เด็กน้อยเห็นพระมา อยากใส่บาตร เพราะยายสอนว่าทำแล้วได้บุญ
แต่เที่ยวนี้ยายเกรงว่าจะเกินกำลังเด็ก เพราะของถวายมีหลายอย่างจึงใส่บาตรเอง เด็กน้อยเกิดไม่พอใจขึ้นมา จึงตียายเพื่อยายจะได้ยอมให้ตนใส่บาตรพระบ้างเหมือนอย่างวันก่อน
เด็กน้อยอยากได้บุญ เลยทำบาปด้วยการตียาย ผู้ใหญ่เห็นแล้วก็รู้สึกว่าเด็กช่างไร้เดียงสา อยากได้บุญแต่กลับทำสิ่งตรงข้าม แต่ที่จริงไม่ใช่เด็กเท่านั้นที่ทำบาปเพราะหวังได้บุญ ผู้ใหญ่ที่ทำเช่นนั้นก็มีถมไป
ขณะที่หลายหมู่บ้านในชนบทเชื่อกันว่า ถ้ามีการล้มวัวล้มควาย จึงจะเรียกว่าเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ คนเมืองจำนวนไม่น้อยก็ตั้งหน้าตั้งตาทำยอดสะสมบุญด้วยการ “ดูด” ทรัพย์จากผู้อื่นให้ได้มากที่สุด
บุญกลายเป็นบาป ส่วนหนึ่งก็เพราะความไม่เข้าใจว่าบุญนั้นหมายถึงอะไร
แทนที่บุญจะเป็นเรื่องของใจที่ลดละ โปร่งเบา เปี่ยมด้วยเมตตา กลับสำคัญผิดคิดว่าบุญนั้นวัดกันด้วยพฤติกรรมภายนอกหรือจำนวนเงิน จึงทุ่มโถมไปแต่ในแง่นั้นจนลืมเรื่องจิตใจไปโดยที่การกระทำบางอย่างก็เป็นบาปโดยตัวมันเองด้วยซ้ำ
ความปรารถนาบุญนำไปสู่การทำบาป เพราะไปคิดว่าบาปนั้นเป็นบุญ แต่ในหลายกรณีผู้คนก็มิได้ทำบาปเพราะเห็นว่านั่นเป็นบุญ แต่ทำไปเพราะความเผอเรอลืมตัว
ที่ลืมตัวก็เพราะอยากได้บุญเอามาก ๆ มากจนกระทั่งว่าเมื่อไม่เป็นดังใจหวัง ก็เลยขึ้งเครียดขุ่นเคือง จนไปเบียดเบียนผู้อื่นเข้า อย่างกรณีเด็กน้อยข้างต้น ความอยากเมื่อกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นเมื่อไร ก็สามารถทำให้บาปมาแทนที่บุญได้
ครูบาอาจารย์จึงเตือนว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นแม้กระทั่งบุญเพราะมันอาจพาให้เราทำสิ่งตรงข้ามได้
ที่จริงไม่เฉพาะเรื่องบุญกลายเป็นบาปเท่านั้น บ่อยครั้งเราจะพบว่า การกระทำของเราไปๆ มาๆ กลับสวนทางกับความคิดเหรือเจตนาแรกเริ่ม มีการกระทำบางอย่างที่เราไม่ชอบ แต่แล้วเรากลับทำสิ่งนั้นเสียเอง
ท่านพุทธทาสภิกขุเคยเล่าถึงวัดป่าแห่งหนึ่งว่า พอปลายฤดูฝนชาวบ้านจะพากันมาเก็บเห็ดในบริเวณวัด แต่ระยะหลังแม้กระทั่งเห็ดที่ยังโตไม่ได้ที่ก็ถูกเก็บไปด้วย สร้างความไม่พอใจแก่แม่ชีผู้หนึ่งมากเพราะนอกจากจะเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงคนอื่นที่จะมาเก็บในวันหลังๆ แล้ว ยังเป็นการสูญเปล่ามาก เพราะเห็ดที่ยังโตไม่ได้ที่นั้น เอาไปทำอาหารก็ไม่ได้
แม่ชีพยายามบอกชาวบ้าน ก็ไม่ได้ผล มาวันหนึ่งขณะที่แม่ชีกำลังหาเห็ดเพื่อไปทำอาหารถวายพระ บังเอิญเห็นเห็ดเล็กๆ เกิดขึ้นเป็นกลุ่ม นึกเสียดายที่ยังโตไม่เต็มที่ แต่พอจะเดินผ่านไปก็นึกขึ้นได้ว่า ถ้าคนเห็นแก่ตัวมาเห็นเข้า ก็ต้องเก็บเอาไปเป็นแน่ ไม่มีทางปล่อยให้มันโต
พอคิดได้เช่นนี้ก็เลยละล้าละลัง คิดจนแล้วจนเล่าก็ไม่รู้ว่าจะป้องกันไม่ให้เขาเก็บไปได้อย่างไร ในที่สุดความคิดหนึ่งก็เกิดขึ้น แม่ชีตัดสินใจถอนเห็ดเหล่านั้นเสียเอง แล้วก็วางเห็ดเหล่านั้นไว้ข้างๆ ต้นไม้ ทำนองจะสอนพวกที่ชอบเก็บเห็ดก่อนเวลาว่า “ทีหลังอย่าทำ ๆ”
ท่านพุทธทาสภิกขุจบเรื่องนี้ว่า “พอแม่ชีเดินผ่านไปเห็ดก็หัวเราะสนั่นทั้งป่า”
แม่ชีไม่ชอบให้คนถอนเห็ดที่ไม่ได้ขนาด แต่แล้วในที่สุดก็กลับทำเช่นนั้นเสียเอง นี้ก็ทำนองเดียวกับคนที่ไม่ชอบการโกง ครั้นเห็นว่าคนอื่นในกลุ่มทำท่าจะโกง ก็เลยโกงเสียเองเพื่อหวังจะตอบโต้เขา แต่ปรากฏว่า ตนเองกลับเป็นคนเดียวในกลุ่มที่โกง
เราเกลียดการกระทำบางอย่าง แต่แล้วเหตุไฉนเราจึงกลับทำสิ่งนั้นเสียเอง คำตอบก็คือความยึดมั่นถือมั่น การไม่เก็บเห็ดก่อนเวลาก็ดี การไม่โกงก็ดี ล้วนเป็นการกระทำที่ดีงาม แต่พอไปยึดมั่นถือมั่นเข้าก็ได้เรื่อง เพราะเมื่อคนอื่นไม่ทำสิ่งนั้นเราก็จะขุ่นเคือง กระฟัดกระเฟียด คิดหาหนทางตอบโต้ และถ้าเดือดดาลจนลืมตัวเมื่อไร ก็จะตอบโต้ด้วยการ “เล่นงาน” เขา หรือ ใช้วิธีการเดียวกับเขา เข้าทำนอง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
สำหรับคนดี ไม่มีอะไรที่น่ารังเกียจเท่ากับการทำชั่ว แต่ความโกรธเกลียดสิ่งชั่ว มักทำให้เราเผลอทำสิ่งนั้นได้ง่าย เพราะยิ่งโกรธเกลียดมากเท่าไร ก็ยิ่งลืมตัวมากเท่านั้น ไม่มีเวลาใดที่กิเลสจะชอบมากเท่ากับเวลาลืมตัว
ในสหรัฐอเมริกา การให้เสรีภาพในการทำแท้งได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากฝ่ายศาสนา ศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า การทำแท้งเป็นฆาตกรรมอย่างหนึ่ง จึงประฌามหมอและพยาบาลในคลินิกทำแท้งว่าเป็นพวกฆาตกร มีการต่อต้านฝ่ายหลังด้วยวิธีการต่างๆ นานา ทั้งโจมตีในหน้าหนังสือพิมพ์ คว่ำบาตร ชุมนุมประท้วงหน้าคลินิก แต่เมื่อไม่เป็นผล ในที่สุดก็มีคนจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปฆ่าหมอและพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีคนนับสิบถูกฆ่า และเกือบ 20 ที่บาดเจ็บเพราะการกระทำของพวกที่เรียกตัวเองว่า “เทิดทูนชีวิต” (pro-life)
ฝ่ายต่อต้านการทำแท้งถือว่าชีวิตเป็นสิ่งสูงส่ง การตัดรอนชีวิตถือเป็นสิ่งเลวร้ายน่ารังเกียจ แต่แล้วกลับทำตัวเป็นฆาตกรเสียเอง การฆ่ากลายเป็นสิ่งถูกต้องเพราะทำในนามของ “การเทิดทูนชีวิต”
การยึดมั่นถือมั่นสามารถทำให้เกิดอาการ “ตีกลับ” ได้ง่ายๆ แม้ชีวิตจะเป็นสิ่งดีงาม แต่พอยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว ก็อาจลงเอยด้วยความตายได้ง่าย ๆ
บางคนกินเจเพราะเมตตาสัตว์ แต่ทันทีที่หมายมั่นในวัตรปฏิบัติเช่นนั้น ก็กลับเกลียดคนที่ไม่กินเจ ไม่มีเมตตาจิตหลงเหลือสำหรับคนเหล่านั้นเลย
การยึดมั่นถือมั่นนี้ ทางพระเรียกว่า “อุปาทาน” ตัวอย่างที่ยกมาส่วนใหญ่เป็นการยึดมั่นถือมั่นในความคิด หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง (ที่ถือว่าดี)
แต่ก็มีบ่อยครั้ง พอทำดีมากๆ เข้าก็เกิดสำคัญตนว่าเป็นคนดีจนถึงกับยึดติดในความเป็นคนดีของตัว หรือยึดถือภาพลักษณ์คนดีนั้นเอาไว้ (พูดอย่างท่านพุทธสานภิกขุก็ต้องว่า ยึดถือภาพลักษณ์นั้นว่าเป็นตัวกูของกู) ถ้ายึดถึงขั้นนี้แล้วก็ได้เรื่อง เพราะพอภาพลักษณ์คนดีถูกกระทบเมื่อไร อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เนื่องจากเป็นการกระทบตัวตนอย่างจัง
คุณหมอ อมรา มลิลา เล่าถึงนักปฏิบัติธรรมผู้หนึ่ง ซึ่งเข้าวัดถือศีล บำเพ็ญภาวนาเป็นประจำ จนเป็นที่ยกย่องเลื่องลือในหมู่มิตรสหายแวดวงชั้นสูงว่าเป็นคนธัมมะธัมโม มาวันหนึ่งเธอพบว่าบุตรสาวเกิดตั้งท้องทั้ง ๆ ที่ยังเรียนหนังสือไม่จบ ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในใจก็คือ “ทำแท้ง” เพราะหากใครต่อใครรู้ว่าลูกสาวของเธอท้องไม่มีพ่อ ก็จะค่อนแคะเธอได้ว่าเป็นคนมีศีลมีธรรมอย่างไรกัน ปล่อยให้ลูกสำส่อน
คนซึ่งไม่ตบแม้กระทั่งยุงริ้นไร อะไรทำให้เธอกลับส่งเสริมให้ฆ่าหลานในไส้ คำตอบก็คือความยึดมั่นถือมั่นในภาพลักษณ์ตัวตน พอมีอะไรมากระทบภาพลักษณ์ซึ่งถือว่าเป็นตัวกูของกูเข้า ก็พร้อมจะทำสิ่งซึ่งสวนทางกับความดีที่ตนเชื่อ ถ้าหากว่าการกระทำเช่นนั้นจะรักษาภาพลักษณ์ตัวตนนั้นไว้ได้
ความยึดมั่นถือมั่นมักจะมีเรื่องตัวตนมาเกี่ยวข้อง อย่างกรณีแม่ชีและผู้ต่อต้านการทำแท้ง ต่างยึดมั่นกับการกระทำของตน จนกลายเป็นเรื่องเอาชนะ เพราะทั้งสองไม่ได้คิดหรือทำเฉพาะตัวคนเดียว แต่พยายามให้คนอื่นทำเหมือนตนด้วย เลยเกิดความหมายมั่นในผลสำเร็จจนกลายเป็นเรื่องแพ้ชนะ เมื่อยึดมั่นว่าตนเองต้องชนะแล้ว ก็ยิ่งมีปฏิกิริยารุนแรงตอบโต้กับคนที่ทำต่างจากตน จนพร้อมจะใช้วิธีการอะไรก็ได้เพื่อให้อีกฝ่ายสยบยอม
ขึ้นชื่อว่าความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ล้วนมีพิษภัยที่ต้องระวังไม่เฉพาะความยึดมั่นถือมั่นในความดีเท่านั้น ความยึดมั่นถือมั่นอย่างอื่นก็ไม่น่าไว้ใจ ทั้งนี้ก็เพราะไม่ว่าจะยึดมั่นถือมั่นเรื่องอะไร มันสามารถชักนำให้เกิดสิ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ยึดมั่นได้เสมอ
เด็กน้อยหมายมั่นว่าจะต้องกินข้าวไม่ให้เสียงดัง แต่พยายามเท่าไร ช้อนส้อมก็ยังกระทบกับจานอยู่นั่นแหละ ในที่สุดก็เดือดดาลฟาดช้อนกระแทกจานเสียงดังสนั่น
แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่ากับคนที่ฆ่าตัวตายเพราะเรียนได้ไม่ถึงเกรดที่ต้องการ หรือเพราะประสบความล้มเหลวในธุรกิจ คนเหล่านั้นล้วนต้องการความสุขความสำเร็จ แต่ความยึดมั่นในความสุขความสำเร็จดังกล่าว ในที่สุดกลับชักนำให้ตนสร้างความทุกข์และความล้มเหลวขั้นอุกฤษฎ์แก่ตนแทน ถ้าปล่อยวางเสียบ้าง ความสุขความสำเร็จย่อมบังเกิดแก่ตนไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ความยึดมั่นถือมั่นนั้นน่ากลัวตรงที่มันทำให้หลงตัวลืมตนได้ง่าย ถ้าได้ผลตามที่ยึดมั่นเอาไว้ก็หลงตัว ถ้าไม่เป็นไปตามที่หมายมั่นก็ลืมตนเพราะความโกรธเกลียด
ทั้งหลงตัวและลืมตนทำให้ประมาทและขาดสติ พอขาดสติแล้วก็สามารถทำสิ่งที่เป็นโทษแก่ตัวเอง หรือตรงข้ามกับความคิดความต้องการของตนได้ง่าย
สตินั้นเป็นปฏิปักษ์กับความประมาทและลืมตน ถ้าไม่อยากเป็นอย่างเด็กน้อยผู้เดือดดาลคนนั้น ก็ต้องประคองสติไว้ในใจ ให้รู้ตัวอย่างต่อเนื่อง
สติช่วยให้ยั้งคิด ไม่ผลีผลามทำตามอารมณ์โกรธเกลียด อันที่จริงถ้ามีสติมั่นคง ความโกรธเกลียดกระฟัดกระเฟียดก็ครองจิตได้ยาก
การมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ ยังช่วยคลายจิตไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นจนลุ่มหลง หรือยึดเอามาเป็นตัวกูของกูอย่างเหนียวแน่น แทนที่จะกระทำด้วยอารมณ์หรือเปิดช่องให้กิเลสมาบงการ สติชักนำปัญญาให้มาช่วยหาทางออก เพื่อให้เกิดผลตรงตามที่ต้องการหรือสอดคล้องกับความคิดอันดีงาม
ความดีนั้นดีแน่ถ้าถือไว้พอประมาณ เหมือนกับไฟฉายจะมีประโยชน์ ก็ต่อเมื่อเราถือมันไว่ส่องทาง แต่ถ้าเรากำมันไว้ทั้งวันทั้งคืนไม่ปล่อยเลย ชีวิตจะทุลักทุเลแค่ไหน ปล่อยวางเสียบ้าง แล้วเติมสติลงไปในชีวิตให้มาก ๆ หน่อย ถ้าไม่อยากให้ชีวิตตีกลับชนิด 180 องศา บทความจากหนังสือ "จิตแจ่มใส ดอกไม้บาน" งานเขียนโดย....พระไพศาล วิสาโล
|