Home อย่างไร คือ การพัฒนาจิต
บริกรรมภาวนาและการตามกำหนดรู้ PDF Print E-mail
Thursday, 23 September 2010 12:41

บริกรรมภาวนาและการตามกำหนดรู้

จากหนังสือสมาธิภาวนา(หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย)

แสดงธรรม ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)

เมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๕

 

          ณ โอกาสนี้  จะได้นำธรรมะอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายพอเป็นแนวคิดของท่านทั้งหลาย  ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เราเคยได้ยินได้ฟังและได้ศึกษากันมามากพอสมควร  แต่บางทีบางท่านอาจจะเข้าใจว่า ธรรมะนั้นเป็นของพระพุทธเจ้าไปเสียหมด ของเราเลยไม่มี  ในเมื่อเราเข้าใจอย่างนั้น การที่จะแสวงหาธรรมะนั้นจึงเป็นของยากลำบากเหลือเกิน  ซึ่งบางครั้งเราก็ไปเที่ยวแสวงหาธรรมะในสถานที่ต่างๆ จากพระภิกษุสงฆ์บ้าง จากสำนักครูบาอาจารย์บ้าง ซึ่งสุดแล้วแต่เราจะมั่นใจว่าที่ไหนพอจะแจกธรรมะให้แก่เรา  แต่ความจริงนั้นธรรมะเป็นของเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว  ธรรมะที่เป็นของเรานั้น หมายถึงสภาวธรรมที่เรามีอยู่กันทุกคน สภาวธรรมอันนี้หมายถึงกายกับใจ


          กายกับใจ เป็นธรรมะของเรา  เพราะฉะนั้น เรามีกายมีใจเป็นสมบัติของเราเอง  เราจึงมีธรรมะประจำกันอยู่ทุกๆ คน ธรรมะของเรานี้ทั้งส่วนกายและส่วนใจ เราสามารถจะปรับปรุงให้เจริญเติบโตขึ้นได้  ส่วนกายเราบำรุงเลี้ยงดูด้วยอาหารที่เรารับประทานเข้าไปเป็นคำๆ  แล้วก็ทำให้เนื้อหนังมังสาทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในกายนี้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นลำดับๆ ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  อันนี้เป็นความเจริญเติบโตส่วนกาย ซึ่งเกิดจากการบำรุงเลี้ยง


          ส่วนใจนั้น ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถจะปรับปรุงและบำรุงให้เจริญเติบโตได้ด้วยวิทยาการต่างๆ เช่น อย่างบรรดาท่านทั้งหลายซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ก็ดี เป็นนักศึกษาก็ดี ได้ผ่านการปรับปรุงจิตใจของเราให้เจริญเติบโตมาเป็นลำดับๆ  เริ่มต้นตั้งแต่การหัดอ่าน หัดเขียนหนังสือ ระดับชั้นประถม มัธยม แล้วก็อุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมาเป็นลำดับๆ จนกระทั่งจบปริญญาขั้นสูงสุด คือปริญญาเอก  อันนี้คือวิถีทางที่เราปรับปรุงความเจริญให้กับจิตใจของเรา คือ ให้มีวิชาความรู้ตามอันดับนั้นๆ ซึ่งสุดแล้วแต่ใครจะสามารถมากน้อยเพียงไร  ผู้ที่มีความสามารถมากหน่อย ก็สามารถที่จะเรียนจบถึงขั้นด็อกเตอร์ หรือปริญญาเอก ดังที่ปรากฏอยู่แล้วนั้น  อันนี้เป็นวิทยาการทางคดีโลก เป็นวิชาการสำหรับเป็นเครื่องมือในการสร้างตนเองและฐานะ  จนกระทั่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ วิทยาการทางโลกนั้น เราสามารถที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปได้หลายทาง  ทั้งทางที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม และทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม  ดังนั้น วิชาความรู้ทางคดีโลกนั้น  ถ้าหากขาดธรรมะ หรือศีลธรรมเป็นเครื่องควบคุม เราก็สามารถจะใช้วิชาการนั้นให้เป็นไปในทางที่ไม่ค่อยจะถูกต้อง  ซึ่งอาจจะยังผลให้สังคมต้องเดือดร้อนวุ่นวาย แต่ถ้าเรามีศีลธรรมเป็นเครื่องควบคุม หรือเป็นแนวทางปฏิบัติ เราก็สามารถจะใช้วิชาการนั้นๆ ให้เป็นไปในทางที่มีคุณ มีประโยชน์


          หลักการที่จะใช้วิชาการให้เกิดคุณเกิดประโยชน์อย่างจริงจัง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายอมรับเอาหลักศีล ๕ ประการ มาเป็นหลักแห่งการควบคุมการใช้วิชาการนั้นๆ  ใครมีวิชาความรู้มีความสามารถมากน้อยเพียงไรก็ตาม หรือใครอาจจะมีกิเลสมากน้อยเพียงไรก็ตาม เช่น มีตัณหาความทะเยอะทะยานอยากในทรัพย์สมบัติ ในลาภยศสรรเสริญ  จะทะเยอทะยานมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่เราเอาศีล ๕ เป็นขอบเขตของการใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์  ศีล ๕ จึงเป็นหลักการของการใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์ในสังคม  และอีกอย่างหนึ่ง ศีล ๕ ประการนี้ เป็นหลักประกันความปลอดภัยของสังคม  ถ้าหากสังคมมีศีล ๕ ประการนี้เป็นเครื่องควบคุมการประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา  สังคมสามารถที่จะมีความอยู่เย็นเป็นสุขและมีความสงบ  ถ้าเมื่อศีล ๕ บริบูรณ์ดีแล้ว ไม่เฉพาะแต่ทำให้สังคมอยู่ด้วยความสงบสุขเท่านั้น ยังทำให้หมู่คณะในสังคมนั้นๆ เกิดความพร้อมเพรียงสามัคคีซึ่งกันและกัน   ความสามัคคีนี้เป็นหลักธรรมที่เราปรารถนาอย่างยิ่ง เคยได้ยินบางประเทศ  เราอาจจะคิดว่าเขาไม่นับถือพระพุทธศาสนา  อันนี้ได้ยินคำบอกเล่าที่คนเขาไปรู้ไปเห็น แล้วเขาบอกเล่าให้ฟัง
เขาว่า ในประเทศเกาหลีนั้น เขายึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักปฏิบัติอยู่ ๓ ข้อ
          ๑. อัตตา หิ อัตตโน นาโถ    ตนเป็นที่พึ่งของตน
          ๒. วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ    จะล่วงทุกข์ไปได้เพราะความเพียร
          ๓. สุขา สังฆัสสะ สามัคคี    ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะยังให้เกิดสุข


          อันนี้เป็นหลักธรรมที่ประเทศเกาหลีเขายึดเป็นหลักปฏิบัติ และได้ทราบว่าเขาถือเป็นหลักธรรมที่เขาจะต้องรณรงค์  เพื่อให้ประชากรของประเทศได้ประพฤติปฏิบัติโดยทั่วกัน   คือเขาถือคติอย่างนี้ เขาถือว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ  ตนเป็นที่พึ่งของตน  เขาถือหลักง่ายๆ ว่า ในเมื่อเราประสบอุปสรรคใดๆ จะยากง่ายเพียงไรก็ตาม เขาถือคติว่าเขาจะต้องพยายามช่วยตัวเองจนกว่าจะหมดความสามารถ  ในเมื่อเขาหมดความสามารถแล้ว เขาจึงจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น นี่เขาอบรมกันอย่างนี้


          ประการที่ ๒  ความพากเพียร ความพยายาม  เขาอบรมให้ประชากรของเขามีความอุตสาหะวิริยะในการศึกษา  ในการค้นคว้า ในการทำงาน ในการแสวงหาทรัพย์สมบัติเพื่อความมีหลักฐานมั่นคง  โดยอาศัยหลักธรรมคือความเพียรเป็นจุดสำคัญ


          ประการสุดท้ายคือ ความสามัคคี ความพร้อมเพรียงซึ่งกันและกัน  อันนี้เขาถือเป็นหลักธรรมที่เขาจะต้องอบรมสั่งสอนกุลบุตรลูกหลานของเขาให้ประพฤติปฏิบัติให้ได้โดยทั่วกัน  เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง เกาหลีจึงมีความเจริญรุ่งเรืองรวดเร็วนัก  อันนี้เป็นตัวอย่างของชาวต่างประเทศ  ซึ่งได้ยินแล้วเอามาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง


          ณ โอกาสนี้ เข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงพากันสนใจในเรื่องการปฏิบัติธรรมคือ สมาธิภาวนา  เพื่อจะเป็นหลักจิตหลักใจ เพื่อจะแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน เพื่อจะเป็นการสนับสนุนวิชาความรู้ให้มีความเข้าใจแตกฉานยิ่งขึ้น  เพราะการทำสมาธินี้ ถ้าหากใครทำสมาธิได้อย่างถูกต้อง  จะเป็นคุณธรรมที่สนับสนุนวิชาการที่เราเรียนมา เช่น อย่างท่านมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือวิชาแขนงใดก็ตามที่เรียนจบมาแล้ว  ถ้าสามารถจะทำสมาธิให้ถูกต้องได้ สมาธิอันนั้นจะเป็นอุปกรณ์แก่วิชาความรู้ และการงานที่เราทำและรับผิดชอบอยู่  ซึ่งบางทีก็อาจจะมีตัวอย่าง ซึ่งท่านทั้งหลายอาจจะได้ยินได้ฟังมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิศวะที่ใช้วิชาสมาธินี้สนับสนุนวิชาการ หรือการค้นคว้าต่างๆ ให้สำเร็จมาด้วยดี


          แต่สำหรับวันนี้ จะได้พูดถึงเรื่อง สมาธิภาวนา  ความหมายของคำว่า สมาธิ  ซึ่งจะว่าตามหลักวิชาการในทางปริยัตินั้น หรือเรียกว่าพูดตามภาษาวัดๆ   สมาธิ ก็คือ ความตั้งใจมั่น  แต่สำหรับในที่นี้ ขอใช้คำว่า สมาธิ คือ ความมั่นใจ  ภาวนา ก็คือ การอบรม กาย วาจา และใจ ให้อยู่ในระบอบแห่งศีลธรรมที่ชอบ  ดังนั้น อาตมาจะไม่พูดอะไรให้มากความ เพราะท่านทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะกันมาบ้างพอสมควร  จะแนะนำวิธีการทำสมาธิในเบื้องต้น


          การที่จะทำสมาธิในเบื้องต้น ถ้าหากว่าจะทำเป็นกิจจะลักษณะ หรือตามแบบฉบับของการทำสมาธิ  โบราณาจารย์ท่านสอนให้ไหว้พระ สวดมนต์ แล้วก็แผ่เมตตา คือ เจริญพรหมวิหารนั่นเอง  อันนี้ท่านทั้งหลายก็คงจะเข้าใจ  ทีนี้ในเมื่อท่านทำวัตรสวดมนต์แผ่เมตตาเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิตามแบบที่เหมือนๆ ที่พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ เอามือซ้ายวางไว้บนตัก เอามือขวาวางทับลงไป  กำหนดในจิตใจของเราว่า พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ใจ พระธรรมก็อยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ   พระพุทธเจ้าไม่มีตัว ไม่มีตน  พระธรรมก็ไม่มีตัว ไม่มีตน  พระสงฆ์ก็ไม่มีตัว ไม่มีตน  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นคุณธรรมซึ่งเกิดขึ้นในจิตในใจของผู้ปฏิบัติ  แม้เจ้าชายสิทธัตถะที่ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า ก็เพราะมีคุณธรรมความเป็นพุทธะ และมีธรรมะอยู่ในจิตในใจ และมีกิริยาการปฏิบัติดีการปฏิบัติชอบอยู่ในจิตในใจ  ท่านจึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์รวมอยู่ในจุดเดียวกัน


          ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำความเข้าใจว่า  พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ใจ พระธรรมก็อยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ แล้วจงกำหนดใจลงในระหว่างกลางๆ คือ กลางระหว่างความยินดี ระหว่างความยินร้าย ทำใจให้เป็นกลาง  นึกในใจว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ  พุทโธ ธัมโม สังโฆ  พุทโธ ธัมโม สังโฆ  แล้วก็กำหนดลงที่จิตนึก พุทโธ ๆ ๆ อยู่อย่างนั้น  นึก พุทโธ เฉยๆ  นึกด้วยความเบาใจ อย่าไปกด ไปข่ม ประสาทส่วนใดส่วนหนึ่ง หรืออย่าไปบังคับจิตให้เกิดความสงบ  หน้าที่เพียงแค่นึก พุทโธ ๆ ๆ เฉย  อย่าไปนึกว่าเมื่อไรจิตจะสงบ เมื่อไรจะสว่าง เมื่อไรจะรู้ เมื่อไรจะเห็น เมื่อไรจะเกิดอะไรขึ้นมา  อย่าไปคิดทั้งนั้น หน้าที่เพียงแค่นึก พุทโธ ๆ ๆ อย่างเดียว


          นึก พุทโธ อยู่อย่างนั้น จิตสงบก็ตาม ไม่สงบก็ตาม ไม่ต้องไปกังวล เอาแต่ว่าเรานึก พุทโธ ให้มากที่สุด  นึกจนกระทั่ง พุทโธ กับจิตของเรานี้ติดกันเหนียวแน่นไม่พรากจากกัน  จนกระทั่งความตั้งใจนึก พุทโธ หายขาดไป แล้วจิตของเรานึก พุทโธ เองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แล้วก็นึกอยู่อย่างนั้น  ในเมื่อจิตมาติดกับ พุทโธ และนึกว่า พุทโธ โดยไม่ได้ตั้งใจ  ก็แสดงว่าจิตของเราเริ่มมีความสงบลงไปแล้ว เมื่อจิตนึก พุทโธ ๆ อยู่อย่างนั้น ก็ปล่อยให้จิตนึก พุทโธ ๆ อยู่อย่างนั้น   ครั้นนึกไปนึกมา พุทโธ หายไป  จิตไปนิ่งอยู่เฉยๆ ก็ให้กำหนดรู้ลงที่จิตที่นิ่งอยู่เฉยๆ  ในช่วงนี้อะไรจะเกิดขึ้นก็ตามให้กำหนดรู้ลงที่จิต ๆ อยู่อย่างเดียวเท่านั้น  อย่าไปเอะใจ หรืออย่าไปตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ  ในช่วงนี้บางครั้งผู้ภาวนาอาจจะเกิดมีอาการสั่นนิดหน่อย หรือมีอาการขนลุกขนพอง  มีอาการคล้ายๆ กับว่าตัวเบาจะลอยขึ้นบนอากาศ  มีอาการคล้ายๆ กับว่าตัวใหญ่โตสูงขึ้น  มีอะไรเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว นี้คือหลักการภาวนาในเบื้องต้น


          ในเมื่อผู้ภาวนากำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว สิ่งที่จะพึงเกิดขึ้น ที่ทำให้เรารู้สึกแปลกใจที่สุดคือ ความมีปีติ  ในตอนนี้ปีติบังเกิดขึ้น  ในเมื่อปีติบังเกิดขึ้น  ความรู้สึกภายในจิตจะรู้สึกสว่างไสว แล้วความสุขอันเป็นผลพลอยได้ย่อมบังเกิดขึ้น  เมื่อจิตสงบละเอียดยิ่งลงไป คำบริกรรมภาวนาหายไป แล้วจิตก็สงบลงไปเรื่อยๆ เกิดปีติ เกิดความสุข  ในตอนนี้รู้สึกว่าจิตของผู้ภาวนามีความสุขอย่างยิ่ง  ในเมื่อมีความสุขแล้ว  นิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัยในการภาวนาก็หายสิ้นไป มีแต่ความสบายปลอดโปร่งภายในจิต ผู้ภาวนาก็ควรจะกำหนดรู้จิตไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป  เมื่อจิตสงบละเอียดไปอย่างจริงจังแล้ว ความรู้สึกว่ากายก็จะหายไป  ความรู้สึกว่ามีลมหายใจก็จะหายไป  จิตของผู้ภาวนาจะสงบนิ่ง สว่างอยู่ มีสภาวะรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น  กายหายไปหมดแล้ว  ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีปรากฏ มีแต่จิตดวงเดียว สว่างไสวอยู่เท่านั้น  อันนี้คือการภาวนา ซึ่งสำเร็จด้วยการบริกรรมภาวนา เป็นการภาวนาในขั้นต้น


          ถ้าหากว่าผู้ภาวนานั้นทำจิตให้สงบนิ่งเป็นสมาธิดังที่กล่าวอย่างนี้บ่อยๆ  ถ้าจิตมันไปติดสมาธิอยู่ขั้นนี้  ความรู้ความฉลาดไม่เกิดขึ้น ให้ผู้ภาวนาฝึกหัดพิจารณา  การฝึกหัดพิจารณาควรจะน้อมเอาเรื่องของ กายคตสติอันเป็นแผนการปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดตามรู้กาย


          สติกำหนดตามรู้กายนี้มีอยู่ ๒ อย่าง  อย่างหนึ่งกำหนดรู้กายภายนอก อีกอย่างหนึ่งกำหนดรู้กายภายใน  กำหนดรู้ตามกายภายนอก คือ หมายถึงว่าทำสติรู้ในเวลาที่เราเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด  ทำสติอย่างเดียว  เดินรู้ว่าเราเดิน ยืนรู้ว่าเรายืน นั่งรู้ว่าเรานั่ง นอนรู้ว่าเรานอน  กิน ดื่ม ทำ พูด คิด รู้ว่าเราคิด ทำสติรู้อย่างเดียว  อันนี้เป็นการกำหนดกายคตาสติในภายนอก  ส่วนการกำหนดกายคตาสติภายในนั้น หมายถึงการกำหนดอาการ ๓๒ คือพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น  กระดูก เป็นต้น  ให้น้อมจิตน้อมใจไปในแง่แห่งความเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก คือ พิจารณาว่าผมก็ไม่งาม ขนก็ไม่งาม เล็บก็ไม่งาม ฟันก็ไม่งาม หนังก็ไม่งาม  เพราะเป็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก  หลักฐานที่เราถึงจะหยิบยกมาพิจารณา  ถ้าหาก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ของเราเป็นสิ่งที่สวยงามแล้ว  เราจะอาบน้ำทำไม เราจะฟอกสบู่ทำไม จะตกแต่งทำไม  ที่เราทำเช่นนั้นเพราะเหตุว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสิ่งที่ไม่สวยงามนั่นเอง  ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ไปได้ เดินได้ กิน ดื่ม ทำ พูดได้  ก็ยังเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครกถึงขนาดนี้  ถ้าหากสมมติกายนี้ตายลงไปแล้ว ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เกิดเน่าเปื่อยผุพังไป  ความปฏิกูลน่าเกลียด โสโครก จะปรากฏมากน้อยเพียงไร  อันนี้เราหมั่นพิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น  พิจารณาจนกระทั่งจิตของเราชำนาญในการพิจารณา คล่องต่อการพิจารณา


          ในตอนต้นๆ เราก็ตั้งใจนึกคิดเอาว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น  เป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก ไม่สวย ไม่งาม  นึกกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น  ในที่สุดเมื่อจิตของเราเริ่มจะมีความสงบลงไป  พอสงบลงไปได้นิดหน่อย เพราะอาศัยการฝึก การอบรม การปรับปรุงปฏิปทา การตกแต่ง และการพิจารณานั้นๆ  แล้วจิตของเราก็จะปฏิวัติตัวไปสู่การพิจารณาได้เอง  โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ  ทีนี้ถ้าเผื่อเราทำได้อย่างที่ว่า  จิตของเราปฏิวัติไปสู่การพิจารณาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือเรียกว่าพิจารณาเองโดยอัตโนมัติ  หนักๆ เข้าจิตก็จะสงบลงไป เริ่มแต่อุปจารสมาธิ ถึงอัปปนาสมาธิ ถ้าจิตสงบลงไปถึงขั้นอัปปนาสมาธิ  ถ้าจิตนั้นจะมีสติปัญญา ย่อมจะปรากฏนิมิตขึ้นมาให้เห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น  เป็นสิ่งที่ปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก โดยภาพนิมิตที่ปรากฏขึ้นในจิตในใจ  แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างนี้ทุกท่าน ทุกคน บางท่านก็สักแต่ว่ามีความรู้ซึ้งถึงจิตถึงใจ ว่าสิ่งดังกล่าวเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก  แล้วจิตก็ยอมรับสภาพของความเป็นจริงว่าเป็นของปฏิกูล  การพิจารณาอสุภกรรมฐาน หรือพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ให้เห็นเป็นของปฏิกูล น่าเกลียดนั้น  เป็นอุบายที่จะถ่ายถอนราคะ ความกำหนัดยินดีไม่ให้เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ  จะได้มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมในขณะนั้นอย่างคล่องแคล่ว โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ อันนี้คือขั้นแห่งการพิจารณา


          ถ้าหากว่าท่านผู้ใดไม่ทำดังที่กล่าวมา เมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิดีพอสมควรแล้ว  ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พุทโธ ๆ เป็นต้น  เมื่อจิตสงบลงไปแล้วก็นิ่งสว่างอยู่เฉยๆ ทำทีไรก็นิ่งสว่างอยู่เฉยๆ ไม่เกิดความรู้ขึ้นมาได้  ผลของการบริกรรมภาวนาจะยังจิตให้สงบลงไปแล้ว ถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วจะนิ่งสว่างอยู่เฉยๆ  ในขณะนั้นจิตจะไม่เกิดความรู้ เพราะจิตเป็นจิตดวงเดียวล้วนๆ  ในเมื่อจิตเป็นจิตดวงเดียวล้วนๆ ไม่มีการสัมพันธ์ติดต่อกับโลกภายนอก ย่อมปราศจากความรู้  เพราะฉะนั้น จิตจึงไปนิ่งอยู่ในท่าทีที่สงบ สว่างอยู่อย่างเดียว  เมื่อเป็นเช่นนั้น คอยสังเกตดู เมื่อจิตถอนออกจากความนิ่ง คือออกจากสมาธิในขั้นนี้  เมื่อถอนมาถึงระดับอุปจารสมาธิ จิตย่อมเกิดมีความคิด ในเมื่อจิตมีความคิดให้ผู้ภาวนาจงกำหนดทำสติตามรู้ความคิดนั้นไปเรื่อยๆ  จิตคิดอะไรขึ้นมาก็รู้ คิดอะไรขึ้นมาก็รู้เพียงแต่สักว่ารู้เฉยๆ อย่าไปช่วยวิพากษ์วิจารณ์ หรือค้นคิดด้วยความตั้งใจ  เป็นแต่เพียงกำหนดจดจ่ออยู่ที่จิต คอยจ้องดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น  ในเมื่ออะไรเกิดขึ้นมาแล้ว กำหนดรู้อะไรเกิดขึ้นมาแล้ว  กำหนดรู้ รู้ไปเฉยๆ เพราะความคิดนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอุบายที่ทำสติสัมปชัญญะให้มีพลังดีขึ้น  ในเมื่อสติมีกำลังดีขึ้น เรียกว่า สติพละ สามารถทำจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ในท่าทีที่สงบนิ่ง และกำหนดรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตตลอดเวลา  แต่ยังไม่สามารถที่จะปฏิวัติจิตให้เกิดภูมิรู้ภูมิธรรมขึ้นมาได้ ด้วยอาศัยจิตมีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก ย่อมทำให้สติมีกำลังขึ้น  ในเมื่อสติมีกำลังขึ้น สติตัวนี้กลายเป็นสตินทรีย์ คือ เป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง สามารถที่จะปฏิวัติจิตให้ก้าวไปสู่ภูมิความรู้ ไปสู่ภูมิธรรมได้เองโดยอัตโนมัติ  อันนี้คือผลแห่งการเจริญภาวนาในขั้นต้น เป็นอันสรุปใจความได้ว่า การภาวนา หรือการทำจิตทำใจนั้น เราจะสรุปขั้นตอนได้ ๓ ขั้นตอน
          ๑. ขั้นบริกรรมภาวนา
          ๒. ขั้นฝึกหัดจิตให้รู้จักพิจารณา
          ๓. ขั้นตามรู้


          ขั้นบริกรรมภาวนาก็มีนัย มีการบริกรรมภาวนา พุทโธ ๆ ๆ เป็นต้น  จนกว่าจิตจะบริกรรมภาวนาเองโดยอัตโนมัติ  แล้วยังจิตให้สงบเป็นสมาธิตามขั้นตอน  ขั้นแห่งการพิจารณาเป็นการฝึกหัดจิตให้ก้าวเดิน ฝึกหัดให้จิตเกิดสติปัญญา รู้เท่าทันเหตุการณ์ ขั้นตามกำหนดรู้หมายถึง ตั้งใจกำหนดรู้ความรู้สึกนึกคิดของเรา  ความรู้สึกนึกคิดของเรานั้น เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นสภาวธรรม  ในเมื่อจิตมีสภาวธรรมเป็นเครื่องรู้ สติมีสภาวธรรมเป็นเครื่องระลึก ย่อมสามารถที่จะสร้างสติตัวนี้ให้กลายเป็นมหาสติได้ด้วยประการฉะนี้


          ท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าจะเป็นนักภาวนากันอย่างจริงจัง ขออย่าได้ไปสงสัยในวิธีการนั้นๆ  อารมณ์ของกรรมฐานเพียงแค่สมถะก็มีอยู่ ๔๐ อย่าง เริ่มตั้งแต่ อสุภ ๑๐  กสิณ ๑๐  อนุสสติ ๑๐ เป็นต้น  ทีนี้ถ้าหากว่าบางท่านอาจจะมีความสงสัยว่า อารมณ์ของสมถกรรมฐานมีตั้ง ๔๐ อย่าง เราจำเป็นต้องทำให้ครบถึง ๔๐ อย่างหรือไม่  อันนี้ไม่จำเป็น ทำเพียงอย่างเดียวก็ได้ชื่อว่าได้ผล หรือเรียนจบกรรมฐานทั้ง ๔๐ ห้อง  เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดจะยึดอารมณ์อันใดเป็นเครื่องบริกรรมภาวนาก็ดี เช่น จะภาวนาพุทโธ หรือยุบหนอ พองหนอ  สัมมาอรหัง หรืออะไรก็แล้วแต่  สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นแต่เพียงอุบายชักจูงใจให้สงบเป็นสมาธิเท่านั้น  จึงไม่สมควรที่จะไปสงสัยในวิธีการแห่งการปฏิบัติ  การบริกรรมภาวนาเป็นแต่เพียงเราหาอารมณ์มาเป็นคู่ของใจ ฝึกหัดกับใจให้ใจมันนึกอยู่กับสิ่งๆ เดียวได้นานๆ เพื่อเป็นการตัดความกังวล หรือตัดความวุ่นวายที่จิตมันแผ่ซ่านไปสู่อารมณ์ต่างๆ ให้มารวมอยู่ที่จุดเดียว เช่น ภาวนา พุทโธ ๆ ๆ เป็นต้น


          ท่านภาวนา พุทโธ ๆ ๆ เป็นต้น แม้จิตจะไม่สงบก็ตามหรือสงบก็ตาม ให้นึกภาวนา พุทโธ ๆ ๆ อยู่อย่างนั้น  ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด นึก พุทโธ ไว้ตลอดเวลา  นึกจนกระทั่งจิตมันติดกับ พุทโธ  พุทโธ ติดกับจิต  จิตเป็น พุทโธ  พุทโธ เป็นจิต  แม้บางครั้งเราไม่ตั้งใจจะนึก พุทโธ จิตของเราก็นึกขึ้นมาเอง  อันนี้เป็นการฝึกหัดให้จิตติดกับคำว่า พุทโธ หรืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีใครกล่าวว่า การภาวนาอย่างนั้นไม่ดี อย่างนี้จึงดี อะไรทำนองนี้   อย่าได้ไปสนใจ เราจะเอาอะไรก็ได้  ถ้าสมมติว่าจิตของเรานี้มันไปติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเหนียวแน่น เช่น อย่างเราจะภาวนา พุทโธ ๆ ๆ  แต่มันไม่อยู่กับ พุทโธ  มันชอบวิ่งไปหาสิ่งอื่นที่เราเคยติดมาแล้ว ก็ให้เอาสิ่งนั้นแหละมาบริกรรมภาวนา เช่นอย่างสมมติว่า ในขณะที่เราภาวนา มันคิดถึงใครคนหนึ่ง ก็เอาชื่อของคนๆ นั้นมาบริกรรมภาวนา  เพราะจิตมันติดอยู่แล้ว มันก็ติดเร็วขึ้น  ในเมื่อจิตมีการติด มันก็ย่อมเกิดความสงบ  ในเมื่อสงบแล้วมันไม่ฟุ้งซ่าน มันก็อยู่ในอารมณ์เดียว


          ในเมื่อจิตอยู่ในอารมณ์เดียว จิตก็เกิดเป็นสมาธิ   ในเมื่อจิตเป็นสมาธิอย่างแท้จริง แม้แต่บริกรรมภาวนามันก็ทิ้งไป  ในเมื่อมันทิ้งบริกรรมภาวนาแล้ว มันก็เป็นตัวของตัวเองไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งใด เป็นเหตุให้เราได้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตดั้งเดิมของเราว่ามันเป็นอย่างนี้  ในเมื่อจิตมันปล่อยวางหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นตัวของมันเอง มีแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ ไม่ได้พึ่งพาอาศัยอะไร มันก็เป็นอิสระ  ในเมื่อเราฝึกหัดให้มันเป็นอิสระบ่อยๆ เข้า  พละ คือกำลังมันก็เกิดขึ้นมากขึ้นทุกทีๆ จนสามารถจะทรงตัวอยู่ได้ในสภาพปกติตลอดไป


          ความเป็นปกติของจิตนั้น  ความเป็นปกติของจิตในภายใน หมายถึงจิตเข้าอยู่ในสมาธิ สละอารมณ์ทั้งปวงแล้ว จิตเป็นจิตดวงเดียวล้วนๆ  อันนี้เป็นความปกติของจิตภายใน  ในเมื่อจิตออกมาสู่อารมณ์ภายนอก เช่น ส่งที่ผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตเป็นแต่เพียงสัมผัสรู้ รู้แล้วไม่ยึดถือสิ่งเหล่านั้น เป็นตัวของตัวเองอยู่ตลอดเวลา  พอพูดมาถึงตอนนี้ท่านผู้ฟังอาจจะไม่เข้าใจว่า ในเมื่อจิตไม่สนใจกับสิ่งใดๆ จิตจะไม่กลายเป็นจิตที่ไร้สำนึกไม่เอาไหนหรือ จะไม่กลายเป็นจิตขี้เกียจขี้คร้านไม่เอาการเอางานหรือ  ข้อนั้นไม่พึงสงสัย ถ้าหากว่าจิตมันผ่านการเป็นสมาธิ ผ่านการเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเด็ดขาดแล้ว  มันจะเกิดสนใจในหน้าที่การงาน เกิดความสนใจในหมู่คณะ เกิดความสนใจในหน้าที่ ที่เราจะต้องรับผิดชอบ  ผู้ที่เคยขี้เกียจทำงานก็จะขยันขึ้น ผู้ที่ไม่เอาใจใส่กับจิตใจของตัวเอง ผู้ที่ไม่เอาใจใส่กับการงาน ขาดความรับผิดชอบ  มันจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น  อันนี้คือผลของการทำสมาธิ


          การทำสมาธิเช่นอย่างเราจะไปเข้าห้องกรรมฐาน ไม่เอาไหนเลย ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเลย  อันนั้นมันก็ไม่ดี เพราะเราทิ้งงานทิ้งการส่วนอื่น  การทำสมาธินี้ เรามีความมุ่งหวังที่จะให้เรามีพลังจิต มีสติสัมปชัญญะต่อสู้กับงานการที่เรารับผิดชอบอยู่ สามารถที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้ สามารถที่จะแก้ปัญหาสังคมได้   ไม่ใช่ว่าทำสมาธิแล้วไปหลับหูหลับตาไม่เอาไหน  แบบนั้นไม่ถูกต้องแน่  ทำสมาธิเป็นแล้วต้องสนใจในการงาน สนใจในหมู่คณะ สนใจในการรับผิดชอบ สนใจในทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ มันเป็นสภาวธรรม


          ได้กล่าวแล้วว่า กายกับใจของเราเป็นสภาวธรรม เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติฉันใด  บุคคลภายนอก สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ที่เราประสบอยู่ทุกวินาที  สิ่งเหล่านั้นก็เป็นสภาวธรรม เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ  เราทำสติให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง  นักปฏิบัติสมาธิต้องสู้  สู้ต่อการงานทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะการทำสมาธินี้ ทำให้จิตมีสมาธิความตั้งมั่น มีความมั่นใจ มั่นใจต่อหน้าที่การงานที่เรารับผิดชอบอยู่  อันนี้คือผลของการทำสมาธิในขั้นนี้  ถ้าหากเราฝึกหัดทำสมาธิในขั้นต้น พอที่จะจับหลักแห่งการทำสมาธิ สามารถที่จะทำจิตให้สงบ สามารถที่จะน้อมจิตไปพิจารณา สามารถที่จะทำสติให้รู้เท่าทันเหตุการณ์นั้นๆ คือ ตามรู้เหตุการณ์นั้นๆ จนทัน ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องด้วยประการฉะนี้


          ได้กล่าวธรรมะมาพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้ฟัง ก็สมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติด้วยประการฉะนี้.


Last Updated on Thursday, 23 September 2010 13:07
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner