Tuesday, 10 January 2012 08:05 |
รวมรูปภาพ สไลด์โชว์ ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย
"หลวงพ่อพุธ ฐานิโย" หรือ "พระราชสังวรญาณ" เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ซึ่งถือว่าเป็นพระอาจารย์และสหายทางธรรม ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อีกทั้งยังเคยได้ปฏิบัติธรรมร่วมกับเหล่าครูบาอาจารย์สายวัดป่ากรรมฐานท่านอื่นๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นในสมัยนั้นอีกด้วย ชีวิตในวัยเด็กของหลวงพ่อพุธนั้นเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก ท่านเล่าให้ฟังว่า ประดาความทุกข์ทั้งหลายที่ประดังเข้าใส่นั้นทำให้ท่านมองเห็นธรรมะมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
ต่อมา เมื่อได้มีโอกาสเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา หลวงพ่อพุธก็มีเหตุให้ได้พบกับธรรมอยู่เนืองๆ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะโดยพื้นฐานแล้ว หลวงพ่อพุธเป็นคนที่สุขภาพไม่ค่อยจะสู้ดี แต่การที่ท่านสุขภาพไม่ดีนั้นกลับกลายเป็นว่าให้คุณมากกว่าโทษ
เวลาที่หลวงพ่อพุธต้องนอนป่วยอยู่คนเดียวเงียบๆ นั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐ เพราะในช่วงเวลาแบบนี้ ท่านสามารถใช้สติพินิจพิจารณาความจริงของชีวิตได้อย่างอิสระเสรี ความเจ็บป่วยสำหรับหลวงพ่อพุธนั้นจึงให้โอกาสในการที่จะได้เข้าใจบางมิติของชีวิตที่ลึกซึ้ง และละเอียดอ่อนเกินกว่าที่คนที่ไม่เคยเจ็บป่วยต่อเนื่องกันนานๆ จะรับรู้ได้
ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อพุธป่วยเป็นวัณโรค หมอกี่รายก็ส่ายหน้า บอกจนปัญญา ท่านจึงใช้โอกาสนี้เปลี่ยนทุกขเวทนาของท่านให้เป็นธรรมะ ธรรมะที่หลวงพ่อพุธมักจะนำมาใช้ในการนี้ก็คือหลัก "มรณสติ" อันเป็นวิธีคิดที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นการพิจารณาว่า ความตายสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และสามารถเกิดได้กับคนทุกคน หลัก "มรณสติ" นี้ คือสิ่งที่หลวงพ่อพุธใช้เป็นธรรมะในการเตือนสติตัวเองอยู่เสมอ เพราะหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ท่านก็ได้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอีกจนแทบเอาชีวิตไม่รอด
ประดาเหตุการณ์ทั้งหลายที่ทำให้หลวงพ่อพุธเฉียดเข้าใกล้ความตายเองนี้ที่ในเวลาต่อมาได้กลายเป็น "มรณสติ" ที่เปิดโอกาสในการที่ท่านจะได้เข้าใจบางมิติของชีวิตที่ลึกซึ้ง และละเอียดอ่อนเกินกว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะรับรู้ได้
สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลวงพ่อพุธมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติธรรมอย่างลึกซึ้ง จนอาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นพระอริยบุคคลที่ชำนาญในเรื่อง "ฌานสมาธิ" มากที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย
เราจะบวชตลอดชีวิต อาจกล่าวได้ว่า "การเห็นทุกข์" คือหัวใจสำคัญของ "การเห็นธรรม" เพราะ "ทุกข์" เป็นความจริงอย่างแรก (ตรงกับอริยสัจข้อแรก) ที่เปรียบเสมือนจุดตั้งต้นทางความคิดของการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธทั้งระบบ
พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าหากไม่ยอมรับว่าชีวิตนี้เป็น "ทุกข์" ก็จะไม่มีการยอมรับ "ความจริงอื่นๆ" (หรืออริยสัจข้ออื่นๆ) ที่ตามมา สุดท้ายก็จะไม่มีการยอมรับว่า "นิพพาน" (หรือความพ้นทุกข์) เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า ชีวิตในวัยเด็กของหลวงพ่อพุธนั้นต้องประสบกับความทุกข์ที่รุมเร้าอยู่ลึกๆ ข้างในชีวิตมาโดยตลอด ความทุกข์นี้ได้กลายเป็นพลังผลักดันภายในที่รุนแรงที่ทำให้ท่านตั้งปณิธานที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
หลวงพ่อพุธเล่าถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็กว่า ...
"ก่อนจะได้บวชเณร มันก็คิดขึ้นมาเอง คิดตามประสาเด็ก ๆ แต่ก็มีหลักธรรมอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว จิตมันก็คิดขึ้นมาว่า "เออ! นี่เราเกิดมาคนเดียว ในท้องพ่อท้องแม่ของเรานี้มีเราคนเดียว พี่น้องก็ไม่มี ถ้าเราอยู่เป็นฆราวาส ถ้าเรามีลูกมีเต้า ถ้าพ่อมันก็ตาย แม่มันก็ตาย ใครหนอจะเอาลูกเรามาเลี้ยง อันนี้พ่อแม่เราตาย ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง อา ป้าลุง ของเราก็ยังมี เขายังอุตส่าห์เก็บเอาเรามาเลี้ยง แต่นี่เราตัวคนเดียว ใครจะมารับผิดชอบลูกเต้าของเรา"
ตั้งแต่บัดนั้นมา เราก็ตั้งปณิธานว่า "เราจะบวชตลอดชีวิต"
ตอนที่ไปบวชนั่นอายุย่าง 15 ปี เพิ่งเรียนจบประถมปีที่ 6 ประถมปีที่ 6 สมัยนั้นไปเป็นครู เป็นข้าราชการก็ไปได้ ทีนี้ครูเขาก็ชวนให้เป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียน เขาจะวิ่งเต้นช่วยบรรจุให้ หลวงพ่อก็บอกว่าได้ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะไปบวช พอวันไปบวช เครื่องแต่งตัวชุดที่ใส่ไปบวช พอผลัดเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวออก พับ ๆ แล้ว ยื่นให้ลูกศิษย์พระอุปัชฌาย์ แล้วบอกกับเขาว่า "นี่เพื่อน เอาเสื้อกางเกงชุดนี้ไปใส่แทนเราด้วย เราจะไม่ย้อนกลับมาใส่มันอีกแล้วชั่วชีวิตนี้"
ที่หลวงพ่อบวชนี้เพราะหลวงพ่อคิดว่ามีความทุกข์ โลกนี้มีแต่ความทุกข์ จึงแสวงหาทางพ้นทุกข์ ความรู้สึกมันเป็นเช่นนั้นในขณะนั้น แต่ว่าความรู้สึกทุกข์ทรมานตามความรู้สึกสามัญสำนึกธรรมดามันมีอยู่ตั้งแต่เริ่มรู้เดียงสามา คือความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ ว่า เราขาดพ่อขาดแม่ ขาดความอบอุ่น แม้แต่ไปเล่นกับเพื่อนบ้าน บางทีเขาก็โมโหให้ บางทีเขาก็ด่า “ไอ้ลูกไม่มีพ่อแม่สั่งสอน” อะไรทำนองนั้น มันก็รู้สึกกระทบกระเทือนจิต มีความรู้สึกอยู่เช่นนั้นตลอดมา จนกระทั่งบวชเณร”ที่มาจาก หนังสือ "วินาทีบรรลุธรรม พระอรหันต์มีจริง" เล่ม 5
|
Last Updated on Tuesday, 10 January 2012 08:28 |