• คนดีมีคุณค่ากว่าคนเก่ง ถ้าทั้งเก่งทั้งดียิ่งมีคุณค่ามหาศาล
- ปลูกฝังความดีก่อน ความเก่งจะตามมาไม่ยากนัก (เช่น นักเรียนที่เกิดสำนึกของความกตัญญู ก็จะตั้งใจเรียนเพื่อไม่ให้พ่อแม่ผิดหวังเสียใจ)
- แต่ถึงจะไม่เก่ง ถ้ามีความดีก็มีค่ากว่าคนเก่งแต่ขาดคุณธรรมมิใช่หรือ
(ตัวอย่างคนเก่งแต่เลว มีให้เห็นมากมายในสังคม เขาสามารถทำร้าย ทำลาย ครอบครัว สังคม และชาติบ้านเมืองได้อย่างอำมหิต โดยไม่สะทกสะท้าน ด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม แถมแยบยล จับผิดยากอีกด้วย)
- ถ้าส่งเสริมแต่ความเก่ง แล้วละเลยความดี เห็นทีจะวิบัติแน่
(ท่านพุทธทาส : ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ)
• สร้างคนดีไม่ใช่เรื่องยาก ลงทุนไม่มากอย่างที่คิด
- สร้างความดีที่ตัวเองก่อน : ฝึกการข่มใจ เอาชนะใจตัวเองให้ได้ทีละเล็กละน้อย
(บัลลังก์ใจ นั่งได้ที่เดียว ถ้าได้ธรรมมาครองใจ ก็จะไม่มีที่ว่างให้กิเลส แต่ถ้าปล่อยให้กิเลสครองบัลลังก์ใจ ธรรมก็ไร้อำนาจ)
- ประพฤติตนเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม (สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น)
• การฝึกจิต เป็นวิธีสร้างคนดีที่โบราณที่สุดแต่ทันสมัยที่สุด
- โบราณที่สุด เพราะค้นพบมากว่า 2,600 ปี โดยพระพุทธเจ้า มหาศาสดาเอกของโลก
- ทันสมัยที่สุด เพราะผู้ที่ปฏิบัติตามก็ได้ผลไม่แตกต่างจากเมื่อสองพันกว่าปีก่อนยังคงทันสมัยอยู่เสมอ
- เป็นยาดีที่มีประสิทธิภาพชะงัดทั้งในการฆ่าเชื้อ (กิเลส) และสร้างภูมิคุ้มกัน
• จิตนั้นสำคัญไฉน ทำไมจึงต้องฝึกจิต
- พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ” (ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว)
- นักวิทยาศาสตร์ทางจิตก็ค้นพบสอดคล้องกันว่า พฤติกรรมของเรามีจิตเป็นผู้สั่งไม่ใช่สมอง
(สมองรับคำสั่งจากจิต)
- ถ้าจิตดีก็จะสั่งกายให้พูดดี ทำดี ถ้าจิตชั่วก็จะสั่งกายให้พูดชั่ว ทำชั่ว
- การแก้ทุกข์ แก้ปัญหา แก้พฤติกรรม ที่ตรงจุดที่สุดคือ แก้ที่จิต (บุญ – บาป, ดี – ชั่ว, สุข – ทุกข์ เริ่มที่จิต)
• จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สฝึกปฏิบัติหรือไม่
- จำเป็น ! สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานและควบคุมตัวเองได้น้อย ยังต้องอาศัยการกำกับดูแลของครูฝึก
- ไม่จำเป็น สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานและสามารถควบคุมตัวเองได้ดีแล้ว
• ควรจัดค่ายคุณธรรมหรือไม่
ค่ายคุณธรรมมีหลายรูปแบบ :
- บางค่ายเน้นสันทนาการเพราะกลัวผู้เข้าอบรมเบื่อ : เล่นเกมส์ ตลกเฮฮา ดูการ์ตูน ดูหนัง ที่ไม่มีสารประโยชน์ เน้นสร้างความบันเทิงเป็นหลัก ไม่ควรจัดเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณโดยใช่เหตุ เพราะจะไม่ได้ผลทางจิตสำนึกเลย และอาจได้ผลทางลบ คือ ทำให้จิตหยาบ
- บางค่ายปลูกฝังคุณธรรมระดับความรู้ ความจำ จะได้ผลไม่มากนักเพราะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
- บางค่ายปลูกฝังคุณธรรมระดับจิตสำนึก ด้วยการปฏิบัติจิตหรือฝึกจิต ถึงแม้จะต้องลงทุน ลงแรงมาก ก็ควรจัด เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ(จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร จะพัฒนางานต้องพัฒนาคน การพัฒนาคนให้เริ่มที่จิต พัฒนาอะไรก็ติดถ้าจิตไม่พัฒนา)
• จัดค่ายพัฒนาจิตต้องไปวัด หรือจัดที่โรงเรียน หรือในชุมชุนก็ได้
- จัดที่ไหนก็ได้ ถ้าปัจจัยเอื้อพร้อมมากก็จะได้ผลสูงมาก ถ้าปัจจัยเอื้อน้อยผลก็จะลดลงตามลำดับ
- แต่การจัดที่วัดจะได้กำไรเพิ่ม คือทำให้เด็กหรือผู้เข้าอบรมใกล้ชิดพุทธศาสนามากขึ้น อาจส่งผลให้ชอบเข้าวัดมากขึ้น ทั้งนี้ต้องเป็นวัดที่พระภิกษุในวัดปฏิบัติดี น่าศรัทธาเลื่อมใส บรรยากาศในวัดสะอาด ร่มรื่น
• ปัจจัยเอื้อต่อความสำเร็จมีอะไรบ้าง
- ปัจจัยภายใน คือ ความเพียรพยายาม ความตั้งใจ และความมีวินัยของผู้ปฏิบัติ
- ปัจจัยภายนอก ได้แก่
1. บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่สงบ ร่มรื่น โดยเฉพาะสถานที่ที่เป็นป่าเขา การได้เห็นสีเขียวทำให้จิตใจผ่อนคลาย เกิดความสงบได้ง่าย พระพุทธเจ้าและพ่อแม่ครูอาจารย์ ที่มุ่งความหลุดพ้น จึงต้องหลีกเร้นจากความวุ่นวายในเมือง เข้าไปหาความสงบในป่า ซึ่งจะทำให้เห็นความเคลื่อนไหวของจิตได้ละเอียดขึ้น
2. หลักสูตรและเนื้อหา ที่มีองค์ประกอบดังนี้
• สอนถูก คือ ใช้หลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ฝึกการเจริญสติอย่างต่อเนื่องในทุกกิจกรรม
• สอนดี คือ เดินสายกลาง ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เหมาะสมกับวุฒิภาวะและพื้นฐานของผู้ปฏิบัติ ผู้จัดหลักสูตร ต้องหาความพอดีหรือทางสายกลางของผู้ปฏิบัติแต่ละกลุ่มให้เหมาะสม
3. วิทยากร ที่มีความสามารถและตั้งใจในการถ่ายทอดหรือนำปฏิบัติ มีจิตวิทยาในการเสริมแรงหรือลงโทษตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
4. ความร่วมมือจากโรงเรียนหรือหน่วยงานที่นำนักเรียนหรือบุคลากรมาปฏิบัติในการช่วยวิทยากรกำกับดูแลให้ผู้เข้ารับการอบรมตั้งใจปฏิบัติ
แม้ปัจจัยภายในจะไม่เอื้อเพราะผู้อบรมส่วนใหญ่ถูกบังคับให้มาปฏิบัติ แต่ถ้าปัจจัยภายนอกพร้อม ก็สามารถพลิกจิตของผู้ที่มามืดให้กลับสว่างได้