สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน Print
Sunday, 20 September 2009 04:03

สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 โดย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

          ในสมัยปัจจุบันรู้สึกว่าประชาชนชาวพุทธทุกระดับชั้นมีความสนใจในการปฏิบัติธรรม ซึ่งคงจะเป็นที่เข้าใจและคงจะมีผู้พิสูจน์เห็นผลกันมาแล้วว่า การทำสมถะนั้นมีความจำเป็น คือมีความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน ความจริงการปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้นเป็นหลักและวิธีการที่เราจะต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ และจะได้ยึดเป็นหลักแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน

 


          เมื่อพูดถึงเรื่องสมถะก็คือเรื่องการทำสมาธินั่นเอง สมาธิก็คือการภาวนานั่นเอง บางทีก็เรียกกัมมัฏฐาน บางทีก็เรียกวิปัสสนา บางทีก็เรียกว่าการทำสมาธิ มีคำพูดที่จะใช้เรียกแทนกันหลายๆ อย่าง การปฏิบัติกัมมัฏฐาน ในสมัยปัจจุบันนี้เกิดปัญหายุ่งยากและนักปฏิบัติทั้งหลายมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุชาวพุทธไปติดภาษา ยกตัวอย่างเช่น บางท่านในเมื่อฝึกฝนอบรมบรรดาพุทธบริษัทให้ปฏิบัติก็ใช้คำว่าจงทำใจให้เป็นสมาธิ และบางท่านก็ว่าจงทำใจให้ว่าง เพียงคำพูด ๒ ประโยคนี้ นักปฏิบัติก็ยังต้องขัดแย้งกัน แต่ความจริงนั้น ทั้ง ๒ คำนี้ เมื่อพูดถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากการปฏิบัติแล้วมีผลเป็นอย่างเดียวกัน ในสายของท่านอาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์ มักใช้คำว่าจงภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิ แต่ท่านพุทธทาสบอกว่าจงทำจิตให้ว่าง แล้วลองคิดดูซิว่า ทั้ง ๒ ท่านนี้ มีบุคคลบางคนเขายกปัญหาขึ้นมาโต้แย้งกัน ถึงขนาดที่ว่าพิมพ์เป็นเอกสารโจมตีกันขนาดหนัก เท่าที่ได้หยิบยกเอาปัญหา ๒ ข้อนี้ไปพิจารณาแล้วได้ความว่า การทำจิตให้เป็นสมาธิกับการทำจิตให้ว่างนั้นมันมีผลเท่ากัน เพราะเหตุว่าการทำจิตให้เป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้วจิตก็ย่อมปราศจากอารมณ์ ถ้าหากว่าจิตยังมีอารมณ์จิตมันก็ไม่นิ่ง ในเมื่อนิ่งเป็นจิตที่ปราศจากอารมณ์แล้วก็เป็นจิตว่าง ท่านที่ใช้คำว่าจงทำจิตให้ว่าง เมื่อบริกรรมภาวนาหรือกำหนดอารมณ์ของกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้วก็เกิดความว่าง เป็นความหมายที่ตรงกัน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติอย่าไปติดภาษา การพูดภาษาสมมติบัญญัตินั้น ในธรรมะข้อเดียวกัน หรือผลที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างเดียวกัน เราอาจจะใช้โวหารคนละคำพูดได้ เช่นอย่างจิตเป็นสมาธิกับจิตว่าง เป็นต้น


 

          การเจริญสมถกัมมัฏฐาน หรือการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราปฏิบัติธรรมะ เราจะเอาธรรมะมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร และปฏิบัติเพื่อจะให้รู้ความจริงที่อยู่ในกายในใจของเรานี้ ส่วนความรู้ความเห็นอะไรต่างๆ นั้นเป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เป็นเพียงเครื่องระลึกของสติ เป็นเครื่องทำจิตให้มีความเจริญ เจริญด้วยพละ เจริญด้วยอินทรีย์ ทำสติให้มีพลัง ทำสติให้เป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง อันนี้คือวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ

Autumn Colors, White Mountains, New Hampshire

         การปฏิบัติในทางกัมมัฏฐานท่านได้แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ สมถกัมมัฏฐานอย่างหนึ่งและวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง    สมถะเป็นเครื่องอุบายความสงบใจ    วิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา ความย่อๆ มีอยู่เพียงแค่นี้

 


          การปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน เฉพาะในตำราท่านได้เขียนไว้ถึง ๔๐ อย่าง ซึ่งจะไม่กล่าวถึง จะกล่าวถึงเฉพาะการทำสมถะด้วยการเจริญพุทธานุสติ  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในสายสมาธิของท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น    ส่วนมากท่านจะสอนให้ลูกศิษย์ลูกหาเจริญพุทธานุสติเป็นเบื้องต้น เคยได้เรียนถามท่านว่าทำไมจึงสอนให้เจริญพุทธานุสติเป็นเบื้องต้น ท่านก็ให้ความเห็นว่า พุทธานุสติคือพุทโธ แปลออกมาว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเป็นกิริยาของใจ เมื่อใครทำใจให้สงบนิ่ง สว่าง จิตเป็นสมาธิได้ ใจของผู้นั้นจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาที่เข้าถึงจิตพระพุทธเจ้า ยึดพระคุณของพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่ง นี้คือความหมายของพุทโธ


          ด้วยเหตุผลดังกล่าว ขอแนะนำให้นักปฏิบัติได้บริกรรมภาวนาว่า “พุทโธ” ขอให้ทุกท่านตั้งจิตให้แน่วแน่ พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่จิต พระธรรมเจ้าก็อยู่ที่จิต พระอริยสงฆ์เจ้าก็อยู่ที่จิต พระพุทธเจ้าอยู่ที่จิตก็คือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี พระธรรมอยู่ที่จิตก็คือกิริยาซึ่งทรงไว้ซึ่งความรู้สึกสำนึกเช่นนั้นตลอดเวลา พระอริยสงฆ์อยู่ที่จิตก็คือกิริยาที่จิตมีสติ สังวร ระวัง ตั้งใจที่จะละความชั่วประพฤติความดี ปลูกความเชื่อมั่นลงในจิตอย่างแน่วแน่ เมื่อพระพุทธเจ้าก็อยู่ในจิต พระธรรมก็อยู่ในจิต พระสงฆ์ก็อยู่ในจิต แล้วก็นึกในใจว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วก็มานึกเอาพุทโธๆๆเพียงคำเดียว แล้วก็มานึกพุท พร้อมกับลมหายใจเข้า โธ พร้อมกับลมหายใจออก ช่วงของการหายใจเข้าออกนั้นยังห่าง จิตยังสามารถส่งกระแสไปทางอื่นได้ ก็ให้ปล่อยความรู้ลมหายใจเสีย แล้วให้นึก พุทโธๆๆติดต่อกัน นึกในใจเบาๆ อย่าให้จิตมันส่งความรู้สึกออกไปข้างนอก และอย่าไปนึกว่าเมื่อใดจิตจะสงบ เมื่อใดจิตจะรู้จะเห็นอะไร นึกพุทโธคล้ายๆกับนึกเล่นๆ เหมือนกับเราไม่หวังผลตอบแทนใดๆ แต่พยายามนึกติดต่อกัน ถ้าจิตส่งกระแสไปทางอื่น รู้สึกว่าจิตส่งกระแสไป ให้รีบเอาจิตมาไว้ที่พุทโธ ถ้าหากจิตปล่อยวางคำว่าพุทโธ แล้วก็มีอาการสงบนิ่ง ไม่นึกพุทโธ ให้กำหนดลงที่จิต ความรู้สึกอยู่ที่ไหนจิตอยู่ที่นั่น กำหนดรู้จิต ประคองจิตเอาไว้เฉยๆ เว้นเสียแต่ว่าจิตส่งกระแสออกไปนึกถึงสิ่งอื่น แล้วก็ให้นึกพุทโธตามเดิม ให้คอยสังเกตความเป็นไปขณะที่นึกพุทโธ

 

 


          ในเบื้องต้นเรานึกถึงพุทโธ เรียกว่า วิตก เมื่อจิตจดจ้องอยู่กับพุทโธ ไม่พรากจากกัน แล้วก็มีความซึมซาบ จิตมีความดูดดื่มในบริกรรมภาวนาพุทโธ ทำให้จิตมีความสงบ ไม่ส่งกระแสไปในทางอื่น ในเบื้องต้นนี้เรียกว่า วิจาร เมื่อจิตมีความดูดดื่มกับคำว่าพุทโธหนักๆ เข้า ปีติ  คือความดีใจ ความเบิกบานใจ ย่อมจะเกิดขึ้น ในขณะที่จิตมีปีติเกิดขึ้นนั้น ผู้ภาวนามีอาการต่างๆ บางท่านก็รู้สึกว่าตัวสั่น สั่นนิดๆไม่สั่นมาก แล้วแต่นิสัยของใคร บางท่านก็รู้สึกว่าตัวใหญ่พองโตขึ้น บางท่านก็รู้สึกว่าตัวเล็กลง บางท่านก็รู้สึกว่าตัวเบาเหมือนกับลอยอยู่ในอากาศ อันนี้เป็นลักษณะของปีติบังเกิดขึ้นในขณะบริกรรมภาวนา เมื่ออาการดังกล่าวข้างต้นบังเกิดขึ้น ผู้ภาวนาไม่ควรตกใจ ให้กำหนดบริกรรมภาวนาเรื่อยไป ถ้าหากจิตปล่อยวางคำบริกรรมภาวนาก็ให้กำหนดรู้ลงที่จิต จิตตัวผู้รู้ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น เมื่อปีติบังเกิดขึ้น ความสุข อันเป็นผลพลอยได้ย่อมเกิดขึ้น เมื่อจิตมีปีติและความสุขเป็นภักษาหาร เป็นเครื่องยึด จิตย่อมอยู่ในลักษณะแห่งความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย ไม่ดิ้นรน ผู้ภาวนาจะมีความสุขอย่างเยือกเย็น ซึ่งจะหาความสุขอันใดเสมอเหมือนมิได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตก็จะเข้าสู่ความสงบทีละน้อยๆ จนกระทั่งปล่อยวางวิตก วิจาร ปีติ และสุข เข้าไปสู่ความสงบนิ่งเป็นหนึ่ง เรียกว่า เอกัคคตา มีความวางเฉย เป็นลักษณะจิตอยู่ในสมาธิ ขั้นนี้นอกจากจะมีความเป็นหนึ่งและความวางเฉยแล้ว ยังจะต้องมีความสว่างเป็นเครื่องหมาย เมื่อจิตสงบลงไปถึงขั้นนี้ความรู้ว่ามีกายก็หายไปในความรู้สึก เมื่อกายหายไปแล้วลมหายใจก็หายไป ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ นิ่ง สงบ เด่นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา อันนี้เป็นลักษณะของจิตสงบลงไปด้วยการบริกรรมภาวนา

 


          ในขั้นต้นๆ นี้ เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จิตจะไปติดกับความสุขและความสงบซึ่งเกิดในสมาธิ แต่ท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายไม่ควรไปวิตกหรือกลัวว่าจิตไปติดอยู่ในสมถะ ถ้าท่านใดสามารถทำความสงบได้ถึงขนาดนี้บ่อยๆ ทำหลายๆ ครั้ง อย่างที่เรียกว่าทำให้มาก อบรมให้มาก ทำจนชำนิชำนาญ เมื่อจิตมีสมาธิขั้นสมถะหรืออัปปนาสมาธิบ่อยเข้า สิ่งที่จะพึงได้จากจิตสงบนั้นคือตัวสติสัมปชัญญะ ซึ่งจะเพิ่มพลังขึ้นทุกทีๆ เพียงแต่ท่านผู้ภาวนาทำจิตให้สงบลงถึงขั้นปีติและความสุขเท่านั้น พละในตอนต้นๆ คือ ศรัทธาพละ ย่อมจะเกิดขึ้น จิตของท่านก็จะเกิดความรู้สึกว่าอยากปฏิบัติ อยากทำ ในเมื่อมีศรัทธา ความพากเพียร อันเป็นพละข้อที่ ๒ ก็บังเกิดขึ้น เมื่อมีพละแล้ว ตัว สติ ความระลึก ก็ย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อมีศรัทธา วิริยะ สติ เป็นคุณธรรมเกิดขึ้นในจิต จิตเป็น สมาธิ ใน เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิ มีพลังแก่กล้าขึ้น ย่อมเกิดเป็น ปัญญา อย่างน้อยก็มีความรู้ว่าสมาธิคืออะไร

 


          ในเมื่อจิตสงบนิ่งลงเป็นอัปปนาสมาธิ สิ่งที่เราจะรู้เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ ความว่างของจิต ไปตรงกับคำที่ท่านพระพุทธทาสท่านสอนว่า จงทำจิตให้ว่าง เมื่อผู้สอนว่าทำจิตให้ว่าง ถ้าผู้ภาวนาทำจิตให้ว่าง ทำจิตให้เป็นสมาธิได้แล้ว จะเกิดความสว่างขึ้นมา ผู้ภาวนาไม่ต้องคอยฟังคำอธิบาย เมื่อจิตสงบ นิ่ง ว่างลงไป ก็เป็นอันเข้าใจ

 

          สำหรับผู้ที่แนะการทำจิตให้เป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบนิ่งเป็นสมาธิแล้ว ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า เมื่อจิตสงบลงไปแล้วอย่างนี้ จะใช่จิตเป็นสมาธิหรือเปล่า นักปฏิบัติมักจะย้อนกลับมาถามอาจารย์ผู้สอนอีก นี่คือความหมาย มีอยู่อย่างนี้

 


          ประสบการณ์ในการบริกรรมภาวนาพุทโธๆ อยู่นี้เรียกว่า เจริญพุทธานุสติ และการเจริญพุทธานุสตินี้เป็นการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ข้อสังเกตในเบื้องต้น เมื่อเราตั้งใจจะนั่งสมาธิบริกรรมภาวนา เมื่อกำหนดจิตลงไป เราจะรู้สึกว่าเรามีกาย ในเมื่อมีกายแล้วเราย่อมจะกำหนดรู้ว่าในขณะนั้นสภาวจิตของเราเป็นอย่างไร ถ้าภาวนาไปมันก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา จิตยังไปติดอยู่ในความสุข เมื่อเกิดทุกขเวทนา จิตไม่ชอบ ความที่จิตไม่ชอบนั้น เพราะจิตชอบความสุข จิตชอบความสุข อันนี้เป็น กามฉันทะ บางทีบางโอกาสเราอาจมีอารมณ์คล้ายๆค้างๆซึ่งยังอยู่ในจิต เรียกว่า ราคะ ความกำหนัดย้อมใจอาจเกิดขึ้นในขณะนั้น นิวรณ์ ๕ ตัวสำคัญอยู่ที่ราคะ ในเมื่อมีราคะ กามฉันทะก็ย่อมบังเกิดขึ้น ในเมื่อกามฉันทะบังเกิดขึ้น จิตมันต้องการความสุข ต้องการความสบาย ไม่ชอบการทรมาน ในเมื่อไม่ชอบการทรมานอย่างนั้น จิตจะเกิดความหงุดหงิด ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายต่อการที่จะปฏิบัติต่อไป เรียกว่า พยาบาท เกิดขึ้น เมื่อพยาบาทบังเกิดขึ้นแล้ว ความง่วงเหงาหาวนอน ก็ย่อมบังเกิดขึ้น ความลังเลสงสัย เรียกว่า วิจิกิจฉา ย่อมบังเกิดขึ้น ก็มีความรู้สึกว่าจะภาวนาต่อไปหรือจะหยุดแต่เพียงแค่นี้ อาการทั้งหลายเหล่านี้เป็นอาการของนิวรณ์ ๕ ประการ บังเกิดขึ้นครอบงำจิตของผู้ปฏิบัติ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนะมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา

 

Varanasi  Uttar Pradesh,  India


          การทำสมาธิในขั้นสมถะเพื่อให้จิตสงบนี้ จุดมุ่งหมายอันสำคัญก็ตรงที่เราต้องการปราบนิวรณ์ ๕ ให้หมดไปด้วยอำนาจของสมาธิขั้นสมถกัมมัฏฐาน ในเมื่อนิวรณ์ ๕ สงบระงับไป ผู้ปฏิบัติสงบได้ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติต่อไปด้วยความปลอดโปร่ง ด้วยความเบาใจ และด้วยความสะดวก โดยปราศจากกิเลส ๕ ตัวนี้รบกวน กิเลส ๕ ตัวนี้เราจะกำจัดได้ด้วยอำนาจของสมาธิขั้นสมถะ นี่คือประสบการณ์ในการบำเพ็ญสมาธิขั้นสมถกัมมัฏฐาน

 


          และอีกอย่างหนึ่ง สมถะเป็นมูลฐานให้เกิดวิปัสสนา ประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งซึ่งนักปฏิบัติทั้งหลายควรจะสังวรระวังไว้ นักปฏิบัติทั้งหลายนั้นจิตจะไปติดอยู่กับความสุข พอภาวนาลงไปแล้วมักจะถามกันว่าเห็นอะไรบ้าง เมื่อถูกถามบ่อยเข้าจิตก็เลยไปติดกับความสุข เช่นเมื่อครั้งเริ่มฝึกหัดสมถวิปัสสนาในตอนแรกๆ ในเมื่อภาวนาไป  พอมีตาทิพย์ ครูบาอาจารย์มักจะถามว่าเห็นอะไรบ้าง พอครูบาอาจารย์ถามอย่างนี้บ่อยๆเข้า นักปฏิบัติทั้งหลายก็ไปติดคำถาม เมื่อเริ่มภาวนาก็เริ่มเห็นสิ่งโน้นสิ่งนี้ หมายถึงเห็นนิมิตต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อนักภาวนามีจิตสงบ และจะเกิดแสงสว่างขึ้นมา เมื่อเกิดแสงสว่างขึ้นแล้ว จิตส่งกระแสออกไปข้างนอกกายตามแสงสว่างไป ก็ย่อมเกิดนิมิตต่างๆขึ้นมา จะเป็นรูปคน สัตว์ ภูตผีปีศาจ ซึ่งสุดแท้แต่มโนภาพใดจะบันดาลให้บังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของสมาธิในขั้นนี้จะต้องเป็นอย่างนั้น ในเมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายอย่าพึงไปถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่เราจะต้องยึดเอาเป็นผลงานในการปฏิบัติ เมื่อนิมิตต่างๆเกิดขึ้น ให้ตั้งสติไว้ในท่าทีที่สงบ พยายามระวังอย่าให้เกิดเอะใจขึ้นมา ถ้าเกิดเอะใจเมื่อใดแล้ว จิตจะถอนออกจากสมาธิ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ภาพนิมิตจะหายไปหมด เพราะนิมิตอันนี้เกิดจากจิตสงบในขั้นของอุปจารสมาธิ นักภาวนาที่ฉลาด เมื่อนิมิตเกิดขึ้นอย่างนี้  ให้ประคองจิตให้อยู่ในท่าที่สงบ คือกำหนดรู้ลงที่จิต คือรู้อย่างเดียว ความรู้สึกอยู่ที่ไหน ผู้รู้จะอยู่ที่นั่น จิตก็อยู่ที่นั่น กำหนดรู้ลงที่ตรงนั้น แล้วดูผู้รู้เฉยอยู่ นิมิตนั้นจะอยู่ได้นาน ท่านที่ฉลาดในการภาวนาอาจจะเอานิมิตนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ด้วยการกำหนดรู้เฉยอยู่ ทำให้เกิดเป็นสติสัมปชัญญะจริงๆ สามารถประคองจิตให้อยู่ในสถานะปกติได้ จิตก็ย่อมสงบละเอียดลงไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นอัปปนาสมาธิหรือถึงขั้นสมถกัมมัฏฐาน ถ้าหากไม่ทำเช่นนั้น เกิดเปลี่ยนใจขึ้นมา จิตจะถอนออกจากสมาธิ และจิตจะไม่ถึงอัปปนาสมาธิ นี่คือประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นในขณะที่บริกรรมภาวนาในขั้นนี้

 


          นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ควรจะตั้งความรู้สึกไว้ว่าเราภาวนาแล้วควรจะเห็นอย่างนั้น ควรจะเห็นอย่างนี้ เอากันตรงที่เราภาวนาจิตสงบลงไปแล้ว เมื่อจิตปราศจากอารมณ์ปราศจากความคิด จิตจะนิ่งสว่างอยู่เฉยๆ เราเองรู้เห็นกันที่ตรงนี้ เมื่อจิตมีสมาธิ เห็นว่าจิตมีสมาธิ เห็นว่าจิตนิ่งลงเป็นหนึ่ง เห็นว่าจิตมีความเป็นกลาง เห็นว่าจิตมีความสว่างไสว เห็นว่าจิตรู้ลงที่จิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นี่คือความรู้ความเห็นของจิตที่นักปฏิบัติจะพึงปรารถนา ความเห็นนิมิตต่างๆนั้นไม่เป็นสาระสำคัญใดๆ ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ให้เรารู้เห็นลงไปว่า คำว่าจิตนั้นคืออะไร อยู่ที่ไหน สิ่งที่เราจะต้องกำหนดให้ได้อยู่ที่ตรงนี้ เมื่อเรากำหนดลงไปได้ว่านี่คือจิตผู้รู้ ก็ให้รู้ลงที่ตรงนี้ นิมิตต่างๆนั้นใครจะรู้จะเห็นหรือไม่นั้นไม่สำคัญ อย่าไปต้องการอยากรู้อยากเห็น

 

           และปัญหามีว่า หากว่าได้ทำจิตให้สงบสว่างลงไปแล้วเกิดมีนิมิตขึ้นมา เมื่อจิตของเราไปติดนิมิตนั้น เช่น เห็นเทวดา ขณะนั้นจิตจะละฐานเดิมคือฐานที่รู้อยู่ในจิต แล้วก็ไปยึดภาพนิมิตนั้น ภาพนิมิตนั้นไปที่ไหน ก็จะตามไปที่นั่น ในที่สุดเราจะรู้สึกว่าเดินตามหลังเทวดาไป บางทีเทวดาจะพาไปเที่ยวนรก ไปเที่ยวสวรรค์ ไปดูโน่น ไปดูนี่ บางครั้งจิตมันตรงไปดูถึงนิพพาน เห็นนิพพานเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา เป็นประสบการณ์ของจิตที่เราควรจะสังวรระวังเอาไว้

 

          เมื่อผู้ภาวนาทำจิตให้สงบนิ่งเป็นอัปปนาบ่อยๆ เข้า ถ้าจิตมันไปติดอยู่ในความสุขขั้นอัปปนาสมาธิ ไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาสักที เราจะทำอย่างไร เป็นปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจ วิปัสสนามันเกิดขึ้นได้ ๒ วิธี


           วิธีที่ ๑ เกิดขึ้นได้ด้วยการพินิจพิจารณาสภาวธรรม
           สภาวธรรมที่จะพึงยกเป็นหัวข้อในการพิจารณาเบื้องต้นนี้ ท่านให้ยกเอาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาพิจารณาสอนไปสู่ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง พยายามน้อมนึกว่า รูปก็ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขาร วิญญาณก็ไม่เที่ยง นึกเอาอย่างนี้ นึกเอาเรื่อยๆ และน้อมเชื่อลงไปว่าเป็นความจริง จนกระทั่งจิตมันยอมรับลงไปว่าเป็นความจริงอย่างนั้น แล้วจึงกลับมากำหนดจิตให้สงบลงไปโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือบางทีขณะที่เรานึกอยู่นั้น จิตอาจจะเกิดความสงบขึ้นมาในระหว่าง ในเมื่อจิตเกิดความสงบขึ้นมาแล้วก็ให้กำหนดจิตประคองจิตให้อยู่ในความสงบอย่างนั้นต่อไป เว้นเสียแต่ว่าจิตมันจะคิดไปเอง หากจิตคิดไปเอง ให้ผู้ภาวนานั้นตามรู้ความคิดของตัวเอง โดยทำสติตามรู้ความคิด คือจิตคิดอะไรขึ้นมาก็รู้  คิดอะไรขึ้นมาก็รู้ เพียงแต่สักว่ารู้ อย่าไปช่วยมันคิด โดยธรรมชาติของจิตมันจะคิดอยู่ไม่หยุด เราจะต้องทำสติกำหนดรู้ความคิดอันนั้นตามไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตมันจะสงบลงเป็นอัปปนาสมาธิอีกทีหนึ่ง ในเมื่อจิตสงบลงเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว ให้กำหนดรู้อยู่อย่างนั้น เมื่อจิตสงบลงไปสู่อัปปนาสมาธิ เราจะไม่มีเจตนา ไม่มีสัญญาใดๆทั้งนั้น จะน้อมจะนึกอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะในตอนนี้จิตมันถึงธรรมชาติแห่งความเป็นเอง เป็นสมาธิโดยปราศจากความตั้งใจ ถ้าจิตจะเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาในขณะนี้ เป็นเรื่องของจิตที่จะต้องเป็นไปเอง จิตในขั้นนี้เราจะตั้งใจน้อมนึกไม่ได้

 

Keukenhof  Gardens Lisse Holland,  The Netherlands 


          เพราะฉะนั้น ในตอนนี้จึงขอทำความเข้าใจกับท่านอีกว่า ในตำราท่านกล่าวว่าเมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างดีแล้ว จงน้อมจิตหรือยกจิตให้สู่ภูมิวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อจิตนั้นสงบลงไปสู่ขั้นอัปปนาสมาธินั้นเราจะยกก็ไม่ได้ จะน้อมก็ไม่ได้ จะปรุงจะแต่งอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะจิตมันปราศจากรูป เวทนา สัญญา เจตนาโดยประการทั้งปวง พอจิตมันสงบแล้วมันเป็นไปเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะทำอย่างไร โอกาสที่จิตมันจะถอนออกจากสมาธิย่อมมี เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ ในขั้นนี้จะเกิดความคิดขึ้นมา ให้กำหนดตามรู้ความคิดไป จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ มันจะคิดเรื่องของบุญ คิดเรื่องของบาป คิดเรื่องโลก คิดเรื่องธรรม อะไรก็แล้วแต่ หน้าที่ของเราเพียงแต่กำหนดตามรู้ไปเรื่อยๆ เมื่อสติตามทันความคิดได้เมื่อใด ขณะนั้นมันก็กลายเป็นภูมิแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นมาเอง

 


          และอาจจะสงสัยว่า เมื่อทำจิตแล้ว จิตไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิสักที จะคอยโอกาสให้จิตถึงอัปปนาสมาธิหรือขั้นสมถะไปจนตลอดชีวิตจะทำอย่างไร ผู้ภาวนาจะไม่ตายก่อนหรือ กว่าจะยกจิตขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเราจะทำจิตให้สงบนิ่งลงเป็นอัปปนาสมาธิหรือทำสมถกัมมัฏฐานไม่ได้ เราก็ไม่ต้องทำ แนะนำให้ทำอย่างนี้ ในเมื่อเราจะภาวนาเมื่อใดให้กำหนดรู้ลงที่จิต คอยจ้องดูความคิดของตนเอง ความคิดอะไรเกิดขึ้นกำหนดรู้ นี้เฉพาะในขณะเรานั่งหลับตา กำหนดรู้อยู่อย่างนั้นไม่ต้องไปนึกถึงอะไร ปล่อยให้ความคิดมันเกิดขึ้นมาเอง คิดขึ้นมาแล้วกำหนดรู้ คิดขึ้นมาแล้วกำหนดรู้ รู้ตามไปเรื่อย รู้เดี๋ยวนี้ตามไปเรื่อยๆ ตัวรู้นั้นคือตัวสติตามรู้ทันนั่นเอง ในเมื่อสติตามรู้ทันเมื่อใด จิตมันจะแสดงอาการสงบลง ถึงแม้ว่ามันจะไม่สงบ นิ่ง สว่าง เหมือนอย่างที่ท่านอธิบายไว้ในตำรับตำราก็ตาม เป็นแต่เพียงเรามีสติตามทันความคิดของเรา เมื่อสติตามทันความคิดแล้ว ความคิด ความรู้ กับจิตนี้มันจะมีลักษณะคล้ายๆกับว่ามันแยกออกจากกัน จิตตัวผู้รู้มันจะรู้อยู่เฉยๆ แต่สิ่งที่ผ่านเข้ามาเป็นความคิดนั้นสักแต่ว่าคิด ไม่มีความยึดถือในจิตอันนั้น อันนี้เป็นตัวสติที่มันมีพลังแก่กล้าขึ้น และมันจะมีลักษณะที่กายกับจิตที่สามารถแยกจากกันได้ อารมณ์กับจิตก็สามารถแยกออกจากกันได้ ถ้าเราอบรมสติตัวนี้ให้มีความเจริญขึ้น เป็นผู้ที่มีสติเป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง อันนี้ถือหลักปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานในเบื้องต้น

 


           วิธีที่ ๒ เกิดขึ้นได้ด้วยการพินิจพิจารณากายคตาสติ
           สภาวธรรมที่จะพึงยกเป็นหัวข้อในการพิจารณาได้อีกอย่างหนึ่ง คือ ให้กำหนดพิจารณาร่างกายของตนเป็นหลัก ให้พิจารณาตั้งแต่ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน เนื้อ เอ็น กระดูก จนครบอาการ ๓๒ โดยน้อมนึกให้จิตรับรู้ไปในแง่เป็นของปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม น่าเกลียด โสโครก ดังที่ปฏิปทาของท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล บรรยายมาแล้วนั่นเอง