สมถกรรมฐาน ระงับนิวรณ์ ๕ |
Sunday, 03 May 2009 02:39 | |||
ภาวนาพุทโธไปจนกว่าจิตจะสงบ มีความสว่าง มีปีติ มีความสุข อันเป็นสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน มีจุดมุ่งหมายที่จะระงับนิวรณ์ ๕ ประการ คือ กามฉันทะ ความใคร่ในกามหรือความสุขสบาย พยาปาทะ ความพยาบาทเคียดแค้น ถีนะมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญ วิจิกิจฉา ความลังเลไม่ตกลงใจที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมโดยเอาชีวิตเข้าแลก นี่คือจุดมุ่งหมายของการเจริญกรรมฐานขั้นสมถะ กรรมฐานอันใดที่เนื่องด้วยบริกรรมภาวนาพุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ เป็นวิธีการปฏิบัติสมถกรรมฐาน ใครปฏิบัติบริกรรมภาวนาอะไรก็ได้ จุดมุ่งหมายเพื่อระงับนิวรณ์ ๕ ให้สงบระงับไปจากจิตในขณะที่ภาวนาอยู่ กรรมฐานอันใดสามารถทำจิตให้สงบ สว่าง มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง จิตรู้ ตื่น เบิกบาน นิวรณ์ ๕ หายไปหมดสิ้น กรรมฐานอันนั้นเป็นกรรมฐานที่ถูกต้องใครจะภาวนาแบบไหนอย่างไรก็ตาม เมื่อสามารถทำจิตให้สงบนิ่งเป็นสมาธิ ขจัดนิวรณ์ ๕ ได้ เป็นการใช้ได้ทั้งนั้น ดังนั้น ณ โอกาสต่อไปนี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายจงบริกรรมภาวนา ใครคล่องตัวในการบริกรรมภาวนา พุทโธ ก็ว่า สัมมาอรหัง ก็เอา ยุบหนอพองหนอ ก็ใช้ได้ หลักสำคัญ ให้ขจัดนิวรณ์ ๕ ได้ เป็นจุดมุ่งหมายของการเจริญสมาธิขั้นสมถะ อันนี้สำหรับผู้ที่เริ่มต้นสำหรับผู้ที่ภาวนาเก่งแล้ว จิตมีภูมิจิต ภูมิใจ มีภูมิธรรมเกิดขึ้น เมื่อภาวนาไป จิตเกิดมีความคิด ให้มีสติกำหนดตามรู้ความคิดเรื่อยไปสำหรับผู้ใหม่ ภาวนาพุทโธ พุทโธ เป็นต้น เมื่อจิตทิ้งพุทโธไปคิดอย่างอื่น ให้กลับมานึกพุทโธๆๆ ถ้าจิตสงบลงไปแล้ว หยุดว่าพุทโธ แต่มีปีติ มีความสุข นิ่ง ว่าง อยู่เฉยๆ ก็ปล่อยให้นิ่งว่างอยู่อย่างนั้น ถ้าหากเกิดความคิดขึ้นมา ปล่อยให้คิดไป แต่มีสติตามรู้ไปทุกขณะจิต นี่คือจุดเริ่มต้นของการภาวนา อย่ากลัวติดสมถะ จิตมีปีติและความสุขเป็นภักษาหาร ผู้ภาวนาย่อมอยู่อย่างสงบเยือกเย็น หาความสุขอันใดจะเทียมเท่าความสงบจิตที่ประกอบด้วยปีติและความสุขไม่มีแล้วดังนั้น อย่ามองข้ามความสงบ อย่ามองข้ามสมาธิ ต้องให้เอาสมาธิให้ได้อย่าไปกลัวจิตจะติดสมาธิ ถ้าจิตไปติดความสงบ ติดสมาธิ ดี ดีกว่าไปติดอย่างอื่น ให้มันติดสมาธิ ติดความสงบเอาไว้ก่อน อย่าไปกลัว บางทีบางท่านภาวนาพุทโธแล้วกลัวจิตจะติดสมถะ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังไม่เคยเป็นสมถะ จิตยังไม่สงบเป็นสมถะ ยังไม่สงบเป็นสมาธิ แต่ไปกลัวจิตจะติดเสียก่อนแล้ว ในเมื่อเกิดกลัวขึ้นมา จิตก็ไม่เป็นสมาธิ เมื่อไม่เป็นสมาธิ วิปัสสนาก็ไม่มี ต้องเอาจิตให้เป็นสมาธิก่อน อันนี้สำหรับผู้ปฏิบัติเบื้องต้น ต้องยึดอันนี้เป็นหลัก
|