ไปไหนไปกับพุทโธ |
Sunday, 03 May 2009 02:40 | |||
เมื่อออกจากที่นั่งสมาธิไปแล้ว เราสามารถที่จะบริกรรมภาวนาพุทโธๆ ไว้ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ บริกรรมภาวนาพุทโธได้ไม่ต้องเลือกกาลเลือกเวลา เมื่อเรามายึดมั่นในการบริกรรมภาวนาพุทโธเป็นต้น เมื่อทำหนักๆ เข้า จิตมันเกิดคล่องตัว แม้จิตจะยังไม่สงบเป็นสมาธิดังที่กล่าวแล้ว เราจะมีความรู้สึกว่าพุทโธอยู่ในจิตของเราตลอดเวลา แล้วหลังจากนั้น ความสงบจิตก็ย่อมจะบังเกิดขึ้น ขอให้ท่านจงตั้งใจบริกรรมภาวนาด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา เชื่อมั่นในสมรรถภาพของตนเอง เชื่อมั่นในบริกรรมภาวนาอันเป็นอารมณ์ของจิต ว่าภาวนาแล้วจะต้องเกิดผลขึ้นมาอย่างแน่นอน อย่าเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ทั้งนั้น จงทำด้วยความแน่ใจ ด้วยความแน่วแน่ อย่าลังเลสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ให้ตั้งใจให้แน่วแน่ว่าจะลงนรกขอไปกับพุทโธ ขึ้นสวรรค์ขอไปกับพุทโธ จะถึงนิพพานก็ขอไปกับพุทโธ จิตอยู่กับพุทโธตลอดเวลาเมื่อพุทโธเข้าไปถึงใจแล้วถึงจิตแล้ว จิตจะกลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในขณะที่จิตยังไม่รู้ ตื่น เบิกบาน ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีจะไม่เกิดมีในจิตของท่านผู้ภาวนาพุทโธ เอ้า ต่อนี้ไปจงตั้งใจทำความสงบ บริกรรมภาวนาตามแนวทางที่เสนอแนะไปแล้ว ปฏิบัติอย่างไรเมื่อเกิดนิมิตและความคิด อารมณ์เครื่องรู้ของจิตในบางครั้งมันก็เป็นรูปเป็นร่าง เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา บางทีมันก็เป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาโดยไม่มีรูปมีร่าง แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะปรากฏขึ้นในขณะที่ทำสมาธิภาวนา ให้กำหนดจิตรู้เฉยอยู่เท่านั้น อย่าไปนึกไปคิด อย่าตกใจ อย่าเอะใจ พอเราเริ่มต้นทำสมาธิภาวนา อย่าไปนึกอยากให้จิตมันสงบ หน้าที่มีแต่บริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ อย่างเดียว จิตจะสงบให้เป็นหน้าที่ของจิต ไม่สงบให้เป็นหน้าที่ของจิต หน้าที่ของเราคือตั้งใจบริกรรมภาวนาพุทโธ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องไปนึกว่านี่อะไรหนอ แต่ถ้าจิตมันคิดของมันขึ้นมาเอง เราปล่อยให้มันคิดไป แล้วก็ฝึกให้มีสติตามรู้เรื่อยไป ถ้าหากว่าจิตของท่านผู้ใดมีความสงบจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญแล้ว ถ้าเราเริ่มต้นด้วยบริกรรมภาวนาพุทโธ พอจิตมันหยุดพุทโธไปคิดอย่างอื่น ปล่อยให้มันคิดไป ให้มีสติตามรู้ๆๆ ไป เราไปในวัดไหนๆ ให้สังเกตดูให้ดี เราจะไปหาพระหาเจ้า หาธัมมะธัมโม หาข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าไปวัดไหน ต่างคนต่างอยู่ พระเณรต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจในกันและกัน ลูกศิษย์ไม่รู้จักอาจารย์ อาจารย์ไม่รู้จักลูกศิษย์ ขาดความเอาใจใส่ดูแลสุขทุกข์ซึ่งกันและกัน อันนั้นแสดงว่าพระสงฆ์ในวัดนั้นไม่มีคุณธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่บริสุทธิ์สะอาด ถูกอามิสภายนอกหรือถูกกิเลสต่างๆ เข้าครอบงำจิต ใฝ่ฝันแต่จะแสวงหาลาภยศสรรเสริญ ใฝ่ฝันแต่จะแสวงหาโยมอุปถัมถ์อุปัฏฐาก หาบริษัทบริวาร แม้หมู่คณะกันเองไม่สนใจ จิตใจแทนที่จะอยู่ในขอบเขตของรั้วกำแพงวัด มันกระโดดออกไปอยู่ข้างนอก โดยที่สุด แม้แต่ข้าวบิณฑบาตแทนที่มันจะอยู่ในวัดเลี้ยงคนในวัด มันกลับออกไปเลี้ยงคนภายนอก นี่เพราะอะไร เพราะใจขาดคุณธรรม ขาดความเมตตากายกรรม ขาดความเมตตาวจีกรรม ขาดความเมตตามโนกรรม กลายเป็นจิตใจที่โหดเหี้ยม ไม่เอาใจใส่ดูแลสุขทุกข์ ไม่รู้จักหน้าที่ในการทำกิจวัตร ถือว่าศาสนานี่สอนแต่ญาติแต่โยมเพียงถ่ายเดียว พระเณรที่ขาดคุณธรรมมักจะลืมตัวลืมหน้าที่ ในเมื่อเราไม่พิจารณาดูจิตดูใจของเรา มันก็ไม่รู้ไม่เห็น จิตใจมันออกไปอยู่นอกโน้น มันไม่อยู่ในตัวในกายของเราสักที ลืมเนื้อลืมตัว จนกระทั่งไม่รู้จักว่าตัวเป็นอะไร ไม่เคยนึกว่าเราเป็นพระ ไม่เคยนึกว่าเราเป็นเณร ไม่เคยนึกว่าเราเป็นแม่ขาวนางชี ไม่เคยนึกว่าเราเป็นอุบาสก อุบาสิกา นั่งใกล้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาจิตใจห่างออกไปทุกทีๆ ไม่สร้างคุณงามความดีเป็นที่จูงใจของประชาชน ญาติโยมเกิดความเบื่อหน่ายไม่ศรัทธา ไม่ทำนุบำรุง หาว่าโยมใจจืดใจดำ นั่น มันเป็นไปอย่างนั้น อันนี้ต้องพิจารณาดูให้ดี วันนี้ ระดับพระเถระ มหาเถระทั้งหลาย ก็ขาดสวดมนต์ทำวัตรกันไปหลายองค์ พระวัดเรานี่ ถ้ามีพรรษา ๑-๒-๓ ขึ้นมาแล้ว ไม่รู้จักทางเดินขึ้นศาลาการเปรียญมาสวดมนต์ทำวัตร รู้จักแต่ทางที่จะเดินออกไปสวดมนต์ มาติกา บังสุกุลอย่างเดียว บวชมาเพื่อลาภสักการะหรืออย่างไร บวชมาไม่เอาความดีในธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดหรืออย่างไร ทำไมจิตใจไม่สนใจหน้าที่ของตัวเอง
|
|||
Last Updated on Sunday, 03 May 2009 02:41 |