งแต่ออกเดินธุดงค์กรรมฐานมา ไม่เคยนั่งยวดยานพาหนะเลยแม้แต่ครั้งเดียว อยู่มาสมัยหนึ่ง มีญาติโยมที่สกลนครเขาซื้อ รถยนต์กัน ก่อนที่จะออกวิ่งก็ต้องการอยากจะให้ครูบาอาจารย์นั่งให้เป็นสิริมงคล ไปนิมนต์ท่านให้ขึ้นนั่งรถ ท่านก็ไม่ยอม คราวนั้นท่านจะเดินทางจาก สกลนครไปอำเภอพรรณานิคม ท่านก็เดินไปด้วยเท้าเปล่า ด้วยความปรารถนาที่จะให้ท่านอาจารย์ขึ้นนั่งรถให้เป็นสิริมงคล เจ้าของรถก็ขับรถคลานตาม หลังท่านไป แล้วก็ไปจอดคอยนิมนต์ท่านขึ้นนั่ง ท่านก็ไม่ยอม ตั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๔ ท่านทนอ้อนวอนไม่ไหว ท่านก็เลยขึ้นไปนั่งรถยนต์ให้โยม ทีนี้ในขณะที่ขึ้นไปนั่งอยู่บนรถนั้น เพราะความที่ไม่เคยนั่งรถยนต์ ท่านก็นึกว่าท่านเกรงจะตกรถ ท่านก็กำหนดจิตภาวนา ท่านบอกว่าภาวนากำหนดดูอาการ ๓๒ กำหนดตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไปจนกระทั่ง หทยํ หัวใจ พอจิตมันไปถึง หทยํ หัวใจ ก็มองเห็น แทนที่มันจะดูอยู่ที่หัวใจ ตัวเองมันกลับวิ่งเข้าไปสู่เครื่องยนต์ แล้วไปจดจ้องอยู่ที่จุดหนึ่ง ท่านไม่บอกว่าเป็นอะไร แต่หากมันมีลักษณะคล้าย ๆ กับถ้วย เหมือนถ้วยน้ำชาเรานี่แหละ เป็นลักษณะขาวกลม แล้วก็มีสายโยงต่อไป ท่านว่าอย่างนั้น พอจิตมันไปจดจ้องอยู่ที่ตรงนั้น ไม่ทราบว่าเครื่องยนต์มันหยุดตั้งแต่เมื่อไหร่ จนกระทั่งเจ้าของรถเขาพยายามแก้จนสุดความสามารถ พอเสร็จแล้วเขาก็นึกสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะท่านอาจารย์นั่งสมาธิเครื่องยนต์มันจึงได้หยุด เขาก็มาเขย่าหัวเข่าท่านอย่างแรง ท่านก็มีความรู้สึกตัวตื่นขึ้น พอท่านตื่นขึ้นมาคนรถก็บอกว่า ท่านอาจารย์นั่งสมาธิเครื่องยนต์มันดับ รถมันไม่วิ่ง ท่านก็ตอบว่า ถ้าหากเป็นเพราะ ฉันนั่งสมาธิจริง ๆ ก็ลองติดเครื่องดูซิ มันจะไปได้ไหม พอเสร็จแล้วคนรถเขาก็ติดเครื่องยนต์ รถมันก็วิ่งไปได้

 


          อันนี้เป็นประสบการณ์อันหนึ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติกรรมฐานนี้ เราจะต้องผ่านประสบการณ์หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในตอนต้นนี้เราได้ฝึกอบรมขั้นสมถกรรมฐาน ยังไม่ได้ขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากรรมฐาน หลักสูตรที่เราเรียน ๆ กันอยู่นี้เป็นหลักสูตรสมถกรรมฐาน เกี่ยวเนื่องด้วยบริกรรมภาวนา


          ทีนี้ การบริกรรมภาวนานั้น ในช่วงระยะที่จิตมันเริ่มจะสงบเป็นสมาธิ มีอาการเคลิ้ม ๆ แล้วจิตก็สงบวูบลง เกิดสว่าง ในขณะที่จิตเกิดสว่างนี้ จิตอยู่ในขั้น อุปจารสมาธิ บางขณะมันจะส่งกระแสออกไปข้างนอก บางขณะก็มาจดจ้องอยู่ที่จิตคือที่ใจนั้นเอง ไม่ได้ส่งออกไปข้างนอก อันนี้แล้วแต่อุปนิสัยของแต่ละท่าน ถ้าบางท่านที่กระแสจิตไปถึงไหน จิตก็ส่งกระแสไปถึงนั้น แล้วมันจะเกิดภาพนิมิตต่าง ๆ ขึ้น บางทีอาจจะเกิดเป็นภาพเหมือนกับจอหนังแล้วก็มีรูปภาพต่าง ๆ ปรากฏขึ้น ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น มันก็จะมีภาพคนบ้าง สัตว์บ้าง หรือเทวดาบ้าง แล้วแต่ความเข้าใจของผู้เห็นนิมิตนั้น จะนึกว่าอะไรในช่วงที่จิตกำลังเกิดสว่างแล้วก็ส่งกระแสออกไปข้างนอก ถ้าเราจะนึกให้มันรู้มันเห็นอะไรขึ้นมา จิตมันจะแสดงจะปรุงสิ่งนั้นขึ้นมาให้เรารู้เราเห็น ส่วนมากจะเข้าใจว่าเราไปเห็นสิ่งอื่น แต่แท้ที่จริงนั้นจิตมันปรุงขึ้นมาเอง เพราะความอยากรู้อยากเห็นมันมีอยู่แต่เบื้องต้น ในเมื่อจิตสงบอยู่ในระดับนี้ ถ้าเรานึกอยากจะเห็นเทวดา รูปเทวดามันจะปรากฏขึ้น นึกอยากจะเห็นคน คนมันจะปรากฏขึ้น นึกอยากจะเห็นเลขหวยเบอร์ เลขมันก็จะปรากฏขึ้น ผิดถูกแล้วแต่ความแน่วแน่ของจิต พึงเข้าใจว่าเป็นตัวสังขารซึ่งมันปรุงขึ้นภายในจิตเท่านั้น อย่าเพิ่งไปสำคัญว่า สิ่งที่เราเห็นนั้นมันเป็นสิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ เป็นของจริง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเห็นเช่นนั้นพึงกำหนดเข้ามาภายในจิต เอาจิตไว้ที่จิต ถ้าหากรู้สึกว่า จิตมันจะหลงในสิ่งเหล่านั้น ก็พึงนึกว่านั้นเป็นแต่เพียงภาพนิมิตเท่านั้น ไม่ใช่ของจริงของจังแล้วก็กำหนดรู้อยู่ที่จิตเฉยอยู่ ภายหลังภาพนิมิตเหล่านั้น มันจะหายไปเอง อันนี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง

          และในบางขณะ จิตไม่เฉพาะแต่มองเห็นเท่านั้น มันจะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กับ ในเมื่อจิตส่งออกไปข้างนอกแล้ว จะมีความรู้สึกว่าคล้าย ๆ กับตัวเรานี้เดินออกไปข้างนอก เป็นรูปเป็นร่างอื่นต่างหากจากตัวเดิมที่มีอยู่ แล้วทีนี้จิตนึกไปถึงไหน รูปร่างอันนั้นมันก็จะไปถึงนั้น จะไปดูนรก ดูสวรรค์ หรือจะไปติดต่อกับวิญญาณในโลกอื่นก็ใช้จิตในช่วงนี้ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติผู้หวังความเจริญในทางการปฏิบัติอย่างแท้จริงนั้น ขอได้โปรดอย่าได้ไปยึดถือหรือสำคัญผิดในเรื่องเหล่านี้ คือว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวงเท่านั้น


          มันมีปัญหาที่เราจะทำความเข้าใจอยู่ว่าความรู้กับความเห็นนี้ บางทีเราอาจจะเข้าใจผิดรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ต้องเห็นอะไรอย่างหนึ่งเป็นสักขีพยานขึ้นมา เราอาจจะเข้าใจอย่างนั้น คือ เห็นรูป เห็นนิมิตต่าง ๆ เป็นต้น แต่ความจริงความรู้ความเห็นที่ถูกต้องนั้น หมายถึงสิ่งที่จิตมันเกิดรู้ขึ้นมา เช่นอย่างรู้ว่าร่างกายทั้งสิ้นนี้มันเป็นปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก เป็นของสกปรกไม่สวยไม่งาม ในเมื่อจิตมันรู้อยู่อย่างนี้ ความเห็นมันก็ซึ้งลงไปว่าเป็นอย่างนั้นด้วย โดยไม่มีความสงสัย ซึ่งบางครั้งมันอาจจะเกิดนิมิตขึ้นมาประกอบกับความรู้อันนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นจึงแยกได้เป็น ๒ ประเด็น


ประเด็นที่หนึ่ง เห็นนิมิตเป็นรูปเป็นร่างปรากฏขึ้นในสมาธิ
ประเด็นที่สอง เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นจริงตามที่รู้ แล้วก็เกิดความเชื่อมั่นลงไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้มันเป็นอย่างนั้น เช่น เห็นปฏิกูลก็ปฏิกูลจริง ๆ จิตปลงตกลงไปว่า เป็นของปฏิกูลจริง ๆ อันนี้พึงทำความเข้าใจอย่างนี้


          และอีกนัยหนึ่ง การปฏิบัติธรรมนั้น ข้อสำคัญอยู่กับการทำจริง เช่นอย่างสมมติว่าเราบริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ เราก็ตั้งใจทำมันจริง ๆ ลงไป ส่วนมากอุปสรรคมักจะเกิดมีขึ้น พอบางที บริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ ลงไป มันปวดหลังปวดเอว แล้วก็รู้สึกเมื่อย ทีนี้ ถีนมิทธะ มันก็เข้ามาครอบงำ บางทีมันให้ปวดต้นคอ บางทีมันปวดหลัง พึงเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือกิริยาของ ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ ที่เราเคยเรียนผ่านมาแล้ว อันนี้มันจะมาตัดรอนความสำเร็จของเรา


          เพราะฉะนั้น ในภาษิตข้อต้นของโอวาทปาฏิโมกข์ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติความอด ความทน ความอดกลั้น ทนทานเป็นตบะธรรม คือความเพียรเผาบาปอย่างยิ่ง ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย พึงถือคตินี้ แล้วก็พยายามใช้ความอดทน พากเพียรพยายามทำให้มันจริงลงไป ประกอบพร้อมกับปลูกศรัทธาความเชื่อว่า เรามีสมรรถภาพสามารถที่จะทำให้สำเร็จได้ตามภูมิแห่งความสามารถของแต่ละท่าน


Last Updated on Friday, 05 November 2010 10:08
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner