Home วัคซีนชีวิต ฉีดได้ที่ วัดวะภูแก้ว
ธรรมะคือความจริงของชีวิต PDF Print E-mail
Thursday, 14 October 2010 11:06

ธรรมะคือความจริงของชีวิต
โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

 


          การศึกษาธรรมะตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา    เรามุ่งที่จะศึกษาให้รู้สภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง   ศาสนาพุทธ  คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องของความจริงของสภาวธรรม   เพื่อจะทำความเข้าใจกับท่านผู้ฟัง  ธรรมะที่เราถือว่าเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น  แบ่งออกได้เป็น 2  ประเภท


          1. สภาวธรรม
          2. ธรรมคำสอน


          ธรรมะประเภทที่เป็นสภาวธรรม   เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด   ที่เรายอมรับว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุว่า   พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงรู้ความจริงของสภาวธรรม  เช่น  รู้อริยสัจธรรมทั้ง 4  คือ  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  เป็นต้น   อันนี้มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นรู้   คนอื่นแม้ว่าจะมีส่วนรู้อยู่บ้างแต่ก็ยังไม่รู้เหตุหรือผล   ไม่ลึกซึ้งเหมือนพระพุทธเจ้า   อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ซึ่งเป็นบทความจริงของสภาวธรรมที่จะเป็นไปนั้น   พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงทราบ  เป็นผู้ทรงรู้   เมื่อก่อนที่พระพุทธเจ้ายังไม่เกิดนั้น   การเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมที่เรียกว่า   อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  เขาก็มีการเปลี่ยนแปลงมาก่อนแล้ว   แต่ถึงจะมีผู้รู้อยู่บ้างก็ไม่ละเอียดและรู้ไม่ถึงแก่น   แต่เมื่อพระพุทธเจ้ามารู้แจ้งเห็นจริงแล้ว   จึงเอาแก่นแท้ของ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ออกมาตีแผ่ให้ชาวโลกได้รู้ข้อเท็จจริง


          คำว่าสภาวธรรมหมายถึงอะไร    เราทุกคนมีสภาวธรรมเป็นสมบัติประจำตัวกันอยู่ทุกคน   สภาวธรรมอันนั้นคือกายกับใจ  กายกับใจคือสภาวธรรม   นอกจากกายกับใจจะเป็นสภาวธรรมแล้ว   สถานการณ์แห่งสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เราประสบอยู่  เช่น  ลมหายใจเข้าออก  อันนั้นก็คือสภาวธรรม   แม้แต่วิชาความรู้ที่เราเรียนมา   จะเป็นแขนงไหน  ศาสตร์ไหน   สิ่งเหล่านั้นคือสภาวธรรม   นี่คือสภาวธรรมที่พระพุทธเจ้ารู้แจ้งเห็นจริงมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวธรรมอันเป็นของของเรา  คือ  กายกับใจ  นอกจากพระพุทธเจ้าจะทรงรู้ความเป็นจริงของมันแล้ว   ก็ยังสามารถที่จะทราบความจริงว่าสภาวธรรมนี้มันเกิดมาเพราะอาศัยอะไรเป็นเหตุ   ที่เกิดมาเป็นคนอาศัยอะไรเป็นเหตุ   อันนี้พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุ   ที่ทำให้คนต้องเกิดมาเป็นคนก็เพราะอาศัยว่าคนพยายามรักษาศีล 5   รักษากรรมบถ 10   และใครทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จริง    ผู้นั้นมีสติเที่ยงแท้ก็เกิดมาเป็นคน  พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบ    เมื่อก่อนพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด   ยังไม่มีใครเชื่อ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง    ความเกิด    ความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  พระพุทธเจ้าทรงให้เราพิจารณาให้รู้ซึ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง

www.thaniyo.com  


          บางท่านอาจจะคิดว่า  ใครๆ เขาก็รู้กันอยู่   เกิดมาแล้วต้องแก่   ต้องเจ็บ  ต้องตาย    เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงให้มาพิจารณาดูความแก่   ความเจ็บ  ความตาย   ที่พระองค์ให้พิจารณาความแก่   ความเจ็บ  ความตาย   ก็เพื่อเป็นอุบายให้สาธุชนรู้แจ้งเห็นจริงถึงความแก่  ความเจ็บ  ความตาย   ที่เราได้ยินได้ฟังหรือรู้ ๆ  กันมานั้นเป็นแต่เพียงรู้ด้วยปัญญาว่า  เราจะต้องแก่   ต้องเจ็บ   ต้องตาย   แต่มันยังไม่ซึ้งถึงจิตถึงใจ   จิตใจของเราจึงไม่ยอมรับสิ่งเหล่านั้น   เมื่อเราไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น    เราก็ฝืนกฎของความเป็นจริง   ในเมื่อประสบความแก่เราเกิดทุกข์    เกิดความเจ็บเราทุกข์    เกิดความตายเราทุกข์   หรือคิดว่าเราจะตายเราเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที   เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเราไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเราจะเป็นอย่างนั้น   แล้วไปฝืนกฎของความเป็นจริง   จึงพากันเกิดทุกข์   สิ่งเหล่านั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบ   ในเมื่อพระองค์ทรงทราบแล้ว   จึงนำมาสั่งสอนพุทธบริษัทซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ท่านให้รู้ถึงสภาพความเป็นจริง   เริ่มต้นแต่ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้   เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา  จะหนีความเจ็บไข้ไปไม่ได้   เรามีความตายเป็นธรรมดา  จะหนีความตายไปไม่ได้   พระองค์ท่านให้พิจารณาอย่างนั้น   ก็ต้องการให้พิจารณาถึงความเป็นจริง

  


          เพราะฉะนั้น    การยึดหลักธรรมะและการปฏิบัติธรรมะตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น   เรามุ่งที่จะทำจิตใจของเราให้รู้สภาพความเป็นจริง  รู้ถึงจิตถึงใจ  แล้วจิตจะยอมรับสภาพความเป็นจริง   ไม่ฝืนกฎธรรมชาติของสภาวธรรม   จิตใจก็ปล่อยวางสบาย   เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาเมื่อใด  เราไม่วิตกกังวล   เพราะเรารู้ซึ้งเห็นจริงแล้ว   อันนี้เป็นสภาวธรรมและความเป็นไปของสภาวธรรม   ความเป็นไปของสภาวธรรมส่วนรวมก็คืออนิจจังไม่เที่ยง  เป็นทุกข์   เป็นอนัตตา  อันนี้เป็นธรรมะส่วนสภาวธรรม   นับว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง

  


          ธรรมะอีกประเภทหนึ่งคือธรรมะคำสอน   เมื่อพูดถึงธรรมะคือคำสอน  ก็คือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญานั่นเอง   อันนี้พุทธบริษัททั้งหลายมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมทางด้านจิต   การปฏิบัติธรรมทางด้านจิตนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการทำตนเป็นผู้มีศีล   ศีลเป็นสิ่งสำคัญ  เป็นคุณธรรม  เป็นภาคพื้น  เป็นการปรับกาย  วาจา   และใจให้อยู่ในสภาพปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งศีล 5   เป็นศีลที่ฆราวาสทั่วๆ ไปจะพึงสมาทานปฏิบัติ   เป็นหลักใหญ่และเป็นศีลที่สำคัญ  ศีล 8  ศีล 10  ศีล 227   ก็รวมลงอยู่ในศีล 5 ข้อ  จะเป็นผู้ใดก็ตาม   เมื่อตั้งใจสมาทานศีล 5 ข้อ  ทำศีล 5 ให้บริสุทธิ์แล้ว   ก็ตั้งใจทำสมาธิภาวนาเพื่อทำจิตให้สงบ   รู้ซึ้งเห็นจริงในสภาวธรรม   ไม่เฉพาะแต่เท่านั้น    ต้องการให้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ทำได้   ยกตัวอย่างเช่น   นางวิสาขามหาอุบาสิกา  ท่านเป็นผู้ครองบ้านครองเรือน    ก็มีศีลเพียง 5 ข้อเท่านั้น  และท่านปฏิบัติธรรมก็ได้บรรลุพระโสดาบัน  คนในสมัยปัจจุบันนี้มีเพียงศีล 5  ก็ถือว่าน้อยหน้าต่ำตา  ศีลไม่พอ   ก็สงสัยว่ามีศีล 5  ไม่สามารถปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้   อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด   ความจริงศีล 5 ข้อนี้เป็นศีลที่กำจัดบาปกรรม   หรือเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรมที่เราจะพึงทำด้วยกาย  วาจา  ปาณาติบาต   เว้นจากการฆ่าสัตว์  อทินนาทาน   เว้นจากการเบียดเบียนของที่เจ้าของไม่อนุญาต   กาเมสุมิจฉาจาร  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม   มุสาวาท  พูดเท็จ  สุราเมรัยดื่มของมึนเมา   ถ้าใครสมาทานศีล 5  ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว   ก็ชื่อว่าเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรมที่ทำที่จะสร้างให้เสวยผลคือไปตกนรกหรือไปทรมานในสถานที่ที่หาความเจริญมิได้นั้น   มีแต่การละเมิดศีล 5 ข้อเท่านั้น   ส่วนอื่นซึ่งเราทำลงไปจะได้บาปกรรมอยู่บ้างก็เพียงความมัวหมองภายในจิตใจเท่านั้น  แต่ถ้าใครมีศีล 5  บริสุทธิ์บริบูรณ์   มุ่งหวังที่จะทำสมาธิ   ปฏิบัติธรรม  รู้ธรรม   เห็นธรรม  รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมได้   เพราะฉะนั้น  ผู้ที่ไม่สามารถที่จะมีศีลมากข้อขึ้นไปกว่านั้น   ก็อย่าพึงทำความน้อยอกน้อยใจว่าเรามีศีลน้อยเหลือเกิน    ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้   ก่อนที่เราจะเพิ่มศีลของตัวเองให้มากข้อขึ้นไปนั้น   ต้องพิจารณาถึงสมรรถภาพของตัวเองว่าสามารถจะรักษาศีลมากข้อได้หรือไม่   เมื่อเรายังไม่มีสมรรถภาพพอ  ก็ให้มั่นคงในศีล 5  เท่านั้น

  


          ฆราวาสโดยทั่วไปมีศีล 5  แล้ว  เรายังประดับตกแต่งใช้เครื่องหอม  เครื่องย้อม  เครื่องทาได้   ดูหนัง  ดูละคร  ดูลิเกได้   นอนบนที่นอนที่สูงที่ใหญ่ก็ได้    แต่ถ้าเราไปเพิ่มศีลขึ้นอีก 3 ข้อ  เป็นศีล 8 เช่น  เพิ่มข้อ 6  ให้งดเว้นจากอาหารมื้อเย็น   แต่งดเว้นไม่ได้   เพิ่มข้อ 7   ให้งดเว้นจากเครื่องหอม  น้ำมันหอม  เครื่องย้อม  เครื่องทา  แต่งดเว้นไม่ได้     เพิ่มข้อ 8   ให้งดจากการขับร้อง  ประโคมดนตรี  ดีด  สี  ตี เป่า  แต่งดเว้นไม่ได้   การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการเพิ่มบาปให้กับตนเองโดยไม่มีเหตุผล   เพราะฉะนั้น   การที่จะรักษาศีลให้มากข้อนั้นต้องดูสมรรถภาพของตัวเอง

 

www.thaniyo.com

  

          เมื่อเรามีศีล 5  บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว   บำเพ็ญเพียรภาวนาไป   เมื่อเราภาวนาเป็นแล้วศีลนั้นจะเพิ่มขึ้นเอง  ไม่เพิ่มแต่ศีล 8 ศีล 10 เท่านั้น   เพียงแค่ศีล 5  เมื่อมีสมาธิ  มีปัญญา   รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม  ความเป็นของตัวเองที่เกิดขึ้นในจิตนั่นแหละ   ความที่จิตสงบเป็นสมาธิ   ความที่มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม   สามารถทำจิตให้อยู่ในสภาพปกติได้   จะเป็นอุบายเพิ่มศีลขึ้นไป  อย่าว่าแต่เพียง 227 ข้อ  อีกหมื่นข้อแสนข้อก็เพิ่มได้เมื่อฐานของจิตใจดีแล้ว    เพราะการปฏิบัติธรรม    ผู้ปฏิบัติจะปรับระดับของตนให้สูงยิ่งขึ้นไปเพียงใด   แค่ไหน  ก็ให้พิจารณาดูสมรรถภาพของตัวเอง    อย่าไปทำอย่างงมงายไม่มีเหตุผลว่ารักษาอุโบสถแล้วได้บุญมาก   เมื่อเราไปรักษาอุโบสถ   อดข้าวเย็น   เกิดทุกขเวทนา    เมื่อร่างกายได้อาหารไม่เพียงพอก็อ่อนเพลีย  การปฏิบัติธรรมก็ทำไม่ได้เต็มที่แทนที่จะได้ผลดี   ก็เลยขาดทุน   ทำให้เกิดโรคทางกาย   เช่น  โรคกระเพาะ  โรคลำไส้  ทนทุกข์ทรมาน   รักษากันไปเป็นเวลานานๆ  กว่าจะหาย   เพราะฉะนั้น   สิ่งใดที่เราทำลงไปถือว่าเป็นข้อปฏิบัติดี   ปฏิบัติชอบ  หรือปฏิบัติยิ่ง    อย่าปฏิบัติกันอย่างงมงาย  ทำให้มันมีเหตุมีผล   พิจารณาดูสมรรถภาพของร่างกายของตัวเองว่ามีความสามารถเพียงใดหรือไม่


 

          เรื่องการปฏิบัติสมาธิ  ซึ่งหมายถึงการทำสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ซึ่งท่านทั้งหลายได้ยินมามากต่อมากแล้ว   ในบางครั้งเราอาจจะมีความสงสัยว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร  แบบไหน  จึงจะได้ผลดี   เช่น  บางคนเคยไปถามว่าอยากจะปฏิบัติให้มันได้ผลเร็วที่สุด   มีอุบายวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จ  ก็ได้บอกเขาเหล่านั้นไปว่า   มันไม่มีแล้ว   วิธีที่ปฏิบัติให้มันได้ผลเร็วจริงๆ  ก็อยู่ที่การตั้งใจทำจริง   ทำไปโดยปราศจากความลังเลสงสัยใดๆ  ทั้งสิ้น  ยกตัวอย่างเช่น  เราอาจจะไปศึกษาวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานตามวิธีของท่านผู้ใดผู้หนึ่ง   เช่น  ท่านสอนให้ภาวนายุบหนอ-พองหนอ   เราก็ต้องปักใจมั่นลงไปว่าเราจะปฏิบัติอย่างจริงจัง   จะเรียนจากสำนักวัดปากน้ำ   สัมมาอรหัง   เราก็ปักใจอย่างจริงจังว่าจะปฏิบัติตามแบบฉบับของท่าน  หรือจะไปเรียนกับอาจารย์เสาร์   อาจารย์มั่น   ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ   เราก็ตั้งจิตให้มั่นลงไปว่าเราจะภาวนาพุทโธ   ข้อสำคัญก็อยู่ที่ตรงนี้  อยู่ที่ต้องทำจริง   เมื่อจะบริกรรมภาวนาอันใดก็ตาม    หากตั้งใจให้มันแน่วแน่ลงไปว่า   เราจะนั่งสมาธิวันละ 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง   แล้วก็ตั้งใจทำจริงจังลงไป  ผลมันจะเกิดขึ้นเอง   แต่ที่ปฏิบัติไม่ได้ผลเท่าที่ควรนั้น   เพราะเราไม่สามารถที่จะตัดความกังวลสงสัยในระเบียบวิธีการที่ปฏิบัตินั้นๆ    วันนี้มาหาหลวงพ่อที่วัดนี้   หลวงพ่อสอนให้ภาวนาพุทโธ   แต่ถ้าพรุ่งนี้ไปฟังเทศน์วัดมหาธาตุฯ   อาจารย์ใหญ่วิปัสสนาท่านอาจจะสอนว่าให้ภาวนาว่า  ยุบหนอ-พองหนอ    วันหลังไปวัดปากน้ำ  หลวงพ่อวัดปากน้ำอาจจะสอนให้ท่อง  สัมมาอรหัง  สัมมาอรหัง   แล้วเราก็จะเกิดความสงสัยว่า  เอ๊ะ...! ทำไมพระสอนไม่เหมือนกัน    เมื่อเกิดความสงสัยขึ้นมาอย่างนี้   ใจของเราก็ลังเล   เมื่อลังเลแล้ว   เราก็ไม่อาจจะจับอะไรมาเป็นข้อปฏิบัติอย่างจริงจัง   นี่คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติ   ฉะนั้น  มีทางเดียวอยู่ตรงที่ว่า  ท่านจะปฏิบัติแบบไหน  อย่างไร  ขอให้ท่านตั้งใจให้มั่นคงลงไปว่าเราจะเอาแบบนี้แหละเป็นเครื่องปฏิบัติ   ส่วนคำบริกรรมภาวนาทุกอย่างนั้นเป็นแต่เพียงอุบายฝึกหัดจิตให้ติดอยู่กับคำบริกรรมภาวนาเท่านั้น   เป็นอุบายที่จะให้ทราบความรู้สึกนึกคิดที่จิตส่งกระแสฟุ้งซ่านออกไปตามอารมณ์   ให้มารวมอยู่กับคำบริกรรมภาวนาเพียงคำเดียวเป็นเบื้องต้น   จุดมุ่งหมายมีอยู่เพียงเท่านี้


          แบบวิธีการที่ท่านอาจารย์เสาร์ได้สอนกัมมัฏฐาน   ท่านแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน
          1.สอนให้บริกรรมภาวนาพุทโธ
          2.สอนให้พิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน
          3.สอนให้พิจารณาธาตุกัมมัฏฐาน

  


          เรื่องของธรรมะนี้เราก็ได้ยินจนชินหู   และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ความเป็นธรรมและความไม่เป็นธรรม   เรามักได้ยินกันบ่อยๆ   ความจริงธรรมนั้นเป็นอมตะ  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง   ท่านอาจารย์มั่นท่านเคยเตือนว่า  ธรรมหรือสัจธรรมที่สิงสถิตอยู่ในสันดานของปุถุชนเป็นสัจธรรมปฏิรูปคือธรรมปลอม  แต่สัจธรรมที่สิงสถิตอยู่ในพระอริยสงฆ์เป็นสัจธรรมอติรูปคือธรรมอันยิ่ง   ธรรมที่ถูกต้อง   ธรรมที่เที่ยงแท้แน่นอน   เพราะฉะนั้น  ความเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้น  ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเท่านั้นเอง   ความจริงธรรมะเป็นของกลางๆ  ไม่ดี  ไม่ชั่ว   แต่เมื่อมาสิงสถิตอยู่ในสันดานของคน  คนเรามันมีสันดานดีสันดานชั่ว   คนที่มีสันดานชั่วก็ปฏิรูป  ปฏิวัติธรรมะไปเป็นของไม่ดี เป็นของชั่ว  แต่ถ้าผู้เป็นอริยะ  มีสันดานอริยบุคคล  ก็ย่อมปฏิวัติธรรมไปเป็นธรรมอติรูปคือธรรมอันยิ่ง  เช่นอย่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย   ท่านเป็นผู้มีจิตใจอันบริสุทธิ์สะอาด   มีความเที่ยงธรรม  ฉะนั้นในวงศ์ของพระอริยะจึงมีแต่ความเที่ยงธรรมและความเป็นธรรม   ความไม่เป็นธรรมจะไม่มี

  


          อาศัยคนเราที่เกิดมาในโลกนี้  พระพุทธเจ้ารับรองว่า  บุญทำ  กรรมแต่ง  จึงเรียกว่า   รูปธรรม-นามธรรม   รูปธรรม-นามธรรมนี้อาศัยกฎของกรรม   เราเกิดมาเป็นมนุษย์   เรามีกฎของกรรมบันดาลให้เกิดมาเป็นมนุษย์   เมื่อเราได้ชีวิตมาเป็นมนุษย์นั้นแหละจะบันดาลให้เราได้เป็นไปต่างๆ  คือเรามีนิสัยใจคอต่างกัน    มีรูปพรรณสัณฐานต่างกัน  มีความยากความจน   มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน   นอกจากจะอาศัยการกระทำคือความประพฤติเป็นมูลเหตุ   ยังต้องอาศัยกรรมเก่าเข้าสนับสนุน    ผู้ที่มีกรรมดีสนับสนุน   วิถีชีวิตก็ดำเนินไปในทางที่สะดวก   ผู้ที่ไม่มีกรรมดีสนับสนุน   วิถีชีวิตก็ดำเนินไปอย่างขัดๆ ข้องๆ   ผู้ที่มีวิชาความรู้ความสามารถเท่าเทียมกัน  แต่การทำงาน   ตำแหน่งหน้าที่   หรือการขึ้นเงินเดือนไม่เสมอกัน    เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมทั้งนั้น   ฉะนั้น  พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราพิจารณาอยู่เสมอว่า  เรามีกรรมเป็นของๆ ตน  ตัวเรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล   มีกรรมเป็นแดนเกิด   มีกรรมเป็นผู้ติดตาม   มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย   เราทำกรรมอันใดไว้  ดีก็ตาม  ชั่วก็ตาม  ก็จะได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน   นี่เป็นพุทธภาษิตที่ยืนยันเอาไว้

  

www.thaniyo.com

          มนุษย์อาศัยกรรมเป็นเครื่องปรุงแต่ง   เป็นสิ่งบันดาลให้เรามาเกิดเป็นมนุษย์   เราจึงมีอุปนิสัยใจคอต่างๆ  กัน  ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องในอดีต    บางท่านอาจจะคิดว่านั่นเป็นเรื่องที่เรามองไม่เห็น  เช่นพระพุทธเจ้าท่านว่า  “การทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว   แล้วก็ไปเกิดในที่ไม่ดี”   อะไรทำนองนี้   ถ้าเราไม่เชื่อความจริง   เราก็จะแย้งว่า   คนที่ตายไปแล้วไม่เห็นมีใครมาบอกว่าไปอยู่ในนรกหรืออยู่บนสวรรค์   อะไรทำนองนี้   บางทีก็เข้าใจว่าตำรับตำราที่เขียนเอาไว้นั้น   เป็นเรื่องที่นักปราชญ์บัณฑิตแต่งขึ้นเพื่อข่มขู่หรือหลอกลวงประชาชนเท่านั้น    เราอาจจะเข้าใจอย่างนั้น   แต่แท้ที่จริงแล้ว   สิ่งใดที่มีหลักฐาน  พูดไว้ในตำรับตำรา   หรือมีคำพูดที่เขากล่าวขวัญถึงกัน  สิ่งนั้นย่อมมีจริง   เช่นอย่างนรก  สวรรค์  นิพพาน  เป็นต้น   ที่ฝรั่งเคยหัวเราะคนไทยเราในฐานะที่เรานับถือพระพุทธศาสนา  ในพระพุทธศาสนานั้นมีนิยายและนิทานต่างๆ   ประกอบการสอนธรรมะ   และมีอยู่เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของพระโมคคัลลาน์ผู้เป็นพระเถระอรหันต์ที่มีอิทธิฤทธิ์   สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้  ในตำรากล่าวไว้อย่างนั้น   ในตำราบางแห่งก็กล่าวว่าพระโมคคัลลาน์ผู้มีฤทธิ์  ท่านได้อธิษฐานจิตขึ้นไปบนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์   เมื่อฝรั่งเขาฟังแล้วเขาก็หัวเราะเพราะเป็นไปไม่ได้   แต่มาในปัจจุบันนี้  โลกทั้งโลกเขายอมรับ   ฝรั่งสามารถสร้างจรวดขับขี่ไปลงยังดวงจันทร์   แล้วก็เอาดิน  เอาทรายมาให้คนดูได้   ตกลงว่าฝรั่งในปัจจุบันเก่งกว่าพระโมคคัลลาน์     พระโมคคัลลาน์เหาะไปเพียงแค่เอามือคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เท่านั้น   ไม่ได้ขึ้นไปนั่งบนดวงจันทร์  หรือเดินบนดวงจันทร์เหมือนอย่างพวกฝรั่ง   เพราะในตำราไม่ได้กล่าว   กล่าวแต่เพียงว่าเหาะไปคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เท่านั้น   แต่มาในปัจจุบันนี้ฝรั่งเขาก็ยอมรับแล้วว่าท่านพระโมคคัลลาน์มีความสามารถจริง   เพราะพวกเขาเองก็สามารถไปลงที่ดวงจันทร์ได้แล้ว   อันนี้เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่อาจจะเป็นไปไม่ได้   ฉะนั้น  ในฐานะที่ท่านทั้งหลายก็เป็นปัญญาชน    เมื่อท่านได้ยินได้ฟังอะไรแล้วขอได้โปรดพิจารณาด้วยปัญญา  อย่าเพิ่งรับรอง   ถ้าเผื่อเหตุผลของท่านยังไม่แจ่มแจ้งก็รับฟังเอาไว้  ยังไม่ควรจะรับรองหรือปฏิเสธ   ต่อเมื่อสิ่งนั้นๆ  สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองแล้ว  จึงยอมรับ   อันนี้เป็นหลักการของพระพุทธเจ้า

  


          พระตถาคตเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอก    อันนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเอาไว้   เมื่อทุกสิ่งเป็นอย่างนั้น   พระพุทธเจ้าท่านอาจจะเทศน์ว่า   สวรรค์มีอยู่ตรงนั้น   นรกมีอยู่ตรงนี้   แต่ผลสุดท้ายท่านให้นำไปคิดเอาเองว่า   สวรรค์  นรกมีหรือไม่   อย่างปัญหาในปัจจุบันนี้   คนเรามักจะถกเถียงกันว่าผีมีหรือไม่มี   สวรรค์มีหรือไม่มี    อะไรทำนองนี้  เราก็เถียงกันไปตามตำรับตำราที่ท่านได้เขียนเอาไว้   แต่ก็ยังไม่มีใครรู้จริงเห็นจริง   ถึงท่านที่รู้จริงหรือเห็นจริง  ท่านก็ปิดเงียบ  เพราะท่านถือว่าเป็นอุตตริมนุสสธรรม   เป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์   เอาออกมาอวดไม่ได้   ท่านว่าอย่างนั้น


Last Updated on Friday, 15 October 2010 11:06
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner