Monday, 23 April 2012 07:04 |
กว่า 25 ปีที่ผ่านมา โรคเอดส์คือบทเรียนราคาแพงที่สุดบทหนึ่งของ มวลมนุษยชาติ ข้อมูลจากองค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ระบุว่า ในปี 2550 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกกว่า 33 ล้านคน ขณะที่ ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 6,800 คน เฉลี่ยนาทีละเกือบ 5 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก สำหรับในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา พระอุดมประชาทร หรือหลวงพ่ออลงกตแห่งวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ได้เริ่มอุทิศตนให้กับการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย ท่ามกลางกระแสต่อต้าน ความ รังเกียจ และความไม่เข้าใจของคนในสังคม เมตตาธรรมและความเพียรพยายามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของภิกษุรูปนี้ มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคม พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตขององค์กรและภารกิจของมูลนิธิธรรมรักษ์ ในฐานะหน่วยงานด้านเอดส์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลของไทย และเป็นแสงสว่างแห่งความหวังของผู้ป่วยโรคเอดส์ในสังคมไทย NG: แรงบันดาลใจของหลวงพ่อที่เข้ามาทำงานนี้คืออะไร พระอุดมประชาทร: สมัยแรกๆประมาณปี พ.ศ. 2533-2534 หลวงพ่อ เคยไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคเอดส์ที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร ซึ่งเป็นโรงพยาบาล โรคติดต่อ ผู้ป่วยกลุ่มแรกๆถูกนำไปรวมไว้ที่นั่น หลวงพ่อเองยังไม่รู้เรื่อง เกี่ยวกับโรคเอดส์เท่าไรนัก แต่ตอนนั้นกำลังศึกษาเรื่องของคนที่กำลังจะตายว่า ในฐานะพระสงฆ์ เราควรจะดูแลคนที่กำลังจะตายอย่างไรให้เขาได้ตาย อย่างสงบ การไปศึกษาดูงานตรงนั้นทำให้เราได้พบเจอผู้ป่วยโรคเอดส์ เรียกได้ว่าวันแรกก็ได้ประสบการณ์ตรงเลยผู้ป่วยเอดส์คนหนึ่งจับมือ หลวงพ่อแล้วก็หมดลม ตายทั้งๆที่ยังจับมือหลวงพ่ออยู่นั่นแหละ ไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจ แต่เป็นความรู้สึกทุกข์ใจมาก กลับมานอนไม่หลับ คิดอะไรไปมากมาย จนกลับไปคลุกคลีอีกระยะหนึ่ง ทำให้พบว่าการดูแล คนที่อยู่ในภาวะอย่างนี้ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงสอนเขาให้เข้มแข็ง และดูแลกัน เป็นเพื่อนกัน เลยกลายเป็นว่าคนที่เป็นเอดส์ดูแลกันเอง ในที่สุดหลายๆคนเริ่มแข็งแรง แล้วหมอก็ให้กลับบ้าน แต่ที่บ้านเขาไม่ยอมรับ นี่คือเหตุที่ทำให้หลวงพ่อต้องมาเปิดบ้านพักสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ขึ้นมา NG: หลวงพ่อเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ จนถึงปริญญาโท แต่ทำไมจึงตัดสินใจออกบวช
พระอุดมประชาทร: ยอมรับว่าตั้งแต่สมัยเด็กๆจนถึงเรียนจบ หลวงพ่อไม่ได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และไม่เคยคิดจะบวช แต่เป็นความบังเอิญของชีวิตที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ผู้ใหญ่เลยขอร้องให้บวช ภาษาชาวบ้านเรียกบวชล้างซวย พอมาบวชแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยเริ่มอ่านหนังสือ โชคดีที่เราไปหยิบหนังสือ พุทธธรรม ของพระเดชพระคุณพระธรรมปิฎกในขณะนั้น (ปัจจุบันคือพระพรหมคุณาภรณ์ ประยุทธ์ ปยุตโต) หนังสือพุทธธรรมเป็นหนังสือที่มนุษย์ทุกคนควรอ่าน เพราะจะได้รู้ว่า ความเป็นคนเป็นอย่างไร ชีวิตคืออะไร ทีนี้ความเข้าใจก็เกิด เราไม่เคยจินตนาการภาพรวมของชีวิตเลย เพราะชีวิตอยู่กับความปรารถนา ในหัวใจมีแต่ความอยากมี อยากเป็น อยากได้ แล้วก็ดิ้นรนแสวงหา พอได้เปิดโลกทัศน์ตรงนี้เลยเข้าใจ เกิดแก่เจ็บตายเกิดจากการปรุงแต่งที่เรียกว่าสังขาร มีรูปธรรมนามธรรม ตายไปแล้วไม่มีใครเอาอะไรไปได้ ชีวิตคนเราดิ้นรนไปตามกิเลสตัณหา อยากได้ก็แสวงหา พอได้ครอบครองแล้วก็ต้องมาเศร้าโศกเสียใจจากการพลัดพราก แต่ถ้าเราอยู่อย่างรู้เท่าทันโลก อยู่อย่างพอดีๆ ไม่โลภมาก ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำความดี ก็จะมีความสุข เลยคิดว่าน่าจะเอาดีทางนี้ NG: ปัญหาของโรคเอดส์คืออะไร พระอุดมประชาทร: ปัญหาช่วงแรกๆคือโรคเอดส์เข้ามาโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว และมีนัยสำคัญคือเป็นโรคที่เป็นแล้วต้องตาย จึงมีการนำเงื่อนไขความตายมาใช้กระตุ้นให้คนในสังคมเกิดความตระหนักเรียนรู้ แต่กลับนำ ไปสู่ผลข้างเคียงที่เป็นปัญหามาถึงทุกวันนี้ คือการสื่อความหมายว่าใครเป็นเอดส์หมายถึงเป็นคนเลว เป็นคนไม่ดี พวกติดยา พวกสำส่อนทางเพศ ผิดศีลธรรม เลยทำให้เกิดการไม่ยอมรับ ความรังเกียจ และความกลัว ในยุคนั้นคนไม่เข้าใจและปฏิเสธที่จะเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ หลวงพ่อเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคเอดส์ ก็กลายเป็นเรื่องผิดปกติไป เกิดการต่อสู้ทาง ความคิดระหว่างพฤติกรรมของหลวงพ่อกับคนในสังคมเวลานั้น แต่ถ้าถามถึงหลักการและเหตุผล ก็ต้องบอกว่า เราอยู่ร่วมกับเอดส์ได้ด้วยความไม่รังเกียจ เพราะเอดส์ไม่ใช่โรคร้ายแรงน่ากลัวอย่างที่คนทั่วไปคิด หลวงพ่อก็พยายามพูด พยายามสอนให้คนเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนทัศนคติกับเจตคติของคน จากที่คน ไม่กล้าเข้าใกล้ผู้ป่วย จนวันนี้คนไปวัดเพื่อจะไปเรียนรู้เรื่องนี้มากมาย ขณะเดียวกัน เราก็อยากให้คนรับรู้ด้วยว่า คนที่เป็นเอดส์แล้วชีวิตเป็นอย่างไร เพราะคนเป็นเอดส์พอป่วยแล้วอยู่บ้านไม่ได้ ไม่มีงานทำ กลายเป็นภาระทางสังคมไปโดยปริยาย แต่ถ้าหากว่าเขาแข็งแรงมีชีวิตอยู่ได้เหมือนคนทั่วไป เราก็ต้องมีงานให้เขาทำ แล้วสังคมจะยอมรับได้ไหม ช่วงที่ผ่านมายังไม่ยอมรับ กลายเป็นปัญหาที่หลวงพ่อจะต้องกลับมาคิดอีกว่าจะทำอย่างไร...
|
Last Updated on Wednesday, 25 April 2012 04:55 |