'พญานาค' และ 'บั้งไฟพญานาค' ศรัทธาหรือเรื่องจริง...! |
Saturday, 23 October 2010 03:06 | |||
ตามปฏิทิน “จันทรคติไทย” ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ ทั้งนี้การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า ปวารณา จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อสามารถให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักเขียน อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กูรูเรื่องสัตว์น้ำ ไขปริศนาเรื่อง “พญานาค” ในแม่น้ำโขงผ่านไทยรัฐออนไลน์มีความเป็นไปได้ไหมว่า ในแม่น้ำโขงจะมีสัตว์น้ำทีทุกเรียกว่า “พญานาค” อยู่จริง “ความเชื่อคล้ายแบบนี้ไม่ได้มีในประเทศไทยประเทศเท่านั้น แม้แต่ประเทศเจริญอย่างอังกฤษหรืออเมริกามีความเชื่อว่ามีสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่เรายังไม่รู้จักหลบซ่อนอาศัยในน้ำ อย่าง“ล็อคเนส” (ค.ศ.565 ครั้งแรกที่มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ “สัตว์ประหลาดขนาดยักษ์” ที่เรียกว่า “เนสซี่” ในทะเลสาบ ล็อคเนส สกอตแลนด์) ก็เคยมีคนรูปถ่ายรูปวิดีโอได้มีพยานยืนยันว่าเห็นจริง แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถพบซากหรือพบตัวจริงๆ ในแง่ของวิทยาศาสตร์ที่จะเอาซากเอามาตรวจ “ดีเอ็นเอ”ไว้เป็นหลักฐาน แต่นี่ไม่มี” แต่ก็อีกนั่นแหละ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำชื่อดัง บอกว่า ในแม่น้ำโขงที่ถือเป็นแม่น้ำที่ยาวติด 1 ใน 10 แม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลกอาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “พญานาค” อยู่ก็เป็นได้ เพียงแต่ว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะยืนยันว่ามี “พญานาค” อยู่จริง ที่จริงๆ มีหลายอย่างในโลกที่เมื่อก่อนคิดว่าไม่มีแต่กลับมี อย่างนักวิทยาศาสตร์เพิ่งไปเจอสัตว์ประหลาดอายุ 70 ล้านปีมาได้ ซึ่งก็ไม่มีใครคิดว่ามีมันก็มี “ส่วนที่หลายคนสงสัยว่า ตามหลักวิทยาศาสตร์สัตว์น้ำที่มีลักษณะเหมือนกับพญานาคบ้างไหม แล้วจริงๆ พญานาค เป็นสัตว์น้ำหรือเปล่า เท่าที่ผมศึกษามาไม่มีอะไรใกล้เคียงกับสัตว์ที่เราจิตนาการว่าเป็นพญานาคเลยครับ ใหญ่สุดของแม่น้ำโขงก็มีปลาบึก ซึ่งมันก็ไม่มีวี่แว่วว่ามันจะคล้ายกับพญานาค แต่มันก็เป็นไปได้หลายทางว่าเขา (หมายถึงพญานาค) อาจจะมาเป็นระยะ เพราะปลาหลายชนิดมันเป็นปลาที่อพยพ ไม่จำเป็นต้องอยู่ตลอด สัตว์หลายชนิดในแม่น้ำโขงก็อพยพขึ้นเหนือน้ำลงใต้ได้ ฉะนั้นถ้าพญานาคมีอยู่จริง ก็อาจจะเป็นเรื่องของการอพยพในช่วงจังหวะของแต่ละปีก็ได้ เหมือนกับ “ปลาวาฬบรูด้า”จะมาเฉพาะในบางช่วงของปีเท่านั้นก็น่าจะไปได้” แต่ถ้าถามว่า รูปร่างหน้าตาพญานาคเหมือนกับที่เราจิตนาการหรือไม่นั้น “มันมีปลาหลายชนิดที่มันมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับพญานาค บางคนเขาก็เรียกว่าปลาพญานาค แต่ส่วนใหญ่มันจะเป็นปลาทะเลน้ำลึก ตัวยาวๆ มีเกร็ดเหมือนกับรูปภาพที่ทหารอเมริกันจับและนำถ่ายมาเผยแพร่ ปากแม่น้ำใหญ่ๆ อย่างอเมริกาใต้มันก็มีการจับได้บางครั้งมันบาดเจ็บหรือหลงเข้ามา ซึ่งปลาตัวที่ออกมาเป็นภาพก็น่าจะใกล้เคียงกับพญานาคที่สุดแล้วส่วนปลาน้ำจืดที่ใกล้เคียงกับพญานาค มันมีแค่ปลาบึกแต่หนามคงไม่ใกล้เคียง” นอกจากนี้ กูรูเรื่องสัตว์น้ำ ยังสันนิษฐานต่ออีกว่า คำว่า “พญานาค” ในวิทยาศาสตร์ไม่มีคำจำกัดความและมีลักษณะอย่างไร ซึ่งพญานาคน่าจะต้องเป็นงูด้วยซ้ำ ไม่ใช่เป็นปลา“พญานาค” คือ “นาคา” คือ “นาคราช” ซึ่งแปลว่า “เจ้าแห่งงู” อย่างไรก็ดีมันเป็นความเชื่อของทางเหนือมาตั้งนานแล้วมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีเรื่องของกำไร ของห่วงอะไรที่เกี่ยวกับ นาคราชมาตลอดมันก็เป็นความเชื่อในพื้นที่ ไม่ใช่พูดถึงเฉพาะหนองคาย มันก็ลงไปถึงล้านนา ล้านช้าง แล้วก็ขึ้นไป “เชียงรุ้ง” “ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่า สมัยก่อนอาจจะมี สัตว์ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกับพญานาค หรือแม้แต่ปัจจุบันสัตว์ตัวนี้อาจจะอาศัยอยู่ในน้ำแต่เราไม่เจอก็มีความเป็นไปได้” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำ กล่าวเสียงหนักแน่น
ด้าน เก้ง-จิระ มะลิกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 หนังที่ว่าด้วยการแตะความศรัทธากับบั้งไปพญา นาค แสดงความคิดเห็นเรื่องพญานาคว่า ก่อนจะทำหนังเรื่องนี้ตนมีโอกาสตระเวนดูบั้งไฟพญานาคมาหลายแหล่ง ทำให้รู้ว่ามีคนเชื่อเรื่องพญานาคมากมาย แล้วก็พบว่าเมื่อใครศรัทธาอะไรมันก็จะเห็นอย่างนั้น “สมมติว่าถ้าเราเชื่อว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างไรสิ่งที่เราเห็นมันก็เป็นวิทยาศาสตร์อยู่ดี มองลงไปในน้ำก็จะเห็นว่ามันมีก๊าซผุดมาจากซากที่มาใน แม่น้ำ แล้วมันก็เกิดแรงดึงดูดของพระจันทร์และพระอาทิตย์ในวันที่ 15 ค่ำเดือน 11 แต่ถ้าเราเชื่อว่าเป็นฝีมือพญานาค ในจุดเดียวกันมองลงไปในน้ำเราก็จะเห็นพญานาคว่ายกันมาจากต้นน้ำเต็มไปหมด แล้วก็พร้อมที่จะปล่อยไฟออกจากปาก เพื่อที่จะเฉลิมฉลองในวันออกพรรษา ฉะนั้นผมเลยทิ้งเอาไว้ซีนสุดท้ายว่า “ใครเชื่ออะไรก็จะเห็นอย่างนั้น” แล้วก็ความจริงของโลกเช่น เสื้อแดงเชื่อว่าทหารยิงตำรวจ ก็ยิงครับ... เสื้อเหลืองก็บอกว่าทหารป้องกันตัว ก็ป้องกันตัวครับ... แต่ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราอยู่ในโลกได้ ว่าเราต้องศรัทธาอะไรสักอย่างหนึ่ง มันเป็นชุดความเชื่อของแต่ละบุคคลที่ไม่สามารถเชื่อเหมือนกันได้”
ด้านพระมหาวุฒิชัย หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี พระนักเทศน์ชื่อดัง ใช้ศาสนาอธิบายคำว่า "พญานาค"ว่า เมื่อเราพูดถึงพญานาค เราจะไม่ได้พูดในฐานะของสัตว์เดรัจฉาน แต่จะกล่าวถึงคนที่พัฒนาตนที่เป็นพระอรหันต์ หรือเรียกว่าเป็น “นาค” “ในมิติของศาสนาที่เราเห็นหน้าโบสถ์หน้าวิหารเป็นพญานาคนั้นไม่ใช่มิติของขลังหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด การที่มี “นาค” อยู่หน้าโบสถ์หน้าวิหารเป็นสัญลักษณ์ว่า แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ยังมาอ่อนน้อมยอมตนมาเป็นลูกศิษย์ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าย่อมเป็นยอดศาสดาเอกของโลก สอนได้ทั้งมนุษย์ เทวดา และสัตว์เดรัจฉานทั้งปวง นี่ก็เรียกว่า นาคจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ในแง่การเป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า” พระมหาวุฒิชัยกล่าวต่อถึง ความหมายที่ 2 ของคำว่านาค หมายถึงผู้ที่พัฒนาตนด้วยศีลสมาธิปัญญาจนกลายเป็นพระอรหันต์ นาคจึงเป็นชื่อของพระอรหันต์ ใครเป็นพระอรหันต์ ท่านก็เรียกว่านาคแปลว่า ผู้ประเสริฐ ส่วนผู้ที่จะเดินตามรอยพระอรหันต์ เราก็เรียกเราว่าพ่อนาค ก็เป็นเหตุที่ทำให้เราเรียกคนที่กำลังจะบวชว่าพ่อนาคแปลกว่า “ผู้ที่ตั้งมั่นว่าจะเดินตามรอยพระอรหันต์” คือมุ่งมั่นจะเป็นนาคในอนาคต ความหมายของศาสนาแท้ๆ ก็เป็นแบบนี้ “ส่วนบริบทสังคมไทย พญานาคก็หมายถึงสัตว์วิเศษ ซึ่งนานที่ปีหนก็จะมาสักครั้งหนึ่งมาร่วมอบรมสมโภชน์ในโอกาสที่พระสงฆ์จำพรรษา มาตลอดไตรมาส นาคก็จะมาอนุโมทนาสาธุกาลว่า “โอ้...พระคุณเจ้าช่างดีจริงหนอ ถือศีลปฏิบัติธรรม ตลอดไตรมาส” เขาไม่มีอะไรมาบูชาคุณธรรมอันประเสริฐเลิศล้ำของพระสงฆ์หรอก ก็มาแสดงตนให้ปรากฏว่า เขาโมทนาด้วยนะ ถึงแม้ว่าเขาจะบวชไม่ได้ แต่เขาตั้งใจที่จะอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาเช่นเดียวกัน นาคจึงมีส่วนร่วมในแง่นี้” ดังนั้นมันสะท้อนว่าขนาดสัตว์เดรัจฉานยังสนใจธรรมะ คนธรรมะอย่างคุณละถ้าไม่สนใจ คุณก็สู้สัตว์เดรัจฉานอย่างพญานาคไม่ได้
“คำถาม ก็คือ จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นจะต้องสนใจว่าพญานาคมีจริงหรือไม่ เพราะถ้าเราไปตามหาพญานาคมีจริง คุณอาจจะเสียเวลาไปทั้งชีวิต ชีวิตคุณมันสั้นมาก ไม่ต้องสนใจว่าพญานาคมีตัวตนจริงหรือไม่ แต่ควรจะสนใจว่าพญานาคเป็นสัญลักษณ์ของอะไรมากกว่า ถ้าถอดรหัสสัญลักษณ์ทั้งหมดนี้ได้ คุณก็ไม่เสียเวลาไปตามหาพญานาคตัวจริงๆ แต่ตัวคุณจะกลายเป็นพญานาคเสียเอง เพราะนาคแปลว่า ผู้ประเสริฐ ประเสริฐเพราะว่าสนใจใฝ่ธรรมะนั่นเอง ดังนั้นการมีอยู่ของพญานาคในพระพุทธศาสนา เป็นการปรากฏตัวในเชิงสัญลักษณ์ ถ้าใครไปสนใจในแง่ความมีตัวตนเสียเวลาเปล่า” เรื่อง "บั้งไฟพญานาค" ก็มีคนตั้งคำถามถึงการมีอยู่หรือแค่ความศรัทธา...? “นักสงสัยตกลงว่าบั้งไฟพญานาคเป็นฝีมือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ พญานาคหรือว่ามือมนุษย์ ถ้าเราไปเสียเวลาหาข้อเท็จจริง คุณก็จะเอาเวลาในชีวิตเสียเวลาไปทิ้งเปล่าๆถ้าบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นมา เพื่อบูชาเทศกาลออกพรรษา เราก็ควรถามตัวเองว่าแม้แต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เขายังอนุโมทนาพระที่จำพรรษาตลอดไตรมาส เลยแล้วคนอย่างเราๆ อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ที่จำพรรษาท่วมไตรมาสแล้วหรือยัง มิเช่นนั้นแต่ละปีเราก็ได้แต่ โห่ร้องไชโย...ว่าปรากฏการณ์แปลกประหลาดมหัศจรรย์ แล้วจากนั้นคุณก็ทิ้งขยะเอาไว้กองพะเนินเทินทึก เพราะคนคนหนึ่งที่พัฒนาตนจนประเสริฐเลิศล้ำที่สุดแล้วประเสริฐกว่า พระนาค 100 เท่า 1,000 เท่า คุณศรัทธาได้แต่ต้องได้ประโยชน์จากศรัทธา ศรัทธาต้องนำมา ซึ่งปัญญา ปัญญาต้องนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” พระนักเทศน์ชื่อดังกล่าวทิ้งท้าย
------------------------------------- ตำนานบั้งไฟพญานาค
พญาคันคากรู้ด้วยญาณจึงบอกมนุษย์ว่า เพราะพวกเจ้าไม่บูชาพญาแถน ท่านจึงพิโรธ จึงบันดาลมิให้มีฝนตกลงมา ความแห้งแล้งมีมาเจ็ดปี พญานาคีผู้เป็นใหญ่ในเมืองบาดาลที่เข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์คันคากอยู่ขณะนั้นได้รับฟังจึงยกทัพบุกสวรรค์โดยไม่ฟังคำทัดทานของพระโพธิสัตว์คันคาก
แต่พญานาคีพ่ายแพ้กลับมาและบาดเจ็บสาหัสด้วยต้องอาวุธของพญาแถน พระโพธิสัตว์คันคากเกิดความสงสารด้วยเห็นว่าพญานาคีทำไปด้วยต้องการขจัดความทุกข์ให้เหล่ามวลมนุษย์ จึงได้ให้พรแก่พญานาคีและเหล่าบริวาร
พญาแถนพ่าย…ร้องบอกให้พระโพธิสัตว์คันคากปล่อยตนเสีย แต่พระโพธิสัตว์คันคากกลับบอกว่าขอเพียงพญาแถนผู้เป็นใหญ่ให้พรสามประการ ก็จะมิทำประการใด
หนึ่ง…ให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาล เหล่ามวลมนุษย์จะจุดบั้งไฟบวงสรวงพญาแถน พญาแถนได้ฟังคำขอพรสามประการ(ความจริงแล้วสำหรับความคิดผมเองเป็นการขอประการเดียว และมีการบวงสรวงบูชา พญาแถนคงเห็นว่าคุ้ม) จึงได้ให้พรตามปรารถนา นับเนื่องจากนั้นมากลางเดือนหกของทุกๆ ปี ชาวอีสานจะร่วมกันทำบั้งไฟแห่ไปรอบๆ หมู่บ้านแล้วจุดบูชาพญาแถน
ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พระองค์ได้เสด็จเผยแพร่ศาสนาไปทั่วชมพูทวีป พญานาคีผู้เฝ้าติดตามเรื่องราวพระองค์ บังเกิดความเลื่อมใสและศรัทธายิ่งนัก รู้ด้วยญาณว่าพระองค์คือพญาคันคากมาจุติ จึงจำแลงกายเป็นบุรุษขอบวชเป็นสาวก ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์
ต่อมาเมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมและจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดาและเหล่าเทวดา กระทั่งครบกำหนดวันออกพรรษา พญานาคี นาคเทวี พร้อมทั้งเหล่าบริวารจัดทำเครื่องบูชาและพ่นบั้งไฟถวาย ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเนื่องจากนั้น ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จึงได้มีปรากฏการณ์ประหลาดลูกไฟสีแดงพวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงสู่ท้องฟ้า ปรากฏมาให้เห็นตราบเท่าทุกวันนี้ ทุกคนเรียกขานว่า “บั้งไฟพญานาค” ที่มา - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
|
|||
Last Updated on Monday, 25 October 2010 03:27 |