Home เรื่องเล่าตอนเข้าค่าย กิเลสมาร-การสร้างบารมี
กิเลสมาร-การสร้างบารมี
Monday, 01 November 2010 09:53

กิเลสมาร-การสร้างบารมี
โดย

พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

 

 

          ต่อไปนี้ ตั้งใจอธิษฐานจิตทำสมาธิภาวนา อุกาสะ ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนาเพื่อปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เพื่อให้จิตของข้าพเจ้าเป็นสมาธิ สติภวังค์ รู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริงในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการเทอญ

 


          พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆๆ แล้วสำรวมเอาคำว่าพุทโธเพียงคำเดียว พุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออก หรือถ้าการกำหนดลมลำบาก ก็นึกพุทโธ ๆๆๆๆ เพียงคำเดียว ทำจิตให้แน่วแน่ ว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในจิตของเรา เราจะกำหนดเอาจิตของเรากับพุทโธให้อยู่ด้วยกันไม่พรากจากกัน ในขั้นต้น ๆ ให้พยายามบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆๆๆ นึกพุทโธด้วยความรู้สึกเบา ๆ อย่าไปข่มจิต อย่าไปบังคับจิต แต่ว่านึกพุทโธไม่หยุด ผู้กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก พร้อมกับพุทโธ พุธ ลมเข้า โธ ลมออก กำหนดรู้พร้อมกันอยู่อย่างนี้ แล้วไม่ต้องไปนึกว่าเมื่อไรจิตจะสงบ ?เมื่อไรจิตจะสว่าง เมื่อไรจะรู้โน่นเห็นนี่ ไม่ต้องไปนึกทั้งนั้น หน้าที่เพียงแค่นึกถึงบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆๆๆๆ อยู่ในจิตอย่างเดียว จิตจะสงบให้เป็นเรื่องของจิตเอง จิตจะไม่สงบก็ให้เป็นเรื่องของจิตเอง ถ้าหากในขณะใดจิตยังนึกพุทโธ ๆๆ อยู่ ก็ปล่อยให้นึกอยู่อย่างนั้น ถ้าขณะใดนึกพุทโธไป จิตหยุดพุทโธ ไปนิ่ง ว่างอยู่เฉย ๆ แต่รู้สึกกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ คือสงบจากทุกขเวทนา หายปวดหายเมื่อยหายมึน แม้จิตจะไปนิ่งอยู่เฉย ๆ ก็ปล่อยให้นิ่งอยู่อย่างนั้น หลังจากนั้น ถ้าหากว่าจิตหยุดนิ่งไปนึกถึงสิ่งใด ปล่อยให้จิตคิดไป แต่ให้มีสติตามรู้เรื่อยไป ธรรมชาติของจิต ถ้ามีความคิด ถ้าเราไป แต่ให้มีสติตามรู้เรื่อยไป ธรรมชาติของจิต ถ้ามีความคิด ถ้าเราตั้งใจกำหนดรู้ เขาจะหยุดคิด แล้วเกิดความว่างขึ้นมา ให้กำหนดรู้อยู่ที่ความว่าง ถ้าคิดรู้อยู่ที่ความคิด สลับกันไปอย่างนี้ อันนี้เป็นการภาวนาในขั้นต้น

 


          เข้าใจว่านักปฏิบัติของเรายังไม่ได้สมาธิที่แน่นอน เท่าที่พิจารณาดูความเป็นของนักปฏิบัติทั้งหลาย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ผู้ที่ทำจิตให้เป็นสมาธิได้จริง ๆ นี่มีน้อย สาเหตุที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะนักปฏิบัติทั้งหลายไปชิงสุกก่อนห่าม หรือรู้ตามสัญญามากกว่าความเป็นจริง ไปสำคัญว่าเรามีความรู้ เรามีความเห็น แต่มันเป็นความคิดรู้เอาโดยสัญญา เป็นแต่เพียงสติปัญญาธรรมดา แต่ยังไม่ใช่ปัญญาในสมาธิ ปัญญาในสมาธิหมายถึงความรู้ที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตมีความสงบ มันเป็นความรู้ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาเองด้วยพลังของจิตที่มีสมาธิ มีสติ และมีปัญญา โดยธรรมชาติของการประชุมพร้อมแห่งอริยมรรค ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมลงที่จิตเป็นหนึ่ง หนึ่งคือตัวปกติรู้ ที่รู้ ตื่น เบิกบาน ภายในจิตของนักภาวนานั้นเอง

 


          สมาธิที่เป็นเองโดยธรรมชาติของจิตที่มีพลังงานพอที่จะเป็นสมาธิได้ เราจะตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม สมาธิเกิดขึ้นได้ทุกขณะ บางครั้งมีสิ่งอันเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม มากระทบวิ่งเข้าไปสู่จิต แทนที่จิตจะไปวุ่นวายทำความดีใจ เสียใจ กับสิ่งที่มากระทบ จิตวิ่งเข้าไปกำหนดรู้ที่จิตแล้วพิจารณาเหตุผลแห่งอารมณ์นั้น ๆ แล้วก็ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบ นิ่ง ว่าง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน นี่ถ้าสมาธิมีอยู่โดยปกติแล้ว จะเป็นอย่างนี้

 

          ผู้ที่ทำสมาธิภาวนา ได้สมาธิ ได้สติ แม้แต่เพียงได้อุปจารสมาธิ หรือมีสติกำหนดรู้เตรียมพร้อมอยู่ที่จิตตลอดเวลา เมื่อมีอารมณ์อันใดผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ สติสัมปชัญญะตัวนี้จะทำหน้าที่ของเขาทันที แล้วสติตัวนี้จะคอยระมัดระวังอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ถ้าเวลาอยู่นิ่ง ๆ คนเดียว จิตจะวิ่งเข้าไปสู่สมาธิ ค้นคว้าพิจารณาอยู่ภายในกายในจิต แต่ถ้ามีสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ผ่านเข้ามาในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตจะมีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

 


          เมื่อก้าวลงบันไดไปสู่สังคมโลก สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การก้าวเดิน
          เวลาหยุดเดิน ยืน สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่กับการยืน
          เวลานั่งลง สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การนั่ง
          เวลานอน สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การนอน
          เวลารับประทาน สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การรับประทาน
          เวลาดื่ม สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การดื่ม
          เวลาทำอะไร สติสัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ที่การทำ
          เวลาพูด สติสัมปชัญญะจะกำหนดรู้อยู่ที่การพูด
          เวลาคิด สติสัมปชัญญะจะตามรู้ความคิดตลอดเวลา


          เมื่อสติกำหนดตามรู้สิ่งเหล่านี้อยู่ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ มีปัญหาข้องใจอะไรเกิดขึ้น จิตจะมีสติกำหนดพิจารณาสิ่งนั้นตั้งแต่ต้นจนปลาย จนรู้เหตุรู้ผล รู้ผลได้ผลเสียแห่งสิ่งนั้น ๆ ถ้าสิ่งใดที่ทำลงไป พูดลงไป คิดลงไป มันจะมีแต่ผลเสีย สติสัมปชัญญะจะคอยกระตุ้นเตือน บอกกับตัวเองว่าอย่า ๆๆ ถ้าสิ่งใดที่จะเป็นคุณ เป็นประโยชน์ เป็นทางเพิ่มคุณธรรมที่จะปฏิวัติจิตให้ไปสู่มรรคผลนิพพาน สติสัมปชัญญะก็จะกระตุ้นเตือนให้รีบเร่งหมั่นขยัน นี่ พึงสังเกตความเป็นไปของจิตของตนอย่างนี้

 

          เมื่อเรามีการเกี่ยวข้องกับคนอื่น เรามีความหวังดีต่อคนอื่น อยากจะให้เขาประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อเราให้คำแนะนำสั่งสอนตักเตือน ถ้าเขายอมรับ จิตของเราจะทำหน้าที่ให้การอบรมตักเตือนสั่งสอนเรื่อยไป ด้วยความเมตตาปรานี ด้วยความหวังดีที่จะช่วยพยุงความประพฤติกาย วาจา และใจ ให้มีระดับสูงขึ้น เป็นการสงเคราะห์กันด้วยธรรม เป็นการแสดงความเมตตากันโดยธรรม แต่ถ้าหากว่าช่วงใดผู้ใดไม่ยอมรับฟังโอวาทคำสั่งสอน จิตของผู้รู้พิจารณาแล้วว่าทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์ นอกจากจะทำให้เกิดมีการร้าวฉานแตกสามัคคีซึ่งกันและกัน ก็หยุดเสีย ผู้ที่มีสมาธิ มีสติ มีปัญญา จะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนี่ มันขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของผู้ปฏิบัติเอง


          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยกล่าวอ้างว่า ฉันจะหยิบยื่นมรรคผลนิพพานให้เธอ เธอจงรับเอาด้วยมือทั้ง ๒ ข้าง ไม่เคยมีคำกล่าวไว้ที่ไหน แต่พระองค์จะกล่าวว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก บอกทางบุญ ทางกุศล ทางบาป ทำสิ่งนี้เป็นบาป ทำสิ่งนี้เป็นบุญ กำหนดทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก จิตย่อมได้สมาธิ ได้สติปัญญารู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริง แต่สิ่งเหล่านั้น เราตถาคตหยิบยื่นให้เธอไม่ได้ เธอต้องสละกำลังกาย กำลังใจ ประพฤติปฏิบัติดุจวีรบุรุษ กล้าสละชีวิตเข้าสู่ณรงค์สงครามโดยไม่ย่อท้อ และไม่มีความหวาดเกรงศัสตราอาวุธของข้าศึกแต่ประการใด

 

          นักปฏิบัติทั้งหลายผู้มีจิตใจเข้มแข็ง ย่อมยอมเสียสละชีวิตเพื่อบูชาข้อวัตรปฏิบัติ ไม่เห็นแก่ความสุขเพียงเล็กน้อย ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่เห็นแก่ความสุข ความสบาย สนุกเพลิดเพลิน เพราะความสนุกเพลิดเพลิน ความสบายที่เป็นไปตามกระแสแห่งโลก ๆ นั้น มันมีลักษณะเปรียบเทียบเหมือนกับยาพิษเคลือบน้ำตาล เมื่อเรายังหลงอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุข และอำนาจ นั่นแหละเราหลงติดอยู่ในยาพิษเคลือบน้ำตาล เราบริโภคเข้าไปแล้วมันเกิดมีรสหวาน แต่เข้าไปตกถึงท้องแล้วมันทำให้ปวดแสบปวดร้อน เพราะฉะนั้น บางสิ่งบางอย่างที่เราทำไป เราคิดว่ามันเป็นการถูกต้อง คือมันถูกต้องตามความรู้สึกนึกคิดของเรา แต่ไปผิดกฎของธรรมชาติที่มันจะทำให้เกิดบาปกรรม ในขณะที่ทำ เราอาจจะมีความดีใจ สนุก เพลิดเพลิน แต่เมื่อทำลงไปแล้ว เราจะรู้สึกว่าเดือดร้อนเพราะการทำผิดพระธรรมวินัยมันจะเกิดเดือดร้อนวิปฏิสารอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนกับโจรผู้ร้ายที่ไปจี้ ปล้น ตัดช่องย่องเบา แย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน ในขณะที่เขาทำการอยู่นั้นได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการ เขาดีอกดีใจ บางทีเกิดปิติ เกิดความสุขเพราะได้สิ่งนั้นมา แต่ความสุขที่เขาได้มานั้น สิ่งที่เขาได้มานั้นนั่นแหละคือยาพิษเคลือบน้ำตาล ได้มาแล้วจะบริโภคก็หวาดระแวง เอาไปไว้ที่ไหนก็หวาดระแวง ทำความเดือดร้อนให้อยู่ตลอดเวลา

 

          ดังนั้น สมณะหรือนักบวชนักปฏิบัติทั้งหลายที่ขาดความจงรักภักดี ขาดความซื่อสัตย์ต่อพระธรรมวินัย ขาดความซื่อตรงต่อคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปแอบทำความผิดอยู่เฉพาะตัว แม้คนอื่นจะไม่เห็นแต่ตัวเองก็เดือดร้อน เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นผู้ทำผิด


          ดังนั้น การที่เรามาทำจิตใจ ทำสมาธิภาวนา ก็เพื่อจะสร้างจิตของเราให้มีพลังงานคือสมาธิ ให้มีสติคือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เราน้อมจิตน้อมใจ น้อมอารมณ์เข้ามาสู่ใจ เพื่อให้รู้สภาพความจริงของใจของจิต ถ้าเรารู้ว่าจิตของเรายังเต็มไปด้วยเจตนาที่ชั่วร้าย เราก็พยายามปฏิบัติศีลให้เคร่งครัดเข้า ถ้าสิ่งใดที่มีเจตนามีแนวโน้มไปทางบุญ ทางกุศล ทางความดี ทางศีลสมาธิ ภาวนา มรรคผลนิพพาน ฝึกฝนอบรมจิตของตนเอง ให้มีความคล่องตัวต่อความเป็นเช่นนั้น

 


          ขนฺตี ปรมํ ตโป ตี ติกฺขา? ความอดทน ความอดกลั้น ความทนทานเป็นตบะธรรมคือความเพียร เผาผลาญอย่างยิ่ง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชอบ ความเกลียด มีกันอยู่ทุกคน เมื่อเรามีเจตนามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเพื่อขจัดกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น ควรละหรือที่เราจะปล่อยจิตของเราให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส โดยปราศจากสติสัมปชัญญะ ความยับยั้งชั่งใจต่อขันติความอดทน เราเรียนธรรม เรียนวินัย เราฟังธรรม ฟังวินัยที่ครูบาอาจารย์เทศน์ก็ดี หรือในคัมภีร์ก็ดี เพื่อศึกษาให้รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป อะไรเป็นทางสวรรค์ อะไรเป็นทางนรก อะไรเป็นทางมรรคผลนิพพาน เพื่อให้เรารู้และเข้าใจ เข้าใจแล้วจะได้น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ปรับกาย วาจา และใจของตนเองให้เป็นไปตามระบอบแห่งพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง

 

          ในต้อนต้น แม้ว่าเรายังรู้สึกฝืนใจ เมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ เมื่อตาเห็นรูป ความชอบ ความเกลียดย่อมมี เมื่อเรายังมีกิเลสเป็นปุถุชนอยู่ หูได้ยินเสียง ความชอบความเกลียดย่อมมี เมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ ในเมื่อลิ้นสัมผัสกับรส ความชอบ ความไม่ชอบย่อมมี เมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ กลิ่นมากระทบจมูก ความชอบ ความเกลียดย่อมมี เมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ การสัมผัสทางกาย สิ่งที่ทำให้เราชอบใจก็มี ไม่ชอบใจก็มี เรานึกถึงอารมณ์ในจิต อารมณ์อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ความชอบใจ ไม่ชอบใจก็ย่อมมีเพราะเรามีกิเลสอยู่ ดูกันที่ตรงนี้ดีไหม ดูให้รู้แจ้งชัดเจนลงไปว่า เรายังชอบอะไรอยู่ในที่มันเป็นบาปอกุศล เรายังชอบอะไรอยู่ที่มันเป็นบุญเป็นกุศล เมื่อเรารู้ว่าจิตของเราชอบหรือไม่ชอบ เราจะปฏิวัติจิตของเราไปแปรสภาพไปในทางที่ถูกต้อง หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์จิตที่มันชอบหมายถึงชอบในสิ่งที่เป็นบาปอกุศล

 


          ในขณะที่เราแก้ไขมันยังไม่ได้ เราก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะพิจารณาดุคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ แล้วใช้ขันติ ความอดทน ความอดกลั้น ความทนทาน จนมันเกิดเป็นตบะธรรมเพราะมันเคยชินต่อการอด อดทนเสียจนเป็นนิสัย


          นิสัยหมายถึงความเคยชิน ทีแรกเราตั้งใจอดทน แต่ว่ามันอยากจะละเมิดล่วงเกิน จิตใจมันนึกตะหงิด ๆ อยู่ เอาดีหรือไม่เอาดี แต่เราอาศัยความอดทน พยายามน้อมจิตน้อมใจให้ไปในทางที่ถูกที่ชอบ ที่ควร เมื่อฝึกอบรมจนคล่องตัว มันเป็นนิสัย นิสัยก็คือความเคยชิน ตอนที่เรายังไม่มีศีล ไม่มีธรรม การก้าวเดินของเราก็ไม่สุภาพเรียบร้อย กระโดกกระเดก ลงสั้นเท้าดังตึง ๆ ไม่ใช่สันดานผู้ดี แต่เมื่อเราพยายามอดทนฝึกหัดค่อยย่องเบา ๆ จนเคยชินจนคล่องตัว หนัก ๆ เข้าการเดินของเรา ก็จะมีความสุภาพเรียบร้อย ฝีเท้าก็เบาไม่ตึง ๆ ลงส้นเหมือนอย่างแต่ก่อน และเมื่อเราฝึกหัดจนเคยชินจนคล่องตัวแล้ว ต่อไปเราไม่ต้องตั้งใจว่าเราจะทำอย่างนั้น เพราะอาศัยความคล่องตัวนั้น ความเบา ความสุภาพ ความอ่อนโยน มันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

 

          แม้การกระทบสิ่งอื่น ๆ อันเป็นไปด้วยกายก็ดี ก็ต้องอาศัยความอดทน อาศัยการฝึกหัดจนคล่องตัว จนเป็นนิสัย แม้แต่การพูดด้วยวาจาก็ดี ก็ต้องอดทน พยายามหาคำพูดที่สุภาพอ่อนโยนมาเปล่งออก คำด่า คำเสียดสี คำครหานินทา หรือคำว่าร้าย หรือการตำหนิด้วยเจตนาที่จะทำลาย เราอดทนไม่ทำเช่นนั้น เพราะมันผิดศีลอดทนเสียจนคล่องตัว จนเป็นนิสัย จนเราพูดคำหยาบคายไม่ได้ จิตใจของเราก็ฝึกอบรมให้มีแนวโน้มนึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณศีล คุณทาน ที่เราบำเพ็ญมาแล้วในอดีต ปัจจุบัน และจะทำไปในอนาคต จนกระทั่งจิตของเรามีแนวโน้มไปในทางบุญทางกุศลตลอดเวลาเป็นนิสัย นิสัยที่เราสร้างขึ้นด้วยกาย สร้างขึ้นด้วยวาจา สร้างขึ้นด้วยจิต คือเจตนาอันแน่วแน่ เมื่อมันถึงซึ่งความละเอียดอย่างลึกซึ้งลงไปในจิต มันกลายเป็นอุปนิสัย

 


          สิ่งที่เป็นอุปนิสัยคือสิ่งที่เป็นเองโดยอัตโนมัติที่เราฝึกหัดเสียจนคล่องตัว จนเป็นอุปนิสัยฝังแน่นอยู่ในจิตสันดาน สิ่งที่เป็นอุปนิสัยที่สั่งสมอบรมบ่มเอาให้มาก ๆ ก็เพิ่มพูนขึ้น หนักแน่นลงไปเป็นวาสนาเป็นบารมี ในเมื่อถึงขั้นแห่งอุปนิสัย วาสนา บารมี คุณงามความดีที่เราทำมาแล้ว ไม่ต้องนึกถึงก็ได้ มันมีอยู่ในจิตของเราตลอดเวลา เวลาใกล้ตายไม่ต้องตั้งใจภาวนา ไม่ต้องตั้งใจนึกถึงเพราะสิ่งที่เป็นอุปนิสัย วาสนา บารมี นั้นมันมีอยู่แล้วในจิตของเรา เมื่อถึงคราวจำเป็นเมื่อไร เมื่อถึงคราวเกิดเหตุร้ายเมื่อไร อุปนิสัย วาสนา บุญบารมีนั้น มันจะวิ่งเข้ามาช่วย ช่วยจิตช่วยใจของเรา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงให้พวกเราฝึกหัดดัดนิสัยให้คล่องตัวต่อการทำความดี ฝึกหัดดัดนิสัยให้คล่องตัวต่อการละความชั่วคือความบาป

 


          หน้าที่ของผู้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบวช หน้าที่โดยตรงก็คือ พยายามละความชั่ว เริ่มต้นแต่ตั้งใจละโดยเจตนา ฝึกฝนอบรมจนกระทั่งเป็นนิสัยที่เคยชินต่อการละ นิสัยที่เคยชิน เมื่อเพิ่มพลังงานขึ้นกลายเปลี่ยนเป็นอุปนิสัย เป็นวาสนา บารมี เพราะฉะนั้น คนเราที่เกิดมามีฐานะต่ำสูงกว่ากัน บ้างก็มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด บ้างก็มีความโง่เง่าเต่าตุ่น บ้างก็โง่จนกระทั่งถึงขนาดที่ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ไปปฏิบัติอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะอุปนิสัย วาสนา บารมี เก่าก่อน มาสนับสนุนให้เราเป็นเช่นนั้น กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ากรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปต่าง ๆ กัน ทุกคนมีความปรารถนาดี มีความต้องการดี แต่ทำดีไม่ได้ เพราะอุปนิสัย วาสนา บารมีของเขาเคยสร้างแต่ความไม่ดีมา บางคนสามารถที่จะสร้างความดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ได้อย่างคล่องตัวและชำนิชำนาญโดยไม่มีภาระอันใดให้คนอื่นต้องลากจูง นั่นเพราะบุญ วาสนา บารมีของเก่าของเขามาสนับสนุน ความเป็นไปต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ รู้ชาติในอดีตของพระองค์ได้ รู้จุตูปปาตญาณ รู้การจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลายได้ รู้กัมมัสสกตาญาณ รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกฎแห่งกรรม

 


          ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับสังคมและบุคคล พระพุทธเจ้าท่านก็พยายามสอนแต่บุคคลผู้ที่ท่านสอนได้ ผู้ที่ท่านสอนไม่ได้คือเทวทัต ท่านก็ปล่อยตามบุญตามกรรม ถึงแม้ว่าปล่อยตามบุญตามกรรมพระองค์ท่านก็ยังไม่ขาดเมตตา ลองคิดดูซิ พระมหากรุณาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อท่านเทวทัต ขนาดเทวทัตข้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฎ คิดจะทำร้ายพระพุทธเจ้า กลิ้งก้อนหินลงมาหมายจะให้ทับพระพุทธเจ้าให้แหลกละเอียดเป็นจุณวิจุณ พระองค์ทรงพิจารณาดูวาระจิตของท่านเทวทัต ทรงทราบว่า ถ้าเทวทัตไม่ได้ทำร้ายเราแม้แต่นิดหน่อย เทวทัตจะอกแตกตาย หมดโอกาสที่จะได้กลับเนื้อกลับตัว เมื่อก้อนหิน สะเก็ดหินแตกกระเด็นลงมา พระองค์ยื่นพระบาทไปรองรับให้สะเก็ดหินที่พระเทวทัตโยนลงมานั้นถูกฝ่าพระบาทห้อพระโลหิตขึ้นนิดหน่อย พระเทวทัตก็ดีอกดีใจว่าเราได้ทำร้ายพระพุทธเจ้าสมประสงค์แล้ว แม้ไม่ตายก็ยังดี แล้วก็ยังมีชีวิตต่อไป จนกระทั่งหนัก ๆ เข้าพาลูกศิษย์ลูกหาหนีไปจากพระพุทธเจ้าจะไปตั้งศาสนาใหม่ แต่เสร็จแล้วไป ๆ มา ๆ เพราะท่านเทวทัตทำอนันตริยกรรม จิตที่เคยเป็นสมาธิได้ฌานสมาบัติเหาะเหินเดินอากาศได้ เมื่อทำให้เสื่อมสูญจากคุณงามความดี ทำอนันตริยธรรม ศีลก็ขาด สมาธิก็เสื่อมสูญ อิทธิฤทธิ์ก็พังทลาย เมื่อก่อนเทวทัตจะไปไหนมาไหนเหาะเหินเดินอากาศ หลังจากที่ทำอนันตริยกรรม คุณธรรมเสื่อมไปแล้ว ไปที่ไหนก็มีแต่เดินต๊อก ๆๆๆ ตากแดด เหาะไปไม่ได้เหมือนอย่างก่อน

 

          ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านจะทำกรรมอะไรที่ท่านอดทนไม่ได้ ทำไปเถอะ ขออย่างเดียว อย่าไปเผลอทำอนันตริยกรรมก็แล้วกัน อนันตริยกรรมนั้น ถ้าทำลงไปแล้วเสื่อมจากมรรคผลนิพพานตั้งอยู่ในฐานปาราชิก เป็นผู้พ่ายแพ้ในพระพุทธศาสนา อย่าทำ มันบาปหนัก
          ๑. ฆ่าบิดา
          ๒. ฆ่ามารดา
          ๓. ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิตขึ้น
          ๔. ฆ่าพระอรหันต์
          ๕. ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน


          ระวังนะ เวลาพระวัดใดวัดหนึ่งขัดผลประโยชน์กัน แตกสามัคคีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน ญาติโยมอย่าไปสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดี๋ยวจะกลายเป็นอนันตริยกรรมโดยไม่รู้ตัว เช่นหลวงพ่อวัดใต้หลวงพ่อวัดเหนือ ต่างก็มีญาติโยมกันเยอะแยะ ขัดผลประโยชน์กันแล้วก็ทะเลาะถกเถียงกัน ต่างคนก็ต่างมีลูกศิษย์ ทั้งพระทั้งโยมแตกกันเป็นพรรคเป็นพวก ยกพวกขึ้นมารบกัน ถ้าพระสงฆ์แตกสามัคคีกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ฝ่ายละ ๔ รูปขึ้น นั่นเป็นสังฆเภท ในเมื่อสังฆเภทแล้วก็เป็นอนันตริยกรรม ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน บาปนักบาปหนา เพราะฉะนั้น การทำบาปทำกรรมให้ระวังอนันตริยกรรมให้มาก ๆ


          การทำบาปอย่างอื่นเช่นฆ่ามนุษย์เป็นต้น แต่ไม่ใช่พ่อใช่แม่ของเรา ไม่ใช่บุคคลดังกล่าวมาใน ๕ อย่างนั้น ยังมีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เช่น พระองคุลีมาล ฆ่าคนมาที่นับได้ ๙๙๙ คน พอได้มาพบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์สมบูรณ์ ได้สำเร็จเป็นอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวน ๘๐ องค์ ฉะนั้น ไม่เป็นไร ลืมเสียเถิด บาปกรรมอย่างใดที่เราทำมาแล้ว ยกเว้นอนันตริยกรรม ถ้าสงสัยข้องใจว่าเราจะเป็นบาปเป็นกรรม จะปิดทางมรรคผลนิพพาน ให้พยายามข่มจิตข่มใจอย่าได้ไประลึกถึงมันเป็นอันขาด ถ้าอดระลึกถึงไม่ได้ก็ให้หมั่นนึกถึงพระพุทธเจ้า พุทโธ ๆๆๆ มาก ๆ จนมันลืมความหลัง เมื่อลืมความหลังแล้ว จิตก็มาจดจ้องที่คุณพระพุทธเจ้าคือพุทโธ มันก็ไม่นึกถึงบาปเก่าแก่ที่ผ่านมาแล้ว จิตมันก็ไม่ได้ไปกังวลกับบาปในอดีต การนึกถึงพุทโธเป็นพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เริ่มนึกถึงก็เป็นบุญแม้จิตไม่สงบก็ตาม เพราะฉะนั้น การทำสมาธิภาวนาในเบื้องต้นนี้ ต้องพยายามเอาสมาธิให้ได้ แม้แต่เพียงอุปจารสมาธิก็ยังดี

 


          แต่มันมีอย่างนี้นะญาติโยม ปญฺจมาเร ชิเนนาโถ หลวงปู่สิงห์ใหญ่ท่านกล่าวว่า ปลุกใจเพื่อปราบมาร คาถาปลุกใจก็คือ พุทโธ ๆๆ ทีนี้มารนี้ ตัวขันธมารนี่เป็นตัวสำคัญ ขันธมารก็คือร่างกายของเรานั่นแหละ มันนั่งไปนาน มันปวด มันเมื่อย มันเจ็บ เมื่อมันเกิดปวดเมื่อยเจ็บขึ้นมาแล้ว ตัวกิเลสมารมันก็มาแทรกคือ อรติ ความไม่ยินดีต่อการปฏิบัติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มันกลัวตาย ถ้าปฏิบัติมากไปมันปวดหลาย เดี๋ยวแข้งขามันจะมึนเซาไปหมด จะกลายเป็นง่อยเป็นเปลี้ย เลยปฏิบัติต่อไปไม่ได้ ถูกกิเลสมารมันทำลาย ทีนี้เวลาขันธมารมันแสดงฤทธิ์มันขึ้นมา ถ้ายิ่งในขณะใดที่เราภาวนาพุทโธ ๆๆๆ จิตมันใกล้ ๆ จะสงบ นั่นแหละขันธมารจะแสดงตัวให้ปรากฏทันที ความเจ็บปวด ความปวดเมื่อย มันก็บังเกิดขึ้นมาก ประเดี๋ยวปวดต้นคอ ประเดี๋ยวปวดหัส ประเดี๋ยวปวดตา ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างที่จิตจะเข้าสู่สมาธิตัดขาดจากร่างกายนี่แหละ อุปสรรคอันนี้จะบังเกิดขึ้น แหม มันอึดอัดรำคาญเหลือทน อยากกระโดดโลดเต้น ทีนี้ในตอนนี้ถ้านักภาวนาท่านใดอดทนพยายามเอาชนะมันให้ได้ โดยไม่ยอมแพ้มันง่าย ๆ ต่อสู้กับมันจนสุดวิสัยที่จะสู้ได้ จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ ฝึกหัดอดทนบ่อย ๆ ทนไม่ได้ก็ทน ทนได้ก็ทน จนเกิดความคล่องตัว จนชำนิชำนาญ จนกระทั่งว่าเรานั่งตลอดวันยังค่ำไม่พลิกไม่เปลี่ยนอิริยาบถได้แล้ว ภายหลังมันจะต่อสู้กับมันได้ ในเมื่อผ่านในขั้นนี้ตอนนี้ไปแล้ว ต่อไปการภาวนาจะสะดวกสบายมาก

 


          ทำไมขันธมารมันจึงแสดงออกมาให้ปรากฏและกิเลสมารก็มาย้ำเข้าไปอีก กิเลสทั้งหลายนี่มันกลัวเราจะหนีจากมัน เพราะฉะนั้นมันจึงแสดงฤทธิ์มาขัดขวางเรา เราจะต้องปราบมันด้วยความอดทน ด้วยความอดกลั้น ด้วยความทนทาน ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ จนกระทั่งจิตเข้าสู่สมาธิ กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ แถมมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง นั่นแหละ เราจึงจะปราบขันธมารให้ผ่านพ้นไปได้ นี่ต้องพยายามเอาตรงนี้ให้ได้ ถ้าหากตราบใดที่เราเอาสมาธิในขั้นต้นนี้ไม่ได้แล้ว เราพูดไม่รู้ภาษากันหรอก อย่ามัวแต่ว่าฉันเก่ง เธอเก่ง พอหันหน้าเข้ามาแล้วทะเลาะถกเถียงกันอุตลุด


          เพราะฉะนั้น ใครยึดหลักการปฏิบัติแบบไหนอย่างไรให้มันแน่วแน่ พุทโธ ก็พุทโธไป ยุบหนอพองหนอ ก็ยุบหนอพองหนอไป สัมมาอะระหัง ก็สัมมาอะระหังไป วิธีการปฏิบัติไม่มีแต่เฉพาะ ๓ อย่างดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น บางทีพอขี้เกียจขึ้นมา อาจจะนั่งหลับตาทำใจให้มันอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องตั้งใจไปคิดมัน แต่ถ้ามันคิดแล้วกำหนดสติรู้ทันที คิดแล้วรู้ทันที ๆ ไล่ตามมันไปอย่างนี้ มันก็สบายดีเหมือนกัน ลองดูซิ มันจะสามารถเข้าไปสู่สมาธิได้หรือเปล่า แต่คนทั้งหลายเขาว่าอย่างนี้

 

          หลวงพ่อเทศน์ว่า ขณะที่บริกรรมภาวนาอยู่ ถ้าจิตอยู่กับบริกรรมภาวนาปล่อยให้มันอยู่ไป แต่ถ้ามันทิ้งบริกรรมภาวนาไปคิดอย่างอื่นก็ควรปล่อยให้มันไปบ้าง แต่อย่าลืมทำสติกำหนดตามรู้ทันเรื่อยไป มีพระองค์หนึ่งบอกว่า อุ๊ย ทำอย่างนั้นมันก็ยิ่งฟุ้งใหญ่ซิ เขาว่าอย่างนั้น ลอง ๆ ดู มันจะฟุ้งไหม ถ้าเราจะยึดว่าในขณะใดที่เราบังคับจิตของเราให้หยุดนิ่ง หรืออยู่กับบริกรรมภาวนาไม่ได้ ถ้าเราจะคิดว่า เอ้า! มันจะคิดไปถึงไหน ฉันจะตามดูแก แกจะลงห้วย ลงเหว ขึ้นฟ้า ขึ้นสวรรค์ ลงนรก ฉันจะตามแกไป ไปให้จนสุดกำลังนั่นแหละ ลองดู แล้วโอกาสที่จิตจะสงบเป็นสมาธิเพราะการตามดูอารมณ์จิตนี่มันจะมีได้ไหม โอ๊ย!! อันนี้มีแต่ไปเชื่อคนอื่นเขา ท่านว่าภาวนาพุทโธ ๆๆ จิตมันจะสงบ สว่าง มีสมาธิ มีปีติ มีความสุข ก็ไปเชื่อ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ทำไม่ได้ แล้วก็ไปยึดอยู่นั่นแหละ ทีนี้ทีหลังมาคนอื่นเขาว่า ยุบหนอ-พองหนอ ยุบหนอพองหนอ จิตเขาสงบ นิ่ง ว่าง สว่าง มีปีติ มีความสุข พอได้ยินเข้าตัวไม่เคยยุบเคยพองกับเขา ถ้าหากเขาปฏิบัติไม่ถูกอยู่แล้ว

 


          นักปฏิบัติของเราอย่าเป็นเช่นนั้น ให้พยายามทำใจให้มันเป็นกลางต่อวิธีการปฏิบัติ ที่กล่าว ๆ เถียง ๆ กัน ขัดกัน แย้งกันอยู่นั้น เป็นแต่เพียงไปยึดอยู่ที่วิธีการเท่านั้นเอง เช่นอย่างบางที บางท่านก็ว่าภาวนาพุทโธ พุทโธ จิตมันสงบเป็นสมถะเท่านั้นแหละ ไม่ถึงวิปัสสนาหรอก บางทีบางท่านภาวนายุบหนอ-พองหนอ จิตสงบวูบลง สว่างโพล่ง ถึงวิปัสสนาแล้ว ภาวนาพุทโธจิตสงบวูบลง นิ่งสว่างโพล่งขึ้น เป็นสมถะ แล้วทีนี้เมื่อภาวนา ๒ อย่างนี้ เวลาจิตสงบแล้วมันเป็นเหมือน ๆ กันนี่ จะเรียกว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา จิตสงบนิ่งรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว หรือไปรู้อยู่ในสิ่ง ๆ เดียว มันเป็นสมถะทั้งนั้นแหละ ทีนี้จิตที่สงบลงเป็นสมถะนั้นก็มีวิปัสสนาอยู่ด้วยกันนั้นแหละ มันมีอยู่ด้วยกันอย่างไร ประการแรกเราจะได้รู้ว่าสภาพจิตนี่ถ้าเราฝึกฝนอบรมแล้วมันเปลี่ยนได้ เปลี่ยนจากความวุ่นวายไปสู่ความสงบเยือกเย็น เปลี่ยนจากความเดือดร้อนไปสู่ความสุข ความเยือกเย็น เพียงแค่นี้ก็มองเห็นแล้วความเปลี่ยนแปลง ก็ไปกำหนดรู้อนิจจังซิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใครมีจิตสงบเป็นสมาธินิ่งปุ๊บลงไป สว่างโพล่งขึ้นมา ก็รู้ทันทีว่านี่คือสมาธิ ความสงบ

 


          ความสงบนิ่งของจิตเป็นสมาธิคือสมถะ ความรู้ว่าสมาธิเป็นอย่างนี้ จิตสงบเป็นสมถะเป็นอย่างนี้ เป็นสมาธิเป็นอย่างนี้ ความรู้แจ้งเห็นจริง หายสงสัยนั้นคือวิปัสสนา จะไปเที่ยวหาเถียงกันให้มันปวดหัวสมองทำไม


          ทีนี้ในการแก้ปัญหาเรื่องธรรมะต่าง ๆ นี่ แก้กันที่ตรงไหน แก้กันที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
          จกฺขุนา สํวโร สาธุ การสำรวมตาเป็นการดี
          สาธุ โสเตน สํวโร การสำรวมหูเป็นการดี 
          ฆาเนนะ สํวโร สาธุ การสำรวมจมูกเป็นการดี
          ชิวหาย สํวโร สาธุ การสำรวมลิ้นเป็นการดี
          กาเยน สํวโร สาธุ การสำรวมกายเป็นการดี
          มนสา สํวโร สาธุ การสำรวมเป็นการดี
          สพฺพทา สํวโร ภิกขุ ภิกษุสำรวมในที่ทั้งปวงย่อมพ้นจากทุกข์


          มันพ้นอย่างไร สำรวมตานี่สำรวมอย่างไร มีตาแล้วไม่ค่อยดูอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ ดู แต่ต้องให้สติอย่าให้มันเป็นตาหาเรื่อง หูได้ยินเสียงก็อย่าให้เป็นหูหาเรื่อง จมูกก็อย่าให้เป็นจมูกหาเรื่อง ลิ้นก็อย่าให้เป็นลิ้นหาเรื่อง กายก็อย่าเป็นกายหาเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น พระเถระกรรมฐานใหญ่โตเดินทางมา เขาจัดกุฏิร้าง ๆ ให้พัก โอ๊ย! มันทำไม่สมเกียรติสมยศเรา แน่ะมันกลายเป็นกายหาเรื่องแล้ว มันอยากนอนที่ดี ๆ


          เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนี่ อยู่ที่การฝึกสติสัมปชัญญะให้รู้พร้อมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นแหละคือความมีสติปัญญา ความรู้แจ้งเห็นจริง รู้ว่าอะไรเป็นบาป รู้ว่าอะไรเป็นบุญ แก้บาปให้มันมาก ๆ เพิ่มบุญให้มันมาก ๆ มันก็เป็นการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่มันอยู่ที่ความตั้งใจนะ พระพุทธเจ้าท่านบอกแล้วว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา ?พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก ใครอยากได้ดิบได้ดีทำเอา

 

          อีกอย่างหนึ่ง ก่อนที่จะจบบรรยายนี้ ขอแนะนำวิธีสร้างพลังจิต การนอนเป็นเวลา การตื่นเป็นเวลา การรับประทานเป็นเวลา การขับถ่ายเป็นเวลา การอาบน้ำชำระกายเป็นเวลา ทำอะไรให้ตรงต่อเวลา แล้วก็ให้มีสัจจะไว้ในใจว่า เราจะทำอะไรให้มันจริงใจสักอย่างหนึ่ง ให้เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของใจ นี่คือแผนการสร้างพลังจิต พลังใจ การทำอะไรเป็นเวลาตรงไปตรงมา มันเป็นการสร้างสัจจะบารมี ถ้าใครมีสัจจะความจริงใจ มีสัจจะบารมี ใกล้ต่อการตรัสรู้ ถ้าขาดสัจจะความจริงใจแล้วยังห่าง

 

          พระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์ พระอานนท์เป็นพระเจ้าแผ่นดินของพระนครหนึ่ง เมื่อถึงหน้าแล้ง พระฤๅษีก็เหาะมาทางอากาศมาพักอยู่ในอุทยานของพระเจ้าแผ่นดินอานนท์ ทีนี้พระเจ้าแผ่นดินอานนท์ทรงทราบ เสด็จไปเฝ้านมัสการถวายการอุปถัมภ์อุปัฏฐาก เพราะบารมีที่ท่านสร้างร่วมกันมาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจให้เอาใจใส่กัน พระฤๅษีก็อนุเคราะห์ด้วยธรรมะ ด้วยอิทธิฤทธิ์ อธิษฐานจิตให้พระราชา พระราชินี มีความสุข ความสบาย พระราชาก็ถวายการอุปัฏฐากด้วยการนิมนต์มาฉันจังหันในพระราชวังทุกวัน ๆ


          ทีนี้อยู่มาในกาลครั้งหนึ่ง ข้าศึกมาประชิดชายแดน เรียกว่าโจรผู้ร้ายก่อจลาจลขึ้นมา พระเจ้าแผ่นดินยกทัพไปปราบโจร มอบหน้าที่การอุปัฏฐากพระฤๅษีไว้กับราชินี พระราชินีก็ทรงทำธุระหน้าที่แทนพระองค์เป็นอย่างดี แต่อยู่มาวันหนึ่ง เจ้ากรรม พระราชินีจัดสำรับมาวางไว้คอยแล้ว คอยแล้วคอยเล่าจะเฝ้า พระฤๅษีก็ไม่มาสักที ถ้าพระฤๅษีมาก็เหาะมาเข้าทางหน้าต่าง ไม่ได้เดินต๊อก ๆ มาเหมือนอย่างเรา บังเอิญวันนั้นพระราชินีคอยแล้วคอยเล่าจนทรงเหน็ดเหนื่อย ก็เอนพระวรกายลงไป ม่อยหลับไป หลับอย่างสนิท ฝ่ายพระฤๅษีก็เข้าฌานสมาบัติเพลิน พอออกจากฌานสมาบัติ เอ้า! ได้เวลาจังหันแล้ว อธิษฐานจิตเข้าสู่สมาบัติเหาะมาทางอวกาศ พอเหาะมาทางอากาศ ผ้าเครื่องนุ่งห่มของพระฤๅษีบางทีก็ใช้เปลือกไม้บ้าง บางทีก็ใช้หนังเสือบ้าง พอเหาะมาทางอากาศเสียงกระทบก็ดังสวบสาบ กระโดดชึบลงมาภายในห้องท้องพระโรง พระราชินีกำลังบรรทมหลับสะดุ้งพระองค์ตื่นขึ้นมิได้ระวังองค์ ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นการยั่วยวนให้พระฤๅษีเกิดกิเลส พอเสร็จแล้วฌานพระฤๅษีเสื่อม ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดศีล ทนไม่ไหว ก็กระโดดปล้ำพระราชินี พอฉันจังหันเสร็จ หลังจากนั้นก็ออกมาทางอากาศไม่ได้ ต้องเดิน เดินมาฉันจังหัน ฉันทั้งจังหัน ฉันทั้งเพล เสร็จก็กลับไปสู่สวนอุทยาน จนกระทั่งพระราชาปราบข้าศึกสงบราบคาบลงเสด็จกลับพระราชวัง นางสนมกำนัลก็คอยเพ็ดทูลว่า พระราชินีทำมิดีมิร้ายกับพระฤๅษีเสียแล้ว พอพระองค์ทรงทราบพระองค์ก็ทรงพิจารณาด้วยวิจารณญาณของนักปราชญ์ โดยตั้งพระทัยว่าถ้าเราจะไปถามพระฤๅษี ถ้าพระฤๅษีรับอย่างไรเราก็จะรับอย่างนั้น ปฏิญาณอย่างไรเราก็จะรับอย่างนั้น


          ทีนี้พอเสด็จไปเฝ้าก็ถามพระฤๅษีว่า พระคุณเจ้าประพฤติอย่างนั้นจริงไหม พระฤๅษีก็พิจารณาว่า โอ้! พระราชานี่เคารพนับถือเรา ถ้าเราจะโกหก พระองค์ก็ต้องทรงเชื่อ แต่ก็เรื่องอะไร เราสร้างบารมีเพื่อตรัสรู้ แล้วจะมาเสียสัจจะ เราจะทูลไปตามความจริงดีกว่า พอพระราชาถามว่า จริงไหมเล่า จริงพระเจ้าข้า แหม! พระคุณเจ้านี่ช่างเคร่งในสัจจะบารมีเสียจริง ๆ การประพฤติเช่นนี้มีโทษถึงคอขาด ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าเราเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมลงโทษผู้กระทำผิดได้โดยอาญา โดยอำนาจของเรา แต่ท่านก็ไม่กลัวความตาย น่าอัศจรรย์ เอาล่ะ พระคุณเจ้า ที่พระคุณเจ้าประพฤติล่วงเกินไปนั้นขอถวาย ไม่เอาเรื่อง แต่ต่อไปพระคุณเจ้าอย่าได้ประพฤติเช่นนั้นอีก เราอนุญาตให้


          พอเสร็จแล้วพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จกลับพระราชวัง แล้วก็ไม่ทรงกริ้วไม่เอาโทษพระมเหสีใด ๆ ทั้งนั้น ส่วนพระฤๅษีเมื่อได้รับอนุญาตแล้วพระองค์ก็มาพิจารณาว่า โอ๊ย! ความฉิบหายวายวอดเป็นเพราะเรามาสู่แดนมนุษย์นี่แหละ มาสู่แดนมนุษย์นี่มันมีแต่ภัยอันตราย พระอาจารย์ของเราก็


          ก็สอนไว้ว่า ไปสู่แดนมนุษย์แล้วให้ระวังสัตว์มีเขาที่อกจะขวิดเอาตาย เราก็มาเจอแล้วจริง ๆ อย่างนี้ซิ อย่าเลย ต่อไปนี้เราจะไม่มาใกล้มันอีกแล้ว เสร็จแล้วก็อธิษฐานจิตเข้าฌานสมาบัติเหาะหนีไปอยู่ป่าหิมพานต์แต่บัดนั้น จนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า จึงเสด็จลงมาสู่โลก


          นี่คืออำนาจของสัจจะบารมีความจริง ผิดรู้ตัวว่าผิด ถูกรู้ตัวว่าถูก ไม่โกหกใคร ผิดรับไปตามผิด ถูกรับไปตามถูก นั่นเป็นการสร้างสัจจะบารมี เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายก็ควรจะได้ฝึกหัดตัวเองให้มีสัจจะบารมีบ้าง เอาแค่สวดมนต์ ทำวัตรร่วมกันทุกวันจะนั่งสมาธิทุกวัน เดินจงกรมทุกวัน จะนั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่งก็นั่งให้มันได้ ๓๐ นาทีก็นั่งให้มันได้ อย่าไปเหลาะแหละ นี่คือการสร้างบารมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงปู่เสาร์นี่ ท่านสอนให้นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ อันนี้เป็นหลักคำสอนในเบื้องต้น ท่านเคี่ยวเข็ญนักหนา ถ้าใครปฏิบัติได้แล้ว ท่านบอกว่ามันจะมีพลังจิต พลังใจ มีสัจจะความจริงใจ

          เอาละ พอสมควรแล้ว คนพูดก็เพลินไป คนฟังก็ทนเมื่อยกันแย่ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติการบรรยายธรรมะ พอเป็นคติเตือนใจของท่านทั้งหลายด้วยเวลาเพียงเท่านี้


 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner