ปฏิปทาพระกัมมัฏฐาน |
Saturday, 19 September 2009 08:00 | |||
ปฏิปทาพระกัมมัฏฐาน
เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูญาณวิจิตร(มานิต) ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดประชาอุทิศ และเป็นบูรพาจารย์ของบรรดาท่านทั้งหลาย ซึ่งท่านผู้นี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้ประกอบคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์แก่ความทรงจำของบรรดาท่านทั้งหลาย ว่าโดยกำเนิดของท่าน ท่านเป็นชาวจังหวัดสกลนคร และเป็นเพื่อนสหธรรมิกร่วมสำนักครูบาอาจารย์เดียวกันกับท่านอาจารย์วันคือท่านเจ้าคุณอุดมสังวรญาณ และเจ้าคุณชินวงศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน เราทั้งสามได้เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็กแต่เล็กและเมื่อได้มาบรรพชาในพระพุทธศาสนา ได้มาร่วมสำนักอาจารย์เดียวกัน คือพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ซึ่งปัจจุบันคือมหาเส็ง เปรียญธรรม ๖ ประโยค ผู้ละเพศเป็นคฤหัสถ์และเสียชีวิตแล้วที่วัดป่าสาลวัน ได้เดินธุดงค์และได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมร่วมกันมา และได้ปฏิญาณตนว่าจะบวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต ครั้นอยู่มาเมื่อมีอายุพรรษาพอสมควรก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะ เจ้าอาวาส และเป็นพระสมณศักดิ์ ท่านผู้มาประกอบกองการกุศล ณ ปัจจุบันนี้ก็ได้เป็นพระครูญาณวิจิตร และท่านอาจารย์วันได้เป็นพระราชาคณะ คือพระอุดมสังวรญาณ และผู้บรรยายได้เป็นพระชินวงศาจารย์ ผ่านตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะจังหวัดมาโดยลำดับ แต่ปัจจุบันนี้ ท่านอาจารย์วันก็ดี ท่านพระครูญาณวิจิตรก็ดี ก็ได้ถึงมรณภาพไปแล้ว ได้ทิ้งแต่ความเสียดายอาลัยไว้แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกา ตลอดจนศิษยานุศิษย์ที่มีความเคารพเลื่อมใสทั้งหลาย
บัดนี้ เราท่านทั้งหลายได้มาประกอบการกุศลของท่านพระครูญาณวิจิตร โดยฐานะที่ท่านก็ได้เป็นบูรพาจารย์ของบรรดาเราทั้งหลายท่านหนึ่ง ได้ปลูกฝังคุณงามความดีให้เป็นที่ประจักษ์แก่จิตใจของบรรดาเราท่านทั้งหลาย เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากจะได้เป็นผู้นำพัฒนาสร้างวัดสร้างวา สร้างบ้านสร้างเมือง ให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับแล้ว ก็ยังได้เป็นผู้สั่งสอนศิษยานุศิษย์ ตลอดทั้งอุบาสกอุบาสิกา ให้ดำรงอยู่ในความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามทางแห่งกัมมัฏฐานโดยทั่วไป ท่านมีจริยวัตรเคร่งครัดไปในทางธุดงคกัมมัฏฐาน โดยสืบเชื้อสายมาจากท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น และครูบาอาจารย์เป็นลำดับๆ มา
กัมมัฏฐานในสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดิมทีเดียวนั้น มีกำเนิดเกิดขึ้นที่ท่านอาจารย์สีทา สยะเสโน อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี
ครั้นอันดับต่อมาก็มีเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(สิริจันโท จันทร์) ท่านพระคุณองค์นี้มีปฏิปทาดำเนินชีวิตในทางศาสนามาทั้งในด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ มีหน้าที่ปกครองบริหารหมู่คณะ จัดทั้งการศึกษา การปกครอง และเป็นผู้นำในทางปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วย ครั้นอยู่มาภายหลัง ท่านผู้นี้ได้มีลูกศิษย์ผู้ใหญ่เกิดขึ้น ๒ ท่าน
ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
และอีกท่านหนึ่งนั้นคือ ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอุบาลี เพราะว่าได้เคยศึกษาปฏิบัติในสำนักของท่านเจ้าคุณพระอุบาลี แต่ท่านผู้นี้ได้มีปฏิปทาดำเนินเน้นหนักไปในทางฝ่ายสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานโดยเฉพาะ ได้นำลูกศิษย์ลูกหาหมู่คณะบำเพ็ญเพียรภาวนาน้อมไปในทางความสงบ และพิจารณาแสวงหาสัจธรรมความจริงเพื่อความพ้นทุกข์ในวัฏสงสารโดยตรง ดังนั้น ในฐานะที่เราทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล จึงขอนำปฏิปทาของอาจารย์เสาร์ที่ท่านสอนพระกัมมัฏฐานมาเล่าสู่บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย
“ญาทาน ข้าน้อยอยากเฮียนกัมมัฏฐาน เฮ็ดจังได๋” อาจารย์เสาร์จะบอกว่า “ภาวนาพุทโธตี๊” “ พุทโธแปลว่าจังได๋ ข้าน้อยอยากถาม ครั้นภาวนาพุทโธแล้วมันซิเป็นจังได๋ ซิมีอีหยังเกิดขึ้น” “ถามหาซิแตกอีหยัง” นี่เป็นความจริง ท่านอาจารย์เสาร์สอนกัมมัฏฐาน ท่านบอกว่า “ให้ภาวนาให้มากๆ ทำให้มากๆ และถ้าใครขยันทำกันจริงจังแล้ว รับรองว่าภาวนาพุทโธนั้นต้องมีผลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” ท่านสอนอย่างนี้
ท่านผู้ที่ว่าภาวนาพุทโธถึงแค่สมถกัมมัฏฐาน ไม่ถึงวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น รู้สึกว่าผู้ภาวนาพุทโธยังได้รับเกียรติ เมื่อภาวนาพุทโธแล้วจิตถึงสมถกัมมัฏฐาน คือจิตไปถึงอัปปนาสมาธินั่นเอง ทำไมจึงว่าอย่างนั้น อนุสติ ๑๐ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ ใครๆภาวนาแล้วจิตจะต้องลงไปอยู่แค่อุปจารสมาธิ ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ผู้ฟังอาจจะเกิดความสงสัย ท่านลองพิจารณาดู ให้ท่านพิจารณากันจริงๆ ในขั้นแรกท่านนึกบริกรรมว่าพุทโธๆๆ เมื่อจิตสงบมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปแล้วก็เกิดสว่างขึ้น แล้วจิตก็เกิดมีปีติ มีสุข จิตที่นึกว่าพุทโธๆๆหายไปใช่หรือเปล่า ขอท่านสังเกตให้ดี เมื่อภาวนาพุทโธ จิตสงบลงไปแล้วจิตท่านเกิดปีติ คำภาวนาพุทโธนั้นจะหายไป จะไม่นึกพุทโธอีกต่อไป การนึกพุทโธนี้จึงไม่ถึงขั้นสมถะหรืออัปปนาสมาธิ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมจิตจึงปล่อยวางคำว่าพุทโธ ก็เพราะในขั้นต้นนั้นจิตยังไม่ถึงพุทโธ ขณะจิตยังไม่สงบ และจิตก็ยังไม่เห็นพุทโธ ถ้าเปรียบเทียบเหมือนกับว่าเราอยากจะพบใครสักคนหนึ่ง แต่เรามองไม่เห็นเขา เมื่อเราอยากจะพบเขาก็ต้องตะโกนเรียกชื่อเขา เมื่อผู้นั้นมาหาเราและมาพบเราแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อบุคคลนั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การภาวนาพุทโธในขณะจิตยังไม่ถึงพุทโธ เราก็บริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ เมื่อจิตสงบ สว่างลงไป เกิดปีติ มีความสุขนั้น จิตถึงพุทโธแล้ว จิตไม่เรียกหาพระพุทธเจ้าคือพุทโธอีก ถ้าหากเรายังเรียกพุทโธคือพระพุทธเจ้า ท่านก็จะหนีเราไปอีก เมื่อพูดมาถึงตอนนี้ ท่านผู้ภาวนาควรจะเข้าใจแล้วว่า เมื่อภาวนาพุทโธๆ ๆ เมื่อจิตสงบ สว่างลงไปแล้ว จิตมีปีติมีความสุข คำว่าพุทโธหายไป ความสงบของจิตนั้นมีสภาวะผู้รู้ปรากฏขึ้นในจิต ผู้รู้ที่ปรากฏขึ้นในจิตนั้น ย่อมเกิดความสว่างไสว ความสว่างไสวนั้นเป็นความตื่นของจิตความเบิกบานของจิต เรียกว่าเป็นพุทโธ ผู้ตื่น และพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ย่อมบังเกิดขึ้นในจิตของผู้ภาวนาพุทโธๆ เริ่มต้นตั้งแต่จิตสงบลงไป สว่าง แล้วก็เกิดปีติและสุข ในเมื่อจิตมีปีติและสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง จิตก็ย่อมไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย มุ่งหน้าต่อความสงบเรื่อยไป ในตอนนี้ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อยู่ที่จิตสว่างไสวอยู่เฉยๆเท่านั้น ไม่ต้องไปนึกคิดอะไรขึ้นมาอีก ถ้าท่านเผลอนึกอะไรขึ้นมา จิตของท่านจะถอนออกจากสมาธิ แล้วความสงบสว่างไสวก็จะหายไป นี่คือคติที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรจะทราบไว้พิจารณาเป็นประสบการณ์ของนักภาวนาจะต้องผ่าน
ในเมื่อจิตของท่านไปสงบสว่างอยู่เฉยๆ ไม่เกิดภูมิความรู้อะไรขึ้นมา ถ้าหากในตอนนี้ท่านเผลอไป ปล่อยให้จิตส่งกระแสออกไปข้างนอก จิตมองไปไกลๆ จะเห็นภาพนิมิตต่างๆ เกิดขึ้น ภาพนิมิตในตอนนี้คล้ายกับเห็นด้วยตาและรู้ด้วยใจ บางทีจะไปเห็นภาพเปรต ภาพผี ภาพคน นักภาวนาที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไปสำคัญว่าภูติผีเหล่านั้นมาขอส่วนบุญ แล้วก็ไปตั้งใจแผ่ส่วนบุญให้เขาเหล่านั้น ในเมื่อเป็นเช่นนั้นสภาพจิตก็เปลี่ยนสมาธิก็ถอน ภาพนิมิตทั้งหลายเหล่านั้นก็เลยหายไป เราก็เลยมัวแต่นั่งแผ่ส่วนกุศลให้เขาอยู่
ถ้าหากนักภาวนาที่มีสติสัมปชัญญะรอบคอบ เมื่อจิตถึงสภาวะตอนนี้แล้วจิตอยู่ว่างเฉยๆ แล้ว ถ้าว่าจะดำเนินจิตให้ละเอียด สงบ หรือละเอียดยิ่งขึ้นไป ควรจะมองหาลมหายใจ เมื่อจิตพบลมหายใจแล้ว กำหนดรู้ลมหายใจเฉยอยู่ อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งนั้น แม้ว่าลมหายใจเข้าออกปรากฏในนิมิต ปรากฏในความรู้สึกเป็นท่อยาวก็ตาม ให้กำหนดรู้ลมหายใจเฉยอยู่ แม้ว่าลมหายใจจะเล็กละเอียดลงไป ก็อย่าไปตกอกตกใจกำหนดตามรู้ให้ดี และในที่สุดถ้าเราไม่ตื่นในความเปลี่ยนแปลง ในอาการที่เกิดขึ้นภายในจิต จิตจะมีสติสัมปชัญญะรู้ตลอดเวลา จิตจะดำเนินไปสู่ความสงบละเอียดยิ่งขึ้น ในเมื่อสงบละเอียดยิ่งขึ้นแล้ว ลมหายใจก็หายขาดไป ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็หายขาดไปด้วย ตอนนี้สภาวะจิตยังเหลือแต่ตัวผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ มีความสงบนิ่งเด่นอยู่อย่างนั้น อันนี้คือจิตก้าวเข้าสู่อัปปนาสมาธิ จิตในตอนนี้ยังใช้การไม่ได้ เป็นเพียงฐานที่พักจิต เป็นเหตุให้ผู้ภาวนานั้นทราบความเป็นจริงของจิตตัวเอง คือรู้ว่าเมื่อจิตไม่มีความนึกคิด มีแต่ความว่าง เฉยอยู่ มีสภาพอย่างไร เมื่อจิตรับรู้อารมณ์แล้ว จิตมีสภาพอย่างไร ทราบขั้นตอนของความเป็นของจิตได้ทันที จิตในตอนนี้ท่านเรียกปฐมจิต ปฐมวิญญาณ มโนธาตุ ถ้าจิตไม่น้อมออกไปรับรู้อารมณ์ จิตจะมีลักษณะว่าง สว่าง อยู่เฉย ท่านเรียกจิตเช่นนี้ว่าจิตดั้งเดิมประภัสสร แต่ไม่ใช่จิตที่บริสุทธิ์สะอาดโดยสิ้นเชิงเป็นแต่เพียงจิตปราศจากเมฆหมอกบังเพียงชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ผู้ปฏิบัติมองเห็นสภาพความเป็นจริงของจิตในขณะนั้น
ต่อไปเราจะทำอย่างไร อาจารย์เสาร์ท่านสอนให้แก้จิตสมถะได้อย่างนี้ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิดีแล้ว คือขณะทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างที่เคยกระทำมา เมื่อจิตอยู่ในอัปปนาสมาธิ เราจะน้อม จะนึก จะคิด จะพิจารณาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะจิตเป็นหนึ่งแล้ว มันจะเป็นหนึ่งอย่างแท้จริง ไม่มีการติดต่อสัมพันธ์กับอายตนะภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เกี่ยว กายหายไปหมดแล้ว มีแต่จิตดวงเดียว ทำอะไรไม่ได้ มีแต่สงบนิ่งอยู่อย่างนั้น
ถ้าสมมติว่าจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว มันถอนออกมาอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถยับยั้งได้ ตอนนี้ ท่านอาจารย์เสาร์ท่านสอนว่า ให้น้อมไปพิจารณากายคตาสติ กำหนดพิจารณาไปตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก จนครบอาการ ๓๒ โดยน้อมจิตให้รับรู้ไปในแง่ที่เป็นของปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม น่าเกลียด โสโครก จิตมันจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม เห็นก็ตาม ไม่เห็นก็ตาม ให้นึกพิจารณาอยู่อย่างนั้น พิจารณาบ่อยๆ ค้นคว้าบ่อยๆ โดยตั้งใจ โดยคิดว่าผมนี้มันไม่สะอาด เป็นของน่าเกลียด โสโครก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกก็เหมือนกัน มันเป็นของปฏิกูล โสโครก น่าเบื่อน่าหน่ายเมื่อมันตายไปแล้วมันก็เน่าเปื่อย ผุพังไปตามธรรมชาติของมัน อันนี้ท่านให้น้อมนึกพิจารณาเอา ในเมื่อท่านพิจารณาไปพอสมควรแล้วให้หยุด แล้วก็มากำหนดพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง จนจิตเกิดความสงบขึ้นมา เมื่อจิตมีความสงบแล้ว จิตจะปฏิวัติตามไปสู่ภูมิความรู้ที่ได้คิดค้นมานั้น บางทีจะรู้ซึ้งเห็นจริงลงไปโดยมีภาพนิมิตปรากฏแสดงความปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก เน่าเปื่อย ผุพังลง อันนี้สุดแท้แต่อุปนิสัยของท่านผู้ใด ถ้าทำเพียงครั้งหนึ่ง ๒ ครั้งไม่เกิดผล ก็ต้องเพียรพยายามทำบ่อยๆ เช่น เคยได้ยินคำเทศน์ของท่านอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเทศน์ว่าเราต้องการจะโค่นต้นไม้ เราก็ใช้ขวานฟันมันลงไป ฟันมันลงไปที่เก่านั่นแหละ แล้วผลสุดท้ายต้นไม้มันจะหักโค่นลงมาเอง เพราะฉะนั้น การพิจารณากายคตาสติ แม้ว่าจิตเราจะไม่สงบ ไม่รู้ไม่เห็นอะไรก็ตาม พิจารณาค้นคว้ามันอยู่อย่างนั้น พิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ ความรู้ความเข้าใจมันจะเกิดขึ้นมาเอง เมื่อจิตยอมรับให้เมื่อใด เมื่อนั้นจิตจะเกิดความสงบขึ้น
เมื่อพิจารณาอสุภกัมมัฏฐานจนชำนิชำนาญ จนเห็นอสุภะดีแล้ว อาจารย์เสาร์ท่านสอนต่อไปอีก ท่านสอนให้พิจารณาธาตุกัมมัฏฐาน โดยให้พิจารณาแยกร่างกายออกเป็น ๔ ส่วน คือ แยกออกเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ด้วยการน้อมนึกเอา โดยเจตนาและตั้งใจ จนกระทั่งจิตยอมรับความเป็นจริงว่าร่างกายมีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อจิตสงบ เกิดรู้ด้วย เห็นด้วยนิมิต เมื่อสภาพจิตยอมรับรู้ความเป็นจริงว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หาสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาไม่มี ชีวิตไม่มี มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น ในเมื่อสภาพจิตยอมรับความเป็นจริงลงไปอย่างนี้ จิตก็รู้ว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร มีแต่อนัตตาทั้งสิ้น สูญจากความเป็นคน สูญจากความเป็นสัตว์ สูญจากความเป็นชีวิต เมื่อเป็นเช่นนั้น ภูมิจิตของผู้ปฏิบัติก็จะก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะพวกเราพยายามปฏิบัติไปตามขั้นตอน ตามแนวของท่านอาจารย์ใหญ่
ภูมิความรู้ของนักวิปัสสนาอย่างละเอียดที่เกิดขึ้นย่อมไม่มีสมมติบัญญัติใดๆ มีแต่สิ่งที่มีอยู่ในจิต ตอนนี้ท่านอาจารย์มั่นเทศน์ไว้ในมุตโตทัยว่าเป็น ฐีติภูตัง ฐีติคือความตั้งเด่นอยู่ของจิต ซึ่งประชุมพร้อมด้วยอริยมรรค ๘ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมกันลงที่นี่แล้วสำเร็จความเป็นหนึ่ง เรียกว่า เอกายโน มัคโค เมื่อเอกายโนนี้ประชุมพร้อมแล้ว เป็นหนทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นไปเพื่อความตั้งอยู่ไม่ใช่ของความทุกข์ สุข และโทมนัส คัมภีร์ท่านกล่าวไว้อย่างนี้
|
|||
Last Updated on Saturday, 19 September 2009 09:42 |