Home หลวงพ่อพุธ สะอาดแต่ไม่บริสุทธิ์
จุดยืนของชาวพุทธ PDF Print E-mail
Tuesday, 02 November 2010 02:57

จุดยืนของชาวพุทธ
โดย
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

 

          บังลังก์ใจของชาวพุทธซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว กำลังคลอนแคลน เพราะชาวพุทธปันใจให้กับภูตผีปีศาจและผู้วิเศษอื่น ๆ ทำให้จิตใจของชาวพุทธไม่มั่นคงต่อพระพุทธเจ้าซึ่งเคยเป็นที่พึ่งมาก่อน
ดังนั้นชาวพุทธควรจะได้กลับใจมายึดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มั่นคงตามเดิมเสียก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป


          เวลานี้คนไทยไม่มีจุดยืน ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรเป็นจุดยืนกันแน่
          เพราะฉะนั้นเราจึงเคว้งคว้างอยู่ ใครหยิบยื่นอะไรมาเราเอาหมด จุดยืนจริง ๆ เราไม่มี


"เรานับถือศาสนาพุทธเพียงแต่จารีตประเพณี
แต่ว่าจิตใจเราไม่ถึงธรรมะอย่างแท้จริง"


 

หลักศาสนาพุทธ พระพุทธองค์สอนให้เราสร้างจิตให้เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
จุดเริ่มของการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
คือการสร้างความรัก ความเมตตาปรานีต่อกัน

 

สิ่งที่ชาวพุทธจะพึงศึกษา คือสิ่งที่เป็นอยู่โดยธรรมชาติ
ในจักรวาลนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้า…ที่พระพุทธเจ้ารู้นี่
คือสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่โดยธรรมชาติ
สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่โดยธรรมชาตินั้น พระพุทธเจ้ารู้ว่า
เราจะเอาประโยชน์จากธรรมชาตินั้นอย่างไร
ธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์เขาวิจัยออกมาแล้ว เขาค้นคว้า
เอามาทำประโยชน์ได้ อันนั้นพระพุทธเจ้าท่านรู้ แต่พระองค์ไม่สอน
เพราะพระองค์เชื่อว่า ยังมีคนสามารถที่จะค้นพบได้อยู่
แต่ธรรมะที่เป็นอมตะ คือพระนิพพาน
นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียว ไม่มีใครค้นพบ
พระองค์จึงสอนแต่ทางปฏิบัติให้หลุดพ้น
และทำความสุขให้แก่สังคม

 


"การปฏิบัติธรรม คือ ฝึกตัวเองให้เป็นคนดี
สร้างพลังจิตให้เป็นอิสระแก่ตัวเอง
ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด
นี่คือหลักที่ถูกต้อง"


เดี๋ยวนี้มีแต่คนสอนให้คนทั้งหลายเขวไปจากความจริง เช่น สร้างวัตถุมงคล แล้วโฆษณาว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ วัตถุมงคลก็ดี แต่ดีชั่วขณะหนึ่งไม่เป็นอมตะ สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งให้เราได้ไม่แน่นอน คนที่ใช้วัตถุมงคลได้ผลดีที่สุดคือ คนขยันหมั่นเพียร

 


สิ่งที่เป็นเครื่องรางของขลังที่ดีที่สุด ก็คือความมีศีลธรรม
เมื่อเรามีศีลธรรม เราไม่เบียดเบียนใคร
ก็ไม่มีคนมาเบียดเบียนเรา

 

ในประเทศไทยนี่เรามีแต่เกจิอาจารย์เก่ง ๆ ทั้งนั้น
อาจารย์ไหนประกาศออกมาก็ของดีร่ำรวยอย่างนั้นอย่างนี้
แต่คนก็จนลงทุกที เพราะอะไร…


เพราะเขาไปคอยแต่ฟ้าดินจะบันดาลให้
คอยแต่เครื่องราง ของขลังของดิบของดีมาช่วย
แต่ตัวเองไม่ช่วยตัวเอง


จงพยายามหาที่พึ่งให้ตนเอง
คนที่หาพึ่งแต่คนอื่น จะพบแต่ความหลอกลวง
เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายคิดหาพึ่งคนอื่น ซึ่งผิดหลักความจริง
จงสร้างสมรรถภาพของตัวเองให้มีจิตใจเข้มแข็ง

 


จิตใจของคนเราจะมีความเข้มแข็งก็ด้วยการฝึก
ฝึกนี่คือหัดให้มีสติ มีสมาธิมั่นคง
จิตหรือใจของเรามีธรรมะ เป็นอาหาร
กายของเราเป็นวัตถุธรรม ก็มีวัตถุเป็นอาหาร
เราต้องรับประทาน เราต้องดื่ม และก็ต้องหายใจ
เมื่อเราขาดสิ่งดังกล่าว เราก็ดำรงชีพอยู่ไม่ได้
แต่ถ้าหากเราจะมาบำรุงแต่ร่างกายให้มีกำลังเข็มแข็ง
แต่ปล่อยให้สมรรถภาพทางจิตอ่อนแอ
ความเข้มแข็งของร่างกายก็ไม่มีความหมาย
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องฝึกจิตให้มีพลัง
พลังที่สำคัญ ก็คือความมั่นคง ได้แก่สมาธิ
รองลงมาก็คือสติสัมปชัญญะ คือความระลึกรู้พร้อม
ได้แก่ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี
เมื่อจิตใจของเรามีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี
เราเห็นผลแห่งความดีที่เราปฏิบัติธรรม
ใจของเราก็มีความปราโมทย์บันเทิงอยู่กับคุณธรรม
แสดงว่าเราไม่ได้ให้อาหารบำรุงเฉพาะร่างกายอย่างเดียว
เรายังหาคุณธรรมมาเป็นเครื่องบำรุงเลี้ยงจิตใจของเรา
ให้มีความสมบูรณ์ มีพลังงาน

 


"เรียนธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ เป็นหลักสูตรรักษาใจ
วิชาแพทย์ เป็นสูตรสำหรับรักษาร่างกาย
เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจทั้งสองอย่างแล้วสบาย"

 

การบำเพ็ญสมาธิภาวนาเป็นการบริหารสุขภาพกาย สุขภาพจิต ให้มีความสมบูรณ์ด้วยพลานามัย
เพราะอาศัยพลังจิตอันนี้ ทำให้สุขภาพกายดี มีความสุข
ร่างกายแข็งแรง เกิดพลังงาน
ส่วนสุขภาพจิตนั้น จะสามารถต่อสู้กับเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม
รับรู้อารมณ์โดยอิสระ ไม่ตกเป็นทาสแห่งอารมณ์นั้น ๆ
แล้วหัวคิดสติปัญญาของเราจะเฉียบแหลม
คิดอะไรก็สำเร็จทะลุปรุโปร่ง

 


"ถ้าใครยังคิดว่าสมาธิต้องนั่งขัดสมาธิหลับตาภาวนา
…คนนั้นยังโง่อยู่
ถ้าผู้ใดเข้าใจว่า สมาธิเราทำได้ตลอดเวลาทุกลมหายใจ
…ผู้นั้นเข้าใจถูก
สมาธิ…คือการกำหนดสติรู้อยู่ในชีวิตประจำวัน
ในปัจจุบันตลอดเวลา"

 


เมื่อเรามีสติรู้อยู่ตลอดเวลาว่าเราทำอะไร
มันไม่ใช่ความประมาท
เราปฏิบัติธรรมหามรุ่งหามค่ำ ผลลัพธ์ที่เราต้องการคือ…
ความมีสติอย่างเดียวเท่านั้น


เราสร้างสติเพื่ออะไร
เพื่อให้จิตของเรามีความเข้มแข็ง
ถ้าเรามีสติแล้วจิตของเรามันแข็งเหมือนเหล็กกล้า

 

ทำอย่างไรนักศึกษาจึงจะรู้ตัวว่าเขากำลังฝึกสมาธิอยู่ในห้องเรียน
ผู้ใหญ่… ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจหรือยอมรับ
ว่าการทำงานคือการฝึกสมาธิ


ถ้าหากว่าเราสามารถทำความเข้าใจในสองจุดนี้ได้
คนทั้งหลายจะไม่เบื่อหน่ายต่อการฝึกสมาธิ
เพราะว่ามันมีแนวโน้มไปในทางที่ว่า
สร้างพลังจิต สร้างพลังสมาธิ สร้างพลังสติปัญญา
เพื่อสนับสนุนธุรกิจอันเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน

 


พุทโธ…แปลว่า ผู้รู้
โดยปกติจิตของเรานี่รู้อยู่ มันเป็นธรรมชาติรู้อยู่
ก็มีธาตุแท้แห่งความเป็นพุทธะมาตั้งแต่กำเนิดแล้ว
ทีนี้ผู้รู้นี่มันรู้ ๆ มันมีแต่โมหะครอบงำอยู่
เราจึงมาฝึกให้มันเกิดพลังงานอันหนึ่งเพิ่มขึ้นมา
คือ…สติ

 

เมื่อสติตัวนี้มีพลังงานเข้มแข็ง มันสามารถไหวตัวออกมา
แล้วก็เกิดความคิด ความคิดที่มีสติรู้พร้อมอยู่ทุกขณะจิต
เรียกว่า สัมปชัญญะ เมื่อสติสัมปชัญญะมีพลังแก่กล้า
กลายเป็น ปัญญา ปัญญาตามความหมายนี้
ไม่ได้หมายถึงว่าเรามีปัญญาแล้วเราจะคิด เราจะพูดอะไร
ได้หมดทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ อย่าไปเข้าใจอย่างนั้น
มันหมายถึง ปัญญา ที่มีสติรู้ทันความคิดของตนเอง
อยู่ทุกขณะจิต ว่าเราทำอะไรอยู่


ทีนี้พอมันนึกจะทำบาปอะไร สติมันเตือน…อย่า
วันนี้เราจะไปขโมยเมียไปเที่ยวสักหน่อย พอมันคิดขึ้นมา
สติมาเตือน…อย่านะ    เราก็จะรักษาศีลได้เอง
ถ้าทางปฏิบัติไปแล้ว ศีลนี้ไม่ต้องตั้งใจรักษา มันก็เกิดขึ้นเอง

 

การเรียนหนังสือ เราจำได้ เรารู้ มันเกิดปัญญา
แต่มันเป็น สติปัญญา ธรรมดา
แต่ความรู้ที่เกิดในสมาธินี่มันเป็น สมาธิปัญญา
เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาเองโดยที่เราไม่ตั้งใจจะรู้
อันนั้นจึงจะได้ชื่อว่าความรู้ในสมาธิ


สติ นึกถึง สัมปชัญญะ รู้พร้อม
เมื่อมีสติ กับสัมปชัญญะควบคู่กัน มันมีพลังขึ้น
จิตของเรามีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา
เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม
พออะไรเข้ามามันรู้ พอรับรู้แล้วมันจะวิจัยว่า ดี หรือ เลว
ควร หรือ ไม่ควร อันนี้คือ ปัญญา
ปัญญา คือ ความคิด
ความคิดใดที่มีสติสัมปชัญญะรู้พร้อม
คือ สมาธิปัญญา

 

อย่าไปมุ่งหวังว่าจะได้ญาณอย่างนั้น อย่างนี้
เมื่อเรามีสติรู้ความคิดนึกของเรา การทำ การพูด การคิด
อยู่ตลอดเวลา อันนั้นแหละคือ ญาณ
ญาณ แปลว่า รู้
ในเมื่อเรารู้การทำ การพูด การคิดของเราอยู่ตลอดเวลา
นั่นแหละมันเป็นญาณวิเศษ

เราปฏิบัติสมาธิ จิตของเราจะไปถึงไหน
สมาธิขั้นใด ตอนใด กี่ขั้นก็ตาม ผลลัพธ์ก็คือว่า
เราละความชั่วได้ นี่มันอยู่ที่ตรงนี้

 

เรื่องของสมาธินี่ ถึงใครจะวิเศษวิโสสักปานใด
มันไม่ใช่สิ่งวิเศษหรอก มันวิเศษอยู่ตรงที่ว่า
คฤหัสถ์ ศีล ๕ บริสุทธิ์
สามเณร แม่ขาว แม่ชี ศีลบริสุทธิ์ตามขั้นตอนของตนเอง
พระ ๒๒๗ ข้อนี้ ให้มันบริสุทธิ์สะอาด
มันสำคัญอยู่ที่ตรงนี้

 

 

ความรู้เห็นดวงดาวดวงเดือนอะไรต่าง ๆ อย่าไปสนใจ
ใครจะรู้วิเศษเท่าไรไม่ประเสริฐเท่ารู้ใจตนเอง
ความมีอิทธิฤทธิ์หรืออะไรต่าง ๆ อย่าไปสนใจ
เราจะพูดอะไรไม่เป็น รู้เห็นแล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
เป็นแล้วไม่รู้ว่าเป็นอะไร…ช่าง
ขอให้มีอันรู้จิตของเรานี่

 


สมาธิ มีขั้นเดียว คือสมาธิ
มันจะก้าวไประดับไหน ก็คือสมาธิอันเดียว
อย่าไปนับขั้นตอนอะไร ขอให้มันเป็นสมาธิ
เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว เราละบาปได้หรือเปล่า
ศีล ๕ เราบริสุทธิ์หรือเปล่า
เอากันที่ตรงนี้เป็นเครื่องตัดสิน
เรื่องของสมาธิใครจะไปถึงขั้นใดตอนใด
ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ไม่มีทาง

 

พื้นฐานแห่งการละ คือ ศีล ๕ ข้อ พยายามรักษาให้มันดี
ถ้าศีลบริสุทธิ์ดีเท่าไร จิตก็บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น
สมาธิที่มีศีลเป็นเครื่องประกันความปลอดภัย
จะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดถึงพระนิพพาน

 

เรามาฝึกสมาธิเพื่ออบรมจิตของเราให้มีพลังงาน
มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา
เพื่อให้จิตของเรานี่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า
โดยอัตโนมัติ
เมื่อจิตมีสภาวะ รู้ ตื่น เบิกบาน
ก็ได้ชื่อว่าจิตมีคุณธรรม ความเป็น พุทธะ


Last Updated on Friday, 05 November 2010 09:47
 

ค้นหา (พิมพ์คำที่ต้องการค้นหา แล้วกดปุ่ม Enter)

ร้านจักรวาลอ๊อกซิเย่น

Banner

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

Banner

เข้า Facebook ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดวะภูแก้ว

Banner

แห่เทียนพรรษา 2558

Banner

ฐานิยปูชา 2556

Banner

www.thaniyo.net

Banner

ฐานิยปูชา 2555

Banner

เชิญชม วิดีโอ การแสดงธรรมของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

วัดป่าสาลวัน

Banner

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

Banner

palungdham.com

Banner

ฐานิยปูชา 2553

Banner

สำรวจความคิดเห็น

เหตุผล สำคัญที่สุด ในการเข้ารับการอบรมพัฒนาจิต ที่วัดวะภูแก้ว ?
 

แบบสำรวจความคิดเห็น

วัดวะภูแก้วควรปรับปรุงเรื่องใดมากที่สุด
 

แบบสำรวจ

พระสงฆ์ในทัศนะของท่าน ?
 

โปรดแสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่สมุดเยี่ยม

Banner