ไม่มาเกิด ไม่มาตายเรียกว่า ชาติสุดท้าย |
Monday, 28 March 2011 06:49 | |||
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล“หลวงปู่เสาร์ก็เช่นเดียวกันเป็นอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายเรียกว่าปรมาจารย์ เป็นอาจารย์ชั้นเยี่ยมในสมัยปัจจุบัน” หลวงปู่มั่นเรานี้ไปแบบหนึ่ง ส่วนหลวงปู่เสาร์นี้ก็ไปอย่างนั้นแหละ ไปเรียบๆ นี่ก็อัฐิเป็นพระธาตุเหมือนกันนะ หลวงปู่เสาร์อัฐิก็เป็นพระธาตุ หลวงปู่มั่นก็เรียกว่าเป็นมาแล้ว นั่นก็เป็นตั้งแต่นู้นแหละ ตั้งแต่มรณภาพแล้วทีแรก หลวงปู่เสาร์ก็เป็นเหมือนกัน ท่านเป็นคู่กันนะ ไปที่ไหนไปด้วยกัน ท่านติดกันมาแต่นู่นแหละ นี่ละสององค์นี้เบิกกรรมฐานเรานะ จากนั้นก็หลวงปู่มั่นเป็นผู้เบิกจริงๆ เบิกกรรมฐานจึงได้มีร่องรอยมาจนกระทั่งทุกวันนี้มาจากหลวงปู่มั่นเรา
ปฏิปทาของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโลพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) กล่าวถึง ปฏิปทาของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ไว้ในหนังสือ “ฐานิยตฺเถรวตฺถุ” ว่าดังนี้ :
หลักปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้ท่านจะสอนให้พวกเราประกอบความเพียรดังกล่าวตั้งแต่หัวค่ำ จนกระทั่งเวลา 4 ทุ่ม พอถึง 4 ทุ่มแล้วก็จำวัดพักผ่อนตามอัธยาศัย พอถึงตี 3 ท่านก็เตือนให้ลุกขึ้นมาบำเพ็ญเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา หรือทำวัตรสวดมนต์ก็ตามที่จะถนัด แต่หลักที่ท่านยึดเป็นหลักที่แน่นอนที่สุดก็คือว่าในเบื้องต้นท่านจะสอนให้ลูกศิษย์หัดนอน 4 ทุ่ม ตื่นตี 3 ในขณะที่ยังไม่ได้นอนหรือตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำกิจวัตร มีการสวดมนต์ ไหว้พระ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ท่านก็จะสอนให้ทำอย่างนี้ อันนี้เป็นหลักสำคัญที่ท่านจะรีบเร่งอบรมสั่งสอนและฝึกลูกศิษย์ให้ทำให้ได้ ถ้าหากยังทำไม่ได้ท่านก็ยังไม่อบรมสั่งสอนธรรมะส่วนละเอียดขึ้นไป เพราะอันนี้เป็นการฝึกหัดดัดนิสัยให้มีระเบียบ นอนก็มีระเบียบ ตื่นก็มีระเบียบ การฉันก็ต้องมีระเบียบ คือฉันหนเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตฉันเป็นวัตร อันนี้เป็นข้อวัตรที่ท่านถือเคร่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อฉันในบาตร ฉันหนเดียว อันนี้ท่านยึดเป็นหัวใจหลักของการปฏิบัติกรรมฐานเลยทีเดียว
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี หลักสมวิปัสสนาของพระอาจารย์เสาร์ พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ 4 ดิน-น้ำ-ลม-ไฟหลักการสอนท่านก็สอนในหลักของสมถวิปัสสนา ท่านจะเน้นหนักในการสอนให้เจริญพุทธคุณเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนใจพิจารณาธาตุกรรมฐาน ให้พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็พยายามพิจารณาว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร มีแต่ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้นหาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัว เป็นอนัตตาทั้งนั้น จะมีตัวตนในเมื่อแยกออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี แต่อาศัยความประชุมพร้อมของธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ มีปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองอยู่ในร่างอันนี้ เราจึงสมมติบัญญัติว่า สัตว์บุคคลตัวตนของเรา อันนี้เป็นแนวการสอนของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ การพิจารณาเพียงแค่ว่าพิจารณากายคตาสติก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี ตามหลักวิชาการท่านว่าเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน แต่ท่านก็ย้ำให้พิจารณาอยู่ในกายคตาสติกรรมฐานกับธาตุกรรมฐานนี้เป็นส่วนใหญ่ ที่ท่านย้ำๆ ให้พิจารณาอย่างนี้ ก็เพราะว่าทำให้ภูมิจิตภูมิใจของนักปฏิบัติก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากายคตาสติ แยก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น
ท่านบอกว่า เร่งเข้าๆๆเมื่อหลวงพ่อไปเล่าเรื่องภาวนาให้ท่านฟัง ถ้าสิ่งใดที่มันถูกต้อง ท่านบอกว่าเร่งเข้าๆๆ แล้วจะไม่อธิบาย แต่ถ้าหากว่ามันไม่ถูกต้อง เช่น อย่างใครทำสมาธิภาวนามาแล้วมันคล้ายๆ กับว่า พอจิตสว่างรู้เห็นนิมิตขึ้นมาแล้วก็น้อมเอานิมิตเข้ามา พอนิมิตเข้ามาถึงตัวถึงใจแล้ว มันรู้สึกว่าอึดอัดใจเหมือนหัวใจถูกบีบแล้ว สมาธิที่สว่างก็มืดไปเลย อันนี้ท่านบอกว่าอย่าทำอย่างนั้น มันไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา ถ้าหากว่าไปเล่าให้อาจารย์องค์ใดฟัง ถ้าท่านแนะนำว่าให้น้อมให้เอานิมิตท่านแนะนำให้กำหนดรู้จิตเฉยอยู่คล้ายๆ กับว่าไม่สนใจกับนิมิตนั้น แล้วนิมิตนั้นจะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในแง่ต่างๆ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดี มีสมาธิมั่นคง เราจะอาศัยความเปลี่ยนแปลงของมโนภาพอันเป็นของนิมิตนั้น เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ บางทีสมาธิของเรามันแน่วแน่ ความทรงจำมันฝังลึกลงไปในคล้ายๆ มองเป็นนิมิตนั้นอยู่ นึกถึงมันก็เห็น ไม่นึกถึงมันก็เห็น มันติดตาติดใจอยู่อย่างนั้นอันนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ว่ากันง่ายๆ ถ้าจิตของเรามองเพ่งอยู่ที่ภาพนิ่ง เป็นอุคคห|นิมิต ถ้าจิตเพ่งรู้ความเปลี่ยนแปลงของนิมิตนั้น เป็นปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตเป็นสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน แต่ปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นสมาธิขั้นวิปัสสนาเพราะจิตกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลง อันนี้ถ้าหากว่าใครภาวนาได้นิมิตอย่างนี้ ไปเล่าให้ท่านอาจารย์เสาร์ฟังท่านจะบอกว่า เอ้อ! ดีแล้ว เร่งเข้าๆๆ แต่ถ้าใครไปบอกว่า ในเมื่อเห็นนิมิตแล้ว ผมหรือดิฉันน้อมเข้ามาในจิตในใจ แต่ทำไมเมื่อนิมิตเข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว จิตที่สว่างไสวปลอดโปร่ง รู้ ตื่น เบิกบาน มันมืดมิดลงไปแล้วเหมือนกับหัวใจถูกบีบ หลังจากนั้น จิตของเราไม่เป็นตัวของตัวคล้ายๆ กับว่าอำนาจสิ่งที่เข้ามานั้นมันครอบไปหมด ถ้าไปเล่าให้ฟังอย่างนี้ ท่านจะบอกว่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้องเมื่อเห็นนิมิตแล้วให้กำหนดรู้เฉยๆ อย่าน้อมเข้ามา ถ้าน้อมเข้ามาแล้ว นิมิตเข้ามาในตัวมันจะกลายเป็นการทรงวิญญาณ อันนี้เป็นเคล็ดลับในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมาแนะนำเราว่า ทำสมาธิแล้วแล้วให้น้อมจิตไปรับเอาอำนาจเบื้องบนหรือนิมิต แล้วให้น้อมเข้ามาในตัว อันนี้อย่าไปเอา มันไม่ถูกต้อง ในสายพระอาจารย์เสาร์ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ
ทำไมพระอาจารย์เสาร์ภาวนาพุทโธ เพราะพุทโธเป็นกิริยาของใจหลวงพ่อก็เลยเคยแอบถามท่านว่าทำไมจึงต้องภาวนา พุทโธ ท่านก็อธิบายให้ฟังว่าที่ให้ภาวนาพุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ ถ้าเราเขียนเป็นตัวหนังสือเราจะเขียน พ-พาน-สระอุ-ท-ทหาร สะกด สระ โอ ตัว ธ-ธง อ่านว่า พุทโธ อันนี้เป็นเพียงคำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้วมันสงบวูบลงไปนิ่งสว่างรู้ตื่นเบิกบาน พอหลังจากนั้นคำว่า พุทโธ มันก็หายไปแล้ว ทำไมมันจึงหายไปเพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว จิตกลายเป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธ แล้วก็ไปนิ่ง แล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ จิตสงบ ยังแถมมีปีติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก อันนี้มันเป็นพุทธะ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิตมันใกล้กับความจริงแล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่น พุทโธๆๆ ในขณะที่จิตเราไม่เป็นเช่นนั้น ที่เราต้องมาบ่นว่าพุทโธนั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบพุทโธ ในขณะที่พุทโธยังไม่เกิดขึ้นกับจิตนี้ เราก็ต้องท่อง พุทโธๆๆๆ เหมือนกับว่าเราต้องการจะพบเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็นเขา หรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียกชื่อเขา ทีนี้ในเมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนากันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกซ้ำๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยวเขาด่าเอา ทีนี้ในทำนองเดียวกันในเมื่อเรียก พุทโธๆๆ เข้ามาในจิตของเรา เมื่อจิตของเราได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้าควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้สมาธิของเราจะถอนทันที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบาน จะหายไป เพราะสมาธิถอน ทีนี้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่าเมื่อเราภาวนาพุทโธไป จิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นท่านก็ให้ประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติอย่างนั้น ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเราจะค่อยสงบ ละเอียดๆๆ ลงไป ในช่วงเหตุการณ์ต่างๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอกเกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาข้างในจะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วหมด ตับ ไต ไส้ พุง เห็นหมด แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี่เหมือนกับแก้วโหร่ง ดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เราจุดไว้ในพลบครอบแล้วสามารถเปล่งรัศมีมีสว่างออกมารอบๆ จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป จนกระทั่งว่ากายหายไปแล้วจึงจะเหลือแต่จิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียวร่างกายตัวตนหายหมด ถ้าหากจิตดวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมาเบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป ฉะนั้น คำว่า พุทโธๆๆ นี้มันไม่ได้ติดตามไปกับสมาธิ พอจิตสงบเป็นสมาธิแล้วมันทิ้งทันที ทิ้งแล้วมันก็ได้แต่สงบนิ่ง แต่อนุสติ 2 คือกายคตานุสติ อานาปานสติถ้าตามหลักวิชาการท่านว่า ได้ทั้งสมถะทิ้งวิปัสสนา ทีนี้ถ้าเราภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบ นิ่งสว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ถ้ามันเพ่งออกไปข้างนอกไปเห็นภาพนิมิตถ้าหากว่านิมิตนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสมถกรรมฐาน ถ้าหากนิมิตเปลี่ยนแปลงก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ทีนี้ถ้าหากจิตทิ้งพุทโธ แล้วจิตอยู่นิ่งสว่าง จิตวิ่งเข้ามาข้างใน มารู้เห็นภายในกาย รู้อาการ 32 รู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งร่างกายปกติแล้วมันตายเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป มันเข้าไปกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งร่างกายปกติแล้วมันตายเน่าเปื่อยผุพังสลายไป มันเข้าไปกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะคือกายกับจิตมันก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันก็คลุกเคล้าอยู่ในอันเดียวกันนั้นแหละ แล้วอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเคยได้ยินได้ฟังว่าสมาธิขั้นสมถะมันไม่เกิดภูมิความรู้ อันนี้ก็เข้าใจผิด ความรู้แจ้งเห็นจริง เราจะรู้ชัดเจนในสมาธิขั้นสมถะมันไม่เกิดภูมิความรู้ อันนี้ก็เข้าใจผิด ความรู้แจ้งเห็นจริง เราจะรู้ชัดเจนในสมาธิขั้นสมถะเพราะสมาธิขั้นสมถะนี่มันเป็นสมาธิที่อยู่ในฌานมันเกิดอภิญญา ความรู้ยิ่งเห็นจริง แต่ความรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะ มันจะรู้เห็นแบบชนิดไม่มีภาษาที่จะพูดว่าอะไรเป็นอะไร สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เช่น มองเห็นการตาย ตายแล้วมันก็ไม่ว่า เน่าแล้วมันก็ไม่ว่า ผุพังสลายตัวไปแล้วมันก็ไม่ว่า ในขณะที่มันรู้อยู่นั่น แต่เมื่อมันถอนออกมาแล้วยังเหลือแต่ความทรงจำ จิตจึงจะมาอธิบายให้ตัวเองฟังเพื่อความเข้าใจทีหลังเรียกว่าเจริญวิปัสสนา แยกออกเป็นส่วนๆ เราจะมองเห็นว่าในกายของเรานี้ก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นแต่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เท่านั้น ถ้าว่ากายนี้เป็นตัวเป็นตน ทำไมจึงจะเรียกว่าขน ทำไมจึงจะเรียกว่าเล็บ ว่าฟัน ว่าเนื้อ ว่าเอ็น ว่ากระดูก ในเมื่อแยกออกไปเรียกอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา นอกจากนั้นก็จะมองเห็นอสุภกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกเน่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดมั่นถือว่าเป็นอัตตาตัวตน แล้วพิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบ สงบแล้วจิตจะปฏิวัติตัวไปสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ ผู้ภาวนาก็เริ่มจะรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของร่างกายอันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณากายแยกออกเป็นส่วนๆ ส่วนนี้เป็นดิน ส่วนนี้เป็นน้ำ ส่วนนี้เป็นลม ส่วนนี้เป็นไฟ เราก็จะมองเห็นว่าร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ สัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ก็ทำให้จิตของเรามองเห็นอนัตตาได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการเจริญกายคตาสติก็ดี การเจริญธาตุกรรมฐานก็ดี จึงเป็นแนวทางให้จิตดำเนินก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้ และอีกอันหนึ่งอานาปานสติ ท่านก็ยึดเป็นหลักการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมฐานอานาปานสติการกำหนดพิจารณากำหนดลมหายใจนั้น จะไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน จะบริกรรมภาวนาก็ดี จะพิจารณาก็ดี ในเมื่อจิตสงบลงไป ปล่อยวางอารมณ์ที่พิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่จิตจะไปรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ในเมื่อจิตตามรู้ลมหายใจเข้าออกกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ จิตเอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ สติเอาลมหายใจเป็นสิ่งระลึก ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามปกติของร่างกาย เมื่อสติไปจับอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นฐานที่ตั้งของสติ ลมหายใจเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย สติไปกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จดจ่ออยู่ที่ตรงนั้นวิตกถึงลมหายใจ มีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะนั้น จิตก็มีวิตกวิจารอยู่กับลมหายใจ เมื่อจิตใจสงบลงไป ลมหายใจก็ค่อยละเอียดๆ ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดลมหายใจก็หายขาดไป เมื่อลมหายใจหายขาดไปจากความรู้สึก ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็พลอยหายไปด้วย ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าลมหายใจยังไม่หายขาดไปกายก็ยังปรากฏอยู่ เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปข้างใน จิตจะไปสงบนิ่งอยู่ในท่ามกลางของกาย แล้วก็แผ่รัศมีออกมารู้ทั่วทั้งกาย จิตสามารถที่จะมองเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้หมดทั้งตัว เพราะลมย่อมวิ่งเข้าไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลมวิ่งไปถึงไหนของร่างกายได้หมดทั้งตัว เพราะลมย่อมวิ่งเข้าไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลมวิ่งไปถึงไหนจิตก็รู้ไปถึงนั่น ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่แขนซ้ายแขนขวา ขาขวาขาซ้ายเมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปแล้วจิตจะรู้ทั่วกายหมด ในขณะใดกายยังปรากฏอยู่ จิตสงบอยู่สงบนิ่ง รู้สว่างอยู่ในกาย วิตก วิจาร คือจิตรู้อยู่ภายใจกาย สติก็รู้พร้อมอยู่ในกายในอันดับนั้นปีติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขบังเกิดขึ้น จิตก็เป็นหนึ่ง นิวรณ์ 5 กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็หายไป จิตกลายเป็นสมถะ มีพลังพอที่จะปราบนิวรณ์ 5 ให้สงบระงับไป ผู้ภาวนาก็จะมองเห็นผลประโยชน์ในการเจริญสมถกรรมฐาน
|